วิกเจ็ดเสมียนในอดีต ๒

นายวิรัช วงษ์วานิช (ยืนกลาง) เป็นผู้สร้างวิกเจ็ดเสมียน และเป็นเจ้าของ

   เมื่อวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมากองไว้พร้อมแล้ว นายจำปาและลูกน้องจึงตีผังขุดหลุม และยกเสาเอกขึ้นเรียบร้อยดังได้กล่าวไว้ในตอนแรกแล้ว

นายจำปา ประเสริฐ ช่างก่อสร้างประจำตำบลเจ็ดเสมียน พร้อมด้วยลูกน้องอีกสิบกว่าคนก็ลงมือก่อสร้างทันที

   ขอกล่าวถึง นายจำปา ประเสริฐ ก่อนสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เป็นประวัติศาสตร์บางส่วนของคนในตำบลเจ็ดเสมียน  นายจำปานั้นเป็นบุตรชายคนหนึ่งของ ขุนจำนงกิจประชา หรือนายเปลื้อง ประเสริฐ ซึ่งเป็นกำนันตำบลเจ็ดเสมียนอยู่ในเวลานั้น ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๘๕ ขุนจำนงกิจประชา หรือนายเปลื้อง ประเสริฐ ได้ลาออกจากการเป็นกำนันตำบลเจ็ดเสมียน ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นมานานแล้วก็เบื่อ

นายโกวิท วงศ์ยะรา  (คนยืนที่ ๒ จากซ้าย) เมื่อครั้งยังเป็นครูใหญ่อยู่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙

     และพอถึงเดือน ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๕ นายโกวิท วงศ์ยะรา (ชื่อเดิมคือนายกวย วงศ์ยะรา บ้านอยู่ทางหมู่ ๔ คือทางวัดสนามชัย) ซึ่งเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ก็ได้ลาออกจากการมีอาชีพเป็นครู  ซึ่งนายโกวิทนี้เป็นครูมาแล้วถึง ๒๑ ปี  โดยให้เหตุผลว่า อยากจะไปทำอาชีพอย่างอื่นบ้าง เป็นครูมานานแล้วเบื่อเหลือทน

     จากนั้นต่อมาอีกไม่นาน เมื่อตำบลเจ็ดเสมียนขาดกำนันที่จะดูแลลูกบ้าน เนื่องจากกำนันเปลื้อง ประเสริฐ ได้ลาออกไปแล้ว นายโกวิท วงศ์ยะรา จึงได้สมัครเป็นกำนัน ทางการจึงได้แต่งตั้งนายโกวิทเป็นกำนันตำบลเจ็ดเสมียน เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.๒๔๘๕ นั่นเอง

    และตั้งแต่นั้นมานายโกวิทก็ได้เป็นกำนันมาอย่างยาวนาน จนถึงวันที่ ๒๗ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๑๓ กำนันโกวิทจึงได้เสียชีวิตลงเมื่อมีอายุได้ ๖๙ ปี (เรื่องราวของกำนันโกวิท ได้เขียนเอาไว้นานแล้ว จำนวนทั้งหมด ๔ ตอน ถ้าสนใจก็เข้าไปดูได้)

    งานแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์นั้น ขุนจำนงกิจประชา หรือนายเปลื้อง ประเสริฐ ซึ่งเป็นกำนันอยู่ในสมัยก่อนกำนันโกวิทนั้น ได้เป็นผู้จัดให้มีการแห่ดอกไม้เป็นคนแรก การแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์นี้ ไม่ได้มีมาแต่โบราณแต่อย่างใด แต่เป็นการคิดขึ้นมาของขุนจำนงกิจประชา กำนันตำบลเจ็ดเสมียน ในสมัยของท่านนั่นเอง

    ต่อมาเมื่อกำนันโกวิท วงศ์ยะรา มาดำรงตำแหน่งกำนันตำบลเจ็ดเสมียนแล้ว ก็ยังอนุรักษ์การแห่ดอกไม้ตามแนวทางของขุนจำนง กำนันคนเก่าตลอดมา งานแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์นี้ก็ยังมีมาเรื่อยๆทุกๆปี ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของชาวตำบลเจ็ดเสมียนเลยทีเดียว ในปัจจุบันนี้เทศกาลงานแห่ดอกไม้หลังสงกรานต์ได้พัฒนาขึ้นไปเป็นอันมาก ให้เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบันนี้

    นายจำปา ประเสริฐหรือช่างจำปานั้น เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นบุตรชายของขุนจำนงกิจประชากำนันตำบลเจ็ดเสมียน ดังได้กล่าวมาแล้ว ไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานยืนยันว่า นายจำปา มีความรู้ทางช่างก่อสร้างมาจากที่ใด

    เมื่อกำนันโกวิท วงศ์ยะรา มีความคิดที่จะสร้างตลาดเจ็ดเสมียนอีกแถวหนึ่งนั้น นายจำปา คนนี้นี่เองจึงถูกเรียกมาให้เป็นผู้ สร้างตลาดเจ็ดเสมียนแถวใหม่ จำนวน ๑๑ ห้อง เริ่มต้นสร้างกันเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ปลูกเป็นแถวชั้นเดียว หลังคามุงด้วยสังกะสีลอนใหญ่ (ในปัจจุบันที่เห็นเป็นห้องแถว ๒ ชั้นนั้น ต่างคนต่างต่อเติมกันในภายหลัง)

    ในขณะที่ก่อสร้างตลาดแถวใหม่นั้น นายจำปาเพิ่งจะมีอายุได้ ๓๑ ปี ตลาดเจ็ดเสมียนแถวใหม่นี้ ช่างจำปาได้ระดมสร้างกันเพียง ๑ เดือนกับอีกไม่กี่วันเท่านั้น ก็เสร็จแต่ไม่ค่อยจะเรียบร้อยดีนัก  ถึงอย่างไรก็เป็นที่ถูกอกถูกใจกำนันคนดัง แห่งเจ็ดเสมียนเป็นยิ่งนัก

    ขอเล่าถึงเกร็ดของช่างจำปาอีกเล็กน้อย แล้วก็จะเล่าเรื่องวิกเจ็ดเสมียนต่อไป เมื่อห้องแถวใหม่ของตลาดเจ็ดเสมียน สร้างเสร็จเป็นโครงสร้างขึ้นมาแล้ว ผู้ที่ซื้อห้องแถวเหล่านี้ก็ต้องมาปรับปรุงใหม่อีกทีหนึ่ง เช่นเทปูนซิเมนต์ที่พื้น กั้นห้องนอน ทำส้วม กั้นครัว ฯลฯ (ส่วนการยกขึ้นเป็นสองชั้นนั้นทำในภายหลัง)

    ที่บ้าน (ห้องแถว) ของนายหิรัญนั้น ก็ได้ทำการปรับปรุงเหมือนกัน โดยได้จ้างช่างจำปามาทำให้  (ช่างจำปากับครูหิรัญนั้นรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ช่างจำปาอ่อนกว่าครูหิรัญ ๔ ปี ) ดังที่นายหิรัญได้มีบันทึกไว้ดังนี้ ข้อความในวงเล็บนั้นผู้เขียนๆเองเพื่อความเข้าใจ

    ๒๕   กรกฎาคม  ๒๔๙๔    เช้าฉัน (ครูหิรัญ) กับนายจำปา ประเสริฐ  (ช่างปลูกบ้านที่เก่งที่สุดในสมัยนั้น) ก็ช่วยกันทำหลังบ้าน เพื่อจะทำครัว ช่วยกันทำจนเย็น  มุงเสร็จตีฝาหลังทำประตู    เรียบร้อยไปเลย
   ๒๖    กรกฎาคม   ๒๔๙๔   แรม  ๘  ค่ำ  เดือน  ๘   เป็นวัน ฤกษ์ดี   ฉันก็ปลุกเด็กๆให้เตรียมของ  ตี  ๕  กว่าๆ   ก็จัดการขนเครื่องครัวอพยพกันไปที่บ้านใหม่ที่ตลาดเลย    เอาฤกษ์ตอนเช้า (วันนี้จึงเป็นวันแรกที่ผู้เขียนได้มาอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน ที่จริงแล้วก็เกิดที่เจ็ดเสมียนนี้แหละ แต่เช่าที่เขาปลูกบ้านอยู่ ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ที่ตลาด)

   วันนี้ก็เทปูนหลังบ้านในครัวทำจนเสร็จ ซิ้มม้วน (เจ้าของโรงเลื่อยที่หัวหิน เป็นแม่ของคุณบุญมา เพื่อนเล่นกับผู้เขียนตั้งแต่เด็กๆ) แกสั่งให้ฉันกลับโรงเลื่อยในวันนี้ เพิ่งจะเสร็จแต่เพียงหลังบ้าน  หน้าบ้านก็ยังไม่ได้ทำ  ในห้อง  ในครัว ก็ยังไม่เรียบร้อยทั้งนั้น

    จะกลับยังไงได้อะไรๆก็ยังไม่เรียบร้อย จะไปแล้วก็รังแต่จะเป็นห่วงทำให้ต้องกลับมาทำอีก ฉะนั้นฉันเลยจำเป็นต้องขัดคำสั่งทำอะไรๆให้สำเร็จแล้วจึงค่อยไป บ่ายก็ขนของทยอยกันไปเรื่อย ฉันก็จัดบ้านไปเพื่อจะให้แล้วเร็วๆ

คุณบุญมา ผาสุก (ขวาสุด) บุตรสาวของซิ้มม้วนเจ้าของโรงเลื่อยหัวหิน ที่เคยเป็นเพื่อนเล่นกับผู้เขียนตั้งแต่สมัยเด็กๆที่อยู่ที่เจ็ดเสมียน

      ๒๗   กรกฎาคม   ๒๔๙๔   วันนี้เทปูนหน้าบ้านตอนเช้า   พอบ่ายฝนก็เทลงมา  เทลงมาอย่างมากเสียด้วยฉันกลัวจะเสียแทบแย่ กลัวว่าปูนซิเมนต์ที่เทไว้จะไหลตามน้ำฝนไปด้วย ต้องหาตับจากมาปิดเป็นการใหญ่   แต่โชคดีปูนก็ไม่เสีย
      ๒๘   กรกฎาคม   ๒๔๙๔     วันนี้ทำในบ้านติดรูป  ทำส้วม  
      ๒๙   กรกฎาคม    ๒๔๙๔    วันนี้ทำรางน้ำ  ทำหน้าถัง (ประตูปิดหน้าบ้าน ใช้ไม้กระดานขนาด ๘ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว มาติดบานพับขนาดใหญ่ เวลาปิดเปิดใช้พับเอา หนักมาก ลำบากมากๆ) ติดกระดาษ   ติดรูปภาพนับว่าเสร็จเรียบร้อย   
รวมในการทำบ้านครั้งนี้จนเสร็จก็ราว   ๓,๐๐๐ บาท

                                   ววววววววววววววววววววววววว

     สรุปแล้วนายจำปานี่เองที่ได้เป็นผู้ทำการแต่งเติมบ้านห้องแถวของผู้เขียน และรับแต่งเติมบ้านห้องแถวของคนอื่นๆอีกแทบทั้งหมดด้วย ให้เสร็จเรียบร้อยโดยสมบูรณ์

     ให้เข้าอยู่อาศัยได้อย่างเรียบร้อย นอกจากนั้นนายจำปายังมีผลงานสร้างสิ่งก่อสร้างในเจ็ดเสมียนอีกหลายอย่าง แต่ผมจะขอผ่านไป จะเอาแต่เรื่องวิกเจ็ดเสมียนเรื่องเดียวก่อน

     และนายจำปา ประเสริฐ ผู้นี้เป็นบิดาของคุณ ยุพา ยุวนากร ที่คิดทำเค๊กมะพร้าวอ่อนขึ้นมาจำหน่าย เป็นคนแรกของตำบลเจ็ดเสมียนยังไงเล่าครับท่าน....

เขียนโดย นายแก้ว

โปรดติดตามตอนต่อไป

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้123
เมื่อวานนี้746
สัปดาห์นี้2484
เดือนนี้8742
ทั้งหมด1328076

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online