กว่าจะถึงวันนั้น ๓ ( วันเดินทาง )

  เพื่อนเด็กเจ็ดเสมียนรุ่นเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้พบกันอีกครั้งหนึ่งชราภาพกันหมดแล้ว (ขาดอโนทัย ไทยสวัสดิ์ไปคนหนึ่ง) 

    ในเวลานั้นเด็กตลาดเจ็ดเสมียนรุ่นเดียวกับผม แทบจะไม่ได้อยู่ที่บ้านกันเลย  เพราะว่าต่างคนต่างก็ไปสมัครเรียนต่อในที่ต่างๆ เช่นสาธร วงษ์วานิช  (ธร )ไปสมัครเข้าเรียนเป็นทหารเรือ อโนทัย ไทยสวัสดิ์ (โล) ไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

   ส่วนสุรพงษ์ แววทอง (โห้) โอฬาร ลักษิตานนท์ (อู๊ด) สองคนคู่หูกันนี้ ตกลงว่าไม่เรียนต่อ  สุรพงษ์ ไปฝึกงานในโรงกลึง ที่ราชบุรี ส่วนอู๊ดช่วยเตี่ยดูแลร้านค้าไม้ที่สามแยกบ้านเลือก นอกจากนี้ยังมีเพื่อนๆอีกหลายคน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่ไม่ได้ออกชื่อต่างคนต่างก็ขวนขวายหาที่เรียนต่อกันทุกคน ในยามนั้นตลาดเจ็ดเสมียนจึงดูเงียบเหงาไปถนัดใจทีเดียว

  อโณทัย ไทยสวัสดิ์ (โล) บนแท่นเสาธงหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน "สัจจานุกูล"

  ก่อนที่เตี่ยของผมจะพาผมไปจากเจ็ดเสมียนนั้น ผมได้บอกกับคนบางคนเท่านั้น คิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปบอกไปร่ำลากันหมดทุกคนหรอก เพราะคิดว่าไปไม่นานก็คงจะกลับมา หรือไปๆมาๆอยู่เรื่อยๆเหมือนเด็กเจ็ดเสมียนรุ่นพี่ๆบางคนที่ไปเรียนที่กรุงเทพฯอยู่ก่อนแล้ว ผมเห็นพวกเขากลับมาบ้านกันเกือบทุกอาทิตย์ ทุกวันหยุดราชการ เช่นเฮียเต้ว เฮียเบิ้ม เฮียตี๋ ลูกชายกำนันโกวิทที่เป็นผู้สอนให้พวกผมออกกำลังกาย และซ้อมต่อยมวยกันเป็นต้น  ผมคิดว่าผมก็คงเช่นเดียวกัน ผมจึงไม่ได้บอกลาใครต่อใครให้ยุ่งยากวุ่นวาย ผมบอกเพียงเพื่อนที่สนิทกันบางคนเท่านั้น

 

 ร้านนั่งที่หน้าร้านถ่ายรูป (มองไม่เห็นหน้าร้าน) จะมีคนมานั่งคุยกันที่นี่เสมอ คนที่เดินยิ้มมานั้นคือนายจำเนียรเจ้าของร้านถ่ายรูป เป็นพ่อของนายเหม่ง

    ก่อนที่ผมจะไปกรุงเทพฯเพียง ๑ วัน ในตอนค่ำๆผมก็ไปนั่งคุยกับ ไอ้เหม่งที่ร้านหน้าบ้านเหมือนเคย เพราะว่าบ้านอยู่ติดกัน  ผมบอกไอ้เหม่งว่า “ พรุ่งนี้พี่จะไปกรุงเทพฯแล้วนะ เราคงต้องแยกกันชั่วคราวแล้ว ” ไอ้เหม่งก้มหน้าไม่กล้าสบสายตากับผม ผมคิดว่าไอ้เหม่งมันก็คงจะรู้ข่าวว่าผมต้องจากมันไปอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว เพียงแต่ว่ามันรออยู่ว่าเมื่อไรผมจะเอ่ยปากบอกมันด้วยตัวผมเองเท่านั้น
    “แล้วพี่เก้วจะไปแบบไม่กลับมาเลยหรือ”   ไอ้เหม่งถามผมพร้อมกับเงยหน้าขึ้นมามองผม  “ พี่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลยแล้วจะบอกให้รู้ในภายหลัง คราวแรกนี้พี่คิดว่าจะไปสมัครเรียนไว้ก่อนเท่านั้น คงจะไม่อยู่จนถึงวันสอบหรอก โน่นแหละใกล้ถึงวันสอบแล้วค่อยไปใหม่อีกทีหนึ่ง และเมื่อสอบเสร็จแล้วก็จะกลับมาบ้านอีกครั้งหนึ่ง นี่พี่คิดเอาเองนะ จะเป็นอย่างนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ”

    แล้วเราก็คุยกันอีกมาก ไอ้เหม่งถามถึงเรื่องโรงเรียนที่ผมจะไปเรียนต่อด้วยความสนใจ ผมบอกว่าผมยังไม่รู้อะไรเลย ค่ำวันนั้นเราคุยกันนาน คืนสุดท้ายที่ผมจะอยู่ที่เจ็ดเสมียน ก่อนเข้านอนนั้นแม่ของผมได้คุยกับผม แม่บอกว่าแม่เป็นห่วงผมมาก เนื่องจากตั้งนานมาแล้วผมไม่เคยได้ออกไปสู่โลกภายนอกเลย นอกจากครั้งหนึ่งเมื่อตอนเป็นเด็กกว่านี้มากนัก ที่ได้ออกจากเจ็ดเสมียนไป ๑ ปี เต็มๆคือการไปเรียนที่บ้านโป่ง และไปอยู่กับคนที่ไม่ใช่ญาติเลย เป็นเพียงคนรู้จักกันกับเตี่ยเฉยๆเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย

   อีก ๖ ปีต่อมาคือในคราวนี้ จึงจะได้ออกไปสู่โลกภายนอกอีก แม้ว่าผมจะโตกว่าเมื่อครั้งที่แล้วแต่แม่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ แม่บอกว่า " แม่ก็ยังอุ่นใจที่ได้ไปอยู่กับพี่น้องของเราเองจริงๆ คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าแม่รู้จักกับน้าส่งดี ตั้งแต่น้าส่งยังเด็กๆเมื่อครั้งที่อยู่ที่เจ็ดเสมียนด้วยกัน "  ผมบอกแม่ของผมว่า “แม่ไม่ต้องเป็นห่วงฉันมากนักหรอก ฉันไม่เป็นอะไรฉันโตพอที่จะเอาตัวรอดได้แล้ว ขอให้แม่ดูแลน้องๆให้ดีๆก็แล้วกัน มันไปกับเพื่อนไปเล่นที่ไหนกลับมามืดค่ำ ขอให้แม่ดุๆพวกมันบ้าง เตี่ยเขาอุส่าห์หาเงินมาให้เรียน ให้กินให้อยู่กัน ขอให้พวกมันขยันเรียนกันเข้า ให้เป็นไปตามความประสงค์ของเตี่ยเขา ”

   จากนั้นด้วยความเป็นแม่ ที่เป็นห่วงคนเป็นลูก แม่ก็ยังสอนสั่งอะไรอีกหลายๆอย่างเกี่ยวกับการทำตัวให้ดีเมื่อไปอยู่กับคนอื่น  “ เมื่อเราอยู่บ้านกับพ่อแม่นั้น ต้องการอะไร อยากกินอะไร ผู้เป็นแม่ก็จะต้องคอยหาคอยจัดมาให้ จะนอนตื่นสายเท่าไรก็ได้ ถ้าอยู่กับคนอื่นเขาจะไม่คอยมาเอาใจใส่อย่างนี้ อยู่บ้านของเขาพอจะหยิบจะฉวยอะไรได้บ้างก็ช่วยเขานะ ”

   ค่ำมืดมากแล้ว เตี่ยเดินกลับเข้าบ้านมาพอดี หลังจากไปตระเวนคุยกับเพื่อนเก่าๆในเจ็ดเสมียนนี้ เตี่ยมานั่งคุยกับแม่อีกพักใหญ่ๆแล้วก็อาบน้ำเข้านอน คืนนั้นผมนอนไม่ค่อยหลับ กระสับกระส่ายอย่างไรชอบกล มันบอกไม่ถูกว่าเป็นอะไร จะว่ายังเตรียมอะไรไม่พร้อมก็ไม่ใช่ ทุกอย่างเตรียมไว้หมดแล้วตั้งแต่ที่เตี่ยบอกว่าจะพาไปกรุงเทพฯ  ตื่นเต้นที่จะได้ไปกรุงเทพฯหรือ ผมก็ว่าน่าจะไม่ใช่ แม้ว่าผมจะไม่เคยได้ไปอยู่กรุงเทพฯมาก่อนก็ตาม

   กรุงเทพฯเท่าที่จำได้ผมเคยไปมาบ้างแล้วสักครั้งสองครั้ง ในครั้งแรกสุดที่ได้ไปกรุงเทพฯ ผมกับเพื่อนเด็กตลาดเจ็ดเสมียน ขึ้นรถบรรทุก ๖ ล้อที่ใส่ผักกาดเค็มเต็มกะบะหลังรถแล้วเขาก็เอาผ้าใบหนาๆปิดไว้  พวกผมเอาเสื่อมาปูนั่งบนผ้าใบอีกทีหนึ่ง

   รถออกจากตลาดเจ็ดเสมียนตั้งแต่ตี ๔ พวกผมเด็กตลาดเจ็ดเสมียนสองสามคนที่อยากไปด้วย ก็นั่งบนเสื่อหลังรถมองอะไรข้างๆทางไปเรื่อย จนไปถึงที่เขาส่งผักกาดที่เรียกว่าวงเวียนใหญ่ เกือบ ๘ โมงเช้า นั่นครั้งหนึ่ง
   อีกครั้งหนึ่งเท่าที่จำได้ เตี่ยเคยพาผมไปโรงเลื่อยที่เตี่ยทำงานอยู่ เมื่อตอนที่ผมอยู่ ม.๓ และโรงเรียนปิดเทอมใหญ่ ในวันนั้นเมื่อถึงกรุงเทพฯก็บ่ายแล้วไม่มีรถต่อไปชลบุรี จึงต้องค้างที่กรุงเทพฯ ๑ คืนเสียก่อน เช้ามืดจึงไปขึ้นรถไปชลบุรีอีกทีหนึ่ง ในตอนนั้นยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบันนี้ เท่าที่จำได้ก็เห็นจะมีเท่านี้เอง ที่ได้เห็นกรุงเทพฯ นอกจากนั้นจะมีอีกหรือไม่ผมนึกไม่ออก

   แต่ในครั้งนี้ผมนอนไม่ค่อยหลับ มันจะเกิดจากอะไรก็ช่างหัวมัน ต้องเริ่มหัดให้มีความอดทนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปแล้ว

 

 นางสละ สุวรรณมัจฉา แม่ของผมกำลังทำอาหารให้ลูกๆกิน ที่หลังบ้านห้องแถวในตลาดเจ็ดเสมียน

    รุ่งเช้าเตี่ยกับผมพร้อมด้วยน้องๆของผม เดินไปส่งผมกับเตี่ยที่สถานีรถไฟ ส่วนแม่ของผมไม่ได้มาส่ง แม่บอกว่าประดี๋ยวจะไปบนตาผ้าขาวให้ผมสอบใด้ในครั้งนี้ด้วย ผมหันไปดูเห็นว่าแม่เพียงแต่ออกมายืนมองอยู่ที่หน้าบ้าน พร้อมกับอี๊ที่อยู่ข้างๆบ้าน คนที่นี่เขาเห็นใครไปใครมาอยู่เสมอๆจึงเห็นเป็นของธรรมดาไปแล้ว  ผมหิ้วกระเป๋าใส่เสื้อผ้าใบเดียวไม่ใหญ่นัก ใส่เสื้อผ้าไม่มากเท่าที่แม่จัดให้เท่านั้น แม่บอกว่าถ้าหากว่าต้องอยู่ที่บ้านน้าส่งนานจริงๆขาดเหลืออะไรก็ซื้อเอาใหม่ก็แล้วกัน ในครั้งแรกนี้แม่คิดว่าถ้าได้สอบและสอบเสร็จแล้วคงต้องกลับมาบ้านก่อน

   รถไฟเที่ยวเช้ามาถึงสถานีเจ็ดเสมียนโมงเช้ากว่าๆ นายสถานีแต่งตัวใส่เครื่องแบบของการรถไฟสีกากี ถือธงเขียวแดงมารับรถขบวนนี้ที่หน้าสถานี  รถไฟขบวนนี้เองที่พวกเราเด็กเจ็ดเสมียนหลายคนไปเรียนที่โพธาราม ได้อาศัยไปโรงเรียนกันในตอนเช้าๆ  เด็กทุกคนที่ไปเรียนที่โพธารามต่างก็ตีตั๋วเดือนกันทั้งนั้น เพราะว่าตั๋วเหมาเดือนนี้เป็นตั๋วราคาถูก คือ ๗.๕๐ บาท ต่อ ๑ เดือน เมื่อขึ้นรถไฟแล้ว คนตรวจตั๋วที่เรียกว่า “ การ์ดรถ ”  จะมาหนีบตั๋วเดือนไปตามวันที่ที่พิมพ์เป็นตารางอยู่ริมตั๋วนั้นๆ ทุกๆวันที่ขึ้นรถไปจนหมดเดือน แล้วก็ต้องซื้อตั๋วเดือนใหม่ วนเวียนไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะถึงปิดเทอมก็จะหยุดซื้อชั่วคราว

    สถานีรถไฟเจ็ดเสมียนดั้งเดิมเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันทุบทิ้ง (ทำเอาคนเจ็ดเสมียนหลายคนหัวใจสลาย) และได้สร้างใหม่แล้ว

   ที่สถานีรถไฟมีคนยืนรอขึ้นรถในเที่ยวเช้านี้มาก อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่สะดวกที่สุดในการเดินทาง ตำบลเจ็ดเสมียนหรือว่าตลาดเจ็ดเสมียน อยู่ห่างจากถนนหลวง หรือถนนสายที่รถโดยสารวิ่งผ่านประมาณ ๒ กิโลเมตร ที่เรียกกันว่า หัวหนองหรือหนองบางงู ดังนั้นจึงไม่ค่อยจะมีคนไปขึ้นรถยนต์กันที่นั่นมากนัก ส่วนใหญ่จึงมาขึ้นรถไฟกันที่สถานีแห่งนี้
   เมื่อรถเข้ามาเทียบชานชลาสถานีแล้ว ผมกับเตี่ยก็ก้าวขึ้นรถไฟเดินเข้าไปข้างในตู้โดยสาร รถเที่ยวเช้านี้มีผู้โดยสารแน่นคนโดยสารหลายคนที่ขึ้นใหม่จากสถานีเจ็ดเสมียนจึงต้องยืนไปก่อน จนกว่าจะถึงสถานีโพธารามนั่นละก็จะได้นั่ง เพราะว่าจะมีคนลงที่สถานีโพธารามกันมาก

   ที่สถานีโพธารามมีคนขึ้นลงกันมาก จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมีที่นั่ง เพราะว่าเรายืนคุมที่นั่งที่จะมีคนลงที่สถานีนี้ไว้แล้ว จากสถานีโพธารามผมนั่งมองออกไปนอกหน้าต่างมองดูทิวทัศน์ไปตลอดทาง และไม่ค่อยได้คุยกับเตี่ยเลย เพราะว่าเมื่อเตี่ยได้นั่งแล้ว เตี่ยก็เอาหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่านไปตลอดทาง จนกระทั่ง ๕ โมงเช้ารถไฟขบวนนี้จึงเข้าเทียบชานชลาสถานีรถไฟหัวลำโพง..

โปรดรออ่านตอนต่อไปครับ.

  โรดทราบ  เื่องนี้เป็นเรื่องที่เพิ่งเริ่มต้นในการที่ผมไปจากเจ็ดเสมียนตลอดกาล ซึ่งผมผู้เขียน ได้เล่าเรื่องเริ่มตั้งแต่ได้ออกจากเจ็ดเสมียนไป แล้วไม่ได้กลับมาอยู่ที่เจ็ดเสมียนอีกเลยจนกระทั่งปัจจุบันนี้  (ญาติพี่น้องยังอยู่) เป็นเรื่องที่ผมต้องไปผจญชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯด้วยตัวคนเดียว เป็นเรื่องที่ยาวพอสมควร ถ้าท่านที่ชอบเรื่องเก่าๆในแนวนี้ก็คงจะสนุกสนานไปด้วย แต่ถ้าท่านไม่ชอบก็ขอให้ท่านละเลยเรื่องนี้ไปเสีย โดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อิงกับความจริง ชื่อตัวละครในนี้จะมีชื่อจริงและชื่อปลอมบ้างเพื่อความเหมาะสม ขอให้ท่านอ่านด้วยความสนุกนะครับ ..


   นายแก้ว เขียนกว่าจะถึงวันนั้น ๓ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้156
เมื่อวานนี้460
สัปดาห์นี้2006
เดือนนี้11253
ทั้งหมด1341137

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online