๒ ปีที่โรงเรียนบ้านพุคาย

   เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔  จำไม่ได้ว่าเดือนอะไร องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีเปิดสอบบรรจุครูวุฒิ ป.กศ. ตอนนั้นผู้เขียนเพิ่งกลับมาจากนครราชสีมาและมาอยู่บ้านเจ็ดเสมียนได้ไม่กี่เดือน

   ผู้เขียนตัดสินใจลองไปสมัครสอบดู แม้ในใจจะคิดว่าไม่มีทางสอบได้ แต่ผลการสอบออกมาปรากฏว่าสอบได้ สมัยก่อนผู้ที่สอบได้จะได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการหมดทุกคน ไม่มีการขึ้นบัญชีไว้เหมือนสมัยนี้ เขาจะแบ่งการบรรจุเป็นสองรอบ ผู้ที่ได้บรรจุรอบแรกมีสิทธิ์ที่จะเลือกโรงเรียนได้ตามที่ต้องการ เช่น อยู่ใกล้บ้านหรือการเดินทางที่สะดวก  สำหรับผู้เขียนซึ่งสอบได้ที่หลังๆ ต้องรอบรรจุในรอบต่อมา

 
   อีกหกเดือนต่อมา จำได้ว่าเป็นวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๕ ผู้เขียนได้รับหนังสือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี เรียกตัวให้ไปเลือกโรงเรียน  เนื่องจากคนที่สอบได้ลำดับที่ดีกว่า เขาได้เลือกโรงเรียนที่ใกล้ๆไปหมดแล้ว โรงเรียนที่เหลือจึงล้วนแล้วแต่ไกลสุดกู่และไม่เคยได้ยินชื่อเสียด้วยซ้ำ ในที่สุดผู้เขียนจึงตัดสินใจเลือก โรงเรียนบ้านพุคาย

   โรงเรียนบ้านพุคายอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ขึ้นกับตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เนื่องจากผู้เขียนยังไม่รู้ว่าโรงเรียนนี้อยู่ตรงไหน รู้แต่ว่าไปทางแยกห้วยชินสีห์ ก่อนไปโรงเรียนสองวันจึงได้ไปสำรวจสถานที่ไว้ก่อน
 
  เมื่อ ๓๙ ปีที่แล้วถนนจากทางแยกห้วยชินสีห์ เป็นถนนลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อ เวลาหน้าแล้งก็ฝุ่นตลบ พอเข้าหน้าฝนก็เฉอะแฉะ มีรถเมล์วิ่งจากตัวจังหวัดราชบุรีถึงตำบลทุ่งหลวง (วิ่งไม่ถึงบ้านพุคาย) วันละสองเที่ยวคือ เช้า และ เย็น นอกจากนั้นยังวิ่งไม่เป็นเวลาอีกด้วย ระยะทางจากแยกห้วยชินสีห์ถึงทุ่งหลวงประมาณ ๑๑ กิโลเมตร และจากทุ่งหลวงไปถึงโรงเรียนบ้านพุคาย อีกประมาณ ๖  กิโลเมตร

 
   ผู้เขียนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครู เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๕  วันแรกได้ไปรายงานตัวกับครูใหญ่โรงเรียนบ้านพุคาย คือ นายสำราญ แก้วคำ และได้รับมอบหมายให้สอนนักเรียนชั้นประถมปีที่สาม

 

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนบ้านพุคาย มีนายสำราญ แก้วคำ เป็นครูใหญ่ในช่วงเวลาที่ผู้เขียนมาสอนที่นี่
 
   การทำงานครั้งแรกในชีวิตไม่ง่ายเลย สิ่งแรกคือต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนครูคนอื่นๆ นอกจากงานสอนหนังสือแล้ว ยังต้องทำงานอื่นที่ไม่มีในวิชาครูที่เรียนมา เช่น การทำบัญชีเรียกชื่อ สมุดประจำชั้น สมุดรายงานนักเรียนและอีกหลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องหัดทำเองและสอบถามจากครูที่เขาสอนมานานแล้ว 
   การเดินทางไปทำงานโดยใช้รถมอเตอร์ไซด์ค่อนข้างลำบาก ตอนหน้าร้อนแดดร้อนจัดแสบร้อนตัวไปหมด แต่พอหน้าฝนก็เปียกโชกไปทั้งตัว บ่อยครั้งที่เปียกปอนจนต้องขอครูใหญ่กลับบ้าน ซึ่งเป็นที่ไม่พอใจของครูใหญ่นัก

   ในสมัยนั้นตั้งแต่ทุ่งหลวงลงมาถึงโรงเรียนบ้านพุคาย เลยบ้านพุคายไปเขาเรียกว่าบ้านพุพลับ บ้านหนองวัวดำและบ้านหินสีห์ เลยไปจนติดชายแดนไทยพม่า เป็นเขตที่มีคอมมิวนิสต์อยู่มาก จนต้องมีหน่วย นพค.(หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ กรป.กลาง มาตั้งอยู่ที่หมู่บ้านพุพลับ
   จากบ้านพุคายไปบ้านพุพลับ ระยะทางประมาณห้าร้อยเมตร บ้านพุพลับมีตลาดเล็กๆที่มีตลาดนัดทุกวัน ผู้เขียนกับเพื่อนครูจะขอยืมรถจักรยานของนักเรียน ถีบไปกินข้าวกลางวันกันที่ตลาดนัดและซื้อผลไม้ ขนม มารับประทานกันที่โรงเรียน แต่ก็ไปไม่บ่อยนักเพราะกลางวันแดดร้อนจัด ปกติจะหาซื้อก๋วยเตี๋ยวกินข้างๆ โรงเรียนเสียมากกว่า

   ข้างโรงเรียนมีร้านค้าหลายร้าน ร้านหนึ่งเป็นของ ป้ามี ซึ่งผู้เขียนจะไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านป้ามีจนสนิทสนมกัน ดูป้ามีจะชอบผู้เขียนอยู่มาก อาจจะเห็นว่าเป็นคนเฉย ไม่ค่อยพูด  ดูซื่อๆก็เป็นได้

  เนื่องจากการเดินทางไปทำงานโดยรถมอเตอร์ไซด์ ค่อนข้างลำบากมากตามที่กล่าวไว้แล้ว ผู้เขียนจึงตัดสินใจที่จะไปอยู่บ้านพักครูของโรงเรียน บ้านพักครูนี้ยังไม่เคยมีครูมาอยู่เลย เพราะครูที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น หรืออยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆเช่น ที่บ้านทุ่งหลวง เป็นต้น              
   บ้านพักครูที่นี่อยู่ตรงข้ามโรงเรียน มีถนนตัดผ่านแต่ค่อนข้างเปลี่ยว หลังบ้านออกไปเป็นป่ามีต้นไม้ปกคลุมเต็มไปหมด ไม่มีบ้านคนอยู่ใกล้ๆเลยเรียกว่าอยู่เดียวโดดๆ แต่การเดินทางที่ลำบากอย่างนี้ขอเสี่ยงอยู่ก็แล้วกัน และจะกลับบ้านที่เจ็ดเสมียนทุกอาทิตย์


 
  บ้านพักครูในปัจจุบัน ได้มีการซ่อมแซมปรับปรุงจากเดิม
 
   ลักษณะบ้านพักครู เหมือนบ้านพักข้าราชการทั่วไป เป็นบ้านแบบยกสูงข้างบนมี ๒ ห้องมีครัวอยู่ด้านหลัง ข้างล่างเป็นใต้ถุนโล่ง มีน้ำประปาซึ่งต่อมาจากโรงเรียน แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาปลูกต้นขนุนไว้รอบบ้านพัก แต่ละต้นใหญ่มากจนกิ่งก้านสาขาปกคลุมหลังคาบ้านพัก 
   พอมีลมพัดมา กิ่งก้านเหล่านี้จะเสียดสีหลังคาบ้านดัง แคลก .. แคลก เท่านั้นยังไม่พอ บนต้นขนุนมีตุ๊กแกมาอาศัยอยู่เป็นร้อยตัว มันพากันปีนป่ายบนหลังคา และฝาบ้านเป็นว่าเล่น บอกตรงๆว่ากลัวมาก ยังไงก็ขออย่าให้มันเข้ามาในห้องได้ก็แล้วกัน

   การมาอยู่ที่บ้านพักครู ผู้เขียนไม่ได้เอาอะไรมามาก มีเครื่องแบบที่ใส่ทำงานและเสื้อผ้าใส่อยู่บ้านอีก ๒ -๓ ตัว ที่นอนก็มีเพียงเสื่อ หมอนและผ้าห่มผืนเล็กๆเท่านั้น นอกจากนั้นมีวิทยุที่ใช้ถ่านไฟฉายเอามาจากบ้าน พอได้ฟังแก้เหงา 
   หลังจากมาอยู่ที่บ้านพักครูแล้ว ป้ามีแกคงสงสารผู้เขียนเพราะแกรู้ว่าบ้านพักครูเปลี่ยวมาก ทุกคืนป้ามีจะให้หลานสาวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักเรียนที่โรงเรียนบ้านพุคายนี่แหละ มานอนเป็นเพื่อน เด็กคนนี้เป็นคนในท้องถิ่น จึงไม่กลัวอะไรเหมือนผู้เขียนกลัว

  จากการที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ พอมืดลงจึงต้องใช้วิธีจุดเทียน ทุกวันที่โรงเรียนเลิกผู้เขียนจะไปนั่งคุยกับป้ามี เป็นการแก้เหงาพักหนึ่งแล้วจึงกลับเข้าบ้านพัก ก่อนมืดต้องรีบอาบน้ำอาบท่าให้เสร็จ ลืมบอกไปว่าที่บ้านพักครูไม่มีห้องน้ำ เขาต่อก๊อกน้ำไว้ตรงตีนบันไดขึ้นบ้าน มีโอ่งน้ำไว้เก็บน้ำจากก๊อก การอาบน้ำจึงต้องอาบกันตรงนี้แหละ

  พอมืดลงหลานป้ามีจะมานอนเป็นเพื่อนทุกคืน ยังไม่ทันถึงทุ่มนึงก็ต้องเข้าห้องนอนแล้ว  ง่วงหรือไม่ง่วง หลับหรือไม่หลับ ก็ต้องเข้าห้องปิดประตูลงกลอนอย่างแน่นหนา นอนฟังวิทยุไปพลางๆ บางคืนที่บ้านพุพลับเขามีดนตรีของพวก นพค.มาเล่นให้ชาวบ้านดู เสียงดังมาถึงบ้านพักครูเลยทีเดียว                      

  ทุกวันตอนเช้าประมาณตีห้ากว่าๆ หลานป้ามีที่มานอนเป็นเพื่อนก็กลับบ้านไป ส่วนผู้เขียนอาบน้ำแต่งตัวเสร็จจะเดินเรื่อยๆไปโรงเรียน ถึงโรงเรียนเพิ่งจะหกโมงกว่ายังไม่มีใครมาเช้าขนาดนี้หรอก เขามากันแปดโมงเช้าเป็นอย่างน้อย ครูบางคนมักจะอ้างว่าบ้านอยู่ไกล


 ครูปราณีกับนักเรียนชายหญิงที่หน้าอาคารเรียน (อาคาร 1) เมื่อ 39 ปีมาแล้ว

อาคารเรียนหลังเดิม ในปัจจุบัน

   วันหนึ่งพอโรงเรียนเลิกตอนเย็น ผู้เขียนไปนั่งคุยที่ร้านป้ามีเหมือนเช่นเคย ป้ามีบอกว่ามีครูคนหนึ่งเดิมเขาเป็นทหาร แต่เขาสมัครมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนหนองวัวดำหรือหินสีห์นี่แหละ ผู้เขียนจำไม่ได้เสียแล้ว
   เขาขี่มอเตอร์ไซด์มาจากราชบุรี ผ่านหน้าโรงเรียนบ้านพุคายทุกวัน ป้ามีแกจะลองถามให้เผื่อจะอาศัยมากับเขาได้  เป็นโชคดีจริงๆ ที่ทหารคนนั้นตกลงให้ผู้เขียนมากับรถเขาได้ เขาใจดีมากมารู้ทีหลังว่าเขาชื่อ ครูบุญล้อม

   ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากที่ได้กลับมาอยู่บ้าน ไม่ต้องไปอยู่ที่บ้านพักครูอีก นับจากวันนั้นผู้เขียนได้อาศัยไปโรงเรียน กับครูบุญล้อมทุกวัน โดยผู้เขียนจะไปดักรอแกที่สนามหญ้าราชบุรี 
   เวลาครูบุญล้อมเติมน้ำมันรถ ผู้เขียนพยายามจะช่วยจ่ายค่าน้ำมัน แต่แกไม่ยอมแกพูดว่า ถึงครูไม่มาผมก็ต้องเติมน้ำมันอยู่แล้ว  ผู้เขียนก็ได้แต่ขอบคุณและ ยกมือไหว้ขอบคุณทุกครั้งที่แกส่งถึงหน้าโรงเรียน

 โรงเรียนบ้านพุคายนี้ขึ้นตรงกับอำเภอปากท่อ เวลาไปติดต่อราชการที่อำเภอจะลำบากมากเพราะไม่มีรถไป ครั้งหนึ่งผู้เขียนจำเป็นต้องไปติดต่องานราชการที่อำเภอ ไม่รู้ว่าจะออกจากบ้านพุคายได้อย่างไร รถเมล์ก็ไม่มี รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างสมัยนั้นก็ยังไม่มี  วันนั้นป้ามีเลยฝากให้ไปกับรถสิบล้อที่ป้ามีรู้จัก
    ในรถมีคนขับกับลูกน้องรถหนึ่งคน ปรากฏว่ารถคันนี้ไม่ได้ไปทางห้วยชินสีห์ที่ผู้เขียนรู้จัก แต่เขาไปอีกเส้นทางหนึ่งสองข้างทางเป็นป่าทึบ ตอนนั้นผู้เขียนกลัวมากแต่ไม่กล้าพูดหรือถามแม้แต่คำเดียว ได้แต่นึกในใจว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

   ในที่สุดรถสิบล้อคันนี้ก็ออกมาทางวัดหนองกระทุ่ม จนถึงปากทางถนนใหญ่ หลังจากนั้นผู้เขียนจึงต่อรถเมล์ไปอีกสองต่อจึงถึงอำเภอปากท่อ  เฮ้อ !..กว่าจะถึงอำเภอได้ช่างลำบากเสียจริงๆเชียว


 
เมื่อ ๒๓ คุลาคม ๒๕๑๖ ครูปราณี (ที่ ๓ จากขวา)  ได้ไปร่วมพิธีวางพวงมาลาในวันปิยะมหาราช ที่อำเภอปากท่อ

    มีครั้งหนึ่งที่ต้องไปร่วมพิธีวางพวงมาลา ในวันปิยะมหาราชที่อำเภอปากท่อ เนื่องจากต้องไปเช้ามาก ผู้เขียนจึงเดินทางจากบ้านไปเลยโดยไม่เข้าโรงเรียนก่อน จึงรู้ว่าการเดินทางจะสะดวกและง่ายกว่าเดินทางจากโรงเรียนออกไป ตอนหลังถ้าต้องไปอำเภอ ผู้เขียนจะเดินทางจากบ้านไปทุกครั้ง

 
 
โรงเรียนบ้านพุคายในปัจจุบัน
 
   เมื่อสอนที่โรงเรียนบ้านพุคายครบสองปีและถึงฤดูกาลโยกย้าย ผู้เขียนจึงได้ขอย้ายโรงเรียน โชคดีที่ได้ย้ายมาอยู่โรงเรียนวัดโพธิ์ราชศรัทธาธรรม ตำบลสามเรือนซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ดีใจมากที่จะได้ผ่านพ้นความลำบากเสียที แม้ว่าส่วนหนึ่งของจิตใจยังคิดถึงเพื่อนร่วมงาน นักเรียน ตลอดจนความเมตตาของป้ามี ที่มีให้มาตลอดซึ่งผู้เขียนไม่เคยลืมเลือนไปจากใจจนวันนี้. 
 
                        

เขียนโดย  ครูปราณี
๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้404
เมื่อวานนี้303
สัปดาห์นี้1794
เดือนนี้11041
ทั้งหมด1340925

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online