ร้อยตรีอุทัย ๔ การเดินทางในลำคลอง

ร้อยตรีอุทัย สนกระแสร์ ในปัจจุบันนี้ (เสื้อลาย)    

      ก่อนจะออกเรือ ยายเรียกผมกับน้าทัยกินอาหารเช้ากันแต่เช้ามืด ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก เอากันแบบง่ายๆ ยายบอกว่า “กินข้าวกันไปเลยจะได้ไม่หิวกันในระหว่างทาง กว่าจะได้กินอีกก็เที่ยงนั่นแหละ ”

     กว่าจะเสร็จเรียบร้อยอากาศก็ใกล้สว่างเต็มที ทุกคนต่างก็ก้าวลงเรือ น้าทัยกับผมใส่กางเกงขาสั้นเหมือนกัน น้าทัยใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาว ส่วนผมนั้นใส่เสื้อยืดแขนสั้น

    ญาติๆที่บ้านอยู่ใกล้ๆกัน เช่นน้าเภา น้าชิด และเด็กๆอีกหลายคนที่เป็นลูกหลาน เดินมาดูตรงสะพานท่าน้ำ ก่อนออกเรือยายของผมยังตะโกนขึ้นไปบอกพวกนั้นด้วยว่าให้มองๆดูบ้านให้ด้วย เพราะว่าที่บ้านตายายของผมนี้อยู่กันเพียงสองคนเท่านั้น

    ถ้าตายายไม่อยู่กันทั้งสองคนที่บ้านนี้ก็จะไม่มีคนอยู่ ที่จริงแล้วบ้านแถวๆนี้ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์ ลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นเลย มีความเป็นอยู่อย่างพี่น้องกันแท้ๆเลยทีเดียว ยายไม่ต้องสั่งก็ได้

   เราเริ่มออกเดินทางจุดหมายก็คือ อำเภอบ้านแหลม ที่ซึ่งน้าทัยจะต้องไปคัดเลือกทหารที่นั่น มันเป็นภูมิลำเนาเดิมของน้าทัย อำเภอบ้านแหลมนี้ในขณะนั้นผมก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ห่างไปจากบางตะบูนอีกสักกี่กิโล หรือว่าไกลสักแค่ไหน

   ยายบอกว่าน่าจะเดินทางกันสัก ๓คืนทั้งไปและกลับเท่านั้น ยายพูดพลางโยกแจวพุ้ยน้ำ ยายใส่งอบใบลานลูกใหญ่เพื่อกันแดด แจวอยู่หลักหน้า ส่วนตานั้นแจวอยู่หลักหลัง และเป็นผู้บังคับเรือให้ไปในทิศทางตามที่ต้องการด้วย

   น้าทัยกับผมนั่งอยู่ในประทุนเรือ ผมนั่งใกล้ๆไปทางตอนหน้า จึงได้คุยกับยาย ผมรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยเลยที่ได้นั่งเรือไปในระยะทางไกลๆ ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นในตอนเช้าเป็นครั้งแรก สองฝั่งคลองตอนนี้น้ำลง ริมตลิ่งมีแต่ดินเลน แต่เรือต่างๆของชาวบ้านก็ยังผ่านสัญจรไปมาได้ น้ำไม่ได้ลงจนแห้งขอดเสียทีเดียว

    ถัดขึ้นไปจากชายน้ำหน่อยหนึ่งก็เป็นต้นไม้ ที่เรียกว่าป่าชายเลน มองเห็นปลาตีนวิ่งเล่นกันอย่างสนุก ปูต่างๆก็ออกมาหากินด้วยเหมือนกัน นกบางชนิดก็บินมาเกาะยอดโกงกางคุยกันเสียงดังลั่น

   มีต้นโกงกางขึ้นเป็นแถวหนาทึบ ที่ริมตลิ่งบางตอนก็มีไม้ฟืนโกงกาง ที่เขาตัดทอนมาเป็นท่อนสั้นๆแล้ว กองอยู่เป็นแถว ซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ ที่พวกรับจ้างตัดเอาไว้ รอเรือมาบรรทุกไปที่เตาเผาถ่านอีกทีหนึ่ง เพื่อจะนำไม้เหล่านี้ไปเผาเป็นถ่านออกจำหน่ายต่อไป

   “โอ้โฮ ยาย..! อำเภอบ้านแหลมมันอยู่ไกลมากหรือยาย จึงต้องเดินทางไปกลับตั้ง ๓  คืน ” ผมถามยายแต่สายตาของผมมองออกไปยังชายฝั่งทั้งสองด้าน

   บางครั้งก็มองเห็นชาวบ้านที่รู้จักกันกับยาย พายเรือสวนมาและร้องทักทายกันเสียงดังลั่น ผมฟังไม่ออกหรอกครับเพราะยายพูดกับเพื่อนบ้านนั้นเป็นภาษาท้องถิ่น ถ้าอยากพูดได้ก็ต้องมาเรียนมาอยู่ที่นี่อีกนาน

   “น่ากลัวว่าจะเป็น ๓ คืนอย่างที่บอกนั่นแหละ เพราะว่าทางที่เราจะไปนี้ มีประตูกั้นคลอง ที่เรียกว่าประตูน้ำหลายแห่ง ” ยายผมบอกพร้อมกับโยกพายตวัดน้ำเป็นจังหวะ แบบไม่ได้เร่งเร็วอะไรนัก

    ผมก็ยังไม่เข้าใจอีกนั่นแหละว่า มีประตูน้ำแล้วทำไมจึงทำให้เรือช้าด้วย  คำตอบก็คงจะอยู่ที่ประตูน้ำเมื่อเราไปถึงนั่นแหละ

  เรือประทุนลำที่เรานั่งมาโดยมีตาและยายช่วยกันแจวมานั้น กำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ แต่จะถึงไหนบ้างแล้วนั้น ผมไม่รู้เพราะว่าผมไม่ใช่คนที่นี่ และผมไม่เคยมาเลย ผมกับน้าทัยนั่งคุยกันบ้าง นั่งๆนอนๆกันมาบ้าง

    ลำคลองที่เราผ่านมานั้นบางตอนก็กว้าง บางตอนก็แคบ บางตอนก็มีทางแยก บางตอนก็ผ่านชุมชนย่อยๆ มีบ้านเรือนปลูกอยู่ประปรายเป็นแนวเดียวกับลำคลอง ถ้าหากจะให้ผมกลับไปที่บางตะบูนคนเดียวนั้น ผมคงกลับไปไม่ถูกหรอกครับ คงจำไม่ได้แน่นอน

    ตากับยายช่วยกันแจวเรือไปเรื่อยๆ สายแล้วแดดเริ่มร้อนมาก ตากับยายเหงื่อโชกทั้งสองคนกินน้ำที่เตรียมมาไว้แล้วนั้นบ่อยๆ พอเหนื่อยและร้อนมากๆเข้า เห็นชายตลิ่งมีร่มไม้ก็แวะเข้าไปจอดพักเสียทีหนึ่ง

เหนื่อยตรงไหนก็แวะพักให้หายเหนื่อยตรงนั้น (ภาพประกอบนี้เป็นที่ท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียน)

    จนกระทั่งเลยเพลแล้ว จึงได้แวะกันริมตลิ่งที่ท่าวัดแห่งหนึ่ง เอาข้าวและกับข้าวมีแต่พวกของแห้งเช่นปลากระบอกแห้ง ไข่ต้ม หัวใช้โป๊ ซึ่งได้เตรียมมาจากบ้านเป็นอาหารมื้อกลางวันของเรา

    ผมถามน้าทัยว่า “เคยมาทางนี้บ้างหรือไม่ เมื่อสมัยที่น้าทัยอยู่ที่นี่”  น้าทัยบอกว่า “ดูเหมือนว่าเมื่อตอนเด็กๆนั้น ยายกับตาก็เคยพานั่งเรือมาทางนี้เหมือนกัน ยายกับตาเขาไปเยี่ยมญาติที่อยู่ทางบ้านแหลม แต่เส้นทางก็จำไม่ได้แล้ว เพราะว่าตอนนั้นยังเด็กๆอยู่”

     พวกเรากินข้าวกลางวันกันที่ศาลาท่าน้ำของวัดนั้น เสร็จแล้วก็ล้างถ้วยล้างจานกันที่ท่าน้ำวัดนั้นเลย แม้น้ำจะกร่อยๆบ้างก็ไม่เป็นไรอาศัยล้างจานได้  ตอนนี้น้ำกำลังลงถ้าถึงตอนน้ำขึ้น น้ำตรงนี้น่ากลัวจะเค็มไม่น้อยเหมือนกัน

    ข้าวมื้อกลางวันนี้ก็อร่อยดี ยายบอกว่ากินกันอย่างนี้ไปก่อน บ่ายๆคงจะถึงประตูน้ำ ค่อยซื้อหมูซื้อเนื้อซื้อผักมาผัดกินกัน

   ยายออกเรือต่อไปโดยพักเพียงนิดเดียวเท่านั้น ยายบอกว่า “ต้องรีบไปให้ถึงประตูน้ำก่อนค่ำ ระยะทางยังอีกไกล  ” ตาของผมเป็นคนค่อนข้างจะเงียบขรึม และเป็นคนไม่ค่อยช่างพูด

    ตลอดทางมานี้แกไม่ค่อยได้พูดอะไรออกมาเลย บางครั้งจึงคุยกับยายบ้างเล็กน้อยเท่านั้น แล้วก็ออกแรงแจวเรือและคัดท้ายไป ตาก็มองไปข้างหน้า เพื่อรักษาหัวเรือให้ตรงไปข้างหน้าไม่ให้เบนไปทางไหนได้

    คนเรานี้ก็แปลกอย่างเช่นตาผมนี้ จะมีอารมณ์ดีอารมณ์ขันบ้างก็ตอนที่ได้กินเหล้าเข้าไปแล้ว อย่างเช่นเมื่อตาผมไปที่บ้านเจ็ดเสมียน ตอนเย็นๆจะกินเหล้าแล้วก็ชอบเล่าเรื่องๆต่างๆให้เด็กๆที่ตลาดเจ็ดเสมียนฟังอย่างสนุกสนาน

    ผมถามน้าทัยว่า “ทำไมยายจึงบอกว่า จะไปให้ถึงประตูน้ำก่อนค่ำ ถ้าเราไปถึงหลังค่ำหรือมืดแล้วจะเป็นอะไรไปหรือ”  น้าทัยบอกว่า “จำได้ว่าที่ประตูน้ำนั้น เป็นที่ชุมชนมีคนอยู่กันมาก

    มีตลาดมีของขายทั้งของใช้ของกิน  ถ้าจะเปรียบก็เหมือนตลาดเจ็ดเสมียนนั่นแหละแต่ก็อาจจะเล็กกว่าบ้าง ” น้าทัยมองมาทางผมเหมือนจะถามว่าที่พูดมานั้นเข้าใจบ้างหรือไม่

    “ยายเขาอยากจะไปถึงก่อนค่ำ ก็เพื่อว่าจะได้ซื้อของมาทำกิน แล้วก็จะจอดเรือพักกันอยู่ที่ประตูน้ำนั่นเลย ถ้ามืดค่ำแล้วเรายังไปไม่ถึงประตูน้ำนั่น ระหว่างทางก็จะเป็นทางที่เปลี่ยวและมืดมากๆ  ไม่มีคนเดินทางในลำคลองกันในตอนกลางคืนหรอก ”

    ผมคุยกับน้าทัยไปไม่นานนัก เสียงน้าทัยก็เงียบไป น้าทัยเอนตัวลงนอนแล้วก็หลับไปนั่นเอง ผมจึงเอนตัวลงนอนบ้างเอากระเป๋าผ้าใบที่ใส่เสื้อผ้ามาจากบ้านหนุนหัวแล้วก็  เคลิ้มๆหลับไป

    ผมหลับๆตื่นๆในเรือประทุนลำนั้น ตอนนี้ไม่ได้มองสองข้างลำคลองแล้วผมเอนตัวลงนอนก็สบายดี บ่ายแก่ๆแดดแรงจัด ตากับยายแวะจอดเรือตามริมตลิ่งหลายครั้ง เพื่อพักเหนื่อย น้ำในถังใหญ่ที่เตรียมมากินนั้นหมดไปกว่าครึ่งแล้ว ยายคงกะว่าจะไปเติมน้ำใส่ถังไว้ที่ชุมชนประตูน้ำนั้น

    ในตอนนี้เริ่มมีเรือพายเรือแจวสวนไปมามากขึ้น ตามริมตลิ่งก็มีบ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้นทั้งสองฝั่ง ผมจึงคิดว่านี่คงใกล้จะถึงประตูน้ำแล้ว

    อีกพักหนึ่งจึงได้เห็นบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ริมคลอง เสาเรือนล้ำเข้ามาปลูกอยู่ในน้ำ มีคนเดินกันอยู่บนตลิ่งนั้น ที่นี่จึงเป็นชุมชนย่อยๆแห่งหนึ่ง ข้างหน้ามองเห็นแต่ไกลนั้นมีประตูน้ำเป็นที่เปิดปิดน้ำเข้าออก ที่ประตูน้ำนี้จะมีการเปิดปิดน้ำเป็นเวลา

    ก่อนจะเข้าเขตประตูน้ำมีเรือใหญ่น้อยต่างๆ จอดรอเวลาที่ประตูน้ำจะเปิดเป็นแถว ยายบอกให้ตาคัดท้ายเข้าจอดในที่ว่างหน้าชุมชนนั้น ไม่ไกลจากประตูน้ำเท่าไรนัก ตาคัดท้ายเข้าไปจอดอย่างนิ่มนวล น้าทัยกระโดดขึ้นไปบนตลิ่งแล้วเอาเชือกผูกตอไม้เอาไว้

    ยายบอกว่า “เราต้องพักเรือกันตรงนี้แหละ รอให้ประตูน้ำเปิด จึงจะเดินทางต่อไปได้ พวกที่เขาจอดรออยู่นี่ก็คงจะไปพร้อมๆเราเช่นเดียวกัน” 
“เขาจะเปิดกันตอนไหนล่ะยาย “  ผมถามยายอีก

    ยายบอกว่า “โดยมากมักจะเป็นตอนดึกๆนั่นแหละ เพราะว่าเขาจะต้องรอน้ำทะเลขึ้นมาให้น้ำในคลองกับน้ำทะเลเสมอกันเสียก่อน จึงจะเปิดให้เรือผ่านได้” ยายมองไปที่ประตูน้ำข้างหน้า แล้วพูดต่อ

   “ ถ้าเราเดินไปดูที่ประตูน้ำเวลานี้ จะเห็นว่าน้ำด้านนอกและด้านในประตูน้ำ จะมีระดับที่ต่างกันมากทีเดียว เนื่องจากเวลานี้ น้ำทะเลมันลง  เขาก็ปิดประตูน้ำนี้เพื่อกักน้ำที่อยู่ในคลองนั้นไม่ให้ลงตามน้ำทะเลไป  แล้วก็รอให้น้ำทะเลขึ้นมาใหม่ ระดับน้ำเท่ากันแล้วจึงจะปล่อยให้เรือไปได้”

    ยายอธิยายช้าๆทำให้ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมเราจึงต้องมาหยุดรออะไรกันที่ประตูน้ำด้วย มันเป็นอย่างนี้นี่เอง...

ประตูน้ำสมัยใหม่เป็นอย่างในภาพนี้ เป็นที่กั้นน้ำเหมือนกัน  

เขียนโดย นายแก้ว

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้776
เมื่อวานนี้746
สัปดาห์นี้3137
เดือนนี้9395
ทั้งหมด1328729

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online