ท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียน

 

ท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียนอยู่ตรงด้านขวาของภาพ

       สวัสดีครับท่านที่นับถือ ผม นายขำ เป็นคนเก่าที่อยู่ที่หมู่ ๓ ในตลาดเจ็ดเสมียนนี้มานานคนหนึ่ง ผมได้เคยเห็นรูปหลายรูป ที่เด็กๆตลาดเจ็ดเสมียนในสมัยนั้น เดินเล่นกันอยู่ที่หาดทรายตรงข้ามกับตลาดเจ็ดเสมียนมาหลายครั้งแล้ว

       มาเมื่อวานนี้บังเอิญผมได้เห็นรูปๆหนึ่ง ที่เป็นรูปที่ถ่ายจากฝั่งตรงกันข้ามกับท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียน ภาพนี้ค่อนข้างจะเห็นตลิ่งที่ฝั่งของตลาดชัดพอสมควร จึงทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ในสมัยนั้นที่เห็นในรูปนี้ ผมจึงจะขออธิบายภาพนี้ อย่างคร่าวๆเท่าที่จะนึกได้

ภาพที่นายจำเนียรถ่ายไว้ก่อน พ.ศ. ๒๕๑๐ เด็กตลาดเจ็ดเสมียนมาเดินเล่นที่หาดทรายฝั่งตรงกันข้ามกับท่าตลาด
 
        ในอันดับแรกในวันเวลาที่ถ่ายรูปนี้นั้น ผู้ที่ถ่ายคือ นายจำเนียร คุ้มประวัติ ไม่ได้บันทึกวันเดือนปีที่ถ่ายไว้ด้วย จึงไม่ทราบปีที่ถ่ายที่แน่นอน ถ้าจะให้เดาเอาก็คิดว่าคงจะถ่ายไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ หรือย้อนหลังไปประมาณ ๔๐ ปี หรือาจจะมากกว่านี้นิดหน่อย

นายจำเนียร คุ้มประวัติ เจ้าของร้านถ่ายรูปจำเนียรศิลป์ ตลาดเจ้ดเสมียน พร้อมด้วยลูกชายหญิง 

       บันไดลงน้ำของท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียน มองดูในรูปจะเห็นเป็น ๒ บันได ทางซ้ายนั้นเป็นบันไดไม้ซึ่งสร้างมานานแล้ว และขณะนั้นก็มีการชำรุดพอสมควร แต่ก็ยังพอใช้การได้อยู่ บางวันในตอนเย็นๆยังเคยเห็นเด็กหนุ่มที่เป็นเด็กตลาดตลาดรุ่นที่โตแล้ว มานั่งที่บันไดไม้นี้ครั้งละหลายคน (รุ่นเล็กจะไปเล่นน้ำกันที่ท่าใหญ่)

       เพื่อรอให้พวกสาวๆในตลาดอาบน้ำกันเสร็จเสียก่อน (บางครั้งก็อาบพร้อมกัน) แล้วจึงได้ลงอาบน้ำกัน ในตอนนั้นที่ตลาดเจ็ดเสมียน ยังไม่มีน้ำประปาใช้ การอาบน้ำ การใช้น้ำทุกสิ่งทุกอย่างยังต้องอาศัยน้ำในแม่น้ำ เช่นการอาบน้ำของผู้คนของตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ฝ่ายหญิงจะนุ่งผ้าถุงกระโจมอก มีผ้าขนหนูพันห่มด้านบนมาด้วย ในมือก็ถือ กล่องสบู่

       ถ้ามีอะไรจะชำระล้างก็ถือมาด้วยเลย ส่วนฝ่ายชายก็มักจะนุ่งผ้าขะม้าตัวเดียว บางคนก็มีผ้าเช็ดตัวมาด้วย บางคนก็ไม่มี นุ่งผ้าขะม้าตัวเดียวโดดๆ ในมือถือกล่องใส่สบู่ หรือบางทีก็ไม่มีเลย

      ตอนที่อาบน้ำนั้นก็หยิบยืมเพื่อนๆ ที่มาอาบพร้อมกันเอาไปถูตัวเฉยๆ ตอนหยิบไปถูตัวก็บอกว่าขอยืมหน่อยนะ แต่ไม่ได้บอกว่าจะมาใช้ตอนไหน

       สำหรับบันไดปูนนี้ได้สร้างขึ้นมา ทีหลังบันไดไม้เป็นเวลานาน ในตอนนั้นกำนันตำบลเจ็ดเสมียนได้ประชุมลูกบ้าน แล้วลงมติให้สร้างบันไดขึ้นมาใหม่ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือบันไดปูนซึ่งเขาคิด่ว่ามันจะได้แข็งแรงหน่อย บันไดสองอันนี้ชาวตลาดเจ็ดเสมียนก็ใช้กันเรื่อยมา สะดวกสบายดี

 

 ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายถัดมาจากภาพแรกข้างบนนั้น เห็นท่าตลาด เห็นบรรไดท่าตลาดมีสองแถว อยู่ริมบนทางขวามือของภาพ ถัดมาก็เป็นร้านป้าฮุ้นริมน้ำ บริเวณหลังบ้านป้าฮุ้น ที่มีเรือจอดอยู่ลำหนึ่งนั้น นั่นคือท่าใหญ่ ริมท่าใหญ่ทางด้านขวามือคือต้นจามจุรี ที่ อาจารย์ กรรณิกา ศิลปวิลาวรรณ บอกว่าเคยขึ้นต้นจามจุรีนี้กระโดดลงมาเล่นน้ำกันที่ท่าใหญนี้ และถัดมาคือโรงน้ำปลาของคุณปรีชา คุณแอ๊วครับ

       ที่ท่าน้ำนั้นเราจะเห็นมีเรือจอดอยู่ และจอดอยู่ที่ตลิ่งชายน้ำเรื่อยไปทางท่าวัดอีก สองสามลำ เรือแบบนี้เป็นเรือเร่ขายสินค้าที่เป็นเรือแบบพ่อค้าเรือเร่ ขายสินค้าตามตำบลหมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำ ที่ติดตลาดนัดเป็นประจำ จะเห็นได้ว่าเรือแบบนี้เป็นเรือที่มีหลังคา (ประทุน) ปิดกันแดดกันฝนมิดชิด เพราะว่าเขาจะต้องกินนอนในเรือเป็นเวลานานๆ

        วันที่ถ่ายรูปนี้ไม่ใช่เป็นวันที่มีตลาดนัด จึงได้เห็นเรือมาจอดที่ในรูปเพียงเท่านี้ ถ้าเป็นวันที่มีตลาดนัดแล้ว จะมีเรือมาจอดตั้งแต่ท่าตลาดเจ็ดเสมียน เรื่อยไปจนถึงท่าวัดเต็มไปหมด

       สำหรับที่ท่าน้ำนี้ (ท่าตลาด) เขาจะทำเป็นโป๊ะใหญ่พอสมควร (สมัยนั้นไม่มีใครเรียกโป๊ะ แต่จะเรียกว่าแพ) เอาไว้ให้พวกที่จะมารอเรือจ้างข้ามฟาก และเอาไว้วางสิ่งของต่างๆ วางหม้อ ถ้วยชาม ที่จะเอามาล้างที่นี่     

        ในตอนกลางวันที่ยังไม่มีใครมาใช้ท่าน้ำนี้เท่าไร พวกเด็กๆจะมาดำผุดดำว่าย กันอยู่ตรงโป๊ะนี้ เพื่องมสิ่งของต่างๆที่หล่นจมน้ำ ส่วนใหญ่พวกเด็กเหล่านั้นก็จะได้ พวกช้อน และถ้วยชามเท่านั้น ไม่ค่อยมีสิ่งของมีค่าอะไร อย่างมากก็ได้เหรียญสิบสตางค์ เหรียญสลึง และเหรียญ ๕๐ สตางค์ ที่ผู้ที่อาบน้ำหล่นลงไป

       มองไปบนตลิ่งประมาณกลางๆรูปนี้ จะเห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งต้นไม้นั้นคือต้นโพธิ์ อายุของต้นโพธิ์ต้นนี้คิดว่าน่าจะมากกว่าต้นโพธิ์ ที่เหลือที่ริมน้ำในปัจจุบันนี้หรืออาจจะเป็นต้นโพธิ์ที่อยู่ในยุคเดียวกันก็ได้  (ต้นปัจจุบันอยู่ด้านบนขวามือของรูป เหนือบันไดปูนขึ้นไป)

       สังเกตดูให้ดีๆที่บนตลิ่งจากต้นโพธิ์ ถึงท่าน้ำ ซึ่งมีต้นสารภีไม่ค่อยมีใบอยู่ต้นหนึ่ง จะมองเห็นเป็นเพิงเล็กๆตลอดแนวนั้น ตรงนั้นคนเจ็ดเสมียนเรียกกันว่า ร้านนัด เขาปลูกไว้เพื่อให้พ่อค้าเรือเร่ที่มาค้าขายที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ได้ขนสินค้าขึ้นมาพักไว้ และเป็นที่พักผ่อนไปในตัว บางครั้งผู้เขียนเคยเห็นชาวเรือเอามุ้งขึ้นมากางนอน ที่ร้านนัดนี้ในหน้าร้อนด้วย

บนตลิ่งจะเห็นต้นสารภีต้นหนึ่ง อยู่ตรงที่เรือจอดนั่นแหละครับ

        แต่เท่าที่สังเกตดูถ้าเป็นหน้าหนาว จะไม่ค่อยมีใครขึ้นมากางมุ้งนอน ที่ร้านนัดนี้เพราะในหน้าหนาว ลมจะแรงมาก และอากาศที่ริมแม่น้ำแม่กลองก็เย็นจับใจดีจริงๆ คงนอนในเรือกันหมด

       ถัดจากต้นโพธิ์ไปหน่อยที่เห็นเป็นหลังคาเล็กๆนั้น  มันเป็นศาลาเล็กๆริมน้ำ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าวคอนกรีต แบบโบราณ เอาไว้นั่งเล่น นั่งคุยกันของคนเจ็ดเสมียน แต่เท่าที่เห็นก็ไม่ค่อยมีใครไปนั่งเล่นกันที่นี่ ส่วนใหญ่คนเจ็ดเสมียนมักจะไปเดินเล่น และพักผ่อนกันที่สนามญ้าหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนเสียมากกว่า

       โบสถ์วัดเจ็ดเสมียนนั้นในภาพนี้มองไม่เห็น เพราะว่าต้นโพธิ์ต้นใหญ่นั้นบังอยู่ กำแพงโบสถ์จะอยู่ติดๆกับด้านหลังของห้องแถว ในตอนนั้นตาผ้าขาวท่านก็จะอยู่ตรงข้างกำแพงด้านทิศตะวันออก

      เมื่อทางวัดสร้างโบสถ์ใหม่ จำได้ว่าน่าจะเป็น พ.ศ. ๒๕๑๕ พอเสร็จแล้วปี พ.ศ.๒๕๑๖ จึงได้จัดงานฝังลูกนิมิตฉลองโบสถ์กัน แต่จะเป็นเดือนอะไรผมก็จำไม่ได้ เขาจึงได้สร้างศาลให้ตาผ้าขาวให้ใหม่ โดยย้ายไปอยู่ในกำแพงรั้วของวัดหลังสถานีรถไฟ สถานที่ใหม่ของตาผ้าขาว สร้างเป็นศาลอย่างดีมีนายเกีย กุลบุปผาเป็นผู้ดูแลศาลตาผ้าขาวใหม่นี้เป็นคนแรก ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแลอยู่

       กลับมาดูที่ภาพนี้อีกครั้งหนึ่ง จะเห็นด้านข้างของห้องแถวห้องแรก เป็นของ นายโหงว ซึ่งประกอบอาชีพช่างตีมีด เรื่องตีมีดนั้นนายโหงวเป็นคนมีฝีมือยิ่งนัก ซึ่งใครๆก็รู้จักกันดี

       ที่จริงแล้วตรงข้างๆบ้านนายโหงว ก็มีต้นโพธิ์ใหญ่อีกต้นหนึ่ง เมื่อตอนที่ยังไม่ได้โค่นลงนั้น กิ่งก้านสาขาเกือบคลุมหลังคาบ้านนายโหงว ในปัจจุบันนี้ต้นโพธิ์ใหญ่ทั้งหลายโดนโค่นเสียหมดแล้ว คงเหลือเพียงต้นเดียวที่เขาเรียกว่า ต้นโพธิ์ ๑๐๐๐ ปี  (ผมว่าเวอร์เกินไป)  ที่อยู่ข้างศาลาเอนกประสงค์นั่นแหละครับ แล้วต่อมาศาลาหลังเล็กริมน้ำ พร้อมทั้งร้านนัดโดนรื้อไปเสียตั้งแต่เมื่อใดตอนนี้ไม่ทราบจริงๆ

       ในภาพนี้สังเกตให้ดีตรงศาลาหลังเล็กนั้น ก็จะมีบันไดลงไปที่น้ำเหมือนกัน แต่บันไดนี้ใช้ได้ไม่นานก็ถูกรื้อไป ผมเคยไปกระโดดน้ำเล่น ที่ตรงศาลาหลังเล็กนั้น ในวันฝนตกหนัก ผมกระโดดลงน้ำพร้อมกับเรือไม้ ที่ขุดเองลำเล็กๆสำหรับลากเล่นในวันฝนตก พอตัวผมกระทบกับพื้นน้ำ เรือไม้ที่จับแนบไว้กับอกนั้น กระดอนตามน้ำขึ้นมาตะปูที่ตอกไว้สำหรับผูกเชือกที่หัวเรือ ก็ทิ่มพรวดเข้าที่คาง เลือดไหลอาบ ได้แผลเป็นทางยาวไต้คางเป็นแผลเป็นจนทุกวันนี้ ไม่ทิ่มคางผมทะลุถึงตายก็บุญแล้ว

   ทางด้านข้างบนซ้ายมือของภาพนั้น จะเห็นศาลาของวัดเจ็ดเสมียนถัดมาทางขวาจะเป็นที่ว่างๆมีต้นมะพร้าวขึ้นเต็ม มีคนจูงวัวมาเลี้ยงมาหาหญ้ากินที่ตรงนี้บ่อยๆ ตอนนั้นทางวัดยังไม่ได้ก่อสร้างอะไรเพิ่มเติม มองตามภาพนี้แล้วจะเห็นว่า ศาลากับโบสถ์นั้นห่างกันมาก ในเวลาต่อมาทางวัดได้จัดการสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่ และขยายเขตุกำแพงของโบสถ์ให้กว้างขึ้น จึงได้มองเห็นว่าโบสถ์และศาลาใกล้กันดังปัจจุบันนี้

        ก่อนจะจบนี้ขอลงรูปอื่นๆที่ตรงศาลานี้อีกครั้งหนึ่ง และรูปที่เกี่ยวข้องบางรูป ให้มองเห็นพื้นที่ ตรงที่มีต้นมะพร้าวขึ้นเยอะๆให้ดูกันชัดๆ เป็นตอนที่กำลังสร้างศาลาอยู่พอดี และภาพเกี่ยวกับแม่น้ำของเราในสมัยก่อนๆนั้นด้วย ท่านผู้อ่านจะได้เห็นภาพที่ชัดขึ้น

เด็กเจ็ดเสมียนนี้กำลังนั่งพักผ่อนกันอยู่ที่ บริเวณที่มีต้นมะพร้าว ที่เรามองเห็นในรูปแรกนั้นจะเห็นคนเลี้ยงวัวอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ศาลาวัดจะอยู่ห่างจากกำแพงโบสถ์เห็นได้อย่างชัดเจน

 ตรงที่เด็กๆนั่งที่ภาพข้างบนนั้น เปรียบเทียบกับภาพปัจจุบันนี้ ก็คงจะนั่งกันในบริเวณนี้แหละครับจะเห็นว่ากำแพงของโบสถ์นั้น ขยายออกไปเกือบติดศาลา  และต้นมะพร้าวหายไปหมด    

        ในเรื่องที่ผมได้บรรยายมานี้ ผมก็ว่าไปตามที่เห็นในรูป และผมก็ได้เคยเห็นสถานที่จริงๆในสมัยนั้นด้วย (เพราะว่าเกิดทัน) แต่ถ้ามีอะไรผิดพลาดไปบ้างก็ขออภัยด้วย และขอความกรุณาออกความเห็นมาด้วยจะขอบคุณยิ่ง สำหรับในปัจจุบันนี้จะมีอะไรเพิ่มเติมในพื้นที่ตรงนี้บ้าง ผมก็จะไม่ขอเล่านะครับ ขอให้ไปเที่ยวดูกันเอาเองก็แล้วกัน เจ็ดเสมียนยังยินดีต้อนรับทุกท่านอยู่ครับ

       ในท้ายนี้ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ผมได้รับอนุญาตให้มาเล่าเรื่องต่างๆจากภาพบางภาพ ที่เคยลงในนี้มาแล้วแต่ก็ยังบรรยายไม่ละเอียดนัก  ผมจึงจะขอยกมาบรรยายภาพนั้นๆอีกทีหนึ่งในรายการนี้เป็นบางครั้งไป

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่านครับผม

 สวัสดีครับ


นายขำ สมถะ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้341
เมื่อวานนี้317
สัปดาห์นี้1487
เดือนนี้7654
ทั้งหมด1337538

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online