ตลาดเจ็ดเสมียนในวันเทศกาลตรุษจีน

ตลาดเจ็ดเสมียนตั้งแต่ในอดีตมีเพียง ๒ แถวหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางภาพนั้นคือท่าน้ำของตลาดเจ็ดเสมียน    

   สมัยเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ห้องแถวในตลาดเจ็ดเสมียนทั้ง 2 แถวที่ตั้งอยู่ใกล้โบสถ์วัดเจ็ดเสมียนและอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองนั้น รวมกันแล้วมีเพียงไม่กี่ห้องก็จริงอยู่ แต่ก็มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่ มีประชาชนหลายเชื้อชาติรวมกันอยู่ในตลาดแห่งนี้ ที่มากที่สุดจะเป็นคนเชื้อสายจีน ที่มาตั้งรกรากที่นี่ตั้งแต่โบราณ

   เช่นเดียวกับครอบครัวผมซึ่งก็คือครอบครัวของ นายหิรัญนางสละ สุวรรณมัจฉา ซึ่งย้ายมาจากตลาดโพธาราม (ตรงสถานที่ตั้งโรงเรียนเจี้ยไช้ในปัจจุบัน) มารับราชการเป็นครูอยู่ที่ตำบลเจ็ดเสมียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๕  ก็มีเชื้อสายมาจากคนจีน ก๋ง (ปู่ )ของผมก็เป็นคนจีน ย่าก็เป็นคนจีนทั้งคู่นี้เป็นลูกของคนจีนที่มาจากเมืองจีนแท้ๆเลยทีเดียว

    นอกจากครอบครัวของผมแล้ว ของเพื่อนๆของผมหลายคนที่อยู่ในตลาดเจ็ดเสมียนก็มีเชื้อสายจีน เช่น สาธร วงษ์วานิช โอฬาร ลักษิตานนท์ (อู๊ด)  สุรพงษ์ แววทอง (โห้)  อโณทัย ไทยสวัสดิ์ (โล) ทวี แซ่ซื้อ ( วี)

  เด็กตลาดเจ็ดเสมียนรุ่นเดียวกับผู้เขียน (ขาดนายโล) มารวมตัวกันเมื่อวันที่ ๕ - เม.ย. - ๒๕๕๒ รำลึกถึงความหลัง เมื่อครั้งเป็นเด็กๆอยู่ที่ตลาด นายสุรพงษ์ แววทอง (ริมขวาสุด) ได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๔ นอกจากนั้นยังอยู่ครบ (แต่ก็ใกล้แล้ว) 

  สาวเจ็ดเสมียนเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ก็มีเชื้อสายมาจากคนจีนแทบทุกคน ริมซ้ายสุดเจ๊ สอาด เพ่งผล เป็นญาติสนิทกับผู้เขียน (เป็นลูกของลุง)

  พ่อแม่ของแต่ละคนพูดภาษาจีน (แต้จิ๋ว) เป็นกันทั้งนั้น ส่วนครอบครัวอื่นๆที่อยู่ที่ห้องแถวตลาดนี้ มีเชื้อชาติอย่างอื่นบ้างก็มีเหมือนกัน เช่นครอบครัวของไอ้เหม่ง (คะนอง คุ้มประวัติ) เพื่อนรุ่นน้องของผมนั้น

   ย้ายจากตำบลบางโตนดมาอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ก็น่าจะมีเชื้อสายมาจากมอญแต่เป็นปลายๆค่อนข้างจะมาเป็นคนไทยแล้ว เช่นเดียวกับคนทางวัดคงคา วัดขนอน ทางริมแม่น้ำแม่กลอง ที่โพธารามนั้นเป็นชุมชนของชาวมอญแหล่งใหญ่

  เหม่ง (คะนอง คุ้มประวัติ) อุ้มน้องชายคนเล็ก ที่หลังบ้านห้องแถวตลาดเจ็ดเสมียน ซึ่งติดกับกำแพงโบสถ์วัดเจ็ดเสมียน

  ในชุมชนหมู่ต่างๆรอบๆตลาด ของตำบลเจ็ดเสมียนก็เช่นเดียวกัน บางบ้านก็มีเชื้อสายมาจากจีนบ้างไทยแท้บ้างมอญบ้าง และมีเชื้อสายลาวก็มี แต่สรุปแล้วจะมีคนจีนเสียมากกว่าอย่างอื่น ดังนั้นในชุมชนแห่งนี้เมื่อมีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ ในรอบปีหนึ่งๆจึงต้องมีประเพณีของจีนหลายๆอย่างเกิดขึ้น

  ประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวจีนนั้นคือการไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ของจีน  เทศกาลตรุษจีนนั้นถ้านับเป็นเดือนธรรมดาแบบสากลของไทยเรา ตรุษจีนก็มักจะตรงกับเดือนมกราคมหรือบางปีก็จะตรงกับเดือน กุมภาพันธ์
 

   ในตลาดเจ็ดเสมียนหรือบริเวณรอบๆนั้น พอใกล้ๆจะถึงวันตรุษจีน ก็จะมีการเตรียมต้อนรับเทศกาลตรุษจีน เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือน กวาดขยะหยักไย่และสิ่งสกปรก ที่มีอยู่ทั่วไปภายในบ้านออกเสียให้เกลี้ยง ซักเสื้อผ้าหมอนมุ้งและผ้าห่ม ล้างขัดถูหม้อข้าวหม้อแกงให้สะอาดเหมือนใหม่

   ซึ่งถือเป็นการขับไล่สิ่งที่สกปรกออกจากบ้าน เพื่อให้บ้านมีโฉมหน้าใหม่ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมซื้อของกินของใช้มากมาย เช่น ขนมเข่งขนมเทียน หมู เห็ด เป็ดไก่ และผลไม้นานาชนิด เพื่อเตรียมไว้ไหว้เจ้าในตอนเช้า หรือต้อนรับแขกในช่วงเทศกาลตรุษจีน

  คนที่มีเชื้อสายจีนในตลาดเจ็ดเสมียน ช่วยกันประกอบอาหารในเทศกาลตรุษจีน

  เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน พวกผมซึ่งเป็นเด็กๆ ก็ตื่นเต้นไปกับเทศกาลนี้ด้วย เพราะว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือ เทศกาลนี้ที่เด็กๆตั้งหน้าตั้งตารอคอย คือ "อั้งเปา" หมายถึงซองแดง  โดยผู้ใหญ่จะนำเงินใส่ในซองแดง แล้วมอบให้กับลูกหลานที่อยู่ในวัยเด็ก วัยรุ่น อย่างพวกผม (ลูกหลานใครลูกหลานมันนะ ไม่ได้แจกทั่วไปหมด)

  ตั้งแต่เช้ามืดของวันไหว้คือวันตรุษจีน ผมและน้องๆที่กำลังนอนหลับสบาย ในอากาศเย็นๆของเดือนมกราคมต้องสะดุ้งตกใจตื่น เพราะว่าได้ยินเสียงประทัด ดังมาจากทางตลาดฝั่งตรงกันข้ามสนั่นหวั่นไหว  เสียงประทัดยังดังขึ้นอีกหลายๆที่ในตลาดเจ็ดเสมียนนี้

  คนจุดประทัดจะผูกดอกประทัดไว้ตามต้นไม้ข้างๆบ้านห้อยลงมา แล้วเริ่มจุดทีละสายเสียงประทัดทำให้เด็กๆได้ยิน ต่างพากันวิ่งมายืนดูเมื่อสงบเสียงลงไปแล้วต่างก็วิ่งกรูกันเข้าไปแย่งดอกประทัดที่ยังไม่ระเบิด เป็นที่สนุกสนานยิ่งนักในเทศกาลตรุษจีน

   ทั้งๆที่อากาศในปลายเดือนมกราคม ยังหนาวเย็นอยู่เช่นนี้ ผมและน้องๆก็ต้องพยายามรีบตื่น เพื่อให้ทันไปดูเขาจุดประทัดกัน จุดแรกที่ผมวิ่งไปดูก็ที่ข้างห้องกำนันโกวิทซึ่งเป็นห้องแรกในตลาดแถวเก่า

  ประทัดที่ถูกจุดกำลังแตกดังสนั่นหวั่นไหว แสงไฟแลบออกมาจากดอกประทัดดูสวยงามยิ่งนัก เพื่อนผมที่เป็นเด็กตลาดรวมทั้งเด็กรุ่นน้อง หลายคนยืนดูอยู่ก่อนแล้ว และยังมีบางคนกำลังวิ่งตามมาอีกเป็นพรวน

   และอีกสักพักหนึ่งยังไม่ทันจะเช้าดี เสียงประทัดก็ดังขึ้นจากที่โน่นที่นี่  ที่หลังตลาดตรงบ้านตาซุ่นซิ้มหมาเขาก็จุดประทัดตับใหญ่ พวกลูกๆของเขาผูกประทัดเรียงกันห้อยลงมาเกือบถึงพื้นดินยาวเกือบ 2 เมตร คิดเป็นจำนวนประทัดแล้วน่าจะกว่าพันดอก

   นั่นหมายความว่าพิธีการไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ ของแต่ละบ้านในตอนเช้าเสร็จแล้วเขาจึงได้จุดประทัดกัน

   ประเพณีการจุดประทัดในอดีตนั้นมีความหมายว่า เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ให้ออกจากบ้านไป และเพื่อรับแต่สิ่งดีๆทั้งหลายให้เข้ามาแทนที่ ตลอดปีใหม่นี้จะได้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ทำมาค้าคล่องไม่ฝืดเคืองดียิ่งๆขึ้นไปกว่าปีที่แล้วๆมา  นั่นเป็นความเชื่อมาแต่ครั้งโบราณ นะครับ ผมเชื่อว่าจะดีหรือไม่ดีทั้งหลายแหล่นั้น มันอยู่ตัวเราเองต่างหาก

  ในเทศกาลตรุษจีนที่เจ็ดเสมียนนั้น ก็ไม่มีการจัดงานอะไร การไหว้เจ้าไม่ว่าจะจัดกันอย่างเล็กๆหรือจัดกันอย่างใหญ่โตโอฬารเท่าไร ก็จัดกันที่บ้านใครบ้านมัน เสร็จแล้วก็จะฉลองกันอยู่เงียบๆภายในบ้านไม่มีบ้านอื่นๆมายุ่งด้วย นอกจากลูกๆหลานๆและญาติพี่น้องเท่านั้น

   บางบ้านจะอึกทึกครึกโครมอยู่บ้าง ก็คือการจุดประทัดนั่นเอง แต่ประทัดนั้นก็ไม่ได้จุดกันมากมายกันไปทุกบ้านหรอกนะครับ เช่นที่บ้านผมก็ไม่ได้จุดประทัด เตี่ยกับแม่ไหว้เสร็จแล้วก็เพียงแต่เผากระดาษเงินกระดาษทองควันตระหลบอบอวล ส่งไปให้บรรพบุรุษเท่านั้น คงเป็นเพราะว่าที่บ้านไม่ค่อยมีสตางค์ จึงไม่ได้ซื้อประทัดมาจุด และเตี่ยกับแม่คิดว่าไม่จำเป็นเท่าไรกระมัง

  ที่ทำการกำนัน ต.เจ็ดเสมียน ซึ่งเป็นห้องแรกของตลาดแถวเก่า กำนันโกวิท วงศ์ยะราซึ่งเป็นเจ้าของได้ย้ายไปอยู่บ้านที่ปลูกใหม่ ห้องแถวนี้จึงได้ขายให้กับนายตึ๊งไป ลูกหลานของนายตึ๊งได้อยู่ที่นี่จนปัจจุบันนี้ ภาพนี้นายตึ๊งพร้อมด้วยครอบครัวถ่ายที่บ้านเก่าตรงข้ามกับโรงสีไฟเจ็ดเสมียน เด็กประถมที่ยืนด้านขวาคือนาย สมบูรณ์ สุรพลพินิจ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผู้เขียน.

 
  เรื่องเทศกาลตรุษจีนและการจุดประทัดนี้ ผมมีข้อความมาเล่าให้ท่านเป็นความรู้สักหน่อยหนึ่งนะครับ แต่ท่านที่รู้แล้วก็แล้วไปนะครับ

   “ในคืนส่งท้ายปีเก่า (ก่อนวันไหว้ ในตอนกลางคืน) มีประเพณีอย่างหนึ่งเรียกว่า  ”โส่วซุ่ย”  คืออยู่โต้รุ่งเพื่อต้อนรับวันปีใหม่ เมื่อก่อนนี้ก่อนปีใหม่ จะมาถึงผู้คนจะจุดประทัดเพื่อต้อนรับปีใหม่ ประเพณีการจุดประทัดในอดีต ก็เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้าย สิ่งอัปมงคลที่อยู่ภายในบ้านให้ออกไป

   และพร้อมกับรับแต่สิ่งดีๆเข้ามา แต่เนื่องจากการจุดประทัดนั้น ทำให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมและไม่ปลอดภัย เป็นอันตรายแก่ร่างกายดังนั้น ในเขตตัวเมืองของเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่นปักกิ่งเป็นต้นจึงห้ามจุดประทัด  (แต่เมืองอื่นๆของประเทศจีน อีกหลายร้อยหัวเมือง จะห้ามเหมือนกันหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ)

  พอถึงวันชิวอิก  (หลังจากวันไหว้ ๑ วัน) ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้เฒ่าผู้แก่มักจะใส่เสื้อผ้าใหม่ๆ (พยายามหามาให้ได้) เพื่อต้อนรับญาติพี่น้องที่จากกันไป แล้วก็กลับมาเยี่ยมในเทศกาลนี้ หรืออาจจะมีแขกคนที่รู้จักรักใคร่นับถือมาหาบ้าง

  หรือว่าไปเยี่ยมญาติและเพื่อนๆที่อื่นๆ และเวลาที่ได้พบหน้ากันมักจะทักทายด้วยคำว่า“สวัสดีปีใหม่” หรือ “สวัสดีตรุษจีน” แล้วจะเชิญเข้าบ้านกินขนมจิบน้ำชาไปคุยกันไปด้วย ถ้าระหว่างญาติพี่น้องที่เคยระหองระแหง เคยเกิดการทะเลาะกัน หรือมีความไม่พอใจกันในรอบปีเก่า ก็จะให้อภัยและคืนดีกัน (ถ้าเป็นได้อย่างนี้ก็ดีซีนะ) หลังจากการไปมาเยี่ยมเยือนกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน “  และที่สำคัญช่วงเทศกาลตรุษจีนต้องไม่โกรธ ไม่ริษยา หรือไม่พอใจเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต

 เตี่ยของผู้เขียนนั่งอยู่ที่ทางรถไฟตรงหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

   ในเช้าวันนั้นเตี่ยและแม่ของผม ได้ทำพิธีไหว้เจ้าและบรรพบุรุษเหมือนๆเพื่อนบ้านทั้งหลายเหมือนกัน เท่าที่ผมจำได้นะครับที่หุ่ยเตี๊ยะ (พื้นปูนซิเมนต์) กลางบ้านนั้น แม่ของผมปูเสื่อแล้ววางอาหารและขนมต่างๆหลายอย่าง

  เช่น ถ้วยข้าวสวย ผัดหมี่ซั่ว แกงจืดหนังหมู ไก่ต้ม ไข่ต้ม ปลาทอด หมูสามชั้นต้มชิ้นใหญ่ๆ 2 ชิ้น แล้วก็มีผัดผักจืดๆ พร้อมด้วยขนม เช่นซาลาเปาห่อด้วยกระดาษแดง ขนมเข่ง และขนมเทียนอย่างละจาน  ผลไม้เช่นส้ม กล้วยหอม กาน้ำชา ถ้วยน้ำชาที่รินน้ำชาใส่เอาไว้แล้ว และอะไรอีกผมจำได้ไม่หมดหรอกครับ อ้อแล้วที่สำคัญก็มีเหล้าโรงรินใส่ถ้วยเล็กๆด้วย แล้วก็มีเทียนเล่มโต ๒ เล่ม จุดเอาไว้ปักในที่ปักเทียน แก้วใส่ทรายไว้สำหรับปักธูป เวลาไหว้แล้ว

   พวกอาหารและของต่างๆเหล่านี้ ผมเห็นเมื่อก่อนวันไหว้คือวันจ่าย แม่ผมไปจ่ายมาจากตลาดโพธาราม ลงจากรถไฟ หิ้วของพะรุงพะรัง เมื่อตอนบ่ายๆของวันจ่ายนั้นเอง

   การไหว้เจ้าและบรรพบุรุษนั้น แต่ละบ้านคงจะอธิฐานขอเอาคล้ายๆกัน ว่าให้เทพเจ้า เจ้าที่เจ้าทาง และบรรพบุรุษทั้งหลายจงมารับ สิ่งของที่จัดไว้ให้นี้ และขอให้ท่านจงอวยพรให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข จะนึกสิ่งใดก็ขอให้สมความปรารถนา

  และก็คงจะขออะไรๆในสิ่งที่ดีๆทั้งนั้นจนเสร็จแล้วก็ให้พวกผม จุดธูปไหว้ปะหลกๆและอธิฐานอะไรต่างๆเช่นกัน (พิธีการไหว้เจ้าในวันตรุษจีน หรือเทศกาลอื่นๆในปัจจุบันนี้ ที่บ้านผมก็ยังปฏิบัติอยู่ แต่ลูกสะไภ้ของผมเป็นคนจัดการทั้งหมด เพราะตระกูลเขานั้นมีเชื้อสายจีนเช่นกัน)

   เมื่อเสร็จจากการไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษแล้ว ในวันนี้คนจีนถือว่ายังไม่ใช่เป็นวันเที่ยว วันเที่ยวนั้นต้องเป็นวันถัดไปจากวันนี้อีกหนึ่งวัน สำหรับวันนี้ไหว้เสร็จแล้ว ก็ต้องปล่อยของเซ่นไหว้ไว้อีกสักพักใหญ่ๆ  จึงได้ทำพิธีลาของเซ่นไหว้ โดยเก็บของเซ่นไหว้เหล่านั้นออกมาให้หมด

  ถ้าเป็นไก่ต้มยังเป็นตัวๆอยู่ก็สับให้เป็นชิ้นๆ เนื้อขาวน่ากิน หมูสามชั้นต้มชิ้นใหญ่ สองชิ้นนั้นก็หั่นให้เป็นชิ้นๆ พอที่จะใช้ตะเกียบคีบเอาไปจิ้มน้ำจิ้มได้ ชิ้นจึงไม่ใหญ่มากนัก (แม่ผมนั้นทำน้ำจิ้มจิ้มไก่ต้มหมูต้มหั่นเป็นชิ้นๆแล้ว ได้อร่อยจริงๆทีเดียวสำหรับผมนะครับ พูดแล้วน้ำลายไหล)
   พวกผลไม้และขนมเทียนขนมเข่ง ถ้ามีมากก็จะแบ่งๆใส่ถุงเอาไปแจกเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ทำพิธีไหว้ อาจเป็นเชื้อสายไทยแท้ หรือเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้ไหว้ในตรุษจีนนี้ ผมเคยเอาขนมเหล่านี้ใส่ถุงเอาไปให้ ไอ้เหม่ง (คะนอง คุ้มประวัติ) เพื่อนรุ่นน้องของผมด้วยเหมือนกัน

   ตกตอนเย็นๆของวันไหว้บ้านที่มีลูกหลาน ญาติพี่น้องมาเยี่ยมและยังไม่กลับ ก็จะจัดโต๊ะเลี้ยงฉลองปีใหม่ของจีนกันเอิกเกริกทั้งบ้านใหญ่และบ้านเล็ก (เรื่องกินนี่คนไทยชอบและไม่อั้น) มีสุราอาหารหมูเห็ดเป็ดไก่พร้อมสมบูรณ์ทีเดียว พร้อมทั้งมีการแจกซองแดงที่เรียกว่า อั้งเปา ให้กับลูกๆหลานๆด้วย สร้างความดีอกดีใจและความสัมพันธ์ ให้แก่ครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

   พอวันรุ่งขึ้นชาวจีน (มักจะมีคนไทยผสมโรงด้วยทุกเทศกาลของผู้อื่น) ก็จะถือว่าเป็นวันเที่ยว เป็นวันหยุดพักผ่อนหลัง จากที่ได้ทำงานกันมาทั้งปี ใครมีเงินมากๆก็จะไปเที่ยวพักผ่อนในที่ไกลๆบางคนไปถึงต่างประเทศทางยุโรป อเมริกา

 เมื่อตรุษจีนปีที่แล้ว (๒๕๕๔) ผู้เขียนไปเที่ยวในเทศกาลนี้ ใกล้ๆบ้านนี่เองคือที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและอุทยานมังกรสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี.

    ที่ไปพักผ่อนกันอย่างขนาดหนัก แต่ตัวเบาก็มีได้ยินกันอยู่บ่อยๆ หอบเงินไปพักผ่อนกันที่บ่อนการพนันมาเก๊าฮ่องกง ผลลัพท์ก็คือหมดตูดเสียหายไปหลายล้าน ตัวเลยเบากลับมา

   บางคนก็ออกไปเยี่ยมญาติใกล้ๆ (เจียมตัวเพราะว่ามีเงินน้อย) บางคนก็จะไปปิดทอง ตามวัดต่างๆในละแวกนั้น ซึ่งวัดแต่ละวัดนั้นมักจะจัดงานประจำปี ยิ่งใหญ่สุดๆมีการจ้างวงดนตรีชื่อดัง จากกรุงเทพฯมาปิดวิกเก็บเงินในระยะตรุษจีนในปีนั้นๆพอดี เป็นการหาเงินเข้าวัดได้มากมายจากเทศกาลตรุษจีนนี้

   สำหรับที่เจ็ดเสมียนและที่หมู่บ้านใกล้เคียงกันนั้น ในตอนกลางวันตั้งแต่วันไหว้เจ้า และต่อๆไปอีกหลายวัน จะมีเทศกาลอีกอย่างหนึ่งควบคู่กันไปด้วย ก็คือจะเป็นเทศกาลของการเล่นการพนันกัน ชาวบ้านคงจะคิดว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ ผมกับเพื่อนๆที่อยู่ในตลาดอีกหลายคน  เคยถีบจักรยานไปเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อดูเขาเล่นการพนันกันในหลายๆที่

  ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน ในหมู่บ้านต่างๆยกตัวอย่างเช่นที่ บ้านใน ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในเขตุหมู่ ๒ ของตำบลเจ็ดเสมียน ที่นี่เป็นแหล่งที่เล่นการพนันแหล่งใหญ่มาช้านานแล้วโดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีน แหล่งที่ใหญ่ที่สุดในชุมชนบ้านในคือ ที่ลานบ้านยายบิน ตาแล่มนั่นเอง

  วันนั้นพวกผมถีบจักรยานเข้าไปเที่ยว พอเข้าเขตุบ้านยายบินเท่านั้นก็ได้ยินเสียงจอแจของบรรดาลูกค้ามาก่อน พอโผล่เข้าไปในลานบ้านเท่านั้นเห็นมีการเล่นพนันนับสิบวง แต่ละวงเป็นการเล่นกันเป็นอย่างๆไป เช่นมีวงไฮโล น้ำเต้าปูปลา กำถั่ว ลูกค้าก็ก้มหน้าก้มตาแทงกัน
อย่างขมักขเม้น  ผมพร้อมกับพรรคพวกสังเกตการณ์อยู่ไม่นาน เพราะว่าไม่ได้ลงเล่นกับเขาด้วย จึงพากันถีบจักรยานไปดูในที่อื่นๆบ้าง 

  แถววัดตึกก็ไม่ใช่ย่อยปูเสื่อเล่นกันในคลองมะขามเลย มีคนเล่นการพนันกันมาก โดยเฉพาะวงน้ำเต้าปูปลานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆมารุมเล่นกัน มีเสียงหัวเราะกันดังลั่นด้วยความดีใจที่แทงถูกจะได้เงิน ไม่แพ้ที่ลานบ้านยายบินชุมชนบ้านในเจ็ดเสมียน

  แถวๆตำบลคลองข่อยที่เป็นบ้านเดิมของนายสาธร วงษ์วานิชก็ไม่เบา ที่ชุมชนวังลึกใกล้วัดใหม่ก็ตั้งวงกันด้วย แม้แต่ที่วัดท่ามะขามก็มีเล่นการพนันกัน ผมและพรรคพวกเคยถีบรถจักรยานไปดูกันถึงนั่นมาแล้ว

   ที่ชุมชนวัดท่ามะขามนี้ผมนึกอยากเสี่ยงดวง คิดว่าถ้ามันกินก็กินไป ผมเอาแบ๊งค์บาทที่เป็นอั้งเปาของผมแทงที่วงไฮโล ผมแทงเต็ง ๑ ตัวเดียวโดดๆ ปรากฎว่ารอบนั้นออก ๑ , ๒ และ ๕ ผมดีใจจนตัวสั่น เจ้ามือต้องจ่ายให้ผมรวมทั้งต้นทุนของผม ๑ บาท รวมเป็น ๕ บาทครับ

  ผมขยับจะแทงอีก เพื่อนๆที่มาด้วยกันจำได้ว่าชื่อนายทวี แซ่ชื้อ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่นณรงค์ ) บอกว่าได้เท่านี้ก็ดีแล้ว ถ้ามึงขืนแทงไปอีกทุนหายกำไรหด หมดตูดแน่ๆไปดูที่อื่นๆต่อกันเถอะ ผมเชื่อเขาและก็ได้เงินใช้ฟรีๆตั้ง ๔ บาท วันนั้นผมและเพื่อนๆขี่จักรยานกันไปไกลถึงวัดมณีโชติที่อยู่เลยตลาดคลองข่อยไปเกือบถึงโพธาราม

   ยังมีอีกหลายๆที่ในตำบลเจ็ดเสมียน และต่างตำบลที่ห่างไกลออกไป การพนันเฉพาะกิจในเทศกาลตรุษจีนนี้ ไม่ใช่ว่าเขาจะเล่นกันบนวัดหรือบนบ้าน ถ้าเล่นกันที่ไหนเขาก็จะหาสถานที่ตามพุ่มไม้ที่มิดชิดหน่อย มีต้นไม้ใหญ่ที่มีร่มเงาแล้วก็ปูเสื่อหรือผ้าเล่นกัน 
    พวกเด็กๆที่ไม่ได้เล่นกับเขาอย่างเช่นพวกผม จะมุงดูกันเป็นกลุ่มใหญ่ อาจจะมีใครบ้างที่ชอบเสี่ยงโชคกันแบบสนุกๆเหมือนกัน ไปแทงไฮโลว์กันคนละบาทสองบาท ถ้าไม่โลภมากก็อาจจะได้บ้างเช่นผมเป็นต้นนะครับ

  ภาพเด็กเจ็ดเสมียนรุ่นหลังผู้เขียนถ่ายกันที่หน้าร้านตัดผม ราชาบาร์เบอร์ ลูกสาวของร้านตัดผมคือ คุณป้อม (ล้วงกระเป๋าซ้ายสุด) คนอื่นๆก็พอรู้จักครับ

   นอกจากไฮโลว์แล้วการเล่นพนัน ที่มีคนอุดหนุนมากที่สุดก็คือ น้ำเต้า ปูปลา ผมเคยลองแล้วจะแทงไม่ค่อยถูกหรอก คนที่เป็นเจ้ามือเขาเก่งขนาดว่าเขาตั้งลูกสมมุติว่า เป็นปลาหมดทั้งสามลูกให้เห็นๆ แล้วค่อยๆเอาฝาชีเล็กๆครอบลงไปช้าๆ แล้วร่อนถาดเบาๆ เราคิดว่าออกตัวนั้นแน่ๆเลยจึงแทงกันไปที่ตัวนั้น พอเปิดมาจริงๆมันไม่ใช่ ลูกค้าอย่างผมก็เลยโดนกินกันเรียบ

   สรุปแล้วในเทศกาลตรุษจีนนี้ผู้ที่ไม่ได้ไปไหน ก็มาพักผ่อนหย่อนใจในวงไฮโล น้ำเต้าปูปลา ถ้าจะให้ลุ้นกันมันมากหน่อยก็พวกกำถั่ว ที่ออกคู่หรือคี่สนุกเพลิดเพลินดี

   ผู้คนที่เขามามุงดูและเล่นบ้างเล็กน้อยนี้ ก็สนุกๆไปเท่านั้นเพราะว่าเป็นเทศกาล ปีหนึ่งเขาก็จะมีแบบนี้ทีหนึ่ง ผมสังเกตดูว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองประจำหมู่บ้าน มาคอยจับพวกเล่นการพนันเหล่านี้เลย คงจะปล่อยเป็นพิเศษเฉพาะเทศกาลเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

  นอกจากการเล่นการพนันอย่างนี้ที่มีทั่วไปแล้ว ในเทศกาลวันตรุษจีนที่เจ็ดเสมียนนั้นก็ไม่มีอะไรอีก นอกจากจะเลี้ยงฉลองกันภายในครอบครัวเท่านั้น

  บางบ้านที่มีลูกหลานไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ หรือที่ไกลๆก็มักจะกลับมารวมตัวกันที่บ้านเตี่ยบ้านแม่ หรือบ้านดั้งเดิมที่เคยอยู่เพื่อถือโอกาสมาเยี่ยมพ่อแม่เยี่ยมญาติในวันตรุษจีนนี้ เมื่ออยูได้สักวันสองวันก็กลับ

  เจ๊กวย (ไช้โป๊หวานแม่ตังกวย) เมื่อครั้งยังสาวกับญาติและเพื่อนๆที่ตลาดเจ็ดเสมียน

  ผมเคยเห็นที่บ้านตระกูลใหญ่ๆเช่น ตาซุ่นซิ้มหมาที่มีบ้านใหญ่โตอยู่หลังตลาดเจ็ดเสมียน หรือบ้านตาอู๋เตี่ยเฮียแก่เล็ก บ้านตาเจี่ยเตี่ยเฮียเล็ก ไทยเจริญ บ้านเฮียง้วนเจ๊กวยเหล่านี้ จะมีญาติพี่น้องแล้วก็ลูกหลาน ที่ไปอยู่ที่อื่นกลับมาเยี่ยมกันมากมาย

  บางคนที่มีลูกมีหลาน แล้วก็พากันกลับมาเยี่ยมอากงอาม่าด้วย ดูๆแล้วก็ดีเป็นความสุขของคนสูงอายุที่อยู่ทางบ้าน ผมเคยเห็นนายเซียและนายคุณ ลูกตาซุ่นซิ้มหมา ที่ทำงานอยู่บริษัทซิงเกอร์ (ขายจักรเย็บผ้า) ที่กรุงเทพ พากันมาเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านตลาดเจ็ดเสมียนในเทศกาลตรุษจีนโดย นัดกับเพื่อนๆที่ทำงานด้วยกัน อีกประมาณเกือบ 20 คน

   ขี่รถมอร์เตอร์ไซค์ แลมแบร๊ตต้า เป็นแบบสกู๊ตเตอร์ มาที่เจ็ดเสมียนเป็นแถว แล้วมาจอดเรียกกันเป็นตับไว้ที่ หน้าบ้านตาเอี๋ยเตี่ยนายโลเป็นกลุ่มใหญ่ เด็กๆอย่างพวกผมตื่นเต้นกันมาก เพราะว่าไม่เคยเห็นรถแบบนี้ และมากขนาดนี้มาก่อนเลยจริงๆ..!

นายแก้ว  ผู้เขียน ตลาดเจ็ดเสมียนในวันเทศกาลตรุษจีน

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้577
เมื่อวานนี้485
สัปดาห์นี้2551
เดือนนี้8718
ทั้งหมด1338602

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online