ค่ำวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ๓

alt

เจ๊กวยกับเฮียง้วน ในงานแต่งงานของคุณ สุรพงษ์ แววทอง (บุตรชายแม่กิมฮวย) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของผู้เขียนเองตั้งแต่เด็ก.  

   " เก้ว (ชื่อผู้เขียน) อยากฟังเจ๊เล่าต่ออีกสักหน่อยไหม "  เจ๊กวยหันมาถามผมในขณะที่ผมกำลังนั่งฟังเจ๊กวยแกเล่านิ่งอยู่ และกำลังจินตนาการตามเรืองนี้ไป  " เอาเลยครับเจ๊  "ผมบอกเจ๊กวย " ผมกำลังทึ่งในชีวิตของเจ๊มาก จึงอยากให้เจ๊เล่าให้จบครับ "

     " อย่างงั้นขอเล่าต่ออย่างคร่าวๆข้ามขั้นตอน ในขณะที่ต่อสู้ชีวิตอย่างโชกโชนก็แล้วกันนะ "    แล้วเจ๊กวยก็บรรเลงเพลงชีวิตของแกต่อ
     "  ต่อมาเนื่องจากความขยันขันแข็งหนักเอาเบาสู้ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของเจ๊ และของเฮียง้วน จึงทำให้ฐานะพอจะดีขึ้นมาบ้าง และในตอนนี้ก็มีลูกกันถึง ๖ คนแล้ว (ไม่แปลกอะไรคนจีนต้องการที่จะมีลูกมากๆ)

 

     " ค่าใช้จ่ายในครอบครัวแต่ละเดือนก็มากตามขึ้นมา เจ๊ก็ไม่ยอมแพ้นะ ยังคงทำมาค้าขายกันเรื่อยมา ชีวิตก็ยังคงที่อยู่อย่างนั้น เหมือนน้ำหลังเขื่อนที่ไม่มีขึ้นไม่มีลง แม้ว่าจะขยันกันเพียงไรก็ตาม "

 

alt

คุณยุพา น้องสาวของเจ๊กวยคนหนึ่ง เมื่อสมัยเด็กๆเป็นเพื่อนเล่นรุ่นเดียวกับผู้เขียน ภาพนี้คุณยุพา ยืนอยู่ที่บันไดวัดเจ็ดเสมียน

   " เจ๊คิดว่าคนเราจะยากจนอยู่อย่างนี้ ไปทั้งชีวิตก็เกินไปละ แล้ววันหนึ่งความคิดชั่วแว๊บเดียว ในหัวสมองของเจ๊ก็เกิดขึ้นมา มันเป็นการเปลี่ยนชีวิตเจ๊ และครอบครัวไปเลย จริงๆนะไม่ได้พูดเล่น " เจ๊กวยหันมาหัวเราะ

     " นั่นก็คือเมื่อมาคิดขึ้นได้ว่า ทำไมเราจึงไม่ซื้อหัวผักกาด (หัวใช้เท้า) จากชาวบ้านรอบๆออกไปจากตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ในราคาถูกๆซึ่งชาวบ้านแถวนี้ปลูกกันทั่วไป เมื่อฤดูทำนาเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นไปแล้ว " 

   " แล้วเอามาแปรรูปในขั้นแรกทำดองเค็ม ตามสูตรที่เมื่อสมัยก่อนแม่เคยสอนเอาไว้ คิดว่าอาชีพนี้เป็นการลงทุนน้อย อาจจะทำกำไรให้มากได้เมื่อทำตามที่คิดได้นี้สำเร็จขึ้นมาแล้ว"

    " เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วจึงได้ตัดสินใจจะทำทันที แต่ก็ยังติดขัดในเรื่องเงินลงทุน แม้ว่าในครั้งแรกนี้จะยังไม่ต้องใช้เงินมากมายนัก เพราะยังเป็นขั้นทดลองอยู่ หันซ้ายหันขวาดูๆแล้วก็ไม่มีใครที่จะมีเงินมาให้หยิบยืมได้ คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก ว่าจะหาเงินทุนมาจากไหน "

   "   คิดจนหัวแทบจะระเบิดจึงคิดขึ้นมาได้ว่า มีคนๆหนึ่งซึ่งรู้จักกันดีตั้งแต่สมัยรุ่นแม่ เป็นเถ้าแก่มีกิจการหลายอย่างอยู่ในกรุงเทพฯ เจ๊จึงเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ บากหน้าไปหาเถ้าแก่คนนั้น ระหว่างการเดินทางก็คิดไปตลอดว่า เถ้าแก่คนนั้นจะยินดีช่วยเหลือเราหรือเปล่าหนอ "

  "  เมื่อพบแกแล้วก็เล่าความคิดนี้ให้แกฟัง ดูแกเฉยๆไม่พูดอะไรอยู่นาน แกคิดอยู่ครู่หนึ่งก็บอกว่า อั๊วจะให้เงินลื้อไปทำและต้องทำให้สำเร็จนะ เงินที่อั๊วจะให้ลื้อไปในวันนี้ทำให้สำเร็จเสียก่อนแล้วค่อยเอาเงินมาคืนอั๊ว (แสดงว่าต้องมีบุญคุญกันในอดีตมากมายทีเดียว จึงช่วยเหลือกันง่ายๆอย่างงี้ เจ๊แกไม่ได้บอกครับ เพราะแกบอกแล้วว่าเล่าอย่างย่อๆ) 

    " วันนั้นเจ๊ลาจากมาด้วยความดีใจ คนเรานั้นไม่ใช่ว่ามีแต่โชคร้ายอย่างเดียว วันที่โชคดีก็ต้องมีบ้างละน่า  (เจ๊กวยไม่ได้บอกว่าเถ้าแก่คนนี้ชื่ออะไร  ทำกิจการอะไร และให้เงินเจ๊กวยในครั้งนั้นมาเท่าไร)

     " วันที่ลงมือทำวันแรกก็นึกน้อยใจในวาสนาของตัวเอง เมื่อหวนคิดถึงเรื่องต่างๆในอดีตที่ผ่านมา ก็สะท้อนใจนั่งสะอื้นในอก ชีวิตของเราไฉนจึงเป็นอย่างนี้หนอ ตลอดมานั้นชีวิตนี้มีขึ้นๆลงๆ มันขึ้นและลงอย่างสุดๆ จนก็จนกรอบ มีก็มีล้นเหลือ "

    "  จึงขอตั้งปณิธานต่อหน้าเข่งหัวผักกาดนี้ว่า งานที่เริ่มทำหัวผักกาดในครั้งนี้นั้น จะขอทำเป็นงานสุดท้าย เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรแล้ว จะพยายามทำให้สำเร็จให้ครอบครัว มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้จงได้ ขอให้เตี่ยและแม่จงมารับรู้ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สิงสถิตย์ที่เจ็ดเสมียนนี้ รวมทั้งตาผ้าขาว จงมาช่วยลูกด้วยเถิด "

alt

   สำนักงานขาย และโรงงานอยุ๋หลังตลาดเจ็ดเสมียน

   " ในครั้งแรกที่ลองทำและออกขาย มีผู้ที่อยู่ใกล้เคียงคือคนในตลาดนั้นเอง สนใจและซื้อไปกินกันมากได้รับความนิยมและชมว่ารสชาติอร่อยดี  เมื่อกิจการเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว จึงได้รวบรวมเงินที่ได้มาจากการขาย และเงินที่ขอยืมเถ้าแก่ที่กรุงเทพฯมาในตอนแรก รวมแล้วได้ก้อนใหญ่พอสมควร เอามาทุ่มสุดตัว"

   " เพราะคิดว่าในครั้งนี้เรามาถูกทางกันแล้ว แต่ถ้าไม่เป็นดังที่คิดก็ให้มันหมดตัวกันไปเลย แต่แล้วก็เป็นดังที่คาดเรามาถูกทางกันแล้วจริงๆ กิจการในการแปรรูปหัวผักกาด (หัวใช้เท้า) ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นอกจากคนใกล้เคียงที่เจ็ดเสมียนนี้แล้ว คนที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆเมื่อได้ยินชื่อเสียง ก็มาอุดหนุน ซื้อไปกินและซื้อไปขายต่อบ้าง กิจการของเจ๊ก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ และการเงินก็ดีขึ้นมาตามลำดับ "

   " ต่อมาก็มาคิดกันว่าในเมื่อเรามุ่งจะทำอย่างนี้แล้ว ทำไมจึงไม่หาซื้อที่หลายๆไร่ เพื่อปลูกหัวผักกาดเอง ในเวลานั้นที่ดินแถวนั้นก็ยังไม่มีราคาแพงอย่างทุกวันนี้ "

  " ดังนั้นเจ๊จึงได้ทุ่มทุนลงไปก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่ง ซื้อที่ดินเอาไว้หลายสิบไร่สมความตั้งใจ และจ้างคนงานในพื้นที่นั้นปลูกหัวผักกาดในที่ของเจ๊เอง เมื่อมีวัตถุดิบมากๆเข้า ก็จำเป็นต้องขยายกิจการ คือขยายโรงงานในการผลิต ทำโรงงานผักกาดดองหวาน ซึ่งจากเดิมทำกันเองโดยมีลูกๆ ช่วยงานไม่กี่คน ใช้มือตะกุยไชโป้วใส่ถุงขาย "

 " จนในปัจจุบันนี้มีคนงานหลายสิบคน จากที่เคยใช้มือตะกุยมาเป็นใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ กลายเป็นโรงงานผลิตหัวไชโป้ว  “แม่ตังกวย”  เจ้าแรกในราชบุรี"

alt

ส่วนหนึ่งของผลิตภัณท์ เครื่องหมายการค้าตรา "แม่ตังกวย"

    เจ๊กวยพูดจบหันมามองผมซึ่งนั่งฟังอยู่ เหมือนจะบอกว่า เรื่องของเจ๊ก็มีเท่านี้  ผมจึงบอกเจ๊กวยว่า
 " ถึงตอนนี้เจ๊ก็รวยแล้วซี นับว่าเจ๊ก็มาถูกทางแล้วนะครับ ผมก็ขอให้เจ๊กวยไม่ต้องพบกับความลำบากยากแค้นอะไรอีกแล้ว"

   "ที่จริงก็ยังไม่จบดีหรอกนะ เก้ว ขอต่ออีกนิดหน่อยยังมีช่วงชีวิตที่ต้องไม่สบายใจมากอีกหน่อยหนึ่ง เก้วจะฟังหรือเปล่าเล่า " เจ๊กวยถามผม ผมบอกว่า

  "  เจ๊กวยมีอะไรอีกก็เล่ามาเลยครับ บางทีอาจจะมีประโยชน์กับเด็กรุ่นหลังๆอย่างผมด้วย " (คืออยากรวยเหมือนเจ๊น่ะครับ - ผู้เขียนคิดในใจ ) เจ๊กวยแกก็เลยต่อเรื่องของแกอีกว่า

    " ที่จริงแล้วยังมีอีกช่วงหนึ่ง ที่เจ๊ยังไม่ได้เล่า ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่จิตใจของเจ๊ย่ำแย่มาก เพราะเจ๊มีลูกถึง 6 คน ลูกคนที่ ๓ เป็นคนที่โชคร้าย พระเจ้าไม่ได้ปราณีเขา เขาได้รับเชื้อโปลิโอเมื่อตอนอายุประมาณสัก ๖ เดือนได้ (ในสมัยนั้นส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านมักจะปล่อยปะละเลยไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในวันเวลาที่หมอได้นัดไว้ เพราะเอาแต่ทำงาน )

    " ทำให้ลูกสาวคนที่ ๓ เดินไม่ได้ตั้งแต่เด็ก เจ๊สงสารลูกคนนี้เป็นที่สุด ต้องทุ่มเวลาดูแลลูกคนนี้อย่างเต็มที่ ที่ไหนที่ว่ามีหมอเก่ง หมอดี เจ๊พาไปหาจนทั่ว แต่สุดท้ายเจ๊ต้องพาลูกคนนี้ไปรักษาที่ โรงพยาบาลศิริราช โดยได้ใช้ขาเหล็กแทนขาที่เล็กไม่มีแรงเดินนั้น ได้ทำกายภาพบำบัดดูแลและให้กำลังใจกับลูก จนลูกมีจิตใจที่เป็นนักต่อสู้ "

     เจ๊กวยพูดไปผมเห็นแกน้ำตาชักจะซึมๆ ผมจึงจัดแจงจะเปลี่ยนเรื่องพูด แต่ก็ไม่ทัน

    " และก็ไม่ผิดหวังเมื่อต่อมาลูกสาวคนที่ป่วยนี้ ได้ร่ำเรียนเหมือนคนธรรมดา จนสุดท้ายสามารถได้รับปริญญาโท มาจากสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ (เป็นนักเรียนนอกไปเรียนถึงประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลที่น่าทึ่งมากๆ)

 

   " และจากความสำเร็จของลูกๆทุกคนนั้น ทำให้เจ๊ได้รับรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติประจำปี พ.ศ.๒๕๔๑ ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างเต็มภาคภูมิ "

alt

  ได้รับรางวีลพระราชทาน แม่ดิเด่นแห่งชาติ สาขาแม่ที่มานะขยันหมั่นเพียร ปี พ.ศ.๒๕๔๑

     " ในตอนนี้ชีวิตเริ่มสบายขึ้นมาแล้ว ลูกๆ ทุกคนได้เรียนหนังสือสูงๆ และสำเร็จกันหมดทุกคนเหมือนกับที่เจ๊ได้ตั้งใจไว้ (น้ำตาซึมอีกแล้ว ) ได้รับราชการและทำงานเอกชนกันบ้าง ช่วยงานที่บ้านบ้างชีวิตก็ดีขึ้น "

alt

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กรรณิกา ศิลปวิลาวัณย์ บุตรสาวคนหนึ่งของเจ๊กวย

    " ชีวิตคนเรามันช่างไม่แน่นอน เมื่อพอจะสบายกันบ้าง หลังจากที่ต่อสู้กันมาสุดฤทธิ์ สุดท้ายก็มีเงินทองพอจะจับจ่ายใช้สอย มีอยู่มีกินตามประสาครอบครัว  ก็ต้องมาพบกับความโชคร้ายอีกครั้งหนึ่งจนได้ โชคร้ายที่ว่านี้คือ วันหนึ่งอยู่ๆ เฮียง้วน สามีของเจ๊ก็มาเสียชีวิตหลังจากเราตั้งตัวกันได้แล้ว ทีแรกก็หวังไว้ว่าเราสองคนตายาย จะได้วางมือพักผ่อนกันเสียที จะไปท่องเที่ยวกันที่ไหนก็จะไปกัน สำหรับงานทางนี้ก็จะให้ลูกๆ ได้สานกันต่อไป "

 " เฮียง้วนสามีของเจ๊ต้องมาเสียชีวิตก่อน (เจ๊กวยเคยเล่าเหตุการณ์ที่เฮียง้วน เสียชีวิตในตอนกลางคืนของวันหนึ่งให้ผมฟังด้วยเมื่อนานมาแล้ว) ที่จะได้รู้จักความสบายและไม่มีโอกาสดูความสำเร็จของลูกๆ ที่ครั้งหนึ่งเฮียง้วนแกเคยตั้งความหวังเอาไว้ "

 alt

   คุณขนิษฐา ศิลปวิลาวัณย์ บุตรสาวคนสุดท้องของเจ๊กวย (ซ้าย)

  " เวลานั้นผ่านมานานซึ่งเจ๊พอจะทำใจได้แล้ว ในเวลานี้เจ๊ก็มีความสุขอยู่กับลูกๆ หลานๆ  ใช้เรื่องราวความลำบากในอดีตเป็นเครื่องสอนใจ และจะไม่ลืมเลยที่แม่ของเจ๊เคยบอกเจ๊ว่า “อยากได้อะไรก็ต้องทำงานเอา ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะได้มาเปล่าหรอก”

    เวลาผ่านไปมากพอสมควรแล้ว เจ๊กวยจึงขอตัวเดินทางกลับ ผมขอบคุณเจ๊กวยและคนอื่นๆ ที่อุตส่าห์มาเยี่ยมผมถึงบ้าน และยังมีของติดมือมาฝากอีก เช่นเค๊กมะพร้าวอ่อน น้องทรายเบเกอรี่ (ผมแวะไปที่ร้านซื้อมากินหลายหนแล้ว อร่อยครับ) ผักกาดหวาน "แม่ตังกวย" หลายถุง หลายชนิด

alt

     ผู้เขียนเคยแวะมาซื้อเค๊กที่ร้าน น้องทราย เมื่อไม่นานมานี้ มีพนักงานหญิงคอยบริการอย่างดี

     ผมบอกเจ๊กวยว่า "มาหาผมไม่ต้องมีอะไรมาฝากหรอกครับ" เจ๊กวยบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เจ๊มีโรงงานเอง นิดๆ หน่อยๆ เราก็เหมือนพี่น้องกัน พี่น้องกันไม่ฝากแล้วจะไปฝากใครกันเล่า ..!

 

alt 

ค่ำวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม นายแก้วเขียน

   กลับไปอ่านตอน ๑ ใหม่    คลิ๊ก

    ท่านได้อ่าน "ค่ำวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม " จบทั้ง ๓ ตอนแล้ว มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ กรุณาให้ความเห็น ติหรือชม เพื่อผู้เขียนจะได้มีกำลังใจ หรือปรับปรุงรูปแบบในการเขียนต่อไป..

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้581
เมื่อวานนี้460
สัปดาห์นี้2431
เดือนนี้11678
ทั้งหมด1341562

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online