เด็กชายปฐม (ตึ๋ง)

นางสละ สุวรรณมัจฉาอุ้มเด็กชายปฐม บุตรชายในขณะที่ มีอายุได้ ๖ เดือน ๒๐ วัน ที่บริเวณบ้านในตลาดโพธาราม เมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๘๓ เมื่อ ๖๙ ปีมาแล้ว

       เมื่อนายหิรัญแต่งงานกับนางสละที่เจ็ดเสมียนในปี พ.ศ.๒๔๘๒ แล้วนั้น ก็ได้ไปอยู่ที่บ้านที่โพธาราม ปัจจุบันนี้คือโรงเรียนเจี้ยใช้  (บริเวณโรงเรียนเจี้ยใช้ นั้นเดิมทีเป็นที่ดินของบิดามารดาของนายหิรัญ ที่ได้ขายให้กับโรงเรียนไป)

นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ครูโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

   โดยยังถีบรถจักรยานจากโพธารามมาสอนเด็กที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน (ในขณะนั้นยังไม่ได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เจ็ดเสมียน และต่อมานายหิรัญจึงได้ย้ายจากโพธารามมาอยู่เจ็ดเสมียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ )

    ไม่นานนักก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรคนแรกของนายหิรัญและนางสละ ซึ่งถือกำเนิดที่โพธารามนั่นเอง ท่ามกลางความยินดีปรีดาของ ปู่ย่า พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ในฐานะที่เป็นบุตรชายคนแรก พ่อและแม่จึงได้ตั้งชื่อให้ว่า ปฐม ซึ่งมีความหมายพื้นๆว่า เริ่มต้น

  ในเวลานั้นเด็กชายปฐม ก็จึงเป็นขวัญใจของพ่อแม่พี่น้อง และทุกคนที่ได้พบเห็น และแล้วในขณะที่เด็กชายปฐมกำลัง สอนพูด สอนเดิน กำลังเป็นสุดสวาทขาดใจของใครต่อใครนั้น ก็มามีอันเป็นไปเมื่ออยู่ๆเด็กชายปฐมได้ล้มป่วยลง   (ยังไม่พบหลักฐานว่าเป็นโรคอะไร) สุดที่นายแพทย์ในสมัยนั้นจะเยียวยาได้

  ไม่นานนักก็เสียชีวิตลงไป ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของญาติพี่น้อง โดยเฉพาะนายหิรัญและนางสละนั้น ได้เศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก นายหิรัญถึงกับได้เขียนคำรำพันถึงบุตรชาย  ที่ผู้เป็นพ่อคนหนึ่งพิร่ำพิไร อาลัยอาวรณ์ถึงผู้เป็นบุตรชาย เอาไว้ ขอเชิญท่านอ่านคำรำพันเหล่านี้จากคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อเถิดครับ

     ต่อจากนี้คือคำรำพันถึงลูกรักของนายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ซึ่งท่านได้บันทึกเอาไว้

นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘

    ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ วันนี้เป็นวันที่ฉันได้รับความเศร้าโศกอย่างสุดซึ้งอีกเป็นครั้งที่ ๒ คือ ปฐม ลูกชายคนหัวปีของฉันได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว   เวลา ๑๖.๔๐ น. 

   ยังความเศร้าโศกเสียใจมาสู่ ฉันและสละ อย่างมาก เพราะเพิ่งจะมีบุตรคนนี้เป็นคนแรกเป็นชาย  หน้าตาน่าเกลียดกำลังสอนพูดสอนเดิน 

นางสละ สุวรรณมัจฉา เมื่อมีนาคม ๒๕๑๐

   กำลังเป็นที่สุดสวาทขาดใจก็มามีเป็นไปเสียเช่นนี้  จะหาใครที่มีทุกข์มากเท่าฉันเห็นจะไม่มีอีกแล้ว 

   มารดาของฉัน (แม่ของนายหิรัญ) เสียยังไม่ทันถึงปี  บุตรชายก็มาเสียไปอีกฟ้าดินช่างไม่สงสารบ้างเลยเทียวหรือ มาให้ชมเชยไม่ทันไรก็มาด่วนจากไปเสีย ตายเสียเมื่อยังเล็กๆอยู่ยังไม่เสียใจเท่าเวลานี้ 

   ฉันคาดว่าถ้าเด็กคนนี้โตใหญ่ไปข้างหน้าแล้ว รูปลักษณะบอกว่าไม่ใช่คนเลว คงจะดีกว่าพวกเพื่อนๆรุ่นเดียวกับมันเป็นแน่ 

   เมื่อสิ้นใจนั้นฉันยังไม่เอาผ้าคลุมทีเดียว เปิดหน้าไว้ดูเสียให้จุใจต่อไปจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว คล้ายกับคนนอนหลับยิ่งดูยิ่งเศร้าโศก ฉันตั้งใจจะดูให้ภาพนั้นให้ติดตาไปนานๆ 

  เผื่อเวลาคิดถึงขึ้นมาจะได้หลับตา มองเห็นภาพอันแสนรักแสนถนอมนั้นอีก  ดูไปๆก็อดน้ำตาไหลไม่ได้  โธ่ลูกเอ๋ยเจ้าไม่ควรตัดช่องน้อยแต่พอตัว อยู่ให้พ่อได้ชมได้เชยไปอีกก็ไม่ได้ 

  มัจจุราชนี่ช่างร้ายอะไรอย่างนี้  ถ้าฉันมีอิทธิฤทธิพอสามารถจะสังหารมัจจุราชได้แล้ว ฉันจะตามไปสังหารถึงในปรโลก แย่งเอาบุตรอันสุดรักกลับมาอีกให้ได้ 

  ลูกคนอื่นเขาเลี้ยงอย่างทิ้งๆขว้างๆมันก็ยังไม่ตาย ลูกของเราแสนจะถนอมยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอมยังมาเป็นได้ คิดแล้วอยากจะร้องไห้ให้มากๆ  ร้องจนให้พระอินทร์ หรือมัจจุราชมีความสงสารคืนบุตรอันแสนสวาทกลับมา

  บางครั้งอุปทานฉันทำให้เห็นไปว่าลูกฉันดูเหมือนจะมีลมหายใจ  ก็รีบกระวีกระวาดไปคลำท้องดู  แต่อนิจจามันแข็งไปด้วยลมกาฬจะมีอาการหายใจก็หาไม่  ซ้ำยังเย็นเฉียบเสียด้วย 

  ทำไมหนอคนที่รักกันจึงจะต้องตายจากพลัดพรากจากกันไป คนที่เกลียดกันซิจึงควรตายจาก  ยิ่งมีคนพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้  ยิ่งทำให้ฉันโศกมากขึ้น 

   บางครั้งก็คิดตัดใจได้ว่าแม้จะโศกจนเลือดตากระเด็น ก็ไม่ทำให้ศพนั้นมีวิญญาญกลับคืนฟื้นขึ้นมาได้  ก็จึงหักใจได้เป็นครั้งเป็นคราว 

   หลับตาลงทีไรเห็นลูกคนอื่นทีไร  เป็นต้องนึกถึงลูกของเราขึ้นมาทีเดียว  เวลาจะไปโรงเรียนก็ร้องไห้ตาม  

  “ ตอนเย็นๆเถิดเตี่ยจะกลับมาอุ้ม  “  ครั้นเย็นกลับมาเห็นเข้าบางครั้งก็หัวเราะ ชี้มือ บางครั้งก็ร้องไห้เมื่อเดินเลยไป  แต่กลับมาจากโรงเรียนวันใด  เป็นต้องอุ้มเจ้ารับขวัญเสียให้สมกับคิดถึงทุกวัน  

   โอ้อนิจจา … เดี๋ยวนี้จะไปโรงเรียนก็ไม่มีใครจะร้องตาม เมื่อกลับมาก็ไม่มีใครร้องให้อุ้ม เมื่อยามรักใครจะอุ้มขึ้นมารับขวัญ เมื่อเปล่าเปลี่ยวใจจะได้ใครมาปลอบประโลม  

  ปฐมเอ๋ย ตึ๋งเอ๋ย เจ้าหารู้ไม่ว่าเจ้าไปแล้วได้ทิ้งความเศร้าโศก  ความรักความอาลัยไว้เบื้องหลังมากเพียงไร กลับมาเถิดเตี่ยคิดถึงเจ้าเต็มทนแล้ว 

  เตี่ยอยากเห็นเจ้าร้องเพื่อให้เตี่ยอุ้มเจ้าขึ้นมารับขวัญ เตี่ยอยากเห็นเจ้าทำลิงให้เตี่ยดู แต่ทำไมไม่เห็นมาเล่า อ้อ..มัจจุราชพาเจ้าไปไกลแล้วหรือ สุดที่จะพาเจ้ากลับมาได้อีก 

  ทำอะไรไม่ได้ก็ได้แต่หลั่งน้ำตา ร้องไห้เท่านั้นพอจะเป็นเครื่องปลอบประโลมได้บ้าง น้ำตาเท่านั้นพอจะบันเทาความทุกข์ อนาถนัก อยู่หลัดๆก็มาพลัดกันไป 

  มฤตยูท่านช่างไม่ยกเว้นชีวิตมนุษย์ให้บ้างเลยเทียวหรือ

  ฉันไปทำการฝังศพไว้ ณ.ป่าช้าวัดโพธาราม เมื่อจะนำโลงใส่หลุมนั้นฉันได้เปิดดูหน้าเจ้าปฐม อีกเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนับแต่นี้ไปจะไม่ได้เห็นหน้าเจ้าอีกแล้ว เป็นการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ขอให้วิญญาณของเจ้าจงไปสู่ในที่สุคติเถิด  

  ชาตินี้เจ้ามาให้ชมให้เชยได้เพียงเท่านี้ ชาติหน้าขอให้มาเกิดเป็นลูกพ่ออีกเถิดนะ และจะให้ได้ชมให้ได้เชยมากกว่านี้ 

  พ่อจะเทอดเจ้าไว้จะรักเจ้าอย่างไม่มีใดเปรียบ จะถนอมเจ้ายิ่งกว่าแก้วตาไปเถิดวิญญาญจงไปเป็นสุขๆ อย่าเป็นห่วงเลยพ่ออยู่ข้างหลังจะทำบุญตรวจน้ำไปให้ 

  และจะไม่ลืมเลยที่ในครั้งหนึ่ง เจ้าได้มาเป็นสุดรักสุดถนอมของพ่อ...... 

    โอ้.. มฤตยู    คำเพียงสั้นๆเท่านี้   ช่างกินความหมายกว้างขวางยิ่งนัก...!

           นายหิรัญ.  ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔

 

  สมุดบันทึกของนายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นต้นมา เขียนด้วยลายมือแท้ๆมีมากกว่า ๓,๐๐๐ หน้า

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้219
เมื่อวานนี้736
สัปดาห์นี้955
เดือนนี้10202
ทั้งหมด1340086

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online