ชีวิตต้องสู้ - อยู่เป็นตัวอย่าง ตอน ๒

 

     ชีวิตต่อจากนี้ไป โตก็กลายเป็นคนที่ต้องสูญเสียแขนทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ยังไม่ต้องพูดไปถึงการดิ้นรนต่อสู้ ทำมาหากินเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดเลย

    การช่วยตัวเองให้ได้ก่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ  ในระยะแรกๆที่กลับมาอยู่ที่บ้านโพธาราม เวลากินข้าวก็ต้องอาศัยหลานชาย 2 คน ป้อนข้าวป้อนน้ำให้  เด็กๆก็มักจะป้อนหก ตกๆ หล่น ๆ ไปบ้าง ส่วนการเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ คนในบ้านและคมสิทธิ์ช่วยกันทำให้ เป็นอยู่อย่างนี้กว่าปี

    ชีวิตนี้ถึงคราวต้องสู้แล้ว จากคนขยันที่ไม่เคยอยู่นิ่ง และสามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ด้วยตัวเอง กลับมาทำไม่ได้ ทำให้โตอึดอัดเป็นทุกข์อยู่ในใจเรื่อยมาเป็นอันมาก คิดอยู่เสมอว่าจะต้องหาวิธีที่จะช่วยตัวเองให้ได้ เพื่อกลับสู่ชีวิตปกติที่เคยเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินข้าวได้เอง อาบน้ำได้เอง

    โตเริ่มคิดประดิษฐ์เครื่องอาบน้ำ โดยให้ช่างเฉื่อนซึ่งเป็นญาติมาทำให้ ตามความคิดตามแบบที่ออกไว้ในใจ จนได้อุปกรณ์ที่สามารถเข้าห้องน้ำและอาบน้ำเองได้ (สำหรับช่างเฉื่อนผู้นี้ กลายมาเป็นช่างประจำตัวของโต ที่คอยประดิษฐ์อุปกรณ์หลายชิ้นให้โตในเวลาต่อ ๆ มา)

   โตเริ่มมีความสุขขึ้นหลังจากเริ่มช่วยตัวเองในเรื่องการอาบน้ำได้ การกินข้าวก็เป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่ง ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โตก็เริ่มคิดออกแบบด้วยวิธีง่าย ๆ โดยนำตะเกียบ ช้อน ส้อม มาผูกติดกับแขนที่ยังเหลืออยู่ใต้ข้อศอกทั้ง 2 ข้าง  แรก ๆ ก็ยังไม่ค่อยถนัดนัก ข้าวยังตก ๆ หล่น ๆ เหมือนตอนหลาน ๆ ป้อนให้

   แต่ก็นับว่าช่วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง กำลังใจก็ดีขึ้น ความสามารถในการกินข้าวก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ บนความมุ่งมั่นและสู้ชีวิต ต่อมาได้ไปติดต่อขอแขนเทียมจากโรงพยาบาลศิริราช ได้มาแล้วใช้อยู่ระยะหนึ่งก็เกิดปัญหาว่าแขนเทียมที่เป็นไฟเบอร์แตกชำรุดบ่อยจากการใช้งาน ต้องเดินทางไปเปลี่ยนใหม่ทุก 2 เดือน

   เป็นอยู่อย่างนี้กว่าปี จึงเกิดความคิดที่จะประดิษฐ์แขนเทียมขึ้นใช้เอง โดยเปลี่ยนจากไฟเบอร์มาเป็นสแตนเลส(เหล็กชนิดหนึ่งซึ่งไม่ขึ้นสนิม) โดยฝีมือประดิษฐ์ของช่างเฉื่อน นำชิ้นส่วนจากของเดิมมาใช้กับแขนเทียมสแตนเลส ที่คิดทำขึ้นใหม่ซึ่งเข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ 

    ทำให้แขนเทียมนวัตกรรมใหม่ของโต มีความคงทน ไม่เสียหายง่าย ใช้งานได้ดี ไม่ต้องเปลี่ยนอีกต่อไปนานถึง 20 ปี ใช้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  (ญาติ ๆ ตั้งใจไว้ว่าจะขออนุญาตโตนำแขนเทียมนี้ ไปมอบให้เป็นอุปกรณ์ตัวอย่าง เป็นวิทยาทานแก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป)

    หลังจากที่เปลี่ยนเป็นสแตนเลสได้นานพอสมควร จำเป็นต้องไปซื้อสายเอ็นที่โรงพยาบาลศิริราช  อาจารย์หมอเห็นแขนเทียมสแตนเลสของโตเข้าถึงกับทึ่ง ถามโตว่าไปทำมาจากไหน โตตอบว่าทำเอง อาจารย์หมอเลยชักชวนโตให้ไปเป็นอาจารย์สอนวิธีทำวิธีใช้แขนเทียมที่นั่น โตอมยิ้มและกล่าวปฏิเสธอาจารย์หมอไปว่า  “อยู่เป็นอาจารย์  ผมคงไม่พอกินแน่ครับ”  ไปซื้อสายเอ็นคราวหลังนี้ ซื้อยกม้วนเพื่อจะได้ไม่ต้องไปซื้อบ่อย ๆ

    โตค่อนข้างจะป็นคนมีระเบียบและรักความสะอาด  แขนและนิ้วเทียมต้องสะอาด  ยางนิ้วเทียมนิ้วไหนสกปรก ก็จะให้เปลี่ยนเลย

อยู่เป็นตัวอย่าง  เมื่อเริ่มปรับชีวิตความเป็นอยู่ได้เข้าที่เข้าทาง ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนคนปกติ ช่วยตัวเองได้แล้ว ก็เริ่มคิดที่จะประกอบอาชีพหารายได้ พิจารณาแล้วอาชีพที่น่าจะทำได้ดี ไม่ยุ่งยาก และเหมาะสำหรับคนพิการอย่างเขา ก็น่าจะเป็นการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งโตมีพื้นฐานการขายมาตั้งแต่เด็ก 

    เมื่อตัดสินใจที่จะทำตามความคิดแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ หายานพาหนะที่จะพาเขาเดินทางไปขายได้ไกล ๆ  รถเครื่องแล่นเข้ามาจอดอยู่ในสมองทันที  รถเครื่องเก่าคันหนึ่งก็ถูกซื้อมาแก้ไขดัดแปลงให้เหมาะกับตัวเขา  อะไรที่ต้องบังคับด้วยมือก็ถูกเปลี่ยนมาใช้เท้าแทน  คันเร่งมือเปลี่ยนเป็นคันเร่งเท้า  เบรคมือเป็นเบรคเท้า  มือเทียม 2 ข้างหนีบแฮนด์รถ 

    โตนำรถเครื่องคู่ชีพที่ดัดแปลงแล้วออกขี่อย่างยิ้มแย้มภูมิใจสบายใจ ออกไปขายสลากไม่ว่าจะเป็นในตลาดโพธาราม ตลาดเจ็ดเสมียน หนองโพ ดำเนิน เขาขวาง เขาช่องพราน ไปหมดทุกที่ที่อยากจะไป สลากกินแบ่งที่ได้รับการจัดสรรโควต้าสำหรับคนพิการ จากจังหวัดตั้งแต่ปี 2525 ไม่พอขายเสียแล้ว

    ต้องขึ้นรถเมล์จากโพธารามไปซื้อสลาก จากแผงหน้ากองสลากที่กรุงเทพฯมาขายเพิ่มทุกงวด จนกลายเป็นคนที่แผงสลากแถบนั้นรู้จักคุ้นเคย ขนาดไม่มีตังค์พอ แผงเขาก็ยอมให้โตเชื่อไว้ก่อน ไปคราวหน้าค่อยจ่ายก็ได้

    มาระยะหลังได้โควต้าจากจังหวัดเพิ่มขึ้น ยิ่งออกขายด้วยความขยันหมั่นเพียรทุกวัน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
 พอมีเงิน คนรอบข้างคนรู้จักมักจี่ก็เริ่มเข้ามาในชีวิต ขอกู้บ้าง ขอยืมบ้าง เนื่องจากโตอุปนิสัยเป็นคนใจดีเป็นพื้นอยู่แล้วก็ให้ไป ได้คืนบ้าง ไม่ได้คืนบ้าง โตก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

    มีอยู่ครั้งหนึ่งไปทำแผลที่โรงพยาบาลโพธาราม สลากเกิดหล่นจากกระเป๋าที่ลืมรูดซิปปิดไว้ กระจายเกลื่อนพื้น มีคนช่วยกันเก็บให้ ปรากฏว่าสลากหายไป 2-3 ชุด โตบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่นในตอนแรกว่า

   “ไม่เป็นไร ผมไม่คิดมาก ช่างมัน”  แล้วตบท้ายด้วยเสียงอ่อย ๆ ว่า

   “แต่มันก็ไม่ถูกต้องนะที่เอาของกูไป ”

    จากรายได้ที่งอกเงยอันเป็นผลมาจากความมานะอดทน ขยันอดออม ทำให้สามารถนำไปซื้อบ้านจัดสรรที่ซอยบุญมาให้อาเม (แม่) อยู่ เมื่ออาเมสิ้นบุญก็เลยยกบ้านหลังนี้ให้เล็ก น้องชายไป

    พอมีตังค์ไม่รู้จะทำอะไรก็เริ่มหันไปเล่นหุ้น เห็นเขาเล่นกันได้ตังค์ก็เล่นบ้าง  รู้สึกดูดี มักคุยเสมอว่าวันนี้กำไรจากหุ้นเท่านั้นเท่านี้ทั้ง ๆ ที่เป็นตัวเลขในอากาศไม่เคยจับต้องเงินจริง ๆเลย  จังหวะพอดีช่วงหนึ่งที่หุ้นตกหุ้นเจ๊งในสมัยเสี่ยหนึ่ง โตก็เป็นนักเล่นหุ้นคนหนึ่งที่ได้รับผลพวงในเหตุการณ์นั้น ถูกหุ้นเตะซะขาเดี้ยง เดินไม่ไหว ถึงกับเป็นอัมพฤกษ์ถูกหามส่งโรงหมอ ดีว่าช่วยได้ทัน ใครอยากรู้ว่าโตหมดกับหุ้นไปเท่าไรก็ไปตามถามโตเอาเองก็แล้วกันนะครับ

   รักษากายรักษาใจหายแล้วกลับบ้าน หยุดขายสลากไปพักนึงนัยว่าเพื่อพักฟื้น แล้วกลับมาขายสลากต่อ คราวนี้เลิกเล่นหุ้นเด็ดขาด

   ปีพ.ศ. 2541 โตนำเงินไปซื้อตึกที่ชายหาดชะอำห้องหนึ่ง ตามคำแนะนำของ ด.ต.โสภณ ทะแจ่ม เพื่อนนักเรียนร่วมรุ่น 06 ที่ไปรับราชการตำรวจอยู่ที่นั่น ซื้อแล้วทิ้งไว้ไม่ได้ไปดูเลยถูกนักเลงมือดีเจ้าถิ่น ถอดอุปกรณ์ประกอบบ้านไปทีละชิ้นสองชิ้น ถอดทุกสิ่งที่ขวางหน้าไม่เว้นแม้แต่ส้วมชักโครก เหลือเอาไว้แต่โครงตึกให้ดูต่างหน้าจนทุกวันนี้

   เมื่อหายจากอัมพฤกษ์แล้ว น้องโม้ย (น้องสาว) ก็ไม่ยอมให้พี่ขี่รถเครื่องอีก ให้หันมาขี่รถจักรยาน 2 ล้อถีบแทน โดยดัดแปลงให้เหมือนกับแปลงรถเครื่อง คือย้ายเบรคมือทั้งหมดมาเป็นเบรคเท้า แค่นี้ก็สำเร็จไปไหนต่อไหนได้อีกต่อไป แต่ไปในรัศมีที่ใกล้กว่าเดิม โตขี่จักรยานอยู่หลายปี ถูกรถยนต์เฉี่ยวชนก็หลายหน และเป็นโรควูบอยู่บ่อยก่อนจะเจ็บหนัก

   เวลาโตไปไหนไม่ว่าจะไปกับใคร ก็มักจะหนีบสินค้าคู่ใจคือสลากไปด้วยเสมอ  ขายให้ทั้งผู้ที่ไปด้วยกันและชาวบ้านร้านถิ่นที่โตไปเที่ยวไปสัมผัสด้วย ส่วนการกินอยู่ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวนั้น พวกเราและคนที่ไปด้วยก็ช่วยกันดูแล

   หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของราชบุรีฉบับหนึ่ง เคยมาสัมภาษณ์และถ่ายรูปโตนำไปเขียน เรื่องราวในคอลัมน์นักสู้ตัวอย่าง ตีพิมพ์เผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้รับทราบมาแล้ว

   17 ธันวาคม 2538 สโมสรโรตารี่ราชบุรี มอบโล่บุคคลดีเด่นให้ในฐานะ เป็นผู้ประสบผลสำเร็จในอาชีพค้าขายและมีความอุตสาหะ สมควรได้รับการยกย่อง

   ทางด้านศาสนา โตได้บวชเป็นพระภิกษุ ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดโพธาราม และบ่อยครั้งที่โตไปร่วมทำบุญกับพี่น้อง ญาติ และเพื่อนๆ ไม่ว่างานทอดผ้าป่า งานทอดกฐิน งานสร้างโบสถ์สร้างพระประธาน งานบุญต่าง ๆ ไม่ว่าใกล้ไกลใครชวนไปหมด 

   โตเป็นคนใจบุญใครยืมเงินไม่มาคืนก็ยกให้เขาไป วันงานพบปะสังสรรค์ราษฎร์รำลึก 06 เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ก.พ.2555 ที่ผ่านมา โตซึ่งนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี ไปร่วมงานไม่ได้ก็ยังมอบเงินสนับสนุนงานให้ และบอกว่า

   “ช่วยอุ้มกูไปร่วมงานด้วยได้ไหม”

   เข้าโรงพยาบาล มาระยะหลัง ๆ ราวปี 2553 โตมีอาการวูบถี่ขึ้นจนถึงกับล้ม หน้าตาแตกโดยไม่รู้ตัว ต้องเข้าโรงหมอเย็บแผล แม้ขณะนั่งเฉย ๆ ก็ยังวูบ บางทีถีบจักรยานอยู่ก็ตกลงไปในคลองทั้งคนทั้งรถ เดชะบุญไม่มีน้ำในคลอง หน่วยกู้ภัยต้องเข้ามาช่วยหามส่งโรงพยาบาล 

   ระยะนี้สุขภาพไม่สู้ดีนักเจ็บออดๆ แอดๆ มาตลอด หลังสุดถ่ายออกมาเป็นเลือดและมีอาการวูบด้วย หลานชายก็พาไปอยู่ที่บ้านดำเนินสะดวก อยู่ได้พักหนึ่งก็อยู่ไม่ได้เพราะเหงา ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนที่อยู่บ้านโพธาราม ก็เลยต้องกลับมาอยู่กับหลานอีกคนหนึ่งที่บ้านเดิมหน้าอำเภอ

   หลังสุดถูกหามส่งโรงพยาบาลโพธาราม ทางโรงพยาบาลก็ส่งตัวไปตรวจเช็คที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พบว่าเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่ หมอจึงนัดผ่าตัด หลังจากผ่าแล้วสุขภาพก็ไม่ดีขึ้นกลับทรุดลง แต่ก็อยู่ได้เพราะใจสู้เต็มร้อย  ต่อมาพอรักษาดีขึ้นบ้างก็กลับบ้าน พอแย่ลงก็เข้าโรงพยาบาล เป็นอยู่อย่างนี้สลับกันไปใน 3 โรงพยาบาล  ระยะนี้มะเร็งลามไปทั่วตัว

    เข้า ๆ ออก ๆ ในโรงพยาบาลอยู่ประมาณปีเศษ โดยมีพี่เลี้ยง คุณวาสนา อินทนอย( กุ้ง) คอยดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ป่วยจนถึงวาระสุดท้ายนับได้ปีเศษ

    ระหว่างนอนป่วยอยู่ รู้ตัวดีว่ามีโรคร้ายในร่างกาย แต่ใจก็สู้ไม่ถอยไม่ยอมแพ้ โตบอกว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากการถูกตัดแขน มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์กว่านี้หลายเท่านักยังทนได้ นับประสาอะไรกับความเจ็บปวดอันน้อยนิดนี้จะทนไม่ได้  ด้วยใจสู้เช่นนี้ทำให้โตยื้อกับโรคอยู่บนเตียงคนไข้ได้นานเป็นปีแม้จะเจ็บปวดจากแผลก็ตาม

วาระสุดท้าย  โตเข้ารับการรักษาตัวครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลดำเนินสะดวก ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จนกระทั่งวาระสุดท้าย ก็จากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้  67 ปี 5 เดือน ขอให้ดวงวิญญาณของโต จงไปสู่สุคติในสัมปรายภพเทอญ.


                                                                    

ธีรศักดิ์     ลิขิตวัฒนเศรษฐ           เขียน
คมสิทธิ์ - สุจินดา  วรสหวัฒน์        เล่า

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้43
เมื่อวานนี้370
สัปดาห์นี้1163
เดือนนี้3777
ทั้งหมด1395541

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online