เที่ยวยุโรป (รถไฟในยุโรป ๑)

ผู้เขียนยืนเคียงข้างกับรถไฟไต่ขึ้นยอดเขา Jungfraujoch ในสวิสเซอร์แลนด์

   ก่อนอื่นผมต้องขอกล่าวไว้ก่อนว่า สิ่งที่นำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่เป็นความคิดส่วนตัวและ เป็นประสบการณ์ที่ได้พบได้เห็นของผมเอง ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือไม่ถูกตามความเป็นจริงก็ได้

    บางเหตุการณ์บางเรื่องอาจมีความแตกต่างกับหนังสือหรือมีผู้เล่ามาแล้ว ผมจึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังในมุมมองที่แตกต่างที่เป็นของผมเอง ได้รู้ได้เห็นด้วยตัวผมเองจริงๆ ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิก www.chatsamian.org อยู่ ผมจึงขอเล่าเรื่องต่างๆที่ผมได้รู้ได้เห็นมาเหล่านี้ผ่าน website นี้นะครับ

และหากว่าท่านผู้อ่านมีข้อแนะนำ หรือมีข้อเสนอแนะก็ยินดีรับฟังครับ โดยแจ้งเข้ามาที่ website นี้ได้เลย และผมขอเริ่มเรื่องของผมเลยนะครับ 

เนื่องจากท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่รู้จักผมผู้เขียนจึงขอแนะนำตัวเสียก่อน

  

  ผู้เขียนกับคุณแม่และหลาน (ลูกของพี่สาว) ที่หลังบ้านในตลาดเจ็ดเสมียน (ภาพในอดีตของผู้เขียน)

  ผมเป็นคนหนึ่งที่เกิดในตลาดเจ็ดเสมียน ที่บ้านเลขที่ 25 หมู่ 3 ต.เจ็ดเสมียน (คลอดที่บ้านครับ ถ้าผมจำไม่ผิดหมอที่คลอดผมออกมาชื่อหมอบุญธรรม) ผมเป็นเด็ก “เจ็ดเหมียน” แท้ๆ เพียงแต่ว่าชีวิตผันเปลี่ยนไปตามกาลสมัย เริ่มต้นเรียนหนังสือชั้น ป.1 - ป.7 ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ต่อด้วย ม.ศ.1-ม.ศ.3 ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี

  แล้วก็เริ่มจะห่างๆจากเจ็ดเสมียนไป ก็ตอนเริ่มขึ้นชั้น ม.ศ.4 เนื่องจากบิดามารดาย้ายจากตลาดเจ็ดเสมียนไปอยู่กับพี่สาวที่กรุงเทพฯ ผมจึงได้มาเรียนต่อ ม.ศ.4-5 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร หลังจากนั้นก็เรียนจนจบปริญญาตรี ปัจจุบันรับราชการครับ

 

  ผู้เขียนยืนอยู่ที่หน้าวัดแห่งหนึ่งชื่อวัด อาซากุซะ เมืองโตเกียวประเทศญี่ปุ่น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอย่างมากมาย

ขอเข้าเรื่อง

   ผมทำงานอยู่หลายปี จึงมีโอกาสได้ไปต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง ทั้งไปราชการ และไปส่วนตัวรวมทั้งไปในฐานะเป็นไกด์ด้วย (ไกด์เป็นงานพิเศษเสริมรายได้ครับ) ประเทศต่างๆที่ผมได้ไปมาแล้วหลายประเทศนั้น เช่นในโซนเอเซียก็มี สิงคโปร์ อินโด มาเลย์ ญี่ปุ่น

 

  ผู้เขียนอยู่ที่กรุงวาติกันประเทศเล็กๆ ในอิตาลี วันที่ไปพระสันตะปาปา ออกมาทำพิธีทุกๆ วันพุธ มองเห็นไกลๆ ด้านหลัง

   โซนยุโรปก็ เยอรมนี สวิส ฝรั่งเศส ออสเตรีย เชค อิตาลี กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ประกอบด้วย เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก  และล่าสุดไปเดนมาร์ค และสวีเดน ซึ่งในการที่ได้ไปต่างประเทศทั้งหลายนี้ ไปในราชการบ้างส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ไปเอง แต่สรุปแล้วส่วนใหญ่ไปกันเองซะมากกว่า

 

 

  ผู้เขียนนั่งอยู่บนราวสะพาน ชาร์ลส์ กรุงปราก ประเทศเชค

  ไปต่างประเทศไกลๆกันทั้งที จะไปกันค่อนข้างนานๆเช่น 10-15 วัน แต่ที่ล่าสุดที่จะนำเรื่องมาเล่าสู่กันฟังนี้ไปนาน 2 เดือน (1 พ.ค. - 30 มิ.ย.)  ไปอยู่ที่เมืองเบอร์ลิน เยอรมนีเป็นหลัก จึงพอมีโอกาส และมีเวลาพอที่จะเขียนเรื่องราวต่างๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ เป็นข้อมูลให้คนอื่นๆ ได้รับรู้บ้าง

   พี่แก้วที่เป็นคนเจ็ดเสมียนเช่นเดียวกันกับผมและยังติดต่อกันอยู่ และเป็นผู้ที่ทำเวบเพื่อคนเจ็ดเสมียนขึ้นมา คือ  www.chetsamian.org  เคยบอกให้ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องไปต่างประเทศนี้หลายครั้งแล้ว ผมก็ไม่ว่างที่จะเขียนให้สักที แต่ก็ได้รับปากไว้

   ในครั้งนี้จึงมีโอกาสก็อาศัยช่วงเดินทางอยู่บนรถไฟเขียนต้นฉบับกันสดๆ และส่งกันสดๆถึง www.chetsamian.org เลยทีเดียว

   ที่สำคัญที่สุดคือผมต้องขอออกตัวเสียก่อนครับว่าผมไม่ใช่นักเขียน ฉะนั้นอ่านๆไปอาจจะไม่สนุก ไม่เร้าใจ ไม่ตื่นเต้นเหมือนเรื่องราวของนักเขียนมืออาชีพทั้งหลาย ผมก็ต้องขออภัยด้วย

 

 

   ผู้เขียนบนยอดเขา Jungfraujoch (Top of Europe) หนาวมากๆ สวิสเซอร์แลนด์

  เตรียมตัว
   หลายคนคงคิดว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ต้องใช้บริการของบริษัททัวร์ ถึงจะสะดวกไม่ลำบาก ก็จริงครับแต่ถ้าเราลองไปกันเอง ลุยกันเองมันคงจะเป็นความประทับใจมากกว่า เพราะว่าการไปกับบริษัททัวร์นั้น โปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ก็จะเน้นไปที่จุดใหญ่ๆ สำคัญๆ เวลาก็สั้นจะต้องรีบกันแบบตาเหลือก

   แต่ถ้าเราไปกันเอง ลุยกันเอง อยากพัก อยากกิน อยากช๊อป ตรงไหนทำได้ตามใจ สถานที่หลายแห่งที่บริษัททัวร์ไม่มีโอกาสพาไป เนื่องด้วยเพราะเสียค่าใช้จ่ายสูง เสียเวลา แต่เราก็สามารถไปได้ดังใจครับ
  ท่านคงคิดอีกว่าถ้าไปต่างประเทศแบบกันเอง คงต้องเก่งภาษาต่างชาติ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ต้องขอบอกครับว่าผมเองก็ไม่ได้พูดอังกฤษเก่งมากนัก เพียงแต่ว่าซื้อของกินได้ ถามทางว่าไปทางไหนได้ ก็เพียงพอแล้วครับ

  ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะใช้วิธีสังเกต ดูจากป้ายต่างๆ ดูจากเอกสาร เดาเอาบ้าง คิดเอาบ้าง หรือถ้าไม่ทราบจริงๆ ก็ต้องลองผิดลองถูกเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเราเองครับ บางครั้งอาจจะเสียเวลาบ้างแต่ก็ได้เรียนรู้ แต่ก็ใช้ได้กับบางประเทศ เพราะบางประเทศอาจไม่มีภาษาอังกฤษที่เราพอรู้เรื่องเลย

  ดังนั้นในตอนแรกนี้ผมขอนำเสนอเรื่องของการขนส่งมวลชนของเขา (รถไฟ) เป็นหลักนะครับ เพราะผมคิดว่าการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่เที่ยวค่อนข้างจะมีในหนังสือทั่วๆ ไปมากพอแล้ว และอาจจะสอดแทรกอะไรบ้างตามสมควรครับ

ซื้อตั๋ว
  ในโซนยุโรปการเดินทางถือว่าสะดวกสบายมาก คนส่วนใหญ่จะใช้ขนส่งมวลชน เช่น รถไฟ รถเมล์ รถราง เรือ รถไฟใต้ดิน มีหลายหลายรูปแบบให้เลือกในการเดินทาง ถ้าในเมืองก็เป็นรถไฟใต้ดิน และรถราง ส่วนระหว่างเมืองก็เป็นรถไฟ เพราะมีความสะดวก ตรงเวลา  

   น้อยครั้งที่จะเสียเวลา และมีจำนวนมากเรียกกว่าทุก 5 นาที 10 นาที แล้วแต่ประเภทของขนส่งมวลชนนั้นๆ ซึ่งครั้งนี้ผมขอเจาะไปที่รถไฟระหว่างเมืองก่อนก็แล้วกันครับ

   เริ่มต้นที่ระบบตั๋วเดินทาง ในกรณีที่เป็นนักท่องเที่ยวประเภทชอบเที่ยวจริงๆ ลุยๆ ขอแนะนำควรซื้อตั๋วประเภท Eurail Pass ซึ่งสามารถซื้อได้ที่ประเทศไทย ดูรายละเอียดได้ที่ www.eurail.com ซึ่งมีหลายรูปแบบให้เลือกกันมากมาย

   วิหารแพนธีออน หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของสถาปัตยกรรมก่อสร้างแห่งอาณาจักรโรมันโบราณ 

    ผมขอยกตัวอย่างบางประเภทที่ผมใช้ก็แล้วกันครับ คือ Eurail Global Pass ราคา 450 ยูโร (ราคาเป็นเงินบาทไทยก็เอาอัตราแลกเงินยูโร ณ วันนั้นที่ซื้อคูณ เช่น 1 ยูโร= 45 บาท ราคาตั๋วใบนี้ก็ 20,250 บาท) เป็นตั๋วที่ต้องใช้ 15 วันต่อเนื่อง เริ่มใช้เมื่อใดก็นับต่อไปได้เลย 15 วัน ถ้าซื้อประเภทนี้ควรเดินทางทุกวัน

    หรืออีกแบบ ใช้แบบวันไม่ต่อเนื่อง คือ ใช้ได้ 10 วัน ภายในเวลา 2 เดือน คือจะใช้วันไหนก็ได้เว้นวันได้ แต่ให้อยู่ในระยะเวลา 2 เดือนที่เริ่มต้นใช้ตั๋ว ราคาตั๋วก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเดินทางคนเดียวหรือเป็นหมู่คณะ (ไม่เกิน 5 คน) ราคาก็จะแตกต่างกัน
  บางท่านคิดว่าตั๋วราคาขนาดนี้แพงจัง ขอบอกเลยครับว่าคุ้มมาก โดยเฉพาะพวกลุยเที่ยวแบบเมืองต่อเมือง ประเทศต่อประเทศ เพราะตั๋วนี้สามารถใช้เดินทางได้ใน 22 ประเทศในยุโรป (โดยรถไฟหรือเรือบางเส้นทาง) แต่ถ้าไม่มีตั๋วนี้ อย่าว่าแต่ระหว่างประเทศเลยครับ แค่ระหว่างเมืองในประเทศเดียวกัน

   เช่น จากเมือง Berlin เยอรมนี ไปเมือง Hannover (ใช้เวลาประมาณ 2 ช.ม.) ระยะทางประมาณกรุงเทพฯ ประจวบคีรีขันธ์ (ของเราใช้เวลาประมาณนานมาก) ถ้าซื้อตั๋วเที่ยวเดียว ขอย้ำว่าเที่ยวเดียวครับ ราคาประมาณ 2,500-3,000 บาท แล้วคิดดูว่าถ้าระหว่างประเทศจะแพงแค่ไหน

   แล้วลองคิดนะครับว่าถ้าเราเดินทางทุกๆ วัน ๆ ละหลายๆ เที่ยว จะเสียค่ารถไฟเท่าไหร่ ผมลองคิดคำนวณเส้นทางที่ผมเดินทางไปใน 15 วันเล่นๆ ขึ้น-ลง รถไฟตามเมืองต่างๆ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 60,000 บาทขึ้นครับ และที่สำคัญตั๋วใบนี้เราได้นั่งชั้น 1 ของเขาครับ
    นั่งรถไฟได้ทุกประเภท เช่น รถ ICE (Inter City Express) high-speed train ขบวนนี้เร็วสุดครับ หรือ EC (Euro City) หรือ IC (Inter City) สองแบบหลังนี้ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ และประเภทรถท้องถิ่นระหว่างเมืองกับเมืองเล็กๆ หรืออำเภอแบบบ้านเรา ก็เป็นรถ RE (Regional Express) แต่คุณภาพคับแก้วทั้งนั้นครับ

   และอีกประการตั๋วที่กล่าวมานั้น คนที่อยู่ในยุโรปไม่สามารถซื้อหาได้ เพราะอะไรเหรอครับ ก็เพราะว่าเป็นตั๋วที่เขาส่งเสริมให้เฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีวีซ่าเป็นนักท่องเที่ยว ดังนั้นชาวเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ญี่ปุ่น จีน อินเดีย นิยมใช้ตั๋วประเภทนี้กันมาก และยังสามารถนำไปเป็นส่วนลดในการเข้าชมสถานที่สำคัญ ๆ ได้อีก 25-50 เปอร์เซ็นต์

  เช่น ชมพิพิธภัณฑ์ ขึ้นกระเช้ายอดเขา รถไฟขึ้นเขาเป็นต้น ซึ่งเมื่อซื้อตั๋วมาจากประเทศไทยเขาก็จะแนบสมุดตารางเวลาการเดินรถไฟของเมืองต่างๆ ทั้งยุโรปมาให้เราด้วย ซึ่งในนั้นจะบอกเวลาออกเวลาถึง จากไหนไปไหนโดยรถประเภทใดได้อย่างละเอียด ยกเว้น ชานชลาที่ออกและถึงเท่านั้นที่ยังไม่สามารถบอกได้

  ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นด้วยเพราะบางสถานีมีถึง 20-30 ชานชลา เยอะครับ เยอะจริงๆ และคิดดูหากเราไม่ทราบว่ารถออกชานชลาไหน รับรองวิ่งหากันตาเหลือกแน่ ไม่เหมือนกับบ้านเราหรอกครับ รอที่หน้าสถานีอย่างเดียว เพราะมีชานชลาเดียว แต่ก็ไม่ยากหรอกครับเพียงแต่ว่าเรามาให้ถึงสถานีก่อนสักเล็กน้อยดูได้ที่บริเวณด้านในสถานี

   เช่น ป้ายไฟขนาดใหญ่ หรือป้ายกระดาษ (พื้นสีเหลือง) มีทุกสถานีครับ เช่นเราอยู่ Berlin จะไปเมือง Hamburg ในสมุดตารางที่เขาให้มาพร้อมตั๋ว ก็จะบอกว่ามีรถไฟตอนกี่โมงบ้าง ซึ่งมีหลายเวลา สมมุติว่าเราเลือกจะไปเวลา 07.13 น. เมื่อเราไปถึงสถานีรถไฟ ถ้าไม่ดูที่ป้ายไฟ ก็ไปดูป้ายกระดาษ (พื้นสีเหลือง)
   มันจะมีเวลาเดินรถทุกเวลา เราก็ไล่ไปที่เวลา 07.13 น. ก็จะทราบชานชลาที่ขึ้น แต่หากว่าวันนั้นเราไม่ได้ดูเวลาจากสมุดตารางเวลาออก แต่มาถึงสถานีเวลาประมาณ 07.00 น.อะไรก็ไม่รู้เลย ไม่รู้เวลาและชานชลารถไฟออกเลยก็ไม่ยากครับ ไปดูที่ป้ายเดิม เรามาถึงสถานีรถไฟตอน 07.00 น. ก็ดูไล่ไปสิครับว่าจุดหมายที่เราจะไปหลังจากเวลา 07.00 น.นี้มีเวลาใดบ้าง

   เพราะในตารางจะบอกชื่อเมืองอย่างละเอียด เราก็จะทราบเวลา และชานชลาที่ออก เมื่อมาถึงชานชลาที่ออกแล้ว ควรตรวจสอบอีกครั้งว่าถูกต้องหรือไม่ ที่ตรงชานชลา ส่วนใหญ่จะมีป้ายไฟให้เห็นว่า ในชานชลาที่เรายืนนั้นคือชานชลาอะไร เวลาที่ออกจากไหนไปไหน ผ่านไหนบ้าง

   ต้องระวังอีกเรื่องครับคือ ถ้าเป็นสถานีใหญ่ๆมักมีชานชลายาวมาก เช่น ชานชลาที่ 6a หรือ 6b เป็นต้น เพราะหากเราไปขึ้นไม่ถูกขบวน เวลาไปมันไปด้วยกัน แต่พอไปสักพักถึงอีกเมืองหนึ่ง ปรากฏว่ามีการตัดขบวนไปคนละเส้นทาง ซึ่งหลายคนเจอมาแล้ว (แต่ผมยังไม่เจอนะ) ซึ่งการตัดขบวนนั้นของเขาเนียนมาก ต่างกับบ้านเรารู้เลยว่ากำลังต่อหัว ต่อตู้ แต่ของเขา ไม่รู้สึกเลยว่ามีการต่อตู้ ตัดตู้

 พร้อมที่จะลุยกันแล้วใช่มั๊ยครับ เราทราบเวลาออก เวลาถึงชานชลารถไฟออก ดังนั้นเราก็จะสามารถวางแผนการเดินทางของเราได้อย่างสะดวก เป็นระบบได้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลา ได้เที่ยวมากขึ้น ยิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม นี้เป็นช่วงหน้าร้อนของยุโรป ตอนเช้า ตี 5 ก็สว่างแล้วครับ แถม 3-4 ทุ่มยังไม่มืดเลย มาเที่ยวช่วงนี้คุ้ม กลางวันยาว กลางคืนสั้น
ไปกันเถอะครับ ตามผมมาครับ..  อ่านต่อตอน ๒   คลิ๊ก

เที่ยวยุโรป เขียนโดย วรรโณ  สงวนลิขสิทธิ์ข้อความและภาพตามกฎหมาย

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้152
เมื่อวานนี้303
สัปดาห์นี้1542
เดือนนี้10789
ทั้งหมด1340673

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online