จดหมายจากเตี่ย

       

ายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ขณะที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

    นยหิรัญนี้ ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นคนที่เจ็ดเสมียนโดยกำเนิด แต่ได้ย้ายมาอยู่ที่เจ็ดเสมียน และได้มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่และมีลูกมีหลาน เป็นคนเจ็ดเสมียนโดยแท้จริง เพราะลูกๆทุกคนเกิดที่เจ็ดเสมียนทั้งนั้น ย้อนกลับไปดูเรื่องของนายหิรัญที่หน้าแรก ซึ่งมีอยู่หลายตอน

 ำนำจาก ผู้จัดทำ

     รื่องราวเก่าๆของชาวเจ็ดเสมียนเรื่องนี้ เป็นเรื่องการสื่อสารกันระหว่าง พ่อกับลูกซึ่งอยู่ห่างไกลกัน รายละเอียดเรื่องราวในจดหมายนั้นผมจะยังไม่ขอกล่าว เนื่องจากจดหมายเหล่านี้มีมากมาย และคุณอารีย์ได้มอบจดหมาย (ละสมุดบันทึกต่างๆ) ห้กับหลานคนหนึ่งเก็บรักษาไว้ หลานคนนั้นคือคุณ ออรันดา (oranda)

  แล้ววันหนึ่งคุณ ออรันดา ได้นำจดหมายเหล่านั้นมาอ่านดูก็เห็นว่า ถ้าจะนำจดหมายเหล่านี้เป็นบางฉบับออกมาเผยแพร่ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านบ้าง ก็เลยไปปรึกษากับคุณอารีย์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จดหมายเหล่านั้น และขออนุญาตินำมาลงเผยแพร่ ซึ่งคุณอารีย์ก็อนุญาติให้หลานผู้นี้ นำจดหมายเหล่านั้น (บางฉบับ) มาออกเผยแพร่ได้ จึงขอขอบคุณ คุณอารีย์ สุวรรณมัจฉา ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องโดยตรงมา ณ ที่นี้ด้วย

ายแก้ว  ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

kkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkkk

     หลังจากที่นายหิรัญได้เบื่อการมีอาชีพเป็นครู จึงได้ลาออกจากการเป็นครูใหญ่ที่ โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน(สัจจานุกูล)เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ แล้ว ก็ได้ออกเดินทางจากบ้าน ในตลาดเจ็ดเสมียน ไปทำงานอีกหลายแห่ง บางแห่งก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านที่เจ็ดเสมียนนัก เช่นที่โรงสีใกล้ตลาดเจ็ดเสมียน บางแห่งก็อยู่ไกลกันมาก ไม่สามารถพักอยู่ที่บ้านเจ็ดเสมียนแล้วไปทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับได้ เช่นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบ้านโป่งเป็นต้น และแต่ละแห่งก็ใช้เวลาทำงานมากบ้างน้อยบ้าง

     จนกระทั่งในช่วงเวลาของปี พศ. ๒๕๐๘ ในเวลานั้นชะตาชีวิต ได้นำพาให้นายหิรัญไปทำงานที่โรงเลื่อยแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในป่าลึก   (ในสมัยนั้น)  ที่จังหวัดชลบุรี โดยการแนะนำของเพื่อนเก่า เมื่อครั้งที่อยู่ที่โพธารามคนหนึ่ง โดยทำงานเป็นผู้ตรวจสอบและจัดทำบัญชีของโรงเลื่อยขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า  รงเลื่อยจักรมหชล  ซึ่งโรงเลื่อยนี้ได้รับสัมปทานการตัดไม้และแปรรูปไม้เบญจพรรณในเขตอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

ิเวณโรงเลื่อยที่เตี่ยไปทำงานอยู่ ไม่ไกลจากภูเขามากนัก ภาพนี้เมื่อวันที่ลูกหลานไปเยี่ยมที่โรงเลื่อย เกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว

     สมัยนั้นการเดินทางจากเจ็ดเสมียน ไปที่บ้านบึงเป็นความลำบาก จะต้องนั่งรถไฟจากสถานีรถไฟเจ็ดเสมียนไปลงสถานีหัวลำโพง กรุงเทพฯ แล้วต้องค้างคืนที่กรุงเทพหนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดชลบุรีโดยรถยนต์ประจำทาง เมื่อถึงชลบุรีแล้วก็ต้องเดินทางต่อไปยังอำเภอบ้านบึงโดยรถโดยสารระหว่างอำเภอ จากนั้นยังต้องนั่งรถจี๊บหรือรถขนไม้ที่กลับจากการขนส่งไม้เข้าไปในป่าซึ่งเป็นที่ทำการของโรงเลื่อย ถึงโรงเลื่อยก็เกือบพลบค่ำ เป็นการเดินทางที่ต้องใช้เวลาถึง ๒ วันเต็มๆ

     ดังนี้แล้วการติดต่อกับทางบ้านที่เจ็ดเสมียน จึงทำได้แต่เพียงทางจดหมายเท่านั้น แม้ว่าจดหมายจะต้องใช้เวลาเดินทางเนิ่นนาน แต่จดหมายนี้ก็เป็นความหวังประการเดียว ที่จะได้ส่งข่าวและรับรู้ข่าวคราวของทางบ้านได้

ณอารีย์และพี่ชายไปหาเตี่ยที่โรงเลื่อยครั้งหนึ่ง กว่า ๔๐ ปีมาแล้ว ยืนอยู่กลางไร้อ้อยห่างจากโรงเลื่อยไม่มากนัก ที่เขาตัดอ้อยไปเข้าโรงงานน้ำตาลแล้ว

     การอยู่ห่างไกลจากบ้านอย่างนี้ ทำให้นายหิรัญคิดถึงและเป็นห่วงครอบครัวยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูก ๆ ที่อยู่ในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น    การเขียนจดหมายจากเตี่ยถึงลูก จึงไม่ได้เป็นเพียงการส่งข่าวหรือแสดงความคิดถึงอันเป็นธรรมดาของการเขียนจดหมายเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกคำสอน ข้อคิด ความเห็น มากับจดหมายนั้นด้วย

     ณ บัดนี้ขอเชิญท่าน อ่านจดหมายและความรู้สึกของเตี่ย ที่มีไปถึงลูกเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมาโดยนายหิรัญได้ขียนจดหมายฉบับนี้ ถึงลูกสาวคนหนึ่ง คือ    คุณอารีย์ สุวรรณมัจฉาได้ ณ บัดนี้..

รันดา (oranda)

   อารีย์ สุวรรณมัจฉา ซ้ายสุด พร้อมกับเพื่อนๆนักเรียนด้วยกัน เมื่อครั้งยังเรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียน "โพธาวัฒนาเสนี" อ.โพธาราม

คุณอารีย์  (เสื้อดำยืนหลังสุด ระดับ ๙ มีคนเดียว) กับผู้ร่วมงานไม่ต่ำกว่าระดับ ๘ กำลังประชุมปรึกษากันในเรื่องงาน ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๓ จังหวัดนครปฐม

 รีย์       

     คราวนี้เตี่ยได้รับ จ.ม. ของอารีย์เร็วดี คือ จ.ม. ของอารีย์ลงวันที่ ๓๐ เม.ย. ๐๘ เตี่ยได้รับวันที่ ๕ พ.ค. ๐๘ นับว่าเร็วกว่าครั้งก่อน ๆ  ทำไมนะ ปราณีจึงไม่เขียน จ.ม. ไปคุยเรื่องอะไร หรือเรื่องการเรียนของปราณีให้เตี่ยฟังบ้างเลย เตี่ยอยากรู้นัก หรือปราณีคงจะรักเตี่ยน้อยกว่าอารีย์เป็นแน่ ถามปราณีดูทีซิ
     จ.ม. ของเตี่ยที่มีมาถึงอารีย์นั้น อารีย์เก็บไว้บ้างหรือเปล่า หรือฉีกทิ้งหมด อารีย์ควรเก็บไว้ เพราะเวลาว่างหรือเวลาคิดถึงเตี่ยก็จะได้เอามาอ่านเล่น จ.ม. ของเตี่ยมีหลายรสเหมือนกัน แนะนำข้อสงสัยต่าง ๆ แนะทางที่ทำให้เกิดความรู้ กระตุ้นกำลังใจให้มีจิตรเข้มแข็ง ชี้ทางแห่งความสำเร็จ รวมความแล้ว สนุกกว่าอ่านเรื่องรักโศรกเป็นไหน ๆ อารีย์ควรเก็บไว้  จ.ม. ของอารีย์เตี่ยเก็บไว้ทุกฉบับ นาน ๆ เอามาอ่านที ก็สนุก

 นักเรียนนายสิบระฆัง สุวรรณมัจฉา

      ดีใจมากที่ระฆังสอบนายสิบได้ แต่น้าทัยเขาคงจะช่วยบ้างกระมัง นายระฆังรูปร่างเล็ก จะทนการฝึกหัดไหวหรือ อารีย์เขียนไปบอกนายระฆังด้วย ว่าเตี่ยสั่งให้อดทนให้มาก เวลานี้ได้เป็นทหาร รั้วของชาติแล้ว ต้องเป็นรั้วที่แข็งแรง อย่าเป็นรั้วที่อ่อนแอ รั้วที่จวนจะพัง เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ คำพูดเหล่านี้ อารีย์พอจะตีความหมายได้ไหม ถ้าไม่รู้ว่า แปลว่าอะไรแล้ว ก็ควรจะถามครูดู ให้ท่านอธิบายให้ฟัง เพราะเป็นคำพูดที่ลึกซึ้งเหมือนกัน

     เตี่ยเสียใจด้วย ที่อารีย์ยังไม่พร้อมที่จะไปเรียนที่ ก.ท. ความจริงเตี่ยได้เตรียมลู่ทางไว้ให้อารีย์เรียบร้อยแล้ว เช่น ที่พัก การเงิน มีแต่ให้อารีย์หาที่เรียนเอาเท่านั้น เตี่ยอยู่ไกลจึงหาที่เรียนให้ไม่ได้ แต่ที่พักนั้นเรียบร้อยและการเงินก็จะจัดการให้ คือเตี่ยคิดว่าเตี่ยจะหาเงินสักก้อนหนึ่งฝากออมสินไว้ แล้วจะทำเป็นรายการ ค่ากิน ค่าเรียน ค่าใช้จ่าย เดือนหนึ่งเป็นเท่าไรไปเบิกเอาที่คลังออมสินได้ พอเงินจวนหมดเตี่ยก็จะหามาฝากไว้อีก อย่างนี้ อารีย์ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเงินใช้ เพราะเตี่ยทำเป็นงบประมาณไว้เรียบร้อย

      คนที่เรียนหนังสือเก่งเอาใจใส่ในการเรียน จนสอบได้คะแนนดีอย่างอารีย์นี้ เตี่ยจะพยายามส่งให้เรียนจนถึงที่สุด เวลาเรียนของคนเราก็มีเพียงแค่เด็ก ๆอายุน้อย ๆเท่านั้นแหละ อย่างอื่นไม่ต้องห่วง ตั้งหน้าเล่าเรียนเท่านั้น พออีกหน่อยไปทำงาน หรือมีครอบครัวไปแล้ว ก็ไม่มีเวลาจะมาเรียนกันอีกแล้ว

    มีน้อยคนที่สุดที่จะเรียนด้วยตนเองได้สำเร็จ แม้จะมีใจรักสักเพียงใด ฉะนั้น เตี่ยจึงอยากจะให้อารีย์เรียนให้มาก ๆ จนกว่าอารีย์จะเบื่อการเรียน

   อารีย์เมื่อยังไม่มีวาสนาจะเข้าไปเรียนใน ก.ท.  อยู่ที่เก่าก็จงพยายามให้มากกว่านี้ หัวข้อใดที่ยากหรือจำยาก ต้องพยายามท่องจำให้ได้ อ่านข้อยากด้วยเสียงดัง ๆแล้วจะจำง่าย ภาษาอังกฤษแปลไทยให้เตี่ยอ่านได้หรือยัง คงจะได้แล้ว ลองดูสักฉบับเป็นไงอังกฤษปนไทยก็ยังดี

      การเรียนโรงเรียนใน ก.ท. นั้น หลักสูตรก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ เป็นแต่ได้เห็นสถานที่จริง ๆ และการคบหากับคนหลาย ๆ ชั้น รู้จักคนมาก การหางาน หาความรู้ก็กว้างขวาง

     ส่วนหนังสือหลักสูตร การเรียน คนในกรุงเทพฯ จะเก่งกว่าคนบ้านนอกเสมอไปไม่ได้ ที่โรงงานที่เตี่ยอยู่นั้นมี ม.6 จากกรุงเทพฯ มาทำงานอยู่หลายปีแล้ว แต่ภาษาอังกฤษไม่รู้เลย ความรู้ก็ไม่ได้ความเลย เขียนหนังสือเป็นเท่านั้นเอง สะกดการันต์บางคำก็ผิด ๆ สู้เตี่ยไม่ได้เลย

  ารีย์ สุวรรณมัจฉารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

      อย่างนี้เห็นจะเป็นเพราะว่า ที่กรุงเทพฯ มีที่เที่ยวมากบางทีจะไปเรียนหนังสือแต่กลับไพล่ไปดูหนังเสีย อย่างนี้ก็ได้แต่ใบประกาศนียบัตรเท่านั้น แต่ภูมิรู้ไม่ได้ไปเลย จะสู้คนที่ตั้งใจเรียนแต่อยู่บ้านนอกอย่างอารีย์นี้

    ซึ่งถอดเลือดการเรียนการรักอ่าน ของเตี่ยไปได้อย่างไรเล่า เตี่ยจะพยายามส่งเสริมอารีย์ให้จนสุดความสามารถ เวลานี้อารีย์ต้องพยายามให้มาก เพราะอีกไม่นานเตี่ยก็จะทำงานไม่ไหวแล้ว เมื่อนั้นเตี่ยและแม่ก็จะได้พึ่งอารีย์ ส่วนปราณีเขามีเข็มไปทางไหน อารีย์ถามดูทีแล้วให้ปราณีเขียน จ.ม.ไปถึงเตี่ยบ้าง

นายหิรัญเมื่อครั้งไปทำงานไกลๆนานๆจึงได้กลับมาเยี่ยมบ้านครั้งหนึ่ง

     อารีย์ไม่มีปากกาเขียนหนังสือใช่ไหม เตี่ยเลยซื้อปากกาส่งมาให้ 1 ด้าม เพียงสองร้อยกว่าบาทเท่านั้น มันก็ดีสมกับราคาของมัน อารีย์ต้องเก็บไว้ให้ดีนะอย่าทำหาย อย่าให้ใครเอาไปใช้ ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่เตี่ยมอบให้ เวลาอารีย์คิด ๆ จะขี้เกียจเรียน ขี้เกียจเขียนหนังสือ ขี้เกียจอ่านหนังสือ ก็เอามือคลำปากกาอันนี้ดู เมื่อพบปากกาก็จะทำให้คิดถึงเตี่ย

   เลยคิดไปว่า ปากกาอันนี้ เตี่ยมอบให้เพื่อเป็นเครื่องมือหากินของเรา เราต้องพยายามเรียนให้เก่งกว่านี้อีก ๑๐ เท่า ขับไล่ตัวขี้เกียจออกไปให้ห่าง แล้วตั้งหน้า เขียน อ่าน ท่อง จำ จด พยายามให้เก่งกว่าคนอื่น ให้สมกับที่เตี่ยเขารักเรา จนถึงกับซื้อปากกาดี ๆ อย่างนี้มาให้ ถ้าอารีย์พยายามคิดอย่างนี้ และทำตาม ความหวังความสำเร็จก็จะลอยอยู่ข้างหน้า แล้วต่อไป เตี่ยก็จะดีใจว่าส่งเสริมลูกไม่ผิด

 ายมือนายหิรัญที่เขียนจดหมายมาถึงคุณอารีย์ เมื่อกว่า ๔๕ ปีมาแล้ว

      เตี่ยคิดว่าอารีย์เรียนอยู่โพธานี่ไปก่อนเถอะ แล้วเทอมต่อไปเตี่ยจะติดต่อไปทาง ก.ท. ดู ว่าพอจะเข้าเรียนในโรงเรียนไหนได้ แล้วเตี่ยจะติดต่อมาให้อารีย์ทราบ เวลานี้ให้ตั้งอกตั้งใจเรียนที่โพธานี้ไปพลางก่อน
      จบ ๖ แล้วอารีย์คิดจะเรียนอะไรต่อ คราวก่อนว่าจะเรียนหรือทำงานอะไร เตี่ยก็ลืมไปแล้ว ลองขยายความคิดให้เตี่ยฟังดูสักที ตามความคิดของเตี่ยนั้น อารีย์จะเรียนอะไรต่อก็ดีทั้งนั้น ขอให้ตั้งใจก็แล้วกัน

      เพื่อนของเตี่ยคนที่ฝากนายระฆังเข้างานเมื่อปีกลาย เล่าให้เตี่ยฟังว่า เขาเสียใจทีลูกสาวของเขา เข้างานที่สถานทูตไม่ได้ คือลูกสาวเขาจบ ๘ แล้ว ที่สถานทูตแห่งหนึ่ง รับสมัครผู้หญิงที่จบ ๘ และพูดอังกฤษเก่ง ลูกสาวเขาสอบข้อเขียนได้ทุกอย่าง พอเขาเรียกไปสอบสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ เขาถามเป็นอังกฤษ ให้เราตอบอังกฤษ

    ลูกสาวเขาพูดได้แต่ไม่ค่อยคล่อง เขาถามอะไรต้องนึกเสียก่อนจึงพูด เลยสอบไม่ได้ เขาเสียใจ เพราะงานสบาย เราไม่ต้องทำอะไร เพียงทำบันทึกภาษาอังกฤษเล็ก ๆ น้อย ๆ เงินเดือนตั้งสองพันกว่า เดี๋ยวนี้ลูกสาวเขาเลยเป็นครู เงินเดือนเพียงหกเจ็ดร้อยบาทเท่านั้น นี่ถ้าเก่งอังกฤษสักหน่อย ก็จะได้ตั้งสองพันกว่า แทนที่จะได้เพียงหกเจ็ดร้อยเท่านั้น

       ดังเรื่องนี้ อารีย์จะเห็นได้ว่า ภาษาอังกฤษนั้นสำคัญแค่ไหน เตี่ยเขียนถึงอารีย์ทีไร เป็นต้องเตือนให้อารีย์พยายามเรื่องภาษาอังกฤษให้มาก ถ้าพยายามแล้ว ไม่เห็นจะเกินความสามารถของอารีย์ไปได้เลย อารีย์เลือกเอา จะเอาสองพัน หรือรักจะเอาหกเจ็ดร้อย

    สมัยนี้คนที่เก่งภาษาอังกฤษเท่านั้น จึงจะหางานง่ายและเงินดี เตี่ยก็อยากจะให้อารีย์เก่งอังกฤษบ้าง เพราะเก่งอังกฤษแล้วจะทำอะไร เรียนหนังสืออะไร ตำราอะไร ก็เห็นจะอยู่ในภาษาอังกฤษทั้งนั้น เตี่ยไปเที่ยวตามร้านหนังสือที่ ก.ท. เห็นเขาขายหนังสืออังกฤษ ก็อยากจะอ่าน แต่อ่านไม่ได้  ก็เลยซื้อแต่หนังสือจีนมาอ่านบ้างเท่านั้นเอง

      หนังสือพิมพ์ก้าวหน้า เตี่ยซื้อมาให้อ่าน อย่างนี้ใช่ไหมที่อารีย์อยากได้ ทีหลังจะซื้อมาให้อีก ต่อจากเล่มหลัง พยายามอ่าน เรียนไปทีละเล็กละน้อย เตี่ยรู้สึกว่าภาษาอังกฤษในหนังสือก้าวหน้านี้ยากมาก แต่คงไม่ยากสำหรับอารีย์ เพราะได้เรียนมาแล้ว

    คำไหนไม่รู้ ต้องเปิดดิกดู แปลให้รู้ใจความ ท่องศัพท์แล้วปิดหนังสือเขียนให้ได้ จะได้จำได้ไม่ผิด ถ้ายังไม่เข้าใจ ให้ถามครูที่สอนภาษาอังกฤษ ให้ครูอธิบายให้เข้าใจ คำไหนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ต้องพยายามเรียนให้รู้ให้จงได้ อย่าปล่อยข้ามไปเสีย จะติดเป็นนิสสัย ไม่ดี

 

นายแก้ว บุตรชายคนโตของนายหิรัญ 

     ส่งเงินมาให้ใช้บ้าง เอาไว้ซื้อเสื้อผ้า รองเท้า หรือหนังสือไว้อ่าน หรือเฮียแก้ว เฮียคลังาบ้าน ก็ให้เขาไปบ้างก็ได้ เตี่ยยังไม่มีมาก อีกหลายเดือนจึงจะมี เวลานี้ฝนก็ตกบ่อยงานก็น้อย เงินก็ชักจะเบิกไม่ใคร่ได้ อารีย์ต้องประหยัดนิดหน่อย บอกแม่ด้วยให้ประหยัด ลืมถามแม่ไปว่า แม่เขาขายของอะไรได้ผลเพียงใด อารีย์และปราณีได้ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง บอกให้เตี่ยรู้ด้วย

      เอาปากกาที่เตี่ยให้ไปใหม่นี้ เขียนตอบไปเล่าอะไร ๆไปให้ฟัง เรื่องเกี่ยวแก่ แม่ แก้ว ระฆัง และการเรียนของอารีย์ ปราณี เหตุการณ์ทางบ้านเจ็ดเสมียน ความเห็นของแม่เกี่ยวกับเตี่ย คำพูดของเพื่อนบ้านใกล้เคียง และเรื่องเบ็ดเตล็ดอะไรต่าง ๆ เขียนเล่าไปให้ฟังก็แล้วกัน   

                                                                              

                                                                                หิรัญ
                                                                ๑๕ พ.ค. ๒๕๐๘

 นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ขณะเมื่อเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้373
เมื่อวานนี้460
สัปดาห์นี้2223
เดือนนี้11470
ทั้งหมด1341354

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online