เที่ยวยุโรป ( รถไฟในยุโรป ๒ )

 

 ยันเอาไว้ไม่ให้หอเอน Pisa ล้ม เดี๋ยวคนหลังๆ จะไม่ได้ยล ในประเทศอิตาลี

    ตั๋วก็มีแล้ว รู้เวลาแล้วและรู้ชานชลารถไฟออกแล้ว ออกเดินทางกันเลยครับ ...เดี๋ยวก่อน...!   ลืมไป เนื่องจากว่าพวกเราเป็นนักเดินทาง ทุกคนจึงต้องมีประเป๋าเดินทาง อย่างน้อยก็คนล่ะ 1-2 ใบ (ใบใหญ่กระเป๋าลาก ใบเล็กกระเป๋าสะพายหรือเป้)

   ในวันนี้เราได้เช็คเอาท์ออกจากโรงแรมแล้ว จะทำอย่างงัยดีกับกระเป๋าลากใบโต๊ โตของเรา จะลากกระเป๋าไปด้วยเที่ยวไปด้วยคงไม่ไหวแน่ๆครับ เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงทุกๆ สถานี ในยุโรปไม่ว่าจะสถานีใหญ่หรือเล็ก จะมีบริการรับฝากกระเป๋าทั้งประเภทฝากกับเจ้าหน้าที่ของสถานี เท่าที่เห็นจะมีก็ที่อิตาลี  และฝากแบบเป็นล็อกเกอร์
 
  ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นแบบล็อกเกอร์ มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ใส่กระเป๋าใบโตของเราได้สบาย แบบล็อกเกอร์ก็มีแบบหยอดเหรียญและแบบใช้การ์ด (บัตรเครดิต) แต่ส่วนมากจะเป็นแบบหยอดเหรียญซะมากกว่า จะมีแบบใช้การ์ดบ้างเท่าที่เห็น ก็มีที่สถานีรถไฟ Amsterdam เนเธอร์แลนด์ ใช้การ์ดเสียบเข้าไปก็จะได้สลิปการ์ดแข็งออกมา ต้องเก็บให้ดีนะครับเพราะว่าต้องใช้มันเปิดอีก

 

 ล๊อกเกอร์แบบหยอดเหรียญ

    ส่วนล็อกเกอร์แบบหยอดเหรียญ ก็มีทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ราคาก็ต่างกันที่ขนาดของล็อกเกอร์ แต่ละเมืองราคาจะแตกต่างกัน เช่นที่สวิส ล็อกเกอร์ขนาดใหญ่ค่าบริการ 8 สวิสฟรังค์ ขนาดเล็ก 3 สวิสฟรังค์ (1 สวิสฟรังค์=30-36 บาท) ที่เยอรมนี ขนาดเล็ก 2-3 ยูโร ขนาดใหญ่ 6-7 ยูโร (1 ยูโร=45 บาท) ทุกๆแบบคิดเป็นเวลาต่อ 24 ช.ม. จะมีกุญแจให้ (ขอย้ำอีกครั้งว่ารักษาให้ดีนะครับ)

    ก็มีคำถามอีกว่า หากพวกเรากลับมาเอากระเป๋าเกินเวลา 24 ช.ม. จะทำอย่างไร ประตูล็อกเกอร์จะเปิดออกแล้วคนอื่นเอากระเป๋าเราไปได้หรือไม่ ไม่ต้องตกใจครับ ประตูยังคงล็อกอยู่ แต่จำนวนเงินที่ตู้จะโชว์ให้เห็นว่าต้องหยอดเหรียญเพิ่ม (เสียเงินเพิ่ม) ถ้าไม่เพิ่มเงินกุญแจก็ไขไม่ออก
   เราเพียงหยอดเหรียญเพิ่มเข้าไปก็ไขกุญแจได้แล้วครับ แต่อย่าลืมนะครับว่าก่อนล็อกครั้งแรกดูให้ดีก่อนว่าเราจะเอากระเป๋าหรือสิ่งของอะไรเก็บเข้าไว้บ้าง ไม่ใช้พอล็อกเสร็จดึงกุญแจออก นึกได้ว่าต้องเอาของอีกชิ้นเก็บ แล้วเปิดออก อย่างนี้เท่ากับว่าเราเสียเงินไปในครั้งแรกแล้วครับ ถ้าปิดล็อกใหม่ก็ต้องหยอดเหรียญใหม่ครับ เรื่องล็อกเกอร์นี้พวกผมใช้เป็นประจำ

    เพราะส่วนใหญ่พวกเราเดินทางมาถึงเมืองหนึ่งก็เย็นหรือมืดแล้ว เพื่อเที่ยวในเมืองหรือต่างเมืองในวันรุ่งขึ้น เช้าก็ต้องเช็คเอาท์ออก หากไม่สะดวกฝากกระเป๋าที่โรงแรม ก็ต้องใช้บริการตู้ล็อกเกอร์เป็นที่เก็บของไปก่อน สะดวก ปลอดภัย แนะนำว่าไม่ควรใช้บริการแบบฝากกับเจ้าหน้าที่ เพราะโอกาสของหายมี ซึ่งเท่าที่พบเห็นมีในอิตาลีครับ


 ขึ้นรถไฟ
   อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าผมมีตั๋ว Eurail Global Pass (ชั้น 1 อย่างเดียว) ซึ่งสามารถเดินทางได้ใน 22 ประเทศในยุโรป ดังนั้นจึงเลือกขึ้นรถไฟที่มีความเร็วสูง เช่น ICE หรือ EC หรือ EC แล้วแต่เส้นทางที่เราเดินทางว่ามีรถประเภทไหนบ้าง ซึ่งที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่วิ่งในประเทศแถบยุโรปทั้งนั้น ยกเว้น ที่ฝรั่งเศส จะเป็น TGV (Train a Grande Vitesse) เป็นรถไฟความเร็วสูงมาก ต้องเสียค่าที่นั่งเพิ่มอีก ถึงแม้จะมีตั๋วนี้แล้วก็ตาม

   ตั๋วดังกล่าวที่มีก็ยังสามารถใช้เดินทางด้วยเรือระหว่างเมืองได้ มีหลายเส้นทาง เช่น โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ค) ไปออสโล (นอร์เวย์) ใช้เวลาเดินทาง 16 ช.ม. แต่ต้องเสียค่าที่นอนเพิ่ม เพราะต้องเดินทางกลางคืน ส่วนการนั่งเรือนั้นผมเองยังไม่เคยไป เนื่องจากไม่มีเวลา ไว้ถ้ามีโอกาสจะลองดูครับ

  ขอย้อนกลับมาที่รถไฟอีกนิดหน่อย คุยมาตั้งนานยังไม่ได้ขึ้นรถไฟสักที คราวนี้ขึ้นจริงๆ แล้วครับ เรามีตั๋วชั้น 1 ก็ต้องนั่งชั้น 1 ซึ่งในขบวนรถไฟตู้ชั้น 1 จะมีไม่กี่ตู้ ซึ่งถ้าเป็นเส้นทางไม่ไกลนัก ชั้น 1 จะว่างไม่ค่อยมีคนนั่ง ส่วนชั้น 2 มีคนพอสมควรแต่ไม่ถึงกับแน่น และมีที่นั่ง

  ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าต้องจองที่นั่งหรือไม่ ถ้าเป็นเส้นทางทีมีนักท่องเที่ยวไม่เยอะก็ไม่จำเป็นต้องจองที่นั่ง แต่ถ้าหากเรากลัวว่าจะไม่มีที่นั่งหรือไม่ได้นั่งด้วยกัน ก็สามารถจองที่นั่งได้ โดยการจองที่สถานีก่อนจะขึ้นรถไฟ
   ราคาค่าจองที่นั่งในแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน เช่น เยอรมนี สวิส ค่าจองที่นั่งรถ ICE คนละ 6 ยูโร แต่ถ้าเป็นในอิตาลีต้องถูกบังคับให้จอง คนละ 10 ยูโร ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยจองยกเว้นที่อิตาลีเท่านั้น

   บางท่านบอกว่าไม่ซื้อตั๋วแบบ Eurail Pass จะได้หรือไม่? ได้ครับ อย่างที่ผมบอกมาแล้วแต่ละเที่ยวก็จะแพงมาก โดยสามารถซื้อได้จากเคาน์เตอร์เจ้าหน้าที่ หรือจากตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่มีอยู่ทั่วไป มีให้เลือกหลายภาษา ยกเว้นภาษาไทย (ทำไมไม่คิดทำภาษาไทยบ้างนะ).. จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ขึ้นรถไฟสักที

ก้าวขึ้นรถไฟ
   เมื่อรถไฟเทียบชานชลาก็ให้สังเกตว่าตู้ชั้น 1 นั้นอยู่ตรงไหน ผมได้กล่าวไว้ตอนต้นๆ แล้วครับว่าที่ตรงชานชลานั้นๆ จะมีป้ายที่บอกชานชลา เวลาออก รถไฟจะไปไหนบ้าง ถึงไหน และส่วนใหญ่ก็จะบอกด้วยว่า ตู้ชั้น 1 อยู่ตรงไหน ตู้ชั้น 2 อยู่ตรงไหน ตู้เสบียงอยู่ตรงไหน ซึ่งชานชลาส่วนใหญ่จะมีความยาวมาก

  ชานชลาสถานีรถไฟ

   ดังนั้นเพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร ที่จะขึ้นรถให้ตรงกับตั๋วให้ตรงกับตู้ชั้น 1 หรือชั้น 2 ของผู้โดยสาร เขาก็เลยกำหนดความยาวของชานชลาเป็น section เริ่มตั้งแต่ A B C จนถึง G แล้วแต่ความยาวของชานชลา ซึ่งที่ป้ายก็จะบอกด้วยว่า ชั้น 1 อยู่ตรง section ไหน

   ถ้าหากเขาไม่มีการแจ้งบอก ก็จะทำให้การขึ้นรถไฟมีความสบสนวุ่นวายมาก เพราะรถไฟที่วิ่งเข้าสู่ชานชลาเราก็จะไม่รู้ว่าตู้ชั้น 1 หรือชั้น 2 มันควรจะอยู่ตรงไหน สมมุติว่าเราไม่ทราบ เราไปยืนตรงช่วงหัวขบวน แต่ปรากฏว่าชั้น 1 มันดันอยู่ท้ายขบวน ลองคิดดูสิครับว่า
   ถ้ามีกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ๆ คงต้องวิ่งกันวุ่นวายพอควร ทั้งลากทั้งวิ่ง นึกภาพไม่ออกจริงๆ แต่ครั้งนี้พวกเราเก่งขึ้นครับ เราทราบว่าตู้ชั้น 1 ที่ป้ายบอกว่าอยู่ section A เราก็เลยมายืนรอขึ้นรถสบาย รถไฟเทียบชานชลา ตู้ชั้น 1 ตรงกับเราพอดิบพอดี ก้าวขึ้นบนรถไฟอย่างมั่นใจ

  สำหรับผมไม่ได้จองที่นั่งหรอกครับ ดังนั้นผมก็ไม่จำเป็นต้องนั่งตามหมายเลข เลือกที่นั่งตามความพอใจครับ  โอ๊ะ..! เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งนั่งครับ (อะไรอีกล่ะ) ทุกอย่างก็สมบูรณ์แล้ว..(มีอะไรอีกบอกมาให้หมด)

   เนื่องจากที่นั่งแต่ละที่นั่งนั้นอาจจะมีคนจองที่นั่งไว้แล้ว เราควรสำรวจให้ดีก่อนว่าตรงที่นั่งที่เราต้องการจะนั่งนั้น มีไฟขึ้นหรือป้ายกระดาษเสียบหรือไว้เปล่า ว่ามีผู้โดยสารท่านใดได้จองไว้แล้วหรือไม่ ถ้าไม่มีที่ว่ามานี้ก็นั่งมันให้สบายเลยครับ แต่ถ้ามีก็ไม่ควรนั่ง ไปหาที่ใหม่ดีกว่าครับ เมื่อได้ที่นั่งแล้ว ....

 นั่งรถไฟในยุโรป

   ผมลืมไปอีกขั้นหนึ่งครับ ตอนที่เราจะขึ้นบนรถไฟเลือกที่ตู้ชั้นหนึ่ง ขอให้กวาดสายตาไปรอบๆตัวตู้รถไฟ หรือก่อนขึ้นด้วยว่ามีสัญลักษณ์  “หน้าคนเอานิ้วจุ๊ปาก” หรือ สัญลักษณ์ห้ามโทรศัพท์หรือเปล่า ถ้าหากมีผมขอแนะนำเลยว่าย้ายตู้ดีกว่า เพราะสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น แสดงว่าตู้ดังกล่าวห้ามคุย (คุยซุบซิบก็ไม่ได้) ห้ามโทร..สรุปว่าห้ามใช้เสียง

   เพราะว่าชาวยุโรปส่วนใหญ่พอขึ้นรถ ก็จะนั่งอ่านหนังสือหรือนั่งทำงานเงียบๆ ซึ่งไม่เหมาะกับพวกเราๆท่านๆหรอกครับ ขึ้นรถปั๊บคุยกันปุ๊บ จึงขอให้ย้ายตู้ดีกว่า แต่ส่วนใหญ่ทั้งขบวนจะมีตู้เงียบแบบนี้เพียงตู้เดียวเท่านั้น..
   โอ้ย...ได้นั่งสักที่เมื่อยมากแล้ว เมื่ออยู่บนรถก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีร้านอาหาร มีห้องน้ำสะอาด มีโต๊ะทำงาน ซึ่งต้นฉบับที่ผมเขียนนี้ก็นั่งเขียนบนรถไฟ เพราะมีเวลา 2-3 ช.ม. บางเที่ยว 5 ช.ม.แล้วแต่เส้นทาง บางขบวนมีสัญญาณ Internet ด้วย


  
  บนรถไฟ ICE ชั้น 1 นั่งเขียนต้นฉบับ ข้างๆ ขวดไวท์ (เหล้าองุ่นของเพื่อน)


    นั่งเพลินๆสบายๆเพราะรถไฟที่นี่นั่งนิ่มมาก ไม่โคลงเคลงแตกต่างกับบ้านเรามากมาย เท่าที่ผมสังเกต รางรถไฟของเขารอยต่อของราง จะใช้การเชื่อมเป็นเส้นเดียวกัน ไม่เหมือนบ้านเราที่ต้องมีช่องว่างระหว่างรอยต่อ เหตุผลเพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน

   ตามหลักวิทยาศาสตร์ (สมัยเรียนมัธยม) เหล็กเมื่อถูกความร้อนจะทำการขยายตัว ช่วงห่างของรางรถไฟบ้านเราก็จะชิดเข้าหากัน หากเราทำแบบเขาโดยการเชื่อมรางเลย เมื่อรางรถไฟได้รับความร้อน เกิดการขยายตัวขึ้นก็จะเกิดการโก่งตัวของรางรถไฟ (เรื่องนี้ใครมีเหตุผลกว่านี้ก็ช่วยอธิบายด้วยครับ)

   ดังนั้นรถไฟทางยุโรปจึงนั่งค่อนข้างนิ่ม สบาย และที่สำคัญกว้างขวางมาก เพราะว่ารางรถไฟนั้น (รางอีกแล้ว) ผมไม่เคยวัดรางรถไฟที่บ้านเรา ใครอยู่เจ็ดเสมียนใกล้รางรถไฟว่างๆ ไปวัดให้หน่อยครับว่ากว้างเท่าไร

    ผู้เขียนกับรถไฟท้องถิ่นของสวิส กว้างขวางสะอาดและปลอดภัย

   แต่เท่าที่ทราบรางรถไฟของเขากว้างกว่าของเรา ทำให้ตัวรถไฟใหญ่ขึ้นสามารถทำรถไฟ 2 ชั้นได้สบายและมีพื้นที่มาก และอีกประเด็นหนึ่งที่การเดินทางโดยรถไฟสะดวกนั้นเพราะ เขามีรางรถไฟแยกต่างหากจากกัน เช่น ถ้าเป็นรถไฟ ICE หรือ EC หรือ IC ก็จะใช้เส้นทางเดียวกันได้ แต่ถ้าเป็นรถไฟชานเมือง ระหว่างเมืองเล็กๆ ก็มีเส้นทางต่างหากอีก และมี 2 ทางคู่กันทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมารอสับหลีกกันแบบบ้านเรา

   ก่อนถึงที่หมายซึ่งเราจะทราบอยู่แล้วว่าจะถึงเวลาใด ในรถไฟตรงที่เรานั่งก็จะมีแผ่นพับให้เราดูทุกๆที่นั่ง และในแผ่นพับนั้นยังบอกอีกว่า เส้นทางที่เราเดินทางนั้นจะผ่านสถานีใด เวลาเท่าใด
  และถ้าหากว่าเราลงสถานีใดสถานีหนึ่ง ก็จะมีรายละเอียดของช่วงเวลาที่รถไฟถึง ว่าเมื่อถึงสถานีที่ลงแล้ว จะเดินทางต่อโดยรถไฟท้องถิ่นหรือรถบัส (รถยนต์ประจำทาง) ก็จะมีรายละเอียดบอกเวลา และจุดที่ไปอย่างชัดเจน เป็นการส่งต่อกันอย่างลงตัว (แจ่มครับ)

   และที่สำคัญรถไฟที่นี่ตรงเวลามาก ไม่ว่าจะเป็นเวลาออกเวลาถึง ขอบอกว่าตรงจริงๆ เรื่องนี้พวกผมเจอบ่อยเพราะรู้เวลาออกรถ รู้ชานชลาอยู่แล้วจึงเอื่อยเฉื่อยกันตามประสา มัวแต่ถ่ายรูปชมทิวทัศน์ จึงเป็นประจำครับที่พวกผมมักจะวิ่งตามสถานีรถไฟ
    บางคนมาก่อนก็ยืนชะโงกหน้ามองเพื่อนๆที่ยังมาไม่ถึง แต่ก็ไม่เคยพลาดสักทีครับได้รสชาติดีครับ อ้าว..!  แล้วถ้าเกิดไม่ทันรถไฟขบวนนั้นขึ้นมาจริงๆ ทำไงกันเล่า ? ก็ไม่ต้องห่วงครับ (ถ้าไม่ใช้เที่ยวสุดท้าย) จะมีรถไฟทุกๆ 20-40 นาที แต่ก็อาจจะเสียเวลาเที่ยวไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่พวกผมจะกลับกันเที่ยวสุดท้ายเป็นประจำ เที่ยวให้คุ้มครับ

 รถไฟที่ประทับใจของผม
   ถ้าถามว่านั่งรถไฟเที่ยวไหนประทับใจที่สุด ก็เห็นจะเป็นที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ครับ โดยเฉพาะเส้นทาง Gold Pass ที่วิ่งระหว่างเมือง Luzern ถึงเมือง Interlaken หรือจากเมือง Interlaken ถึงเมือง Montreux เพราะเป็นเส้นทางที่เห็นวิวทิวทัศน์สวยงามตลอดเส้นทาง


  
  วิวข้างทางกับรถไฟไต่ขึ้นยอดเขา Jungfraujoch สวิสเซอร์แลนด์

   ตัวรถไฟก็เป็นแบบ Panorama คือ หน้าต่างจะเป็นกระจกโค้งถึงหลังคา มองเห็นได้กว้าง อีกเส้นทางหนึ่งในสวิสคือจากเมือง Interlaken ขึ้นยอดเขา Jungfraujoch (Top of Europe) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปยุโรป ถ้าจำไม่ผิดสูง 4,099 เมตรจากระดับน้ำทะเล

   แต่เส้นทางนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพราะเป็นรถไฟไต่เขา (ไม่ใช่รถไฟไต่ถังนะ) แพงพอสมควรตกคนละเกือบ 3,000 บาท แต่ถ้ามีตั๋วรถไฟที่ผมมีก็ได้ลดอีก 25 % แต่ถ้าเป็นตั๋วรถไฟ Swiss Pass ได้ลด 50 %

   สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาสามารถสร้างทางรถไฟขึ้นไปข้างบนเขาได้ เขาเจาะภูเขาน้ำแข็งเข้าไป เชื่อหรือไม่ครับว่าเส้นทางนี้จะครบ 100 ปีในปีหน้าครับ

   อีกเส้นทางที่ประทับใจ ไม่ใช่เรื่องวิวสองข้างทางแต่เป็นความทันสมัย และความสะดวกสะบายของการเดินทางโดยรถไฟที่ต้องข้ามทะเล โดยไม่ได้ใช้สะพานข้าม เส้นทางนี้ผมเดินทางจากเมือง Hambrug ของเยอรมนี ไป Copenhagen ของเดนมาร์ค เมื่อมาถึงสถานี Puttgarden เป็นสถานที่ริมฝั่งทะเล

   มองไปข้างหน้าก็ไม่มีสะพานมีแต่เรือจอดอยู่ ครั้งแรกคิดว่าเขาคงให้เราลงจากรถไฟ แล้วก็เดินไปขึ้นเรือเพื่อข้ามทะเล แล้วก็ไปต่อรถไฟอีกฝั่งหนึ่ง เข้าใจผิดครับเรายังคงนั่งอยู่บนรถไฟ แล้วรถไฟก็เคลื่อนตัวลงไปในเรือทั้งขบวน เมื่อรถไฟจอดสนิทในเรือแล้วเจ้าหน้าที่ก็ประกาศให้เราออกจากรถไฟ แล้วขึ้นไปนั่งบนเรือ ซึ่งในเรือนั้นมีร้านอาหาร ร้านค้า ขายสิ้นค้าทุกอย่างเหมือนห้างบ้านเรา ใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม.เจ้าหน้าที่ก็ประกาศให้เราลงไปขึ้นรถไฟต่อเพื่อเดินทางต่อ (ได้นั่งรถไฟแถมเรือด้วย)

ถึงที่หมาย
   ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่จะสนับสนุนให้พวกเรามาเที่ยวเมืองนอกหรอกครับ แต่ผมเองเผอิญมีโอกาสไปก็เลยเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง ตัวผมเองก็ยังคิดเสมอว่า เที่ยวเมืองไทยดีที่สุด (เสียว่าอากาศร้อนอย่างเดียว) โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ผลไม้ต่างๆ

   อาจจะรำคาญเรื่องการเมืองสักนิด แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อย่างเยอรมนี ที่สมัยก่อนเขามีการแบ่งเป็นเยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก เขาพยายามรวมตัวกัน พอเขารวมกันได้ก็มุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศ บ้านเมืองเขาเคยถูกถล่มด้วยสงคราม แต่ปัจจุบันเขาพัฒนาไปมาก
  ไม่เหมือนกับของเรา มีแต่จะยุกันให้แตกแยก สาดโคลนใส่กัน ไม่วิจารณ์แล้วครับ รถไฟถึงที่หมายพอดี หากท่านผู้อ่านมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะติชม ผมผู้เขียนยินดีรับฟังครับ ..

  วรรโณ ผู้เขียน

  หมายเหตุของ www.chetsamian.org เรื่องราวที่ได้ผ่านสายตาของท่านผู้อ่านมาแล้วนั้น เป็นเรื่องราวของเด็กไทยคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศแถบยุโรปมาแล้วหลายครั้งหลายหน เขาจึงมีประสบการณ์ในประเทศต่างๆแถบยุโรปนี้เป็นอย่างดี ต้นฉบับที่ท่านได้อ่านมาแล้วนั้นส่งตรงมาจากบนรถไฟในขณะที่เขากำลังเดินทางอยู่ดังที่เขาบอกมาแล้ว ขณะนี้เขายังอยู่ในประเทศ  เยอรมันนีและจะกลับมาถึงประเทศไทย ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ เมื่อเขากลับมาแล้ว คงได้มาเขียนเรื่องราวต่างๆให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเรื่องของยุโรปในโอกาสต่อๆไป.

เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านจบทั้ง ๒ ตอนแล้วกรุณาสละเวลาสักนิดหนึ่ง เขียนติชมหรือออกความเห็นของท่านต่อบทความนี้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนด้วย ถ้าท่านไม่ได้เป็นสมาชิกก็เขียนบอกมาทาง อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ก็ได้ ทีมงานของเราจะนำเอาคำวิจารณ์ของท่านมาลง ในช่องความเห็นครับ

นายแก้วผู้จัดทำ  ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้518
เมื่อวานนี้485
สัปดาห์นี้2492
เดือนนี้8659
ทั้งหมด1338543

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online