เพื่อนเอ๋ย ๑

คุณคะนอง ตุ้มประวัติ  (นายเหม่ง) นั่งอยู่บนทางรถไฟพร้อมด้วยพี่น้อง ในวันที่น้ำขึ้นท่วมตลาดเจ็ดเสมียนในปีหนึ่ง

เมื่อผู้เขียนได้รับข่าวทางโทรศัพท์ จากคนรุ่นน้องที่เจ็ดเสมียนคนหนึ่ง บอกว่า “เฮียโห้ ตายเสียแล้ว ” ผู้เขียนใจหายวาบ เพราะว่าเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนก็ยังได้คุยกับเจ๊ตื๋ว หรือ คุณอำนวย แววทอง ผู้จัดการร้าน แม่กิมฮวยเชลชวนชิม พี่สาวของนายโห้

เจ๊ติ๋ว บอกผู้เขียนหลังจากที่ได้ถามถึง นายโห้ว่า “ตอนนี้พงษ์มันไม่ค่อยสบาย ไปหาหมออยู่เรื่อยๆ ” ที่เจ๊ติ๋วแกเอ่ยชื่อขึ้นมาว่า “ พงษ์ “นั้น ชื่อของนายโห้จริงๆก็คือนาย สุรพงษ์ และมีนานสกุลว่า แววทอง นั่นเอง
ผู้เขียนได้ยินก็หัวเราะแล้วบอก เจ๊ติ๋ว ว่า “คนเราอายุมากๆแล้วก็เป็นอย่างนี้แหละ ฉันก็เหมือนกันเป็นโน่นเป็นนี่ไม่ได้หยุด รุ่นเดียวกันกับฉันนี้ตอนนี้ ก็เริ่มเข้าแถวกันเริ่มเจ็บไข้ได้ป่วยกันไม่เว้นแต่ละวันแล้ว “

คุณอำนวย แววทอง หรือเจ๊ติ๋วพาน้องๆมาเยี่ยมนายแก้วถึงที่บ้าน สามชุก สุพรรณบุรี เมื่อไม่นานมานี้ จากซ้ายคุณหวาน (เจ้าของบ้าน) คุณเตียง, คุณอำนวย ( เจ๊ติ๋ว) คุณจินตนา น้องสาวของนายโห้

ต่อจากนั้นมาผู้เขียนก็ลืมๆเรื่องที่ นายโห้ไม่สบายบ่อยๆไปเสีย เพราะคิดว่าคนเราเมื่ออายุมากๆเข้าก็เป็นเช่นนี้แหละ
ดังนั้นเมื่อผู้เขียนได้รับข่าวของนายโห้แล้วก็รู้สึกตกใจ แล้วคิดว่าทำไมจึงรวดเร็วจริงๆ ผู้เขียนเพิ่งจะได้คุยกับเจ๊ติ๋วมาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง เจ๊ติ๋วก็ไม่ได้บอกว่านายโห้เป็นอะไรหนักหนามากน้อยแค่ไหนเสียด้วยซี

เมื่อผู้เขียนตั้งใจจะเก็บเรื่องเก่าๆ เมื่อสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กๆ อยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนั้น เป็นความตั้งใจอย่างจริงๆที่จะเล่าเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นที่เจ็ดเสมียน เอาไว้ให้เด็กรุ่นหลังๆได้รู้ คิดมาตั้งนานแล้วก็ไม่มีโอกาสจะได้ทำอย่างตั้งใจสักที

จนกระทั่งเมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมานี้ได้มีการปรึกษากัน กับเพื่อนเด็กตลาดเจ็ดเสมียนร่วมรุ่นบางคน ถึงเรื่องการทำ เวบไซด์ "เจ็ดเสมียน" หรือ www.chetsamian.org. ต่างก็มีความเห็นว่าถ้าทำได้ก็ดี จากนั้นมา เวบไซด์  "เจ็ดเสมียน" ของเราจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีผู้เขียนเป็นผู้จัดทำ มีเพื่อนๆหลายคนและคนเก่าๆที่เจ็ดเสมียน เป็นผู้ให้คำปรึกษา

บ่อยๆและในหลายๆเรื่องที่ผู้เขียนๆเขียนขึ้นมานั้น จะมีตัวละครในตลาดเจ็ดเสมียนนี้ต่างๆกัน ดังนั้นที่เขียนถึงเรื่องราวในสมัยนั้น จึงมีเรื่องมากมายที่เกี่ยวกับนายโห้บ้าง และเด็กเจ็ดเสมียนในรุ่นของผู้เขียนหลายๆคนบ้าง มากน้อยแล้วแต่เรื่องจริงๆที่เกิดขึ้น

ต่อมาเมื่อเด็กๆตลาดเจ็ดเสมียน รุ่นของผู้เขียนเติบโตกันขึ้นมาแล้ว ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไปทำมาหากินในที่ต่างๆ ดังนั้นนับตั้งแต่ผู้เขียนได้จากเจ็ดเสมียนไปแล้ว เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๗ ปี ก็นับว่าจะห่างๆจากเพื่อนฝูงที่เจ็ดเสมียนไป แต่ก็มีบางครั้งที่ได้กลับมาเยี่ยมแม่และน้องๆที่ยังอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนจึงได้พบกับเพื่อนๆที่ตลาดเจ็ดเสมียนบ้าง และก็ยังคุยกันถึงเรื่องเก่าๆอย่างสนุกสนานเหมือนเดิม

เพื่อเป็นการไว้อาลัยนายโห้ ที่จากไป ดังนั้นในเรื่องนี้ก็จะเล่าเรื่อง ที่เกี่ยวกับนายโห้เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็กที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้สักเล็กน้อย โปรดติดตามต่อไปเรื่อยๆ

ที่ได้เคยกล่าวมาแล้วอยู่ในเรื่องอื่นๆ ในตอนที่นายโห้เป็นเด็กๆนั้น นายโห้จะเป็นผู้ที่ตามใจเพื่อนฝูงเป็นที่สุด ที่เรียกว่าไปไหนไปกัน ทำอะไรทำกัน ไม่มีการย่อท้อทั้งสิ้น  นายโห้เป็นเด็กแข็งแรง ถึงแม้ว่าจะผอมๆ เมื่อถอดเสื้อออกแล้ว จะมีซี่โครงขึ้นบ้างเหมือนเด็กเจ็ดเสมียนทั่วๆไปก็ตาม แต่นายโห้ก็ไม่ใช่คนขี้โรค

ชุดที่เก่งที่สุดของเขาในวันที่ไม่ได้ไปโรงเรียน หรือวันที่โรงเรียนหยุดนั้นขมุกขะมอมเพราะว่าใส่มานาน เขาจะใส่กางเกงขาสั้นสีกากีซึ่งเป็นกางเกงที่ไปโรงเรียน เข็มขัดนั้นถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเข็มขัดหัวลูกเสือ ส่วนเสื้อนั้นไม่ว่าจะเป็นหน้าหนาวหน้าร้อนหรือหน้าฝน เขาก็จะใส่ชุดเก่งของเขาชุดเดียวเท่านั้น
นายโห้ชอบใส่เสื้อตัวเก่งที่สุดของเขาตัวนั้นตัวเดียว คือเสื้อแขนยาวที่ตัดเย็บด้วยผ้าหนาๆสีเทา เนื้อผ้าคล้ายๆกับผ้าที่ทางการทหาร เขาแจกให้พลทหารเกณฑ์

เขาใส่ตั้งแต่แม่กิมฮวยซื้อมาให้ใหม่ๆ จนกระทั่งเก่ามากขะมุกขะมอมมากแล้ว นายโห้ก็ยังชอบที่จะใส่เสื้อผ้าชุดนี้ ออกมาเล่นกับเพื่อนๆที่หน้าตลาดหรือสนามหญ้าหน้าโรงเรียน หรือไปไหนต่อไหนด้วยกันกับพรรคพวกอยู่เสมอ แม้นายโห้จะไม่ใช่คนที่พูดมาก แต่เมื่อพูดออกมาสักทีก็เอาจริงเอาจัง และบางทีก็มีตลกให้ฮาด้วย

น้ำท่วมตลาดเจ็ดเสมียน ภาพนี้ถ่ายจากหน้าร้านค้านายเค่งนางน้อย มองเห็นบ้านริมน้ำเป็นตึกสีขาวสูงๆ ซึ่งอยู่ใกล้ท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียน (ภาพจากคุณอาทร ชื่นณรงค์ ตลาดเจ็ดเสมียน)

ที่ตำบลเจ็ดเสมียนในสมัยก่อนนั้น จะมีหน้าน้ำหลากทุกๆปี มีอยู่ปีหนึ่งในปีนั้นน้ำเหนือหลากมาก ไหลเข้าท่วมไร่นาบ้านเรือน ของชาวตำบลเจ็ดเสมียนที่อยู่นอกๆออกไป  มองดูน้ำในทุ่งนาสองข้างทางรถไฟขาวโพลนไปหมด แม้แต่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนน้ำก็ขึ้นท่วมถึง ที่คลองหลังตลาดตรงศาลเจ้านั้น น้ำก็กำลังล้นเอ่อไหลเข้าคลองอย่างรวดเร็ว

นี่คือ " ท่าใหญ่ " ที่เป็นปากคลองเจ็ดเสมียน เวลาน้ำขึ้นน้ำจะไหลผ่านประตูน้ำเข้าไปในไร่นา ภาพนี้เป็นภาพปัจจุบันน้ำในแม่น้ำมีไม่มาก

เมื่อน้ำหลากมามากๆก็จะไหลเข้าทางประตูน้ำคอลกรีตนี้ ในสมัยก่อนนั้นประตูน้ำไม่ได้เป็นอุโมงอย่างนี้ มีเพียงเสาปูนทางซ้ายและขวา ๒ ต้น และมีร่องใส่ไม่กระดานลงไปกันน้ำเท่านั้น (อุโมงนี้ข้างบนเป็นศาลเจ้าแม่เจ็ดเสมียน )

คลองหลังตลาดเจ็ดเสมียนนั้น เป็นคลองที่กว้างมากพอสมควร ไม่แคบจนตันแบบน้ำจะไหลเข้าไม่ได้เหมือนปัจจุบันนี้ คลองเจ็ดเสมียนเริ่มต้นจากท่าใหญ่ เมื่อน้ำขึ้นมากๆ ก็จะขึ้นท่วมท่าใหญ่ก่อน แล้วไหลผ่านหลังตลาดไปลอดทางรถไฟที่หน้าบ้าน นายทั้ง หรือเฮียทั้ง หรือบ้าน เจ๊แอ๊วในปัจจุบันนี้ แล้วก็ไหลตามคลองไปเรื่อยๆ ไปออกไร่นาที่อยู่ไกลๆโน้น

ตามริมตลิ่งตั้งแต่ท่าน้ำเจ็ดเสมียน เรื่อยไปจนถึงท่าวัด ท่าโรงสีจะมีคันกั้นน้ำที่เขาเทปูนเอาไว้มานานหลายปีแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังกั้นน้ำไม่ได้เต็มที่ ถ้าน้ำขึ้นมากๆ   น้ำก็จะขึ้นถึงเข้าท่วมตลาด วัด โรงเรียนและโรงสี การสัญจรไปมาต้องลุยน้ำปริ่มๆท่วมหลังเท้า ทำให้ลำบากและเป็นโรคน้ำกัดเท้าไปตามๆกัน

 

ภาพที่แสดงให้เห็นว่า ที่ริมตลิ่งตั้งแต่ตลาดเจ็ดเสมียน ไปจนถึงโรงสีไฟเจ็ดเสมียน มีคันกั้นน้ำที่สูงพอสมควร แม้กระนั้นบางปีน้ำก็ท่วมล้นคันกั้นน้ำนี้

น้ำที่ขึ้นปีนี้เพิ่งจะขึ้นมาวันสองวันแรกเท่านั้น ถ้าน้ำมามากๆกว่านี้อีกหลายๆวัน ตลาดเจ็ดเสมียนคงได้ลุยน้ำกันแค่หัวเข่าแน่ๆ
วันนั้นสายแล้วผมกับนายโห้ พร้อมด้วยนายเหม่งลูกชายร้านถ่ายรูปอีกคนหนึ่ง รวมเป็น ๓ คน ใส่รองเท้าแตะที่ทำจากยางรถยนต์มีสายรัดที่ตรงส้นเท้า ที่เป็นที่นิยมกันในสมัยก่อน ตั้งใจกันว่าจะออกเดินสำรวจตามริมตลิ่งจากท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียนเรื่อยไปทางโรงสี ซึ่งน้ำขึ้นมาท่วมเริ่มจะมากแล้ว

บางปีน้ำขึ้นท่วมตลาดเจ็ดเสมียน ขนาดการเดินทางสัญจรไปมาต้องพายเรือไป ในภาพนี้จะเห็นทางขึ้นสถานีรถไฟ และร้านค้าหลังสถานี น้ำจะขึ้นอยู่หลายเดือนจึงลงเป็นปกติ (ภาพนี้ไม่ใช่เป็นปีที่ผู้เขียนกำลังเขียนถึง เป็นเพียงภาพประกอบ ถ่ายจากตลาดเจ็ดเสมียนจริงๆในปีที่น้ำท่วม พ.ศ. ๒๕๓๗ ภาพของ สุริยะ จุ้ยจิต)

ในตอนแรกนี้ก่อนอื่นเราสามคน เดินเข้าไปดูน้ำที่คลองเจ็ดเสมียน ตรงท่าใหญ่เสียก่อน พวกเราเดินเข้าไปหลังตลาด ไปยืนดูน้ำที่ประตูน้ำใกล้ศาลเจ้า ซึ่งอยู่ใกล้ๆบ้านแป๊ะซุ่น  ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นบ้านของคุณครูเบญจา สุวรรณ ซึ่งเป็นลูกเขยของแป๊ะซุ่น เห็นมีคนหลายคน เอาสวิงแบบตาถี่ๆมาช้อนปลาที่ตรงนั้น

แต่ละคนที่กำลังช้อนปลากันอยู่นี้ ได้ปลากันคนละหลายๆปี๊บน้ำมันก๊าด มองเห็นปลากระโดดกันหยองแหยง โดยมากจะเป็นปลาสร้อย ปลาซิว ปลาหมู ปลารากกล้วย และจะมีปลาอื่นๆอีกปะปนกันไป
เมื่อพวกเราเห็นเขาได้ปลากันมากๆอย่างนั้น นายเหม่งบอกว่า “พี่เก้ว เรากลับไปเอาสวิงที่บ้านมาช้อนปลาซิว ปลาสร้อยปลาเล็กปลาน้อย กันบ้างดีกว่า ”

ผู้เขียนบอกว่า “ ใจเย็นๆ ไม่ต้องกลัวว่าปลาจะหมดหรอก น้ำใหม่ยังขึ้นหลากมาอีกหลายวัน ปลาเล็กปลาน้อยพวกนี้จะตามมากับน้ำ ที่หลากมาจากทางเหนือ เอาไว้ตอนบ่ายๆเย็นๆนี้ก็ได้ ค่อยมาช้อนกัน  ”
“ปลามันไม่ได้ขึ้นที่เดียวหรอก มันมีอยู่ทั่วไป เราไปดูน้ำทางโน้นกันก่อนดีกว่า  ตอนบ่ายค่อยย้อนกลับมา ” นายโห้ว่า

พร้อมกับหันมามองทางพวกเราแล้วพยักหน้า อันเป็นสัญญาณว่า ไปกันเถอะ อย่าชักช้า เราจึงออกจากท่าใหญ่ ย้อนมาทางหน้าตลาด แล้วเดินสำรวจดูน้ำไปทางท่าวัด แล้วก็เลยไปที่ท่าโรงสี ตามคันดินที่เขาสร้างกันน้ำเอาไว้  มีบางแห่งน้ำก็รั่วเข้าไปได้ ยิ่งน้ำขึ้นมากๆอย่างนี้แรงดันของน้ำก็มากยิ่งขึ้นไปด้วย  น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้โรงสีไฟเจ็ดเสมียนของเถ้าแก เช็งกิจ ต้องหยุดสีข้าว คิดว่าคงอีกหลายวันหรือจนกว่าน้ำจะแห้งนั่นแหละจึงจะทำการได้เป็นปกติ

ผู้เขียนบอกนายโห้กับนายเหม่งขณะที่เรายืนอยู่ที่ท่าโรงสีว่า “พวกมึงมองดูที่ท่าน้ำบ้านป้าม่อมซีวะ  น้ำท่วมเข้าบ้านแกน้ำไหลอู้มองเห็นชัดๆเลย พวกเราไปดูแกหน่อยดีไหม”  ผู้เขียนบอกเพื่อนที่มาด้วยกันพลางชี้มือไปทางบ้านป้าม่อม

นายโห้บอกว่า  “เอาซี ไปก็ไปเผื่อบางทีป้าม่อมแกอาจจะมีอะไรให้พวกเราได้ช่วยเหลือบ้าง “ นายโห้พูดด้วยน้ำใจที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งนายเหม่งก็พยักหน้า เหมือนกับจะบอกว่า เห็นด้วยจ๊ะพี่.....!

ที่มองเห็นข้างหน้านี้ คือโรงสูบน้ำของปะปาเจ็ดเสมียนในปัจจุบัน ที่ตรงนี้แหละในสมัยก่อนนั้นเป็นบ้านของป้าม่อม ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังเล็กๆเพราะอยู่กันกับลูกชายคนเล็กเพียงสองคนเท่านั้น ส่วนถนนลูกลังที่เห็นนี้คือ ถนนทางเข้าโรงสีซึ่งมีประตูใหญ่เปิดแง้มๆไว้อยู่ตลอดเวลา ส่วนพื้นที่ทางด้านซ้ายมือถึงริมน้ำนั้นเป็นพื้นที่ของโรงสีเจ็ดเสมียน

พวกเราเดินท่องน้ำที่ปริ่มๆหลังเท้าผ่านหน้าโรงสี  แล้วเลี้ยวไปออกประตูใหญ่ข้างโรงสี (ปัจจุบันเป็นถนนเข้าโรงสูบน้ำของประปาเจ็ดเสมียน) พอออกมาจากโรงสีแล้วมองไปทางริมตลิ่งก็เห็นบ้านป้าม่อมพอดี
มองเห็นป้าม่อมแต่ไกลแกกำลังก้มๆเงยๆ อยู่ข้างบ้านของแกซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไม้หลังไม่ใหญ่นัก ที่ใต้ถุนบ้านมองเห็นมีของวางไว้ระเกะระกะ

ป้าม่อม (ที่สองจากซ้าย) เมื่องานแห่ดอกไม้ที่เจ็ดเสมียนเมื่อเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว

พวกเราเดินเข้ามาใกล้อีกหน่อยหนึ่งก็เห็นได้ชัดขึ้นว่า ป้าม่อมแกกำลังเก็บข้าวของๆแกที่จะเปียกน้ำหรือลอยไปกับกระแสน้ำได้ ถ้าหากว่าน้ำขึ้นมามากกว่านี้ ของเหล่านั้นป้าม่อมแกกำลังทยอยเอาขึ้นไปบนเรือน

แกคงคิดด้วยความเคยชินมาทุกๆปี เมื่อน้ำเริ่มขึ้นมาอย่างนี้ อาจจะเป็นคืนนี้หรือพรุ่งนี้นี่แหละ ที่น้ำจะขึ้นมามากกว่านี้ ไต้ถุนบ้านของแกจะถูกน้ำท่วมจนหมดเหมือนทุกๆปีแน่นอน แกจึงรีบย้ายของต่างๆที่สำคัญบางอย่างขึ้นไปบนเรือนเสียก่อน

“ป้าม่อมทำอะไรน่ะ ”  พวกเรา ๓ คนผลัดกันตะโกนถาม เมื่อเดินมาในระยะที่จะพูดกันได้ยินแล้ว ป้าม่อมเงยหน้าขึ้นมาหยีตามอง เมื่อรู้ว่าเป็นใครแล้ว แกก็ทักขึ้นมาด้วยความคุ้นเคย
“ไอ้สามคนนี่มึงมากันทำไมวะ น้ำขึ้นๆอย่างนี้ เดี๋ยวมึงก็เหยียบงูเข้าหรอก ”  “ ฉันไม่กลัวมันหรอกป้า แล้วป้ามีอะไรให้ฉันช่วยบ้างหรือเปล่าล่ะ น้ำกำลังมาแรงอย่างนี้ ” นายโห้เอ่ยถาม 
“  ไม่มีอะไรหรอก พวกมึงไม่ต้องมาช่วยกูเลย กลับบ้านกันเถอะไป๊ น้ำขึ้นอย่างนี้อยู่กับบ้านดีกว่า ” ป้าม่อมบอกด้วยความเป็นห่วง แล้วยืนขึ้นยืดตัวเท้าสะเอวมองดูพวกเรา

“แน่นะป้า ไม่ต้องการคนช่วยแน่นะ อย่างงั้นพวกเรากลับกันดีกว่า ไปดูเขาช้อนปลาสร้อยกันที่ คลองตาเฉยเถอะ น้ำขึ้นใหม่ๆอย่างนี้ปลาชุมเป็นบ้าเลย สังสัยพวกไอ้วี ไอ้ธร ไอ้อู๊ดคงอยู่ที่นั่น ”  ผู้เขียนบอก

“เอากลับก็กลับ ” นายเหม่งว่า  พร้อมกับขยับตัวจะเดินนำหน้าออกไปจากบ้านป้าม่อม นายเหม่งมันคิดถึงแต่เรื่องหาปลามันคงหาโอกาส ที่จะกลับไปช้อนปลาของมันมานานแล้ว และผู้เขียนทำท่าจะเดินตาม

“เฮ้ย .. เก้วเดี๋ยวก่อน ” นายโห้เรียกชื่อผู้เขียน  พร้อมกับเอื้อมมือมารั้งข้อมือผู้เขียนไว้ นายเหม่งทำหน้าสงสัยหันมาถามว่า อะไรกันอีกล่ะ พี่โห้ มีอะไรหรือ ” พลางมองตามสายตาของนายโห้ไปทางใต้ถุนบ้านป้าม่อม.....! มีต่อ

นายแก้วเขียน เพื่อนเอ๋ย ตอนที่ ๑

๑๒ มกราคม ๒๕๕๔

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้181
เมื่อวานนี้746
สัปดาห์นี้2542
เดือนนี้8800
ทั้งหมด1328134

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online