คุณยุภา ไชโป้วตรากระต่าย แห่งตำบลเจ็ดเสมียน
คุณยุพา เมื่อสมัยยังสาว ถ่ายที่กุฏิวัดเจ็ดเสมียน
ตอนที่ผมเข้าไปในตลาดเจ็ดเสมียนเมื่อหลายวันก่อนนั้น ผมจอดรถบริเวณกลางตลาด หน้าห้องแถวของผม ที่ผมเคยอยู่ในอดีต แล้วเดินไปทางริมแม่น้ำ ตรงศาลาประชาคม มองกลับมาข้างหลังตรงผนังห้องแถว เห็นแผ่นป้ายขนาดปานกลางหลายแผ่น ผมอยากรู้ว่าเขาโฆษณาอะไร จึงเดินเข้าไปอ่านใกล้ๆ มีข้อความคล้ายกับแนะนำโรงงานผลิตผักกาดเค็ม ผักกาดหวาน ของตำบลเจ็ดเสมียน แทบครบทุกโรงงาน
เขาเขียนข้อความอย่างคร่าวๆ แบบไม่ละเอียดมากนัก ในข้อความแทบทุกป้ายจะคล้ายๆกันคือ ชื่อโรงงาน เจ้าของโรงงาน มีความเป็นมาอย่างไร ถ้าเป็นโรงงานที่ตั้งมานานแล้ว ถึงในปัจจุบันนี้ บริหารโดยใคร หรือว่าใครเป็นผู้รับกิจการต่อจากรุ่นก่อนๆ
แล้วก็จะบอกถึงความเป็นมา ว่าเรื่มต้นมาจากอะไร มีอะไรเป็นความบันดาลใจที่ทำอย่างนี้ขึ้นมา
ผมก็เดินอ่านทีละป้ายไปเรื่อยจนหมดทุกป้าย จึงมีความเห็นว่า ตลาดเจ็ดเสมียนของเราค่อยๆ มีความก้าวหน้าบ้างแล้ว คือความก้าวหน้าในด้านโฆษณา ซึ่งเขาทำได้อย่างนี้ก็ดีแล้ว ผมอยากให้โฆษณาเกี่ยวกับสิ่งต่างๆในตลาดเจ็ดเสมียนมากกว่านี้นะครับ
ผู้ใหญ่โจ บอกว่า
" เป็นการรวมตัวออกทุนของบรรดาโรงผักกาดทั้งหลาย ช่วยกันในด้านปรับปรุงภูมิทัศน์หรือสิ่งต่างๆ ให้ดูดี เอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยว จะได้ประทับใจกลับไปครับ"
ป้ายบอกสถานที่คือ "สถานีรถไฟเจ็ดเสมียน" อยู่ข้างสถานี หันหน้ามาทางตลาดเจ็ดเสมียน
ผู้ใหญ่โจว่าอย่างนี้ ผมพยักหน้าเห็นด้วย และฟังผู้ใหญ่โจพูดในเรื่องต่างๆของตลาดเจ็ดเสมียนนี้อีก แต่ผมจะไม่นำมาบอกในที่นี้นะครับ
ป้ายโฆษณาที่ผู้ใหญ่โจ ทำมาติดนั้น ดีมากสำหรับนักท่องเที่ยวที่เขาเข้ามาเที่ยว โดยที่เขาไม่รู้เรื่องอะไรของตำบลเจ็ดเสมียนมาก่อนเลย ดังนั้นป้ายโฆษณาเหล่านี้จึงเปรียบเสมือน "ไกด์" ที่ดีในระดับหนึ่ง เขาจะได้รู้เรื่องเกี่ยวกับผักกาดของเราไม่มากก็น้อย ผมจึงขอบอกว่าทำป้ายได้อย่างนี้ก็ดีแล้วนะครับผู้ใหญ่ โจ
แต่......... ก็ยังไม่ดีที่สุดนะครับ เพราะว่าผมสังเกตุดู ทุกๆโรงงานทุกป้าย ผมไม่เห็นเขาใส่ เลขที่ หรือบอกที่ตั้งของโรงงานเลยครับ หมายเลขโทรศัพท์ก็ไม่มี ไม่ได้ใส่เอาไว้เลย ถ้าใส่บ้านเลขที่ ถนน หมู่ที่ และ หมายเลขโทรศัพท์ จะดีมากเลยครับ
ที่จริงก็มีแล้วเหมือนกัน ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์เหล่านี้ แต่ไปอยู่ในโลโก้ของทางโรงงาน ซึ่งตัวเล็กๆ นักท่องเที่ยวไม่สังเกตุก็จะมองไม่เห็น เขียนใส่ในป้ายเลยครับ ตัวใหญ่ๆ ข้างล่างข้อความก็ได้ จะเป็นประโยชน์มากครับ
ผมบอกแล้วว่าผมอ่านทุกป้าย จึงได้เห็นว่าโรงงานทำผักกาดบางแห่งผมไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ หรือยี่ห้อมาก่อนเลย ผมมาสะดุดตาตรงโรงงานทำผักกาดโรงงานหนึ่ง คือโรงงาน "ไชโป้วตรากระต่าย"
ป้ายโฆษณาของ ไชโป๊ตรากระต่าย
ผมก็เลยคิดว่า อ้าว โรงงานทำผักกาดที่เจ็ดเสมียน มีโรงงาน ไช้โป้วตรากระต่ายด้วยหรือ อ่านต่อลงไปข้างล่างอีก จึงทราบว่า อ้อ เป็นโรงงานทำผักกาดของคุณยุภา (ยุพา อันไหนถูกนะ) นั่นเอง
ผมกับคุณยุพาเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ที่อยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน เมื่อสมัยเด็กๆนั้น พวกเราเด็กตลาดเจ็ดเสมียนไม่ว่าจะเป็นเด็กรุ่นใหญ่หรือรุ่นเล็ก จะแยกกันเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มผู้ชาย ต่างคนต่างจับกลุ่มไม่เกี่ยวกัน
แต่เวลาไปเดินเล่นหรือไปเที่ยวงานไกลๆต่างหมู่บ้าน จะเดินกันไปเป็นกลุ่มแต่ก็ไปด้วยกัน คอยปกป้องดูแลกันตลอดมา เด็กถิ่นอื่นๆไม่มีใครกล้ามารังแกเด็กเจ็ดเสมียนเลย
คุณยุพา (ริมขวาสุดของภาพ) กับเพื่อนสนิทบางคน ซึ่งที่จริงมีมากกว่านี้
ถ่ายที่ระเบียงชั้นล่างของโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน (สัจจานุกูล)
เด็กวัยรุ่นของตลาดเจ็ดเสมียน ในงานเทศกาลแห่ดอกไม้ เป็นเด็กรุ่นๆเดียวกันกับคุณยุพา และอีกหลายๆคน
มีบางครั้งในตอนเย็นๆ จะไปเดินเล่นที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน ซึ่งมีคนมาเดินเล่น นั่งเล่น พักผ่อนหย่อนใจกันเยอะ พวกเราจับกลุ่มนั่งล้อมวงกัน พวกกลุ่มผู้หญิงเขานั่งล้อมวงกันอยู่ตรงไหน พวกกลุ่มผู้ชายก็จะมานั่งล้อมวงอยู่ข้างๆ บางทีก็มีการกระเซ้าเย้าแหย่กันก็มีบ้าง แต่พวกเราเด็กหญิงชายที่ตลาดเจ็ดเสมียนไม่เคยทะเลาะกัน หรือด่าทอกันเลย
คุณยุพา ก็เป็นเด็กอยู่ในกลุ่มเด็กหญิงของตลาดเจ็ดเสมียนด้วย เราจึงรู้จักกันเป็นอย่างดี ผมไม่ได้พบคุณยุพามานานหลายสิบปี เมื่อโตขึ้นต่างคนต่างแยกย้ายกันไปจึงไม่ได้พบกัน เป็นเรื่องธรรมดาถ้าคนที่ไม่ได้ติดต่อกัน และส่งข่าวถึงกันบ้าง หลายๆปี นานๆเข้าก็จะเหมือนกับลืมกันไปเลย
เช่นคุณยุพานี้เป็นต้น เมื่อผมมารู้ข่าวจากป้ายประชาสัมพันธ์นี้ ผมจึงดีใจมากที่เพื่อนของผมคนหนึ่งที่เจ็ดเสมียน ได้ประกอบอาชีพที่ดีเป็นปึกแผ่น มีทายาทที่ดีคอยสืบต่อกิจการต่อไป
ขอให้กิจการของคุณยุพาเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปนะครับ
นายแก้ว ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑