คนอง คุ้มประวัติ

ชีวิตของเด็กตลาดเจ็ดเสมียน เมื่อยามหน้าน้ำๆในแม่น้ำแม่กลองขึ้นล้นตลิ่ง ไหลเข้าสู่ลำคลองต่างๆเรียกว่าฤดูน้ำหลาก ที่ตำบลเจ็ดเสมียนมีคลองหลายลำคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง เช่นคลองหลังตลาด คลองท่ามะขาม คลองวัดสามชัย และคลองวัดตึก
หน้าฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเชี่ยวกรากเข้าทางลำคลองเหล่านี้ ปลาเล็กปลาน้อยต่างก็ร่าเริง ว่ายหลั่งไหลเข้าไปในลำคลองเหล่านี้

คลองหลังตลาดเจ็ดเสมียนเป็นคลองที่สำคัญที่สุดของเด็กเจ็ดเสมียน พวกเราเอาสวิง เอาตาข่ายไปตักปลา ช้อนปลากันอย่างสนุกสนาน ที่คลองหลังตลาดมีศาลเจ้าแม่เจ็ดเสมียนอยู่ริมคลอง ตรงศาลเจ้านั้นมีประตูระบายน้ำ ที่เป็นเพียงแผ่นไม้หนาๆใส่ลงไปในร่องเพื่อกั้นน้ำที่ไหลเข้าไปในคลองมากเกินไปเท่านั้น

พวกเราเด็กเจ็ดเสมียนยืนตรงประตูระบายน้ำนี้ พลางเอาสวิงช้อนปลาไปตามน้ำที่กำลังไหลเชี่ยว ช้อนแต่ละครั้งจะได้ปลาเล็กปลาน้อย ปลาสร้อย ปลารากกล้วย ปลาหมู และปลาอื่นๆ ครั้งละมากๆ

เจ็ดเสมียนยามนั้นเป็นตำบลเล็กๆที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คนขยันไม่อดอยาก ธรรมชาติสร้างมาให้อย่างเหลือเฟือ

พวกผมช้อนปลากันตรงนี้ตั้งแต่เช้า ไม่ถึงเพลก็เลิกแล้วเพราะว่าได้ปลาเล็กปลาน้อยกันคนละกว่าครึ่งปี๊บ (น้ำมันก๊าด) มากกว่านี้ก็จะแบกไปบ้านไม่ไหว

ไปถึงบ้านแม่จะเอาปลาเหล่านี้ส่วนหนึ่ง นำไปล้างให้สะอาด แล้วทอดในกระทะที่มีน้ำมันเยอะๆ กลับไปกลับมาเกรียมได้ที่แล้วตักน้ำมันออกให้แห้งแล้วใส่น้ำปลาสร้อยแท้ ที่ได้หมักใส่โอ่งไว้เมื่อปีก่อนๆ ฟุ๊บ...! ลงไปในกระทะที่กำลังร้อนๆอยู่ กลิ่นหอมๆเค็มๆลอยขึ้นมาทำให้หิวข้าวยิ่งนัก

ปลาที่เหลือแม่บอกว่าถ้ามีคนมาซื้อก็จะขายไป ถ้าไม่มีคนมาซื้อก็จะเอาปลาสร้อยเหล่านี้ หมักเป็นน้ำปลาไว้กินในปีหน้าอีกต่อไป

ผมเป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียน ย่อมจะมีเพื่อนๆในตลาดที่เป็นรุ่นเดียวกันมากมาย แต่มีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกันจริงๆที่เรียกว่า " คู่หู " เขาคือ คุณคนอง คุ้มประวัติ แต่ผมเรียกเขาเมื่อครั้งที่เป็นคู่หูกันนั้นว่า "ไอ้เหม่ง" แล้วผมจะเล่าวีรกรรมของผมกับไอ้เหม่งให้คุณฟัง ในโอกาสต่อไปครับ.
นายแก้ว ๔ ต.ค.๕๕

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้383
เมื่อวานนี้303
สัปดาห์นี้1773
เดือนนี้11020
ทั้งหมด1340904

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online