อดีตร้านทองในตลาดเจ็ดเสมียน

ตลาดเจ็ดเสมียนในปัจจุบัน     

 เมื่อไม่นานมานี้ ตลาดเจ็ดเสมียนฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้คนจากที่อื่นและคนบางคนที่เจ็ดเสมียนนี้เอง ได้ร่วมมือกันเป็นผู้กระตุ้นขึ้นมา โดยเรียกชื่อตลาดนี้ว่า "ตลาดเจ็ดเสมียน 119 ปี"

    แล้วตลาดเจ็ดเสมียนก็รุ่งโรจน์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งอย่างทันตาเห็น คนชุดนี้ขอเรียกกันง่ายๆว่า ผู้จัดการฟื้นฟูตลาดเจ็ดเสมียน 119 ปี คณะฟื้นฟูชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน ในขณะนั้นด้วย  [คือคณะผู้บริหารเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียนชุดเก่า ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังดำเนินการในการจัดการต่างๆตลาดนี้อยู่ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้บริหารเทศบาลแล้วเพราะหมดวาระ แต่ก็ยังไม่ได้ปล่อยมือ ดังนั้นจงอย่าเข้าใจกันผิด คิดว่าอยู่ในการดูแลของผู้บริหารเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียนชุดปัจจุบันนะครับ ]

  ในเวลานั้นขณะที่เริ่มโปรโมทพวกเขาได้มีความคิดว่าจะต้อง เปิดร้านทองเก่าแก่ของตำบลเจ็ดเสมียนซึ่งอยู่ในตลาด เพื่อจะให้เป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยว เข้ามาเที่ยวที่เจ็ดเสมียนกันมากขึ้นได้เข้ามาชม ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวสนใจเข้าชมมากพอสมควร

คุณจูม

 

ในแต่ละวันก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมของเก่ามากพอสมควร

  โดยคุณ จูม เองซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยตนเอง เป็นผู้พานักท่องเที่ยวชมของเก่าต่างๆ ภายในห้องแถว และอธิบายบรรยายอย่างละเอียด ซึ่งได้รับความพอใจและคำชมเชยจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมเป็นอันมาก

  ชื่อและภาพของคุณจูม พลอยติดไปอยู่ในหนังสือท่องเที่ยว และเวบต่างๆ ทำให้คุณจูมเป็นคนดังขึ้นมาได้อย่างกระทันหัน เกือบจะเทียบได้กับ แม่ตังกวย เลยทีเดียว

นายซุ่ยนางอินเจ้าของร้านทองตัวจริง กับลูกๆในขณะที่ทำผักกาดเค็มหลังจากเลิกกิจการร้านทองแล้ว

    ร้านทองเก่าแก่ร้านนี้มีคุณจูมเป็นผู้ดูแล ดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งที่แท้ก็คือหลานแท้ๆของเจ้าของร้านทอง คือนายซุ่ยและนางอินภรรยา โดยคุณจูมเป็นบุตรของเฮีย "งอก" ลูกชายคนโตของนายซุ่ยนางอินเจ้าของร้านทองนั่นเอง

   ซึ่งปัจจุบันนี้คุณจูม เป็นผู้ครอบครองและดูแลอยู่คนเดียว คนอื่นๆซึ่งเป็นลูกหลานของนายซุ่ยนางอิน ต่างก็พากันแยกย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ภายในเขตตำบลเจ็ดเสมียน ส่วนเฮียงอกพ่อของคุณจูมนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพฯนานแล้ว

คนทางขวาคือคุณแด๊วเป็นบุตรสาวของนายซุ่ยคนหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ที่หมู่ ๒ เจ็ดเสมียนนี่เอง

   ในตอนแรกผู้จัดการฟื้นฟูตลาดเก่าเจ็ดเสมียน ซึ่งก็คือผู้บริหารเทศบาลชุดที่แล้ว (ปัจจุบันนี้เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียนมีผู้บริหารชุดใหม่แล้ว) ได้มาคุยมาขอความร่วมมือจากคุณจูมในเรื่องนี้ และบอกว่าต่อไปในอนาคต จะดำเนินการตั้งเป็นพิพิทธภัณฑ์ เก็บรักษาของเก่าแห่งตลาดเจ็ดเสมียนเลยทีเดียว ผู้อำนวยการคนแรกคงไม่พ้นคุณจูมอย่างแน่นอน  

   คุยกันไปคุยกันมาทำให้คุณจูมเห็นดีด้วย และเผลอตัวจินตนาการถึงความดังของตัวเองต่อไปในอนาคต ถ้าหากว่าเจ็ดเสมียนดังมากๆกว่านี้ จึงได้ให้ความร่วมมือ กับคณะกรรมการที่จะพัฒนาตลาดเจ็ดเสมียนอย่างเต็มอกเต็มใจ และด้วยความยินดีกันทั้งสองฝ่าย

   จุดหมายที่สำคัญตรงกันนั้นก็คือ  อยากส่งเสริมให้ชื่อเสียง ของตลาดเจ็ดเสมียนโด่งดังเหมือนในกาลก่อนอีกครั้งหนึ่ง  โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป เข้าชมกัน

 

ตู้โชว์ของร้านทอง ง่วนหลีเฮง ตลาดเจ็ดเสมียน ซึ่งเมื่อได้เลิกกิจการไปแล้วก็ยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี 

    ร้านทองเก่าร้านนี้มีของเก่าเก็บไว้มากมาย โดยเฉพาะอุปกรณ์ในการทำทองก็ยังอยู่ในสภาพที่ดีอยู่ เช่น ตู้ใหญ่สำหรับโชว์ทอง ตาชั่งสำหรับชั่งทองโดยเฉพาะ หีบที่เหยียบเป่าลม หัวเป่าไฟหลอมทอง

   ตะเกียงเจ้าพายุ โต๊ะตู้เตียง ตลอดจนภาพสมัยเก่าๆ ของคนในตลาดเจ็ดเสมียน สมัย ๕ – ๖๐ ปีมาแล้ว และอื่นๆอีกมากจึงเหมาะสำหรับที่จะนำออกมาอวดนักท่องเที่ยวเป็นยิ่งนัก

 คุณจูมกำลังเล่าเรื่องราวเก่าๆและประวัติของร้านทองแห่งนี้

    นักท่องเที่ยวจากต่างแดน นอกจากจะมาชมงานแสดงต่างๆที่ลานโพธิ์ริมแม่น้ำแล้ว ก็ได้ให้ความสนใจเข้ามาชมสิ่งของต่างๆ ในร้านทองเก่าของนายซุ่ยนางอินนี้เป็นอันมากเพราะว่าอยู่ใกล้ๆกัน เมื่อมาชมแล้วก็พูดกันต่อๆไป

    ก็ถ่ายภาพไปลงในเวบไซค์ของตัวเอง บ้างก็ถ่ายไปอวดเพื่อน อวดแฟนว่าได้มาเที่ยวที่เจ็ดเสมียนแล้วไม่น้อยหน้าใคร บางคนไม่มีเวบไซค์ของตัวเองก็โพสท์ไปตามเวบไซค์สาธารณะก็มี ทำให้ครึกครื้นเป็นยิ่งนัก นับว่าเป็นการเพิ่มชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตา และเป็นประโยชน์ให้กับตลาดเก่าเจ็ดเสมียนเป็นอันมาก

"นี่ไง นี่ไง ภาพของเด็กตลาดเจ็ดเสมียนเล่นกล้ามกัน ที่หลังบ้านกำนันโกวิท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมาเด็กพวกนี้เป็นคนดัง (ในทางที่ดี) ทั้งนั้น"   "มีใครบ้างล่ะคุณจูม บอกขื่อได้ใหม" 

   นักท่องเที่ยวต่างถิ่นที่มาจากไกลๆ ก็หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวกัน ทำให้ตลาดเจ็ดเสมียนของเราพลิกฟื้นคืนชีพขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด คำว่า  “ตลาดเก่าเจ็ดเสมียน 119 ปี” ก็มาเกิดขึ้นในตอนนี้เอง

   กาลเวลาผ่านมาได้ประมาณ ๓ ปี เศษๆ ในขณะที่ตลาดเจ็ดเสมียนกำลังบูมถึงขีดสุด การละเล่นต่างๆที่ลานโพธิ์ริมน้ำ ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงกันอย่างถึงพริกถึงขิง

ลานโพธิ์ทางด้านที่รถสีน้ำเงินจอดอยู่นั่นแหละ เป็นที่แสดงการละเล่นและการแสดงศิลปะของนักแสดงทั้งหลาย ทุกเย็น ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สุดท้ายของเดือน (ปฏิพัทธ์ สุวรรณมัจฉา ถ่ายภาพ )

   การเข้าทรงผีลิง ผีกระด้ง จากชาวบ้านในพื้นที่ การร่ายรำร้องเพลงพื้นบ้านของคนเก่าแก่ในพื้นบ้านอายุ ๘๐ กว่า ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากนั้น

    แต่เมื่อไม่นานมานี้อยู่ๆ ไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับคุณจูม และร้านทองแห่งนี้ เป็นเหมือนกับว่านั่งดูมวยโทรทัศน์อยู่ดีๆ ก็เกิดไฟฟ้าดับอย่างกระทันหัน

   นักท่องเที่ยวอื่นๆอีกมากมาย ที่อยากจะมาชมของเก่าที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ต่างก็พากันผิดหวัง เพราะว่าร้านทองเก่าร้านนี้ได้ปิดลง ไม่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเหมือนดังเก่า โดยไม่ทราบสาเหตุ

  แหล่งข่าวกล่าวว่านักท่องเที่ยวบางคน จึงได้สอบถามชาวบ้านที่อยู่ที่ห้องแถวใกล้ๆกันนั้น ปรากฏว่าก็ไม่มีใครทราบสาเหตุแท้จริง ที่ร้านทองเก่าร้านนี้เคยเปิดให้นักท่องเที่ยวชม แล้วอยู่ๆก็มาปิดตัวลงเพราะอะไร

 แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวอีกว่า ในเวลานั้นพอดีกับ นายพรชัย สุวรรณ แกนนำชาวบ้านหมู่ ๓ คนหนึ่ง เดินหน้าแหลมสูงโย่งโก๊ะออกมาจากตรอก ทางที่จะเข้าไปศาลเจ้าแม่เจ็ดเสมียน  (นายพรชัยคนนี้คือบุตรชายของ อาจารย์ เบญจา สุวรรณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน และนายพรชัยเป็นน้องชายของคุณอาคม สุวรรณ เด็กเจ็ดเสมียนรุ่นเก๋ากึ๊กคนหนึ่ง)

   เมื่อนักท่องเที่ยวเห็นเข้า จึงได้ถามนายพรชัยถึงเรื่องนี้ เมื่อนายพรชัยได้รับคำถามจากนักท่องเที่ยวแล้ว ถึงกับส่ายหน้าไปทางซ้าย ๕ ทางขวา ๖ ครั้ง แล้วบอกแต่เพียงว่า

เด็กเจ็ดเสมียนรุ่นนี้ (แถวยืน) เป็นรุ่นเก่าอีกรุ่นหนึ่ง คนซ้ายมือสุดนั้นคือคุณเง็ก เจ้าแม่แห่งบ้านริมน้ำ สำหรับคนตัวเล็กกว่าเพื่อนนั้น (ยืนกลาง) ปัจจุบันนี้คือ กรรณิกา วงศ์ยะราผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ คนถัดไปผู้ชายสูงๆนั้นคือ คุณอาคม สุวรรณ พี่ชายของคุณพรชัย

 

คุณ กรรณิกา วงศ์ยะรา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลเจ็ดเสมียน บุตรสาวของกำนันโกวิท วงศ์ยะรา กำนันผู้ปกครองตำบลเจ็ดเสมียนชื่อดังในอดีต 

   “ผมก็ไม่ทราบอะไรเลยครับ ต้องไปถาม ครูเด๋อ (นักประวัติศาสตร์พื้นบ้านชื่อดังแห่งตำบลเจ็ดเสมียน ตลาดเก่า 119 ปี) ดูเอาเองก็แล้วกัน ” แล้วก็พาร่างอันสูงโย่งเดินออกจากตรอกไปทางบ้านผู้ใหญ่ “โจ “ เพราะฉะนั้นจนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีใครทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไรคุณจูมจึงได้ปิดร้านไป

ครูเด๋อ (พูลสุทัศน์ เมฆสุวรรณ) นักประวัติศาสตร์พื้นบ้านชื่อดัง และอดีตรองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน กำลังเข้าถึงเพลงไทยเดิม ทำตาปรอยๆอย่างซึ้งในอารมณ์ ( ภาพจากคุณอาทร ชื่นณรงค์ ตลาดเจ็ดเสมียน)

   ข่าวล่าสุดจากแหล่งข่าวคนเดิม เดินหัวเราะเอิ๊กอ๊ากเข้ามาหาแล้วบอกว่า "เดี๋ยวนี้ร้านขายทองที่ว่านี้ได้เปิดทำการเป็นปกติแล้วครับท่าน แต่ว่าขอโทษนะครับ คุณจูมเขาไม่ได้เปิดให้ชมของเก่าเหมือนเดิมแล้ว แต่เปิดขายของกินของใช้เบ็ดเตล็ด ส่วนของเก่านั้นยังไม่มีกำหนดเปิดให้ชม "

   คุณจูมผู้มีอำนาจเต็มคนเดียวในสถานที่นี้ คงจะเก็บของเก่าเหล่านี้เอาไว้ให้มันเก่ามากๆกว่านี้อีกสัก ๕๐ ปี แล้วจึงจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่จัดการบริหารตลาดเจ็ดเสมียน 119 ปี มาเจรจากันใหม่จนพอใจ เมื่อพอใจได้ที่ดีแล้ว จึงจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมกันต่อไป

   ในตอนนี้ผู้เขียนมองดูตลาดเจ็ดเสมียนตามประสาชาวบ้านแล้ว เรตติ้ง (ความนิยม) ตกลงไปมาก และเมื่อถึงตอนนั้นแล้วจะมีนักท่องเที่ยว หลงเข้ามาที่ตลาดเก่านี้แล้วแวะมาดูของเก่าที่ร้านทอง ของคุณจูมบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ซี...!

เขียนโดย ขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสิบสอง ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓ 

บทความและภาพในเรื่องนี้ สงวนลิขสิทธิ์  

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้150
เมื่อวานนี้299
สัปดาห์นี้1564
เดือนนี้2003
ทั้งหมด1406023

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online