คนเก่าเจ็ดเสมียน ๑

  ไม่ใช่ภาพทายปัญหาแต่เป็นภาพคนเก่าของตำบลเจ็ดเสมียน ที่บางคนอาจจะไม่รู้จัก

    ภาพคนเจ็ดเสมียนในสมัยเมื่อเกือบ  ๕๐ ปีมาแล้ว มาช่วยงานบวชของนายแดง (นายชูชาติ เทพหัส) บุตรชายของป้าม่อมขายปูน ที่วัดเจ็ดเสมียน (ถ้าต้องการดูภาพให้ชัดกว่านี้กลับไปดูภาพนี้ที่ อัลบั้มภาพในอดีต จะขยายได้ชัดเจนมากกว่านี้ )

     ภาพต่างๆที่นำมาลงในเวบ เจ็ดเสมียนนี้ บางภาพที่ไม่ได้มีจุดที่น่าสนใจอะไร ก็จะลงไปทั้งภาพแล้วก็บรรยายภาพตามที่เห็นในภาพนั้น ในตอนนี้มาเห็นว่าภาพบางภาพนั้นมีจุดที่น่าสนใจอยู่ในภาพหลายจุด ที่พอจะขยายตรงจุดนั้นแล้วนำมาเสนอได้ จึงได้คิดทำขึ้นมา

   ทั้งนี้เพื่อท่านผู้ชมจะได้เห็นภาพที่ไม่เคยได้เห็นหรือเห็นไม่ชัด ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับท่านที่ชอบของเก่า ภาพเก่า และเรื่องราวเก่าๆของชาวเจ็ดเสมียนทั้งหลาย ภาพแบบนี้แหละที่จะเป็นตัวเล่าเรื่องให้ได้รู้เรื่องราวในอดีตได้มากขึ้น

   สำหรับภาพนี้เป็นภาพที่ขยายออกมาแล้วได้ภาพที่ชัดพอสมควร ถึงขนาดมองออกว่ามีใครบ้างในภาพนี้ ผมในฐานะผู้บรรยายก็จะบรรยายเท่าที่รู้มาเท่านั้น ส่วนท่านผู้ใดที่รู้เรื่องราวของท่านที่อยู่ในภาพนี้ มากกว่าที่ผมบรรยายมานี้ ถ้าจะส่งข้อความมาบอกบ้างก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยส่งมาที่   This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

   คนเก่าเจ็ดเสมียนคนแรกในภาพนี้คือคนที่ยืนอยู่ทางซ้ายสุดของภาพ เห็นหน้าขาวๆนั้น คือป้าไต้โม้ย ในอดีตท่านก็อยู่ในห้องแถวตลาดเจ็ดเสมียน เป็นชาวเจ็ดเสมียนอย่างแท้จริง ผมจำได้อย่างลางเลือนว่าห้องของท่านอยู่ติดหรือใกล้กับร้านไทยเจริญ ของเฮียเล็กนั่นเอง (คงไม่ผิดไปมากกว่านี้)

 

  ร้านไทยเจริญในปัจจุบันนี้ยังอยู่ แต่ไม่ได้ตัดเย็บเสื้อผ้าแล้ว เฮียเล็กแกไปทำโรงสีข้าวชื่อไทยเจริญ ป้าบ๊วยซึ่งเป็นแม่ของเฮียเล็ก จึงดูแลร้านแทนจนเดี๋ยวนี้

   ท่านผู้อ่านที่เพิ่งรู้จักตลาดเจ็ดเสมียน โดยการโหม...โปรโมตตลาดเจ็ดเสมียนให้เป็นตลาด ๑๑๙ ปีขึ้นมา  หรือท่านที่รู้จักเจ็ดเสมียนมานานพอสมควรแล้ว ก็รู้แต่เพียงว่าในตลาดเจ็ดเสมียนในอดีตนั้น มีร้านทองอยู่ร้านหนึ่ง คือร้านของนายซุ่ย นางอิน

  นายซุ่ย (ซ้าย) เจ้าของร้านทองที่ตลาดเจ็ดเสมียนในอดีต

    และอาจจะมีบางท่านที่รู้มากกว่านี้ คือที่ตลาดเจ็ดเสมียนมีร้านทองนอกจากร้านนายซุ่ยแล้ว ยังมีร้านทองของนายปอสื่ออีกร้านหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดกับร้านของนายซุ่ย และได้เลิกกิจการไปหมดทั้งสองร้าน โดยหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทนแล้ว
    คนที่รู้อย่างนี้มีน้อยคน โดยมากจะรู้เพียงว่าตลาดเจ็ดเสมียนนี้มีร้านทองเพียงร้านเดียวคือร้านทอง ง่วนหลีเอง ของนายซุ่ยนางอินเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ผมจะบอกต่อไปนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านคิดไม่ถึงก็เป็นได้

     เมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็กๆ และอยู่ที่ห้องแถวในตลาดเจ็ดเสมียนนั้น ตลาดเจ็ดเสมียนทั้งสองแถวมีกี่ห้อง และมีใครเป็นเจ้าของห้องนั้นบ้างผมจะรู้จักหมด เพราะว่าลูกๆหลานๆของเจ้าของห้องนั้นๆ จะเป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียนที่วิ่งเล่นกันอยู่ทุกวัน

    ห้องของป้าโม้ยที่อยู่ติดๆกับร้านตัดเสื้อผ้า ไทยเจริญนั้น ผมจำได้ว่า เป็นร้านขายทองอีกร้านหนึ่งในอดีตของตลาดเจ็ดเสมียน  รับซื้อทองและของมีค่าอื่นๆ เช่นเดียวกับร้านนายซุ่ยอีกด้วย

  ป้าโม้ยผู้เป็นเจ้าของร้านเคยทักทาย และคุยกับผมบ่อยๆเมื่อผมเดินผ่านหน้าร้าน ผมเคยเห็นในร้านของป้าโม้ยในเวลานั้น มีตู้โชว์แบบที่ร้านทองเก่าๆเขามีดูเหมือนว่าจะทาด้วยสีฟ้าอ่อนๆ และมีอุปกรณ์ในการทำทอง ตาชั่งสำหรับชั่งทอง เครื่องเหยียบเป่าลมเป็นหีบเล็กๆสำหรับเป่าลมขึ้นมาในขณะที่หลอมทอง และอุปกรณ์อื่นๆอีกมาก

   ในตอนที่ผมเห็นนั้น ร้านของป้าโม้ย เป็นลักษณะร้านทองที่ซบเซาแล้ว หรือบางทีอาจจะเพิ่งเลิกกิจการไปใหม่ๆ ผมคิดว่าร้านทองของป้าโม้ยนั้นคงจะเลิกกิจการก่อนร้านนายซุ่ยเสียอีก

   ป้าไต้โม้ย (นั่งหน้าขวา) ในวันงานแต่งงานของบุตรสาวคนหนึ่ง มองในภาพแล้วผู้เขียนไม่รู้จักใครเลย ป้าโม้ยคงไปจัดงานที่อื่นไม่ใช่ที่เจ็ดเสมียนเป็นแน่

    ชีวิตก่อนหน้าของป้าโม้ยนั้นเป็นมาอย่างไร ผมไม่ทราบเพราะว่าในขณะนั้นผมยังเด็กอยู่ และคงไม่ต้องถึงขนาดไปสืบเสาะเรื่องราวเก่าๆของป้าโม้ยมาเสนออีกด้วย
    ดังนั้นชีวิตในตอนหลังที่ผมเคยรู้เคยเห็นนี่ ป้าโม้ยได้แต่งงานกับครูประวิทย์ ไทยแช่ม ครูโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน บ้านเดิมของครูประวิทย์นั้นอยู่ที่คลองบ้านใหม่ ใกล้ตลาดโพธาราม เมื่อได้แต่งงานกันแล้วก็มาอยู่ที่ห้องแถวตลาดเจ็ดเสมียนอีกต่อมาเป็นเวลานาน

 

 ครูประวิทย์ ไทยแช่ม ไปทัศนาจรที่นครนายก เมื่อ ๕๓ ปีมาแล้ว

      ป้าโม้ยมีบุตรกับครูประวิทย์เป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวเท่านั้น คือคุณ เกษมศรี ไทยแช่ม (ติ๋ม ) เป็นเพื่อนกับครูปราณี ซึ่งเป็นน้องสาวของผม ปัจจุบันเป็นพยาบาลวิชาชีพประจำอยู่ที่โรงพยาบาลโพธาราม และมีบ้านอยู่ที่ริมถนนสายเจ็ดเสมียน – หนองบางงู อยู่ใกล้ๆบ้านครูตลับนั่นเอง

 

   บุตรสาวของป้าไต้โม้ย คือคุณเกษมศรี (ติ๋ม) เมื่อสมัยเป็นวัยรุ่นอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน

   ผมต้องขอโทษท่านผู้ที่ติดตามอ่านด้วย ที่เรื่องของป้าโม้ยดูเหมือนว่าจะไม่ละเอียดมากนัก ที่เป็นดังนี้เพราะเหตุว่า ป้าโม้ย ไม่มีลูกชาย จึงทำให้ผมและพรรคพวกไม่ได้สนิทสนมกับครอบครัวนี้เป็นพิเศษ จึงไม่ได้รู้เรื่องอะไรมากนัก.

    คนถัดมาที่อยู่ข้างหน้าคนผมขาวๆนั้น ผู้เขียนต้องขอโทษด้วยที่ไม่ทราบจริงๆว่าคุณป้าคนนี้คือใคร พอจะมีใครบอกได้บ้างไหมครับ ดังนั้นขอผ่านไปก่อนก็แล้วกัน
 
   คนต่อมาที่ยืนข้างหลังคนผมขาวนั้นคือ ป้าแจ่ม กุลบุปผา เป็นแม่ของ นาวาโท ประมูล กุลบุปผา  เพื่อนสนิทเมื่อตอนเด็กๆของผมเอง ในภาพนี้ป้าแจ่มก็มาช่วยงานบวชนาคนายแดงกับเขาด้วยเหมือนกัน

 

   งานบวชพระของนายแดง

   ป้าแจ่มเป็นคนรูปร่างเล็กจึงค่อนข้างจะเตี้ยไปสักหน่อย ป้าแจ่มกับแม่ของผมและป้าม่อมขายปูนนั้น เป็นพรรคพวกเดียวกันสนิทกันมาก จริงๆแล้วคนในตลาดที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันก็จะสนิทกันและไปมาหาสู่กันเสมอ สำหรับป้าแจ่มนั้นเมื่อเวลาที่แกว่างๆ แกชอบมากินหมากที่บ้านผม คุยกันไปบ้วนน้ำหมากใส่กระโถนเล็กๆไป ปากงี้แดงเถือก

  นายชูชาติ เทพหัส (แดง) คือผู้ที่บวชในครั้งนั้น ปัจจุบันอายุเกือบ ๗๐ ปีแล้ว

      สามีของป้าแจ่มชื่อลุงเกีย ๆนี้เป็นเพื่อนกับบิดาของผมมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ที่เขาทำงานอยู่ที่โรงสีไฟเจ็ดเสมียน เรื่องราวของเขาที่บิดาของผมบันทึกไว้รวมกับเพื่อนคนอื่นๆด้วย  ในครั้งนั้นเมื่อมีการย้ายศาลตาผ้าขาว จากกำแพงโบสถ์วัดเจ็ดเสมียน ซึ่งแต่เดิมศาลตาผ้าขาวอยู่ตรงประตูทางเข้าโบสถ์ ด้านทางทิศตะวันออก แต่เนื่องจากมีการสร้างโบสถ์ใหม่และทำกำแพงโบสถ์ เมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว เข้าก็เลยอัญเชิญศาลตาผ้าขาวย้ายมาอยู่ที่ศาลสร้างใหม่ ตรงข้างถนนหลังสถานีรถไฟแล้วก็อยู่เรื่อยมาดังในปัจจุบันนี้

ลุงเกีย(ซ้ายสุด) ป้าแจ่ม ยืนอยู่ตรงกลางรูปร่างเล็กๆ ถ่ายที่สนามบินดอนเมืองเมื่อวันที่ไปส่งลูกชายคือ พี่ประกาศ (พี่ชายของประมูล) และภรรยากลับไปสหรัฐอเมริกา ในภาพนี้มีคนที่สำคัญคนหนึ่งของเจ็ดเสมียนไปส่งพี่ประกาศที่สนามบินดอนเมืองด้วย ท่านเป็นใครจะนำเรื่องมาเล่าในภายหน้า.

    เมื่อลุงเกียสามีของป้าแจ่มในเวลานั้น มีอายุมากแล้วจึงรับเป็นคนเฝ้าดูแล เก็บ ปัด กวาด ศาลตาผ้าขาวแห่งใหม่นี้ จนกระทั่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่าที่ศาลตาผ้าขาวนั้นใครเป็นผู้ดูแลอยู่

   ในสมัยก่อนนั้นนอกจากลุงเกียซึ่งเป็นสามีของป้าแจ่ม จะทำงานที่โรงสีเจ็ดเสมียนแล้ว ป้าแจ่มแกก็ทำขนมจีนออกขายในวันที่มีตลาดนัดด้วย ร้านของแกที่ขายเป็นประจำก็คือที่โคนต้นก้ามปูใหญ่กลางตลาดนั่นเอง

 

ต้นก้ามปูใหญ่ อยู่กลางตลาดและอยู่ตรงหน้าห้องแถวของผู้เขียน โคนต้นก้ามปูนี้จะมีร้านไม้ดังที่เห็นในรูป เป็นที่วางหาบขนมจีนของป้าแจ่ม ภาพที่พอจะเห็นต้นก้ามปูใหญ่ต้นนี้หาไม่ได้เลย จึงต้องเอาภาพนี้มาลงอยู่บ่อยๆ เด็ก ๒ คนที่ยืนอยู่นี้คือ น้องๆของผู้เขียนเอง โตขึ้นมาแล้วก็รับราชการครูทั้งสองคน และจะเกษียรอายุราชการพร้อมกันในเดือนกันยายน ปี ๒๕๕๔ นี้ 


   เกี่ยวกับเรื่องขนมจีนแล้ว ป้าแจ่มนี่ถือว่าสุดยอดเจ้าอร่อยของเจ็ดเสมียนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนราดด้วยน้ำยาร้อนๆควันฉุย หรือน้ำพริกที่เดือดปุดๆอยู่บนเตา ของป้าแจ่มนี่อร่อยเด็ดขาด
   ในตอนหลังๆที่ผมไปจากเจ็ดเสมียนแล้ว เมื่อมีโอกาสมาเยี่ยมบ้านถ้าหากว่าตรงกับวันมีนัดพอดี ก็จะต้องกินขนมจีนของป้าแจ่ม เป็นอาหารมื้อเช้าซึ่งอดไม่ได้จริงๆ  ป้าแจ่มเห็นผมก็จะต้องทักผมก่อนเสมอ 

   “ ไอ้เก้ว มึงมาเมื่อไหร่วะ มึงไปอยู่กรุงเทพฯ มึงโตขึ้นเยอะเลยนี่หว่า ” แกทักผมเร็วปรื๋อ เพราะว่าป่าแจ่มแกเป็นคนพูดเร็วมาก และหมากก็อยู่ในปากแกด้วย ถ้าไม่ตั้งใจฟังดีๆบางทีก็ฟังไม่รู้เรื่องเหมือนกัน

   ป้าแจ่มแกหยิบจับ (ขนมจีนจะแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆแบนๆไว้ เรียกว่า จับ) ขนมจีนใส่จานให้ผม เพราะว่าแกรู้ว่าผมต้องกินเท่านั้นเท่านี้ แล้วป้าแจ่มแกก็ราดน้ำพริกให้ผมเสียชุ่มโชกเป็นพิเศษ แล้วก็บอกผมว่า “มึงจะเอาผักอะไรมึงก็หยิบเอา ” แล้วแกก็หันไปหยิบขนมจีนให้ลูกค้าที่รออยู่อีกหลายคน
   ตรงนี้แหละที่ผมชอบมาก หยิบจานขนมจีนที่ป้าแจ่มแกราดน้ำพริกให้เสียชุ่มโชกมาแล้ว ก็จัดการหยิบหัวปลีดิบที่หั่นเป็นฝอยไว้แล้วในกะละมังใหญ่ ที่มีผักหลายชนิดอยู่เต็ม เอาโปะลงไปในจานขนมจีน

   แถมด้วยใบแมงลักหยิบใส่ทับหน้าลงไปให้ดูมีสีสันเขียวๆบ้าง แล้วตักพริกขี้หนูป่นจากโถกระเบื้อง ที่ป้าแจ่มแกใส่พริกป่นเอาไว้ลงไปนิดหน่อย (ไม่ใช่พริกขี้นกนะครับ) พริกขี้หนูของป้าแจ่มนี้ แกคั่วเอง ตำเอง กินกับขนมจีนอร่อยมาก ไม่เผ็ดจัดเหมือนพริกขี้นกที่เผ็ดจัดกินไม่อร่อย
   เติมโน่นนิดนี่หน่อย แล้วผมก็เอาช้อนแบบโบราณที่เคลือบเป็นสีต่างๆ (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียว) สับๆเส้นขนมจีน แล้วก็คลุกเคล้าน้ำพริกที่ราดไว้ชุ่มโชก หัวปลีหั่น ใบแมงลัก พริกขี้หนูป่น เข้ากันดีแล้วก็ตักใส่ปากให้ได้รู้รสเสียก่อนว่ายังขาดอะไรอีก ถ้าชอบเค็มก็เติมน้ำปลาลงไป

   พอรสได้ที่ดีแล้วทีนี้ก็ตักเข้าปาก แหม..! อร่อยดีเหลือเกิน บางครั้งผมก็ซัดเสียสองจาน เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวที่มาเยี่ยมบ้านแต่ละครั้ง

   ป้าแจ่มเป็นคนคุยเก่ง และพูดเร็วดังที่ได้บอกมาแล้ว ขณะที่ผมกินขนมจีนที่หน้าร้านของแกๆก็จะคุยกับผมถึงลูกของแกคือ ประมูล (นาวาโท ประมูล กุลบุปผา) ซึ่งเป็นเพื่อนกับผู้เขียนในสมัยเด็กด้วย

   นี่คือป้าแจ่ม กุลบุปผา แม่ค้าขายขนมจีนชื่อดังในตลาดเจ็ดเสมียนในอดีต ที่ไม่มีใครที่อยู่เจ็ดเสมียนหรือตำบลใกล้เคียงเมื่อในอดีตจะไม่รู้จัก  มีหลายครั้งเมื่อตอนเด็กๆที่ผมไปหาประมูลที่บ้านในตอนเย็นๆ บางครั้งก็จะเห็นป้าแจ่มและลุงเกีย พร้อมด้วยคนอื่นๆอีกหลายคน ช่วยกันทำขนมจีนกันอย่างโกลาหล  เพื่อจะนำไปขายที่นัดเจ็ดเสมียน ในวันรุ่งขึ้น.... 


นายแก้ว ผู้เขียน     ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ 

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้478
เมื่อวานนี้343
สัปดาห์นี้1967
เดือนนี้8134
ทั้งหมด1338018

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online