บุญมา ทรัพย์สิน ๑ (เด็กวัดใหม่ชำนาญ)

     โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน (สัจจานุกูล) อาคารนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘

    เพื่อนรุ่นเดียวกับผม ที่เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ในชั้นประถมปีที่ ๔ นั้น นอกจากจะมีเด็กตลาดในซึ่งก็คือพวกผมแล้ว ยังมีเด็กที่มาเรียนที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนอื่นๆอีก ที่อยู่ในหมู่ต่างๆของตำบลเจ็ดเสมียนอย่างเช่นที่ตลาดนอกก็มีหลายคน

   ตลาดนอกของเจ็ดเสมียนนี้ ก็คือตลาดแถวเดียวที่ข้ามทางรถไฟไปทางวิกเจ็ดเสมียน (ปัจจุบันนี้เป็นร้านขายผักกาดแม่กิมฮวย) จะมีตลาดตรงกันข้ามกับวิก และมีเพียงแถวเดียวเท่านั้นเรียกว่าตลาดนอก มีเด็กหลายคนที่อยู่ทางตลาดนอกก็มาเรียนชั้นเดียวกัน เท่าที่ในปัจจุบันนี้ยังติดต่อกันอยู่คือ ประยง เกสร (พล.ร.ต. ยศปัจจุบันนี้) รัมภา วงศ์ยะรา ทวี ชื่นณรงค์
   สมัยนั้นโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน เป็นโรงเรียนเด่นโรงเรียนดังมากในด้านการเรียน และในด้านกีฬาของโรงเรียน ดังนั้นนอกจากเด็กตลาดในตลาดนอกที่เรียนพร้อมกับผมแล้ว ก็ยังมีเด็กที่อื่นๆอีกมาเรียนที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนกัน เช่นทางด้านทิศไต้ของตลาดใน ที่เรียกว่าชุมชนบ้าน “พงสวาย” ก็มีมาเรียนด้วยหลายคน ในจำนวนนั้นมีเด็กชายคนหนึ่งชื่อว่า “เด็กชาย บุญมา ทรัพย์สิน” ซึ่งบ้านของเขาอยู่เลยวัดใหม่ชำนาญไปไม่มากนัก

   บุญมาเป็นคนรูปร่างเตี้ยกว่าผมนิดหน่อย ผิวไม่ขาวเพราะไม่ใช่ลูกคนจีน ออกจะคล้ำแต่ไม่มากนัก ผมดำสนิทค่อนข้างหยิกเล็กน้อยตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตั้งตรงเด่เป็นดอกกระทุ่มเหมือนผมบนหัวของผม อายุของบุญมาเท่ากันกับผมคือเกิดปีเดียวกัน 
   บุญมาเป็นคนพูดน้อยขี้เกรงใจคนเป็นนักหนา แต่ถึงจะเป็นคนไม่ค่อยพูดแต่เขาก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ ไม่เย่อหยิ่งไม่ดูถูกคนที่คิดว่าต่ำต้อยกว่า ผมกับบุญมาจึงเป็นเพื่อนกันและสนิทกัน มากกว่าเพื่อนคนอื่นๆที่อยู่ชั้นเดียวกัน มีบ่อยๆเมื่อโรงเรียนเลิกแล้ว บุญมาเคยชวนผมให้เดินเลยไปจากตลาดไปยังที่บ้านเขา เพื่อไปเอาต้นไม้ต้นเล็กๆที่บุญมาชำเอาไว้ ให้ผมเอาไปปลูกที่บ้านของผม

  ในตอนที่ผมเป็นเด็กนั้นผมชอบปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่มีดอกและที่มีใบสวยๆต่างๆ ที่บ้านผมนั้นเป็นห้องแถวจึงไม่มีที่ดินที่จะปลูกต้นไม้ที่มีผลต้นใหญ่ๆ เช่นต้นมะม่วง ต้นฝรั่งได้เลย ถึงกระนั้นผมก็เห็นป้าม่อม (ร้านถ่ายรูปห้อง)ที่บ้านห้องแถวติดกันปลูกต้นทับทิมไว้ต้นสองต้นก็พอได้ ส่วนผมปลูกต้นดอกไม้เล็กๆนั้นได้แต่เอากะละมังหรือถังหิ้วน้ำที่เสียๆแล้วไปวางไว้ที่หลังบ้าน ใกล้ๆกับเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งอยู่ติดกับกำแพงวัดเจ็ดเสมียน เอาดินมาใส่แล้วก็ปลูกต้นไม้ที่มีดอก เช่นต้นหงอนไก่ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย เอาไว้ดูเล่นเท่านั้น

 

ป้าละม่อมร้านถ่ายรูปตลาดเจ็ดเสมียนปลูกทับทิมไว้หลังบ้าน กำลังห่อทับทิมกับลูกชาย


    บ้านของบุญมานั้นเดินไปตามทางที่จะไปวัดใหม่ชำนาญ ผ่านวัดใหม่ไปตามทางเดินริมแม่น้ำไม่นานนักก็จะเห็นบ้าน มีลักษณะเป็นเรือนหลังใหญ่อยู่ริมถนนทางด้านซ้ายมือ นั่นแหละบ้านของบุญมา ทรัพย์สิน เป็นบ้านทรงไทยโบราณหลังใหญ่ค่อนข้างเก่ามากแล้ว มีร่องรอยของการซ่อมแซมและต่อเติมบางส่วนของบ้านด้วย ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงเป็นบ้านเก่าแก่ของปู่ย่าตายายไม่ใช่ เพิ่งจะปลูกใหม่ขึ้นมาในสมัยพ่อแม่ของบุญมา
  ที่หน้าบ้านมีต้นมะขามเปรี้ยวต้นใหญ่ต้นหนึ่งไม่รู้ว่าอายุสักกี่สิบปีแล้ว มีฝักของมันที่แก่จัดแล้วหลุดจากขั้วตกเกลื่อนอยู่รอบๆโคนต้น มองเห็นร่องรอยของลานนวดข้าวที่ใกล้โคนต้น คิดว่าถ้าเป็นหน้าเกี่ยวข้าวก็จะใช้ที่ตรงนี้เป็นลานนวดข้าวโดยการใช้วัวย่ำ

   ผมยกมือไหว้พ่อและแม่ของบุญมาเมื่อเราเดินเข้าไปในรั้วบ้าน พ่อแม่ของบุญมาอายุยังไม่มากนัก เพราะว่าบุญมานั้นเป็นลูกชายคนหัวปี หรือเป็นลูกคนแรกของผัวเมียคู่นี้ อาชีพทางบ้านของบุญมานั้น ทำไร่ ทำนา เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา พูดง่ายๆก็คือเป็นเกษตรกร ที่มีฐานะปานกลาง เหมือนๆกับเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกนี้ แต่ถึงอย่างไรฐานะของบ้านบุญมาก็ยังดีกว่าครอบครัวของผมมากนัก เพราะทางบ้านผมนั้นไม่มีสมบัติอะไร ไม่มีที่สำหรับปลูกบ้านแม้แต่ตารางคืบเดียว
     ที่บ้านหรือห้องแถวที่ครอบครัวของผมอาศัยอยู่นั้น แม้ว่าจะซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว แต่ก็ปลูกอยู่บนที่ดินของวัด พูดง่ายๆว่าเช่าที่ดินวัดเจ็ดเสมียนอยู่ก็แล้วกัน โดยเสียค่าเช่าให้กับทางวัดเจ็ดเสมียนเป็นรายปี ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก พ่อของผมนั้นมีอาชีพเป็นครูก็ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนนี้แหละตั้งแต่หนุ่มๆ พอทำงานเป็นครูนานๆหลายสิบปีเข้า ก็เลยเกิดเบื่อขึ้นมาจึงลาออกแล้วไปทำงานเป็นเสมียน ในที่ต่างๆกินเงินเดือนไปเดือนๆหนึ่ง แม่ของผมก็ไม่ได้ทำงานอะไรอยู่บ้านเลี้ยงลูกเฉยๆเท่านั้นเอง แต่เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรที่ผมกับบุญมาจะคบเป็นเพื่อนกัน

   นางสละ สุวรรณมัจฉา (แม่ของผู้เขียน) ทำหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงลูกอย่างเดียว กำลังทำอาหารให้ลูกกินที่ในครัวหลังบ้าน ห้องแถวตลาดเจ็ดเสมียน

    ( ขออภัย ไม่สามารถจะหาภาพบ้าน และภาพพ่อแม่ของบุญมาได้)

    ในวันนั้นบุญมาพาผมไปดูต้นหงอนไก่ซึ่งได้เพาะเอาไว้ และต้นก็โตพอที่จะแยกเอาไปปลูกได้แล้ว รวมทั้งต้น “ต้นตายใบเป็น” ด้วย ท่านผู้อ่านทุกๆท่านก็คงจะเคยเห็น ที่ใบมันนั้นรอบๆใบเป็นหยักๆ มีต้นเล็กๆของมันเกาะอยู่รอบๆใบ ถ้าเราจะเอาไปปลูกหรือเอาไปขยายพันธ์มันนั้น ก็เอาไปวางไว้กับที่ๆดินที่เราจะปลูก รดน้ำให้ชุ่มไม่กี่วันมันก็จะขึ้นเจริญงอกงามต่อไป มันเป็นต้นไม้ที่ตายยาก
     ในเวลานั้นผมยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน เพิ่งจะมาเห็นที่บ้านบุญมาเป็นครั้งแรกนี่แหละ จึงดีอกดีใจเป็นอันมาก ในวันนั้นบุญมาเอาต้นไม้เล็กๆนี้ให้ผมไปหลายต้น เย็นมากแล้วผมจึงออกจากบ้านบุญมาแล้วเดินกลับบ้านคนเดียวด้วยหัวใจอันเบิกบาน เพราะว่าได้ต้นไม้ทีถูกใจจากบุญมา เป็นต้นไม้ที่อยากได้ไปปลูกมานานแล้ว

    ในระยะหลังๆผมก็ยังไปเที่ยวที่บ้านบุญมาอีกหลายครั้งเมื่อมีโอกาส จนกระทั่งเราเรียนจบชั้น ป. ๔ จากโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนด้วยกันในปี พ.ศ.๒๔๙๗ จากนั้นผมก็ไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๑  ที่โรงเรียนสารสิทธิพิทยาลัย บ้านโป่ง ตามความคิดของพ่อที่คิดว่าจะให้ผมเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด ก็คือที่โรงเรียนสารสิทธิ์ฯนี่เอง  หนึ่งปีเต็มๆที่ผมไปอยู่ที่บ้านโป่งนั้น ผมไม่ได้รู้ข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เจ็ดเสมียนเลย ที่เป็นดังนี้เพราะว่าตลอดระยะเวลานั้น ผมไม่ได้กลับมาที่เจ็ดเสมียนเลย ในตอนนั้นผมยุ่งยากมากกับชีวิตของผมที่บ้านโป่งจึงได้ลืมเลือนบุญมา และเพื่อนคนอื่นๆที่อยู่ที่เจ็ดเสมียนไปเสียหมด

นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา (พ่อของผู้เขียน) เมื่อครั้งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ที่ป้ายสถานีรถไฟโพธาราม
 

     จนกระทั่งหนึ่งปีผ่านไปหลังจากสอบไล่ และโรงเรียนปิดเทอมใหญ่แล้ว ผมเริ่มเบื่อหน่ายที่จะอยู่ที่บ้านซึ่งไม่ใช่ญาติของเราที่บ้านโป่งแล้ว (เรื่องนี้ต้องการทราบละเอียด คลิ๊กที่นี่) ผมบอกพ่อผมว่าไม่อยากเรียนที่บ้านโป่งแล้ว ผมอยากจะกลับไปอยู่ที่เจ็ดเสมียนบ้านของเรา และไปเรียนที่โพธารามเหมือนเด็กคนอื่นๆ ดีกว่าที่จะมาอาศัยเขาอยู่อย่างนี้
   เหตุที่ผมบอกพ่อของผมอย่างนี้ก็เพราะว่า ที่บ้านโป่งนั้นพ่อของผมเอาผมไปฝากไว้กับบ้านเพื่อนของเขา เท่ากับว่าผมต้องไปขอเขาอาศัยอยู่ ไม่ใช่บ้านของเรา จึงมีแต่ความลำบากใจและลำบากกายในความเป็นอยู่มาก อยู่อย่างเดียวดายไม่มีคนคอยช่วยเหลือเพื่อนสนิทสักคนก็ไม่มี ผมยังเป็นเด็กขนาดนั้นเอาตัวรอดกลับมาได้ก็เป็นบุญแล้ว
    พ่อของผมเห็นจริงด้วยจึงได้ย้ายผมกลับมาบ้านดังเดิม แล้วไปฝากผมให้เข้าเรียนที่โรงเรียน “ศรียานนท์วิทยา” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียน “สมศักดิ์วิทยา” ในภายหลัง โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่สามแยกบ้านเลือก ห่างจากตัวตลาดโพธารามประมาณ ๒ กิโลเมตร โรงเรียนนี้เป็นของ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี) นายสมศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักกับพ่อของผมเป็นอย่างดี

     ผมจึงได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียน ศรียานนท์วิทยา (สมศักดิ์วิทยา) ที่สามแยกบ้านเลือก ที่โพธาราม ในชั้นมัธยมปีที่ ๒ ในคราวนั้นพ่อของผมซื้อจักรยานให้ใหม่ เพื่อขี่ไปโรงเรียนแห่งนี้ แต่เหตุการณ์มันไม่ได้เป็นดังที่คิด ในการไปโรงเรียนนั้นผมต้องตื่นแต่เช้ามืด อาบน้ำแต่งตัวแล้วถีบรถจักรยานไปจากเจ็ดเสมียน เรื่อยๆออกไปถึงหัวหนอง (หนองบางงู) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนใหญ่ แล้วถีบผ่าน ดอนทราย  บางลาน  น้ำหัก  บ้านสิงห์  วัดกำแพง วัดบ้านฆ้อง แล้วจึงถึงบ้านเลือก 
    ระยะทางผมว่าน่าจะกว่า ๗ กิโลเมตร ถ้าเป็นธรรมดาเด็กอย่างผมก็ยังพอถีบไหว แต่นี่ในระหว่างทางมีลมแรงมาก เพราะบางตอนก็ผ่านทุ่งกว้าง ลมแรงกระโชกตีกลับต้านตัวผมเอาไว้อีก ผมออกแรงถีบจนหูอื้อรถก็ยังไม่ค่อยจะวิ่งเลย จึงไปถึงโรงเรียนสายแทบทุกวัน ไปถึงโรงเรียนก็เหนื่อยจัดจวนจะเป็นลม เรียนไม่รู้เรื่องและก็ไม่สบายบ่อยๆ

    มีครูคนหนึ่งทราบในภายหลังว่าเป็นเพื่อนกับพ่อของผม มาตั้งแต่สมัยอยู่ที่ตลาดโพธารามด้วยกัน แต่ชื่ออะไรผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว  (ไปค้นดูบันทึกที่พ่อผมเขียนเอาไว้ จึงรู้ว่าครูเพื่อนพ่อของผมคนนั้น ชื่อ ครูงัก) มาคอยดูแลผมอยู่เสมอ คงจะเป็นเพราะว่าพ่อของผมได้ฝากผมเอาไว้กับครูงักนี้ 
   เมื่อครูงักเห็นอาการของผมก็บอกว่า อย่างนี้ไม่ไหวแล้ว จึงแนะนำผมให้ไปบอกพ่อว่าให้ย้ายจากบ้านที่เจ็ดเสมียน ไปอยู่กับครูที่บ้านที่ตลาดโพธาราม ซึ่งจะใกล้โรงเรียนมากกว่าที่บ้านเจ็ดเสมียนจะดีกว่า (ไม่ได้แนะนำให้ย้ายโรงเรียน)

    ผมพยักหน้าเหมือนรับปากจะไปบอกพ่อดังที่ครูแนะนำมานี้ แต่ในใจผมคิดว่าเอาอีกแล้วหัวเด็ดตีนขาดอย่างไร ผมก็จะไม่ยอมไปอยู่ที่บ้านใครอย่างเด็ดขาด เพราะว่าเข็ดแล้วไอ้การที่ไปอาศัยอยู่บ้านคนอื่นนี่ ที่บ้านโป่งก็ทีหนึ่งแล้วผมไม่เอาแน่นอน
     เมื่อพ่อของผมกลับจากโรงเลื่อยที่บ้านโป่ง (ตอนนั้นพ่อเป็นเสมียนอยู่โรงเลื่อยที่บ้านโป่ง) ผมก็เล่าให้พ่อผมฟังถึงเรื่อง ความลำบากในการเดินทางไปโรงเรียนของผม  ผมบอกพ่อผมว่า

    “ทำไมไม่ให้ผมไปโรงเรียนเหมือนเด็กเจ็ดเสมียนคนอื่นๆบ้าง อย่างเด็กเจ็ดเสมียนหลายคนที่เรียนอยู่ในรุ่นหลังของผม หรือรุ่นเดียวกับผมก็ไปโรงเรียนที่โพธาราม เขาไปรถไฟกันสะดวกสบายไม่เปลืองค่ารถด้วย ค่าตั๋วซึ่งซื้อเป็นเดือนเพียงเดือนละ ๗.๕๐ บาทเท่านั้นเอง “
     พ่อผมพยักหน้าเป็นอันว่าเข้าใจและเขาคงคิดได้ว่า ได้คิดผิดกับผมถึงสองครั้งแล้วในเรื่องเกี่ยวกับการเรียนหนังสือของผมนี้ ปล่อยให้ผมไปลำบากแทบเอาตัวไม่รอด

   พ่อของผมจึงบอกว่า
      “เอาอย่างนี้ก็แล้วกันในวันพรุ่งนี้เราไปลาออกจากโรงเรียน “ศรียานนท์” กันเสียก่อนไม่รู้ว่าเขาจะว่าอย่างไร เพราะว่าเป็นการลาออกกลางเทอม ถ้าเขายินยอมแล้ว พ่อจะไปฝากกับหลวงพ่อ ประหยัด ที่โรงเรียนมัธยมวัดสนามชัยเรียนไปก่อน แกคงจะรับให้เข้าเรียนต่อชั้น มัธยมปีที่ ๒ เลย ถ้าจะไปโรงเรียนราษฎร์ ของครูวงค์ คำเนียม ที่โพธารามแล้ว เขาคงจะให้เรียนซ้ำที่ ม. ๑ อีก เสียเวลาเปล่าๆ เอาไว้พอผ่าน ม. ๒ เสียก่อนแล้วจึงไปเข้าโรงเรียน โพธาราม(โพธาวัฒนาเสนีย์) ซึ่งเป็นโรงเรียนของหลวง หรือ โรงเรียนราษฎร์ที่โพธารามก็แล้วกัน “

   ได้แค่นี้ผมก็ดีใจมากแล้วคิดว่าถึงอยู่ที่โรงเรียน วัดสนามชัย ก็ยังดีเพราะอยู่ใกล้ๆบ้าน และอีกอย่างเพื่อนหลายคนก็เรียนที่โรงเรียนนี้อยู่แล้ว ผมจึงตอบตกลงว่าก็เอาตามนี้ก็แล้วกัน
    เมื่อลาออกจากโรงเรียนศรียานนท์ได้แล้ว ในวันต่อมาพ่อของผมจึงได้ไปหาหลวงพ่อประหยัดเจ้าอาวาสวัด สนามชัย ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน มัธยมวัดสนามชัยด้วย เมื่อท่านเห็นผมท่านก็ทักว่า

   ” ไงไม่ได้เห็นเสียนานโตขึ้นเยอะนี่ มาเรียนอยู่ที่โรงเรียนอาจารย์ดีกว่า อยู่ใกล้บ้านดีไปกลับสะดวกเด็กตลาดหลายคนก็เรียนอยู่ที่นี่  ไอ้โลซก มันก็เรียนอยู่ที่นี่ “ พระอาจารย์ประหยัดพูดยิ้มๆ (โลซกคือนายอโณทัย ไทยสวัสดิ์ ชื่อเล่นมันชื่อ โล  โลซกที่พระประหยัดว่านี้ เป็นชื่อตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องสามก๊ก

    อโนทัย ไทยสวัสดิ์ (โล) ในภายหลังประสบความสำเร็จในชีวิต รับราชการได้เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในกรมทางหลวง

   มีครูที่โรงเรียนวัดสนามชัยคนหนึ่งซึ่งเป็นพระรูปร่างอ้วนๆ ชื่ออะไรผมลืมไปแล้วชอบเรียกไอ้โลว่า "โลซก แล้วต่อสร้อยให้มันว่า ลักส้มเจ๊ก ตั้งแต่เล็ก ไปให้แม่มันกิน"

    นี่ผมเล่าเรื่องจริงๆนะครับ ถ้าท่านบังเอิญเจอไอ้โลที่ไหนละก้ออย่าบอกมันเชียวนะว่า ผมมาเล่าเรื่องนี้ท่านฟัง

   ในตอนนี้ผมก็ได้เรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๒ ที่โรงเรียนวัดสนามชัยนี้เอง ที่ผมเล่ามาอย่างยืดยาวนั้น ก็เพื่อจะมาเชื่อมเรื่องของผมกับบุญมาตรงนี้แหละครับ.

 

นายแก้ว ผู้เขียน  บุญมา ทรัพย์สิน ตอนที่ ๑

                           โปรดรออ่านตอนต่อไป ที่นี่ที่เดียว

 
      www.chetsamian.org ขอสงวนลิขสิทธิ์ ข้อมูลและรูปภาพบนเว็บไซต์ทั้งหมด โดยไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ ทำซ้ำ แก้ไข หรือ ดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นบางส่วน หรือทั้งหมด หากท่านใดต้องการข้อมูลบนเว็บไซต์ www.chetsamian.org กรุณาติดต่อ นายแก้ว โดยส่ง email มาที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เพื่อขออนุญาตเสียก่อน เนื่องจากข้อมูล และรูปภาพบางเรื่องและบางชิ้น เป็นของท่านผู้เขียน และท่านสมาชิก ที่ได้เขียนเรื่องต่างๆ และให้ขอยืมภาพต่างๆ มาลงไว้ ซึ่งทางผู้จัดทำเว็บไซต์ จำเป็นจะต้องขออนุญาต จากทางเจ้าของผลงานก่อนทุกครั้ง จึงเรียนมาเพื่อทราบ.

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้84
เมื่อวานนี้317
สัปดาห์นี้1230
เดือนนี้7397
ทั้งหมด1337281

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online