คนเก่าในตลาดเจ็ดเสมียน ภาค ๑

 alt  

   ภาพของคนในตลาดเจ็ดเสมียนเมื่อกว่า ๔๐ ปีมาแล้ว ภาพนี้เป็นภาพที่คนเก่าๆของตลาดเจ็ดเสมียนมารวมตัวกัน มารับประทานอาหารร่วมกันในงานเลี้ยงงานหนึ่ง ที่หน้าห้องแถวตลาดเจ็ดเสมียน

  งานนี้จัดกันขึ้นที่ในตลาดเจ็ดเสมียนเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐ (๔๓ ปี) ที่บริเวณหน้าบ้านหรือหน้าร้านถ่ายรูปของนายจำเนียรนั่นเอง รูปนี้จึงถ่ายโดยโดยนายจำเนียร คุ้มประวัติ แห่งห้องภาพจำเนียรศิลป์ ตลาดเจ็ดเสมียน

  ในภาพนี้จะเห็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผมจะขอบรรยายเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น ในส่วนของเด็กๆที่เห็นในภาพนี้ผมจำไม่ได้ว่าเป็นใครในปัจจุบันบ้าง จึงขอให้ได้ข้อมูลมาเสียก่อนแล้วจึงจะมาบรรยายในภายหลัง

alt

   ภาพนี้งานเดียวกับภาพนำเรื่องข้างบน จะเห็นห้องแถวของตลาดเจ็ดเสมียนด้วย ห้องทางขวาสุดของภาพคือห้องขายของเบ็ดเตล็ดของอี๊น้อย ถัดมาอีกห้องหนึ่งคือห้องร้านถ่ายรูปจำเนียรศิลป์ ที่ติดกันถัดมาคือห้องของนางสละ สุวรรณมัจฉา ห้องสุดท้ายซ้ายสุดนั้นคือห้องร้านตัดผมของนายชุ่มครับ

  ในภาคแรกนี้จะขออธิบายถึงบุคคลต่างๆในภาพข้างบนภาพเดียวก่อนนะครับ

    เริ่มตั้งแต่คนแรกทางซ้ายมือในภาพ ท่านเป็นคนเจ็ดเสมียนเก่าแก่นานมาก ใครๆในตลาดเจ็ดเสมียนเรียกแกว่าป้าม่วย ป้าม่วยคนนี้เป็นแม่ของเฮียเต้ว (นายไพบูลย์ พงษ์ถิระสุวรรณ คนเก่งแห่งตลาดเจ็ดเสมียน) และเป็นแม่ของเจ๊ประนอม (คนสวยแห่งตลาดเจ็ดเสมียนในอดีต)

alt

  เจ๊ประนอม (กลาง) บุตรสาวคนหนึ่งของป้าม่วย ถ่ายเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒

  ป้าม่วยคนนี้เป็นพี่สาวของป้าฮวย หรือเจ้าของโรงงาน ไช้โป้วหวานแม่กิมฮวย เชลล์ชวนชิม  และเป็นพี่สาวของน้องคนเล็กด้วยคือนางน้อย หยู่เอี่ยม ที่ผมและเด็กๆตลาดเจ็ดเสมียน ส่วนใหญ่เรียกแกตลอดมาว่า อี๊น้อย คนที่ป้าม่วยแกกอดคอในภาพแรกนั่นแหละครับ

  ป้าม่วยอยู่ที่บ้านไม่ได้ทำอะไร เรียกว่าเป็นแม่บ้านทำงานบ้าน ส่วนสามีของป้าม่วยที่ใครๆก็เรียกแกว่าอานึ๊งตุ้ง (น่าจะเป็นจีนกวางตุ้ง) อานึ้งตุ้งเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ที่ใช้ไอน้ำใหญ่ๆ ที่ตามโรงเลื่อยโรงสีใช้กันอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น อานึ้งตุ้งนับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเครื่องเหล่านี้

  โรงสีข้าว โรงเลื่อยจักร์ที่ใช้เครื่องไอน้ำแบบนี้ ถ้าเสียขึ้นมาละก้อต้องมาเรียก อานึ๊งตุ้ง ไปทำการซ่อมทันที จะเรียกให้ชัดๆว่าอานึ๊งตุ้งนี่แหละเป็นวิศวกรใหญ่ สำหรับเครื่องจักร์ไอน้ำตัวจริงก็ไม่ผิดละครับ

  ถัดมาคนที่ป้าม่วยกอดคออยู่นั้นคือ อี๊น้อย เป็นน้องคนเล็กของป้าม่วย ในตอนแรกที่อี๊น้อยมาอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนั้น ได้ดำเนินกิจการเปิดร้านขายของใช้ต่างๆ ในตลาดเจ็ดเสมียนมาหลายสิบปี จนกระทั่งคนที่เจ็ดเสมียนและตำบลใกล้เคียง ต่างก็รู้จักร้านเจ๊น้อยเป็นอย่างดี

alt

นางน้อย หยู่เอี่ยม สมัยเมื่อยังสาว จูงจักรยานหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน นางน้อย หยู่เอี่ยม เป็นผู้ที่ก่อตั้งโรงงานผลิต ผักกาดหวานตราชฎา

  ในเวลาต่อมาอี๊น้อยแกจึงได้ดำเนินการ ผลิตหัวผักกาดเค็มหวาน ขายปลีกและส่ง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนแต่อย่างใด กิจการก็เจริญขึ้นมาเรื่อยๆ มาในตอนหลังนี้เมื่อลูกๆได้โตแล้วเข้ามาช่วยดูแลกิจการ จึงได้จดทะเบียนในรูปของบริษัทขึ้นมาในชื่อว่า หัวไช้โป้วตราชฎา

alt

  คุณนิตยา หยู่เอี่ยม (ซ้าย) บุตรสาวคนโตของอี๊น้อย ปัจจุบันดูแลกิจการไช้โป้วตราชฎา ร่วมกับน้อง ส่วนคนทางขวานั้นเป็นบุตรคนสุดท้อง ของกำนันโกวิท วงศ์ยะรา อดีตกำนันตำบลเจ็ดเสมียน คือคุณกรรณิกา วงศ์ยะรา (น้องเล็ก) ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลเจ็ดเสมียน ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ ๕ เม.ย. ๒๕๕๒ ที่อาคารเอนกประสงค์ ตลาดเจ็ดเสมียน

  ถัดมาอีกคนหนึ่งนั้นคือ นางแพ อยู่ดี หรือที่พวกเราเด็กตลาดเจ็ดเสมียนในสมัยนั้นเรียกกันว่า น้าแพ น้าแพมาอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน ตั้งแต่ตลาดแถวที่สองสร้างเสร็จใหม่ๆ จึงเป็นคนที่อยู่ที่เจ็ดเสมียนมายาวนานมาก น้าแพนี้มีลูกหลายคนแต่ผมรู้จักเป็นบางคนเท่านั้น เพราะอีกบางคนยังเป็นเด็กๆมากอยู่ ยังไม่โตเลยผมก็ไปจากเจ็ดเสมียนเสียแล้ว

alt 

  น้าแพ อยู่ดี ภรรยาของนายเขียน ร้านตัดผมราชาบาเบอร์ ตลาดเจ็ดเสมียน เด็กผู้ชายเสื้อยืดลายข้างหลังคือ นายวิมล (ตึ๊ง) หยู่เอี่ยม ปัจจุบันเป็นผู้บริหาร ไช้โป้วหวานตราชฎา ตลาดเจ็ดเสมียน (นายจำเนียร ถ่ายเมื่อ มีนาคม ๒๕๑๐)

   ดังนั้นผมจึงรู้จักจริงๆก็คือลูกคนโตของน้าแพเท่านั้น คือคุณเทียนขาว คุณเทียนขาวคนนี้อายุอ่อนกว่าผมหลายปี ดูเหมือนว่า จะเป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียน รุ่นเดียวกับน้องของผมคนหนึ่งคือ ครูปราณี สุวรรณมัจฉา ต่อมาคุณเทียนขาวได้จากเจ็ดเสมียนไปอยู่สหรัฐอเมริกาจนโอนเป็นคนอเมริกาหลายสิบปีแล้ว ผมได้ข่าวว่านานๆทีคุณเทียนขาว จึงจะเข้ามาเยี่ยมบ้านเกิด ที่ตลาดเจ็ดเสมียนสักครั้งหนึ่ง

alt

  ร้านราชาบาเบอร์ คือร้านตัดผมท่านชายในตลาดเจ็ดเสมียน ดำเนินการโดยช่างผู้เชี่ยวชาญในเรื่องทรงผม คือนายเขียน ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เหลือไว้แต่ตำนานแห่งความทรงจำเท่านั้น ผู้ที่ถีบจักรยานอยู่หน้าร้านนี้คือ คุณป้อม บุตรสาวคนหนึ่งของนายเขียนนางแพ ซึ่งเป็นผู้ส่งรูปมาให้พวกเราได้ดูกันครับ  ขอขอบคุณๆป้อมมา ณ ที่นี้ด้วย 

   เมื่อปีที่แล้วมีน้องสาวของคุณเทียนขาวคนหนึ่งชื่อคุณป้อม ได้ส่งข่าวเข้ามาปรารภกับผมว่า หอระฆังที่วัดเจ็ดเสมียนในปัจจุบันนี้นั้น คุณเทียนขาวซึ่งเป็นพี่สาวของเขานั้นเป็นผู้สร้างให้กับทางวัดเอง แต่พลาดตรงที่ไม่ได้ใส่ชื่อผู้สร้างคือ คุณเทียนขาวเอาไว้ด้วย หอระฆังที่วัดเจ็ดเสมียนแห่งนี้ จึงไม่มีชื่อผู้สร้างถวาย แล้วคุณป้อมก็เล่าความเป็นมาของการสร้างหอระฆังแห่งนี้อีกยืดยาว สุดท้ายถามผมว่า จะไปใส่ชื่อผู้สร้างได้หรือไม่

   ผมบอกว่าขั้นตอนแรกต้องไปคุยกับเจ้าอาวาสเสียก่อน ถ้าท่านบอกว่าคนอื่นเป็นผู้สร้างละก้อเรื่องจะไปอีกยาว ใส่ชื่อไม่ได้ง่ายๆแน่นอน แต่ถ้าเจ้าอาวาสตกลงละก้อ หาช่างไปเขียนชื่อได้เลย ก็ไม่รู้ว่าคุณป้อมจะไปจัดการตามนี้หรือเปล่า  

alt

  คุณเทียนขาว อยู่ดี ภาพนี้ในขณะที่ยังอยู่ที่เจ็ดเสมียน ได้มอบภาพนี้ไว้ให้กับครูปราณี ซึ่งเป็นน้องสาวของผม

   เมื่อตอนที่ผมยังอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนั้น ผมยังจำได้ถึงร้านตัดผมราชาบาเบอร์ของน้าแพ วิ่งผ่านหรือเดินผ่านร้านตัดผมของแกเมื่อไร ก็เห็นนายเขียนแกยืนนิ่งตัดผมให้กับลูกค้าทั้งวัน ดูเอาจริงเอาจังกับการตัดผมให้ลูกค้ายิ่งนัก ไม่รู้ว่าแกจะมีอะไรคุยกับลูกค้าบ้างหรือเปล่า

  แต่เมื่อยามว่างคือยังไม่มีลูกค้ามาตัดผม ลุงเขียนแกก็ไม่ได้อยู่นิ่งหรือนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฆ่าเวลา เหมือนคนอื่นที่เคยเห็น แกจะเอามีดโกนที่แกใช้งานเป็นประจำเล่มนั้น เอามาลับกับกระจกหนาสัก ๓ หุน (เดาเอา) ซึ่งตัดมาเป็นแผ่นเล็กๆยาวๆ กว้างสัก ๔ นิ้ว ยาวสัก ๖ นิ้ว เริ่มต้นลุงเขียนแกก็เอาน้ำหยดลงไปที่แผ่นกระจกให้เปียกเล็กน้อย แล้วแกก็เอามีดโกนนั้นนั่งถูกับกระจกเบาๆ (เหมือนกับที่เราเคยลับมีดกับหินลับมีด) เป็นเวลานานๆ 

  ถ้าไม่มีลูกค้าเข้ามาตัดผมเป็นเวลานานๆ ลุงเขียนแกก็จะนั่งถูมีดโกนกับแผ่นกระจกอยู่อย่างนั้น ลุงเขียนแกน่าจะเป็นคนไม่ช่างพูดช่างคุย ซึ่งผิดวิสัยของช่างตัดผมเสียจริงๆเทียว ผมจึงไม่ค่อยได้เห็นแกพูดคุยกับใคร แม้แต่ลูกค้าที่มาตัดผมแกก็ตัดผมเฉย  ไม่เหมือนช่างตัดผมบางคนที่ผมเคยเห็นมา พูดคุยกับลูกค้าเสียจนลูกค้าหลับน้ำลายไหลยืดไปเลยก็มี ทั้งๆที่เขาไม่ได้อดนอนมาสักหน่อย อย่าว่าอย่างโง้นอย่างงี้เลย แม้แต่ลิงยังหลับ ถ้าเจอแบบนี้

alt

  เวลาทำงานลุงเขียนจะแต่งตัวแบบนี้ และตั้งอกตั้งใจทำงาน (ตัดผม) เสียจริงๆ สมกับเป็น ราชาบาเบอร์แห่งตลาดเจ็ดเสมียนครับ

  พวกเราเห็นลุงเขียนเป็นคนผอมๆสูงอย่างนั้นเถอะ แกเป็นคนแข็งแรงนะครับ เพราะว่าในตอนเย็นๆเมื่อไม่มีลูกค้าแล้ว แกก็จะนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืด ใส่รองเท้าผ้าใบอย่างรัดกุม ออกวิ่งรอบๆโบสถ์ชั้นในทุกๆเย็น โบสถ์หลังเก่าก็ติดกับหลังห้องแถวและติดกับหลังบ้านแกนั่นเอง กำแพงโบสถ์ไม่สูงมากนัก ยืนมองที่หลังบ้านก็เห็นหัวลุงเขียนผลุบๆโผล่ๆไปตามจังหวะการวิ่งแล้ว สมัยก่อนนั้นเห็นคนอายุมากๆออกมาวิ่งแบบนี้ก็แปลกตาพอสมควร เพราะไม่ค่อยมีใครมาวิ่งแบบนี้ เห็นมีก็เด็กๆไปเตะบอลกันที่สนามหน้าโรงรียนเท่านั้น

alt

  น้าแพเตรียมตัวจะไปงานใดงานหนึ่งในตำบลเจ็ดเสมียน แต่งตัวเสียสวยทีเดียว เป็นธรรมดาของน้าแพเพราะว่าน้าแพแกเป็นคนรักสวยรักงามครับ

 ฝ่ายน้าแพเท่าที่ผมเห็นก็เป็นคนไม่ค่อยพูด ถ้าพูดออกมาก็เป็นเสียงเบาๆ (มองจากด้านนอกนะครับ ที่จริงแล้วเป็นคนด่าเปิดเปิงหรือเปล่า อันนั้นผมก็ไม่รู้นะ ถ้าไม่ใช่ก็ขอโทษด้วยนะน้าแพ )

  ทั้งลุงเขียนและน้าแพก็เป็นคนไม่ค่อยพูดพอๆกัน น้าแพแกเป็นคนแต่งกายสอาดเรียบร้อย รูปร่างท้วมๆสวยงาม แกชอบสังสรรค์กับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะป้าสละแม่ของผมถ้ามีเวลาว่างละก็จะแวะมาคุยกับแม่ของผมที่บ้านแทบทุกวัน

  น้าแพชอบช่วยเหลือเพื่อนบ้าน จะเห็นได้ว่าเมื่อมีงานบุญ งานบวช งานแต่ง หรืองานศพ จะเห็นน้าแพไปช่วยอยู่ในครัวเสมอๆ ถ้าไม่ได้เป็นคนทำครัวอย่างน้อยก็ไปนั่งที่หน้างานก็แล้วกัน พูดถึงน้าแพแล้วก็นึกถึง ซ้อทองคำ ภรรยาของนายโหงวอีกคนหนึ่งที่มีน้ำใจคอยช่วยเหลือชาวบ้านเหมือนกัน แต่ไม่มีซ้อทองคำในภาพข้างบนโน้นนะครับ ผมจึงไม่พูดถึงในรายละเอียดในภาค ๑ นี้

alt

   เด็กวัยรุ่นตลาดเจ็ดเสมียนเมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว มารวมตัวกันถ่ายรูปที่หน้าร้านตัดผม ราชาบาเบอร์ ของนายเขียนนางแพ คนที่ยืนทางซ้ายล้วงกระเป๋าคือ น.ส.ป้อม บุตรสาวคนหนึ่งของน้าแพ

   ถัดจากน้าแพมาคือคนที่นั่งหน้าตรง ดูเหมือนจะหลับตานั่นแหละครับ (รูปข้างบนโน้น) เขาคือนางละม่อม คุ้มประวัติ หรือที่เด็กๆตลาดเจ็ดเสมียนเรียกว่าป้าม่อม ซึ่งผมก็เรียกด้วย ครอบครัวของป้าม่อมทำกิจการร้านถ่ายรูป ร้านถ่ายรูปนี้ดำเนินการโดยนายจำเนียร คุ้มประวัติ หรือที่ผมและเด็กๆอีกหลายคนเรียกแกว่าน้าเนียร แต่จะมีบางคนเรียกแกว่าลุงเนียร เช่นคุณสมเกียรติ อารีย์ (โต ลูกนายโหงว ซ้อทองคำ) หรือเด็กพวกรุ่นของเขาเป็นต้น

alt

  ภายในร้านถ่ายรูปของลุงเนียร ในตอนหัวค่ำผมก็ไปนั่งเกะกะดูนายเหม่งทำการบ้านเป็นประจำ ซ้ายสุดคือผู้เขียนตอนยังอยู่ที่เจ็ดเสมียน บ้านอยู่ที่ห้องติดกับร้านถ่ายรูปลุงเนียรครับ

   ในคราวนั้นผมยังแปลกใจอยู่เสมอและมีความสงสัยว่า ทำไมผมจึงเรียกนายจำเนียรว่าน้าเนียร แล้วก็มาเรียกนางละม่อมว่า ป้าม่อม ทั้งๆที่นางละม่อมนี้อ่อนกว่าแม่ผมตั้งหลายปี และนายจำเนียรก็ควรจะเรียกว่าลุงเนียรด้วยแต่ดันมาเรียกแกว่าน้าเนียร แต่เอาเถอะเรียกมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว คิดว่าเลยตามเลยก็แล้วกัน 

  ป้าม่อมนี้เป็นแม่ของคู่หูของผมเอง ในวัยเด็กๆที่อยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนด้วยกันคือ นายเหม่งนั่นเอง ผมกับนายเหม่งนั้นตั้งแต่ตอนเช้าเปิดหน้าถัง (คือประตูบานพับเขาใช้ไม้กระดานหนาเตอะมาทำ ปิดเปิดยากชะมัด) ห้องแถวมาก็เจอกันแล้ว เพราะว่าอยู่ห้องแถวติดกัน 

   ถ้าผมไม่ได้ชวนนายเหม่ง นายเหม่งก็ชวนผมโดยมากมักจะไปทำมาหากินกัน เช่นส่วนใหญ่ไปหาปลาตามริมตลิ่ง ไปเก็บมะขามเทศฝาดมั่ง มันมั่ง ไปเก็บพุดซาลูกเล็กๆตามคันนาเปรี้ยวจี๊ด บางทีก็ไปตีผึ้งบ้างก็มีแต่ไม่มากนัก (เรื่องของผมกับนายเหม่งเขียนเป็นหนังสืออกมาได้หลายตอน โปรดหาอ่านครับ)

alt

   คุณป้าม่อมเมื่อตอนสมัยยังสาว กำลังนั่งอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ภายในร้านถ่ายรูปจำเนียรศิลป์ตลาดเจ็ดเสมียน

   อันว่าป้าม่อมนั้นเมื่อสมัยแกยังสาวๆ จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่ตลาดห้องแถวเจ็ดเสมียนแล้วนั้น ป้าม่อมแกก็ยังไม่ได้อ้วนท้วนสมบูรณ์อะไรเลย หุ่นแกดีเหมือนสาวๆโดยทั่วไป มีหน้าตารูปโฉมที่งดงาม เป็นหนึ่งในตำบลบางโตนดก็ว่าได้ ทั้งๆที่แกก็มีลูกถึง สอง สามคนแล้ว อาจจะมีใครถามว่าใครบอกคุณ ผมจะบอกว่าก็น้าเนียรนั่นแหละเป็นคนบอก จริงๆด้วย..!

    มีอยู่วันหนึ่งน้าเนียรแกไปถ่ายรูปที่บ้านงานต่างตำบลมา เมื่อกลับมาบ้านแกหิ้วถุงลูกไม้ชนิดหนึ่งมาด้วย ลูกไม้นั้นคือลูกมะเกลือนั่นเอง แกบอกป้าม่อมว่าลูกมะเกลือนี้เป็นยาถ่ายพยาธิ์ได้มันเป็นสมุนไพรโบราณ แล้วน้าเนียรแกก็บอกวิธีการทำด้วย ใครๆที่อยู่ตรงนั้นได้ยินน้าเนียรพูดเช่นนั้น ก็สนใจเป็นอันมากทุกคน

alt

   นายจำเนียร คุ้มประวัติ ช่างถ่ายรูปมือหนึ่งแห่งตลาดเจ็ดเสมียน ที่เสาธงหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน พร้อมกับลูก ๓ คน

  สำหรับป้าม่อมนั้นแกสนใจลูกมะเกลือนี้ด้วยเป็นสองเท่า เพราะว่าป้าม่อมแกสงสัยในตัวแกเหลือกำลังว่า ในตัวแกนั้นน่าจะมีพยาธิคอยแย่งอาหารแกอยู่ ข้าวก็กินได้มื้อละมากๆ แต่ทำไมจึงไม่อ้วนท้วนสมบูรณสักที และภายในท้องก็มักจะอืดๆอยู่บ่อยๆ ป้าม่อมจึงบอกน้าเนียรว่า เย็นนี้แหละฉันจะลองทำเป็นยาถ่ายฆ่าพยาธิดูว่าจะได้ผลดีจริงหรือไม่

   ในวันนั้นผู้เขียนบังเอิญอยู่ที่บ้านป้าม่อมด้วย ได้ยินเขาพูดคุยกันอยู่ ยังคิดในใจว่า ลูกมะเกลือนั้นเขาเอาไปย้อมแหต่างหาก เอามาทำเป็นยาถ่ายนั้นไม่เคยได้ยิน หรือเพราะว่าเรายังเด็กๆอยู่จึงไม่ได้มีความรู้อะไรกว้างขวางถึงขนาดนั้น

alt

 ป้าม่อมกับลูกคนเล็กและหลานคนหนึ่ง ที่หลังร้านถ่ายรูปในตลาดเจ็ดเสมียน

    แล้วในตอนเย็นวันนั้น ป้าม่อมแกก็จัดแจงเอาลูกมะเกลือหลายสิบลูก มาใส่ครกโขลกตำจนละเอียด เสร็จแล้วก็ตักลูกมะเกลือที่แหลกแล้วนั้นใส่ลงไป ในหม้อเล็กๆที่ตั้งไว้บนเตาไฟ ในหม้อนั้นมีหัวกะทิที่ป้าม่อมแกคั้นใส่เอาไว้แล้วเดือดพล่านอยู่ ป้าม่อมแกใส่ลูกมะเกลือลงไปหมดทั้งครก พร้อมทั้งเหยาะเกลือป่นลงไปด้วยเล็กน้อย แล้วกวนๆให้กะทิกับลูกมะเกลือเข้ากันดี กวนจนกะทิงวดได้ที่แล้วก็ยกลง เป็นอันว่าเสร็จพิธีในการปรุงยาถ่ายแบบสมุนไพรโบราณ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของนายจำเนียรแท้ๆเทียว

    วันรุ่งขึ้นในตอนเช้ามืดผมมาชวนนายเหม่ง ไปเก็บมะม่วงวัดที่มักจะสุกคาต้น และเมื่อโดนลมมักจะตกลงมาผมเคยไปเก็บกันบ่อยๆ ยิ่งคืนไหนที่มีลมพายุพัดแรงๆด้วยแล้ว มะม่วงวัดมักจะตกลงมามาก ขนาดผมเอากระป๋องหิ้วที่ใช้ตักน้ำมาเก็บก็ยังใส่ไม่หมด

alt

  นายเหม่งลูกชายคนหนึ่งของป้าม่อม (ขวา) เป็นคู่หูของผมเมื่อตอนเด็กๆ เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓

   เมื่อคืนมีลมแรงมากเช้ามืดวันนี้ผมจึงมาชวนนายเหม่ง ให้ไปเก็บมะม่วงที่วัดด้วยกัน ในระหว่างที่เดินไปวัดกับนายเหม่งนั้น นายเหม่งบอกว่า เมื่อคืนแม่ของเขา (คือป้าม่อม) “กินยาถ่ายลูกมะเกลือเข้าไปแล้ว ถ่ายพยาธิ์ออกมาบานเลย เป็นพยาธิ์ตัวตืดที่เป็นปล้องๆ ต่อจากนี้ไปแม่ของเราคงจะหายจากการ ที่ท้องอืดเป็นประจำแล้วแหละ” ผมก็บอกนายเหม่งว่า เออ..ยาถ่ายสูตรนี้เขาดีจริงๆเลยหว่ะ แล้วเราคุยกันเรื่องอื่นๆจนถึงวัด

alt

  น้าเนียรป้าม่อมและลูกนั่งเล่นอยู่ที่หลังบ้านในตอนเย็นวันหนึ่ง หลังจากรับประทานยาถ่ายลูกมะเกลือเข้าไปแล้ว ก็เป็นคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ภาพนี้ถ่ายมาเกือบ ๕๐ ปีแล้วครับ เทียบจากลูกชายคนเล็กของป้าม่อม ปัจจุบันมีอายุ ๕๐ ปี ในปี ๒๕๕๕

  ในตอนหลังผมเดาเอาเองว่า ป้าม่อมแกถ่ายพยาธิ์ตัวตืดออกแล้ว แกก็อ้วนวันอ้วนคืนเพราะว่าไม่มีตัวพยาธิ์คอยแย่งอาหารกินอีกต่อไป ในตอนหลังๆนี้ผมไม่ได้กลับมาที่เจ็ดเสมียนเป็นเวลานาน เนื่องจากวิถีชีวิตยังไม่ค่อยราบเรียบดีนัก จึงไม่ได้พบกับป้าม่อมอีกเลย จนกระทั่งได้ข่าวว่าป้าม่อมเสียชีวิตไปเมื่อมีอายุมากแล้ว ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนั่นเอง 

   คนต่อมาที่ยืนยกแก้วขึ้นดื่มนั้นเป็นแม่ของเพื่อนผมเอง ชื่อป้าฮุ้น เป็นแม่ของอโนทัย ไทยสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนวิ่งเล่นที่ตลาดเจ็ดเสมียนในรุ่นเดียวกัน ป้าฮุ้นนี้เป็นคนที่มีนิสัยร่าเริง พูดเก่ง ตลกโปกฮา เรื่องราวส่วนตัวของป้าฮุ้นนั้น ผมไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไรเพราะว่าบ้านไม่ได้อยู่ติดกัน บ้านของแกก็อยู่ในตลาดเจ็ดเสมียนนั่นแหละ แต่เป็นตลาดแถวเก่าตรงกันข้ามตลาดแถวใหม่ เยื้องๆกับห้องของผมนิดหน่อยเท่านั้นเอง

alt

  ป้าฮุ้นคือคนทางขวาของภาพ กำลังประกอบอาหารในครัวกับน้องสาวคือ ป้าหนู ที่ตลาดเจ็ดเสมียน
 
    ป้าฮุ้นมีลูกหญิงชายหลายคน ที่อายุมากกว่าผมเยอะก็มี รุ่นเดียวกับผมซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ และอายุน้อยกว่าผมซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับน้องๆของผมก็มี แต่ผมก็จะสนิทกับลูกป้าฮุ้นคนที่อายุรุ่นเดียวกับผม คือ นายอโนทัย ไทยสวัสดิ์ (โล) เท่านั้น

  อโนทัยที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผมนั้น เขามีชื่อเล่นที่เรียกกันในหมู่ของพวกเราว่านายโล เมื่อนายโลเรียนจบชั้นมัธยม ๖ จากโรงเรียนมัธยมวัดสนามชัยแล้ว ก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายที่กรุงเทพฯ จนสำเร็จแล้วก็ไปทำงานที่กรมทางตลอดมาจนกระทั่ง เกษียณอายุราชการ

alt

  นายโล (อโนทัย ไทยสวัสดิ์) ลูกชายป้าฮุ้น เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผู้เขียน

    นายโลเมื่อทำงานที่กรมทางนั้น ได้ย้ายไปอยู่ที่ไกล้ๆบ้างไกลๆบ้างได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อย เมื่อใกล้จะเกษียณอายุนั้นเป็นถึงหัวหน้าศูนย์เครื่องมือกล ที่จังหวัดกาญจนบุรี  ปัจจุบันอยู่กับครอบครัวที่หาดใหญ่ เข้ามากรุงเทพฯเป็นบางครั้งเพราะว่าลูกสาวคนเดียวยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   ถัดมานั้นคือ ป้าตุ๊ครับ ป้าตุ๊เป็นภรรยาของลุงพาน (ซึ่งลุงพานนี้เป็นที่สนิทสนมกับครูหิรัญที่เป็นบิดาของผมเป็นอย่างดี) ป้าตุ๊นั้นเป็นตำนานของขนมหวานแห่งเจ็ดเสมียนก็ว่าได้ แกขายขนมหวานที่ตำบลเจ็ดเสมียนมาหลายสิบปีแล้ว ดูเหมือนว่าตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กๆอยู่เลย ในปัจจุบันนี้ป้าตุ๊ไม่ได้ออกขายเองแล้ว คงมีลูกหลานดำเนินการตามรอยป้าตุ๊ต่อไป

 alt

   ภาพนี้ขอแถมครับ อยากจะให้ดูน้าเนียรและลูกให้ชัดๆอีกภาพหนึ่ง ภาพนี้มองไม่เห็นป้าม่อมเห็นแต่แขนเท่านั้น นับว่าเป็นครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา อยู่กันอย่างมีความสุขครอบครัวหนึ่งในตลาดเจ็ดเสมียน

   คนต่อมาที่เห็นหน้าด้านข้างนั้นคือ น้ามั่นภรรยาของนายชุ่ม ร้านตัดผมครับ น้ามั่นมีบุตรหลายคน ปัจจุบันนี้แยกย้ายกันไปมีครอบครัวกันหมดแล้ว นายชุ่มและนางมั่นก็ยังอยู่ที่ห้องแถวเดิม ซึ่งเมื่อก่อนนี้เป็นร้านตัดผม แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง

   ร้านตัดผมของนายชุ่มปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำการบริการลูกค้าแล้ว มองเข้าไปในร้านก็ยังเห็นร่องรอยอยู่บ้างเช่นกระจกบานใหญ่ เคาเตอร์ และเครื่องมือในการตัดผม ปัจจุบันนี้น้ามั่นก็หลงๆลืมๆไปบ้างเนื่องจากความชรา

  ยังมีเด็กๆอีกหลายคนที่อยู่ในภาพนี้ที่จะต้องกล่าวถึง แต่ขอเอาไว้ให้ผมหาข้อมูลมาก่อนนะครับ เพราะแทบจะไม่รู้เลยว่าเป็นลูกใครหลานใคร ใครรู้ช่วยบอกผมที  
  สุดท้ายนี้ขอเรียนให้ทราบว่า บุคคลทั้งหมดที่ผมเอ่ยถึงนี้ เสียชีวิตไปหมดแล้วจริงๆ ไม่โกหกหรอกครับ แล้วพบกันใหม่ใน ภาค ๒ ครับผม... 

   คำขออภัย เนื่องจากเรื่องราวต่างๆที่ผมได้เสนอมานี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วจึงอาจจะมีการกล่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้างจึงต้องขออภัยมายังญาติพี่น้องลูกหลานของทุกท่านที่ผมได้กล่าวถึงมา ณ ที่นี้ด้วย

alt

นายแก้ว  ผู้เขียน

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้460
เมื่อวานนี้343
สัปดาห์นี้1949
เดือนนี้8116
ทั้งหมด1338000

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online