วันเกิด วันวาน ความทรงจำ ในวัยเยาว์
Lee Sataporn
เมื่อย้อนนึกถึงวันเกิด ที่เพิ่งผ่านมาในสามเดือนที่แล้ว ขณะที่ปรุงอาหารเพื่อนำไปทำบุญที่วัด พลันมีภาพความทรงจำในวัยเยาว์ปรากฎขึ้น ย้อนกลับไปสัก 30 กว่าปีที่แล้ว
ภาพอาม่าปลุกเราตื่นแต่เช้า เพื่อช่วยเตรียมจัดอาหารใส่บาตรวันเกิด ที่หน้าบ้าน อาหารจะถูกตระเตรียมและจัดใส่ถาดอย่างประนีต ข้าวสวยหุงแบบเช็ดน้ำถูกใส่ในขันใบสวย ผลไม้ที่นำมาใส่บาตรก็ต้องใช้ชื่อที่เป็นมงคลเป็นต้นว่า ส้ม ซึ่งภาษาจีน เรียกว่า กิ่ก หมายถึงความรุ่งเรือง เสร็จแล้วก็ตามด้วยไหว้เจ้าด้วยขนมถ้วยฟูแบบจีน หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า ฮวกก๊วย ซึ่งก็หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองอีก
อาม่าเกิดที่ประเทศจีน และได้อพยพมาอยู่ที่ย่านตลาดพลู ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับคนไทยเพราะ เหล่ากงเหล่าม่า หรือ คุณทวด ทำมาหากินด้วยการปลูกพลูกินหมากขาย
อาม่าก็ใช้วิชาครูพักลักจำทุกเรื่องจากคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา และอีกหลายๆอย่าง อาม่าทำแกงเผ็ดเป็ดย่าง และ ตำน้ำพริกกะปิได้สุดยอดอร่อย มากๆ
แม้แต่การคิดเลข อาม่าซึ่งไม่เคยเข้าโรงเรียน แต่สามารถท่องสูตรคูณ บวก ลบเลขในใจได้ คล่องแคล่ว ตอนอยู่ ป ๒ คุณครูให้ท่องสูตรคูณ อาม่ายังเป็นคนสอนการบ้านให้
บ้านอาม่าอยู่ริมคลองบางน้ำชน ในวัยเด็กอาม่าก็สอนไม่ให้ทิ้งขยะลงในคูคลอง แต่ให้ไปทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง
อาม่าสอนเรื่องของความซื่อสัตย์อยู่เสมอ จำได้ว่าตอนเด็กๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งวิ่งไปซื้อไอศครีมร้านเพื่อนอาม่า แล้วก็ลืมจ่ายเงิน เดินกลับมาครึ่งทาง คิดได้วิ่งกลับไปจ่ายเงินให้คนขาย คนขายก็พูดชมว่า “อาหนูลื้อนี่เป็นเด็กดีจริงๆ “
นั่นก็เป็นพลังบวกที่ถูกใส่ให้เด็กคนหนึ่งให้มีกำลังใจที่จะทำความดีนั้นต่อๆไป
เวลาที่เลิกเรียนแล้วอาม่าให้นั่งทำการบ้าน กับคุณครูให้เสร็จที่โรงเรียนก่อนจะกลับบ้าน เพราะไม่อย่างนั้นกลับมาเราก็จะติดทีวี หรือไม่ก็วิ่งเล่นกับเพื่อน ตามประสาเด็ก
เมื่อตอนเรียนชั้นประถมเรียนที่ โรงเรียนพรประสาทวิทยา ย่านตลาดพลู คุณครูสมัยก่อนสอนด้วยจิตวิญญาน คุณครูอยู่เย็นนั่งเป็นเพื่อนลูกศิษย์ ใครอยากนั่งทำการบ้าน ก็มานั่งทำที่โต๊ะยาวๆ ที่ห้องอาหาร นั่งทำไป ไม่เข้าใจก็มาถามได้
คุณครูไม่เคยคิดค่าสอนพิเศษเลย บางทีก็มีเดินไปถามคุณครูที่สอน ป ๗ แต่เราอยู่ ป ๕ - ๖ คุณครูก็สอน ซึ่งต่างจากเด็กยุคนี้ที่ผู้ปกครองต้องเสียเงินมากมายเพื่อให้ลูกไปเรียนพิเศษ เด็กๆขาดความสนุกสนานวัยเยาว์ต้องไปเคร่งเครียดกับการเรียนอย่างหนักแทน
เราจะถูกสอนให้ตื่นเช้า แต่ความเป็นเด็กเราก็จะแอบขึ้เกียจ อาม่าก็มีวิธีปลุกแบบพิเศษ โดยใช้ลำไม้ไผ่ยาวๆ กระทุ้งจากชั้นล่างไปที่เพดานชั้นล่าง ซึ่งก็จะเป็นพื้นห้องนอนซึ่งเป็นพื้นไม้ ความเจ้าเล่ห์ของเรา เราก็จะลุกขึ้นทำเป็นเดินไปเดินมาให้มีเสียง อาม่าก็จะคิดว่าเราตื่นแล้ว เราก็จะมีเวลางีบอีกหน่อย สักพักอาม่ารู้ทัน ขึ้นมาปลุกถึงห้องนอนเลย
ก่อนจะนอน ก็เป็นเวลาแห่งการออม อาม่าจะซื้อกระปุกออมสินที่สมัยก่อนทำเป็นรูปสัตว์ จะแคะออกมาไม่ได้ ต้องทุบทิ้งเลย ทุกวันอาม่าก็จะให้เศษสตางค์หยอดกระปุก พอเต็มก็จะมาช่วยกันนับแล้วให้อาม่าพาไปเปิดบัญชีที่ธนาคารออมสิน สมัยก่อน ธนาคารออมสินเปิดวันเสาร์ครึ่งวัน ทุกวันเสาร์เราก็จะเอาค่าขนมที่เหลือไปฝากธนาคาร ตรงนี้จึงทำให้เรามีนิสัยในการวางแผนการออมจนกระทั่งตอนนี้
เมื่อเดือนที่แล้วเรามีโอกาสผ่านไปที่ตลาดพลู ไปดูสถานที่ๆเราเคยอยู่ หลายๆอย่างได้เปลี่ยนไปจากวัยเยาว์ที่เราเคยเห็น
เมื่อก่อนตรงที่เป็นบริเวณ เดอะมอลล์ท่าพระปัจจุบัน จะเป็นซอยย่อยๆ หลายๆซอยเชื่อมทะลุถึงกัน มาจนถึงทางรถไฟตลาดพลู ซึ่งปัจจุบันอยู่ใต้สะพานที่ข้ามจากถนนหน้าเดอะมอลล์ไปแยกท่าพระ
เมื่อก่อนบริเวณนี้จึงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ตลาดพลูได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาหารอร่อย บริเวณที่เป็นใต้สะพานที่ข้ามไปท่าพระเมื่อสัก ๒๕ - ๓๐ ปีที่แล้ว ตรงนี้เป็นตลาดโต้รุ่ง ถัดมาจากตลาดโต้รุ่งแนวบริเวณริมทางรถไฟ ก็จะเต็มไปด้วยแผงขายอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน
เมื่อความเจริญเข้ามา มีถนนตัดผ่าน วิถีชุมชนเหล่านี้จึงลดน้อยถอยไปอย่างมาก ปัจจุบันตลาดพลูเงียบมากไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
บริเวณตรงข้ามสถานีรถไฟ จะมีศาลเจ้าตึกดิน ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่าเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ ซึ่งเป็นแบบฉบับในการสร้างศาลอื่นๆใน กรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันมีการบูรณะใหม่จนไม่เห็นแบบเดิมๆแล้ว
Lee Sataporn
บริเวณรอบๆ ศาลเจ้ารายล้อมไปด้วยตึกแถวการค้าเก่าแก่เลียบทางรถไฟ ตรงข้ามศาลเจ้ายังมีโรงงิ้ว ไว้แสดงงิ้วถวายเจ้าในงานประจำปี ศาลนี้เทพประทานจะเป็นปุนเถ้ากง ในบริเวณรั้วเดียวกับศาลเจ้า มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีน ชื่อ โรงเรียน กงลี้จงซัน
โรงเรียนนี้ก่อตั้งขึ้นด้วยอุดมการณ์ และแรงศรัทธาของพี่น้องชาวจีน ที่ทำมาหากินในไทย เพื่อเชิดชูเกียรติ ดร ซุน ยัด เซ็น นักปฎิวัติประเทศจีนที่ส่งเสริมการศึกษา กง แปลว่า สาธารณะ ลี้ หมายถึง ถนนหนทาง และ จงซัน เป็นชื่ออำเภอบ้านเกิดของ ดร ซุน ยัด เซน
ซึ่งคุณพ่อเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อก็เคยเรียนที่โรงเรียนนี้ ยุคคุณพ่อนั้นคุณครูสั่งตรงมาจากเมืองจีนเลย และ ชั่วโมงเรียนภาษาจีนนี่เยอะกว่าภาษาไทย จนจวบยุคจอมพล ป มีการกวดขันมากขึ้นเกี่ยวกับชั่วโมงการเรียนภาษาไทย ชั่วโมงเรียนภาษาจีนจึงลดลง
ในยุคนั้นเมื่อมีเหตุเกิดการป่วนเมืองขึ้น ทางการจะเพ่งเล็งและบุกตรวจค้นโรงเรียนจีนทั้งหลายว่าจะเป็นแหล่งซ่องสุมและเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์หรือไม่ จนโรงเรียนต้องปิดตัวไประยะหนึ่ง จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่าบรรดาศิษย์เก่าและพ่อค้าจึงรวมตัวฟื้นฟูให้โรงเรียนมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันโรงเรียนนี้ก็ยังดำเนินการอยู่
อาม่าเสียชีวิตไป ๒๐ ปีแล้ว แต่ความทรงจำความผุกพัน ที่เรามีต่อกันยังอยู่ในใจตลอดเวลาเหมือนท่านยังอยู่ข้างๆ คุณธรรมต่างๆที่ปลูกฝังในวัยเยาว์ก็ยังอยู่กับเรา ทุกๆวันเกิดจึงเป็นวันที่ระลึกถึงท่านเป็นพิเศษและก็จะทำบุญอุทิศให้ท่านเสมอ
วัยเยาว์ที่ตลาดพลู เป็นช่วงแห่งความทรงจำที่อบอุ่น ทุกๆฉากเก่าๆ ที่ตลาดพลูก็ยังจำได้เสมอเหมือนถูกบันทึกไว้ในแผ่นฟิล์มชีวิต
วันเกิดสำหรับเราแล้ว มันก็แค่เป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง แต่เป็นวันที่จะใช้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต วิเคราะห์ข้อผิดพลาดนำไปสู่การแก้ไขพัฒนา ความทรงจำที่ดีในวันเวลาที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมใจเราให้อ่อนโยน มั่นคงและมั่นใจ นึกขอบคุณ อาม่า และรู้สึกโชคดี ที่มีโอกาส ใช้ชีวิตวัยเยาว์ที่ตลาดพลู.
เขียนโดย Lee Sataporn ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕