แนะนำตำบลและตลาดเจ็ดเสมียน (ปรับปรุงใหม่)

ขอต้อนรับเข้าสู่ตำบลเจ็ดเสมียน และตำนานของตลาดเจ็ดเสมียน  (ภาพครูปราณี สุวรรณมัจฉา ยืนอยู่ที่ป้ายสถานีรถไฟเจ็ดเสมียน เมื่อ ๕๘ ปีมาแล้ว)

      ชื่อนี้ใครได้ยินได้ฟังแล้วก็ดูออกจะแปลกๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งของทั้งหลายแหล่มันก็ต้องมีที่มาและที่ไป ชื่อของตำบล "เจ็ดเสมียนนี้ "ก็เหมือนกัน  แน่นอนละมันก็ต้องมีที่มาของมัน

      มีหลายท่านที่ถามผมบ่อยๆว่าตอบได้ใหมว่าชื่อว่า "เจ็ดเสมียน" ของตำบลนี้มาจากไหน ผมก็จนปัญญาครับไม่รู้ว่าจะตอบเขาว่าอย่างไร

คนเก่าของตำบลเจ็ดเสมียนถ่ายเมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๔๗๙ กว่า ๗๐ ปีมาแล้ว และคนเก่าของตำบลเจ็ดเสมียนจริงๆนั้นก็ยังมีเก่ากว่านี้อีก เช่นรุ่นของแป๊ะอู๋ เจ้าของตำนานกาแฟโบราณ ซึ่งขณะนี้ก็มีลูกหลานสืบทอดขายกาแฟโบราณอยู่ เป็นรุ่นที่ ๓ นอกจากนั้นก็ยังมี อาแป๊ะซุ่น ซิ้มหมา ที่อยู่หลังตลาดใกล้ศาลเจ้าที่ท่าใหญ่ คนรุ่นนี้เป็นตำนานของคนเจ็ดเสมียนอย่างแท้จริง แต่ไม่สามารถสืบเสาะเรื่องราวของเขาอย่างละเอียดได้
(ขอขอบคุณภาพของคุณบรรจง งามรัตนกุล โรงน้ำปลา ตลาดเจ็ดเสมียน)


     เพราะเหตุว่าที่มาที่ไปและชื่อของตำบลนี้นั้น ไม่สามารถจะบอกได้อย่างชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ หนังสือตำราต่างๆก็บอกไม่ค่อยตรงกัน ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า
ชื่อของตำบลเจ็ดเสมียนนั้น พระเจ้าตากสิน ยกทัพผ่านมาทางนี้และประกาศให้ผู้คนมาสมัครทหาร มีชายไทยในตำบลนี้มาสมัครกันมากมายจนคนที่จดนั้นจดไม่ทัน ก็ต้องรับเสมียนไหม่อีก ๗ คน พระเจ้าตากสินทรงพอพระทัยจึงพระราชทานนามตรงนี้ว่า "เสมียนเจ็ดคน"ต่อมาเพี้ยนไปว่า  "เจ็ดเสมียน" ส่วนอีกที่หนึ่งที่ผู้เขียนอ่านพบในเวบไซด์ของ วารสารเมืองโบราณ http://www.muangboranjournal.com ซึ่งเขียนโดย  คุณวิชญดา ทองแดง ซึ่งตัวท่านเองก็เคยเข้ามาที่เจ็ดเสมียนเมื่อปีที่แล้ว 

      ผู้เขียนอ่านดูแล้วก็น่าเชื่อถือ ผู้เขียนจึงขออนุญาตินำมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านดู ส่วนอันไหนน่าจะใช่หรืออันไหนน่าจะไม่ใช่ ก็คิดดูกันเอาเองก็แล้วกันครับเชิญอ่านดูได้เลยครับ

    " ชื่อตลาดแปลกๆนี้คงอธิบายกันยาก และมีเรื่องเล่าหลายสำนวน สำนวนแรกเท็จจริงอย่างไรยังไม่ขอยืนยัน เพราะยังค้นไม่พบหลักฐานชัดเจนแต่เล่ากันมาว่าเมื่อคราว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯประทับแรมที่ริม น้ำแม่กลอง ชานเมืองราชบุรี (สำนวนนี้คือรัชกาลที่ ๕ นะครับ ไม่ใช่พระเจ้าตากสินของอีกสำนวนหนึ่ง วันเวลาก็ห่างกันเป็นร้อยปี แต่ก็กล่าวถึงการเกณฑ์ทหารเหมือนกัน - ผู้เขียน)

     มีการเกณฑ์กำลังพลชายไทยเพื่อเป็นทหาร ซึ่งมีคนมาสมัครเป็นจำนวนมาก ทำให้เสมียนที่ไปกับขบวนเสด็จฯ จดรายชื่อไม่ทันจึงประกาศหาผู้รู้หนังสือ มาช่วยเป็นเสมียนทำบัญชีรายชื่อ มีชาวบ้านสมัครเป็นเสมียนในคราวนั้นถึง เจ็ดคน งานได้เสร็จอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงพระราชทานชื่อตำบลแห่งนี้ว่า เจ็ดเสมียน"

ที่กล่าวว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จประทับแรมที่ริมแม่น้ำแม่กลอง และพระราชทานชื่อตำบลแห่งนี้ว่า "เจ็ดเสมียน" นั้น คิดว่าคือที่ตรงริมฝั่งแม่นำแม่กลอง ตรงท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียนในปัจจุบันนี้นั่นเอง (ภาพจากคุณกนก คุ้มประวัติ)

    ในปัจจุบันนี้ ตำบลเจ็ดเสมียนอยู่ในเขตของ อำเภอโพธาราม ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอโพธารามลงไปทางไต้ วัดระยะตามทางรถไฟได้ประมาณ ๗ กิโลเมตร หรือว่าจากสถานีรถไฟโพธาราม ลงไปทางไต้ถัดไปก็เป็นสถานีรถไฟเจ็ดเสมียน 

    และขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี ตำบลเจ็ดเสมียนในปัจจุบันนี้มี ๖ หมู่บ้าน   มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๘,๒๑๐.๕๐ไร่ และมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่าง ๆ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลคลองข่อย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลท่าราบ ตำบลสามเรือน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลดอนทราย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งส่วนหนึ่งของริมแม่น้ำนี้ เป็นที่ตั้งของ ตลาดเจ็ดเสมียน ซึ่งขึ้นอยู่กับหมู่ที่ ๓ ของตำบล เจ็ดเสมียน

สาวเจ็ดเสมียนที่หน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน "สัจจานุกูล" อาคารเรียนหลังนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ปัจจุบันได้ถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ในที่ตรงนี้หลายครั้งหลายหนแล้ว

เจ็ดเสมียนในอดีตเมื่อสมัยกำนันโกวิท วงศ์ยะรา มีแหม่มอาสาสมัครมาสอนวิชาเคหเศรษฐศาสตร์ ให้กับชาวเจ็ดเสมียน ในภาพสุภาพสตรีคนที่ ๒ จากซ้ายนั้นคือคุณประนอม พงษ์ถิระสุวรรณ สุภาพสตรีคนถัดมากำลังเอาขนมใส่ปากคือ คุณสุมาลี (เง็ก) นครามาลีรัตน์ (บ้านริมน้ำ) อีกคนหนึ่งกระโปรงชุดขาวขวามือ คุณลัดดา สันติรงค์ยุทธ บุตรสาวของนายซุ่ย เจ้าของร้านทองแห่งตลาดเจ็ดเสมียน ซึ่งเป็นสาวตลาดเจ็ดเสมียนก็มาร่วมศึกษาด้วย กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก.  

กาลครั้งหนึ่ง

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นาน ผ่านไปพบ
ชุมชนเล็ก สุขสงบ กว่าทั้งผอง
มีสายน้ำ งดงาม นามเเม่กลอง
ชาวประชา ชอบร้อง รำทำเพลง
ทุกสองปักษ์ เมืองนี้ มีงานศิลป์
ทั่วผืนดิน ยินเพลง บรรเลงเเจ้ว
ทั้งดนตรี มีละคร ฟ้อนเพริดเเพร้ว
เฉกเมืองเเก้ว เเดนสวรรค์ ชั้นจาตุม*
ประเพณี มีโบราณ ชื่นบานเเท้
ดอกไม้เเห่ ท้ายสงกรานต์ งานฉลอง
โบสถ์วิหาร เหลืองอร่าม งามดังทอง
ฉวีผ่อง งามงด รดน้ำกัน
เล่ากันว่า เมืองนี้ มีนานเเล้ว
ทูลหม่อมเเก้ว** มาประทับ นับทหาร
โปรดให้หา ผู้อาสา มาทำงาน
มีชาวบ้าน สมัครใจ ได้เจ็ดคน
จึงได้ชื่อ หมู่บ้านเจ็ดเสมียน
เวลาเปลี่ยน เป็นตำบล จนถึงนี่
นับกาลมา นานถึง 119 ปี
จนบัดนี้ ผ่านมาพบ ประสบเจอ
กาลครั้งหนึ่ง ไม่นาน เมื่อวานนี้
เจ็ดเสมียน ยังเป็นที่ ให้สุขสันต์
เเม่กลองยัง เป็นสายน้ำ งามทุกวัน
เเดนสวรรค์ ยังมี ที่นี่เอย.........

หมายเหตุ
* จาตุมหาราชิก ( ที่อยู่ของเทพคนธรรม์ผู้ชอบร้องเพลง) ** รัชกาลที่ 5

 บทกลอนโดย: palida

เด็กตลาดเจ็ดเสมียนส่วนหนึ่ง (ที่จริงมีมากกว่านี้) เนื่องจากตลาดเจ็ดเสมียนนั้นอยู่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง เด็กๆจึงไม่ต้องใส่เสื้อเพราะว่าลงเล่นน้ำกันทั้งวัน ถ้าใส่เสื้อแล้วจะเสียเวลาถอด ในภาพนี้มีเด็กหลายรุ่น พวกที่รุ่นใหญ่สุดปัจจุบันนี้อายุเกือบ ๗๐ ปีแล้ว (ในภาพนี้มีผู้เขียนรวมอยู่ด้วย)

เด็กตลาดเจ็ดเสมียนในภาพนี้ ปัจจุบันอายุเกือบๆจะ ๕๐ กันแล้ว ในภาพนี้มี คุณอาทร ชื่นณรงค์ ซึ่งเป็นหลานของแป๊ะอู๋ กาแฟโบราณแห่งตลาดเจ็ดเสมียนด้วย

อาคารโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน "สัจจานุกูล" พร้อมด้วยอาคาร "เรือนหุ่นราษฎร์บำรุง" ในอดีต ภาพนี้ถ่ายในตอนเช้าจะเห็นเด็กนักเรียนออกมาวิ่งเล่นกันที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน ก่อนที่จะเข้าชั้นเรียน

ในตอนเย็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียนจะมาชุมนุม และมาวิ่งเล่นที่สนามหน้าโรงเรียน มีใครกันบ้างท่านผู้อ่านจะค่อยๆรู้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าติดตามเรื่องราวเก่าๆของชาวเจ็ดเสมียนต่อไป

    คนตลาดเจ็ดเสมียนส่วนหนึ่ง โดยการนำของ นายชวลิต ชาญชาติณรงค์ หัวหน้าชมรมคณะผลิตพลเมืองแห่งตลาดเจ็ดเสมียน  ได้ทำการเลี้ยงส่งนายสถานีรถไฟเจ็ดเสมียน คือนายลำไย โสภาพันธ์ ซึ่งเป็นนายสถานีที่เจ็ดเสมียนนี้มาอย่างยาวนาน ท่านได้ย้ายไปรับตำแหน่งใหม่เป็นนายสถานีที่ รั้วใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นเวลา ๔๘ ปีมาแล้ว นายชวลิตคือคนที่นั่งจากซ้ายใส่เสื้อเชิ๊ตลาย  กำนันโกวิท วงศ์ยะราใส่เสื้อขาวนั่งคู่กับนายลำใยซึ่งใส่เสื้อดำ ถัดมาคือผู้จัดการ แผ้ว เมฆสุวรรณ ท่านไม่ใช่คนเจ็ดเสมียนแต่เมื่อมาอยู่ที่เจ็ดเสมียนแล้ว ท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่ตำบลเจ็ดเสมียนของเราอย่างมากมาย

สถานีรถไฟเจ็ดเสมียน อยู่คู่เจ็ดเสมียนมาเกือบ ๑๐๐ ปี ได้ถูกรื้อไปเสียแล้ว เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และปัจจุบันนี้ได้ทำการก่อสร้างขึ้นใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว (สาธร วงษ์วานิช ถ่ายภาพ ๒๕๕๑)

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำตำบลและตลาดเจ็ดเสมียน เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขอให้ท่านติดตามอ่านเรื่องราวเก่าๆของชาวเจ็ดเสมียน ท่านจะได้ทราบเหตุการณ์เก่าๆในสมัยนั้น ของคนในตลาดวิถีชีวิตของเด็กๆริมแม่น้ำแม่กลอง ตำบลเจ็ดเสมียนอย่างละเอียด และจะสนุกเพลิดเพลินในเรื่องราวของเขาเหล่านั้น

ตำบลและตลาดเจ็ดเสมียนในปัจจุบัน

แม่น้ำแม่กลองไหลผ่านตลาดเจ็ดเสมียน ดังนั้นตำบลเจ็ดเสมียนจึงเป็นตำบลแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลองอย่างแท้จริง (เกียรติศักดิ์ สุวรรณมัจฉา ถ่ายภาพ มกราคม ๒๕๕๔)

 

อาคารสถานีรถไฟเจ็ดเสมียนที่สร้างขึ้นใหม่ แทนหลังเดิมที่ถูกรื้อทิ้งพราะความเก่าชรา เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเหตุการณ์ในตำบลเจ็ดเสมียนทีเดียว (ครูปราณี ถ่ายภาพ ๒๕๕๔)

 

ตลาดเจ็ดเสมียนนี้ทั้งในอดีตที่ผ่านมา และในปัจจุบันมีเพียง ๒ แถวเท่านั้น เมื่อในอดีตเคยเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางทางการค้า แม้ว่าจะเป็นเพียงตลาดเล็กๆมีเพียงไม่กี่ห้อง ก็มีตำนานเรื่องราวต่างๆที่เล่ากันไม่จบสิ้น (นายแก้ว ถ่ายภาพ  ๒๕๕๑) 

เดือนกันยายน ๒๕๕๓ เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน ได้สร้างหอนาฬิกาเป็นรูปสามเหลี่ยม อยู่ที่หน้าประตูวัดเจ็ดเสมียน เป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่เคยมีใครคิดจะทำมาก่อนเลยที่ หน้าวัดเจ็ดเสมียนแห่งนี้ เทศบาลทำดีเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ (คุณ อ.ปลาทอง ผู้ถ่ายภาพนี้บอกว่า ภาพนี้นาฬิกาไฟฟ้าขนาด ๘๐ คูณ ๘๐ ม.ยังไม่เสร็จจึงยังไม่ได้มาติดนะท่านผู้อ่าน )

ต้นโพธ์ใหญ่ริมแม่น้ำ ปัจจุบันเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของเจ็ดเสมียนอย่างหนึ่งไปเสียแล้ว (นายแก้วถ่ายภาพ ๒๕๕๑)

ร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ดในตลาดเจ็ดเสมียน ดำเนินกิจการมาตั้งแต่สร้างห้องแถวนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังขายอยู่ (นายแก้วถ่ายภาพ ๒๕๕๑)

ตลาดนัดที่ลานกลางตลาดเจ็ดเสมียนในปัจจุบันนี้ มีเฉพาะเย็นวันเสาร์และอาทิตย์ เท่านั้น ในสมัยโบราณตลาดนัดจะมีในตอนเช้ามืดเป็นต้นไป ในวัน ๓ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๓ ค่า  ภาพนี้มองเห็นหน้าบ้านของผู้เขียนในอดีตด้วย  (ขอขอบคุณ ภาพของคุณโมโมทากาชิโอ สมาชิกของเราเอง)

คุณอุดมลักษณ์ กาญจน์อร่ามกุล (ขวา) นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน คนปัจจุบัน (๒๕๕๓)  (ขอขอบคุณภาพจากเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน)

คุณพีระพงษ์ สิงหชาติปรีชากุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ เป็นผู้ดูแลตลาดเจ็ดเสมียนโดยตรง (ปฏิพัทธ์ ถ่ายภาพ ๒๕๕๑ )

คุณกรรณิกา วงศ์ยะรา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ เป็นผู้ดูแลหมู่ที่ ๒ ร่วมกับเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน เพราะว่าสถานที่สำคัญต่างๆล้วนอยู่ที่หมู่ที่ ๒ แทบทั้งสิ้น อาทิเช่น โรงพยาบาลเจ็ดเสมียน เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน ก็ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๒ นี้  (ขอขอบคุณภาพประกอบจากคุณกรรณิกา วงศ์ยะรา)

เด็กเจ็ดเสมียนในอดีต ปัจจุบันนี้เป็นคุณย่าคุณยายและแยกย้ายกันไปจากเจ็ดเสมียนหมดแล้ว ในภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องการรู้เรื่องในสมัยที่พวกเขาเป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียนให้มากกว่านี้ โปรดติดตามอ่าน "เรื่องราวเก่าๆของชาวตลาดเจ็ดเสมียน"  (ปฏิพัทธ์ ถ่ายภาพ ๒๕๕๐)

คุณเจ็ดเสมียนรุ่นเก่าที่เคยเป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียน ในปัจจุบันนี้ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไปตามทางของตัวเอง บางกลุ่มบางพวกก็ยังติดต่อกันอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ในภาพนี้เป็นกลุ่มรุ่นเดียวกับผู้เขียน เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มาพบปะรับประทานอาหารกันที่ บ้านของผู้เขียน (ปฏิพัทธ์ ถ่ายภาพ ๒๕๕๒)

   นอกจากการพบปะเป็นกลุ่มๆเป็นการส่วนตัวแล้ว ก็ยังมีการเชิญชวนคนเจ็ดเสมียนตั้งแต่รุ่นอาวุโสสูงสุดจนถึงรุ่นใหม่ๆ มาพบปะกัน ในภาพนี้เป็นการพบกันของคนเจ็ดเสมียนเรียกว่า "งานคนเจ็ดเสมียนพบกัน ครั้งที่ ๒ " จัดกันที่ศาลาเอนกประสงค์ริมแม่น้ำแม่กลอง (ปฏิพัทธ์ ถ่ายภาพ ๕ เมษายน ๒๕๕๑)

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเจ็ดเสมียนเท่านั้น ยังมีเรื่องราวเก่าๆและภาพเก่าๆอีกมากมาย ขอเชิญท่านติดตามเรื่องราวของเขาเหล่านี้ในวัยเด็กที่ตลาดเจ็ดเสมียนได้ในตอนต่อไป. 

นายแก้ว ผู้เขียนและผู้จัดทำ   (ติดต่อผู้เขียน This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. )

     www.chetsamian.org ขอสงวนลิขสิทธิ์ ข้อมูลและรูปภาพบนเว็บไซต์ทั้งหมด โดยไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ ทำซ้ำ แก้ไข หรือ ดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นบางส่วน หรือทั้งหมด หากท่านใดต้องการข้อมูลบนเว็บไซต์ www.chetsamian.org กรุณาติดต่อ นายแก้ว โดยส่ง email มาที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เพื่อขออนุญาตเสียก่อน เนื่องจากข้อมูล และรูปภาพบางเรื่องและบางชิ้น เป็นของท่านผู้เขียน และท่านสมาชิก ที่ได้เขียนเรื่องต่างๆ และให้ขอยืมภาพต่างๆ มาลงไว้ ซึ่งทางผู้จัดทำเว็บไซต์ จำเป็นจะต้องขออนุญาต จากทางเจ้าของผลงานก่อนทุกครั้ง จึงเรียนมาเพื่อทราบ.

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้225
เมื่อวานนี้369
สัปดาห์นี้594
เดือนนี้4497
ทั้งหมด1323831

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online