อุทยานมังกรสวรรค์

 

อุทยานมังกรสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี

   ก่อนหน้าที่ผู้เขียนคิดจะไปเที่ยวที่อุทยานมังกรสวรรค์ และศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ทางอุทยานได้มีการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่

     ในโอกาสครบรอบ ๓ ปีของการก่อสร้างมังกรสวรรค์ขึ้นมา และได้ออกโทรทัศน์ทางช่อง ๓ ก่อนข่าว ๒ ทุ่มอยู่หลายชั่วโมง บังเอิญในวันนั้นที่บ้านก็เปิดดูอยู่

    ทำให้คิดว่าที่จริงแล้วศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และอุทยานมังกรสวรรค์ ซึ่งอยู่ในที่เดียวกัน อยู่ใกล้บ้านแท้ๆ แต่ยังไม่เคยได้เข้าไปเที่ยวเลย ดังนั้นเราควรไปกราบไหว้ เจ้าพ่อศาลหลักเมืองกันบ้าง มาอยู่ที่สามชุก สุพรรณบุรีนี้ก็ร่วม ๑๐ ปีเข้าไปแล้ว ยังไม่เคยไปที่ศาลหลักเมืองเลย

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สุพรรณบุรี 

    เมื่อคิดได้ดังนั้น ในวันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ ผู้เขียนพร้อมกับครอบครัวลูกหลานได้ไปเที่ยวกันที่ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและอุทยานมังกรสวรรค์ โดยลูกชายเป็นคนขับรถไป

    พวกเราออกเดินทางจากบ้านในตอนสายๆ ประมาณ ๙ โมงเช้า ที่ไม่รีบร้อนอะไรนักก็เพราะว่า บ้านที่เราอยู่นั้นก็คือ ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชมงคล สุพรรณบุรี ไม่ไกลจากตัวจังหวัดเท่าไรนัก ประมาณ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น ขับรถอย่างสบายๆประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้นก็จะถึง

    ที่จริงแล้วที่ในตัวจังหวัดสุพรรณบุรีนี้ มากันบ่อยๆโดยเฉพาะหลานของผู้เขียนเรียนเปียโนที่โรงเรียนสอนดนตรี ทุกวันเสาร์ ก็เปลี่ยนๆกันพามาส่ง สรุปแล้ว ในตัวจังหวัดมากันบ่อยมาก แต่ตรงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยังไม่เคยมากราบไหว้กันเลย

    การเดินทางไปที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองก็ไม่ยาก เมื่อถึงตัวจังหวัดแล้วทุกท่านจะต้องไปถูกอย่างแน่นอน เพราะว่าเขาจะมีป้ายบอกตลอดทางถี่ยิบเลยว่า “ทางไปอุทยานมังกรสวรรค์ ” แล้วก็มีลูกศรชี้ไปทางนั้น ระยะทางเท่าไรก็บอกเสร็จ ขนาดว่าอีก ๒๐๐ เมตรจะถึง เขาก็จะบอก ทั้งๆที่มองเห็นมังกรสวรรค์ ขนาดใหญ่ยักษ์ตั้งโทนโท่อยู่ข้างหน้าแล้ว

ลานจอดรถมองจากที่สูงจะเห็นรถจอดกันเป็นระเบียบ ภาพนี้มองเห็นที่จุดประทัดซึ่งเป็นแผงหันหลังให้เราด้วย

    เมื่อมาถึงก็เห็นผู้คนเดินกันขวักไขว่ แต่งกายสีฉูดฉาดสวยงาม ทำให้จิตใจของเราพลอยตื่นเต้นไปด้วย  แต่เราจะเข้าไปจอดรถตรงข้างหน้าศาลเจ้าพ่อ หรือตรงข้างหน้ามังกรสวรรค์ไม่ได้ครับ  เราจะต้องเอารถเข้าไปจอดในลานจอดรถเสียก่อน ดังนั้นเราจึงเลี้ยวไปตามป้ายที่บอกว่า “ ที่จอดรถ ” คือเลี้ยวเข้าไปทางด้านซ้าย

    พอโผล่เข้าไปเท่านั้นแทบไม่เชื่อสายตา ที่จอดรถนั้นเขาทำกว้างขวางมาก เป็นสัดเป็นส่วนเทคอนกรีตเสียอย่างดี  กว้างไปจนติดกับแม่น้ำท่าจีนเลยนั่นเทียว
    รถส่วนตัวซึ่งเป็นรถส่วนใหญ่ก็จะจอดที่หนึ่ง พวกรถบัสรถทัวร์ก็อีกที่หนึ่ง จำพวกรถมอร์เตอไซค์นั้นก็จะอยู่อีกที่หนึ่ง แต่ละอย่างก็จะจอดตามนั้น จะมาจอดกันเกะกะกันตามใจแบบงานวัดไม่ได้เด็ดขาด เขามีเจ้าหน้าที่คอยบอกทางเครื่องขยายเสียงตลอดเวลา

ลานจอดรถยังไม่มีร่มไม้จึงร้อนมาก ด้านขวามือที่เป็นเต๊นท์นั้นคือโรงเลี้ยงอาหารหรือโรงทาน

     สังเกตดูลานจอดรถนั้นเขาคงทำยังไม่เสร็จดี ยังไม่ได้ปลูกหญ้าปลูกต้นไม้เลยจึงยังดูไม่ร่มรื่น ถ้าจอดรถไกลๆแล้วก็ต้องเดินตากแดดกันหัวแดง กว่าจะถึงบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

   ผู้เขียนจอดรถแล้วก็รีบเดินกัน เพราะว่าไกลจากงานพอสมควร วันนี้มีรถมากเป็นพิเศษเพราะว่าเป็นวันหยุดและเป็นวันเที่ยวของชาวจีนกัน

ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านสักหน่อยนะครับ

   ที่ผู้เขียนเล่าเรื่องและลงภาพบรรยายมาตั้งแต่ต้น และจะเสนอไปจนจบนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ยังอยู่ในเทศกาลตรุษจีนนะครับ  ส่วนวันธรรมดาและวันเทศกาลอื่นๆจะเป็นอย่างนี้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

   เมื่อเดินจากที่จอดรถเข้ามาใกล้หน่อย แต่ยังไม่ถึงประตูทางเข้าศาลเจ้าพ่อ ได้ยินเสียงประทัดดังสนั่นทางด้านซ้ายมือ มองเข้าไปเห็นประทัดที่ห้อยเป็นพวงกำลังแตกเปรี้ยงปร้างพอดีดังสนั่น จนหลานสาวที่เดินมาด้วยกันต้องเอามืออุดหู

    ที่ตรงนี้เขาทำเป็นที่สำหรับจุดประทัดโดยเฉพาะ ใครบนบานอะไรไว้และจะต้องจุดประทัดถวายเทพเจ้าองค์ใดที่เราบนบานเอาไว้ ก็จะต้องมาจุดตรงที่นี้ จะไปจุดที่อื่นๆ เช่นที่หน้าศาลเจ้าพ่อ หรือบริเวณอุทยานมังกรสวรรค์ไม่ได้ เพราะว่าเสียงของประทัดจะไปรบกวน หูและสมาธิของผู้อื่น

     ที่สำหรับจุดประทัดนั้นเขาทำเป็นกำแพงอิฐบล็อก ยาวสักประมาณ ๑๐ กว่าเมตร และก่อขึ้นไปเสียสูงลิ่ว ตรงปลายของกำแพงเขาก่อบล็อกหักเข้ามาทั้งสองข้าง คงจะเก็บเสียงได้บ้างเพื่อไม่ให้หนวกหูท่านผู้อื่น ที่อยู่ใกล้หรือเดินผ่านไปมา

ภายในเต๊นท์ที่ประกอบอาหาร

    ถัดจากที่จุดประทัดไปหน่อยเขากางเต็นท์เป็นแนวยาว ริมกำแพงศาลเจ้าพ่อ (ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ด้านใน) เมื่อเดินมาถึงจึงเห็นเป็นโรงทานนั่นเอง ส่วนหนึ่งเป็นที่เก็บข้าวสาร ไข่ ผักต่างๆ น้ำมันพืช และสิ่งที่ใช้ประกอบอาหารต่างๆวางอยู่มากมาย

  ได้ยินเสียงพูดออกทางลำโพงว่า นี่เป็นโรงทานขอเชิญรับประทานอาหารได้ที่นี่ ฟรีทุกอย่าง ต้องการกินอะไรก็บอกให้คนที่บริการ หรือคนที่ประจำอยู่ตรงนั้นตักให้

   ผู้เขียนเห็น โต๊ะ เก้าอี้ ตั้งเป็นชุดๆเหมือนที่ใช้สำหรับโต๊ะจีน เป็นแถวยาวเหยียดอยู่ภายในเต็นท์นั้น มีคนเดินไปรับอาหารและที่นั่งกินอยู่แล้วเพียบ

ในโรงทานนี้รับอาหารจากคนตักแล้ว ก็เดินเข้าไปหาโต๊ะนั่งกันข้างในโน่นเลย ..ฟรีครับ

   ผู้เขียนเสียดายที่ไม่ได้ลองรับประทานอาหารแบบนี้ ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองดู เพราะว่าก่อนออกจากบ้านก็กินอาหารเช้ากันมาแล้ว จึงยังไม่หิว
   เดินผ่านโต๊ะกินข้าวของโรงทานซึ่งมีคนเดินกันขวักไขว่ แล้วก็ผ่านร้านขายอาหารและของกินต่างๆที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขาย ออกมาก็ถึงประตูทางเข้า ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและอุทยานมังกรสวรรค์

     ผ่านประตูเข้าไป ในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแล้ว ความโกลาหล ก็เกิดขึ้น โอ้โห..! ผู้คนมากจริงๆ หลั่งไหลมาจากไหนกันนี่ เดินกันขวักไขว่เบียดเสียดกัน ควันธูปเทียนโขมงไปหมด โดยเฉพาะบริเวณตรงศาลหลักเมืองคนแน่นมาก
     แม้คนจะเบียดเสียดกันเท่าไร ก็ไม่มีปัญหาอะไร นอกจากแสบตาจากควันธูปควันเทียนเท่านั้น และอีกอย่างที่กลัวมากก็คือ ธูปที่จุดแล้วถ้าถือกันไม่ระวังก็จะมาทิ่มหูทิ่มตากันได้

ด้านหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มีกระถางธูปวางไว้หลายกระถาง เป็นของเทพเจ้าแต่ละองค์

   โฆษกที่พูดทางเครื่องขยายเสียงก็พูดเก่ง รู้เรื่องและเข้าใจง่ายดีเสียด้วย แนะนำอะไรต่างๆได้ชัดเจนดี และท่านก็เตือนเรื่องธูปด้วยเสมอๆ ถ้าจุดแล้วให้ยกสูงๆเข้าไว้จะได้ไม่ทิ่มกัน
   ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรีนั้น ไม่ได้มีท่านเจ้าพ่อหลักเมืององค์เดียว ยังมีเทพเจ้าต่างๆอีกมากมาย เขาจะเรียงกระถางสำหรับปักธูปไว้เป็นซุ้มๆ กระถางนั้นของเทพเจ้าองค์นั้น กระถางนี้ของเทพเจ้าองค์นี้ จะมีป้ายชื่อที่กระถางทุกๆกระถาง ชื่อเทพต่างๆนั้นเขาเขียนเป็นอักษรไทย แต่ชื่อจีนได้อ่านบ้างแต่ก็จำไม่ได้

หลักเมืองอยู่เข้าไปข้างในอีกหน่อยหนึ่ง มีนักท่องเที่ยวเข้ามากราบไหว้อยู่ไม่ขาด

    นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ส่วนใหญ่ ก่อนอื่นจะต้องมาที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองก่อน เพื่อทำบุญ ไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และไหว้เทพเจ้าต่างๆ เมื่อเสร็จธุระเรียบร้อย จึงเดินทะลุออกมาไปชมที่อื่นต่อไปจนได้เวลาแล้วจึงเดินทางกลับ หรืออาจจะไปเที่ยวที่อื่นๆอีกก็ได้ เพราะว่าในจังหวัดสุพรรณบุรีนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย   เพราะฉะนั้นจึงเห็นคนเดินทางกลับและเดินทางมา สลับสับเปลี่ยนกันตลอดเวลา

   ผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน คุณหวานบอกให้ลูกและหลานที่ไปด้วยกัน ยืนรออยู่ก่อนไม่ต้องเข้าไปข้างใน แล้วเขาก็แทรกตัวเข้าไปซื้อธูปเทียน ที่ทางศาลเป็นผู้ขายเอง  สักครู่หนึ่งจึงได้ธูปเทียนมาหอบใหญ่ จริงๆแล้วมีทองแผ่นสำหรับปิดทองขายด้วย แต่คุณหวานไม่ได้ซื้อมา จึงได้แต่ธูปกับเทียนเอามาแจกแบ่งกัน คือคนละ ธูปประมาณ ๓๖ ดอก และเทียนสีแดงๆใหญ่กว่าปกติหน่อย ๒ เล่ม

    มีตะเกียงเล็กๆจุดไว้หลายดวง สำหรับจุดธูปและเทียน ตะเกียงเหล่านี้จะไม่ดับเพราะว่าจะมีผู้ที่มาไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และไหว้เทพเจ้าต่างๆนี้แหละ เป็นผู้ซื้อน้ำมันพืชมาถวายต่อเทพทั้งหลาย คือการเอามาเทใส่ในหม้อน้ำมันที่ตะเกียงนี้ตั้งอยู่

ไหว้เทพเจ้าต่างๆจนเหลือธูป ๓ ดอก หาที่สุดท้ายตั้งนาน มาอยู่ข้างนอกนี่เอง

    ผู้เขียนและครอบครัวเดินวนเวียนปักเทียนและธูปจนครบแล้ว หมดเวลาไปนานพอสมควร จึงชวนกันเดินออกจากที่นั้นมา ไปยังบริเวณหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นบริเวณที่กว้างขวางมาก ปูพื้นด้วยบล็อกประดับพื้นของ ซีแพค
    เขาสร้างอาคารต่างๆ แบบศิลปะของคนจีน มีอาคารแปดเหลี่ยมสูง ๗ ชั้น มีศาลาเทียนอันเหมิน มีหอระฆังศักดิ์สิทธิ์ ผู้เขียนเห็นผู้คนที่มาท่องเที่ยวเข้าคิวกันเคาะระฆังลูกนี้กันตลอดเวลา

 

อาคารแปดเหลี่ยมกลางน้ำ อยู่ด้านหลังนี่เอง ประเดี๋ยวเราจะเข้าไปดูกัน

    สถานที่โดยรอบสะอาด มีการบำรุงรักษากันอย่างดี พวกเรามุ่งตรงเข้าไปที่อาคารแปดเหลี่ยมกลางน้ำ ซึ่งสูงถึง ๗ ชั้น คือสูงประมาณ ๒๗ เมตร พอเดินเข้าไปใกล้จะได้ยินเสียงพระหรือคนก็ไม่รู้ สวดมนต์แบบจีนกันที่ในศาลาแปดเหลี่ยมนั้น เมื่อเข้าไปข้างในแล้วจึงได้รู้ว่า เสียงนั้นมาจากการเปิดแผ่นซีดี นั่นเอง ไม่ได้มีใครมาสวดจริงๆเลย

รอคิวมานานได้เวลาโกยเงินโกยทอง (ที่เขาบอก) ใส่กระเป๋ากลับบ้านเสียที

    ตรงนี้มีเจ้าหน้าที่ของทางอุทยาน ๒ คน เป็นหญิงและชายอย่างละคน คอยอธิบายให้ผู้ที่เข้ามาเที่ยวได้รับรู้ในเรื่องต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ กบและเต่าตัวใหญ่สีทองเหลืองอร่าม

   ท่านบอกว่ากบทองและเต่าทองสองตัวนี้ เป็นสิ่งที่นำโชคลาบมาให้ ใครอยากร่ำรวยเงินทองก็มาโอบสิ่งนำโชคทั้งสองนี้ แล้วก็อธิฐานพร้อมทั้งทำเป็นกอบเอาเงินทองจากกบทองและเต่าทองนี้ กำมาเอาใส่ในกระเป๋า จนคิดว่าเงินทองเต็มกระเป๋าอิ่มเอมใจแล้ว ก็ออกมาให้ผู้ที่รอคิวต่อไปทำบ้าง

    ผู้เขียนเห็นนักท่องเที่ยวหลายคน มากอบเงินกอบทองใส่กระเป๋ากัน (ที่คิดว่า) เต็มแล้ว เดินออกมายิ้มย่องผ่องใสกันเห็นได้ชัด  ครอบครัวของผู้เขียนก็เอากับเขาเหมือนกัน แต่ผู้เขียนไม่ได้ไปทำเพราะคิดว่า คุณหวานเขากอบเงินกอบทองมาจนเต็มกระเป๋าแล้ว ผู้เขียนจึงไม่จำเป็นต้องทำอีกก็ได้ เรียกว่าถ้าเขารวยเราก็รวยด้วยก็แล้วกัน

ถ่ายจากชั้น ๗ ของอาคารแปดเหลี่ยมจะเห็นทิวทัศน์ของอุทยานมังกรสวรรค์ดังนี้  (หนุ่ม ถ่ายภาพ)

     เสร็จจากตรงที่เอาเงินเอาทองเข้ากระเป๋าแล้ว คุณหวานบอกว่าขึ้นไปข้างบนกันไม๊ ผู้เขียนสั่นหน้าแล้วบอกว่า พาเด็กๆขึ้นไปกันเถอะ สูงตั้ง ๗ ชั้นกลัวจะขึ้นไม่ไหว ดังนั้นผู้เขียนจึงรออยู่ข้างล่าง ให้คุณหวานกับลูกหลานขึ้นไปไม่จำกัดเวลา
   ผู้เขียนออกจากศาลาแปดเหลี่ยมไปยืนที่ร่มไม้ใหญ่ เห็นคนเดินผ่านเราไปเรื่อยๆคิดว่าเขาไปไหนกัน ที่แท้ตรงที่เรายืนอยู่นั้น เป็นทางเดินไปห้องสุขานั่นเอง คนจึงเดินผ่านเราไปเป็นกลุ่มๆ

   ยืนดูอะไรเพลินๆ จากที่เรายืนนั้นมองไปทางข้างหน้าจะเห็นมังกรตัวใหญ่ ที่เรียกว่ามังกรสวรรค์ เป็นภาพที่สวยงามมาก คิดไปว่าเราอยู่ในต่างประเทศ เช่นที่มาเลเซีย หรือญี่ปุ่น ได้ไปเที่ยวที่สวนสาธารณะของประเทศนั้นนั้น คิดไปนั่นก็มันเหมือนจริงๆนี่ครับ

    ไม่นานนักพวกนั้นก็ลงมาแล้วบอกว่าไม่เหนื่อยเลย เทพเจ้าคงช่วยไม่ให้เหนื่อย ผู้เขียนก็เห็นจริงด้วยและคิดว่า ความศรัทธาของคนเรานี้บางครั้งก็ช่วยอะไรๆได้เยอะ ผู้เขียนถามว่า ข้างบนแต่ละชั้นมีอะไรบ้าง
    คุณหวานบอกว่า ก็มีแต่รูปปั้นรูปหล่อของเทพเจ้าต่างๆ แล้วเธอก็จารนัยมาให้ผู้เขียนฟังว่า ชั้นนั้นมีเทพเจ้าอะไร ชั้นนี้มีอะไร จนครบหมดทั้ง ๗ ชั้น แต่ผู้เขียนจำไม่ได้ก็เลยไม่ได้เขียนมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ แต่ถ้าอยากรู้ว่าที่ศาลาแปดเหลี่ยมมีอะไรบ้างก็เข้ามาเที่ยวกันนะ

ถ่ายที่หน้าศาลาแปดเหลี่ยมที่เพิ่งออกมา ทางด้านหลังจะเห็นหอระฆังใหญ่ และศาลาเทียนอันเหมิน อยู่ทางด้านซ้าย 

    ออกจากนั้นกันมาแล้วเดินย้อนกลับมา ผ่านซุ้มระฆังใหญ่ เห็นมีคนเข้าคิวตีกันเยอะ พวกผู้เขียนที่มาด้วยกันก็อยากจะตีบ้าง จึงไปทำบุญแล้วก็เข้าคิวกับเขา ผู้เขียนเองก็เข้าคิวกับเขาด้วยเหมือนกัน เผื่อตีแล้วจะมีชื่อเสียงก้องกังวานไปไกลบ้าง

ระฆังใหญ่หนัก ๓,๒๘๐ กิโล

    ตามตำราบอกว่าระฆังใหญ่ลูกนี้ เป็นระฆังสำริดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูง ๓.๔๗ เมตร ปากระฆังกว้าง ๒.๑๔เมตร น้ำหนัก ๓.๒๘ ตัน
    ในระหว่างที่เดินกลับมาทางศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนั้น ทางโฆษกประกาศว่าขณะนี้ได้เวลาที่ พิพิทธภัณท์มังกรสวรรค์จะเริ่มการแสดงในรอบแรกแล้ว นั่นแปลว่าบัตรในรอบนี้เต็มแล้ว พวกเราจึงคิดว่าไม่ต้องเข้าไปดูก็ได้ เพราะว่าถ้ารอดูก็คงจะเกือบเที่ยงนั่นแหละเอาไว้วันหลังดีกว่า

    จากนั้นจึงได้เดินดูบรรยากาศรอบๆและถ่ายรูปกันที่หน้าลานมังกรสวรรค์อีกครั้งหนึ่ง เวลานี้อากาศก็ร้อนมากแล้ว จึงปรึกษากันว่าเราควรกลับกันได้แล้ว ถ้าอยากมาอีกจะมาเมื่อไรก็ได้ เพราะว่าบ้านอยู่ไม่ไกลขับรถมาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ถึงแล้ว

ตอนจะกลับผู้เขียนถ่ายรูปไว้อีกรูปหนึ่ง บริเวณนี้จะมีคนยืนถ่ายรูปกันมาก (หวาน ถ่ายภาพ)

     คุยกันมาตั้งนานยังไม่ได้บอกที่มา ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและมังกรสวรรค์เลย เอาเสียหน่อยเท่าที่รู้ๆมาก็แล้วกันนะครับ   
     ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและอุทยานมังกรสวรรค์นั้นอยู่ในที่เดียวกัน  โดยเฉพาะมังกรสวรรค์เพิ่งจะสร้างมาได้ ครบ ๓ ปี ในบริเวณที่ดินของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ส่วนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนั้นมีมาแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว

     อุทยานมังกรสวรรค์นั้นมีความเป็นมาอย่างย่อๆ ตามเอกสารที่ได้รับแจกดังนี้

    มังกรสวรรค์ มองจากข้างนอกแต่ไกล จะมีความสง่างามเป็นยิ่งนัก ภายในตัวมังกรนั้น จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ตั้งอยู่ ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี

    สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ ๒๐ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ในขณะที่ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย
    พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรนี้ (อยู่ในตัวมังกร) ออกแบบขึ้น เพื่อนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอารยะธรรมจีนที่ยาวนานถึง 5,000 ปี ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างครบครัน

    เป็นต้นว่า ห้องฉายภาพยนตร์  ห้องจำหน่ายหนังสือ ห้องจำหน่ายของที่ระลึก และห้องเครื่องเล่นสำหรับเด็ก
     และเพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เข้าชม ได้รับความรู้และความเพลิดเพลิน ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งสอดแทรกคุณธรรมสำคัญ ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่บรรพบุรุษชาวจีนยึดถือ ตลอดเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์

      พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์) เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ หยุดทุกวันจันทร์และวันอังคาร

    ส่วนความเป็นมาของ “เจ้าพ่อหลักเมือง”  มีดังนี้
หลักเมืองนั้นเป็นประติมากรรมสลักหินแบบนูนต่ำ สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระนารายณ์สี่กร มีอายุประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๔๐๐ ปี เป็นที่เคารพสักการะของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนมานานประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว

     คาดว่ามีผู้พบ  “เจ้าพ่อหลักเมือง” จมโคลนอยู่ริมคลองจึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นมา พร้อมทั้งสร้างศาลให้เป็นที่ประทับตามหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ แสดงว่ามีเฮียกงหรือกรรมการจีนดูแลรักษาเรื่อยมา

    ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ จึงร่วมกับเจ้าพระพระยายมราช ได้มาปรับปรุงในราว พ.ศ.๒๔๘๐

   ในภายหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมมาก นายบรรหาร  ศิลปอาชา  พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ จึงได้ปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองให้กว้างขึ้น โดยสร้างอาคารแบบจีน สิ้นงบประมาณ ๒๐ล้านบาทเศษ และได้ซื้อที่ดินบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพิ่มอีก ๗ ไร่ เป็นเงินกว่า ๒๐ ล้านบาท

   วัน-เวลาที่เปิดให้เข้าชมอุทยานมังกรสวรรค์
วันพุธ–วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ (หยุดทุกวันจันทร์กับวันอังคาร) เวลา ๑๐.๐๐ –๑๖.๐๐น.

    ขอเชิญสอบถามรายละเอียดได้ที่  ๐๓๕ - ๕๒๖๒๑๑

 

นายแก้ว เขียน ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้339
เมื่อวานนี้485
สัปดาห์นี้2313
เดือนนี้8480
ทั้งหมด1338364

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online