วิกเจ็ดเสมียนในอดีต ๑

      นายจำปา ประเสริฐ เป็นผู้รับเหมาสร้างวิกเจ็ดเสมียน จากนายวิรัช วงษ์วานิช ผู้เป็นเจ้าของเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ ๓ ปี ที่ผ่านมามีอายุได้ ๘๗ ปี

 

 ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพนี้  และได้รับทราบข้อมูลของนายจำปา จาก ผู้ใหญ่กรรณิกา วงศ์ยะรา หมู่ ๒ ตำบลเจ็ดเสมียน    

ผุ้ใหญ่บ้านหญิง กรรณิกา วงศ์ยะรา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๒ ตำบลเจ็ดเสมียน (ซ้าย)

     เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๑ นั้น ที่เจ็ดเสมียนของเราก็มีวิกแล้ว วิกในที่นี้ก็คือโรงมหรสพนั่นเอง หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือเป็นสถานที่มีการละเล่น เช่นลิเก หรือหนัง (ภาพยนต์) เป็นสถานที่ให้เช่าเพื่อให้เป็นที่แสดงต่างๆ แล้วผู้เช่าก็จะเก็บเงินคนดูเป็นรายคนอีกทีหนึ่ง หรือจะไม่เก็บเงินเลยก็ได้แล้วแต่ผู้เช่าจะเช่าวิกนี้เพื่ออะไร

      แต่ก่อนจะดำเนินเรื่องต่อไปเรามารู้กันเสียก่อนว่า วิกที่เจ็ดเสมียนนี้ใครเป็นผู้สร้าง และใครเป็นผู้ดำเนินกิจการ ในเวลานั้นที่ตำบลเจ็ดเสมียนแห่งนี้ นับว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ มีการทำมาค้าขายจากคนที่อยู่ในตำบลใกล้เคียงและที่ไกลๆ ที่มาทั้งทางน้ำและทางบกด้วย จึงทำให้เจ็ดเสมียนมีผู้คนมากกว่าตำบลอื่นๆในอำเภอเดียวกัน 

     ในตอนนั้นนอกจากวันนัด (ติดตลาดนัด) ซึ่งเดือนหนึ่งมี ๔ ครั้งแล้ว ก็ไม่มีอะไรครึกครื้นตื่นเต้นกัน สำหรับชาวเจ็ดเสมียนเลย วันดีคืนดีจึงจะมีรถขายยามาฉายหนัง แล้วก็โฆษณาขายยาให้กับคนดูเพื่อเป็นการ แลกเปลี่ยนกันกับการฉายหนังให้ดูฟรีๆ สิ่งบันเทิงเริงรมย์ของชาวเจ็ดเสมียน นอกจากได้จากหนังขายยาแล้ว นานๆจึงจะมีเทศกาลจัดงานรื่นเริงให้กับชาวเจ็ดเสมียนสักที เช่นงานสงกรานต์ งานปีใหม่ งานลอยกระทง งานบวช งานศพของชาวบ้าน นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไรที่จะทำความรื่นรมย์ให้กับชาวเจ็ดเสมียนและชาวตำบลใกล้เคียงเลย

     ดังนั้นจึงมีพ่อค้าคนสำคัญของเจ็ดเสมียนคนหนึ่งคือ นายวิรัช วงษ์วานิช ได้มองเห็นการณ์ไกลและมีความคิดขึ้นว่า ที่เจ็ดเสมียนเรานี้น่าจะมีสถานที่บันเทิงให้กับชาวเจ็ดเสมียนสักแห่งหนึ่ง แต่จะเป็นอะไรนั้นก็จะต้องคิดดูให้ดีๆก่อน ต่อมาจึงคิดขึ้นมาได้ว่าควรจะสร้างวิก แล้วก็ให้มหรสพต่างๆมาเช่า สร้างความบันเทิงให้กับคนเจ็ดเสมียน และคนที่อยู่ตำบลใกล้เคียง จะได้มาหาความสำราญกัน

  นายวิรัช วงษ์วานิช (กลาง) นายบุญเทียม วงษ์วานิช (ซ้าย) นายซุ่ย ร้านทองตลาดเจ็ดเสมียน (ขวา)

    เมื่อเป็นดังนั้นนายวิรัช จึงมองหาที่จะสร้างวิกนี้ว่า จะสร้างกันตรงไหนจึงจะเหมาะที่สุด ในที่สุดก็นึกถึงที่จะสร้างวิกนี้ได้ คือนายวิรัชนั้นมีที่ดินที่อยู่เปล่าๆอยู่แปลงหนึ่ง ที่ดินผืนนี้อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับตลาดที่ปลูกใหม่ ที่เรียกว่าตลาดนอกนั่นเอง ถ้าสร้างตรงนี้ได้คิดแล้วก็จะไม่ไกลจากตลาดเก่าเท่าไรนัก เพียงแต่เดินข้ามทางรถไฟมาก็ถึงแล้ว และพวกที่อยู่ในหมู่บ้านต่างๆข้างนอกๆออกไป เช่นทางหัวหนอง ก็เดินทางมาที่วิกนี้สะดวก

     เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วก็จึงนำความคิดนี้ ไปบอกเพื่อนๆที่รักใคร่ชอบพอกัน แล้วก็พากันไปปรึกษากับกำนันคนดังแห่งเจ็ดเสมียน กำนันโกวิทรับทราบแล้วก็สนับสนุนความคิดนี้ และขอให้ทำให้สำเร็จ ส่วนตัวท่านกำนันนั้นไม่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นหุ้นส่วนแต่อย่างใด

    เมื่อทุกอย่างลงตัวดีแล้วนายวิรัชและพรรคพวกก็เริ่มลงมือทันที โดยจ้างคนงานหลายสิบคน มาทำการปรับปรุงที่ดินตรงที่จะสร้างนั้น โดยการตัดต้นกอใผ่ที่ขึ้นในที่ตรงนี้หลายกอ พร้อมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยทั้งหลายออกจนเตียนโล่ง แล้วก็ถมดินให้สูงขึ้นหน่อย ปรับให้เรียบกลายเป็นสถานที่โล่งเตียนพร้อมที่จะ ก่อสร้างวิกได้แล้ว

    นายจำปา คือนายช่างก่อสร้างชื่อดังแห่งตำบลเจ็ดเสมียน ได้เข้าพบนายวิรัชที่บ้านในตลาดเจ็ดเสมียน เพื่อพูดคุยถึงเรื่องรูปแบบ วิก ที่จะสร้างขึ้นมานี้ นายวิรัชก็อธิบายให้นายช่างจำปารู้เรื่องตลอดว่า ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเข้าใจกันดีแล้วไม่กี่วันต่อมา นายจำปาก็ถือรายการวัสดุก่อสร้าง และสิ่งของต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างครั้งนี้ มายื่นให้แก่นายวิรัชซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเพื่อ สั่งวัสดุก่อสร้างต่างๆเข้ามาเพื่อที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ในทันที

    เมื่อสิ่งของพร้อมแล้ว นายจำปาพร้อมด้วยลูกน้องก็จัดแจงตีผัง ขุดหลุม เพื่อเตรียมพร้อมที่จะถึงฤกษ์ยกเสาเอก เสร็จแล้วพวกคนงานยังไม่ได้ทำอะไรต้องรอให้ยกเสาเอกเสียก่อน ก็ช่วยๆกันเกลี่ยดินทำถนนให้บรรจบกับถนนเจ็ดเสมียน หนองบางงู ให้เชื่อมต่อกันแล้วก็อัดทุบดินให้เรียบ เป็นถนนลาดลงไปที่วิกนี้ ให้ประชาชนที่มาหาความสำราญจะได้เดินได้สะดวก จำได้ว่าทางเดินลงไปที่วิกนี้ มีต้นมะพร้าวปลูกไม่ห่างกันนักอยู่ ๒ - ๓ ต้น น้าทรัพย์ คนที่ชอบแต่งตัวเป็นหญิงแห่งเจ็ดเสมียน หาบกระจาดมาขายถั่วต้มตรงต้นมะพร้าวนี้เป็นประจำ เมื่อมีการแสดงที่วิกนี้

   หลวงพ่อหุ่นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียน (ซ้ายสุด)

    อีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อได้ฤกษ์ได้ยามที่หลวงพ่อหุ่นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียนให้ไว้ พิธีการยกเสาเอกก็ได้เริ่มต้นในเช้าวันนั้น เสาเอกต้นนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก เป็นเสาไม้เต็งขนาด ๖ นิ้ว ข้างๆหลุมที่จะลงเสาเอกนั้น ตั้งโต๊ะขนาดไม่ใหญ่นักตัวหนึ่งปูด้วยผ้าขาว มีเครื่องสังเวยตั้งอยู่ตามที่เจ้าพิธีที่จะเป็นคนทำพิธีนี้สั่งให้นำมา มีต้นกล้วย ต้นอ้อยอย่างละ ๑ ต้นพอเป็นพิธี ต้นกล้วยต้นอ้อยนี้เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะนำไปปลูกว่าจะงอกงามเพียงใด เพื่อเป็นการเสี่ยงทายว่า กิจการที่เราทำนั้นจะเป็นอย่างไร

   ส่วนที่ปลายเสาเอกนั้น ผูกด้วยผ้าบางๆสีแดงและมีผ้าขะม้าผูกเข้าด้วย ๑ ผืน เมื่อได้เวลาแล้วนายวิรัช ผู้เป็นเจ้าของก็จุดธูปเทียนต่อหน้าเครื่องเซ่นสังเวย และอธิฐาน ในขณะเดียวกันคนงานก่อสร้าง ๔ - ๕ คนก็ช่วยกันยกเสาเอกไม้เต็งต้นนั้น ประคองให้ตั้งตรงเสาต้นนั้นก็เลื่อนลงไปในหลุมที่ขุดไว้แล้ว คนงานก็นำไม้หน้า ๓ มาตอกตรึงไว้ทั้ง ๔ ด้านเพื่อยึดไว้ไม่ให้เสาเอกล้มลงมา เป็นอันว่าเสร็จพิธี ยกเสาเอก

   ถัดจากนี้ไปนายจำปาก็จะเริ่มต้นก่อสร้างวิกเจ็ดเสมียนนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทันเฉลิมฉลองปีใหม่ พ.ศ.๒๕๐๒ ที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนนี้ แต่ยังไม่ทันที่จะได้เริ่มสร้างเลย วิกนี้ก็มีชื่อเสียแล้ว วิกนี้มีชื่อว่า      "วิกเจ็ดเสมียน สัตคามภาพยนต์" ตั้งแต่นั้นมา..

เขียนโดย นายแก้ว เสาร์ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๓

 โปรดติดตามตอนต่อไป  

      www.chetsamian.org  ขอสงวนลิขสิทธิ์ข้อมูลและรูปภาพบนเว็บไซต์ทั้งหมด โดยไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ ทำซ้ำ แก้ไข หรือ ดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด หากท่านใดต้องการข้อมูลบนเว็บไซต์ www.chetsamian.org กรุณาติดต่อ นายแก้ว โดยส่ง email ไปที่    This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เพื่อขออนุญาติเสียก่อน เนื่องจากข้อมูลและรูปภาพบางเรื่องและบางชิ้น เป็นของท่านผู้เขียนและท่านสมาชิกที่ได้เขียนเรื่องต่างๆ และให้ขอยืมภาพต่างๆมาลงไว้ ซึ่งทางผู้จัดทำเว็บไซต์จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากทางเจ้าของผลงานก่อนทุกครั้ง จึงเรียนมาเพื่อทราบ

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้387
เมื่อวานนี้303
สัปดาห์นี้1777
เดือนนี้11024
ทั้งหมด1340908

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online