สมบัติ สันติรงค์ยุทธ (หนุ่ย) ผู้จากไป

หนุ่ย (เมื่อยังเป็นเด็ก นั่งกลาง) และครอบครัวช่วยกันทำผักกาด หลังจากเลิกกิจการร้านทองแล้ว   

   เนื่องจากผมอยู่ห่างไกลจากเจ็ดเสมียนมาก จึงไม่ได้ข่าวของคุณสมบัติ สันติรงค์ยุทธ (หนุ่ย)เลยจนกระทั่งวันนี้เองน้องสาวที่อยู่ที่เจ็ดเสมียนโทรมาบอกว่า "เฮียหนุ่ยตายเสียแล้ว "

    แล้วก็คุยให้ผมฟังเรื่องของนายหนุ่ย ที่เสียชีวิตนี้อย่างคร่าวๆเท่านั้น กว่าผมจะรู้จากน้องสาวว่านายหนุ่ยเสียชีวิต ก็เป็นเวลาตั้งหลายวันมาแล้ว จนกระทั่งเขาเผากันเสร็จผมจึงได้รู้ เลยไม่ได้ไปแสดงความอาลัยและไปส่งนายหนุ่ยขึ้นสวรรค์เลย ถึงอย่างไรก็ตามผมก็ขอให้นายหนุ่ยจงไปสู่สรวงสวรรค์ และอยู่เย็นเป็นสุข ชั่วนิรันดร์กาล

 

สมบัติ สันติรงค์ยุทธ์ (หนุ่ย) เด็กเจ็ดเสมียนในอดีต

     เหตุที่ผมได้พบกับนายหนุ่ยเป็นครั้งสุดท้ายนั้น เรื่องมันเป็นอย่างนี้ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ผมมีโอกาสแวะเข้าไปที่เจ็ดเสมียนอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะมาคุยกับใครหลายๆคนที่เป็นคนเก่าแห่งเจ็ดเสมียน เช่นเจ๊ติ๋ว เจ๊กวย เฮียแก่เล็ก และคุณนิตยาบุตรสาวของอี๊น้อย ที่เป็นคนที่ผมนับถือในอดีต แต่ไม่ได้พบใครเลย จึงย้อนกลับมาที่หน้าร้าน "แม่กิมฮวย " ซื้อกาแฟเย็นอุษา ๑ แก้ว แต่อุษาเขาไม่เอาสตางค์ คะยั้ยคะยอเท่าไรก็ไม่เอา เห็นบอกว่าเฮียช่วยลงโฆษณากาแฟโบราณให้หนูมามากแล้ว ผมก็เลยบอกว่าไม่เป็นไรหรอกช่วยอะไรได้ก็ช่วยๆกันไป

    แล้วผมก็ผ่านบ้านกำนันโกวิท มองเข้าไปข้างในเห็นเงียบๆ ท่าทางจะไม่มีใครอยู่จึงได้เลยไป เพราะว่าไม่ได้มีธุระอะไรสำคัญ ถัดจากบ้านกำนันมานิดหน่อย ก็เป็นร้านขนมเค๊กมะพร้าวอ่อนชื่อร้าน "น้องทราย" ของอาจารย์ สุธีรา ซึ่งเป็นบุตรสาวของเจ๊กวยและได้เคยพบกันมาแล้ว เมื่อคราวที่เจ๊กวยและอาจารย์ไปเยี่ยมผมที่บ้าน สุพรรณบุรีเมื่อปีที่แล้ว วันนี้พอดีไม่อยู่คนที่ขายอยู่นั้นบอกว่า “อาจารย์อยู่ในบ้าน “

    ผมก็ถามว่า “หนูเป็นคนขาย หนูเป็นลูกสาวของอาจารย์หรือ ”  คนขายผู้นั้นตอบว่า “หนูเป็นคนขาย แต่ไม่ใช่ลูกสาวของอาจารย์หรอก หนูเป็นลูกบุญธรรมของอาจารย์ น่ะ” พร้อมกับบอกชื่อให้ผมด้วย

ที่หน้าร้าน"น้องทรายเบเกอรี่" มีป้ายอย่างนี้เป็นสำคัญ 

    คุยซักถามกันพอสมควรแล้ว ผมก็เลยซื้อเค๊กไป ๑ ปอนด์ราคา ๑๒๐ บาทแล้วก็กลับออกไป ผมดูนาฬิกาแล้วเห็นว่ายังมีเวลาอีกนิดหน่อย ที่จะไปทำธุระที่วัดบ้านเลือก ผมจึงคิดว่าไปหานายหนุ่ยมันหน่อย นานแล้วที่ไม่ได้พบกันเลย ผมขับรถออกมาเกือบถึงโรงพยาบาลแล้วมองไปทางซ้ายมือ เห็นนายหนุ่ยนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่หน้าร้านของเขาพอดี ผมจึงเลี้ยวรถลงไปจอดข้างๆร้าน

    หนุ่ยจ้องมองมาทางผมเมื่อผมและคุณหวาน ลงมาจากรถและเดินเข้ามาหาเขา เมื่อจำผมได้แล้วนายหนุ่ยดีใจบอกให้ผมนั่งก่อน แล้วเราก็ถามไถ่คุยกัน ถึงคนนั้นคนนี้อยู่เป็นเวลานาน

   ผมคิดย้อนไปเมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๑๑ ในปีนั้นผมได้ออกจากการทำงานที่การรถไฟแล้ว  และได้ไปทำงานหาประสบการณ์ที่ในป่าแถวๆอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยการเป็นเสมียน ที่โรงเลื่อยจักรแห่งหนึ่งในป่าตลาดหัวกุญแจ เพราะคิดว่าการเงินคงจะดีกว่าที่ทำงานอยู่ที่การรถไฟ เวลานั้นผมแต่งงานแล้วกับคุณหวานนี้แหละ แต่ยังไม่ได้รับเขาไปอยู่ด้วย เพราะว่าเราเพิ่งจะไปอยู่ใหม่ๆยังไม่มีที่อยู่เป็นที่เป็นทาง ก็เลยให้เขาอยู่ที่บ้านหลังวัดบ้านเลือกไปก่อน

    ปกติผมจะกลับมาหาภรรยาคือคุณหวานที่บ้านเลือกบ่อยๆ เพราะว่าในตอนนั้นคุณหวานได้ตั้งท้องบุตรชายคนแรกของผมพอดี การเดินทางจากอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อกลับมาที่โพธารามนั้นเป็นระยะทางที่ไกลมาก การเดินทางใช้เวลานาน

   มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเดินทางจากจังหวัดชลบุรีแต่เช้า มาถึงกรุงเทพฯแล้วก็นั่งรถไฟมาถึงเจ็ดเสมียน เย็นพอดี และตั้งใจว่าจะนอนค้างคืนที่บ้านแม่ที่เจ็ดเสมียนสักคืนหนึ่งก่อน  ในตอนเช้าพรุ่งนี้จึงจะไปที่บ้านเลือก  ถ้าจะเดินทางไปที่บ้านเลือกเลยในเย็นวันนั้นก็ไม่มีรถไปเสียแล้ว

    ผมหิ้วกระเป๋าเดินเข้าบ้านเจอแม่กับน้องๆ ได้นั่งคุยกัน สักประเดี๋ยวนายหนุ่ยก็เดินมาหาผมที่บ้าน ถามผมว่า “เฮียทำไมมามืดค่ำนักเล่า” ผมบอกว่าจะไปที่บ้านเลือก แต่มันค่ำเสียก่อนก็เลยไปไม่ทัน วันนี้จะนอนที่บ้านแม่คืนหนึ่งก่อน “  แล้วเราก็เลยคุยกันนานพอสมควร ในตอนหนึ่งนายหนุ่ยถามผมว่า “เฮียเก้วจะไปบ้านเลือกเลยหรือเปล่า ผมจะเอารถเครื่องไปส่ง ”

    ผมคิดว่าถ้าอย่างนั้นน่าจะไปเลยนะเมื่อหนุ่ยเขามีน้ำใจ เพราะเหตุว่าวันเวลาที่ลาเขามานั้นมาได้น้อยมาก ผมเลยบอกว่าถ้าหนุ่ยจะไปส่งเฮียก็ดีเหมือนกัน หนุ่ยไปเอารถมานะเฮียจะเข้าไปบอกแม่ก่อน สักครู่หนึ่งนายหนุ่ยก็ขี่รถจักรยานยนต์ ฮอนด้า สีเขียวคันเล็กๆประมาณ ๕๐ ซีซี.  ที่นิยมใช้กันในสมัยนั้นมารอผมที่หน้าบ้าน

    ผมรีบคว้ากระเป๋าเสื้อผ้าลูกเล็กๆขึ้นคร่อมรถของนายหนุ่ยทันที จากวันนั้นมาผมก็จำไม่ได้แล้วว่าได้พบกับนายหนุ่ยอีกหรือไม่ แต่ค่อนข้างจะแน่ใจว่าน่าจะไม่ได้พบกันอีกเลย เป็นเวลานานตั้ง ๔๐ ปีกว่าๆ 

    จนกระทั่ง เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นวันคนเจ็ดเสมียนพบกันเป็นครั้งแรก ผมกับหนุ่ยได้พบกันด้วยความดีใจ แต่คุยกันไม่นานเท่าไร ก็มีคนอื่นดึงไปคุยกับอีกคนหนึ่ง ผมคิดว่าอีกสักครู่จะมาคุยกับนายหนุ่ยอีก เมื่อกลับมาเดินหานายหนุ่ยไม่พบเสียแล้ว

    จากวันนั้นก็เป็นวันนี้แหละครับที่ผมได้เจอนายหนุ่ย และได้นั่งคุยกันเป็นเวลานานพอสมควร นายหนุ่ยบอกว่าจำได้ว่า คุณหวานก็เป็นนักเรียนโรงเรียนราษฎร์บำรุงวิทย์ เรียนอยู่ชั้นเดียวกับนายหนุ่ยด้วย จากนั้นเราคุยกันอีกนานจนใกล้เวลาที่เราจะไปเผาศพที่วัดบ้านเลือกจึงได้ลากลับไป และบอกว่ามาเจ็ดเสมียนครั้งต่อไปจะมาแวะอีก หนุ่ยบอก ได้เลย..ได้เลย ..!

    เมื่อนั่งคุยกัน ผมกับคุณหวานก็ไม่เห็นว่านายหนุ่ยจะเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร คงคุยกันเป็นปกติ แต่ว่าคนเรานั้นไม่มีอะไรแน่นอน การเกิดแก่ เจ็บตาย เป็นของธรรมดาสำหรับมนุษย์เรา อะไรๆก็เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน ดังเช่นหลายคนก็เป็นกันมาแล้ว

    ถึงอย่างไรก็แล้วแต่เป็นที่น่าเสียใจและเสียดาย เป็นอย่างมากที่นายหนุ่ยมาจากไปในเวลาอันไม่สมควร ก็ขอแสดงความเสียใจมาถึงครอบครัวของนายหนุ่ยด้วย ขอให้นายหนุ่ยจงไปสถิตสถาพรอยู่ในสรวงสวรรค์ มีความสุขสำราญตลอดชั่วกาลนาน......

 

จากซ้าย คนึง คุ้มประวัติ (จุ้ย), สมบัติ สันติรงค์ยุทธ์ (หนุ่ย), ศักดา วงศ์ยะรา (ศัก), คะนอง คุ้มประวัติ(เหม่ง) ณรงค์ ชาญชาติณรงค์ (ต๋อย) , สุรพงษ์ แววทอง (โห้), ทวี ทินตะกูล (วี) , ติดกับทวีนี้นึกไม่ออกเลยจริงๆว่าเป็นใคร ท่านผู้ใดทราบกรุณาบอกด้วย แก้ว สุวรรณมัจฉา (เก้ว) รังสฤษฐ์ ลักษิตานนท์ (สิทธ์) ระฆัง สุวรรณมัจฉา (บี้)

สำหรับแถวล่างนั้นจำได้เป็นบางคน รอท่านผู้ที่จำได้ดีบอกมาเสียก่อนจะดีกว่า และถ้าสังเกตุให้ดีเด็กสองคนที่มีหญิงสาวคนหนึ่งอุ้มนั้น เด็กทางด้านซ้ายของผู้ชมคือ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ในปัจจุบันนี้ กรรณิกา วงศ์ยะรา ไงล่ะครับ 

    ท้ายเรื่องเท่าที่ผู้เขียนทราบ  นายสมบัติ (หนุ่ย) สันติรงค์ยุทธ์  เป็นบุตรชายของนายซุ่ยนางอิน เกิดที่ร้านทองในตลาดเจ็ดเสมียน (ไม่ทราบ พ.ศ.ที่แน่นอน) เป็นน้องชายของเจ๊แด๊ว และมีน้องๆอีกหลายคน น้องรองลงมาจากนายหนุ่ยก็คือ อาจารย์ เต๊ะ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสยาม ถนนจรัญสนิทวงศ์

   นายหนุ่ยมีบุตรชายคนหนึ่ง รับราชการตำรวจประจำอยู่ที่ สถานีตำรวจเมืองราชบุรี และนายหนุ่ยนี้คิดว่าน่าจะเป็นเด็กเจ็ดเสมียนรุ่นเดียวกับ ระฆัง สุวรรณมัจฉา ศักดา วงศ์ยะรา สุเมธ วงษ์วานิช คะนอง คุ้มประวัติ และนิพนธ์ (พี่มาก)เมื่อมีครอบครัวแล้วได้ย้ายไปปลูกบ้านอยู่ที่ ใกล้โรงพยาบาลเจ็ดเสมียน จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อปลายเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ นี้เอง..ขอแสดงความอาลัยรักมา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งด้วย..!

 

เขียนโดย นายแก้ว ๑ สิงหาคม ๒๕๕๓     

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้651
เมื่อวานนี้594
สัปดาห์นี้2266
เดือนนี้8524
ทั้งหมด1327858

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

4
Online