พี่สุภัทร์ คนรักหมา (วันสงกรานต์)
โดย อ.ปลาทอง
สัญลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์
หน้าร้อนปีนี้ดูเหมือนอากาศจะร้อนกว่าทุกปี บางคนบอกก็หนาวจัดไปแล้ว ก็เลยต้องร้อนจัดบ้างสิ กลางวันไม่อยากออกไปไหนเลย ไอร้อนมันวูบวาบไปหมด
หมอเคยแนะนำว่าการอมน้ำแข็งไว้ในปากจะช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของปี จึงมีประเพณีคลายร้อนคือการสาดน้ำสงกรานต์นั่นเอง วันสงกรานต์คือวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยด้วย
ปีนี้พวกเรานัดหมายกันไปรดน้ำพี่ที่เรารักและนับถือก็คือพี่สุภัทรนั่นเอง พอถึงวันนัดหมาย กลุ่มเรา(สว.) ต่างก็ไปพบกันที่บ้านพี่สุภัทรที่เป็นจุดนัดพบกันเป็นประจำอยู่แล้ว บ้านพี่สุภัทรยังคงร่มรื่นด้วยไม้ดอกไม้ใบมากมายหลายชนิด พี่สุภัทรพาพวกเราเดินดูต้นไม้นานาชนิดที่ออกดอกในหน้าร้อน เช่น ต้นรักแรกพบ(ใครหนอช่างตั้งชื่อให้)
ต้นรักแรกพบ
เจ้าไดม่อน
มาคราวนี้พี่สุภัทรเอาหมาแสนรักทั้งสามตัว ไดม่อน บราวน์และเจ้าหมีไปไว้ในกรงก่อนเพราะเดี๋ยวจะมาวุ่นวายกันใหญ่ หลังจากนั้นพวกเราก็ได้ร่วมกันรดน้ำและขอพรจากพี่สุภัทร ส่วนใหญ่ก็ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข กันทุกๆคน
รดน้ำวันสงกรานต์
เสร็จพิธีก็รับประทานอาหารและพูดคุยสังสรรค์กันเหมือนเช่นเคย คุยกันหลายเรื่องจนถึงเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน
“ พวกเธอรู้เปล่าว่าพี่ไปเป่านกหวีดมาแล้ว ”
“ ฮ้า จริงเหรอพี่.. เล่าให้ฟังหน่อยสิ บรรยากาศเป็นไง ” พวกเราตื่นเต้นกันใหญ่
เป่านกหวีดละนะ
วันนั้นที่ลุงกำนัน (พี่เขาเรียกแบบนั้น)ระดมคนเป็นล้านน่ะ ดูเหมือนเป็นวันที่ 9 พ.ย.56 (พี่บอกจำไม่ค่อยได้) พี่นัดหมายกับเพื่อนวัยเดียวกันสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ก็เจ็ดสิบกว่ากันทั้งนั้น ให้หลานพาไปส่งใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นที่ชุมนุมใหญ่ คนเยอะมาก แน่นไปหมด พวกพี่เข้าไปนั่งพักที่ศาลาตรงลานเจษฎาบดินทร์(เฉลิมไทยเก่า) และฟังการปราศัยไปด้วย
มีคนขึ้นไปพูดเวียนกันไป เสียงเป่านกหวีดดังตลอดเวลาเพื่อเป็นการสนับสนุนเรื่องที่พูดบนเวที พี่กับพวกก็เป่านกหวีดกันน่าดู เดี๋ยวๆก็มีคนเอาข้าวกล่องเอาน้ำมาแจก ของกินเยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจากต่างจังหวัด ทยอยกันมา ผู้คนมีทุกเพศทุกวัย ทั้งคนหนุ่มสาวคนสูงอายุ
พี่บอกเจอดาราหลายคน มีคนขอถ่ายรูปกันใหญ่ “ ทำไมพี่ไม่ถ่ายรูปกับสุเทพ ( ลุงกำนัน) มาบ้างหละ ”
“ เข้าไม่ถึงหรอก คนเยอะมาก แค่เบียดคนพี่ก็จะแย่อยู่แล้ว ”
ประมาณบ่ายสองโมงพี่จึงเดินทางกลับบ้าน ที่บอกว่าเดินก็เพราะพี่ต้องเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจุดชุมนุมไปขึ้นรถเมล์ที่ท่าช้าง เพราะเขาไม่ให้รถวิ่งหลายเส้นทาง ไกลมากเลย คิดดูละกันว่าคนวัยพี่จะเป็นอย่างไร พอขึ้นรถได้รถไม่ขยับเขยื้อนเลยเพราะรถติดอย่างหนัก กว่าจะถึงบ้านเล่นเอาเกือบสองทุ่ม หมาน้อยทั้งสามตัวหิวข้าวกันกระจองอแง
พี่บอกตอนนี้พี่มีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่แล้วนะ แล้วก็พาพวกเราไปที่กำแพงด้านหน้าบ้าน พี่ทำเป็นคล้ายๆ กรง มีอ่างน้ำใบใหญ่อยู่ด้านใน ที่ขอบอ่างมีเป็ดสีขาวยืนเกาะอยู่ตัวหนึ่ง ดูค่อนข้างทึบ น่าจะไม่เหมาะกับการเลี้ยงเป็ด เพราะเขาควรจะอยู่ในที่โล่งมากกว่า พี่บอกที่ไม่ปล่อยออกมาเพราะเดี๋ยวจะถูกเจ้าหมาของพี่จัดการเสียก่อน ขนาดนี้พวกมันยังมาตะกายข้างกรงกันบ่อยๆ
เป็ด “ เหลิมศรี ”
ที่มาของเป็ดตัวนี้เกิดจากพี่ปองเพื่อนร่วมรุ่นกับพี่และบ้านติดกัน วันหนึ่งสามีพี่ปองไปซื้อเป็ดมาสามตัว และจัดการเชือดวันละตัวเพื่อเอาเลือดเป็ดไปทำยาตามความเชื่อ เชือดไปแล้วสองตัว ลูกชายพี่ปองชื่อ โจ ทนสงสารเป็ดไม่ไหว แอบมากระซิบบอกพี่สุภัทรให้ซื้อชีวิตให้มันหน่อย สงสารเหลือเกิน เหลืออีกตัวเตี่ยเขาจะเชือดมันพรุ่งนี้แล้วนะ
ตกลงพี่สุภัทรไปขอซื้อเป็ดมาในราคา 120 บาทแล้วมาทำกรงให้มันอยู่นี่แหละ พี่บอกมันจำพี่ได้ พอพี่เข้าไปในกรง มันจะมองแล้วเดินเข้ามาหา พี่สุภัทรบอกพี่อิ่มบุญนะที่ได้ช่วยชีวิตมันไว้
“ เหลิมศรี เหลิมศรี ” พี่สุภัทรเรียกเจ้าเป็ดน้อย พวกเราขอให้พี่เล่าถึงที่มาของชื่อเหลิมศรีให้ฟังหน่อย
พี่บอกวันนั้นเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ของพี่หลายคนมาเที่ยวที่บ้าน มีคนหนึ่งพูดว่าเธอไม่ตั้งชื่อให้เป็ดเธอเหรอ ทีเวลาหมายังมีชื่อเลย
“ ชื่อ อัยเหลิม ก็ดีนะ “ คนหนึ่งบอก
“ เฮ้ย นี่มันเป็ดตัวเมียนะ “ พี่บอก “ อย่างนั้นชื่อ ปูโกก ละกัน “ เพื่อนบอก
“ บอกว่าเป็ดตัวเมีย เป็ดตัวเมีย เธอนี่ “
“ เอาอย่างนี้ ชื่อจริง เฉลิมศรี ชื่อเล่น เหลิมศรี โอเคนะ “ เป็ดน้อยก็เลยได้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นมา..
สวัสดีวันสงกรานต์
แล้วพบกันใหม่ สวัสดี.
อ .ปลาทอง
23 เมษายน 2557