เด็กบ้านนอก (บางวันในซอยจารุรัตน์)


  

เด็กบ้านนอก แห่งตลาดเจ็ดเสมียน นั่งเล่นกันอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ถ่ายภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ผู้เขียนนั่งสูงที่สุดถอดเสื้อ

   ผมเป็นเด็กชนบท (บ้านนอก) เกิดที่ตำบลเล็กๆในอำเภอโพธาราม เรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนในตัวอำเภอโพธาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จากนั้นผมมาเรียนต่อที่โรงเรียนของการรถไฟ ที่มักกะสันอีก ๓ ปี สำเร็จแล้วก็ทำงานที่โรงซ่อมของการรถไฟ ที่มักกะสันเลยโดยไม่ต้องออกไปหางานที่อื่น

เหตุที่ผมไม่ได้เรียนต่อแล้วไปเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ผมหัวไม่ดีคงไม่สำเร็จอย่างแน่นอน ผมจึงเลือกเรียนทางอาชีวะไปซะเลยครับ
เรียนทางช่างจนสำเร็จที่โรงเรียนการรถไฟแล้ว เพื่อนรุ่นเดียวกันของผมหลายคนได้แยกย้ายกันไป พวกเดินรถก็ไต่เต้ากันเป็นนายสถานีบ้าง (วินัย เสนีย์วงศ์ เป็นนายสถานีดอนเมือง,อาหมัด ขามเทศทอง, สวัสดิ์ ลูกโดด,วันชัยพรหมภา พวกแก่การเมือง)

อีกพวกหนึ่งก็ขับรถไฟไปเหนือไปไต้แล้วแต่เขาจะสั่งการ ส่วนพวกผมก็พวกช่างกลโรงงาน มีหน้าที่ซ่อมรถต่างๆ (รถไฟ) อยู่ที่โรงงานมักกะสันนั่นเอง
ในระหว่างเรียนและเป็นช่างฝึกหัดอยู่ที่โรงงานมักกะสันนั้น ทางการยังไม่มีบ้านพักให้ (ต่อมาผมมีบ้านพักที่นิคมมักกะสันในภายหลัง) ผมจึงพักอยู่กับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งในการรถไฟสูงกว่าผมเยอะ ที่ ซอย “จารุรัตน์” หลังสถานีรถไฟมักกะสัน

ผมว่าน่าจะมีใครคงเคยได้ยินซื่อซอยนี้มาบ้าง ซอยจารุรัตน์นี้ เป็นซอยยาวมาก มีแยกย่อยซอยออกไปอีกมากมาย ถ้าหนีตำรวจวิ่งเข้าซอยนี้รับรองว่าหาไม่เจอ
ซอยจารุรัตน์ยาวออกไปทะลุกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งในขณะนั้นถนนเพชรบุรีนี้ตัดใหม่จริงๆ (จากประตูน้ำไปถึงคลองตัน) คือสร้างยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี มีสิ่งกีดขวางเช่นกองหินทราย เหล็กเส้น ไม้แบบต่างๆ และยังไม่ได้ตีเส้นเลย จึงยังไม่มีรถวิ่ง จะมีก็พวกรถยนต์วิ่งเข้าบ้านแถวนั้น มีแต่จักรยานและคนที่ออกมาเดินเล่นในตอนเย็นๆเท่านั้น

ซอยจารุรัตน์เป็นพื้นที่ต่ำ พื้นซอยเทปูนไว้สูงน้ำไม่ท่วม เป็นสายเมนคนเดินได้ (ผมจำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นรถยนต์เข้าไปวิ่งได้หรือเปล่า) ส่วนซอยแยกมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี น้ำเน่าเหม็นเพราะว่าน้ำใช้น้ำอาบลงไปสะสมกันทั้งปี เป็นที่เพาะพันธ์ยุงชนิดต่างๆได้อย่างดี
ชาวบ้านในซอยจารุรัตน์นี้ จะเข้าจะออกมาถนนเมนใหญ่ จะต้องเดินตามสะพานไม้ที่ตีเป็นลูกระนาด คนที่ไม่เคยเดินจะสะดุดหกล้ม ยิ่งคนเมาด้วยแล้วยิ่งต้องระวังตกน้ำครำเอาง่ายๆเชียวครับ

ซอยจารุรัตน์หลังสถานีรถไฟมักกะสันนี้ เป็นซอยไม่ใหญ่เท่าถนนสำหรับรถยนต์วิ่งก็จริง แต่มีซอยแยกอีกมากมาย ดังที่ผมได้กล่าวมาในตอนแรกๆแล้ว จึงมีผู้อาศัยอยู่ในซอยนี้มากมหาศาลจริงๆครับ

เพราะว่าในซอยนี้นอกจากจะมีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเหล้า และบ้านส่วนตัวแล้ว ยังมีบ้านที่คนมีเงินที่เป็นเจ้าของที่ปลูกให้เช่าอีกด้วย ดังนั้นคนในซอยนี้ส่วนใหญ่ จึงเป็นคนต่างจังหวัดที่ไปทำงานนอกบ้าน ตอนเช้าก็จะพรั่งพรูกันออกไปในที่ต่างๆ บ้างก็ยืนคอยรถเมล์ขาว สาย ๑๑ ที่วิ่งระหว่าง(นิคม)มักกะสัน – วัดโพธิ์ ซึ่งแต่เดิมจะวิ่งแค่สนามหลวงเท่านั้น ต่อมาได้ขยายไปถึงวัดโพธิ์ ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลกันเท่าไรนัก

อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในซอยนี้ ก็เป็นคนที่ทำงานที่โรงงานมักกะสันนั่นเอง ผมไปอาศัยอยู่กับเพื่อนรุ่นพี่ คือคุณบุญเลิศ บุญถวิล (ผมขอเอ่ยชื่อคิดว่าจะไม่เสียหายอะไร เพราะว่าคุณบุญเลิศมีความดี อย่างล้นเหลือกับพวกน้องๆอย่างมากมาย) ที่ในซอยนี้ด้วยแต่อยู่ไม่นาน

คนนั่งซ้ายสุดคือพี่บุญเลิศ บุญถวิล ที่เป็นเจ้าของบ้านในซอยจารุรัตน์ ที่มีเพื่อนๆ น้องๆ ไปอาศัยอยู่ด้วยเสมอ ภาพนี้ในงานพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต ให้สภากาชาดไทย ตั้งแต่ ๗ ครั้งขึ้นไปในปีพ.ศ. ๒๕๐๘  ผู้เขียนยืนข้างบนขวาสุดครับ 

ด้วยความเกรงใจพี่บุญเลิศ ผมจึงย้ายกลับไปอยู่กับญาติของผมคนหนึ่ง ที่ผมเคยอยู่กับเขามาตั้งแต่แรกที่บ้านพักคนรถไฟ สี่แยกนิคมมักกะสัน แต่ผมก็ยังไปๆมาๆที่บ้านพี่เลิศในซอยจารุรัตน์นี้เสมอ

วันหนึ่งพี่บุญเลิศ ได้ชวนผมและเพื่อนๆรุ่นเดียวกันอีกหลายคน ให้ไปร่วมเลี้ยงฉลองวันคล้ายวันเกิดของเขา พี่เลิศนัดให้ไปกันอย่าให้เลย ๖ โมงเย็น ไปเจอกันที่บ้านเขา ให้ไปให้ได้ วันนั้นผมเลิกงาน ๕ โมงเย็น จึงพร้อมด้วยเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน เดินออกจากโรงงานมักกะสันประตู ๒ (โรงงานมักกะสันมีประตูใหญ่ เข้า – ออก ๒ ประตู) แล้วพากันเดินย้อนกลับมาทางสถานีรถไฟมักกะสัน ทะลุไปทางด้านหลังสถานีรถไฟ แล้วข้ามถนนก็จะเป็นปากซอยจารุรัตน์ พอดี

ผมและเพื่อนไม่ได้รีบร้อนอะไรนัก เดินดูโน่นนี่ (สาวๆอ๊อฟฟิช) ไปตามประสาคนหนุ่มๆ อย่างที่ไม่เร่งรีบ เพราะว่าพี่บุญเลิศแกนัดไว้ตั้ง ๖ โมงเย็น และบ้านเขาก็อยู่ตรงนี้เอง เดินกันไปคุยกันไป เดินสวนกับคนที่รู้จักกันก็ทักทายกัน

เมื่อเดินเข้าไปลึกแล้วเกือบถึงซอยแยกเข้าบ้านพี่บุญเลิศ เห็นข้างหน้าด้านซ้ายของซอย มีคนยืนมุงกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ จึงคุยกันว่าเราเข้าไปดูเขาสักหน่อยนะ มีเรื่องอะไรกันหรือเปล่า มีคนมุงกันเต็มเลยคิดว่าวัยรุ่นมีเรื่องกัน

(ในสมัยนั้น เรื่องทะเลาะวิวาทชกต่อยกัน เป็นเรื่องธรรมดาของวัยรุ่น อย่างมากก็ตีกันแค่หัวแตก ไม่ได้มีอาวุธถึงกับยิงกันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนสมัยนี้)

เมื่อเดินใกล้เข้าไปอีกหน่อยก็ได้ยินเสียง เครื่องดนตรีกำลังเทียบเสียงกันอยู่ ผมคิดในใจว่า “ดนตรีอะไรกันวะ มาเล่นกันที่ริมซอยแคบๆอย่างนี้ ? ”

 ผมเหลือบมองนาฬิกาข้อมือก็เห็นว่าอีกตั้งครึ่งชั่วโมง จึงจะถึง ๖ โมงเย็นตามที่พี่บุญเลิศนัดให้ไปเจอกันที่บ้าน ผมจึงบอกเพื่อนๆที่มาด้วยกันว่า “เราเดินเข้าไปดูตรงที่คนมุงกันเยอะๆกันก่อน ว่าเขามีอะไรกันแน่ ” แล้วพวกผมก็เข้าไปตรงที่มีคนมุงเยอะๆนั้น

ผมแทรกเข้าไปยืนข้างหน้าจึงได้เห็นและเข้าใจในตอนนั้นว่า เขาเพียงแต่จะซ้อมดนตรีกันนั่นเอง หนึ่งในนักดนตรีคนนี้เป็นคนที่อยู่ที่บ้านริมซอยหลังนี้ กำลังจัดเครื่องดนตรีให้เข้าที่ ไม่ทราบว่าเขาเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้หรือไม่ ผมมาเดินในซอยนี้ผมก็เคยเห็นคนๆนี้บ่อยๆ ไม่รู้ว่าเขามีอาชีพอะไรเป็นหลัก

อีกคนหนึ่งที่กำลังขึ้นสายกีต้าร์และทดลองเสียงอยู่นั้น ผมรู้จักและเคยเห็น เขาทำงานอยู่ในโรงงานมักกะสัน ทางแผนกรถดีเซล เขาชื่อว่าชาญ กองผาสุข เป็นน้องชายของคุณวิชัย กองผาสุก ซึ่งทำงานอยู่ในโรงซ่อมรถบรรทุกที่เดียวกับผม

ชาญ กองผาสุก นี้เป็นนักกีตาร์ที่เล่นเก่งมาก ผมเคยเห็นเขาเล่นมาหลายครั้งแล้ว ในโรงงานในวันที่มีงานรื่นเริงต่างๆเช่นปีใหม่ผมก็เห็นเขาเล่นกับเพื่อนๆของเขา

อีกคนหนึ่งที่กำลังสาละวนกับโน้ตเพลง และเนื้อเพลงต่างๆ คนนี้ผมก็จำได้ เขาคือ องอาจ จีระพันธ์ นักร้องหนุ่มวัยรุ่นชื่อเสียงโด่งดังในตอนนั้น องอาจคนนี้จะร้องเพลงของ Cliff Richard เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในตอนนั้น เพลงของ Cliff Richard กำลังจะดังขึ้นมาเทียบรัศมีกับ Elvis Presley (แต่ดังน้อยกว่า ในความคิดของผม)

ไม่ว่าจะเป็นเพลง The Young Ones , Summer Holiday หรืออื่นๆ องอาจ จีระพันธ์ ร้องเขย่าอารมณ์ได้เหมือนมาก ยิ่ง Move It ละก้อพ่อคุณเอ๋ย วัยรุ่นกระทืบเท้าเต้น Rock เต้นTwist กันอย่างถึงใจ (ผมได้ทราบว่าในปัจจุบันนี้ องอาจ จีระพันธ์ ก็ยังร้องเพลงตามสถานที่ต่างๆของนักฟังเพลงเก่าๆอยู่)

เมื่อองอาจ จีระพันธ์ รับหน้าที่เป็นเสียงของ Cliff Richard ในวงดนตรีวงนี้แล้ว ยังขาดคนที่จะร้องเพลงเสียงของ Elvis Presley อีกคนหนึ่ง แล้วจะเป็นใครกันเล่าครับ
ผมว่ามีแล้วครับผมเห็นแล้วครับ นั่งอยู่ข้างในบ้านที่กำลังจะซ้อมดนตรีนี่เอง กำลังจ้องมองไปที่สมุดหนาๆเล่มหนึ่ง (เป็นหนังสือเนื้อเพลง) ปากก็ขยับมีเสียงออกมาเบาๆ ปลายเท้าก็เหยียบ(กระทืบเบาๆ) ลงพื้นเป็นจังหวะๆ

ใครกันหนอ รูปก็หล่อ ทรงผมก็ไว้เสียเหมือน Elvis Presley เสียจริงๆ
คนนี้ผมไม่รู้จักเป็นส่วนตัว แต่คุ้นมากเพราะว่าเมื่อวงดนตรีวงนี้ ไปเล่นในย่านนี้ เช่น ที่ซอยจารุรัตน์นี้, งานประจำปีวัดบางกะปิ,หรือที่วัดมักกะสัน (วัดดิษหงษาราม) ,ในบ้านพักคนรถไฟนิคมมักกะสัน ผมก็ตามไปดูบ่อยๆ ผมจึงคุ้นเห็นหน้าและจำได้

เขาคือ วิสูตร ตุงคะรัตน์ Elvis Presley ของเมืองไทยนั่นเอง วันนี้วิสูตรแต่งชุดสบายๆเหมือนอยู่บ้าน นุ่งกางเกงยีนใส่เสื้อแขนยาวมีลายอ่อนๆ ปลายแขนเสื้อม้วนพันขึ้นมาเกือบถึงข้อศอก วิสูตร ผิวขาว รูปหล่อ สูงโปร่ง เอาไว้ผมทรงเอลวิส เรียบมันวับ

ถ้าเป็นวันที่เปิดการแสดง เขาจะใส่ชุดแบบที่ Elvis Presley ตัวจริงใส่ มีลูกปัดปักทั้งชุดแพรวพราว แต่งหน้าตาอีกทีก็จะมีส่วนละม้าย Elvis Presley ตัวจริงเป็นที่สุด ..

วิสูตร ตุงคะรัตน์ จะเป็นนักร้องที่ไหนมาก่อน ผมไม่ทราบ ประวัติของเขาเป็นมาอย่างไรผมไม่รู้ แต่ตอนที่ผมมายืนมุงดูอยู่นี่ เขากับเพื่อนๆเหล่านี้ตั้งวงดนตรีขึ้นวงหนึ่ง โดยมีเขาเป็นหัวหน้า ชื่อวงว่า Hawaii Blue

เหตุที่ตั้งชื่อวงของเขาเป็นชื่อนี้ ผมคิดเอาเองว่า ในขณะนั้น ภาพยนตร์ของ Elvis Presley เรื่องหนึ่งคือเรื่อง Blue Hawaii โด่งดังมาก เป็นที่ชื่นชอบของชาวไทย และวัยรุ่นยุคโก๋หลังวังเป็นอันมาก (ผมก็มีโอกาสได้ไปดูที่ โรงภาพยนตร์ พาราเมาท์ ประตูน้ำด้วย)

วิสูตรจึงได้ใช้ชื่อนี้มาเป็นชื่อวงดนตรีของเขาในระยะหนึ่ง ในภายหลังจึงได้มาเปลี่ยนชื่อเป็น เดอะดิฟเตอร์ ส่วนนักดนตรีจะเป็นชุดเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปผมก็ไม่ได้ติดตามอีกเลย

ในวันนั้นเมื่อดนตรีที่เป็นเพียงการซ้อมเริ่มดังกระหึ่มขึ้น ไทยมุงก็เริ่มหนาแน่นมากขึ้น จนล้นปิดกั้นถนนไปทั้งซอย เสียงกลอง เบส กีตาร์เซลโล่ กีตาร์คอร์ด และเครื่องดนตรีอื่นๆ ดังกระหึ่ม ปลุกอารมณ์คนทั้งซอยให้หันมาดู

เริ่มด้วยองอาจ จีระพันธ์ คว้าไมค์ออกมายืนเขย่าลูกคอด้วยเพลง She's Gone' (กู่ไม่กลับ แปลถูกรึเปล่าเนี่ย) ของ Cliff Richard ได้รับเสียงปรบมือด้วยความพึงพอใจ ของผู้ที่มุงดูอย่างกึกก้อง Cliff Richard เมืองไทยซัดเสีย ๓ เพลงรวด แล้วจึงไปยืนหอบอยู่ข้างหลัง เนื่องจากออกแอ๊คชั่นมากเกินไป

ต่อมามีอีกคนหนึ่ง คุ้นหน้าแต่ผมจำชื่อไม่ได้ ยังเป็นนักเรียนวิศวกรรมรถไฟที่นี่เอง ออกมาร้องเพลง Your Cheatin' Heart; ซึ่งเป็นเพลงของนักร้องฝรั่งลูกทุ่งชื่อดัง คือ Hank Williams พ่อนักร้องวิศวกรคนนี้ ร้องได้ดีมาก ฟังแล้วนึกว่า Hank Williams ตัวจริงมาร้องซะอีก พ่อซัดเสียอีก ๓ เพลง

ผมดูนาฬิกาข้อมือ ที่ผมซื้อมาจากตลาดประตูน้ำ ยี่ห้อ SEIKO เรือนเหล็ก (ของแท้) บอกเวลา ๖ โมงตรงแล้ว เพื่อนของผมคนหนึ่งชื่อ นายประยงค์ บุญยืน (ในภายหลังเป็นคนขับหัวรถจักรฺดีเซล) ที่ยืนอยู่ข้างๆกัน สะกิดผมแล้วบอกว่า “เราไปบ้านพี่เลิศกันเถอะ ป่านนี้พี่เลิศคงรอแล้ว ” ผมบอกเพื่อนว่า “อยากดูวิสูตร ร้องสักเพลง ๒ เพลง ต่อจากไอ้ Hank Williams นี่ ก็คงจะเป็นเอลวิสสูตร แล้วละ ”
ประยงค์ไม่ว่าอะไร ผมเห็นเขาจ้องไปยังวิสูตรที่ยังนั่งอยู่ในบ้าน ประยงค์ก็คงอยากดูเอลวิสูตร เช่นเดียวกับผมเหมือนกันละน่า

แล้วก็จริงดังว่า Elvis Presley เมืองไทยของเราลุกจากเก้าอี้นั่ง คว้าไมค์ที่มือของ Hank Williams เมืองไทยมาถือไว้เมื่อเพลง I'm So Lonesome I Could Cry จบลง เสียงปรบมือดังสนั่น ให้กับนักร้องวัยรุ่น วัยเรียนคนนี้

แล้วดนตรีก็ขึ้น ในเพลง G. I. Blues ของ Elvis Presley ซึ่งเป็นเพลงที่วิสูตรไปร้องที่ไหนก็ต้องขึ้นเพลงนี้ก่อนทุกครั้ง จากนั้นต่อด้วยเพลงมันๆอีกหลายเพลง เสียงปรบมือเป่าปากกันดังแว่วๆ เมื่อผมหันหลังให้และเดินออกมาจากตรงนั้น ไปยังบ้านพี่บุญเลิศที่ได้นัดหมายกันไว้

เหตุการณ์นี้เป็นเวลานานมาเกือบ ๕๐ ปีแล้ว ถ้านึกถึงซอยจารุรัตน์ หลังสถานีรถไฟมักกะสันเมื่อไร เสียงดนตรีที่ดังก้องกังวาน เสียงนักร้องที่ร้องให้เราได้ยิน ที่ข้างซอยในวันนั้น ยังก้องกังวานอยู่ในหูอย่างมิลืมเลือน แม้ว่าวันเวลาจะผ่านมานานถึงเพียงนี้แล้ว.

สุริยะ สิงหา ผู้เขียน ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๕

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้255
เมื่อวานนี้485
สัปดาห์นี้2229
เดือนนี้8396
ทั้งหมด1338280

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online