นายแก้ว นายอาทร นายสถานีรถไฟเก่า

alt 

 

คุณอาทร ชื่นณรงค์ คนเจ็ดเสมียนรุ่นใหม่

        เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมไปหาน้องสาวคนหนึ่ง ที่ในตัวจังหวัดราชบุรี แล้วก็ชวนกันไปเยี่ยมญาติคนหนึ่ง ที่เป็นญาติสนิท เป็นญาติแท้ๆ ของผมเลยทีเดียว ญาติคนนี้เป็นน้องชายคนเล็กแท้ๆ ของแม่ผมเอง ที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว เป็นเวลานานมาแล้ว ที่ไม่ได้มาพบกับแกเลย

       ในวันนั้นก็ได้พบกันเรียบร้อย ในตอนที่ลาออกมาจากบ้านน้าคนนี้แล้ว ทีแรกคิดว่าจะกลับบ้านกันเลย แต่ต่อมาก็ได้ความคิดว่าก่อนกลับนั้นแวะเข้าไปที่เจ็ดเสมียนกันก่อนดีกว่า ไหนๆก็ต้องผ่านอยู่แล้ว

 

       เพราะว่าวันนี้เป็นวันอาทิตย์ ในตอนบ่ายๆนั้นก็จะมีตลาดนัด เราจะได้เข้าไปเดินตลาดนัดกันด้วยสักพักหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งบางคนก็ยังไม่เคยมาที่เจ็ดเสมียนนี้เลยได้แต่เคยอ่านในหนังสือที่นายแก้วเขียนเรื่องเก่าๆเอาไว้ ทุกคนก็เห็นดีด้วย
       ดังนั้นเมื่อรถวิ่งออกมาจากตัวเมืองราชบุรีแล้ว  ได้สักครู่หนึ่ง (ประมาณ ๒๐ นาที) ก็ถึงทางแยกเข้าตำบลเจ็ดเสมียน พอถึงทางแยกที่เลี้ยวเข้าตำบลเจ็ดเสมียนแล้ว เราก็เลี้ยวรถเข้าไปทันที

      วิ่งไปตามถนนเข้าตลาดเจ็ดเสมียน ซึ่งปัจจุบันนี้ปรับปรุงเป็นถนนชั้นดีแล้ว สองข้างทางมีต้นไม้ร่มรื่น ไม่นานนักก็ผ่านโรงพยาบาลเจ็ดเสมียนอยู่ทางด้านขวามือ และร้าน แม่กิมฮวย อยู่ทางซ้ายมือ

     เมื่อข้ามทางรถไฟแล้วทีแรกก็คิดว่า จะนำรถเข้าไปจอดที่หน้าตลาดเลย กะว่าจะไปจอดที่หน้าร้านอี๊น้อย ที่เมื่อสมัยก่อนบ้านผมก็อยู่ตรงนั้น แต่วันนี้เป็นวันอาทิตย์เขามีตลาดนัดหน้าตลาด ผมก็เลยต้องตรงไปเข้าซุ้มประตูวัด นายชรินทร์ ที่เป็นจราจรอยู่ตรงนั้น ก็ทำความเคารพให้ทันที

     เอารถเข้าไปจอดในสนามหน้าโรงเรียน ในตอนที่มาถึงนั้นยังไม่ค่อยมีรถ เพราะยังบ่ายไม่มาก ถ้าเป็นตอนบ่ายแก่ๆ รถคงมาจอดกันแน่นสนามแน่ๆ เราจอดรถโดยตั้งท่าไว้ให้ออกง่ายๆ เสร็จแล้วก็เดินเข้าตลาดไป

    คนที่มาด้วยกันนั้นยังไม่เคยมาที่ตลาดเจ็ดเสมียนหลายคน ต่างก็บอกว่าอยากจะไปดูของเก่าๆที่ร้านทองก่อนเป็นอันดับแรก เสร็จแล้วก็ค่อยไปเดินที่ตลาดกัน ใครอยากซื้ออะไรก็ซื้อได้ตามใจปรารถนา เสร็จแล้วก็จะกลับกันเลยเพราะว่าอยู่ไกล

alt

ตลาดนัดเจ็ดเสมียนในปัจจุบันนี้ เคยได้ยินหลายๆคนพูดว่า ก็เหมือนๆกับตลาดนัดในสมัยนี้ ในที่อื่นๆซึ่งมีทั่วไป

     มีคนถามผมว่าแล้วไม่แวะไปเยี่ยม ไปคุยกับใครต่อใครที่นี่บ้างหรือ เช่น เจ๊ติ๋ว เจ๊กวย ผู้ใหญ่กรรณิกา (น้องเล็ก) (คนนี้เวลาคุยโทรศัพท์กันก็จะบอกว่า เข้ามาเจ็ดเหมียนแวะมาหาด้วยนะ) ผมบอกว่าวันนี้เห็นท่าจะแวะไม่ได้แล้วเพราะเวลาไม่พอ ถ้าหากไปหาใครก็คงจะคุยนาน วันนี้จึงยังไม่ไปพบใครดีกว่า

 

alt

ผู้ใหญ่กรรณิกา ณ บางช้าง (ซ้าย) เมื่อวันเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี

     ผมพาคนที่ไปด้วยตรงดิ่งไปที่ร้านทองเลยทีเดียว ส่วนอีกสองสามคนนั้นไม่มาด้วยเพราะเคยมาแล้ว พวกเขาจึงขอเดินสำรวจตลาด และซื้อของกินของใช้ไว้ให้พร้อมเลยแล้วจะไปรอที่รถ ส่วนพวกผมก็เดินในชายคาตลาด ผ่านร้าน เจ๊เซี้ยม ร้านอี๊น้อย ผ่านบ้านเดิมของผมซึ่งตอนนี้เป็นร้านเสริมสวยไปแล้ว  ผ่านบ้านนายชุ่มร้านตัดผม ตอนนี้อายุมากเลิกตัดผมไปแล้ว เห็นแกนั่งอยู่ในบ้านกับน้ามั่นเมียแก

     ผมเดินผ่านบ้านเก่าของนายโหงว พ่อของนายโต เด็กตลาดเจ็ดเสมียนรุ่นหลังผมหน่อยหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นบ้านตีมีดและเป็นบ้านทำเครื่องไฟ เมื่อตอนที่ผมแต่งงานที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้ก็ได้รับการบริการเครื่องไฟ เครื่องขยายเสียงจากนายโหงวนี้แหละ   แล้วพากันเดินตัดตรงไปยังร้านขายทองเก่าแก่ของนายซุ่ย เตี่ยของเฮียงอก และนายหนุ่ย เมื่อไปถึงก็ให้แปลกใจมากที่ ร้านขายทองนั้นปิดอยู่ ผมกับคนที่ไปด้วยกัน อุทานพร้อมกันว่า อ้าว.......ทำไมจึงปิดล่ะ......!

 

alt

ภายในร้านทองเก่าในตอนที่ยังเปิดให้คนเข้าชมของเก่าๆอยู่ ในตอนนี้ปิดไปแล้ว

    หันรีหันขวางว่าจะหาใครสักคนหนึ่งมาถาม ในขณะที่ยืนดูรูปเก่าๆที่ตรอกศาลเจ้าใกล้ๆร้านทองอยู่ ก็พอดีเห็นชายคนหนึ่งรูปร่างสูงๆหน้าคุ้นๆกัน เดินเข้ามายกมือไหว้ผม แล้วถามผมว่า เฮียแก้วมาเที่ยวหรือ ผมมองดู อ๋อ น้องชายนายนิคมนั่นเอง เป็นลูกของครูเบญจา สุวรรณ (ครูจง อดีตครูใหญ่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน)  

     ปัจจุบันนี้นายคนที่ทักผมนี้ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ แต่เป็นเด็กรุ่นหลังมากผมจึงไม่รู้จักชื่อของเขา ผมก็เลยบอกว่าจะพาคนมาดูของเก่าที่ร้านทอง แต่ทำไมจึงปิดเสียล่ะ น้องชายนายนิคม (ผมไม่รู้ชื่อ) จึงเล่าถึงเหตุนี้ให้ผมฟัง แต่ผมขอผ่านไปนะครับ ไม่อยากยุ่งเรื่องของเด็กๆรุ่นน้องๆมัน คุยกันได้สักครู่หนึ่งเขาก็ขอตัวเดินจากไปในตลาดนัด

alt

ทิวทัศน์ของแม่น้ำแม่กลองมองจากตรงใกล้ๆศาลาเอนกประสงค์ไปทางทิศเหนือ 

     ในขณะนั้นมีชายคนหนึ่งนั่งอยู่หน้าร้านขายกาแฟข้างตรอกศาลเจ้าที่ผมกำลังดูรูปอยู่ เมื่อเขาเห็นผมก็ยกมือไหว้สวัสดีผมแล้วพูดว่า สวัสดีครับ เฮียแก้ว ผมยกมือไหว้ตอบ พลางนึกในใจว่าเป็นใครกันแป๊บเดียวผมก็นึกออก ครูเด๋อ หรือ  คุณพูลสุทัศน์ เมฆสุวรรณ อดีตรองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียนนั่นเอง และในอดีตก็เคยป็นครูสอนหนังสือเด็ก รู้สึกว่าจะเป็นเพื่อนครูกับน้องสาวคนเล็กของผมด้วย (น้องสาวของผมคือครูปราณี สุวรรณมัจฉา)

     ผมคุยกับครูเด๋อสักครู่หนึ่ง เรื่องที่คุยก็เกี่ยวกับเรื่องงานแสดง ที่ลานโพธิ์ในวันเสาร์  อาทิตย์ปลายเดือน ว่ายังมีการแสดงกันอยู่หรือเปล่า  มีคนสนใจมาชมกันมากไหม ครูเด๋อบอกว่าก็ยังมีคนสนใจมาชมกัน มากบ้างน้อยบ้าง ในตอนนี้ก็มีการซ้อมใหญ่กันที่ศาลาเอนกประสงค์  พูดพลางครูเด๋อก็ชี้มือไปทางศาลาเอนกประสงค์ใกล้ๆต้นโพธิ์ใหญ่ริมน้ำ ซึ่งผมก็ได้ยินเสียง ดนตรีไทย น่าจะเป็นวงใหญ่ ดังก้องออกมาข้างนอก

     ขณะที่คุยกับครูเด๋อนั้นสายตาผมเหลือบไปข้างหน้า เห็นชายคนหนึ่งมองมาทางผม แล้วยกมือไหว้ แต่คนนี้ผมไม่ต้องคิดว่าเป็นใครเลย  เพราะว่ารู้จักกันดีอยู่แล้ว คุณอาทร ชื่นณรงค์ นั่นเองครับเป็นบุตรชายคนโตของเฮียแก่เล็กซี้ของผมในอดีต กำลังยืนทำอะไรอยู่ที่หน้าร้านของแก

     ซึ่งแต่เดิมนั้นตรงนี้ห้องแถวนี้เป็นของแป๊ะอู๋ ก๋งของคุณอาทร ต่อมาก็เป็นของเฮียแก่เล็ก เพื่อนรุ่นพี่ของผมซึ่งเป็นลูกของแป๊ะอู๋  ต่อมาเฮียแก่เล็กแกจึงยกให้คุณอาทรซึ่งเป็นลูกชายคนโตของแกดำเนินกิจการต่อไป จนกระทั่งทุกวันนี้

     ผมขอโทษครูเด๋อขอปลีกตัวบอกว่าจะไปคุยกับอาทรเขาหน่อย ครูเด๋อบอกว่า เชิญครับโชคดีครับ พร้อมกับยกมือไหว้สวัสดีผมอีกครั้งหนึ่ง ผมเดินไปหาคุณอาทร มองเห็นได้ชัดว่า คุณอาทรแกก็ดีใจที่ได้พบกับผม  คำแรกที่คุณอาทรเอ่ยกับผมคือ “ผมสมัครเข้าเป็นสมาชิก เวบ ของเฮียแก้วแล้วนะ” 

alt

 
     ผมตอบว่า “ผมเห็นแล้ว ขอบใจมาก เวบของอาทรผมก็เข้าไปดูบ่อยๆเหมือนกัน ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่เห็น โพสท์ ภาพใหม่ๆเข้าไปอีกเลย  ”  คณอาทรบอกว่า  ” ช่วงนี้ผมไม่ค่อยว่างเลยครับเฮีย  อยากจะถ่ายรูปมาลงเรื่อยๆ แต่งานประจำมันรัดตัว เอาไว้ให้มีเวลาก่อนก็จะลงมาให้ แฟนๆชมกันต่อไป ยังไม่เลิกแน่นอนครับ”

 

alt

     แล้วเราก็คุยกันอีกนาน คุยกันอีกหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับในตำบลเจ็ดเสมียนของเรา (ผมจะไม่ขอเอ่ยในที่นี้ เพราะได้เขียนคำนำของคนเขียนไว้ตั้งแต่เปิดเวบครั้งแรกแล้ว ว่าเวบนี้จะไม่ยุ่ง เกี่ยวกับปัญหาต่างๆในตำบลเจ็ดเสมียนนี้)

     พอได้เวลาที่ผมจะต้องขอตัวกลับนั้น คุณอาทรถามผมว่า “เอ้อ...!  เฮียแก้ว  งานคนเจ็ดเสมียนพบกันครั้งที่ ๓ นั้นจะมีอีกหรือเปล่านะ ” ผมบอกคุณอาทรว่า  “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ในตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้ทราบข่าวจากทางผู้จัดเลย คงจะมีอีกมั๊ง เวลายังอีกนาน เดี๋ยวอาทรก็รู้ข่าวเองหรอก เตรียมกล้องถ่ายรูปเอาไว้ก็แล้วกัน ”

     คุณอาทรบอกผมอีกว่า “เมื่อ ๓ – ๔ วันก่อนนี้ นายสถานีรถไฟคนเก่าเขามาที่เจ็ดเสมียนนี้ ผมได้พบกับเขา ยังเล่าให้เขาฟังเลยว่า คนเจ็ดเสมียนมีการพบกันทุกๆปี ที่เจ็ดเสมียนนี้ ” 
     ผมถามว่า “นายสถานีคนไหน ใช่  นายลำไย โสภาพันธ์ หรือเปล่า “  คนที่ผมถามถึงคือนายลำไย ซึ่งเคยเป็นนายสถานีที่เจ็ดเสมียนนี้อยู่ช่วงหนึ่งอย่างยาวนาน และตอนนั้นก็อยู่ในยุคที่เจ็ดเสมียน มีชมรมคณะผลิตพลเมืองด้วย มีนาย ชวลิต ชาญชาติณรงค์ (หรือ ผู้ใหญ่ไล้ เป็นประธานชมรม)

     เป็นยุคที่เจ็ดเสมียนมีแต่ความสามัคคีปรองดองกัน และมีผู้นำอย่างกำนันโกวิท วงศ์ยะรา มีคหบดีใหญ่อย่างคุณแผ้ว เมฆสุวรรณ, นายวิรัช วงษ์วานิช, คณะครู ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในตำบลเจ็ดเสมียน มีแต่ความสามัคคีกัน ไม่มียุคใดจะเหมือนยุคนั้นเลย แม้ในยุคปัจจุบันนี้ก็เถอะ....!

      คุณอาทรตอบผมด้วยท่าทางเหมือนจะตื่นเต้น “ก็ใช่นะซี นายสถานีลำไยนั่นแหละ บังเอิญแกเข้ามาดูที่ดินของแกที่ซื้อไว้นานแล้ว ผมก็เลยบอกเรื่องนี้ให้แกทราบ แกบอกว่า มีการชุมนุมกันเมื่อไรแล้วละก็ส่งข่าวไปบอกด้วย แกให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ด้วยแหละ ”

     คุยกันอีกไม่นานผมก็ขอตัว เพราะว่าป่านนี้คนที่ไปคอยกันอยู่ที่รถคงบ่นกันแย่แล้ว เข้ารถไม่ได้เพราะว่ากุญแจรถอยู่ที่ผม ต่อจากนั้นพวกเราก็ออกจากเจ็ดเสมียนไป ในขณะที่ผมขับรถกลับออกมาจากเจ็ดเสมียน ผมนึกถึงคำที่คุณอาทรบอกผมตลอดเวลา ทำให้ผมคิดคำนวณในเรื่องของอายุของคนรุ่นนายลำไย โสภาพันธ์ (นายสถานีเจ็ดเสมียนคนหนึ่งในอดีต)

      คิดไปถึงว่า ตอนที่นายลำไยอยู่ที่เจ็ดเสมียนนั้น เป็น พ.ศ.อะไร แล้วตอนนั้นนายลำไยควรจะอายุเท่าไร จากตอนนั้นมาถึงพ.ศ.นี้มันกี่ปีมาแล้ว นายลำไยควรจะยังอยู่หรือไม่ เพราะเหตุว่า คนรุ่นเดียวกันในตอนนั้นต่างก็ไปกันหมดแล้ว เช่นครูใหญ่ บรรจง สุวรรณ, ครูประวิทย์ ไทยแช่ม ,ครูประสงค์ ปานทอง,ครูเทียน นักดนตรี ,กำนันโกวิท วงศ์ยะรา, คุณแผ้ว เมฆสุวรรณ,เฮียไล้, แม้กระทั่งนายจำเนียร คุ้มประวัติ ,และอีกหลายๆคน
จึงไม่แน่ใจว่า คนที่คุณอาทรพูดถึงนั้น จะใช่นายสถานีรถไฟเจ็ดเสมียนคนนั้น คือนายลำไย โสภาพันธ์ หรือเปล่า .... 


alt

ภาพนี้เป็นภาพที่ คณะผลิตพลเมือง และประชาชนชาวตลาดเจ็ดเสมียน จัดงานเลี้ยงส่งให้นายสถานีรถไฟเจ็ดเสมียน คือนายลำไย โสภาพันธ์ ไปรับตำแหน่งนายสถานีที่อื่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นายลำไย คือคนที่ใส่ชุดดำนั่งคู่กับกำนันโกวิท วงศ์ยะรา ที่ใส่เสื้อขาว รูปนี้ใครอยู่ตรงไหนดูกันเอาเอง หน้าคุ้นๆกันทั้งนั้นครับ
 
 

www.chetsamian.org  ขอสงวนลิขสิทธิ์ข้อมูลและรูปภาพบนเว็บไซต์ทั้งหมด โดยไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ ทำซ้ำ แก้ไข หรือ ดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด หากท่านใดต้องการข้อมูลบนเว็บไซต์ www.chetsamian.org กรุณาติดต่อ นายแก้ว โดยส่ง email ไปที่This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เพื่อขออนุญาตเสียก่อน เนื่องจากข้อมูลและรูปภาพบางเรื่องและบางชิ้น เป็นของท่านผู้เขียนและท่านสมาชิกที่ได้เขียนเรื่องต่างๆ และให้ขอยืมภาพต่างๆมาลงไว้ ซึ่งทางผู้จัดทำเว็บไซต์จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากทางเจ้าของผลงานก่อนทุกครั้ง จึงเรียนมาเพื่อทราบ.

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้91
เมื่อวานนี้351
สัปดาห์นี้1178
เดือนนี้10425
ทั้งหมด1340309

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online