ไปเที่ยวพม่า ตอน 3

  alt 

 ที่สนามบิน มิงกาลาดง เมืองย่างกุ้ง สนามบินนาชาติของพม่า

นั่งเครื่องบินมาจากสนามบินดอนเมืองดอนเมืองประเทศไทย ตูดยังไม่ทันร้อน เผลอเดี๋ยวเดียว ก็ได้ยินเสียงบอกมาทางลำโพงของเครื่องบิน ว่าขณะนี้เครื่องบินมาถึงประเทศพม่าแล้ว และกำลังลดความสูง จะลงจอดที่สนามบินนานาชาติของพม่า คือสนามบิน มิงกาลาดง ขอให้ท่านรัดเข็มขัดกับที่นั่งของท่านด้วย ในทำนองนี้

 

   อีกไม่กี่นาทีต่อมาล้อของเครื่องบินก็แตะกับรันเวย์ของสนามบิน เท่ากับพวกเรามาถึงประเทศพม่าโดยปลอดภัยแล้วครับ ที่สนามบิน มิงกาลาดง ของพม่ามีคนไม่พลุกพล่านมากนัก ไม่เหมือนกับที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งมีผู้คนหนาแน่นมาก

พวกเราผ่านการตรวจคนเข้าเมืองกันทุกคนแล้ว ก็ไปรับกระเป๋าเดินทางที่รางเลื่อนกระเป๋า ก็ต้องคอยดูว่ากระเป๋าของเราใบไหนที่กำลังเลื่อนมา

ผ่านทุกอย่างหมดแล้ว ไกด์ที่มาด้วยกันจากเมืองไทยเป็นสุภาพสตรีชื่อ คุณปอร์ ซึ่งตามมาคอยอำนวยความสะดวกให้คณะของเราตลอดการมาเที่ยวพม่าในครั้งนี้ ก็พามาที่นอกห้องของสนามบินซึ่งอยู่ด้านหลัง มารวมตัวกันทุกคนแล้ว ไกด์ผู้หญิงก็ได้อธิบายเรื่องต่างๆ ที่เราจะเดินทางกันในวันนี้ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย และข้อห้ามต่างๆที่อยู่ในเมืองพม่า

alt

กำลังมารวมตัวกันที่สนามบิน หลังจากลงจากเครื่องบิน และผ่านการตรวจต่างๆแล้ว

ไกด์ผู้หญิงของเรากำลังชูป้าย สีเขียวๆให้รู้ว่ามารวมตัวกันที่ตรงนี้ ประเดี๋ยวเดียวก็มีชายคนหนึ่งเดินแบบรีบๆถือธงสีเขียว เข้ามาหาคณะของเรา เขาเป็นชายวัยประมาณ 45 ปี แต่งตัวแบบชาวพม่า คือนุ่งโสร่ง และสวมเสื้อขาวๆแบบพม่า

ไกด์คนไทยบอกว่าคนๆนี้แหละคือไกด์ชาวพม่า ซึ่งพูดภาษาไทยได้ และจะเป็นผู้นำในการท่องเที่ยวของพวกเราเที่ยวนี้ทั้งหมดจนถึงวันกลับ เขาจะอยู่กับพวกเราตลอดการท่องเที่ยวในพม่านี้ ไกด์พม่าเป็นคนหน้าตาดี ยิ้มแย้มอยู่เสมอ

ไกด์ผู้หญิงบอกพวกเราว่า ต่อจากนี้ไปเขาก็จะส่งมอบนักท่องเที่ยวคือพวกเรานี้ให้อยู่ในความดูแล ของไกด์พม่าคนนี้ตลอดไป

ไกด์ชาวพม่าไม่พูดพร่ำทำเพลงเลยละครับ ถือธงสีเขียวๆเดินนำพวกเราไปขึ้นรถบัสค้นหนึ่ง ซึ่งจอดรอพวกเราอยู่ในที่จอดรถของสนามบิน แล้วพยักหน้าพาพวกเราเดินไปขึ้นรถที่ติดเครื่องยนต์จอดรออยู่ ต่างคนต่างก็หาที่นั่งตามแต่จะชอบตรงไหน แล้วที่นั่งตรงที่เราเลือกนั่งในครั้งแรกนี้ เราก็จะนั่งตรงนี้ตลอดไปจนกระทั่งวันกลับ เพราะว่าการเดินทางมาเที่ยวพม่านี้ ส่วนใหญ่ก็จะนั่งรถเสมอ เพราะว่าสถานที่เที่ยวแต่ละแห่งนั้นอยู่ห่างไกลกันมาก

เรียบร้อยกันหมดแล้ว รถก็เริ่มเคลื่อนที่ออกเดินทาง ไกด์คนพม่านั้นตั้งแต่พบกันก็ยังไม่ได้เอ่ยปากคุยอะไรสักคำ พอขึ้นรถแล้วก็แนะนำตัวทันที

alt

ไกด์นำเที่ยวในพม่าของคณะเรา กำลังอธิบายเรื่องต่างๆของประเทศพม่า

 

 เมื่อรถเคลื่อนที่เริ่มออกเดินทางท่ามกลางความตื่นเต้นของพวกเรา ที่เวลานี้ได้อยู่ในประเทศพม่าแล้ว รถเริ่มวิ่งไปเพื่อไปเที่ยวตามตารางที่เขาจะพาไป นายซายซาย หรือนายหนุ่มซึ่งอยู่ที่เบาะด้านหน้าคู่กับคนขับ ก็กล่าวสวัสดีกับลูกทัวร์ทั้งหลายทันทีว่า

“มิงกะลาบา”

พร้อมกับแนะนำตัวเองเสียยืดยาวด้วยภาษาไทย ว่า

 

"ยินดีที่ได้รู้จักพวกท่านทุกคนครับ ผมชื่อนายซายซาย (ต้องเรียกติดต่อกันไม่เว้นวรรค ) ผมมีชื่อเล่นว่า หนุ่ม ครับ จะเรียกผมว่าหนุ่มก็ได้ " แล้วยิ้มแย้มแจ่มใส แล้วก็เล่าประวัติตัวเองอย่างยืดยาว ผสมมุขตลกให้พวกเราซึ่งนั่งอยู่ในรถได้ ขำๆ ฮาๆกันเป็นที่ครึกครื้น

นายซายซายเป็นคนมีอารมณ์ดี พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว ผมว่าพูดชัดและรู้เรื่องกว่าคนไทยบางคนเสียอีก และมีอารมณ์ขันไปในตัวด้วย

เมื่อแนะนำตัวเองเสร็จแล้ว สิ่งแรกที่เขาบอกพวกผมคือ เรื่องภาษาพม่า ที่เขาอยากจะให้พวกเรารู้นิดหน่อยพอเป็นสังเขป เพื่อจะให้พวกเราที่มานี้สนุกและเป็นกันเองกับคนพม่าด้วย

นายซายซายบอกว่า ภาษาพม่า เป็นภาษาที่แตกต่างกับภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง (ไม่เหมือนภาษาลาวที่พวกเราพอฟังออก) สิ่งที่ควรรู้เป็นอันดับแรกในภาษาพม่า ก็คือคำว่า

มิงกาลาบา แปลเป็นไทยว่า สวัสดีครับ คำนี้จะใช้ได้ตลอดวัน ไม่ว่าเวลาใด เช้า สาย บ่าย ค่ำ ดึกดื่นแค่ไหน เจอหน้ากันก็จะ มิงกาลาบา

ซึ่งไม่เหมือนของไทย และชาติอื่นๆ ซึ่งเขาจะสวัสดีกันโดยเปลี่ยนไปเป็นเวลาๆ

เจซูติน บาแด : ขอบคุณมาก,

ควินโละ บ่าหน่อ : ขอโทษ,

ตาตา : ลาก่อน

นายซายซายแกสอนพวกผมมากกว่านี้ครับ เพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกผมในการมาเที่ยวที่เมืองของเขาจะได้สนุกครึกครื้นยิ่งขึ้น

แต่ขออภัยเถอะครับ ผมและพรรคพวกก็ได้แค่ มิงกาลาบา เท่านั้นแหละ อย่างอื่นๆลืมหมดเลยครับ

นายซายซายได้คุยกับพวกเราอย่างเป็นกันเอง ตามประสาไกด์ที่ดี เล่าบอกในเรื่องเล็กๆน้อยของพม่าอย่างละเอียด ใครมีอะไรที่สงสัยก็ถามได้ ไม่ว่าจะเวลานี้หรือเวลาไหน เพราะว่าเราจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดในสามวันที่เมืองพม่านี้

ในขณะที่รถกำลังวิ่งผ่าน บ้านเรือนชุมชนต่างๆ นายซายซายก็บอกเรื่องที่ควรจะทราบ เช่น

   “หวังว่าในขณะที่รถวิ่งที่ท้องถนนนี้ พวกคุณคงเห็นแล้วว่า รถวิ่งชิดทางด้านขวาของถนน พวงมาลัยของรถจะอยู่ทางซ้ายมือของรถนะครับ  ”

นายซายซายกล่าว ในขณะที่ทุกคนหันไปมองที่ถนน ที่รถยนต์วิ่งกันขวักไขว่

   “ ที่พม่านี้รถยนต์ทุกคันมีป้ายทะเบียนรถเหมือนๆกับไทยและทุกประเทศทั่วโลก “

นายซาย ซายกล่าว แล้วมองมายังพวกเราเหมือนจะถามว่าใครมีอะไรที่จะภามหรือเปล่า

   “แต่ป้ายทะเบียนรถที่พม่านี้ จะไม่เหมือนของเมืองไทยนะครับ ”  นายซายซายหยุดพูดนิดหนึ่ง แล้วชี้ไปที่รถยนต์รถยนต์คันหนึ่งที่กำลังวิ่งนำหน้ารถของเราไปข้างหน้า

   “รถยนต์คันที่วิ่งไปข้างหน้านี้ ติดป้ายแดงตัวหนังสือสีขาว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นรถป้ายแดงที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆนะครับ แต่เป็นรถแท็กซี่นั่นเอง ” นายซายซาย ชี้ให้ดูรถกระบะบรรทุกอีกคันหนึ่งซึ่งวิ่งแซงเราไป

   “ รถกระบะบรรทุกคันนั้น “ พร้อมกับชี้มือ

   “ก็ป้ายแดงเหมือนกัน ทั้งๆที่เก่าแล้วและเป็นรถบรรทุก อันนี้คุณต้องเข้าใจนะครับ สรุปแล้วรถที่รับจ้างทุกคัน ไม่ว่าจะเป็นรถใหญ่รถเล็กที่เข้าลักษณะรับจ้าง จะต้องติดป้ายแดงทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับรถใหม่ที่เพิ่งซื้อประการใด ” 

นายซายซาย หยิบน้ำขวดขึ้นมาดื่มอีกใหญ่ แล้วพูดต่อ

   “ส่วนรถส่วนบุคลเขาจะติดป้ายทะเบียน สีดำ ตัวหนังสือขาว นั่นคือรถส่วนตัวไม่ใช่รถรับจ้างครับ”

   “ป้ายทะเบียนรถของพม่านี้มีอีกหลายอย่างครับ ”

นายซายซายบอก เอาเป็นว่า รถยนต์ที่พม่านี้จะติดป้ายดังนี้นะครับ

 

alt

รถส่วนบุคคล ป้ายทะเบียนสีดำ ตัวหนังสือสีขาว

รถนำเที่ยว ป้ายทะเบียนสีฟ้า ตัวหนังสือสีขาว

รถวัด ป้ายทะเบียนสีเหลือง

รถแท็กซี่ ป้ายทะเบียนสีแดง ตัวหนังสือสีขาว

 

 alt

 รถแท็กซี่ ในพม่า ส่วนใหญ่จะไม่เปิดแอร์ (จริงๆ ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนะเพราะอากาศดีอยู่แล้ว) แต่ถ้าต้องการให้เขาเปิดแอร์ ก็เพิ่มค่าบริการให้สักเล็กน้อย นายซายซายพูดพร้อมกับหัวเราะ แล้วพูดต่อ

"ค่าแท็กซี่ในพม่าขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง เริ่มต้นที่ประมาณ 1,500 จั๊ต (ประมาณ 45 บาท) และเราควรศึกษาเส้นทางก่อนเรียกใช้บริการแท็กซี่ในพม่านะครับ "

"  แท็กซี่ในพม่าไม่เลือกค่ายรถนะครับ ดังนั้นไม่แปลกอะไรที่จะเห็น Honda Jazz และยี่ห้ออื่นๆก็เป็นแท็กซี่ในพม่า

ในย่างกุ้ง ไม่ค่อยเห็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือ จักรยานนะครับ แปลกดีเหมือนกัน รถกระบะแบบบ้านเรา ก็ไม่เห็น มีก็เป็น มินิทรัค ไปเลย รถประจำทางในพม่า จะไม่มีแบบปรับอากาศนะครับ แม้แต่ในย่างกุ้ง และจะสังเกตได้ว่า คนแน่นทุกคัน รถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์ วินรถตู้ ไม่มีให้เห็น "

 นายซายซาย อธิบายเสียยืดยาว

 นายซายซาย บอกว่าอีกว่า

"สิ่งสำคัญที่ควรรู้ในตอนที่เราอยู่ที่พม่านี้ คือเรื่องเงินของพม่า"

“ ที่พม่าจะไม่มีการใช้เหรียญนะครับเพราะว่าเขาไม่ได้ทำเหมือนเมืองไทย ธนบัติที่นิยมใช้อยู่ 100 จั๊ต (เริ่มหายาก และสภาพเก่ามาก เพราะไม่พิมพ์เพิ่มแล้ว ) 500 จั๊ต, 1000 จั๊ต, 5000 จั๊ต ราคาสินค้ายังมีเศษที่ต่ำกว่า 100 จัต เช่น 470 จั๊ต 540 จั๊ต คำถามคือ แล้วจะทอนกันยังไง “

 นายซายซายกล่าวแล้วยกขวดน้ำขึ้นมากรอกเข้าปากอีกอึกใหญ่ แล้วกล่าวต่ออีกว่า

 “ ก็ง่ายๆ ครับ คือ ไม่ทอน ฮ่า ฮ่า ฮ่า “  นายซายซาย หัวเราะอย่างอารมณ์ดี

 “เช่น ถ้าคุณซื้อของราคา 470 จ๊าต แล้วคุณจ่ายแบงค์ 500 จ๊าต ที่จริงต้องทอน 30 จ๊าต แต่คุณอาจจะได้ใบเสร็จราคา 470 จ๊าต แต่เงินทอน 30 จ๊าตตไม่ได้นะครับ “

 “ ไม่ต้องตกใจหรอก เพราะเค้าก็ไม่รู้จะหาเงินทอนที่ไหนมาทอนคุณเหมือนกัน บางร้านอาจจะใจดีให้ลูกอมแทนเงินทอนแค่นั้นก็จบ เรื่องนี้ต้องทำใจนะครับอย่าคิดอะไรมาก “ แล้วนายซายซายก็หัวเราะลงลูกคออย่างอารมณ์ดี

 “อีกเรื่องคือเรื่องภาษี ราคาสินค้าในห้างบางห้าง บางรายการ ราคาไม่ได้อาจจะยังไม่รวมภาษีภาษีนะครับ คุณอาจจะโดนชาร์จภาษี ณ จุดชำระเงิน ก็อย่าหงุดหงิดนะครับ”  

นายซายซายอธิบายเรื่องต่างๆในพม่าต่อไปอีกอย่างยืดยาว

 ขอย้อนมาเมื่อตอนที่ถึงสนามบินนานๆชาติพม่า (มิงกาลาดง) ที่เมืองย่างกุ้งแล้ว รอไกด์ชาวพม่ามารับ ขึ้นรถทัวร์ของพม่า ในขณะที่รถวิ่งไปตอนนั้นพวกเราก็จัดแจงแลกเงินเป็นเงินพม่า (แลกกับไกด์) วันนั้นค่าของเงินจริงๆเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่นายซายซายให้แลก 1,000 บาท แลกได้ 30,000 จ๊าด (สบายแล้วเรา มีเงินตั้งสามหมื่น 555) 

ก่อนจะไปที่พม่านี้ ผมก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของพม่ามาคร่าวๆเหมือนกัน เขาบอกว่าอัตราแลกเงิน 1 บาทไทย จะได้ 28 - 30 จั๊ต ดังนั้นที่เราแลกกับไกดิ์นี้ก็คงจะไม่ผิดพลาดอะไรเท่าไรครับ

 

 alt

 ขั้นแรกจะแลกแค่ 1,000 บาทก่อน ถ้าใช้หมดแล้วก็จะแลกกับไกด์ใด้ตลอดเวลา

เรียกว่าลงจากเครื่องบินแล้วก็ออกเดินทางไปเที่ยวกันเลย ไปยังจุดแรกที่เราจะไปเที่ยวกันคือเมือง สิเรียม ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบิน (มิงกาลาดง) เมืองย่างกุ้งประมาณ 25  กม. ใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก  เมืองสิเรียมนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ อิระวดี เพื่อมาชมเจดีย์กลางน้ำที่ชื่อว่า พระเจดีย์เลพญา ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกลางน้ำซึ่งเป็นเกาะเล็กไม่กว้างใหญ่

alt

ตรงท่าที่จะข้ามฟากลงเรือนั้น จะมีคนขายดอกไม้และชุดไหว้พระ (มองเห็นข้างหลัง) ถ้าซื้อตรงนี้ราคาไม่แพงเท่าที่ไปซื้อที่เกาะ

ที่พระเจดีย์เลพญานั้นอยู่ที่เกาะกลางน้ำ อยู่บนฝั่งก็มองเห็นเป็นเกาะเล็กๆ เมื่อมาถึงท่าเรือที่เราจะต้องนั่งเรือข้ามฝั่งไป ที่ตรงท่าเรือก่อนจะข้ามไปนั้น จะมีคนขายดอกไม้ธูปเทียนถ้าเราจะซื้อดอกไม้ธูปเทียนเราต้องซื้อตรงนี้เลย เพราะจะมีราคาถูก ชุดหนึ่งจะมีหลายๆอย่างด้วยราคาชุดละ 1,000 จ๊าดเท่านั้น (ประมาณ 35 บาท) และก็พากันเดินไต่ตลิ่งไม่สูงชันมากนักลงไปที่ท่าซึ่งมีเรือจอดรออยู่ เรือลำนี้ไกด์ได้ติดต่อเหมาลำเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่มีผู้โดยสารอื่นๆปนอยู่เลย ผมจึงไม่ทราบราคาเรือข้ามฟากนี้ค่าโดยสารเที่ยวละเท่าไร

 alt

คนที่ซื้อชุดดอกไม้มาจากข้างบนท่า และคนอื่นๆที่ไม่ได้ซื้อเดินลงมาขึ้นเรือ ตลิ่งไม่สูงชันมากนัก

 

alt

 

ขึ้นไปนั่งในเรือกันเรียบร้อยแล้ว เรือก็จะค่อยๆเล่นออกจากท่าพาเราข้ามฝั่งไป

 

alt

เรือนี้เป็นเรือที่ใหญ่พอสมควร ไม่ใช่เรือหางยาวซึ่งเล็กกว่าเรือที่เรานั่งไปนี้มาก

 นายซายซายบอกให้พวกเราถอดรองเท้าเอาไว้ในเรือนี่แหละ คนที่เป็นคนดูแลในเรือจะเก็บเอาไว้ให้ไม่มีการสูญหาย เพราะว่าตามวัดวาอารามหรือสถานที่ต่างๆของทางศาสนาที่ประเทศพม่านั้น เขาจะไม่ให้ใส่รองเท้าเข้าไปอย่างเด็ดขาด บางแห่งก็มีสถานที่รับฝากรองเท้าด้วย เสียเงินให้เขานิดหน่อย ก็สบายใจดี แต่ในกรณีนี้เราถอดรองเท้าไว้ในเรือกันเลย ไกด์บอกว่าตอนขากลับเราก็จะกลับเรือลำนี้ จึงเป็นอันว่ารองเท้าไม่สูญหายแน่นอน

 alt

 ถึงท่าเรือที่เกาะกลางน้ำ มองกลับไปที่ท่าเรือที่เรานั่งมา จะมองเห็นท่าน้ำและที่เห็นไกลๆนั้นคือ เจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งคือเจดีย์ ชเวดากอง แห่งเมืองย่างกุ้ง

 

เมื่อเรือจอดเทียบท่าแล้ว พวกเราก็ขึ้นบันไดคอนกรีตที่เขาทำเอาไว้อย่างดี ใครจะไปไว้พระหรือเทพเจ้าอะไรต่างๆเพื่อขอพรก็ได้ตามอัธยาศัย แต่ก็ต้องรักษาเวลาที่ไกด์ให้ไว้ด้วย จะได้มาลงเรือกลับตามเวลา

ทีพระเจดีย์เลพญานี้ เป็นเกาะกลางน้ำไม่ใหญ่มากนัก มีสิ่งก่อสร้างต่างๆที่สวยงาม มีคนข้ามมาเที่ยวกันมาก ที่นี่เป็นที่สักการะศักดิ์สิทธิ์ของชาวสิเรียม ซึ่งมีอายุนับพันๆปีแล้ว มีสิ่งก่อสร้างต่างๆที่สวยงาม รวมทั้งพระพุทธรูปปางต่างๆ และรูปปั้นของเทพเจ้า ซึ่งผมไม่ทราบว่ามีเทพเจ้าอะไรบ้าง เขามีป้ายเขียนบอกไว้แต่เป๋็นภาษาพม่าทั้งนั้น ไม่มีภาษาอื่นๆเลย

 

 alt

 

น่าจะมีภาษาอังกฤษบ้างก็ยังดี จะได้กล้อมแกล้มเดาเอาได้บ้าง จะถามนายซายซาย (ไกด์นำเที่ยว) ก็ไม่รู้ว่าเดินไปทางไหนเพราะฉะนั้นผมจึงบอกไม่ถูกว่า มีอะไรบ้างและรายละเอียดเป็นอย่างไร ได้แต่ถ่ายรูปมาดูกันเท่านั้น เมื่อไม่รู้ตำนานจากที่เขาเขียนไว้ ผมก็เลยเดินชมสิ่งต่างเฉยๆ เพราะว่าสถานที่ก่อสร้างต่างๆเขาสวยงามมาก เหตุเพราะว่าเป็นเกาะเล็กๆที่กลางน้ำ จึงเดินดูนั่นนี่ไม่นานก็ทั่วหมดแล้ว 

alt

 

alt

 

alt

 

เมื่อเราสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่และเดินชมกันอย่างอิ่มเอมใจแล้ว ก็จะได้ข้ามเรือกลับเพื่อเดินทางไปยังในตัวเมืองย่างกุ้งต่อไปครับ

 

alt

 

 alt

 

alt

ภาพตอนลงเรือกลับจากเจดีย์กลางน้ำ เจดีย์เลพญา

 

ก่อนจะจบเรื่องเจดีย์กลางน้ำ หรือเจดีย์เลพญานี้ ก็จะขอเล่าตำนานของสถานที่นี้สักหน่อยครับ

  เมืองสิเรียม (Syriem) เป็นเมืองเล็กๆตั้งอยู่ตรงจุดบรรจบของแม่น้ำหงสา และแม่น้ำย่างกุ้งมาบรรจบกัน ซึ่งในอดีตเมืองนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญในการเดินเรือของชาวโปรตุเกส  ปัจจุบันเมืองสิเรียมเป็นเมืองอุตสาหกรรม ชาวเมืองส่วนใหญ่ทำงานกันในโรงกลั่นน้ำมัน หรือไม่ก็เป็นลูกจ้างในโรงเบียร์

ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าเชื้อสายอินเดีย เพราะในสมัยที่พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ สิเรียมเป็นศูนย์กลางของเมืองท่า และยังเป็นแหล่งผลิตอาหารส่งสู่กรุงย่างกุ้ง และอังกฤษต้องเกณฑ์แรงงานอินเดียมาทำนาหากินกันจนถึงปัจจุบันนี้

ตามประวัติศาสตร์ของเมืองสิเรียมนี้ พื้นที่พื้นที่มีสภาพเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากน้ำ เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ทำให้เป็นที่หมายปองของชาวต่างชาติในสมัยก่อน ในยุคล่าอาณานิคม มีชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส และชาวฮอลันดาต่องก็แย่งกันขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้

หลังจากหมดยุคอันเกรียงไกรของอาณาจักรหงสาวดี สิ้นบุญพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากบุเรงนองคือพระเจ้านันทบุเรง พระองค์ทรงอ่อนแอจนบรรดาประเทศราชประกาศแยกตัวเป็นอิสระ

แม้กระทั่งกองทหารและชาวบ้านก็หลบลี้หนีหาย จนอาณาจักรหงสาวดีที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรแทบกลายเป็นเมืองร้าง กองทัพชาวยะไข่จากรัฐอาระกัน ก็บุกเข้ามาปล้นสะดมแล้วเผาเมืองโดยง่าย พวกยะไข่มีกองทัพที่เข้มแข็งและยังมีทหารรับจ้างเป็นชาวโปรุเกสที่เชี่ยวชาญการรบ เมื่อครั้นเคลื่อนพลมาหงสาวดีก็ตั้งกองทัพเรือที่เมืองสิเรียม

ครั้นเสร็จศึกสงคราม ก็ปูนบำเหน็จให้ทหารรับจ้างโปรตุเกสชื่อฟิลิปเดอบริโต ยีนิโคเต เป็นเจ้าเมืองสิเรียม ตั้งแต่นั้นมาเมืองสิเรียมก็เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลแทนหงสาวดี


ฟิลิป เดอ บริโต ยี นิโคเต ปกครองเมืองสิเรียมได้ 13 ปี พวกเขาได้ทำลายดินแดนพระพุทธศาสนา ยึดทรัพย์สินและบังคับให้ชาวเมืองสิเรียมเข้ารีตเป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอริก และให้ทำลายรูปปั้นในศาสนาอื่น โดยเฉพาะวัดในพุทธศาสนา กอบโกยผลประโยชน์ทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเมืองสิเรียม

จนพระเจ้าอนอคะเปตลุน กษัตริย์พม่า มาล้อมเมืองสิเรียม จับ เดอ บริโต เสียบประจานรับโทษทัณฑ์สูงสุดตามกบิลเมืองพม่าที่กำหนดไว้สำหรับผู้ที่ปล้นวัดวาอาราม ทนทุกข์ทรมานอยู่สามวันจึงตาย

หลังจากการตายของเดอ บริโต เมืองสิเรียมตกอยู่ในอำนาจของพม่าบ้าง มอญบ้าง ไทยบ้าง กระทั่ง พ.ศ.2428 พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 อังกฤษได้พัฒนาเมืองสิเรียมเป็นเมืองอุตสาหกรรมและแหล่งปลูกข้าวตราบจนปัจจุบัน

สำหรับเจดีย์เลพญานี้ ก็มีตำนานที่ย่อๆคือ

เจดีย์เยเลพญา หรือ เจดีย์กลางน้ำ ตามตำนานเล่าว่า เจดีย์แห่งนี้สร้างในสมัยมอญเรืองอำนาจ เมื่อราวพันกว่าปีก่อน โดยมีคหบดีชาวมอญเป็นผู้สร้างและยังได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าน้ำท่วมก็ขออย่าให้ท่วมองค์พระเจดีย์ ถ้ามีผู้คนมากราบไหว้จำนวนมากเท่าไหร่ก็ขอให้ไม่มีวันเต็มล้นพื้นที่ เพราะเจดีย์แห่งนี้สร้างบนเกาะมีสภาพเป็นเพียงเกาะเล็กๆกลางแม่น้ำกว้างใหญ่เท่านั้น และเจดีย์แห่งนี้ขึ้นชื่อในเรื่อง ไหว้พระขอพรทำธุรกิจทางการค้า

 

alt

การเดินทางจากเมืองสิเรียม ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที ถนนลาดยางสภาพดีแต่มีรถสองข้างทางจอดกันไม่เป็นระเบียบเยอะ ครับ

(โปรดรออ่านตอนต่อไปที่นี่ ที่เดียว)

 

alt

 นายแก้ว ผู้เขียน 25 พฤษภาคม 2559 

 

 

 

 

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้188
เมื่อวานนี้369
สัปดาห์นี้557
เดือนนี้4460
ทั้งหมด1323794

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online