เกิดเจ็ดเสมียน

 

    ภาพนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ แต่พวกเขาเหล่านี้ก็ยังมีความภูมิใจว่าเขาคือคนเจ็ดเสมียนที่แท้จริง    ในตอนสายๆของเมื่อ ๕๘ ปีที่ผ่านมา พวกเด็กเจ็ดเสมียนส่วนหนึ่งออกมาวิ่งเล่นกันที่ริมน้ำข้างๆศาลาวัดเจ็ดเสมียน (หลังเก่า)ซึ่งติดกับโบสถ์ เล่นกันเพลินๆ

   ครูหิรัญซึ่งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน เดินผ่านมาทางนั้น พร้อมด้วยถือกล้องถ่ายรูปมาด้วยพอดี แล้วร้องเรียกเด็กพวกนั้นให้มาถ่ายรูปกัน พวกเขาจึงมานั่งรวมกลุ่มกันที่คันกั้นน้ำริมตลิ่ง ใกล้ๆศาลาวัดนั่นเอง

   เมื่อครูหิรัญเล็งกล้องจะถ่ายแล้วได้พูดให้เด็กๆอยู่นิ่งๆ แล้วก็พูดอะไรออกมาอีก ทำให้เด็กๆพวกนั้นขำกันใหญ่ ครูหิรัญจึงได้ถ่ายรูปนี้ไว้ ตั้งแต่นั้นมารูปใบนี้ก็เก็บอยู่ที่บ้านครูหิรัญในตลาดเจ็ดเสมียนตลอดมา และเพิ่งจะมาเปิดเผยให้คนอื่นๆได้ดูกันก็เมื่อไม่นานมานี้เอง

 

ภาพเด็กตลาดเจ็ดเสมียนกลุ่มหนึ่งนั่งอยู่บนคันดินกันน้ำท่วม คันดินนี้จะเริ่มตั้งแต่ท่าน้ำตลาดเรื่อยไปถึงท่าวัดและท่าโรงสี

   ในภาพนี้มีใครบ้างขอบอกดังนี้ จากซ้าย ระฆัง สุวรรณมัจฉา นั่งหัวเราะใส่เสื้อยืดขาว เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ของครูหิรัญ ขณะที่ถ่ายภาพนี้อายุได้ประมาณ ๔ ขวบ เมื่อเติบโตขึ้นมาก็เรียนหนังสือจนจบและรับราชการทหารอยู่ในค่ายทหารช่างที่ราชบุรี แต่ระฆังมีอายุค่อนข้างสั้น และต่อมาได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้เพียง ๔๒ ปีเท่านั้นเอง ระฆังอยู่ที่เจ็ดเสมียนตลอดมาไม่ได้ย้ายออกไปจากเจ็ดเสมียนเลย

   คนถัดไปที่ถอดเสื้อนั่งสูงกว่าคนอื่นๆนั้นคือ เด็กชายแก้ว สุวรรณมัจฉา เป็นพี่ชายของเด็กชายระฆัง เด็กชายแก้วนั้นในตอนเด็กๆเป็นคนขี้โรค ผอมแห้งแรงน้อย อยู่ที่เจ็ดเสมียนจนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนในตัวอำเภอโพธาราม จึงได้จากเจ็ดเสมียนไปเรียนต่อที่กรุงเทพ และได้เผชิญโชคอยู่ในเมืองหลวงตลอดมา ไม่ได้กลับมาปักหลักอยู่ที่เจ็ดเสมียนเลย (แต่ก็ยังมาเยี่ยมญาติและพี่น้องเพื่อนฝูงที่เจ็ดเสมียนสม่ำเสมอ)

   คนที่นั่งยิ้มข้างหน้าใส่กางเกงมีสายสะพายนั้น เขาคือ เด็กชายรังสฤษฏ์ ลักษิตานนท์ เป็นบุตรชายของนายเบี้ยวและนางกิมเอ็ง และเป็นน้องชายของ โอฬาร (นายอู๊ด) เขาเรียนจนจบปริญญาตรีที่ประเทศไทยแล้ว ก็ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จกลับมาแล้วได้เข้าทำงานหลายแห่ง สุดท้ายปัจจุบันนี้ทำงานอยู่ที่ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ในตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

    นั่งหลังสุดคนที่ถอดเสื้อยิ้มเหนียมๆนั้น คือ เด็กชายสาธร วงษ์วานิช เป็นเด็กที่เกิดที่เจ็ดเสมียนโดยแท้จริงเหมือนคนที่ได้เอ่ยมาแล้ว ตอนเด็กๆก็วิ่งเล่นด้วยกันกับเด็กตลาดเจ็ดเสมียน เรียนหนังสือเบื้องต้นและจบชั้นมัธยมที่ในตัวอำเภอโพธาราม ต่อมาได้เข้าเป็นนักเรียนทหารเรือ ปัจจุบันประกอบอาชีพส่วนตัว แม้ว่าจะมีบ้านช่องใหญ่โตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก็กลับมาเยี่ยมพ่อแม่พี่น้องที่เจ็ดเสมียนอยู่เนืองๆจนปัจจุบันนี้

   คนที่นั่งหัวร่องอหายอยู่นั้น เป็นเด็กหญิงคนเดียวในภาพนี้ เธอคือ เด็กหญิงอารีย์ สุวรรณมัจฉาในตอนนั้นมีอายุประมาณ ๒ ขวบ เป็นน้องสาวของเด็กชายระฆัง ตั้งแต่เรียนจบจากโรงเรียน โพธาราม โพธาวัฒนาเสนี ก็เข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อที่กรุงเทพฯจนกระทั่งจบจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเข้ารับราชการตลอดมา

   นั่งอยู่ข้างหลังเด็กหญิงอารีย์ คนทางซ้ายมือ เขาคือ เด็กชายประมูล กุลบุปผา เป็นบุตรชายของคุณป้าแจ่ม แม่ค้าขายขนมจีนชื่อดังแห่งตลาดเจ็ดเสมียน เด็กชายประมูลเป็นอีกคนหนึ่งที่เรียนจบแล้วก็ไปเรียนที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ ที่สัตหีบ สุดท้ายได้รับยศเป็นนายนาวาโท (พันโท) และเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ นี้เอง

   สุดท้ายอีกคนหนึ่งที่นั่งคู่กับ เด็กชายประมูลนั้น มีใครจำเขาได้บ้างไหมครับ เขาคือ เด็กชาย โอฬาร ลักษิตานนท์ ยังไงล่ะครับ เขาเป็นพี่ชายของเด็กชายรังสฤษดิ์ เมื่อตอนสมัยเด็กๆนั้นเด็กชายอู๊ด (โอฬาร) เป็นเด็กแข็งแรง ฉลาด มีลักษณะการเป็นผู้นำ

   เมื่อเขาเรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนที่โพธารามแล้ว เด็กชายอู๊ดก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะว่าบิดาให้อยู่ช่วยเหลือกิจการของครอบครัว ถึงแม้ว่าบ้านจะย้ายไปอยู่ที่ตลาดโพธารามแล้ว แต่เด็กชายอู๊ดก็ยังได้เข้ามาเที่ยวหาเพื่อนฝูงที่เจ็ดเสมียนอยู่เสมอ  (ปัจจุบันไปปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆวัดหนองรี อ.โพธาราม)

   นี่คือเด็กตลาดเจ็ดเสมียนส่วนหนึ่ง ที่ในวันนั้นบังเอิญได้ถ่ายรูปนี้ไว้และรูปนี้จะเป็นรูปประวัติศาสตร์ของเจ็ดเสมียนรูปหนึ่งในวันข้างหน้า

   ขอขอบคุณครู ปราณี สุวรรณมัจฉา ที่ได้ให้รูปนี้มาเผยแพร่


    ภาพนี้เมื่อออกเผยแพร่แล้วได้รับการวิจารณ์จากนักถ่ายรูปสมัครเล่นท่านหนึ่ง ลองอ่านดูครับ  
 
    รูปนี้เป็นรูปที่สวยงามมาก ทั้งการจัดองค์ประกอบและมิติของภาพใกล้ไกล รวมทั้งอารมณ์ของตัวแบบ สมบูรณ์ที่สุด ดูแล้วสื่อถึงเด็ก ๆ เจ็ดเสมียนในยุคนั้นมีความร่าเริงและมีความสุขสนุกสนาน ดูแล้วสดชื่นดีครับ

   เด็กชายสองคนที่ยืนไกล ๆ นั่นพอทราบไหมครับว่าใคร ตัวเล็กเหลือเกิน ลองเดาดูกันเล่น ๆ นะครับ         

สรพงศ์ ชาเย็น 
 

   
ภาพของเด็กๆเจ็ดเสมียนที่นั่งหัวเราะกันอย่างมีความสุขภาพนี้ และทางด้านหลังเด็กๆที่นั่งกันอยู่นั้นมีเด็กชาย ๒ คนยืนอยู่ ผู้เขียนได้คุยกับเพื่อนๆที่อยู่ในรูปนี้ต่างคนลงความเห็นกันว่า คนทางขวามือนั้นคือ เด็กชายสุรชัย(แอด) แววทอง ลูกชายคนหนึ่งของคุณป้าฮวย เวลานี้ยังมีชีวิตอยู่และอยู่ที่เจ็ดเสมียนโดยตลอดไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่ไหนเลย

นายแอด (สุรชัย แววทอง) ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่ที่เจ็ดเสมียน

   ส่วนคนทางซ้ายมือนั้นคือ เด็กชายโล (อโนทัย ไทยสวัสดิ์) เป็นลูกของคุณป้าฮุ้น เป็นเด็กรุ่นเดียวกันกับพวกนายแก้ว ในตอนนั้นแกยืนถือเข่งลูกหนึ่งอยู่ ครูหิรัญเรียกให้มาถ่ายรูปด้วยกัน เด็กชายโลก็ไม่ยอมเข้ามา จึงเป็นรูปดังที่เห็นนี้

   ที่จริงแล้วยังมีเด็กตลาดอีกหลายคนยืนอยู่ข้างๆไม่ได้เข้ามาถ่ายรูปด้วย ภาพแบบนี้ยังมีอีกรูปหนึ่ง แต่เวลาของการถ่ายนั้นคงจะห่างกันมาก ดังรูปข้างล่างนี้

   ภาพที่มาเสนอใหม่นี้ สถานที่ถ่ายก็ใกล้เคียงกันกับภาพแรก สังเกตุดูมีต้นไม้ที่ตัดเหลือแต่ตออยู่เหมือนกัน ต้นไม้ต้นนี้จำได้ว่าเป็นต้นสารภี ก่อนหน้านี้นำท่วมตลาดเจ็ดเสมียน นานเป็นเดือนจึงทำให้ต้นสารภีต้นนี้ตายลง และเด็กๆเหล่านี้ ยืนและนั่งกันอยู่บนตันดินกั้นน้ำ ตรงต้นสารภีต้นนั้น

   ภาพนี้ก็ถ่ายโดยครู หิรัญ สุวรรณมัจฉา เหมือนกับภาพแรก สำหรับรายชื่อเด็กตลาดที่ถ่ายรูปนี้ เอาคนที่ยืนจากทางซ้ายมาก็แล้วกัน ซ้ายสุด เดชา ชาญชาติณรงค์, ข้างหลังเดชา ระฆัง สุวรรณมัจฉา,นายแก้ว,ทวี แซ่ชื้อ,สาธร วงษ์วานิช,คนเบ่งกล้ามน่าจะเป็น ศักดา วงศ์ยะรา (ไม่แน่ใจ), ข้างหลังคนเบ่งกล้าม อโนทัย ไทยสวัสดิ์, คนขวาสุด สุรพงษ์ แววทอง (พี่ชายของเด็กชายแอด เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๔ )

  ขอบอกรายชื่อเพียงเท่านี้นะครับ เด็กชายเด็กหญิงเล็กๆที่นั่งอยู่ข้างหน้านั้นบางคนก็รู้ว่าเป็นใคร แต่บางคนก็ไม่แน่ใจ จึงขอให้ท่านผู้ที่เข้ามาชมนึกกันเอาเองว่าใครกันบ้างนะครับ...

 เราเกิดที่เจ็ดเสมียน  เขียนโดย นายแก้ว

 อยากหมุนกาลเวลาให้ย้อนกลับ

มองภาพเก่าครั้งยังเยาว์เราแสนสุข
ไม่มีทุกข์สนุกกันวันยันค่ำ
หลังเลิกเรียนมารวมกลุ่มเป็นประจำ
ที่ริมน้ำหรือสนามหน้าโรงเรียน

ไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบ
ยังเป็นเด็กเรื่องรายรอบเราไม่สน
เด็กเจ็ดเหมียนมีความสุขกันทุกคน
กว่าจะพ้นเป็นผู้เยาว์อีกหลายปี

เมื่อเติบใหญ่แต่ละคนล้วนแตกต่าง
ไปสู่ทางลิขิตมาตามวิถี
มีทั้งทุกข์สุขสมทับทวี
คละเคล้ากันเช่นนี้เป็นทุกคน

อยากหมุนกาลเวลาให้ย้อนกลับ
ขออดีตที่เลยลับกลับมาใหม่
เหมือนเมื่อครั้งยังสุขและเยาว์วัย
ไม่มีทางเป็นไปได้ดังต้องการ

มองภาพเก่าอีกครั้งยังคิดถึง
ในวันซึ่งยังเป็นเด็กสนุกสนาน
ในที่หนึ่งซึ่งรักและเนิ่นนาน
ณที่นั้นคือบ้านเจ็ดเสมียนเอย.

กลอนอยากหมุนเวลาให้ย้อนกลับ  โดย อ.ปลาทอง

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้707
เมื่อวานนี้746
สัปดาห์นี้3068
เดือนนี้9326
ทั้งหมด1328660

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

3
Online