กลางเมืองราชบุรีเคยมีหาดทราย

หาดทรายกลางเมืองราชบุรี มองเห็นสะพานจุฬาลงกรณ์ อยู่ข้างหน้า ขอขอบคุณภาพจาก เวบไซค์นายรอบรู้ ซึ่งท่านที่อยู่ในภาพนี้เป็นญาติของท่านทันตแพทย์ณรงค์ชัย อิมราพร  และขอบคุณ aya tamon ที่ส่งภาพนี้มาให้ได้ชมกันอย่างทั่วถึง 

   คุณ aya tamon ซึ่งเป็นสมาชิกของเรา และเคยได้ติดต่อกันอยู่ แต่ช่วงหลังๆนี้หายเงียบไป แต่วันนี้ได้พบเรื่องไม่น่าเชื่อ หรือว่าเรื่องเชื่อหรือไม่

  จึงอยากจะเผยแพร่ให้พวกเราชาวราชบุรี หรือผู้ที่สนใจทั่วไปได้ทราบด้วย จึงได้ส่งเรื่องและภาพนี้มาให้  จึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

   ภาพนี้เป็นของท่านทันตแพทย์ ณรงค์ชัย อิมราพร และภาพจาก เวบไซค์ นายรอบรู้ จึงต้องขออนุญาตนำมาลง และขอขอบคุณท่านมา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งด้วย

  คุณ aya tamon ส่งภาพมาแล้วเขียนอธิบายมาว่า ดังนี้ครับ

 
   คุณจะเชื่อไหมถ้าบอกว่าที่กลางเมืองราชบุรี เคยมีชายหาดยาวเหยียดให้ชาวบ้านร้านถิ่นลงไปเล่นน้ำพักผ่อนอย่างสบายใจ

   ถ้าไม่มีภาพเก่าภาพนี้เป็นประจักษ์พยาน ก็คงไม่มีใครเชื่อ และคิดไปว่าคงเป็นชายหาดริมทะเลอย่างหาดบางแสน หาดพัทยา แต่ชายหาดที่ว่านี้เป็นหาดทรายริมลำน้ำแม่กลองที่ไหลผ่านกลางเมืองราชบุรีนั่นเอง

   ย้อนหลังไปราวสามทศวรรษ ( ราว ๓๐ ปี ) ที่ผ่านมา สมัยที่คุณแม่ยังสาว ริมลำน้ำแม่กลองยามน้ำลงจะเห็นหาดทรายยาวเหยียด มีพื้นที่กว้างขวางเป็นที่เล่นน้ำ นั่งพักผ่อนของคนในราชบุรี

  เป็นที่สำราญใจของคนหนุ่มราชบุรีบางคน ที่มีฐานะมักขับเรือยนต์มาแอบมองสาวน้อยสาวใหญ่ลงเล่นน้ำอยู่เสมอๆ

   ที่เห็นในภาพนี้ท่านเป็นญาติของทันตแพทย์ณรงค์ชัย อิมราพร ซึ่งได้ค้นหาภาพนี้มาให้  "นายรอบรู้ " สะพานที่เห็นอยู่ลิบๆ นั้นคือ “ สะพานจุฬาลงกรณ์ ” ในตัวเมืองราชบุรี

   ชายหาดเมืองราชบุรีเหลือเพียงตำนานเล่าขาน อันเป็นผลจากการดูดทรายในท้องน้ำไปขายอย่างขนานใหญ่ พร้อมกับการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์แถบเมืองกาญจนบุรี

   กรวดทรายที่เคยพัดพามากับน้ำก็ถูกกักไว้ด้วยสันเขื่อน วันนี้ลำน้ำแม่กลองน้ำเต็มเปี่ยม บางช่วงเกือบล้นขึ้นมาบนฝั่ง ริมตลิ่งมีคอนกรีตป้องกันการพังทลายจากแรงน้ำ จึงไม่แปลกถ้าจะมีใครไม่เชื่อว่า ในครั้งหนึ่งที่ราชบุรีเคยมีชายหาดกว้างใหญ่ ให้ผู้คนลงมาพักผ่อนกันอย่างสบายใจ มาแล้ว....!

 aya tamon   

    นั่นเป็นคำอธิบายภาพของคุณ  aya tamon  ในเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ในเรื่องลักษณะเดียวกันนี้ก็ยังมีอีกหลายที่ ซึ่งสถานที่นั้นๆเคยมีหาดทรายที่สวยงาม กว้างใหญ่สุดสายตาให้ชาวบ้านได้เดินเล่นและพักผ่อนมาแล้ว

    อย่างเช่นเมื่อสมัยที่ผู้เขียนยังเด็กๆ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ เคยไปอยู่ที่โรงเลื่อยแห่งหนึ่งที่ปากแรด อำเภอบ้านโป่ง

  โรงเลื่อยแห่งนี้ตั้งอยู่ริมน้ำแม่กลอง เมื่อมองจากฝั่งโรงเลื่อยไปยังฝั่งตรงกันข้าม จะเห็นหาดทรายที่ขาวสะอาด ยิ่งในเวลาหน้าแล้งน้ำลง มองเห็นพื้นท้องน้ำดูเหมือนว่าจะเป็นทรายที่เม็ดละเอียดยิบทั้งนั้น ชายหาดก็ขาวสะอาด กว้างใหญ่สุดสายตา

  เมื่อตอนนั้นผู้เขียนก็ยังได้ข้ามฝั่งจากโรงเลื่อย กับเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นลูกชายของเจ้าของโรงเลื่อย ไปเดินเล่นที่หาดทรายแห่งนี้ในตอนเย็นบ่อยๆ ในปัจจุบันนี้ไม่มีหาดทรายอยู่ที่ตรงนั้นเลย มันหายไปไหนหมด ?

  และอีกที่หนึ่งก็คือหาดทรายกว้างใหญ่ ที่ริมแม่น้ำแม่กลองคือที่ตลาดโพธาราม ถึงขนาดมีงานประจำปีที่บนหาดทรายแห่งนี้ทุกๆปี เรียกว่า “งานหาดทราย”

   หรือที่ผู้เขียนและพรรคพวกเรียกกันว่า “งานงิ้ว” และจะมีเป็นประจำทุกๆปีประมาณกลางเดือนมกราคม ปัจจุบันนี้งานนี้ก็ยังมีอยู่ แต่เล่นกันบนพื้นคอนกรีต แทนหาดทราย เพราะว่าหาดทรายได้หายไปหมดแล้ว มันหายไปไหนหมด ?

  นั่นเป็นเรื่องเมื่อครั้งเด็กๆเท่าที่จำได้และเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่เรื่องอย่างนี้ก็มาเกิดขึ้นใกล้ๆตัวด้วยเช่นเดียวกัน

แม่ลูกคู่นี้นั่งเล่นอยู่ที่หัวบันใดท่าน้ำเจ็ดเสมียน มองไปด้านหลังของภาพจะเห็นฝั่งตรงกันข้ามเป็นหาดทรายขาวสอาดอย่างชัดเจนภาพนี้เกือบ ๔๐ ปีแล้ว ภาพโดยคุณจำเนียร คุ้มประวัติ

  ผู้เขียนเกิดที่ตำบลเจ็ดเสมียน และได้อยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนเรื่อยมา ก็ได้เห็นภาพที่ชินตา และเป็นภาพที่ธรรมดาเหลือเกินเพราะเห็นทุกวัน

  คือตลาดเจ็ดเสมียนนั้น เป็นตลาดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ดังนั้นตรงกันข้ามกับตลาดจึงมองเห็นหาดทรายที่ขาวสะอาด

บ่ายแก่ๆหน่อยอากาศกำลังแจ่มใส เด็ก ผู้ใหญ่คนตลาดเจ็ดเสมียนก็นั่งเรือจ้างข้ามฟากไปเดินเล่นกันที่หาดทราย ภาพโดยคุณจำเนียร คุ้มประวัติ

  ในเวลาเย็นๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถ้ามีเวลาว่าง ก็จะพากันข้ามฝั่งไปเดินเล่น ที่หาดทรายนั้นเพื่อพักผ่อน พวกที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็เดินคุยกันปรึกษาหารือกัน

  ส่วนพวกเด็กๆก็วิ่งเล่นซ่อนแอบกันที่กอตระไคร้หางนาค กอต้นอ้อซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไป บ้างก็ลงเล่นน้ำดำผุดดำว่าย บ้างก็งมหอยกาบที่ซุกอยู่ที่พื้นทรายตัวใหญ่ๆ กู่ก้องร้องตะโกนเรียกกันอย่างสนุกสนาน

ถึงท่าเรือจ้างฝั่งหาดทรายแล้ว มองเห็นท่าน้ำเจ็ดเสมียนอยู่ด้านหลัง คุณจำเนียร คุ้มประวัติ ถ่ายภาพ

เดินเล่นกันที่หาดทรายกันอย่างมีความสุข คุณจำเนียร คุ้มประวัติ ถ่ายภาพ

ปีที่ถ่ายภาพนี้น้ำในแม่น้ำน้อยเป็นพิเศษ จึงทำให้หาดทรายโผล่พ้นน้ำขึ้นมามาก สุภาพสตรีทั้ง ๓ ท่านนี้นั่งได้ที่ดีแล้วจึงตะโกนร้องเรียก "ลุงเนียร ช่วยถ่ายรูปให้ที เร้ว..!"

หาดทรายทางด้านนี้กว้างมาก ยาวไปถึงหน้าวัดตึกเลยละ  " ลุงเนียร ขอเดี่ยวสักรูปนึงนะ ไม่ได้โชว์อะไรหรอกนะจ๊ะ อยากให้เห็นหาดทรายเยอะๆ  "

   เมื่อผู้เขียนโตแล้วจึงจำเป็นที่จะต้องจากเจ็ดเสมียนไป นานๆจึงกลับมาหาญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่เจ็ดเสมียนสักครั้งหนึ่ง

  มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อกลับมานั้นได้สังเกตุว่า หาดทรายตรงกันข้ามกับตลาดเจ็ดเสมียน ทางด้านซ้ายมือเลยตรงข้ามกับวัดใหม่ชำนาญไป ส่วนทางขวามือนั้นน่าจะถึงหน้าวัดตึกและวัดสมถะ

  หาดทรายที่เราเคยวิ่งเล่นเมื่อครั้งยังเด็กๆนั้น หายไปหมด หายวับไปเหมือนถูกเสก  ไม่รู้ว่าใครมาเสกเอาทรายขาวสะอาดอย่างดี ที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้หายไปหมด

แม่น้ำแม่กลองมองจากท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียน ในปัจจุบัน มองเห็นวัดใหม่ขำนาญอยู่ทางซ้ายมือ  ปฏิพัทธ์ ถ่ายภาพ

  ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่า ที่ใจกลางเมืองราชบุรีมีหาดทราย เหมือนกับที่อื่นๆอีกหลายแห่ง .... จริง..!

  และก่อนจบก็ขอฝากกลอนไว้สักกลอนหนึ่ง เพื่อยืนยันว่าหาดทรายตรงข้ามกับตลาดเจ็ดเสมียนนั้น เป็นที่พักผ่อนของประชาชนคนเจ็ดเสมียนจริงๆ


     ที่ดินแดนแห่งนี้มีตลาด
เป็นขนาดไม่ใหญ่หลายคนสน
ติดลำน้ำแม่กลองไหลเอื่อยวน
ทุกๆคนมีสุขทุกข์ไม่มี
ในอดีตที่นี่ฝั่งตรงข้าม
มีหาดทรายสวยงามน่าเดินเล่น
เด็กเจ็ดเหมียนหลายคนในยามเย็น
ข้ามกันไปเดินเล่นบนหาดทราย
บ้านเธออยู่ถึงแดนพงสวาย
ยังมาได้เดินเล่นอยู่กับฉัน
เป็นอย่างนี้ตอนเย็นแทบทุกวัน
เธอและฉันชื่นนักรักกันจริง
สัญญากันเอาไว้จะเป็นคู่
แนบใจอยู่ที่นี่ไม่ไปไหน
ตราบใดที่เจ็ดเหมียนยังมีทราย
รักของเราอยู่ได้อย่างยืนยง
คำสัญญาของเราที่เข้าหู
เราได้รู้สองคนบนหาดฝัน
ตราบใดที่เมล็ดทรายไม่มีวัน
บนหาดทรายนี้นั้นจะหายไป
อันสายน้ำสายลมและสองเรา
เคยเดินเคล้าคลอเคลียย้ำบอกให้
ตราบใดที่เจ็ดเหมียนไม่สิ้นทราย
จะรักกันไม่หน่ายทุกเวลา
ไม่นานนักอยู่มาหาดทรายหาย
เป็นไปได้อย่างไรกันเล่าหนอ
หาดทรายที่เดินเล่นเพลินพะนอ
เด็กเจ็ดเหมียนนั้นหนอเศร้าในใจ
ใครกันหนอเอาหาดของเราไป
หมดสิ้นทรายเอาไปไม่เหลือหรอ
สาวคนรักจากไปไม่รีรอ
ตามงอนง้ออย่างไรไม่คืนมา..

 เขียนโดย ปฏิพัทธ์ / ศุกร์ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้236
เมื่อวานนี้746
สัปดาห์นี้2597
เดือนนี้8855
ทั้งหมด1328189

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

4
Online