เมื่อคนโพธารามไปเจ็ดเสมียนครั้งแรก
นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา อดีตครูใหญ่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน
“..เช้าวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๘ ฉันรีบแต่งตัวถือร่มด้วย วันนี้ฝนพรำตั้งแต่เช้าตรู่ เสื้อชั้นนอกคอตั้งเพิ่งจะตัดใหม่ ยังไม่เคยใส่เลย ต้องห่อกระดาษหนีบรักแร้ เพราะกลัวฝนจะเปียก เรียบร้อยแล้วก็กางร่มเดินมาตามถนนรถไฟ (จากโพธาราม) มุ่งไปทางไต้ ตำบลแห่งหน ของเจ็ดเสมียนจะอยู่ที่ใดเกิดมาก็ไม่เคยไป
เด็กบ้านนอก (ไปดูเขาเผาศพ)
ถนนสายนี้มาจากหลังสถานีรถไฟ ผ่านโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ไปยังวัดสนามชัย แล้วก็ผ่านไปยังที่อื่นๆอีก จนถึงตลาดโพธาราม สมัยนั้นยังเป็นถนนดินแต่ในปัจจุบันนี้เป็นถนนลาดยางกว้างขวางอย่างดีแล้วครับ
ผมเด็กชายแก้วกับน้องชายของผมคือ ระฆัง สุวรรณมัจฉา ไปดูเขาเผาศพกันที่ทุ่งโล่งๆ (ด้านซ้ายของภาพซึ่งมองไม่เห็นในภาพนี้) ซึ่งในขณะนั้นที่วัดเจ็ดเสมียนยังไม่มีเตาเผาศพ ดังนั้นเวลาจะเผาศพก็ต้องแห่กันมาเผาที่ตรงนี้ พูดให้ชัดอีกทีก็คือตรงถนนเข้าโรงสูบน้ำในปัจจุบัน ทางด้านซ้ายมือนั่นเอง
คนอง คุ้มประวัติ
หาดทรายของเรา
ตอนเย็นๆเด็กตลาดเจ็ดเสมียนส่วนหนึ่ง จะนั่งเรือจ้างข้ามฝั่งไปยังหาดทรายขาวสอาดที่อยู่เป็นแนวยาวฝั่งตรงกันข้ามกับตลาดเจ็ดเสมียน (ถ้าท่านที่เพิ่งเข้ามาจะยังไม่ทราบว่าที่เจ็ดเสมียนก็มีหาดทรายด้วยหรือนี่)
ตลาดเจ็ดเสมียนในวันเทศกาลตรุษจีน
ตลาดเจ็ดเสมียนตั้งแต่ในอดีตมีเพียง ๒ แถวหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางภาพนั้นคือท่าน้ำของตลาดเจ็ดเสมียน
สมัยเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ห้องแถวในตลาดเจ็ดเสมียนทั้ง 2 แถวที่ตั้งอยู่ใกล้โบสถ์วัดเจ็ดเสมียนและอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองนั้น รวมกันแล้วมีเพียงไม่กี่ห้องก็จริงอยู่ แต่ก็มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่ มีประชาชนหลายเชื้อชาติรวมกันอยู่ในตลาดแห่งนี้ ที่มากที่สุดจะเป็นคนเชื้อสายจีน ที่มาตั้งรกรากที่นี่ตั้งแต่โบราณ