ชีวิตคล้ายดั่งนิยาย

ต่อจากตอน "เพื่อนที่ไม่ได้พบกันเลย"

ญาติพี่น้องของคุณรัมภามากันเกือบครบ เมื่อวันไปส่งกำนันโกวิทที่สนามบินดอนเมือง เพื่อไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ ผู้ที่เป็นบุตรชายหญิงยังขาดอีกเล็กน้อย ที่แน่ๆก็ขาดคุณรัมภาไปคนหนึ่ง

    ขอย้อนความกันสักหน่อยก่อน สำหรับคนที่ไม่ได้รู้จักคุณรัมภาเลย จะได้อ่านรู้เรื่องด้วย ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๙๖ ที่เราเรียนชั้นเดียวกันคือชั้น ป. ๔ ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนนั้น เราก็สนิทสนมกันตามประสาเด็กๆที่บ้านอยู่ใกล้ๆกัน

 

นี่คืออาคารของโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ที่เราเคยเรียนกันเมื่อตอนเด็กๆปี พ.ศ.๒๔๙๖  อาคารหลังนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ปัจจุบันนี้ถูกรื้อไปหลายปีแล้ว

    พอปี พ.ศ.๒๔๙๗ รัมภาเธอก็ไปอยู่กรุงเทพฯ ไปเรียนหนังสือชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนสตรีวรนาถ (สมัยนั้นไม่มีชั้น ป.๕ - ๖) ไปอยู่กับ พ.อ.สมพงษ์ซึ่งเป็นพี่ชาย ท่านเป็นนายทหารอยู่ที่สี่เสาเทเวศม์กรุงเทพฯ (ขออภัยลืมกรมกองของท่านเสียแล้ว)

    ส่วนทางด้านผู้เขียนนั้น เตี่ยของผู้เขียนพาไปสมัครเรียนชั้น มัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนสารสิทธิพิทยาลัย บ้านโป่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนชื่อดังที่สุดในสมัยนั้น วันเวลาก็ผ่านไป จนกระทั่งลืมไปแล้วว่ามีเพื่อนคนหนึ่งชื่อรัมภา

     ผู้เขียนเรียนที่โรงเรียนสารสิทธิพิทยาลัย ที่บ้านโป่งได้เพียงชั้น มัธยมปีที่ ๑ ได้ปีเดียวเท่านั้น ก็ต้องเผ่นกลับมาบ้านที่เจ็ดเสมียน เพราะว่าไม่มีความสบายใจ ที่ต้องอยู่กับบ้านคนอื่นที่ไม่ใช่บ้านของเรา (ติดตามรายละเอียดได้ในเรื่องนี้  คลิ๊กที่นี่)

ผู้เขียนเมื่อตอนเรียนที่โรงเรียนในตัวอำเภอ ภาพนี้ถ่ายมาเพื่อติดใบสุทธิ

    เมื่อผู้เขียนกลับมาเรียนที่โพธารามต่อนั้น จึงได้ทราบข่าวและได้พบเห็นคุณรัมภาบ้าง เมื่อเธอกลับมาเยี่ยมบ้านในวันเทศกาลหรือวันหยุดต่างๆ แล้วความสนิทสนมกันเหมือนเมื่อตอนเด็กๆก็กลับมาคงเดิม คุณรัมภากลับมาบ้านทีหนึ่ง ก็มักจะชวนผู้เขียนถีบจักรยานไปในที่ไกลๆจากเจ็ดเสมียน เช่นบ้านบางลาน  บ้านสิงห์ ท่ามะขาม ดอนทราย เป็นต้น

    เส้นทางสายในทางด้านริมแม่น้ำแม่กลอง ผู้เขียนกับคุณรัมภาก็ถีบจักรยานไปทางคลองข่อย เราเคยแวะเข้าไปเที่ยวในวัดตึก หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดตึกในสมัยนั้น เรียกดูหมอทำนายทายทักให้ซะเลยเมื่อท่านรู้ว่า คุณรัมภาเป็นบุตรสาวของกำนันโกวิท กำนันตำบลเจ็ดเสมียน 

   เราเคยถีบจักรยานไปดูค้างคาวแม่ไก่ตัวขนาดใหญ่ เกาะตามกิ่งต้นยางใหญ่ห้อยหัวลงมาในตอนกลางวัน ที่วัดบ้านซ่องดำมืดไปหมด (ได้ทราบว่าปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) พอถึงวันหยุดหรือเทศกาลที่มีวันหยุดยาวๆ คุณรัมภากลับมาจากกรุงเทพฯก็จะเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

เมื่อครั้งที่คุณรัมภายังเด็ก ก็อยู่ที่บ้านหลังนี้ซึ่งเป็นบ้านพักและที่ทำการของกำนันตำบลเจ็ดเสมียน และมักจะเป็นที่ประชุม สัมนากันบ่อยๆตลอดทั้งปี

   ต่อมาเมื่อผู้เขียนเรียนจบที่โรงเรียนในตัวอำเภอแล้ว จึงได้ขวนขวายเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ  ส่วนคุณรัมภานั้นเขาไปพักอยู่กับพี่ชายของเขาในวังสวนผักกาด ที่กรุงเทพฯ และเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีวรนาท สี่เสาเทเวศม์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้ว ผมได้ข่าวว่าเธอเรียนต่อไปอีกในชั้นเตรียมอุดม คือ ม.๗-๘ แต่จะได้เรียนหรือเปล่าผู้เขียนไม่ทราบ

   ที่ผู้เขียนบอกว่าเพียงได้แต่ข่าวนั้น ก็เพราะว่าในช่วงตลอดเวลาที่ผู้เขียนอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ติดต่อกันเลย เพราะว่าการติดต่อสื่อสารกันในสมัยนั้น จะทำได้ก็เพียงเขียนจดหมายเท่านั้น (ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะรู้ที่อยู่เพราะว่าคุณรัมภาบอกไว้ แต่ผู้เขียนก็ไม่กล้าเขียนจดหมายไปหา)ไม่เหมือนในสมัยปัจจุบันนี้ เด็กๆตัวเล็กตัวน้อย คนทุกวงการทุกอาชีพมีโทรศัพท์มือถิอกันหมด การติดต่อกันก็สะดวกกว่าในสมัยก่อนมาก

    เราจะบังเอิญพบกันบ้างก็ในเทศกาลหรือวันหยุด ที่ต่างคนต่างกลับบ้านที่เจ็ดเสมียนเท่านั้น ก็จะได้ขี่จักรยานไปเที่ยวกันเหมือนเมื่อสมัยเด็กๆอีก

เทศกาลสงกรานต์ที่เจ็ดเสมียน จะมีการแห่ดอกไม้ และแห่ขบวนต่างๆของแต่ละหมู่บ้าน แต่งตัวชุดแฟนซีกัน คนซ้ายมือคือน้องเล็ก (ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลเจ็ดเสมียน) ซึ่งเป็นน้องสาวของคุณรัมภา ภาพนี้ถ่ายที่บ้านกำนันโกวิท ซึ่งเป็นศูนย์รวมขบวนแห่ต่างๆจะมาตั้งต้นจากตรงนี้ แล้วจึงเดินไปที่สนามหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

   แล้วต่อมาไม่นานนัก เมื่อผู้เขียนกลับมาบ้านทีเจ็ดเสมียนอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้ข่าวจากเพื่อนๆที่อยู่เจ็ดเสมียนว่า คุณรัมภาแต่งงานเสียแล้ว

ผู้เขียนจำได้ว่าในเวลานั้นพวกเราเด็กรุ่นเดียวกันนั้นน่าจะมีอายุไม่ถึง ๒๐ ปี ดังนั้นเมื่อคุณรัมภาแต่งงานนั้นอายุก็ยังไม่น่าจะถึง ๒๐ ปี ผมได้ข่าวแล้วก็มาคิดว่า ทำไมคุณรัมภาจึงได้แต่งงานเร็วจริง และเธอแต่งงานกับใคร

    เมื่อผู้เขียนเรียนจบแล้วก็ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปตามเส้นทางของผู้เขียน ส่วนคุณรัมภานานๆผู้เขียนจึงได้ข่าวของเขาสักทีหนึ่ง ชีวิตของเธอหลังแต่งงานแล้วเป็นชีวิตที่ยุ่งยากมาก (ได้ข่าวมาอย่างนั้น) เพราะเหตุว่าชีวิตในการแต่งงานครั้งแรกนั้น ประสบกับความล้มเหลว ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

    จากนี้ไปจึงเป็นการที่คุณรัมภาพูดคุยกับผู้เขียน ในวันที่มาพบกันที่บ้านของผู้เขียน หลังจากที่ไม่ได้พบกันเลยเป็นเวลานาน เพื่อสะดวกแก่การอ่านและการเข้าใจ ผู้เขียนจึงมาเรียบเรียงใหม่ไม่ให้วกวน และตัดเรื่องที่พูดเล่นกัน และคุยกันไปถึงเรื่องอื่นๆออกไปหลายตอน  ขอเชิญติดตามอ่านได้เลยครับ  ..... ผู้เขียน

สถานที่นั่งคุยกันนั้น มองออกไปข้างหน้าก็จะเห็นดังในภาพ

    คุณรัมภาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ระหว่างที่ชีวิตการครองเรือนครั้งแรกล้มเหลวนั้น เธอก็หวนกลับเข้ากรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหางานทำ  (ระหว่างแต่งงานครั้งแรก กลับมาอยู่ที่เจ็ดเสมียนกับสามี ซึ่งเป็นคนตำบลใกล้เคียงกับเจ็ดเสมียน)

   เมื่อคุณรัมภาได้งานทำที่กรมเจ้าท่าแล้ว โดยเป็นเพียงพนักงานชั้นผู้น้อย รายรับจึงได้น้อยไม่พอเพียงกับรายจ่าย ที่จะต้องใช้จ่ายออกไปแต่ละเดือน เธอจึงได้ขวนขวายหารายได้อีกทางหนึ่ง โดยใช้ความสามารถพิเศษทางด้านการร้องเพลง ไปรับจ้างร้องเพลงตามสถานที่ต่างๆของคนกลางคืน (ผู้เขียนก็เพิ่งจะรู้ว่าคุณรัมภานั้นเป็นนักร้องอาชีพด้วย )

    คุณรัมภาเป็นคนสวยงามเปล่งปลั่ง ประกอบด้วยน้ำเสียงที่ร้องเพลงของนักร้องรุ่นเก่าๆได้ไพเราะจับใจ ในขณะที่ร้องเพลงขับกล่อมแขกอยู่ในสถานที่ ของนักท่องเที่ยวกลางคืนนั้น ก็ได้รับรางวัลจากผู้ที่ชื่นชอบนักร้องคนนี้เป็นพิเศษ โดยมีผู้มอบรางวัลเป็นเงินสดติดพวงมาลัยคล้องคอ ในคืนหนึ่งๆเป็นเงินมากมาย

   รายได้ของคุณรัมภาในขณะนั้นจึงเป็นรายได้ที่ดี เงินที่ได้มาจึงเป็นเงินสำหรับเลี้ยงตัวเองในตอนนั้น ชีวิตและความเป็นอยู่จึงดีขึ้นมาก

   ถึงอย่างไรคุณรัมภาก็ยังทำงานที่กรมเจ้าท่าที่เดิม แม้จะอดหลับอดนอนขนาดไหน เธอก็ไม่ได้คิดจะลาออกมาร้องเพลงเพียงอย่างเดียวเลย แม้กระทั่งมีผู้สร้างภาพยนตร์รายหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกับ พ.อ.สมพงษ์ วงศ์ยะรา ซึ่งเป็นพี่ชาย

   ได้มาติดต่อขอเธอให้ไปแสดงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง  แต่คุณรัมภาได้ปฏิเสธไป มิฉะนั้นครั้งหนึ่งในชีวิตของคุณรัมภาคงได้เป็นดารา และเส้นทางในชีวิตคงจะเป็นไปอีกแบบหนึ่งอย่างแน่นอน

สถานที่นั่งคุยกันในวันนั้นก็คือ ตรงพื้นปูนซิเมนต์ว่างๆนี้เอง 

   ชีวิตก็ดำเนินอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งไม่นานมานี้ที่คาเฟ่แห่งหนึ่ง (คุณรัมภาวิ่งรอกร้องเพลงหลายแห่ง) ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวของคนกลางคืนโดยเฉพาะ ที่สามเหลี่ยมดินแดงกำลังจะปิด เพราะว่าเป็นเวลาตี ๒ กว่าๆเข้าไปแล้ว

   ขณะที่คุณรัมภากำลังร้องเพลงขับกล่อมแขก ซึ่งจะเป็นเพลงสุดท้ายสำหรับคืนนี้ของสถานที่นี้ ด้วยเสียงอันเจื้อยแจ้วด้วยเพลง “เพื่อคุณ” ของคุณรวงทอง ทองลั่นทม นักร้องคนโปรดของเธอ
“ขอฝากเพลงนี้เพื่อคุณ ....”

   ถ้ามีใครสักคนหนึ่งที่เป็นคนช่างสังเกต จะเห็นได้ว่ามีแขกของสถานบันเทิงแห่งนี้คนหนึ่ง มานั่งฟังเพลงที่คุณรัมภาร้อง คอยปรบมือเสียงดังเหมือนเป็นการให้กำลังใจ เมื่อเสียงเพลงนั้นๆจบลง และเขาจะลุกเดินจากโต๊ะที่นั่งอยู่ ไปที่หน้าเวทีเพื่อให้รางวัลกับคุณรัมภาเป็นประจำทุกคืนที่มานั่งฟัง

   เขาคนนั้นคือคุณวิโรจน์ เศรษฐีหนุ่มหน้าตาดี ผิวขาวสูงโปร่ง คุณวิโรจน์เป็นทายาทของเศรษฐีที่ดินแถวๆหัวหมาก บางกะปิ และในคืนนี้ก็เช่นกัน คุณวิโรจน์เศรษฐีหนุ่มจากหัวหมากบางกะปิ

  เดินจากโต๊ะที่นั่งเป็นประจำด้านหลังสุดในเงามืด ออกมามอบพวงมาลัยติดแบ๊งค์แดงๆนับสิบใบ ในขณะที่คุณรัมภากำลังร้องเพลงอยู่ เธอย่อตัวก้มลง แล้วเขาก็สวมพวงมาลัยนั้นแล้วพูดเบาๆว่า “ผมชอบคุณนะครับ”

  ก่อนงานเลิกในคืนนั้น เขาก็ยังดักพบกับคุณรัมภาอีก เพื่อขออาสาไปส่งเธอที่บ้าน แต่คุณรัมภาปฏิเสธ เพราะว่าเธอจะเดินทางกลับบ้านโดยแท๊กซี่ขาประจำทุกวัน

   เป็นเช่นนี้นานมาแล้วที่เป็นลักษณะอย่างนี้ ทำให้คุณรัมภาคิดถึงเรื่องของชายคนนี้ด้วยความเบิกบานใจ การที่ได้พูดคุยกันหลายครั้งหลายหนนั้น ทำให้คุณรัมภาได้รู้เรื่องราวของคุณวิโรจน์มากพอสมควร

    และมีความพอใจเมื่อได้รู้ว่าเขามีฐานะดี และสุภาพเรียบร้อยถ้าได้ร่วมหอลงโรงกัน ตามคำที่คุณวิโรจน์เคยขอแต่งงานบ่อยๆ ก็คิดว่าจะเลี้ยงดูกันไปตลอดรอดฝั่งแน่ 

  เวลาที่เขามาเที่ยวที่คาเฟ่หลายแห่ง ที่คุณรัมภาวิ่งรอกไปร้องเพลงนั้น เขาจะขับรถเบ๊นซ์ของเขา ตามไปเป็นกำลังใจให้ทุกแห่ง คุณรัมภาคิดเหมือนเข้าข้างตัวเองว่า   

   “ถ้าเขาไม่ได้ชอบเราจริงและมีเงินจริงคงจะตามไปไม่ได้ทุกที่ และจะเที่ยวอย่างนี้ไม่ได้ทุกวันหรอก”

  ความสนิทสนมเริ่มมากขึ้น เขาเป็นคนคุยสนุก มีปัญหาทุกเรื่องคุยได้ ปรึกษาได้ คุณรัมภาซึ่งได้รับแต่ความว้าเหว่มานาน ไม่มีเพื่อนคุย เพื่อนคู่คิด อยู่ตัวคนเดียวมาตลอดตั้งแต่มีปัญหาในชีวิตคู่กับสามีคนแรก จึงเริ่มมีใจเอนเอียงไปทางเขาบ้างแล้ว

   ดังนั้นในเวลาต่อมาเธอจึงได้เริ่มไว้ใจ และมีหัวใจเอนเอียงไปทางเขาจนหมด ไม่นานนักคุณวิโรจน์จึงขอคุณรัมภาแต่งงาน เมื่อได้แต่งงานกันเรียบร้อยแล้ว คุณวิโรจน์ก็ให้คุณรัมภาเลิกร้องเพลงเสียโดยเด็ดขาด โดยให้ไปทำงานที่กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นงานหลัก ของคุณรัมภาเพียงอย่างเดียว โดยมีเขาคอยขับรถเบ๊นซ์ไปรับไปส่งทุกวัน โดยไม่เบื่อ

   “ในตอนที่เราทำงานที่กรมนะ เป็นหน้าห้องของท่านอธิบดี มีแต่คนคอยจีบเรา พวกสาวๆด้วยกันก็อิจฉา พี่โรจน์ ก็คอยหึงเรา ไอ้เรื่องหึงเนี่ยนะมันน่าเบื่อจริงๆ

   เมื่อเราแต่งงานกับพี่โรจน์ได้ไม่นาน ก็รู้สึกว่าชีวิตเราไม่มีอิสระเหมือนแต่ก่อนเลย แต่จะทำไงได้คนเราก็จำเป็น ต้องมีคู่ครองไว้ดูแลกันเมื่อยามแก่ ”

   คุณรัมภาคุยให้ฟังแล้วหัวเราะ โดยคุณวิโรจน์นั่งยิ้มอยู่ข้างๆ

   “ต่อมาไม่นานเราก็ทำใจได้ เรื่องเล็กๆน้อยๆไม่ค่อยเก็บมาเอามาเป็นอารมณ์นัก เราจึงปล่อยวางมันไปบ้างโดยการทำเฉยๆ  ถ้าพี่โรจน์แกจะหึงหวงเราก็เป็นสิ่งที่ดีแปลว่าเขารักเรา เมื่อแกว่าอะไรมาเราก็ทำเฉยๆเสีย  ” คุณรัมภาพูดพลางยกน้ำขึ้นดื่ม

   “แต่บางทีแหม..!  มันก็มากเกินไปยกตัวอย่างเช่น เป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ผู้อำนวยการกองแกไปปักษ์ไต้ แล้วแกก็ซื้อร่มมาฝาก พอพี่โรจน์แกรู้เรื่องเท่านั้นแหละ พูดกันไปมาจนกลายมาเป็นเรื่องใหญ่จนได้"

   "พูดจากันไม่รู้เรื่อง บอกอะไรก็ไม่เชื่อเรื่องหึงนี่สุดยอดเลย ในที่สุดก็มีปากมีเสียงกันใหญ่โต เกิดเรื่องแบบนี้ทีไร ก็คิดถึงบ้านเราที่เจ็ดเสมียน"

บ้านที่คุณรัมภาเคยอยู่ ในปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่แต่ทรุดโทรมลงไปมากแล้ว "คิดถึงบ้าน คิดถึงพี่ๆน้องๆ คิดถึงเทศกาลงานต่างๆที่เจ็ดเสมียน"

    คิดถึงพี่ๆน้องๆและเพื่อนฝูง ที่ไม่ค่อยได้พบกันเป็นเวลานานๆ อยากกลับบ้านว่ะเก้ว (เขาเรียกผู้เขียนอย่างนี้จนกระทั่งเดี๋ยวนี้) ในบั้นปลายของชีวิตนี้ก็อยากกลับไปอยู่ที่เจ็ดเสมียนบ้านเราอย่างเงียบๆ และอยู่อย่างง่ายๆ ” 

   คุณรัมภาน้ำตาซึมเมื่อพูดถึงเจ็ดเสมียนและญาติพี่น้อง คุณวิโรจน์นั่งเงียบไม่ได้พูดอะไรขึ้นมา คุณรัมภาจึงพูดต่อ

  “ทุกครั้งพอเขารู้ตัวว่าทำผิด ก็มาพูดกับเราดีทำตัวดีขอโทษเรา เพราะกลัวว่าเราจะหนีไป เราก็ถอนหายใจ เฮ้อ...! ไม่รู้จะทำอย่างไร "

  "ไหนๆก็เดินทางกันมาถึงเพียงนี้แล้ว ก็เลยคิดว่าจะโกรธกันไปทำไม จะมามัวทำเป็นงอนกันไปมาสักสามสี่วัน แล้วก็ดีกัน แบบแต่ก่อนนั้นไม่เอาแล้ว

ก่อนจะจบ "ชีวิตคล้ายดั่งนิยาย " นี้ ขอนำภาพมาให้ชมอีกครั้งหนึ่ง  คุณวิโรจน์ คุณรัมภา และผู้เขียน ขณะที่นั่งคุยกันที่ในสวนหลังบ้าน ของผู้เขียนเอง

   ก็อยู่กันไปอย่างนี้แหละมีกินมีใช้ไม่ขัดสน ทุกอย่างนี้เราเลือกแล้ว เราเลือกของเราเอง คนเราเนี่ยนะความสุขมันอยู่ที่ใจนะเก้ว เชื่อไม๊..!  “ 

    คุณรัมภาขอตัวกลับเมื่อบ่ายมากแล้ว และบอกว่าบ้านเก้วมาง่ายถ้าผ่านมาเมื่อไร ก็จะแวะเข้ามาเยี่ยมเยือนอีก

 

   ผู้เขียนก็บอกว่า ยินดีต้อนรับเพื่อนเก่าเสมอ ผ่านมาก็แวะมาแล้วกัน...!

นายแก้ว ผู้เขียน ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้477
เมื่อวานนี้746
สัปดาห์นี้2838
เดือนนี้9096
ทั้งหมด1328430

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online