ร้อยตรีอุทัย ๒ ลูกน้ำกร่อย

   น้าทัยเป็นลูกชายคนเล็กของตาเทียนกับยายขอด ซึ่งเป็นตายายของผม ตายายของผมมีลูก ๓ คน แม่ของผมคือนางสละ สุวรรณมัจฉา เป็นคนโต รองลงมาคือ นายบุญธรรม สนกระแสร์ และนายอุทัย สนกระแสร์

   น้าทัยเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว จึงมีอายุมากกว่าผมแค่สิบกว่าปีเท่านั้น ในสมัยเมื่อน้าทัยยังเป็นเด็กๆนั้น ก็เคยได้มาอยู่ที่เจ็ดเสมียนกับพี่สาวของเขา (นางสละ สุวรรณมัจฉา) ซึ่งก็คือแม่ของผมเองในระยะหนึ่ง เลยดูเหมือนว่าน้าทัยก็เป็นคนเจ็ดเสมียนด้วย

  ผมขอย้อนไปตั้งแต่น้าทัยยังเป็นเด็กๆนั่นเลยเด็กชายอุทัย สนกระแสร์ เกิดในครอบครัวค่อนข้างจะยากจน พ่อแม่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ออกทำประมงบ้างเล็กน้อยเมื่อมีเวลาว่างที่ไม่ได้ไปรับจ้าง

    น้าทัยเกิดเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๗ ที่บ้านบางตะบูน  อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เมื่อสมัยเป็นเด็กและเมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนวัดบ้านเกิดแล้วนั้น เด็กชายอุทัยต้องว่างเว้นการเรียนไปหลายปี ต่อมาเนื่องจากเด็กชายอุทัยต้องการอยากเรียนต่อ พ่อและแม่ของเด็กชายอุทัย จึงได้ส่งให้มาอยู่ที่เจ็ดเสมียนกับพี่สาวของเขา เด็กชายอุทัยจึงเหมือนเป็นคนเจ็ดเสมียนคนหนึ่งเหมือนคนอื่นๆตั้งแต่นั้น

    เมื่อเด็กชายอุทัยได้มาอยู่ที่เจ็ดเสมียนกับพี่สาวของเขา เป็นเวลานานโดยไม่ได้เรียนหนังสือ ต่อมาเด็กชายอุทัยเห็นเพื่อนๆที่เล่นด้วยกันที่ตลาดเจ็ดเสมียน ไปโรงเรียนกันทุกคนจึงได้คิดที่จะเรียนต่อเหมือนเด็กอื่นๆบ้าง
เมื่อพี่สาวและพี่เขย (คือนายหิรัญครูโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน) เห็นว่าเด็กชายอุทัยอยากจะเรียนต่อในชั้นมัธยมปีที่ ๑ นางสละพี่สาวและนายหิรัญพี่เขยจึงพาไปสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียน โพธาราม “โพธาวัฒนาเสนีย์” ในชั้นมัธยมปีที่๑ซึ่งในขณะนั้นเด็กชายอุทัยมีอายุมากกว่าใครๆในชั้นเรียนนี้หลายปี เพราะว่าว่างเว้นจากการเรียนมานาน

ภาพนี้คืออาคารเรียนของโรงเรียน โพธาราม โพธาวัฒนาเสนีย์ที่มองเห็นข้างหลังนั้น เป็นอาคารเรียนที่อยู่ที่ริมทางรถไฟ ใกล้ๆสถานีรถไฟโพธารามครับ ส่วนเด็กหญิงที่ยืนอยู่นี้เป็นหลานแท้ๆคนหนึ่งของเด็กชายอุทัย (ภาพของเด็กชายอุทัยไม่มีครับ)

   เมื่อเด็กชายอุทัยได้เรียนที่โรงเรียนโพธาฯแล้วครูหิรัญซึ่งเป็นพี่เขยเห็นว่าการเดินทางจากบ้านที่เจ็ดเสมียน ไปโรงเรียนจะได้รับความลำบากและเหนื่อยมาก คือต้องถีบรถจักรยานไปถ้าวันไหนมีฝนมีลมพายุ ก็ต้องลำบากมากขึ้น จึงคิดที่จะให้เด็กชายอุทัยอยู่เสียที่โพธารามเลย

   ครูหิรัญนึกถึงพระองค์หนึ่งที่รู้จักและนับถือกัน จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ไพโรจน์ จึงนำเด็กชายอุทัยไปหาและฝากกับพระที่วัดโพธิ์ไพโรจน์ ให้อยู่ที่นั่น

   วัดโพธิ์ไพโรจน์ซึ่งก็อยู่ห่างจากตัวตลาดไปไม่ไกลมากนักลงไปทางไต้ ซึ่งเด็กชายอุทัยจะเดินจากวัดโพธิ์ไพโรจน์นี้ไปโรงเรียนทุกวัน ตั้งแต่นั้นมาเด็กชายอุทัยก็เลยไปอาศัยอยู่กับพระ เป็นเด็กวัดที่วัดโพธิ์ไพโรจน์ตั้งแต่เข้าเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๑ ตลอดมา เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายค่ากินค่ารถเป็นอันมาก

  การเรียนของเด็กชายอุทัยก้าวหน้าไปด้วยดี การเรียนได้คะแนนดี เด็กชายอุทัยชอบเล่นกีฬาเป็นคนเด่นในเรื่องการกีฬาของโรงเรียน ที่ชอบมากที่สุดก็คือการฝึกหัดต่อยมวย ในระหว่างที่เป็นเด็กวัดนั้น ก็รวบรวมเงินจากเด็กวัดด้วยกันหาซื้อนวมและกระสอบทรายมาหัดซ้อมชกมวยกันกับเด็กวัดด้วยกันเสมอๆ

   เด็กขายอุทัยอาศัยอยู่ที่วัดโพธิ์ไพโรจน์ ใกล้ตลาดโพธารามตลอดมา จนกระทั่งเรียนจนถึงเพียงชั้นมัธยมปีที่ ๔ เท่านั้น เพราะเหตุว่านายอุทัยเว้นระยะการเรียนไปหลายปี จึงเข้ามาเรียนใหม่ จึงทำให้อายุของนายอุทัยมากกว่าคนอื่นๆ

  ในเทอมหน้าที่จะขึ้นชั้นมัธยมปีที่ ๕ นั้นเด็กชายอุทัยก็อาจจะไม่ได้มาเรียนแล้ว เพราะว่าอายุของเขาครบถึงกำหนดเกณฑ์ทหาร คืออายุ ๒๑ ปีพอดี เด็กชายอุทัย หรือในตอนนี้ต้องเรียกว่านายอุทัยนั้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

   จะต้องไปเกณฑ์ทหารที่อำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิม และได้ตั้งใจไว้ว่าถ้าหากจับฉลากได้ใบดำแล้วซึ่งแปลว่าไม่ถูกทหาร ก็จะสมัครเป็นทหารเสียเลย อยากจะใช้ชีวิตเป็นทหารแม้จะเป็นแค่พลทหารก็เอา จึงคิดว่าจะไม่ได้มาเรียนต่ออีก

   ในปีที่นายอุทัยต้องไปเกณฑ์ทหารที่อำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเก่านั้น นายอุทัยได้บอกกราบลาพระที่อาศัยอยู่ด้วยมาหลายปี เสร็จแล้วก็กราบลาเจ้าอาวาสและพระทั้งหลายตลอดจนคนที่คุ้นเคย ออกจากวัดมาอยู่ที่เจ็ดเสมียนบ้านของนางสละที่เป็นพี่สาวเสียหลายวันก่อนที่จะไปเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิด


  ผู้เขียนซึ่งเป็นหลานแท้ๆของนายอุทัยได้รู้เรื่องนี้จึงขอไปเที่ยวด้วย เพราะว่ายังไม่เคยได้ไปเที่ยวที่บ้านตายายที่บางตะบูนเลย นายอุทัยซึ่งเป็นน้าชายก็ยินยอมให้ไปแต่โดยดี  แต่บอกด้วยว่าลำบากหน่อยนะ

  ผมเตรียมตัวเอาเสื้อผ้าลงกระเป๋าตั้งแต่เมื่อคืน ก็ไม่มีอะไรมากนักหรอกครับ เสื้อยืดกับกางเกงอย่างละตัวสองตัวเท่านั้น เดือนเมษายนที่นายอุทัยต้องไปเกณฑ์ทหารที่อำเภอบ้านแหลมนั้น เป็นหน้าร้อนเครื่องนุ่งห่มจึงไม่ต้องมีอะไรมากเลย และต่อจากนี้ไปผมจะเรียกนายอุทัยว่าน้าทัย ตลอดไปนะครับ

  เพลวันรุ่งขึ้นผมกับน้าทัยจึงไปตีตั๋ว ที่ช่องขายตั๋วสถานีรถไฟเจ็ดเสมียน ขึ้นรถไฟสายธนบุรี –ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไปลงที่สถานีรถไฟบางเค็ม รถขบวนนี้จอดทุกสถานีที่เขาเรียกว่ารถหวานเย็น ใช้หัวรถจักรที่ใช้ไอน้ำ จึงวิ่งได้ไม่เร็วนักแต่ก็มีกำลังฉุดลากอย่างมหาศาล

   รถจักรที่ใช้ลากขบวนรถไฟนั้นจะต้องเติมน้ำเติมฟืนในสถานีที่กำหนดไว้ เช่น ออกจากสถานีรถไฟธนบุรี ก็ต้องมาเติมน้ำและฟืนที่ สถานีชุมทางหนองปลาดุก  แล้วก็วิ่งไปเรื่อยๆก็ต้องไปเติมน้ำและฟืน กันที่สถานีรถไฟเพชรบุรีอีก ทำให้รถต้องเสียเวลาในการนี้มาก

   สถานีรถไฟบางเค็มนั้น อยู่เลยสถานีราชบุรีไป แต่ไม่ถึงสถานีเพชรบุรี ถ้าจะนับจากสถานีเจ็ดเสมียนก็ เรียงกันดังนี้  เจ็ดเสมียน บ้านกล้วย ราชบุรี คูบัว บ่อตะคร้อ ปากท่อ แล้วก็บางเค็ม  เลยเจ็ดเสมียนไปเพียง ๖ สถานีเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่ามันไกลเสียเหลือเกิน เพราะว่านั่งรถไฟกันเป็นเวลานานมาก จริงๆแล้วเป็นเพราะรถไฟวิ่งช้าต่างหากเล่า

  ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมากมองผ่านหน้าต่างออกไป ดูทิวทัศน์ข้างทางที่รถไฟผ่านด้วยความเพลิดเพลิน ถึงแม้ว่าจะเคยนั่งรถไฟแบบนี้มาครั้งหนึ่ง ตอนไปหัวหินเมื่อหลายปีมาแล้วก็ตาม ถึงสถานีรถไฟบางเค็มก็เกือบบ่ายโมงแล้ว ยังดีนะที่ตอนจะมาเมื่อตอนเพลนั้นได้กินข้าวที่บ้านกันมาบ้าง จนถึงเวลานี้จึงยังไม่หิว ที่สถานีรถไฟบางเค็มนั้นมีคนขึ้นลงไม่มากนัก รถไฟจอดประเดี๋ยวเดียวก็ออกเดินทางต่อไป

 

  ในสมัยนั้นจากสถานีรถไฟบางเค็ม ไม่มีทางรถจะไปบางตะบูนได้เลย นอกจากทางเรืออย่างเดียวเท่านั้น หลังจากรถไฟเคลื่อนขบวนเดินทางต่อไปแล้ว ผมและน้าทัยเดินลงไต้ไปตามริมๆทางรถไฟอีกหน่อย ก็ถึงสะพานดำเป็นสะพานข้ามคลองไม่กว้างมากนัก เมื่อเดินข้ามสะพานนั้นแล้ว น้าทัยก็ลงจากทางรถไฟเดินไปตามริมคลอง ตรงนั้นมีบ้านเก่าๆอยู่เป็นกลุ่มสามสี่หลังมีต้นไม้ ขึ้นหนาแน่นทั่วไป (มารู้ชื่อภายหลังว่าเป็นต้นโกงกาง และต้นอื่นๆปนๆกันไป)

    ผมยืนหิ้วกระเป๋าผ้าใบเล็กๆรออยู่ตรงริมคลองใกล้สะพาน สักครู่หนึ่งเห็นมีคนพายเรือใส่หมวกสานใบใหญ่ ออกมาจากกลุ่มบ้านนั้นมีน้าทัยนั่งอยู่บนเรือมุ่งตรงมาทางผม สักครู่หนึ่ง เรือค่อยๆเทียบตลิ่งตรงที่ผมยืนอยู่

   “เก้วขึ้นเรือเลย ก้าวดีๆล่ะ ระวังจะตกน้ำ ” น้าทัยตะโกนบอกผมพยักหน้าพร้อมกับโยนกระเป๋าผ้าใบที่ใส่เสื้อผ้าลงไปก่อน และคิดในใจว่า ถึงแม้ว่าผมบังเอิญตกน้ำลงไปผมก็ไม่กลัว เพราะว่าเด็กเจ็ดเสมียนว่ายน้ำเป็นกันตั้งแต่เด็กๆทุกคนอยู่แล้ว คิดแล้วก็ก้าวขึ้นเรืออย่างระมัดระวัง

    “บ้านตายายไปอีกไกลต้องไปทางเรืออย่างเดียวเท่านั้น นี่ขอแรงน้านัดแกช่วยไปส่งเราหน่อยพอดีแกว่างพอดีเลย” เสียงน้าทัยบอกผมอีก

  จากสะพานใกล้สถานีรถไฟบางเค็ม ถึงบ้านตายายของผม (หรือว่าบ้านเก่าของแม่ผมซึ่งผมเพิ่งจะมาเป็นครั้งแรก) เรือที่ลุงนัดช่วยพายมาส่งเรานั้นคงใช้เวลามากพอสมควรเพราะว่าเป็นเรือพาย ในระหว่างที่นั่งเรือไปผมก็คุยกับน้าทัยไปเรื่อย

  “ไปบ้านตายายอย่างนี้ไม่มีทางอื่นเลยหรือ “ ผมถามน้าทัย น้าทัยหันมาบอกผมว่า “ไม่มีหรอกถนนน่ะ ภูมิประเทศแถวนี้เป็นลักษณะป่าชายเลน จึงสร้างถนนได้ยาก”

  เรือพายที่เรานั่งผ่านดงไม้ที่ขึ้นได้ดีตามป่าชายเลนน้าทัยบอกว่า "ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นต้นโกงกางนอกจากนั้นก็เป็นต้นตะบูน ต้นแสม ต้นลำพู และไม้อื่นๆอีกหลายชนิด”

เส้นทางที่ไปบ้านตายายของผู้เขียนนั้นเป็นลักษณะอย่างนี้ นำในลำคลองมีขึ้นมีลงถ้าน้ำลงมากๆเรือจะเดินไม่ได้ ต้องรอให้น้ำขึ้นเสียก่อน  ภาพนี้เมื่อครั้งที่ครูปราณีน้องสาวของผู้เขียน ไปเยี่ยมตายายเมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ที่เห็นในภาพนั่งข้างหลังเด็กนั้นคือ น้าชิด บ้านอยู่ใกล้บ้านตายายและเป็นญาติกันนั่งมาในเรือด้วย ตอนที่ถ่ายภาพนี้ใช้เรือมีเครื่องวิ่งกันแล้ว เมื่อสมัยที่ผู้เขียนมากับน้าทัยนั้น ต้องใช้เรือพายครับ

  ผมพยักหน้าฟังน้าทัยคุยให้ฟังด้วยความสนใจ เสียงน้าทัยพูดขึ้นกลบเสียงพายกระทบกับน้ำที่ดังจ๋อมๆ

  “ที่เขาเรียกป่าอย่างนี้ว่าป่าชายเลนก็คือ ที่นี่จะมีน้ำขึ้นน้ำลงเสมอ เวลาน้ำลงจะลงไปมาก ในคลองน้ำแทบจะแห้งเลยทีเดียว เวลาน้ำขึ้นมาจะเป็นน้ำทะเลแล้วมาผสมกับน้ำจืดแถวๆบางเค็มโน่น ทำให้น้ำแถวนี้เป็นน้ำกร่อยไปหมด น้ำกร่อยก็คือน้ำทะเลผสมกับน้ำจืดนั่นเอง ”

     แล้วน้าทัยก็คุยให้ผมฟังถึงเรื่องต่างๆมาตลอดทาง นานๆจึงมีเรือพายสวนกันสักลำหนึ่ง คนพายเรือต่างก็ทักทายกันโหวกเหวกเสียงดังลั่น

   กว่าจะถึงบ้านตายายของผม ที่เรียกว่าบางตะบูนก็เย็นพอดี  น้าทัยส่งเงินให้นายมนัสคนที่พายเรือมาส่งเป็นสินน้ำใจ แต่จะเท่าไรผมก็มองไม่ถนัด นายมนัสไม่ยอมรับเงินนั้นบอกว่า

   “ไม่เป็นไรหรอกทัย เราเป็นพี่น้องกันมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ฉันกลับละนะ”

    น้าทัยยกมือไหว้ แล้วนายมนัสก็พายเรือกลับไปทางเดิม หายไปในแนวไม้ริมคลอง..

เขียนโดย นายแก้ว

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้710
เมื่อวานนี้746
สัปดาห์นี้3071
เดือนนี้9329
ทั้งหมด1328663

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online