รำโทน

            ภาพจาก  www.chaiwbi.com/

นายแก้วเกริ่นนำ

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่น่าสนใจ น่าอ่าน น่าศึกษามาก เพราะเป็นเรื่องเหตุการณ์ในสมัย เมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้ว จากเรื่อง และเหตุการณ์จริงๆ ที่บิดาของผม คือนายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ได้บันทึกไว้ ลองติดตามอ่านดูครับ

ครูกับการรำโทน โดย หิรัญ สุวรรณมัจฉา

      วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๗

     วันนี้เป็นวันครบ  9  ปี (นายหิรัญมาเป็นครูอยู่ที่เจ็ดเสมียน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๘)   ที่ฉันได้มาอยู่ที่เจ็ดเสมียนนี้  ตั้งแต่ได้สมัครเป็นครูก็ถูกบรรจุให้มาอยู่ที่โรงเรียนเจ็ดเสมียนนี้แห่งเดียวเท่านั้น   มิได้โยกย้ายไปที่อื่นเลย  

     ตั้งแต่เป็นเด็กหนุ่มที่คะนองมาเป็นครู  เป็นศิษย์วัด  แล้วบวชเป็นพระ  แล้วได้เมีย   ตลอดจนมาตั้งหลักอยู่ที่นี่  นับว่าเจ็ดเสมียนได้ชุบฉันตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นคนใหญ่   ฉันเกิดที่โพธารามก็จริงแล้ว   แต่ที่เจ็ดเสมียนนี้ฉันได้คลุกคลีมากยิ่งกว่าบ้านเกิดเสียอีก   มีคนรู้จักและนับถือมาก   แต่ต่อไปจะอย่างไรอีกก็ยังคะเนไม่ถูก

      ๒๑   พฤศจิกายน ๒๔๘๗

     เมื่อคืนที่บ้านครูแพ้ว  คลองมะขาม   ทำบุญเรือนมีรำโทน ๑ วง  เล่นกันจนดึกดื่นฉันไม่ค่อยชอบเลย  รำบ้าๆพรรค์นี้เดี๋ยวนี้กำลังมีคนนิยม  ไม่ว่างานศพงานแต่งงานทำบุญ กินเลี้ยงอะไรๆก็เล่นรำโทนกันทั้งนั้น  เล่นกันพร่ำเพรื่อจนไม่เลือกว่างานมงคล  หรืองานโศกเศร้าฉันไม่ชอบเลย

      ๒๖   พฤศจิกายน ๒๔๘๗       

     วานนี้ฉันไปช่วยวัดตึกทำงาน  คณะสามัคคีเขาจะมาทอดกฐิน  แต่ละคณะนำเงินมาช่วยสมทบเป็นจำนวนมากๆ   เพราะอุปถาก หนู แกจะเอาเงินมาสร้างโรงเรียน ที่สร้างค้างไว้นั้นทำให้สำเร็จไป  มีคณะมาหลายคน  คณะพระครูเชยวัดตาล สี่หมื่น ดำเนินสะดวก  ๒๐๓.๕๐  บาท 

     คณะนายศิริและนายเชิดกรุงเทพฯเรี่ยไรมาได้ ๒๕๐ บาท  คณะโพธารามมีท่านขุนเสฯ นายอำเภอ ศึกษาธิการอำเภอ  และพ่อค้าอีกหลายคนเรี่ยไรได้   ๑,๓๖๐ บาท  และรายอื่นๆอีกเมื่อรวมสมทบทุนกันเข้าแล้วคงได้รวมทั้งสิ้น  ๒๕๔๐.๔๕  บาท

      มีคนมากันหลายคนเหมือนกัน เขาให้พวกโพธารามและคนมาช่วยไปกินเลี้ยงกันบนโรงเรียนใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ฉันขึ้นไปดูเห็นแคบกว่าโรงเรียนเจ็ดเสมียนสักเล็กน้อย 

     แต่มีมุขยื่นออกสองข้างมีมุขอย่างนี้สิที่ฉันชอบนัก จะได้เอามุขสักข้างหนึ่งเป็นที่พักครู ทำงานในนั้นไม่ต้องให้ใครมายุ่ง แต่ที่โรงเรียนเจ็ดเสมียนนี้ไม่มี   มีแต่มุขในตัวอยู่ตรงกลางไม่สวยสักหน่อย จะทำงานก็ต้องทำที่ห้องประชุมยุ่งและหนวกหูด้วย

    คนเราทุกคนจะทำงานอะไรจะต้องการสิ่งใด มักจะไม่ใคร่ตรงกับความคิดของตัวเอง  เราได้อย่างนี้แล้วใครๆเขาก็ว่าดีแล้วแต่ตัวเราเองไม่ชอบ ชอบอย่างที่ไม่มีอยู่ 

    การมีครอบครัวก็เหมือนกันของเราใครๆก็ว่าดี  แต่เราก็ว่าของคนอื่นดีกว่า หรือสิ่งอื่นที่เราว่าชอบคนอื่นไม่ชอบก็มีเหมือนกัน เหตุนี้จึงมีบางคนที่จิตยังครอบงำอยู่ด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ทะเยอทะยานอยากได้ไม่รู้จักสิ้นสุด พาให้ต้องได้รับเคราะห์กรรมต่างๆก็มีถมไป

      อย่างตัวฉันนี้ ใครๆเขาว่าเป็นครูที่โรงเรียนเจ็ดเสมียนนี้สบายมาก แต่ฉันว่าไม่สบายเลย เป็นโรงเรียนใหญ่อยู่ใกล้ชุมขนจะต้องทำให้ดี  และโรงเรียนเขาเจริญอยู่แล้ว เราพลาดนิดเดียวก็จะถึงซึ่งความเสื่อมเสีย    ความครหาก็จะเกิดขึ้นได้ อย่างนี้แหละหรือที่เรียกว่าสบาย

     วันนี้พวกครูเราหลายคนที่ไปเที่ยวดูเขาที่วัดตึกนี้  และไปช่วยงานทำให้ขายหน้ามาก   คือเมื่อน้ำเมรัยเข้าปากไปแล้วก็ลืมตัว ทำกิริยาอาการให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่หมู่คณะ  เวลาในเพล (๑๑ นาฬิกา) ยังไม่ต้องเลี้ยงคนพวกครูเราไปกันหลายคน ยังไม่มีงานทำก็เที่ยวไปเที่ยวมา และได้กินน้ำข้าวหมักไปพอมึนๆบ้าง คณะลูกของอุปฐากหนูมาแต่กรุงเทพฯ จะนำขันเงินมาไว้ที่ศาลาก็มีการแห่จากบ้านอุปถากหนูมา

      คณะครูเรามีนาย นเรศ ครูน้อยวัดตึกก็ชวนพวกครูไปรำข้างหน้า  แห่มาขึ้นศาลาพวกครูก็ไปกันรำกันอย่างสนุกสนานคล้ายขี้เมาหรือพวกกลองยาว นี้ก็ยังพอค่อยยังชั่วตอนคณะโพธารามมารำหน้าขบวนแห่ ตอนนี้มีผู้หญิงสาวอ่อน สาวแก่ สาวทึมทึกรำด้วยและรำเป็นคู่ๆกับพวกครูเรา 

   อีตอนนี้ฉันสังเกตดูเขารำกันอย่างเต็มฝีมือทีเดียว กว่าจะครบสามรอบศาลาเหงื่อแตก ฉันนึกสนุกในใจเหมือนกันหากแต่ไม่รำเพราะคนจะหัวเราะเอาเปล่าๆ   ฉันไม่ได้รำพวกครูน้อยของฉันยังอย่างนี้แล้ว  ถ้าฉันเป็นคนบ้ารำด้วยพวกนี้เห็นจะไปกันใหญ่

     ยังหรอก  ตอนนี้ก็ยังไม่ถึงตอนที่เขาแผลงฤทธิ์กัน พอเลิกจากแห่แล้วทางคณะต่างๆก็ขึ้นศาลา ฟังนายอำเภอพูด และขุนเสฯ (ศึกษาธิการอำเภอ)พูด  พระครูเชยก็พูดและนำในการกรานกฐิน  อีตอนนี้พวกเขาก็เริ่มแผลงฤทธิ์ พวกครูเราขึ้นไปอยู่บนโรงเรียน  ในหน้ามุขทางตะวันออกมีไหน้ำเมรัยอยู่ไหหนึ่งด้วย   เขาก็เติมสะติม กันไปเรื่อยๆ

     และครูบรรจง สุวรรณ  ครูสมถะ  (ต่อมาอีกหลายปี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เบ็ญจา และได้มาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียน วัดเจ็ดเสมียน) ซึ่งเมามาตั้งแต่เช้าและเหิมในตอนรำหน้าขบวนนั้นแล้ว  เริ่มแผลงฤทธิ์  รำวง เต้นโขน ตึงๆตังๆ แหกปากตะเบ็งเสียงจนเสียงแหบเสียงแห้ง คนที่ประชุมกันอยู่ที่ศาลาบางคนก็หันไปดู ทางโรงเรียนใหม่ มีเสียงซุบซิบถามกันว่า  “  ใครนะถ้าจะเต็มที่     อ้อ !  ไอ้ครูจงวัดสมถะนี่เอง  “  บางคนที่รู้ประวัติของบิดาครูจงก็ว่า "มันก็เหมือนพ่อมันนั่นแหละ “
        
     ฉันฟังดูแล้วรู้สึกเดือดในใจ มันว่าพวกครูเราก็คล้ายกับว่าฉันด้วย  ใจฉันคิดว่ามันเมาแล้วช่าง ไม่รู้จักรักษาสติไว้บ้างเลย   ปล่อยให้ปีศาจเหล้ามันเขาครอบงำ   ครูอั๋นครูใหญ่วัดตึก  เพื่อนของฉันพูดว่า  “  มันบ้ากันใหญ่แล้ว “  ฉันทนไม่ไหว ชวนครูอั๋นไปที่โรงเรียนใหม่ ขึ้นไปห้ามมัน   มันก็ไม่เชื่อ  ครูสวัสดิ์  ครูวัดสมถะอีกคนก็ห้ามแต่มันก็ไม่เชื่อ 
 
         ขณะนี้ข้างในโรงเรียน ซึ่งจัดเป็นที่เลี้ยงอาหาร   มีคนมาจากโพธาราม  ๘  คนกำลังกินน้ำข้าวหมาก  และกับแกล้มกันอยู่เช่น นายกิตติ ครูวงค์ คำเนียม(ต่อมาเป็นเจ้าของ โรงเรียน ราษฎร์บำรุงวิทย์ ที่โพธาราม)  นายบักแช  นายป้อ  ปลัดอำเภอ 

      ครูจงก็ยิ่งเมามากใหญ่จนถึงเข้าไปเอ็ดตะโรลั่น เต้นแร้งเต้นกาในห้องข้างๆเขากินกันอยู่ นายกิตติเจ้าของโรงสีเจ็ดเสมียน ซึ่งปรากฏว่าเลือดเย็นยังทนไม่ไหว  ต้องลุกออกมาห้ามพวกครูนี้เห็นไม่ได้เรื่องจึง เอาน้ำข้าวหมักให้มันกินอีกมอมจนอยู่เลย พามันให้ไปนอนบ้านครูทองดี ข้างๆวัดหมดเรื่องทีทำอย่างนี้ทำให้ใครๆเขาดูหมิ่นพวกครูได้  ทำให้คนอื่นๆพลอยเสียชื่อเสียงไปได้ด้วย.........

      กรานกฐินเลิก พวกเขาไปรับประทานอาหาร กันบนโรงเรียนใหม่   ฉันที่ขาเป็นฝีหลายเม็ดชักปวด   จึงไม่ได้ไปช่วยเขาพอดีกำนันให้ไปเป็นกรรมการนับเงินกับพวกอีก  ๔  คน  ธนบัตรเขาเสียบไม้ เสียบไว้ที่ต้นกล้วยในขันบ้าง  เสียบไว้กับพานแว่นฟ้าบ้าง  ธนบัตรเขียวแดงเยอะแยะ เต็มไปหมด

      ฉันนับไปก็พูดกับผู้ใหญ่อ่อน ที่นับอยู่ด้วยกันว่า  นี่มันไม่ใช่ของเราเลย ทำอย่างนี้เท่ากับเล่นกับไฟ  ไม่มีกำไรได้แต่ขาดทุน  ผู้ใหญ่อ่อนว่า  ถ้าไม่จำเป็นจริงๆแล้วแกไม่อยากยุ่งด้วยเลย  น่าอนาถตัวฉันจริง  เคยนับเงิน   เคยเก็บเงิน   เคยเขียนจำนวนเงินมากๆ  แต่ไม่เคยมีเงินมากๆเลย  ตั้งแต่จำความมาจนมีลูกมีเมียนี่เงินสักร้อยสักชั่งจะหาติดตัวติดบ้านดูเหมือนนับครั้งจะได้  สักเพียง  ๒  หรือ ๓  ครั้งกระมัง  แต่ก็ทนอยู่ไม่ถึง  ๕ – ๖  วันก็อันตรธานไปเรียบร้อย

       ชาติก่อนคงจะไม่ได้ฝังทรัพย์สมบัติไว้บ้างกระมัง หรือชาติก่อนคงไม่ได้ทำบุญไว้ในพระศาสนา มาชาตินี้จึงอาภัพอัปภาคย์ตกอับ ยากเข็นเห็นปานนี้ ต้องการใช้เงินบ้างก็เหมือนงม หาเข็มในท้องมหาสมุทร ยากจนไม่ค่อยจะเทียมหน้าเพื่อน แต่ถึงแม้จะจนก็ยังมีคนให้ทำงานในหน้าที่ๆเกี่ยวกับเงิน เห็นจะเป็นเพราะฉันซื่อสัตย์เห็นเงินของคนอื่นเปรียบเหมือนก้อนดิน ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเรา สู้เงินที่เราหาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง ของเราดีกว่าบริสุทธิ์ดี

     เลิกแล้วรับประทานอาหารก็แล้ว การเงินการทองก็เรียบร้อย พวกเขาและพวกเรามีความผาสุก อิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้า นายอำเภอก็ชวนรำวงกลางวันตั้งวงที่บนศาลา คณะนายหนุ่มก็คือนายอำเภอ ขุนเสฯกับพรรคพวก คณะนางสาวก็พวกคลองมะขามบ้าง พวกฝั่งสมถะบ้าง   ราวๆ ๗ – ๘ คน รำกันสนุกสนาน

     ฉันยืนดูอยู่ภายนอกหัวเราะตามเขาบ้าง ผู้หญิงคนหนึ่งร่างอ้วนเตี้ย ผิวไม่ขาวเท่าไร เวลารำกับผู้ชายช่างยิ้มยั่วยวนเสียจริง ศึกษาธิการชอบรำกับนังคนนี้นัก ดูๆก็สมกันเสียด้วยรำติดๆกันนังผู้หญิงก็ทำตาหวาน นายหนุ่มก็ทอดสายตามา เออ ! จะรำก็ให้มันยั่วยวนอย่างนั้นซิถึงจะน่ารักสักหน่อย ออกมารำก็ทำหน้าบึ้งไม่ยิ้มให้สักนิดมันจะน่ารำที่ตรงไหน ฉันเห็นอีอ้วนคนนี้แล้วชักนึกอยากรำ แต่ก็ยังไม่รำเพราะหน้ายังไม่หนาพอ

    ตอนรำวงกันนี้ก็มีครูอีกคนหนึ่ง ซึ่งทำให้เป็นที่เสื่อมเสียเหมือนกัน คือครูสุวิทย์ น้องชายฉันเอง (เป็นอาของ  "นายแก้ว"   ชื่อสุวิทย์ เพ่งผล ในตอนหลังไปทำงานกรมศุลกากร เป็นนายด่านศุลกากร ประจำอยู่เกือบทั่วประเทศ เวลานี้ยังมีชีวิตอยู่ ) 

         ตามปรกติเขาก็เป็นคนบ้ารำโทนอยู่แล้ว  ในบ้านหรือกลางถนนเขานึกอยากรำก็รำแต้ขึ้นมา บางทีก็รำในหน้ากระจกถ้าเมาขึ้นมาแล้วละก็เอาใหญ่ วันนี้ก็คงจะเมาเต็มที่พวกนายอำเภอเขากำลังรำกันอยู่ ตัวก็เป็นคนไปให้จังหวะเพลงทำสองมือแบๆให้จังหวะ เที่ยวให้ไปจนรอบวง ใครจะร้องเพลงหรือไม่ร้องก็ช่าง ข้าก็ทำท่าให้จังหวะมันทั้งนั้น

          ยังไม่ถึงใจมิหนำใจออกท่ารำไปกับเขาด้วย คล้ายกับออกโทน มีคนดูหลายคนหัวเราะเป็นการหัวเราะอย่างดูหมิ่นเกียรติของครู ครูเป็นแม่พิมพ์ๆไม่ดีคนก็ดูถูกฉันยังรู้สึกชังน้ำหน้า คนอื่นมิรู้ว่าเขาจะคลื่นไส้ไปถึงเพียงไหน ฉันเห็นกับตาครั้งหนึ่งรำไปใกล้ๆอีอ้วนคนนั้น มันเลยเอาศอกถองหลัง อั๊กเข้าให้  เออดีแรงๆหน่อยไม่ได้ มีคนหลายคนออกปากเหมือนกัน ฉันถอนเดือดจัดเลยไม่ดูขึ้นไปบนวัด แล้วก็ลงมาเดินเที่ยวไปตามร้านแม่ค้าดีกว่า

       จนมืดฉันจึงได้กลับบ้านกับกำนันและตาหมอเลื่อน ตามทางกำนันเขาก็คุยเรื่อยไปฉันก็อือๆ ออๆไป  บางคำก็ผสมยกยอให้เรื่องกระทัดรัดเข้า ทุกเรื่องทุกคำไม่ได้ขัดคอเขา ถึงเขาพูดไม่ถูกฉันก็นิ่ง อย่างนี้กระมัง  กำนันจึงชอบชวนฉันไปไหนเสมอ 

ขัดถ้วยขัดชามละก็สวย แต่การขัดคอคนนี่ละไม่สวยเลย
 
                    อยากจะมีเนื้อคู่ก็ไม่รู้อยู่ไหน    นี่คือเพลงโทน  บ้าจริงๆ...! 

หิรัญ สุวรรณมัจฉา  ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๗

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้130
เมื่อวานนี้706
สัปดาห์นี้2686
เดือนนี้11933
ทั้งหมด1341817

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online