คำนำของผู้จัดทำ
นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา บิดาของผู้เขียนครูใหญ่โรงเรียน "วัดเจ็ดเสมียน สัจจานุกูล"
ก่อนอื่นขอบอกว่าผู้เขียนไม่ได้มีอาชีพเป็นนักเขียน ที่ผู้เขียนได้เขียนเรื่องต่างๆขึ้นมา ซึ่งท่านจะได้อ่านต่อๆไปนั้น เป็นแรงบันดาลใจเกิดจากบิดาของผู้เขียนคือ นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา
โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน "สัจจานุกูล" ที่นายหิรัญ สุวรรณมัจฉาเป็นครูอยู่ที่นี่นานเกือบ ๒๐ ปี
ซึ่งมีอาชีพเป็นครูโรงเรียนประชาบาล ที่ตำบลเจ็ดเสมียนนี้เอง และเป็นคนที่รักการขียนการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆตัวในทุกๆวันที่ผ่านมา
ในสมัยของท่านนั้นท่านก็นำมาบันทึกไว้เกือบทุกๆวัน ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๕๒๕ หรือกว่านั้น แรงบันดาลใจอันนี้จึงทำให้ผู้เขียนนำมาเป็นตัวอย่างมาเขียนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเจ็ดเสมียนในสมัยของผู้เขียนบ้าง
เหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับตำบลเจ็ดเสมียน หรือตลาดเจ็ดเสมียนในอดีตนี้ แตกต่างจากของนายหิรัญตรงที่ว่า ผู้เขียนไม่ได้บันทึกเอาไว้เหมือนของท่าน แต่เขียนขึ้นมาจากความทรงจำในอดีต ที่ได้เคยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็กๆ
เพราะเหตุว่าผู้เขียนเกิดที่นี่ ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ดังนั้นจึงได้รู้ได้เห็นเรื่องราวต่างๆด้วยตัวเองไม่ได้บันทึกไว้ หรือไปค้นหาหลักฐานหรือข้อมูลมาจากไหน จึงอาจจะมีการผิดพลาดคลาดเคลื่อนและบกพร่องไปบ้าง ดังนั้นเรื่องราวที่ผู้เขียนๆขึ้นมานี้จึงไม่อาจจะนำไปอ้างอิง เพื่อเป็นหลักฐานใดๆเป็นทางการได้
ส่วนหนึ่งของสมุดมบันทึกของนายหิรัญ สุวรรณมัจฉา
ตัวอย่างลายมือของนายหิรัญ ในต้นฉบับที่บันทึกไว้จะเป็นตัวเขียนตั้งแต่ต้น จนเลิกบันทึกเมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๓๐
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนที่เกิดที่เจ็ดเสมียนคนหนึ่ง ที่เติบโตเป็นเด็กที่วิ่งเล่นอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน เป็นเวลานานจนกระทั่งถึงวัยรุ่นและจนกระทั่ง ถึงวันที่ต้องจากเจ็ดเสมียนไปเรียนหนังสือ ไปประกอบอาชีพที่อื่น
ในปัจจุบันนี้ผู้เขียนได้ข่าวว่าเจ็ดเสมียนกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีผู้คนมากมายจากทุกสารทิศมาสนใจตลาดเจ็ดเสมียนแห่งนี้ ทำให้ตลาดเจ็ดเสมียนพลิกฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยรุ่งเรือง แล้วก็ซบเซาไปในตอนหลัง
ผู้เขียนดีใจเป็นที่สุดที่เจ็ดเสมียนของเราได้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จะตลอดไปหรือจะเป็นเวลานานอีกแค่ไหน ก็ยินดีด้วยทั้งนั้น ใครจะมาเป็นผู้มาปลุกให้เจ็ดเสมียนตื่นขึ้นมาอีก และจะปลุกขึ้นมาด้วยวิธีไหนนั้น เราก็จะไม่เอ่ยถึงในเรื่องนี้เลย เพราะว่าไม่เกี่ยวกัน และจะไม่มีการชักชวนให้คนเข้ามาเที่ยวที่เจ็ดเสมียนทางเวบไซค์นี้ด้วย
ด้วยเหตุผลที่ว่าที่เจ็ดเสมียนนี้มองดูแล้ว ยังไม่มีอะไรดีที่พิเศษที่จะอวดให้นักท่องเที่ยวทั้งหลายเข้ามาเที่ยวได้ ผู้เขียนจึงไม่ชักชวนด้วยเหตุนี้ แต่จะเขียนถึงเรื่องราวในอดีตของตำบล และตลาดเจ็ดเสมียนอย่างเดียวเท่านั้น
ท่านผู้นี้คือ คุณอารีย์ สุวรรณมัจฉา ปัจจุบันเป็นข้าราชการระดับสูง จนถึงขั้นได้รับพระราชทานสายสะพายมาแล้ว เป็นคนเจ็ดเสมียนตั้งแต่เกิด ท่านก็คือเด็กหญิงตัวเล็กๆที่วิ่งเล่นอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้เอง อยากทราบเรื่องของท่านโดยละเอียดต้องติดตามครับ
ขอย้ำว่าผู้เขียนจะคุยถึงเรื่องเก่าๆ ในสมัยที่ยังเป็นเด็กๆที่ได้วิ่งเล่น อยู่ที่เจ็ดเสมียนแห่งนี้ และบางตอนอาจจะกล่าวเลยขึ้นไปถึงสมัยรุ่นพ่อแม่ของผู้เขียนอีกทีว่า มีความเป็นมาอย่างไร ในตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ชื่อผู้คนและสถานที่ๆผู้เขียนกล่าวถึงนี้ มีความเกี่ยวข้องและ มีอยู่ในตำบลเจ็ดเสมียนนี้ในอดีตจริงๆครับ
เด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งของตลาดเจ็ดเสมียน กำลังรอเรือจ้างมารับข้ามฟาก เพื่อไปเดินเล่นที่หาดทรายฝั่งตรงกันข้ามเมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว จะมองเห็นหาดทรายขาวสอาดทางด้านซ้ายมือของภาพ ในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว
ในตอนนี้ก่อนที่จะเริ่มเรื่องและเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ของตำบลเจ็ดเสมียนและเรื่องราวต่างๆ ของคนที่เคยอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน ผู้เขียนต้องขออนุญาตบอกกล่าว น้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือทั้งหลาย ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ล่วงลับไปแล้วก่อนว่า
"ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผู้เขียนจะเสนอต่อไปนี้ บกพร่องผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย"
ความประสงค์จริงๆนั้น ผู้เขียนอยากถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของผู้คนและตลาดเจ็ดเสมียนแห่งนี้ในอดีตที่ผ่านมา ให้ผู้คนในสมัยนี้ได้รู้เรื่องราวความเป็นมาของเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยนั้นในมุมมองและความทรงจำของผู้เขียนคนเดียว อาจจะมีหลักฐานหรือเอกสารที่จะเอามาอ้างอิงบ้าง ก็ได้มาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนั้นยังมีภาพเก่าๆที่เพื่อนๆและพี่ๆ ส่งมาให้เพื่อจะได้เอามาลงประกอบเรื่องราวเก่าๆของชาวเจ็ดเสมียนนี้ และให้ผู้ที่ไม่เคยได้เห็นมาได้เห็นสภาพและบุคคลต่างๆที่เป็นคนเก่าแก่ของเจ็ดเสมียนด้วย
ซึ่งก็ขอขอบคุณท่านเหล่านี้มา ณ ที่นี้ด้วย และเพื่อเป็นหลักฐานในเรื่องที่ได้เขียนขึ้นมานี้ว่า เป็นเรื่องจริงๆที่เกิดขึ้นในเจ็ดเสมียนในอดีตนั้นจริงๆ
แต่ถ้าหากว่าผู้เขียนจะมีการกล่าวขึ้นมาแล้วไม่ถูกต้อง หรือผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยต่อท่านผู้รู้ และผู้อ่าน ที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันกับผู้เขียนในสมัยนั้น ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
เด็กเจ็ดเสมียนไม่ใส่เสื้อรูปนี้มีเพียงคนเดียว ถ้าติดตามไปเรื่อยๆบางทีจะมีโอกาสเห็นทั้งฝูงเลย คอยติดตามดูต่อไปก็แล้วกัน
อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องเกี่ยวกับเจ็ดเสมียนนั้น ขอให้ท่านผู้อ่านคิดเอาว่าเป็นเรื่องของชุมชนแห่งหนึ่งที่ห่างไกลความเจริญ และเป็นเรื่องของเด็กๆ ในเรื่องนี้จะมีคำเรียกชื่อของเด็กเจ็ดเสมียนบ่อยๆด้วย ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนหยาบคาย ก็คือเรื่องการเรียกชื่อเด็กๆแห่งเจ็ดเสมียนในเรื่องราวของผมนั้น ผมจำเป็นๆอย่างยิ่งที่จะต้องเรียกที่มีคำว่า "ไอ้"ขึ้นหน้าชื่อของเขา
เช่น คุณสาธร วงษ์วานิช พลเรือตรีประยงค์ เกษร คุณโอฬาร ลักษิตานนท์ คุณสุรพงษ์ แววทอง คุณอโณทัย ไทยสวัสดิ์ และอีกหลายๆคนที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผู้เขียน ซึ่งผมก็เรียกเขาว่า ไอ้ธร ไอ้ยงค์ ไอ้อู๊ด ไอ้โห้ ติดปากกันมาจนทุกวันนี้
จะเรียกกันว่าคุณสาธร หรือท่านประยงค์ และท่านอื่นๆ ผู้เขียนลองเขียนขึ้นมาแล้วมาอ่านดูก็เห็นว่ามันไม่เหมาะกับเรื่องราวเก่าๆของชาวเจ็ดเสมียนเลยครับ มันจืดๆอย่างไรชอบกล ดังนั้นเราจึงขอเรียกอย่างนี้ในเรื่องของเจ็ดเสมียนให้เป็นเสมือนของแท้จริงๆ
ในเรื่องนี้ท่านผู้อ่านก็อย่าคิดอะไรมากเลยครับ ลองไปเที่ยวที่ตลาดเจ็ดเสมียนในสมัยเก่าๆ (โดยอ่านได้จากเรื่องนี้ ) ตลาดเก่าแห่งความทรงจำของพวกผม ไปกับผมเดี๋ยวนี้เลย เชิญครับ ...
แถวยืน พล.ร.ต. ประยงค์ เกษร รน. ยืนติดกับ ร.ท.สาธร วงษ์วานิช รน., สมบูรณ์ สุรพลพินิจ, พ.อ. สุชาติ สุขพันธ์, พ.ต.ท.วีระ กองบัว, ทวี ชาญชาติณรงค์
ส่วนแถวนั่ง บุญฤทธ์ วงษ์วานิช, เสื้อสีชมพูมีลาย นายแก้ว, โอฬาร ลักษิตานนท์, สุรพงษ์ แววทอง (เสื้อยืดลาย) เพื่อนๆของผมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่จะมีชื่อปรากฏในเรื่องเก่าๆของชาวเจ็ดเสมียน ของผู้เขียนเป็นบางตอน
ภาพจากที่คนเจ็ดเสมียนนัดพบกันเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒
ตลาดเจ็ดเสมียนในปัจจุบันนี้ ก็มีเพียงสองแถวนี้เท่านั้น แต่มีเรื่องราวมากมายเล่ากันไม่จบสิ้น
นายแก้ว เด็กเจ็ดเสมียนในอดีตผู้จัดทำ
ติดต่อกับผู้เขียนโดยตรงได้ที่ อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
www.chetsamian.org ขอสงวนลิขสิทธิ์ข้อมูลและรูปภาพบนเว็บไซต์ทั้งหมด โดยไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ ทำซ้ำ แก้ไข หรือ ดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด หากท่านใดต้องการข้อมูลบนเว็บไซต์ www.chetsamian.org กรุณาติดต่อ นายแก้ว โดยส่ง email ไปที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เพื่อขออนุญาติเสียก่อน เนื่องจากข้อมูลและรูปภาพบางเรื่องและบางชิ้น เป็นของท่านผู้เขียนและท่านสมาชิกที่ได้เขียนเรื่องต่างๆ และให้ขอยืมภาพต่างๆมาลงไว้ ซึ่งทางผู้จัดทำเว็บไซต์จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากทางเจ้าของผลงานก่อนทุกครั้ง จึงเรียนมาเพื่อทราบ.