กระดาษสอบของนักเรียน พ.ศ.๒๔๘๑

โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน (สัจจานุกูล) 

      สวัสดีครับ ช่วงนี้ใครเป็นผู้ปกครองของเด็กหรือมีลูกที่อยู่ในวัยเรียน ก็จะทราบว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาของการสอบกลางภาคต้นของปี ๒๕๕๓ แล้ว ดังนั้นก็ขอให้เด็ก ๆ ขยันตั้งใจอ่านหนังสือกันนะครับ

      ลูกชายของผม ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๔ ในบางครั้งต้องติววิชาก่อนที่จะสอบ พบว่าวิชาที่เรียนแตกต่างกับสมัยก่อนค่อนข้างมาก วิชาบางวิชาที่เรียนกันในสมัยก่อน ก็ไม่ได้มีการสอนในสมัยนี้แล้ว เช่น วิชาอ่านเอาเรื่อง (ถ้าอ่านแล้วไม่ได้เรื่องจะโดนคุณครูเอาเรื่อง) และเลขคณิตคิดในใจ เป็นต้น

    เกี่ยวกับการเรียนการสอน ในสมัยก่อนที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนนี้  ผมได้พบเอกสารที่น่าสนใจ และอยากจะนำเสนอ คือกระดาษคำตอบของนักเรียนที่จะต้องเขียนตอบ ในกระดาษฟุตสแก๊ปที่คุณครูแจกให้ ในการสอบของนักเรียนชั้น ป.๒  โรงเรียนประชาบาลสัจจานุกูล (โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนในปัจจุบัน) ตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี เมื่อ ๗๒ ปีที่ผ่านมา

              กระดาษสอบของเด็กชายสมพงษ์ วงศ์ยะรา

 

          กระดาษสอบของเด็กชายเที่ยง วงศ์ยะรา

    ของ ด.ช. สมพงษ์ วงศ์ยะรา และ ด.ช.เที่ยง วงศ์ยะรา ในวิชาเลขคิดในใจ สอบเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑  ได้คะแนนเต็มทั้งสองคน และ ด.ช.เฉลิม คงมั่น ในวิชาเรียงความ ซึ่งเป็นการสอบไล่เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๘๒ ได้คะแนน ถึง๑๘ คะแนนเต็ม ๒๐

              กระดาษสอบของเด็กชายเฉลิม คงมั่น

พันเอกสมพงษ์ วงศ์ยะราในปัจจุบัน (กลาง) (ขออภัยไม่มีภาพหน้าตรงของท่าน)

    ด.ช. สมพงษ์ วงศ์ยะรา ในปัจจุบันนี้ คือ พันเอกสมพงษ์ วงศ์ยะรา  ซึ่งเป็นนายทหารนอกราชการ อายุของท่าน ๘๐  ปีแล้ว ท่านคือลูกชายคนโตของ ท่านกำนันโกวิท วงศ์ยะรา มีที่พำนักอยู่ที่ริมคลอง ชลประทานที่เจ็ดเสมียนนี้เอง และท่านได้มาร่วมงานคนเจ็ดเสมียนพบกันครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 เมษายน 2552 ด้วย ดูเรื่องงานคนเจ็ดเสมียนพบกันครั้งที่2 คลิ๊กที่นี่

    ส่วน ด.ช.เที่ยง วงศ์ยะรานั้น ปัจจุบันนี้อายุน่าจะใกล้เคียง กับพันเอกสมพงษ์ เพราะว่าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดเจ็ดเสมียนในชั้นเดียวกัน และมีความเก่งกาจสามารถมากด้วยคือ วิชาที่สอบเลขคณิตคิดในใจนั้น ท่านทั้งสองได้คะแนน ๑๐ จากคะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน

(ขออภัยไม่มีภาพของคุณเที่ยง) 

    ปัจจุบันคุณเที่ยงไม่ได้ทำงานอะไรแล้วเพราะอายุมาก แต่ก็ยังแข็งแรงดี มีบ้านพักอยู่ที่ ซอย ๑๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลเจ็ดเสมียนนี้เอง คุณเที่ยงมีบุตรธิดาหลายคน แต่ละคนมีการงานทำที่ดีๆทั้งนั้น ผู้เขียนทราบข่าวว่า บุตรสาวคนหนึ่งของคุณเที่ยง รับราชการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  (สตง.) แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า อยู่สำนักงานที่เท่าใด ถ้าอยู่สำนักงานที่ ๓ (ส.๓) นครปฐม ก็คงจะทำงานอยู่ที่เดียวกับคุณอาของผู้เขียนนั่นเอง (คุณอารีย์ สุวรรณมัจฉา )

     คนสุดท้าย ด.ช.เฉลิม คงมั่น ในวันนั้น ต่อมาคือคุณครูเฉลิม ของนักเรียนโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนในรุ่นต่อ ๆ มา เป็นลูกชายของครูแฉล้ม คงมั่น คุณครูเฉลิม คงมั่น เป็นพี่ชายของ ปัญญา คงมั่น ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับบิดาของผู้เขียน เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นคุณครูเฉลิม เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดตึก ต่อมาได้ย้ายมาเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน และเป็นโฆษกแทนนายจำเนียร คุ้มประวัติ ในกิจการงานต่างๆของวัดและของตำบลเจ็ดเสมียนเรื่อยมาจนปัจจุบันนี้

 

   ครูเฉลิม ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นผู้ประชาสัมพันธ์ ในงานกฐินที่วัดเจ็ดเสมียน (บนศาลาใหญ่)เมื่อวันที่  ๓  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งนายวิรัช วงษ์วานิช และพี่น้องชาวเจ็ดเสมียนได้ร่วมทอดกฐินกันในครั้งนี้ คุณครูเฉลิม คงมั่น ผู้นี้นับว่าเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ ให้กับชุมชนของตำบลเจ็ดเสมียนมามากมาย เป็นคนเก่าที่น่ายกย่องอีกคนหนึ่งของตำบลเจ็ดเสมียน

      ท่านผู้อ่านบางท่าน  หรือท่านทั้งสามหากบังเอิญได้เข้ามาอ่านบทความนี้ อาจจะแปลกใจว่า ใครหนอช่างเก็บกระดาษเก่า ๆ แบบนี้เอาไว้ตั้ง 70 กว่าปี ผมจะบอกให้ว่า ก็ ครูหิรัญ สุวรรณมัจฉา   ครูของเด็ก ๆ เหล่านั้นไงละครับ...!

ครูหิรัญ สุวรรณมัจฉา ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อมีอายุได้ ๘๓ ปี ภาพนี้คุณครูหิรัญ ถ่ายกับน้องสาวคือคุณครูกรรณิกา ซึงเคยเป็นครูสอนที่โรงเรียนประชาบาลวัดเจ็ดเสมียนด้วย 

เขียนโดย ออรันดา ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้139
เมื่อวานนี้485
สัปดาห์นี้2113
เดือนนี้8280
ทั้งหมด1338164

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online