กว่าจะถึงวันนั้น ๔ (นิคมมักกะสัน)

  

สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ขอขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

     ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง หรือที่เรียกกันเป็นทางการว่า สถานีรถไฟกรุงเทพ เวลานี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ผมกับเตี่ยหิ้วกระเป๋าก้าวลงบันไดรถไฟมายืนอยู่บนชานชลา เตี่ยบอกว่า  “ เราเดินออกไปนอกสถานีกันเลย นี่ก็เกือบเที่ยงแล้วเราไปหาข้าวกลางวันกินกันเสียก่อน เพราะว่าต้องนั่งรถเมล์ไปอีกนานกว่าจะถึงบ้านน้าส่ง "    ดังนั้นผมและเตี่ยจึงเดินผ่านคนมากมาย ที่บ้างก็นั่งพักตามเก้าอี้ที่เขาวางให้นั่งพัก บ้างก็เดินสวนมาด้วยท่าทางอันรีบร้อน เพื่อให้ทันรถไฟขบวนใดขบวนหนึ่ง เข้าชานชลาหรือว่ากำลังจะออกจากชานฃลาไป คนที่รีบร้อนเหล่านี้บางคนก็มารอรับญาติๆของตัว และบางคนก็มาขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางไปในที่ต่างๆ ผมเดินผ่านคนเหล่านี้กว่าจะผ่านคนเหล่านี้มาได้ก็ใช้เวลาพอสมควร

   ขณะที่ผมเดินตามเตี่ยต้อยๆนั้น ผมคิดของผมว่า กรุงเทพฯ ผู้คนทำไมจึงมากมายอย่างนี้ เขาไปไหนกัน ดูมันชุลมุนวุ่ยวายเคลื่อนไหวกันตลอดเวลา เหมือนเป็นตัวใครตัวมันไม่มีใครอยากยุ่งกับใคร นี่เป็นเพียงที่ผมเห็นภาพอย่างนี้ในครั้งแรกเท่านั้น ทำให้คิดว่าไม่อยากอยู่เสียแล้วที่กรุงเทพฯ อยากจะกลับไปอยู่ที่บ้านเราที่ตลาดเจ็ดเสมียนดีกว่า ที่นั่นมีแต่ความเงียบสงบ มองเห็นใครก็รู้จักกันหมดทุกคน ไม่ค่อยมีคนแปลกหน้ามาให้เห็น ทุกคนเป็นมิตรไมตรีกันดี

  แต่เอาละ ..ในเมื่อผมได้ตัดสินใจแล้วที่จะมาอยู่ มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯนี่ ก็ต้องใจสู้เข้าไว้ เอาไว้เมื่อผมไปถึงบ้านน้าส่ง ตลอดจนได้อยู่กับน้าส่งแล้วก็คงจะเคยชินแล้วก็จะดีขึ้นเอง นี่เป็นความหวังของผมทั้งๆที่ยังไม่รู้เลยว่า สภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะไปอยู่นั้นจะเป็นอย่างไร

 

   ด้านในสถานีกรุงเทพ ขอขอบคุณภาพจาก  วิกิพีเดีย

    เตี่ยกับผมกินข้าวขาหมูที่ตึกแถวข้างนอกสถานีรถไฟหัวลำโพง ริมถนนทางที่จะไปวัดดวงแข คนละจานเท่านั้น ข้าวขาหมูจานนั้นผมกินได้นิดเดียวด้วยซ้ำไป ผมตื่นเต้นเนื่องจากปรับตัวยังไม่ทันกับสภาพอย่างนี้ มันวุ่นวายเกินไปจนไม่หิวข้าว เสร็จแล้วเตี่ยพาผมเดินข้ามถนนไปรอรถเมล์ประจำทาง เมื่อขึ้นรถเมล์เรียบร้อยแล้วจากนั้นผมก็ไม่รู้ว่า รถเมล์จะพาผมไปทางไหนบ้าง เมื่อรถผ่านสถานที่สำคัญๆเตี่ยก็จะบอกผมว่า สถานที่ตรงนี้ หรือวงเวียนแห่งนี้เขาเรียกว่าอะไร มารู้อีกทีเมื่อเตี่ยบอกว่า ตรงนี้เขาเรียกว่าตลาดประตูน้ำ รถเราเวลานี้กำลังวิ่งอยู่บนถนน ราชปรารภ ผมมองดูที่เตี่ยบอกว่าตรงนี้คือตลาดประตูน้ำ เห็นมีคนเดินกันขวักไขว่ ผมดูอะไรไม่ได้มากรถเมล์ก็เลี้ยวเข้าไปถนนเลียบทางรถไฟเสียแล้ว

    ชั่วโมงกว่าๆมาแล้วรถเมล์คันที่ผมกับเตี่ยนั่งมานั้น ก็วิ่งเข้าเขตุโรงงานมักกะสัน เตี่ยชี้ให้ดูว่า นี่คือสถานีรถไฟมักกะสัน เส้นทางของรถไฟสายนี้จะไปสิ้นสุดที่สถานีอรัญประเทศจังหวัดปราจีนบุรี โรงงานมักกะสันตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับสถานีรถไฟมักกะสัน มีรางรถไฟสายตะวันออกกั้นอยู่เท่านั้นเอง  ผมมองตามไปได้เห็นแต่ไม่ถนัดนักเพราะมีกำแพงก่อด้วยอิฐแดงๆสูงสัก ๒ เมตรกั้นอีกทีหนึ่ง แต่ก็จะพอมองออกว่า โรงงานใหญ่ๆแห่งหนึ่ง โรงงานมักกะสันนี้เป็นโรงงานซ่อมรถไฟที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก มีโรงงานรายเรียงเป็นแถวยาวขนานไปกับทางรถไฟสาย อรัญประเทศ มองดูสุดสายตา ในตอนแรกนี้ผมจะยังไม่บอกว่า มีโรงงานอะไรบ้าง เขาทำอะไรกันที่ในโรงงาน เอาไว้ในภายหลังเมื่อผมได้เข้าไปอยู่ในโรงงานเสียก่อน จึงจะบอกอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง รถเมล์ที่ผมกับเตี่ยนั่งมานี้ปลายทางของมันอยู่ที่ในนิคมมักกะสันนี่เอง ซึ่งพวกเราตั้งใจว่าจะมาลงกันตรงนี้พอดี  อาศัยว่าเตี่ยเคยมาที่บ้านน้าส่งนี้หลายครั้งแล้ว จึงพาผมเดินผ่านบ้านที่เป็นแถวๆ คล้ายๆกันหรือเหมือนกันทั้งหมด มุ่งไปยังบ้านพักของน้าส่งทันที

 
   ขออธิบายให้ทราบเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย เพื่อว่าจะได้อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายขึ้น ที่เรียกว่านิคมมักกะสันนั้น ก็คือหมู่บ้านที่พักของคนที่ทำงานรถไฟนั่นเอง และโดยส่วนใหญ่ซึ่งผมคิดว่า  ๙๘ % ของคนที่มาพักในบ้านพักนิคมมักกะสันนี้ จะเป็นคนที่ทำงานในโรงงานมักกะสันแทบทั้งนั้น จะมีคนรถไฟจากที่อื่นๆบ้างก็นิดหน่อยประมาณสัก ๒ % เท่านั้น

  โรงงานมักกะสันเป็นโรงงานใหญ่มาก มีหลายกองหลายฝ่ายหลายแผนก จึงมีพนักงานและคนงานมากมายยิ่งนัก  ผมว่ารวมหมดทั้งโรงงานแห่งนี้น่าจะมีพนักงานหรือที่เรียกว่า คนรถไฟไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ คน แต่คนในจำนวนนี้ไม่ได้บ้านพัก ที่นิคมมักกะสันทั้งหมดหรอกครับ คนส่วนใหญ่ที่ทำงานที่โรงงานนี้จะพักอยู่ที่บ้านของตัวเอง ซึ่งผมได้ทราบในภายหลังว่า บางคนอยู่ไกลมากๆก็มี เช่นผู้ร่วมงานกับผมบางคนอยู่ไกลถึง หัวตะเข้ ก็มี.

   ถึงกระนั้นที่นิคมมักกะสัน ซึ่งเป็นนิคมที่พักของคนรถไฟ ก็มีคนมากมายและแออัดเต็มที เพราะว่าถ้าเรารวม ลูกเมียญาติพี่น้องต่างๆที่มาอาศัยอยู่ด้วยก็จะเป็นจำนวนคนที่อยู่ในนิคมนี้มหาศาล อย่างเช่นผมที่จะมาอาศัยเขาอยู่นี้เป็นต้น
    ถึงอย่างไรบ้านพักที่นี่ก็ปลูกกันแบบมีแผนมีแปลน เรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบเพราะว่าเป็นของหลวง ไม่ใช่สลัมคลองเตยที่ปลูกกันระเกะระกะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยดังที่เราเคยเห็นมาแล้ว

   ลักษณะบ้านพักในนิคมมักกะสันนั้น ผมจำได้ว่ามีหลายแบบ ถ้าคิดแล้วก็จะเหมือนหมู่บ้านจัดสรรในสมัยนี้ บ้านสองชั้นหลังใหญ่ๆเป็นบ้านเดี่ยวซึ่งในนิคมมักกะสันนี้มีจำนวนไม่มากนัก จะปลูกแยกออกไปห่างๆให้เป็นสัดเป็นส่วนกับบ้านพักแบบเป็นแถวๆธรรมดา
    บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ๆนี้ จะปลูกอย่างสวยงาม มีบริเวณที่ว่างให้ปลูกต้นไม้ไว้ดูเล่น  เท่าที่เห็นโดยมากมักจะปลูกต้นมะม่วงเอาไว้เป็นร่มเงา และกินลูกมันด้วย บ้านที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นบ้านพักของคนรถไฟชั้นผู้บริหาร ตำแหน่งใหญ่ๆของการรถไฟที่ทำงานในดรงงานมักกะสันนั่นเอง

 มองดูให้ดีห้องพักคนรถไฟระดับเล็กๆนั้นจะเป็นแถวๆละ ๑๐ ห้อง มี ๒ ชั้น ด้านหน้าบ้านจะมีบันใดขึ้นไปชั้นบน บันใดนี้จะใช้ได้ ๒ ห้องต่อ ๑ บันใด ถ่ายจากของจริงเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว

   ส่วนบ้านพักทั่วไปที่คนรถไฟธรรมดาๆพักกันนั้น จะมีลักษณะเป็น ๒ ชั้น เป็นแถว ๆละ ๑๐ ห้อง แต่ละห้องก็ไม่ได้กว้างขวางอะไรนัก บ้านแถวเหล่านี้แต่ละแถวจะหันหลังชนกัน ด้านหน้าของห้องแถวนั้นเป็นบันใดขึ้นไปชั้นบน ซึ่งบันใดนี้มี ๒ แบบ แบบหนึ่งจะอยู่นอกบ้าน  ๑ บันใดใช้ร่วมกันขึ้นชั้นบนได้ ๒ ห้อง อีกแบบหนึ่งบันใดก็อยู่นอกบ้านเหมือนกัน แต่เป็นบันใดของบ้านใครบ้านมัน
    ส่วนทางเดินระหว่างห้องแถวจะเป็นทางเดิน ไปมาหาสู่กันได้ทุกๆแถว ถนนหรือทางเดินหน้าบ้านไม่ใหญ่มาก ถ้าขับรถเข้าไปแล้วก็จะหลีกกันไม่ได้ ดังนั้นการไปมาหาสู่กันจึงใช้เดินไปหากันจะสะดวกมากที่สุด

 

 นี่เป็นบ้านพักคนรถไฟอีกแบบหนึ่ง ที่มีบันใดขึ้นข้างๆ บ้านใครบ้านมัน

    สำหรับความเป็นอยู่ของชาวนิคมมักกะสันนั้น ก็คิดว่าน่าจะเหมือนๆกับในชุมชนอื่นๆที่มีคนอาศัยหนาแน่น จึงต้องมีการกระทบกระทั่งกันตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการทะเลาะวิวาทกันซึ่งก็เป็นของธรรมดาของคนหมู่มาก
    ในตอนเช้าตั้งแต่ ๗.๐๐ น.เป็นต้นไป ผู้ที่มีหน้าที่ต้องไปทำงานที่โรงงานก็พรั่งพรู ออกไปยังโรงงาน คนที่ไม่ได้ทำงานที่โรงงานเพียงแต่มาอาศัยเขาอยู่แต่ทำงานที่อื่นก็พากันออกไปทำงาน ในตอนกลางวันที่บ้านพักคนรถไฟนิคมมักกะสัน จึงค่อนข้างจะเงียบ ตกตอน ๕ โมงเย็นโรงงานเลิก คนเหล่านี้ก็พรั่งพรูกันออกจากโรงงานมุ่งตรงไปยังบ้านพักของใครของมัน ส่วนพวกหนุ่มๆที่ยังไม่มีครอบครัว ก็จะเถลไถลไปเที่ยวกันต่อแถวๆตลาดประตูน้ำ จนค่ำแล้วจึงเข้าบ้าน
กิจวัตรประจำวันของชาวรถไฟ ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักนิคมมักกะสัน ก็วนเวียนอยู่เช่นนี้ และที่นี่แหละครับที่ผมจะต้องมาอยู่ที่นี่หลายปี..

    จากสุดทางที่เป็นอู่รถเมล์จอด เตี่ยพาผมเดินวกวนอยู่ภายในทางเดินของบ้านพักเหล่านี้ บริเวณบ้านพักปลูกเป็นแถวๆ ซึ่งดูเหมือนว่าคล้ายๆกันไปเสียหมด ผมคิดว่านี่ถ้าให้ผมกลับบ้านแล้วกลับมาที่นี่อีกแบบมาคนเดียว ยังไม่แน่ใจว่าจะเข้ามาถูกหรือเปล่า

ในภาพนี้ผู้เขียนในขณะนั้นได้เป็นคนรถไฟแล้ว ทำงานประจำอยู่ในโรงงานมักกะสัน ภาพนี้ตั้งใจว่าจะแสดงให้เห็นว่า บ้านพักหลังนี้เป็นห้องริมสุดจึงได้ปลูกต้นกระดังงาเป็นซุ้มใหญ่ได้ ยายจะนั่งในรั้วไต้ต้นกระดังงานี้เป็นประจำ (ภาพจริงที่ผู้เขียนเคยอาศัยอยู่)

     สักพักหนึ่งเตี่ยพาผมมาหยุดอยู่ที่หน้าห้องแถวหลังหนึ่งซึ่งเป็นห้องริมสุด  ที่หน้าห้องนี้มีรั้วกั้น มีประตูปิดเปิด ข้างๆรั้วด้านในเจ้าของบ้านปลูกต้นกระดังงาเป็นซุ้มต้นใหญ่มองดูแล้วก็ให้ความร่มรื่นดีมาก ไต้ซุ้มกระดังงานั้นเป็นร้านนั่งเล่น หรือแคร่ตัวใหญ่ที่นั่งได้หลายๆคน
ด้านในของรั้วไม้เมื่อมองเข้าไป เห็นผู้หญิงสูงอายุคนหนึ่งนั่งอยู่บนร้านไม้นั้น ผมเห็นเตี่ยมองเข้าไปแล้วร้องเรียกคนสูงอายุนั้นเบาๆ “ยาย ยาย ยาย ” คนที่เตี่ยเรียกว่ายายนั้นหันมามอง แล้วร้องถามว่า “ใครกันน่ะ ” เตี่ยบอกว่า “ฉันเอง ครูลิวมาจากเจ็ดเสมียน ” ยายเพ่งมองสักครู่หนึ่ง แล้วบอกว่า “อ๋อ เข้ามา เข้ามา ครูพาใครมาด้วยน่ะ ”

 ยายปุก (ตัวจริง สถานที่จริง) กำลังนั่งอยู่ภายในรั้วภายไต้ซุ้มกระดังงา ที่หน้าบ้านพักคนรถไฟนิคมมักกะสัน

    เตี่ยบอกยายแล้วผลักประตูไม้นั้นพาผมเดินเข้าไป เตี่ยวางกระเป๋าหิ้วลงแล้วยกมือไหว้ พร้อมกับบอกผมว่า คนนี้เรียกเขาว่า “ยาย ” นะ ยายเป็นแม่ของน้าส่งที่เราต้องให้เขาช่วยเหลือเรา ในเรื่องเข้าโรงเรียนการรถไฟด้วย และถ้าเก้วสอบได้ก็คงจะต้องอยู่กับเขาไปอีกนาน ผมวางกระเป๋าลงและก็ยกมือไหว้ ยายคนนี้อย่างนอบน้อม ..

    เตี่ยกับยายคุยกันถึงเรื่องที่จะพาผมมา ให้น้าส่งพาไปสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนช่างของการรถไฟ ได้ยินยายพูดขึ้นว่า “ ทางโรงเรียนเขายังเปิดรับสมัครอยู่ เห็นมีเด็กๆในนิคมนี้ไปสมัครกันมากเหมือนกัน ” ยายบอก “ รอไอ้ส่งมันก่อนวันนี้มันไปทำงานจะกลับมาตอนโรงงานเลิกประมาณ ๕ โมงเย็นนั่นแหละ “
    เตี่ยถามถึงตา ยายบอกให้เข้าไปข้างในก่อน ตาแกนอนอยู่ข้างใน  เตี่ยกับผมจึงเดินเข้าไปในตัวบ้าน  ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า บ้านพักของคนรถไฟที่นิคมมักกะสันนั้น มีลักษณะเป็นสองชั้น  เป็นห้องเล็กๆตื้นๆ ลักษณะก็เหมือนทาวเฮาส์โดยทั่วไปในสมัยนี้ แต่ว่าตัวบ้านจะตื้นกว่ามาก ดูๆแล้วคับแคบ
ผมคิดว่าความประสงค์ของทางการ ที่ปลูกบ้านเป็นห้องแถวสองชั้นเล็กๆแบบนี้ ก็เพื่อจะให้คนรถไฟได้พักอาศัยกันชั้นบนซึ่งเป็นห้องนอนใหญ่ห้องหนึ่ง และห้องเล็กๆข้างๆบันไดทางขึ้นอีกห้องหนึ่ง ส่วนชั้นล่างนั้นความประสงค์ของเขาก็จะให้เป็นที่ทำครัวเท่านั้นเพราะว่าพื้นที่ไม่กว้างนัก อีกอย่างหนึ่งที่กินที่ไปทำให้ชั้นล่างแคบคือต้องกั้นเป็นห้องน้ำอีกส่วนหนึ่งด้วย

   เตี่ยกับผมเดินเข้าไปในบ้าน ชั้นล่างของบ้านนี้ไม่มีไฟเปิดเอาไว้สักดวงเดียวจึงทำให้อากาศมืดๆทึบๆ ผมมองเห็นคนสูงอายุคนหนึ่งนอนอยู่บนเตียงซึ่งมีฟูกปูไว้ชั้นหนึ่ง ผมที่ศรีษะหงอกจนเป็นสีขาวทั้งหมด บางจนเกือบจะล้าน

    คนที่นอนอยู่ตรงหน้าเตี่ยกับผมนี้ คือคนที่ผมเรียกแกว่าตาในสมัยที่ผมยังเด็กอยู่ที่เจ็ดเสมียนนั่นเอง  ตาซึ่งในสมัยก่อนที่อยู่ที่เจ็ดเสมียนนั้น แกเป็นนายตรวจทางรถไฟ ซึ่งมีบ้านพักอยู่ตรงกันข้ามกับสถานีรถไฟเจ็ดเสมียน ผมถามยายว่า

   “ตาไม่สบายหรืออย่างไร แกจึงได้นอนแซ่วอยู่บนเตียงอย่างนั้น ” 

    ยายบอกว่า “แกไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรหรอก แต่ที่แกนอนอยู่อย่างนี้ เพราะว่าแกไปไหนไม่ได้ ตาแกบอดสนิทหมดทั้งสองข้าง ” 

    ผมว่า  “อ้าวแกเป็นได้อย่างไร เป็นมานานหรือยัง”  ยายยังไม่ทันตอบ เตี่ยที่นั่งอยู่ตรงนั้นก็บอกผมเสียก่อน “แกเป็นมานานแล้ว แต่ค่อยๆเป็นแล้วก็เป็นทีละข้าง รู้สึกว่าในครั้งแรกจะเป็นต้อก่อนแล้วไม่ได้ไปรักษา มันก็เลยเป็นอย่างนี้ ข้างหนึ่ง ”

    ยายพูดต่อว่า “อีกข้างหนึ่งที่บอดไปนั้น ไอ้ส่งมันทำตาพ่อมันบอดไปเอง คือคืนหนึ่งไอ้ส่งมันกินเหล้ากับพวกมัน ที่ตรงนี้แหละ มันเมามากมันก็เลยล้มตัวนอนตรงนี้ ”  ยายชี้มือให้ดูที่เตียงนอนของตา “ ไอ้ส่งมันนอนดิ้น สงสัยมันจะเอาศอกไปถองถูกตาของพ่อมันอย่างแรง ตอนเช้าพ่อมันตาบวมปิดเลย จึงพากันไปหาหมอ หมอก็ให้ยามารักษากันไปอย่างไรไม่รู้ ตาข้างนี้ค่อยๆมองไม่เห็นและรักษาอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น ตกลงตาเลยบอดมองไม่เห็นทั้งสองข้าง ”  ผมได้ยินยายบอกแล้วก็ยังไม่เชื่อนักที่ลูกนัยตาของตาจะบอดไปเพราะเหตุนี้..

   ตาที่นอนอยู่ตรงนั้นแกไม่ได้นอนหลับหรอกครับ ผมสังเกตุดูเห็นว่าแกก็กำลังเงี่ยหูฟังคนกำลังคุยกันอยู่ใกล้ๆที่แกนอนนี่เอง แกคงจะอดรนทนไม่ได้จึงได้ เอ่ยปากถามขึ้นมาเบาๆว่า “ใครน่ะ ”  ยายบอกว่า ” ครูแกมาเยี่ยม “  “ครูไหนกัน” ตาถามขึ้นมาด้วยความสงสัยอีก เพราะว่าเป็นเวลานานแล้วที่เตี่ยไม่ได้มาที่นี่ แกคงนึกไม่ถึงว่าเตี่ยและผมจะมาหาแกถึงที่นี่ ยายบอกว่า

    “ครูลิวผัวอีหละที่อยู่ที่เจ็ดเสมียนไง จำได้หรือเปล่า “

โปรดติดตามตอนต่อไป.

 


  นายแก้ว ผู้เขียน นิคมมักกะสันในอดีต

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้666
เมื่อวานนี้594
สัปดาห์นี้2281
เดือนนี้8539
ทั้งหมด1327873

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online