วิกเจ็ดเสมียนในอดีต ๓

คุณสาธร วงษ์วานิช บุตรชายคนหนึ่งของนายวิรัช เจ้าของวิกเจ็ดเสมียนในอดีต (ภาพปัจจุบัน)

   เมื่อนายวิรัช ได้ทำพิธียกเสาเอกขึ้นเรียบร้อยแล้ว นายช่างจำปา ผู้รับเหมาในการสร้างวิกของนายวิรัช ก็เริ่มดำเนินงานทันที โดยในเช้าวันรุ่งขึ้นนายจำปาพร้อมด้วยคนงานเกือบ  ๒๐ คนก็มาพร้อมเพรียงกันที่สถานที่จะสร้างวิกเจ็ดเสมียนนี้

     ในขั้นแรกนั้นต้องช่วยกันเอาเสาไม้เต็งหน้า ๖ ปักลงไปในหลุมเพื่อตั้งเสาเสียก่อน  ก้นหลุมที่จะเอาเสาปักลงไปนั้นก็ไม่ได้ตอกเสาเข็มเลย เพียงแต่ผูกเหล็กเส้นขนาด ๔ หุน ตัดแล้วผูกด้วยลวดผูกเหล็กให้เป็นเหมือนตะแกรงสี่เหลี่ยมขนาด เมตรคูณเมตร สี่เหลี่ยมเท่านั้นนำไปวางที่ก้นหลุม แล้วผสมปูนหินทรายแบบหยาบๆเททับลงไป เรียกว่าเทก้นหลุม

     เหตุที่ไม่ได้ตอกเสาเข็มด้วยนั้น เพราะว่าพื้นดินก้นหลุมค่อนข้างแข็ง และอีกอย่างลักษณะของวิกที่กำลังทำการสร้างนี้ จะเหมือนกับเป็นโรงโล่งๆ ส่วนใหญ่จะกั้นฝาด้วยสังกะสีเท่านั้น ไม่ได้รับหนักอะไรมากนัก

     ในสมัยนั้นในเรื่องปลูกบ้าน หรือสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆไม่ค่อยคำนึงถึงการตอกเสาเข็ม  ดังนั้น ใครจะปลูกบ้าน สร้างตึก ก็ไม่เห็นมีใครตอกเสาเข็มกันเลย  เขาก็อยู่กันได้ โดยที่เวลาก็ผ่านมานานมากแล้ว บ้านก็ไม่เห็นจะยุบหรือพังลงไป

     เมื่อเทก้นหลุมและตั้งเสา เอาไม้แปตอกยึดค้ำกันเสาล้มเอาไว้ทั้งสี่ด้าน แล้วก็เทปูนซึ่งในสมัยปัจจุบันนี้เรียกว่า “คอนกรีต” ไม่นานนักคนของนายจำปาเกือบ ๒๐ คนก็เร่งขึ้น โครงหลังคา แล้วก็วางไม้แปกับจันทันที่ติดไว้เสร็จแล้ว ให้ได้ระยะตอกตรึงไม้แปกับไม้จันทันเรียบร้อยแล้ว

     คนงานก็ลำเลียงสังกะสีขึ้นไปมุง เสียงตอกตะปูสังกะสีดังปังๆๆๆ  วิกเจ็ดเสมียนก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็ว เพียงชั่วเวลาไม่กี่วันเท่านั้น ทำให้นายวิรัชซึ่งมาคุมการก่อสร้างทุกวัน และบางวันกำนันโกวิท และคนสำคัญของเจ็ดเสมียนบางคนก็มายืนดูการก่อสร้างครั้งนี้ ด้วยความพึงพอใจเป็นอันมาก การมุงหลังคาสังกะสีก็สำเร็จไปแล้ว สังกะสีลอนใหญ่ใหม่ๆสะท้อนแสงเมื่อต้องแสงแดด แว๊บวับไปมองเห็นแต่ไกล

      สรุปแล้ววิกในที่นี้ก็คือ  การสร้างโครงขึ้นมาเหมือนโกดังขนาดใหญ่ มุงหลังคาสังกะสี ข้างในที่เพดานไม่ได้ตีฝ้าไต้หลังคา คงปล่อยไว้โล่งๆอย่างนั้น ผนังตีสังกะสีปิดทุกด้าน แต่ด้านข้างที่หันมาทางถนน ทำช่องประตูบานใหญ่ ๒ บานเลื่อนได้เอาไว้เลื่อนไปมา เพื่อว่าเวลาหนังเลิก ลิเกเลิก หรือการแสดงอื่นๆเลิก และอาจจะมีการเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้เลื่อนประตูใหญ่เปิดให้คนออกทางด้านนี้

      ด้านบนเลยหัวขึ้นไปสักเมตรครึ่ง ใช้ไม้ระแนงแบนๆขนาด ครึ่งนิ้วคูณสองนิ้ว ตีไขว้กันเป็นตาห่างๆ เพื่อเป็นช่องระบายลม ด้านบนไต้หลังคาสังกะสีที่ไม่ได้ตีฝ้าเขาติดพัดลมเพดานไว้เป็นแถวๆ รวมแล้วประมาณ ๖ ตัว เพื่อระบายลมและให้ผู้ที่นั่งชมนั้นเย็นสบาย และอาจจะเป็นการปัดเป่ายุงไปในตัวซึ่งชุมมากด้วย

      ข้างหน้าวิกถัดจากประตูใหญ่ที่เลื่อนได้นี้ไปทางด้านขวามือ เขาทำห้องขายตั๋ว เป็นช่องเล็กๆ สองช่อง เอาไว้ซื้อตั๋วและรับตั๋ว  ถัดจากห้องขายตั๋วไปอีกหน่อยทางด้านขวามือนั้น เขาทำเป็นช่องประตูไม่ใหญ่นัก เพื่อให้ผู้ชมที่ซื้อตั๋วแล้วผ่านประตูเข้าไป จะมีคนเก็บตั๋วยืนอยู่ตรงข้างประตูนี้
ใกล้ๆ กับห้องขายตั๋วจะเป็นกระดานใหญ่ไว้สำหรับปิดใบโฆษณา หรือปิดใบปิดของหนัง แล้วก็มีภาพขนาดโปสการ์ด ติดให้ดูเป็นตัวอย่างสัก ๖ – ๗ ภาพ หนังแต่ละเรื่องที่เข้าฉายก็จะมาปิดใบโฆษณากันที่กระดานนี้

      สำหรับภายในของวิก หรือโรงมหรสพนี้ ที่นั่งของผู้ชมนั้น เขาเอาไม้กระดานแผ่นยาวๆสั้นยาวไม่เท่ากันถ้ายาวไม่พอก็เอามาต่อกัน  กว้าง ๘  นิ้ว หนา ๑ นิ้ว (ไม้กระดานพื้นหน้าแปด) ต่อขาลงไปทำเหมือนเก้าอี้ตัวยาว แล้วตอกยึดลงไปในพื้นดินให้แน่น ไล่ระดับจากข้างหน้าที่ติดๆเวที แล้วก็วางระดับพื้นเหล่านั้นให้สูงไปเรื่อยๆ จนถึงข้างหลังสุด

       ผมเคยไปนั่งข้างหลังแล้วขาที่ห้อยลงไป ไม่ถึงพื้นเลยพื้นของวิกเจ็ดเสมียนนั้น ไม่ได้เทปูนซิเมนต์นะครับ ปล่อยพื้นเป็นดินอยู่อย่างนั้นมันมีความรู้สึกว่าชื้นๆอย่างไรชอบกล

      ขณะที่นั่งดูหนังหรือลิเกก็ต้องนั่งห้อยขาลงไป  แต่บางคนเช่นผมไม่กล้าแตะตรงพื้นดิน กลัวตะขาบคลานมากัดนิ้วเท้าเอาง่ายๆ และด้านท้ายๆ ของโรงวิกนี้ เขาจะทำเป็นห้องยกพื้นขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง สูงเลยหัวขึ้นไปสัก ๒ ศอก แล้วตีไม้กั้น ตรงนี้เขาแบ่งกั้นเป็นสองห้อง หันหน้าไปทางเวที ห้องหนึ่งนั้นเจาะเป็นช่องใหญ่ๆสี่เหลี่ยมเหมือนหน้าต่าง  เพื่อเอาไว้เป็นช่องฉายหนัง อีกห้องหนึ่งเป็นห้องที่สำคัญเป็นห้องที่ตั้งเครื่องขยายเสียง และเครื่องควบคุมต่างๆก็จะอยู่ในห้องนี้ทั้งหมด

      ด้านที่เป็นเวทีนั้นเขาจะยกพื้นขึ้นเป็นเวที เหมือนเวทีการแสดงโดยทั่วๆไปเขาสร้างเสียสูงและใหญ่เต็มพื้นที่ด้านนั้นเลย เวลามีลิเกพวกลิเกก็ชอบใจที่มีเวทีการแสดงที่กว้างใหญ่ และกางฉากได้สะดวก เวลามีหนังมาปิดวิก เขาก็จะกางจอใหญ่ แบบซีนีมาสโคป เลยทีเดียว

      นอกจากภาพยนตร์และลิเก ที่มาเช่าวิกนี้เปิดฉายหรือเปิดการแสดงบ่อยๆแล้ว เมื่อตอนที่มีโทรทัศน์ใหม่ๆจำไม่ได้แล้วว่ามีใครคนหนึ่ง ได้เอาโทรทัศน์มาเปิดที่วิกนี้  ตีตั๋วครั้งเดียวดูได้จนกระทั่งปิดสถานีเลยทีเดียว  แต่ก็ประมาณไม่เกิน ๔ ทุ่มเท่านั้น โทรทัศน์ก็จะปิดสถานี นั่นละ “สัตคามภาพยนตร์” วิกหนึ่งเดียว ของนายวิรัช วงษ์วานิช  คหบดีใหญ่  แห่งตำบลเจ็ดเสมียน

      ระยะการก่อสร้างวิกเจ็ดเสมียน “สัตคามภาพยนต์”  ของนายวิรัช วงษ์วานิช ซึ่งก่อสร้างโดยช่างจำปานั้น ประมาณไม่ถึง ๒ เดือนดี ก็สำเร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะเปิดดำเนินกิจการได้

      เมื่อตัววิกได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าวิกเจ็ดเสมียน สัตคามภาพยนตร์นี้ เปิดดำเนินกิจการกันอย่างเป็นทางการในวันไหน วันอะไร แต่จำได้ว่าในเช้าวันนั้น มีการทำพิธีเปิด ทำบุญเลี้ยงพระในตอนเช้า นายวิรัชได้นิมนต์พระวัดเจ็ดเสมียนมาหมดทั้งวัด นำโดยหลวงพ่อหุ่น เจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียนในสมัยนั้น มาฉันเช้ากันที่วิกนี้เสร็จแล้วหลวงพ่อหุ่น พุทธสโร ก็ประพรมนำมนต์ในขันทองเหลืองลูกใหญ่ โดยมีคนถือขันเดินตาม ท่านเดินพรมน้ำมนต์ไปเรื่อยๆ ทั้งข้างนอกและข้างในวิก จนแทบจะทั่วบริเวณเพื่อเป็นศิริมงคลกับวิกก็ว่าได้

       ตั้งแต่เล่าเรื่องวิกเจ็ดเสมียนนี้ ผมจำไม่ได้ว่าได้บอกท่านผู้อ่านแล้วหรือยังว่า นายวิรัชนี้เป็นพ่อของนายสาธร วงษ์วานิช ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันกับผู้เขียนมาตั้งแต่เป็นเด็กๆ เพราะว่าเราเป็นเด็กตลาดรุ่นเดียวกัน และเป็นเพื่อนกันมานาน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ยังได้นัดพบกันอยู่เสมอ

       เมื่อการทำบุญให้กับวิกใหม่แห่งนี้เรียบร้อยไปแล้ว ต่อจากนี้ไปก็จะเป็นการรับหนังหรือลิเกมาแสดงกันที่วิกนี้ เมื่อเปิดการแสดงกันในวันแรกนั้น ผู้เขียนจำได้แน่นอนว่าเป็น ลิเกคณะหนึ่ง ที่เข้ามาแสดงที่วิกนี้เป็นเจ้าแรก แต่จำไม่ได้ว่าลิเกคณะนี้ชื่อว่าคณะอะไร จะเป็นทองใบ รุ่งเรือง หรือคณะโจหลุยส์ก็ยืนยันไม่ได้ถนัด

      จำได้แต่ว่าในวันเปิดครั้งแรกนั้น ชาวบ้านร้านตลาดที่เจ็ดเสมียนต่างก็ตื่นเต้นที่บ้านเรามีวิกแล้ว และมีการแสดงด้วย ในค่ำวันนั้นผู้คนที่เจ็ดเสมียนและตำบลใกล้เคียงก็แห่เข้ามาดูลิเกกัน ตั๋วที่จำหน่ายในการผ่านเข้าไปดูลิเกในรอบปฐมทัศน์นี้ ก็คนละ ๑ บาทเท่านั้น ในรอบนี้เด็กๆที่ตามมาด้วยให้เข้าฟรี

     ที่หน้าวิกซึ่งเปิดไฟสว่างจ้า มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งโต๊ะ วางหาบขายของกินกันหลายสิบเจ้า ผู้เขียนจำได้แม่นยำว่า น้าทรัพย์ ที่ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง (ไม่ทราบว่าเวลานี้ท่านจะยังอยู่หรือไม่ เพราะว่าน้าทรัพย์มีอายุมากกว่าผู้เขียนน่าจะ ๑๐ ปีขึ้นไป ถ้ายังอยู่อายุของท่านก็คงจะเกือบ ๘๐ ปีแล้ว) ก็มาวางหาบขายถั่วลิสงต้มด้วย

     นอกจากนั้นก็มีอีกหลายคนที่ผู้เขียนจำได้ที่มาที่หน้าวิกในวันนั้น เช่นเฮียกวาง (เป็นกำนันเจ็ดเสมียนในเวลาต่อมา) ยังได้หยุดยืนทักทายกัน เหตุที่ผู้เขียนได้รู้จักเฮียกวางแกดีก็เพราะว่า บ้านของเฮียกวางแกอยู่ที่ตลาดใหม่ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับวิกนั่นเอง และเฮียกวางผู้นี้เมื่อมีเวลาว่างก็จะไปตีปิงปองกับพวกผมที่โรงอาหารของโรงเรียนบ่อยๆ

     ผลสรุปในวันเปิดวันแรกนั้นทางวิกเก็บค่าผ่านประตูได้มาก ทำให้มีกำลังที่จะพัฒนาปรับปรุงวิกให้ดีขึ้นอีกต่อไป มีอีกอย่างหนึ่งที่ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วไฟฟ้าที่เอามาใช้ในวิกนี้เอามาจากไหน แม้ว่าในขณะนั้นไฟฟ้าของสหกรณ์ไฟฟ้าหนองบางงูก็เข้ามาถึงตลาดสว่างไสวไปทั่วแล้ว แต่ถ้าจะเอาไฟฟ้านี้ไปใช้กับวิกกำลังไฟก็จะไม่พอ

      จึงขอเรียนให้ทราบว่าคุณวิรัชได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ขนาดใหญ่เครื่องหนึ่งตั้งอยู่ที่ด้านข้างๆวิกเลยเข้าไปข้างในหน่อยหนึ่ง เขาปลูกโรงอย่างมิดชิดกันแดดกันฝนให้เป็นอย่างดี

      เกี่ยวกับวิกนี้ผู้เขียนก็เคยมาช่วยกันทำอะไรเล็กๆน้อยกับคุณสาธร ซึ่งเป็นลูกชายเจ้าของวิกเหมือนกันโดยการชวนของคุณสาธร ผู้เขียนนึกสนุกก็เลยเข้ามาช่วยคุณสาธรด้วยความเต็มใจและสนุกสนาน จึงขอเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังสักเล็กน้อย

       ในปกติแล้วคุณวิรัชเจ้าของวิกจะจ้างคนงานหลายคนให้มาดูแลวิกนี้ ต่างคนก็มีหน้าที่ของตัวเอง เช่นคนทำความสะอาดเมื่อมหรสพเลิกแล้ว คนดูแลเรื่องไฟฟ้าเครื่องขยายเสียง คนคอยเก็บค่าผ่านประตู คนดูแลความเรียบร้อย (รปภ.) และอีกหลายๆอย่าง

       มีอยู่ระยะหนึ่งที่วิกเจ็ดเสมียนนี้ มีคณะลิเกมาเช่า เปิดการแสดงมีคนสนใจมาชมกันมาก ทำให้เก็บเงินได้เยอะ ลิเกคณะนี้จึงขอเช่าวิกต่อไปอีกเป็นระยะยาว เหตุการณ์ก็ปกติดีลิเกคณะนี้ก็แสดงมาเรื่อยๆ

       วันหนึ่งคนดูแลเครื่องไฟลากลับไปบ้านบอกว่า แม่ป่วยหนักจึงจำเป็นต้องไปเฝ้าแม่ไม่รู้ว่าจะกลับมาทำงานได้ในวันใด คุณวิรัชก็ให้ไปแต่โดยดีเพราะเห็นความจำเป็นของคนคุมเครื่องไฟ เมื่อเป็นดังนั้นจึงต้องเป็นหน้าที่ของคุณสาธร ที่จะต้องทำหน้าที่นี้แทนเป็นการชั่วคราว จนกว่าคุณวิรัชจะหาคนมาแทนได้

      คุณสาธร วงษ์วานิช  ลูกเจ้าของวิกจึงได้ชวนผู้เขียนให้ไปช่วยกัน ดังนั้นเราทั้งสองคนจึงต้องมาที่วิกในตอนเย็นๆก่อนค่ำ เมื่อมาถึงก็ไขกุญแจประตูห้องเครื่องแล้ว ช่วยกันติดเครื่องปั่นไฟ เสร็จแล้วก็ขึ้นไปที่ห้องควบคุมเสียงซึ่งอยู่ชั้นบน เริ่มการกระจายเสียงโดยการเปิดแผ่นเสียงเพลงไปพลางๆ  ก่อนที่มหรสพจะโหมโรง ซึ่งเวลานั้นก็ค่ำพอดี

     แผ่นเสียงในสมัยนั้น เป็นแผ่นทำมาจากขี้ครั่ง  แผ่นเบ้อเริ่มเทิ่มหนาตึ แต่มีแค่ ๒ เพลง หน้าหลังเท่านั้น  เครื่องที่ใช้เล่นก็เป็นเครื่องเล่นแบบโบราณ มีจานที่หมุนได้อยู่ด้านบน เพื่อใช้สำหรับวางแผ่นที่จะเปิดลงไป เข็มก็ใช้เข็มพิเศษโดยเฉพาะของเขา จะใช้เข็มอื่น เช่นเข็มเย็บผ้า หรือเข็มหมุดก็ใช้ไม่ได้ เข็มสำหรับเล่นกับแผ่นเสียงรุ่นเก่าๆนี้ วันหนึ่งๆ ใช้ไปเกือบครึ่งกล่อง มันทื่อเร็วมากจริงๆ  เวลาเข็มมันขูดกับแผ่นจะได้ยินเสียงเพลง ที่ปลายเข็มมันขูดแว่วๆ ผมกับคุณสาธร ก็เปิดเพลงกันไปเรื่อยๆ จนกว่าพวกลิเก หรือหนังจะมาพูดโฆษณาเรียกคนเอาเอง

      เพลงในสมัยนั้นยังไม่มีเพลงที่แบ่งกันเป็นเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง หรือเพลงสตริงหรอกครับ เพลงที่คุณสาธรกับผู้เขียนชอบเปิดมากๆในตอนนั้น ก็จะมีเพลงของ ชรินทร์   สุเทพ  รวงทอง  สวลี แล้วก็ สมยศ ทัศนพันธ์ ทูล ทองใจ แล้วก็นักร้องเก่าๆอีกหลายคน  เพลงของชรินทร์แล้วก็รวงทอง นั่นน่ะดังสุดๆเลย อย่างเช่นเพลงทุ่งรวงทอง ก็กำลังฮิตในตอนนั้นพอดี จึงเปิดกันบ่อยๆเลยทีเดียว

“......ทุ่งเอ๋ยทุ่งรวงทอง เห็นข้าวออกรวงน่ามอง ดุจแสงทองสีแห่งศรัทธา  พี่มาได้ยล นฤมลนวลน้องบ้านนา ถึงจะสวยตามประสา ก็โสภาเหนือกว่านางใด  “
“.........ทุ่งเอ๋ยทุ่งรวงทอง น้ำเปี่ยมอยู่เต็มฝั่งคลอง เช่นพี่รักน้องเปี่ยมฤทัย สะพานเชื่อมคลอง.......... ”  เมื่อได้ยินเพลงพวกนี้เมื่อไร พวกเราก็จะแหกปากร้องตามกันลั่นไปหมด  และบางทีถึงขนาดว่า  โตขึ้นจะเป็นนักร้องให้ได้เชียว

       ในตอนหลังๆคุณสาธรและผู้เขียนก็ไม่ได้มาช่วย เปิดแผ่นเสียงที่บนวิกนี้ทุกวันหรอกนะครับ เพราะว่าเจ้าของวิกคือ คุณวิรัช แกหาคนมาทำงานในหน้าที่นี้ได้แล้ว รู้สึกว่าจะเป็นญาติหรือลูกน้องของกำนันโกวิทนั่นเอง แต่ถ้าพวกผมนึกสนุกกันในวันใดก็จะมาช่วยอะไรเล็กๆน้อยๆที่วิกนี้ บางทีก็ช่วยกันเก็บตั๋วที่ตรงประตูทางเข้าก็มี

      สาเหตุที่คุณสาธรและผู้เขียนไม่ได้ไปวิกทุกวันนั้น ก็เพราะว่าในตอนเย็นๆเราต้องไปออกกำลังต้องไปเล่นกล้าม กันที่ไต้ถุนบ้านกำนันโกวิท ซึ่งมีลูกพี่ผม (เฮียตี๋ บุตรชายของกำนันโกวิท) รออยู่ เสร็จจากบ้านเฮียตี๋แล้วต้องไปชุมนุมกับพรรคพวก ที่สนามหน้าโรงเรียนเจ็ดเสมียน พอเย็นจัดๆใกล้ค่ำ พวกเราก็จะทยอยกันไปอาบน้ำกันที่ท่าใหญ่ หลังังตลาดเจ็ดเสมียน ภารกิจของพวกเราในช่วงบ่ายถึงค่ำก็จะมีอย่างนี้ทุกวัน

       เกี่ยวกับเรื่องวิกนี้ มีอยู่วันหนึ่งค่ำแล้ว นายประสาน สุรพลพินิจ กับ นายสุทน ลูกนายฉุย นายตรวจทางเขตเจ็ดเสมียน ก็ก่อเหตุ คือว่าพวกเราทั้งพวกในวันนั้นไม่ได้ไปเที่ยวหน้าวิกเหมือนอย่างเคย  ทุกครั้งถ้าพวกเราจะมาดูหนัง หรือลิเกแล้ว เฮียตี๋ก็จะเดินนำหน้า และพวกเราก็จะเดินตามหลังเฮียตี๋ผ่านประตูเข้าไป คนเก็บตั๋วที่หน้าประตู ไม่ว่าจะเป็นคนของวิก  หรือเป็นคนของคณะลิเกมาเฝ้าประตูเองก็ตาม ต่างก็จะรู้จักเฮียตี๋และพรรคพวกเป็นอย่างดี ก็จะปล่อยให้พวกเราเข้าไป (ดูฟรี) แต่โดยดี บารมีของเฮียตี๋แกบ่งบอกว่าใช้ได้ไม่มีใครมาขัดขวาง ทั้งๆที่ เฮียตี๋ แกก็ยังไม่ได้ปล่อยอาวุธลับอะไรออกมาเลย

      แล้ววันนั้น นายประสาน สุรพลพินิจ กับนายสุทน ลูกนายตรวจทางฉุย เพื่อนของผู้เขียนซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คงนึกอยากจะดูหนังเรื่อง สาวน้อย ที่มี ชรินทร์ นันทนาคร แสดงคู่กับ ทรงศรี  เทวคุปต์ (ออกฉายที่กรุงเทพฯ ครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๐๑) 

      พอจะเดินผ่านประตูเข้าไป คนเก็บตั๋วที่มากับพวกฉายหนัง ก็เอามือยื่นออกมากั้นทันที แล้วแบมือขอตั๋ว ฝ่ายนายประสานก็อึกอัก แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ทัน ก็เลยบอกคนเก็บตั๋ว ว่า “ผมเป็นลูกกำนันครับ”

      คนเก็บตั๋วพอได้ยินว่าลูกกำนัน มันก็เลยมองหน้าอย่างพิเคราะห์ สักครู่มันก็พยักหน้าหงึกๆ ให้นายประสานเข้าไปแต่โดยดี  ส่วนนายสุทนพอเห็นว่าน่าจะมีเรื่องแน่แล้ว ก็เลยปลีกตัวออกไปตอนที่ คนเก็บตั๋วกั้นนายประสานเอาไว้  แล้วรีบวิ่งไปที่บ้านกำนันโกวิท (ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวิกเท่าไรนัก) พบเฮียตี๋แกนั่งพักผ่อนอยู่ แล้วก็ไปเล่าให้เฮียตี๋ฟัง  ผู้เขียนว่าเฮียตี๋แกก็รับฟังไปอย่างนั้นเอง

      ก่อนหนังจะฉาย เขาก็ประกาศ ทางเครื่องขยายเสียง ในทำนอง ว่า  “ มีคนแอบอ้าง ว่าเป็นลูกกำนันและว่า  ถ้าเป็นลูกกำนันจริงแล้ว เขาก็จะยินดีบริการฟรีทุกเวลา อย่าว่าแต่ขอเข้าดูหนังเลย ขออะไรมากกว่านี้เขาก็ให้ได้ เพราะว่าที่วิกนี้ ปีหนึ่งเขามาฉายหนังหลายหน เคยมาขอข้าวบ้านกำนันกินก็บ่อยๆ ลูกกำนันบางคนเขาก็รู้จัก  คนที่เป็นทหารที่กรุงเทพ (หมายถึง พันเอกสมพงษ์ วงศ์ยะรา) เขาก็รู้จักกันดี  การมาแอบอ้างพล่อยๆเช่นนี้ มีแต่ทางเสียหายและ เสียหายไปถึงท่านกำนันด้วย “

      แล้วเขาก็พูดอะไรอีกหลายอย่าง พูดถึงบุญคุญท่านกำนัน และอื่นๆในตอนสุดท้ายแต่สุดท้ายแล้วไม่ได้บอกเลยว่า ใครเป็นคนมาอวดเบ่ง บอกว่าเป็นลูกกำนัน เรื่องนี้ก็เลยจบในคืนนั้นเพียงเท่านี้

      เย็นวันรุ่งขึ้น ในขณะที่กลุ่มพวกเราชุมนุมกัน ที่เสาธงหน้าโรงเรียนอย่างเคย เฮียตี๋ หัวหน้ากลุ่มของพวกเรา ก็เอ่ยปากถาม นายประสานว่า  ไอ้ทนมันบอกกูว่ามึงไปเบ่งอย่างนั้นจริงไหม 
นายประสานหัวเราะ แหะ แหะ แล้วบอกว่า  ม ม ม มันไม่จริงหรอกเฮีย ผมไม่ได้เบ่งสักหน่อย ผมแค่บอกมันว่า ผมเป็นลูก”บ้านกำนัน เท่านั้น  เฮียตี๋ได้ฟังแล้วแกก็ส่ายหน้าบ่นพึมพำ  พอจับใจความได้ว่า “ไอ้สาน มึงนะมึง ทีหลังมึงอย่าทำ” !

    ในตอนนั้นมีลิเกคณะหนึ่ง ขออภัยด้วยว่าผมจำชื่อคณะไม่ได้แล้ว มาเช่าวิกนี้เล่นได้หลายคืนแล้วตอนนั้นเป็นหน้าฝน ฝนจึงตกแทบทุกวัน บางทีตอนกลางวันอากาศดีมาก ไม่มีเค้าว่าฝนจะตกเลย  แต่พอตอนเย็นลงเค้าฝนก็เริ่มจะมา ทำให้ลิเกที่มาเล่นที่วิกนี้เดือดร้อนเป็นอันมาก เมื่อฝนตกเช่นนี้จึงไม่มีคนมาดูลิเกที่วิกนี้เลย เพราะลำบากในการเดินทางไป มา เป็นอย่างนี้มาหลายวันแล้ว

     ผมจำได้ว่าในวันหนึ่งพวกเรา กลุ่ม เฮียตี๋ นั่งคุยกันบ้างเตะฟุตบอลเล่นกันบ้างที่สนามหน้าโรงเรียน ในตอนหนึ่งนั้นเฮียตี๋พูดว่า ตอนนี้มันเป็นยังไงกันวะ ฝนตกทุกเย็นเลยลิกงลิเกไม่ได้เล่นขาดทุนป่นปี้หมด  ขณะที่พวกเรานั่งคุยกันอยู่นั้น เสียงเครื่องขยายเสียงจากวิก เจ็ดเสมียนก็เปิดเพลงดังลั่นเปิดโหมโรงมาหลายเพลง

     จวนจะพลบค่ำ ท้องฟ้าคืนนี้ฝนไม่มีทีท่าว่าจะตก ชาวบ้านคงได้ดูลิเกกันแน่ สักครู่เพลงที่กำลังบรรเลงจบลงเพลงใหม่ก็เริ่มขึ้น  เป็นเพลงที่ขับร้อง   โดยคุณ สวลี  ผกาพันธ์ (ปัจจุบันท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ)  ผมจำไม่ได้ว่าเพลงนี้ชื่ออะไร ได้ยินว่า “ยู้ฮู  ยู้ฮู  ยู้ฮู  เธออยู่ไหนกันเล่า เสียแรงหลงคอยมิเคยเห็นเงา ” พอเพลงนี้ขึ้นสักประเดี๋ยวเท่านั้นแหละครับ ฝนได้เทลงมาโดยไม่มีเหตุผลพวกเราหนีฝนกันจ้าละหวั่น คืนนี้ลิเกไม่ได้เล่นอีกตามเคย

     ตั้งแต่นั้นมาในตอนเย็นๆที่พวกเรา มานั่งเล่นกันที่เสาธงหน้าโรงเรียน  ถ้าเพลงนั้น “ยู้ฮู  ยู้ฮู  ยู้ฮู เธออยู่ไหนกันเล่า เสียแรงหลงคอยมิเคยเห็นเงา” ดังขึ้นจากวิกเจ็ดเสมียนเมื่อไรรับประกันได้ว่าอีกสักประเดี๋ยว ฟ้าที่ครึ้มเพราะเป็นหน้าฝนอยู่แล้วนั้น ฝนก็จะตกลงมาห่าใหญ่เป็นที่ประหลาดใจยิ่งนัก วิกเจ็ดเสมียน (สัตคามภาพยนต์)นั้นได้ดำเนินการอยู่หลายปี ต่อมาได้ล้มเลิกไปเมื่อไรและเพราะอะไรก็ไม่ทราบได้ เพราะว่าผู้เขียนไม่ได้อยู่ที่เจ็ดเสมียนเสียแล้ว

       เมื่อวันที่  ๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ ผู้เขียนได้พบกับคุณสาธร ที่ตลาดเจ็ดเสมียน  ในตอนหนึ่งผมก็ถามคุณสาธรว่า วิกเจ็ดเสมียนสัตคามภาพยนตร์ ของพ่อเขาเลิกตั้งแต่เมื่อไร คุณสาธรก็บอกว่าไม่ทราบเหมือนกัน ว่าวิก สัตคามภาพยนต์นี้เลิกเมื่อไร จะไปถาม พ่อวิรัชก็ไม่ได้ เพราะว่าพ่อวิรัช เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว จะไปถามป้าแช แม่ของคุณสาธรก็ไม่ได้อีก  เพราะว่า ป้าแชแม่ของคุณสาธรนั้น เพิ่งจะเผาไปหยกหยกที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมานี้นั่นเอง

       ก็เลยไม่รู้จะไปถามใครจึงได้มืดมนอยู่จนเดี๋ยวนี้  และด้วยความภาคภูมิใจที่ต้องบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่ง ลิเกชื่อดังขนาดคณะ ทองใบ รุ่งเรือง ยังมาเปิดการแสดงที่วิก สัตคามภาพยนตร์ แห่งตำบลเจ็ดเสมียน หลายคืนทีเดียว สิ่งต่างๆในรายละเอียดของวิกเจ็ดเสมียน ที่ผู้เขียนไม่ได้เล่าให้ฟังนั้น ยังมีอีกมากมาย แต่เอาเท่านี้ก่อนก็แล้วกัน.

      วิกเจ็ดเสมียนสัตคามภาพยนตร์ในอดีตนั้น ปลูกอยู่ในที่ของคุณวิรัชเอง ปัจจุบันนี้คุณวิรัชได้ปลูกบ้านอยู่ในที่ๆ แต่ก่อนเคยเป็นวิกเจ็ดเสมียนสัตคามภาพยนตร์  ติดกับบ้านป้าฮวย  หรือ โรงงานผลิตใช้โป๊ แม่กิมฮวย เชลล์ชวนชิม นั่นเอง…..!

นายแก้ว ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้223
เมื่อวานนี้460
สัปดาห์นี้2073
เดือนนี้11320
ทั้งหมด1341204

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online