งานบวชเมืองกรุง ๑
คุณสมศักดิ์และคุณองุ่นถ่ายภาพกับนาคโจ (จิตติชัย โอภาสพินิจ) ซึ่งเป็นลูกชาย ( ถ่ายภาพโดย John Borntobe )
การจัดงานต่างๆในตำบลที่ผมอยู่นั้น เป็นการจัดงานที่เรียกว่าลูกทุ่ง เพราะว่ามีทุกสิ่งทุกอย่างตามโบราณที่ทำๆกันมาโดยเฉพาะงานบวชนั้นจะมีงานกันอย่างน้อย ๒ วัน
ในวันแรกซึ่งเป็นวันสุกดิบ จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญและการทำขวัญนาคกันอย่างใหญ่โต ตกตอนค่ำบางงานก็จะมีคนตรี หรือลิเกคณะดังๆมาเล่นให้ชาวบ้านได้ชมกันเป็นที่ครึกครื้น จะมีมากหรือน้อยอันนี้ก็ขึ้นกับเจ้าภาพจะมีเงินมากหรือน้อยด้วยในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันบวช จะมีการแห่นาคจากบ้านที่จัดงานไปที่วัด ถ้าบ้านงานอยู่ห่างจากวัดมากๆ ก็จะมีริ้วขบวนรถยนต์แห่แหนกันใหญ่โต บางงานถ้าอยู่ไม่ไกลจากวัดมาก ริ้วขบวนจะถึงซุ้มประตูวัดแล้ว ท้ายขบวนเพิ่งจะออกพ้นประตูบ้านไปเดี๋ยวนี้เอง แต่ก็มีอีกพวกหนึ่งที่บ้านงานอยู่ไม่ไกลจากวัดมากนัก ขบวนแห่จะเดินกันไป มีนางรำๆไปเต้นไปตลอดทางทั้งหมดทุกแบบนี้ เวลาแห่รอบโบสถ์ ๓ รอบ จะมีนางรำๆหน้าขบวนทุกๆงานเหมือนกันหมด
งานบวชตามชนบทจะมีขบวนแห่ยาวเหยียด ข้างหน้าขบวนนั้นจะมีกลองยาวหรือแตรวง ให้เสียงเพลงแก่คนเต้นคนรำกันอย่างถึงพริกถึงขิง (ภาพโดยปฏิพัทธ์)
พูดถึงการแห่นาครอบโบสถ์นั้น บางงานก็มีกลองยาว บางงานก็มีแตรวง แต่บางงานมีเหมือนวงดนตรีย่อยๆเคลื่อนที่ คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะเคยเห็นมาบ้างแล้ว เขาใช้รถเข็นหรือที่เรียกว่ารถสาลี่มาต่อโครงเหล็กขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง สำหรับวางเครื่องขยายเสียงและแบ๊ตเตอรี่รถยนต์
ส่วนอีกชั้นหนึ่งคือชั้นบน เขาวางกลองชุดเล็กๆมีกลองต่างขนาดกันประมาณ ๔ ลูกมีคนเข็นรถสาลี่นี้โดยเฉพาะ ส่วนคนที่เดินตามนั้น ก็มีคนที่ร้องเพลงและตีกลองชุดไปด้วย นอกจากนั้นมีคนสะพายกลองใหญ่ สะพายกีต้าร์ สะพายแอ๊คคอเดี้ยน อีกอย่างละคน เท่านี้ก็เป็นกองเชียร์ที่ร้องเพลงให้นางรำหน้าขบวนแห่เต้นกันมันสุดฤทธิ์แล้ว
เต้นรำกันหน้าขบวนแห่และขบวนแห่รอบโบสถ์ (ปฏิพัทธ์ ถ่ายภาพ)
ที่ผมเล่ามานี้เป็นงานบวชนาคหรือบวชพระสำหรับลูกทุ่งหรือตามชนบทต่างๆ อย่างคร่าวๆ โดยไม่ต้องเล่ารายละเอียดมากนัก คิดว่าท่านผู้อ่านหลายๆท่านก็คงจะเคยเห็น และเคยไปร่วมงานบวชแบบนี้มามากแล้ว
ในระยะนี้แถวๆตำบลบ้านผม มีการจัดงานต่างๆขึ้นมาเรื่อยๆเช่น งานศพ งานแต่งงาน งานทำบุญบ้าน และโดยเฉพาะที่บ่อยที่สุดก็คืองานบวชนาค เพราะว่าในชนบทโดยทั่วๆไปนั้น จะนิยมบวชลูกหลานกันในเดือนนี้ ซึ่งเป็นเดือนก่อนเข้าพรรษากันอีกไม่นานนัก
และไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานน้อย บ้านที่จัดงานจะมีการเช่าเครื่องขยายเสียง มาเปิดมาขับกล่อมกันทุกบ้าน ถ้าอยู่ห่างไกลกันหน่อยก็จะได้ยินเสียงแว่วๆมาตามลมดัง ทึม..ทึม ..ทึม..! แต่ถ้าอยู่ใกล้ๆกันละก็คุณเอ๋ย บ้านทั้งหลังสั่นสะเทือนไปหมด ดังที่กล่าวมาในตอนแรกๆแล้ว
งานทั้งหลายที่ผมกล่าวมานี้ ผมไม่ได้ไปร่วมงานกับเขาทุกงานหรอกครับ เพราะว่าบางงานเจ้าภาพเขาไม่ได้มาบอกหรือมาแจกการ์ด ผมและครอบครัวจึงไม่ได้ไปร่วมงานด้วย อาจเป็นเพราะว่าถึงแม้ว่าจะอยู่ในตำบลเดียวกัน บางบ้านบางชุมชนก็ไม่รู้จักกันเลยก็มี
ซุ้มประตูวัดและท่าน้ำวัดไทรม้าเหนือวัดที่บวชคุณจิตติชัยในวันนี้ (ถ่ายภาพโดย Mr. bee.kp.)
จนมาเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง มีงานบวชงานหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นการจัดงานบวชแบบของชาวกรุงหรือลูกกรุง ที่ผมจะต้องไปในงานนี้ให้ได้ เพราะว่าเป็นเหมือนภาคบังคับของผมด้วย
พี่องุ่น คุ้มประวัติ (สกุลเดิม) อดีตเด็กเจ็ดเสมียนที่ผมนับถือมานาน โทรมาถึงผมแล้วบอกผมว่า " พี่จะบวชลูกชายนะ " แล้วพี่องุ่นก็บอกถึงชื่อวัดคือวัดไทรม้าเหนือที่จะบวชลูกชาย พร้อมทั้งบอกวันเวลาด้วย พี่องุ่นบอกว่า
“ พี่ไม่ได้จัดงานใหญ่โตอะไรหรอก จัดกันแบบเงียบๆ บอกเพื่อนฝูงญาติมิตรคนสนิทไม่กี่คนเท่านั้นเองเอาแบบวันเดียวจบ ที่จริง โจ (ชื่อบุตรชายคนที่จะบวช ) เขาบอกพี่ว่า โจจะบวชแบบโกนหัวเข้าวัดไปเลย ไม่ต้องบอกใครๆให้ยุ่งยากนะแม่ ” (อย่างนี้แหละที่ผมผู้เขียนคิดว่าบวชแบบลูกกรุงคือแบบรวบรัด ไม่มีการทำชวัญนาค, ไม่มีขบวนมะโหรีแห่หน้าขบวน)
พี่องุ่นพูดต่ออีกว่า
“ พี่ก็บอกลูกชายพี่ว่า ทำแบบนั้นไม่ได้หรอกมันเป็นธรรมเนียมน่ะ เรามีคนรู้จักเยอะทั้งฝ่ายพ่อทั้งฝ่ายแม่ แล้วก็ญาติๆของเราทางบ้านเดิมที่ เจ็ดเสมียน บางโตนด ศรีประจันต์อีกล่ะมากมายก่ายกอง ญาติเหล่านี้ก็ต้องบอกเขาด้วย ส่วนเขาจะมาหรือไม่มาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง "
พี่องุ่นยังคุยกับผมอีกหลายเรื่อง สุดท้ายก็บอกผมว่า “ เก้ว (อยู่ตลาดเจ็ดเสมียนผมชื่อเก้ว เรียกอย่างอื่นผมไม่ขาน) กับหวาน ต้องไปร่วมงานกันให้ได้นะ ” พี่องุ่นหมายถึงภรรยาของผมซึ่งก็รู้จักสนิทสนมกันกับครอบครัวพี่องุ่นมานานปีดีดักแล้วเช่นเดียวกัน
พี่องุ่นเป็นใคร เห็นท่าว่าผมจะไม่ต้องบอกก็ได้ ถ้าท่านได้ติดตาม www.chetsamian.org มาตลอดก็จะทราบดี เพราะว่ามีเรื่องราวของคนเจ็ดเสมียนเยอะ รวมทั้งพี่องุ่นด้วย แต่เอาเถอะถ้ายังไม่รู้จักหรือจำไม่ได้จริงๆ ก็เข้าไปดูกันก่อนอีกสักครั้งหนึ่งก็ได้ ไม่ได้ผิดกฏกติกามารยาทอะไร คลิ๊ก
ด้วยเหตุฉะนี้ก่อนถึงกำหนดงานหนึ่งวัน ผมและภรรยาได้ขับรถกะบะสี่ประตูเก่าๆจากอำเภอสามชุก มาค้างคืนที่บ้านปากเกร็ดก่อน เพราะคิดแล้วว่าถ้าตรงดิ่งมาจากอำเภอสามชุก สุพรรณฯ ในตอนเช้าวันบวชเลยทีเดียว ก็กลัวว่าจะไปไม่ทันงาน เพราะว่าผมขับรถช้าจริงๆช้ากว่าคนอื่นๆประมาณ ๓ เท่า
ดังนั้นเช้าวัน เสาร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ผมกับคุณหวาน พร้อมด้วยบุตรชายอีกคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้พากันออกจากบ้านปากเกร็ดนั่งรถของลูกชายไป โดยลูกชายเป็นคนขับมุ่งตรงไปยังวัดไทรม้าเหนือ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านปากเกร็ดเท่าไรนัก เมื่อมาถึงบริเวณงาน เห็นมีคนมากมายและมีรถจอดอยู่เต็มบริเวณภายในวัดแล้ว ผมจึงได้บอกลูกชายให้เอารถไปจอดที่ริมเขื่อนนอกกำแพงวัดทางด้านริมน้ำ ซึ่งยังมีที่จอดอยู่
ผู้ที่มาก่อนแล้วเป็นคนที่รู้จักกันมาก่อนส่วนหนึ่ง เสื้อสีเขียวปนฟ้านั้นคือคุณสาธร วงษ์วานิช เพื่อนของผู้เขียนที่เคยเป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียนด้วยกัน ไปงานของคนเจ็ดเสมียนงานไหนเจอกันทุกงาน คนใส่เสื้อยืดลายขวางนั้นคือคุณนิล ทำงานเป็นพนักงานการไฟฟ้าภูมิภาคจนเกษียนอายุ เป็นลูกของพี่สาวนายจำเนียร คุ้มประวัติ ที่พวกเราในสมัยเด็กๆเรียกแกว่า ป้านิ่ม คุณนิลบ้านอยู่บางโตนด เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ เจอกันครั้งสุดท้ายที่บางโตนดเมื่อ ๓๐ ปีมาแล้วยังจำกันได้ (ถ่ายภาพโดยนายแก้ว)
เมื่อเดินผ่านเข้าไปในวัด ได้ยินเสียงพระกำลังสอนนาคอยู่พอดี ญาติมิตรนั่งกันอยู่ที่เก้าอี้ที่เขาจัดเตรียมไว้ให้ ยังคิดในใจกันอยู่ว่า เรามาช้ากันไปหน่อยแล้ว คุณสาธร วงษ์วานิช เพื่อนเก่าครั้งที่ยังเป็นเด็กที่ตลาดเจ็ดเสมียน โบกมือ กวักมือเรียก คล้ายๆจะบอกว่า “เฮ้ย ...! เก้วโว้ยกูอยู่นี่ ”
กลุ่มนี้รู้จักกันทั้งนั้น คุณสาธรกำลังคุยกับคุณนิล มีคุณจุ้ยนั่งอยู่ข้างขวา ทางซายมีคุณสุธรรมและคุณเอนกนั่งฟังด้วยความสนใจ ในขณะที่พระกำลังเทศนาสอนนาค ( ถ่ายภาพโดยนายแก้ว )
เมื่อเข้ามานั่งกับคุณสาธรแล้ว จึงได้รู้ว่าคนที่นั่งกันอยู่ที่โต๊ะกลุ่มนั้น และโต๊ะถัดๆไปล้วนแล้วแต่ เพื่อนฝูงเก่าๆ ที่เคยเป็นเด็กที่ตลาดเจ็ดเสมียนด้วยกันบ้าง บางคนเคยแค่เห็นกัน แต่ไม่ได้พบกันมานานหลายปีทั้งนั้น
คนเก่าๆที่มาพบกันในครั้งนี้ไม่ได้พบกันเหมือนเด็กๆเมื่อแต่ก่อนนั้นแล้ว ต่างคนต่างก็มีอายุมากขึ้น มีครอบครัวมีบุตรมีหลานแตกแขนงกันออกไปอีกมากมาย บางคนก็พามาด้วย จึงเป็นการพบกันครั้งสำคัญของพวกเราทีเดียว
ยิ่งเครือญาติลูกหลานของลุงจำเนียรป้าละม่อมนั้น มากันเกือบครบ เฉพาะลูกๆของลุงจำเนียรนั้นขาดเพียงคนเดียวคือ คุณกนก คุ้มประวัติ ซึ่งไปราชการที่ประเทศทางยุโรปหลายประเทศ โดยเฉพาะในขณะที่ผมเขียนนี้ คุณกนก ทำหน้าที่ลูกศิษย์พระเจ้าอาวาสวัดไทยในเบอร์ลิน มีกำหนดกลับประเทศไทยในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ นี้.
คุณกนก คุ้มประวัติ (ขวา) ในเบอร์ลิน เยอรมันนี (คุณกนกบอกชื่อและสถานที่มาแล้วแต่ผู้เขียนค้นหาไม่เจอ คุณกนกจะบอกมาใหม่ก็จะดี)
เนื่องจากงานบวชครั้งนี้ไม่ได้จัดเป็นงานใหญ่โต พี่องุ่นเคยบอกผมไว้แล้วว่า จัดกันอย่างรวบรัดวันเดียวเสร็จ ผมจึงขอบอกท่านผู้อ่านให้ทราบตามขั้นตอนคร่าวๆดังนี้ครับ ในตอนเช้าก็มีการปลงผม (โกนผม) โดยพ่อแม่ของผู้ที่จะบวชและญาติผู้ใหญ่บางท่าน (ในตอนนี้ผมเองยังมาไม่ถึงงาน)
เสร็จแล้วต่อมาก็จะมีการสอนนาค (ผมมาถึงพอดีแต่เกือบเสร็จแล้ว) โดยเจ้าอาวาสที่วัดนี้ ต่อมาอีกก็จะเป็นการแห่นาค วนรอบพัทธสีมาภายในกำแพงโบสถ์ ๓ รอบ เสร็จแล้วก็ส่งนาคเข้าโบสถ์ไป ต่อจากนั้นก็เป็นพิธีการบวช ซึ่งเป็นเรื่องของพระเท่านั้น จะมีญาติโยมเข้าไปนั่งดูอยู่เฉยๆก็ได้โดยไม่ต้องยุ่งอะไรทั้งนั้น นี่เป็นกำหนดการย่อๆของการบวชคุณจิตติชัยในวันนี้
เรามาดูรูปตั้งแต่เริ่มต้นกันนะครับ
คุณจิตติชัย กราบไหว้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ ขออโหสิกรรมที่ได้ล่วงเกินเอาไว้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอให้ท่านทั้งหลายจงยกโทษและลบล้างโทษให้ ในการที่จะขอบวชครั้งนี้ ในภาพนี้มีคุณอาเอ็นและสามีคือ พตอ.ไพศาล เทียบทอง อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจ ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี มารับไหว้อยู่ทางด้านขวาของภาพ ( ถ่ายภาพโดย John Borntobe )
คุณสมศักดิ์ โอภาสพินิจ ผู้เป็นพ่อลงมือตัดผมเป็นคนแรกพอเป็นพิธี คุณองุ่นผู้เป็นแม่จ้องมองอยู่ใกล้ๆด้วยความอิ่มเอิบใจ (ถ่่ายภาพโดย John Borntobe )
คุณองุ่น ตัดผมลูกชายพอเป็นพิธี เป็นคนต่อมา สำหรับคุณองุ่นนี้ผู้เขียนเรียกว่าพี่ตลอดมานานหลายสิบปีแล้ว ส่วนผู้ที่ถือใบบัวรองรับผมที่ตัดแล้วทางขวามือคือ พันตำรวจเอก ไพศาล เทียบทอง อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร ศรีประจันต์ (ถ่่ายภาพโดย John Borntobe )
ถัดจากคุณพ่อและคุณแม่แล้วยังมีญาติสนิทอีกหลายคนที่จะมาทำการตัดผมอีก แต่ภาพลงได้ไม่หมดเพราะมีเนื้อที่จำกัด จึงขออภัยด้วย ภาพเล็กด้านซ้ายที่กำลังตัดผมอยู่นั้นคือ คุณเอนก คุ้มประวัติ มีขวัญใจวัยรุ่นยืนเข้าคิวต่ออยู่ คุณเอนกนี้เป็นคุณน้าของผู้ที่จะบวช ส่วนภาพขวามือนั้น คุณศิริเพ็ญ (เจี๊ยบ) มหาทรัพย์ พี่สาวของคุณโจ กำลังตัดผมพอเป็นพิธีให้กับน้องชายด้วยความอิ่มเอมใจ วันนี้จึงเป็นวันที่คุณเจี๊ยบมีความสุขที่สุดอีกวันหนึ่ง. (ถ่ายภาพโดย John Borntobe )
ภาพทางซ้ายคือคุณอ๋อย ขวัญใจของพระเอกวัยรุ่น เอนก คุ้มประวัติ มีฐานะเป็นน้าสะใภ้ของผู้บวช ส่วนภาพขวานั้นคือคุณคนึง คุ้มประวัติ (จุ้ย) เป็นน้องชายคุณเอนก เขาจึงมีฐานะเป็นน้าชายของคุณโจ และขออภัยเป็นอย่างมากที่ผ่านมาหลายภาพแล้วยังไม่ได้บอกว่า เด็กสาววัยรุ่นที่เป็นผู้ถือใบบัวรองรับเส้นผมของผู้ที่จะบวชเปลี่ยนจาก พตอ.ไพศาล เทียบทองนั้นคือ น้องการ์ตูน หรือเด็กหญิงกาญจนพักตร์ มหาทรัพย์ บุตรคนเดียวของคุณศิริเพ็ญ (เจี๊ยบ) มหาทรัพย์ น้องการ์ตูนจึงมีศักดิ์เป็นหลานของคุณสมศักดิ์และคุณองุ่น โอภาสพินิจ. (ถ่ายภาพโดย John Borntobe )
ขั้นตอนนี้คล้ายๆกับทำขวัญนาค แต่การบวชคราวนี้ไม่มีการทำขวัญนาค จึงมีพระมาเทศสอนนาคแทน มีพ่อแม่และญาติส่วนหนึ่งเข้าไปฟังพระเทศสอนนาคด้วย (ภาพโดยเกียรติศักดิ์ สุวรรณมัจฉา)
หลังจากบวชเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำพระบวชใหม่มาที่อาคารโรงพิธีอีก เรียกว่า ฉลองพระเลี้ยงพระเพลกันเลย เป็นอันเสร็จพิธีของการบวชพระ แต่ทางฆารวาส คือญาติพี่น้องและท่านที่เคารพนับถือทั้งหลายยังไม่เสร็จธุระ เพราะว่าเจ้าภาพได้จัดอาหารแบบบุปเฟ่ชุดใหญ่ มากมายพอเพียงสำหรับญาติมิตรทุกท่านที่มาในวันนี้ มาร่วมรับประทานอาหารกัน โดยการตักกันเอาเองตามใจชอบ ถ้ารสดีถูกปากจะซ้ำสักกี่จานก็ได้ไม่มีกฎกติกามารยาทแต่อย่างใด
จัดงานกันแบบนี้ดูเหมือนว่าจะง่ายดายราบรื่นดีนะครับ แต่ผมว่าก็ต้องมีบ้างที่เจ้าภาพ จะต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดาของการจัดงาน แต่สรุปโดยรวมแล้วเจ้าภาพก็พอใจและขอขอบคุณท่านที่สละเวลามาร่วมงานกันในครั้งนี้ด้วย
ต่อจากนี้ไปจะเสนอภาพบางภาพเรียงลำดับไปตั้งแต่ต้น ให้ท่านผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมงานในครั้งนี้ได้ชมกัน แต่ไม่ได้เน้น (ภาพ) เรื่องการบวชเท่าไรนัก จะไปเน้น (ภาพ) ญาติพี่น้องลูกหลาน และผู้ที่มาร่วมงานกันในวันนี้เสียมากกว่า และผมผู้เขียนจะบรรยายภาพนั้นๆไปด้วย จึงขอออกตัวเสียก่อนว่า อาจจะมีผิดพลาดไปบ้างเพราะว่าบางท่านผมอาจจะไม่รู้จัก หรือบางท่านผมรู้จักแล้วแต่จำไม่ได้ จึงต้องขออภัยมาล่วงหน้าด้วย และทักท้วงกันมาได้ ผมจะได้แก้ไขให้ถูกต้องต่อไปครับ..
เมื่อนาคได้ตั้งสมาธิฟังคำสอนของพระผู้เทศนาเสร็จสิ้นไปแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการนำนาคไปเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีบวชต่อไป แต่...เดี๋ยวก่อน..ต้องมีการถ่ายรูปเอาไว้เพื่อเป็นที่ระลึกเสียก่อนจึงต้องเรียกช่างถ่ายภาพมืออาชีพ คือ Mr.john Borntobe ช่างภาพจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาถ่ายภาพให้ในงานนี้โดยเฉพาะ ไปยืนอยู่ตรงไหนรีบมาถ่ายโดยด่วน..
ในตอนนี้มีใครหลายๆคนเข้ามานั่งถ่ายรูปคู่กับพ่อนาคอีก จนช่างภาพ john Borntobe ถ่ายเฉพาะช๊อทนี้เกือบ ๑๐๐ รูปเข้าไปแล้ว ผู้เขียนจึงขออนุญาตินำมาลงเฉพาะตอนนี้พอหอมปากหอมคอเท่านั้น คำอธิบายเฉพาะ ๒ ภาพข้างบน เอาภาพแรกก่อน จากซ้ายคุณสมศักดิ์ โอภาสพินิจ (คุณพ่อของเจ้านาค) คุณสุธรรม ผาสุขสวัสดิ์ (น้าเขย) ถัดไปคนที่ ๔ คุณนวลปรางค์ (น้าจริง) คนสุดท้าย (คุณองุ่น คุณแม่เจ้านาค ) ส่วนผู้ที่อยูแถวหลังคนทางซ้าย พออ.จุ้ย อีกคนหนึ่งคือ คุณเอนก คุ้มประวัติ
ส่วนภาพล่างนี้ จากขวา คุณเจี๊ยบ มหาทรัพย์ (พี่สาวเจ้านาค) ถัดมา น้องการ์ตูน (หลาน) ถัดไปคนที่ ๖ เลยนะเพื่อไม่ให้เสียเวลา เพราะว่าเวลาทุกๆนาทีนั้นมีคนบอกว่ามีค่ามาก คนที่ ๖ นั้นคือคุณจ๋า (น้องสาวเจ้านาค) คนที่ ๗ คือคุณจอย (พี่สาวเจ้านาค) คนที่ ๘ เอ๊ะ...! ไม่คุ้นหน้าเลยเพราะผู้เขียนไม่เคยเห็น จึงขออภัยด้วยที่ไม่ได้ออกชื่อให้ท่านผู้อ่านทราบ ทุกคนที่ผู้เขียนออกชื่อมานี้เป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นครอบครัวที่อบอุ่นที่ผู้เขียนรู้จักมักคุ้นมานาน.
ชูสองนิ้วเป็นปรัศนีย์นั่นแหละครับ john Borntobe ช่างถ่ายภาพหลักของเราในงานวันนี้ และถ้าผู้เขียนมีโอกาสได้พบจะถามให้ว่าชูสองนิ้วนั้นแปลว่าอะไร.. (ท่านผู้ใดเป็นผู้ถ่ายครับ ? น่าจะเป็น Mr.bee.kp.เห็นยืนอยู่ใกล้ๆ)
ญาติมิตรรุ่นเก่า (แก่มาก) ได้มาเจอกันอีกครั้งหนึ่ง กำลังคุยกันก่อนที่จะตั้งขบวนแห่นาคไปรอบๆโบสถ์ คุณนวลปรางค์ (น้าของนาค) กำลังคุยให้ฟังว่า " ปีนี้มะม่วงที่บ้านออกลูกน้อยจึงไม่ได้นำมาแจกกัน " (เกียรติศักดิ์ สุวรรณมัจฉาถ่ายภาพ)
นั่งข้างหน้าคนซ้ายคือคุณครูนิลศรี คุ้มประวัติ (แป๋ว) ภรรยาของคุณคนอง คุ้มประวัติ ถัดมานั่งกลางคือคุณอ๋อย ภรรยาของคุณเอนก คุ้มประวัติ ทั้งสองนี้จึงเป็นน้องสะไภ้ของพี่องุ่น ที่เป็นเจ้าของงาน ส่วนคนใส่เสื้อลายทางชมภูนั้นเป็นเพื่อนสนิทกับคุณอ๋อยสมัยเรียนหนังสืออยุ่ที่กรุงเทพฯ ชื่อว่าคุณโตก ขออภัยนะครับที่ไม่ทราบชื่อจริง อีกคนหนึ่งที่นั่งยิ้มอยู่ข้างหลังนั้นคือสามีของคุณโตก (ข้อมูลจากคุณกนก คุ้มประวัติ ส่งตรงสายด่วนมาจากเบอร์ลิน เยอรมันนี เพื่อ www.chetsamian.org โดยเฉพาะ)
สำหรับคุณครูนิลศรี (แป๋ว) นั้น เพิ่งจะรู้จักกันเป็นครั้งแรกที่งานนี้ ในอดีตนั้นผมกับคุณ คนอง (เหม่ง) สามีของครูแป๋วเป็นคู่หูกันตลอดมาที่ตลาดเจ็ดเสมียน ต่อมาเมื่อโตขึ้นต่างก็ได้แยกย้ายกันไปไม่ได้ติดต่อกันเลย จนกระทั่งคุณคนองได้เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ผมมารู้ข่าวในภายหลัง จึงขอแสดงความเสียใจมาถึงครอบครัวของคุณคนองในโอกาสนี้ด้วย ... (นายแก้ว ถ่ายภาพ)
โปรดชมภาพเหตุการณ์ในตอนต่อไป ตอนนี้หน้ากระดาษหมดพอดีครับ ..
ดูต่อตอน ๒ คลิ๊ก
รายงานโดย นายแก้ว กนก คุ้มประวัติ ที่ปรึกษาด้านข้อมูล