การมาอยู่เจ็ดเสมียน ของนายหิรัญ

   ตลาดเจ็ดเสมียน แถวดั้งเดิม  

   บ้านของผมหรือห้องแถวที่ผมเคยอยู่ในตลาดเจ็ดเสมียน เป็นห้องแถวที่ปลูกขึ้นในสมัยที่ผมพอจะรู้ความแล้วคือ เริ่มปลูกสร้างโดยลงเสาเอกในวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ โดย นายโกวิท วงศ์ยะรา นายช่างที่ปลูกคือ นายจำปา ประเสริฐ หรือที่เรียกว่าช่างจำปา.

   ในขณะนั้นผมเพิ่งมีอายุได้ ๘ ขวบ เท่านั้นเอง จากนั้นต่อมาอีกไม่นาน คือเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๙๔ ตรงกับ แรม ๘ ค่ำเดือน ๘ ครอบครัวของผมก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ห้องแถวนี้เป็นวันแรก และในตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๔ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก

  เหมือนกับว่าเป็นการต้อนรับครอบครัวของผม อย่างชุ่มฉ่ำที่ได้มาอยู่ที่ห้องแถวแห่งนี้ ห้องแถวนี้ปลูกขึ้นทีหลังห้องแถวๆแรกหลายสิบปี น้องสาวคนสุดท้องของผม คือครูปราณี สุวรรณมัจฉา (รับราชการเป็นครู) ได้อยู่ที่ห้องนี้สืบต่อจากแม่ของผม  (นางสละ สุวรรณมัจฉา) ซึ่งได้เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ 

  ต่อมาครูปราณีได้ถูกย้ายไปเป็นครูสอนเด็ก ที่โรงเรียนในตัวเมืองราชบุรี จึงได้ไปซื้อบ้านที่ราชบุรี เพื่อสะดวกในการเดินทางไปโรงเรียน  ห้องแถวที่เคยอยู่นี้เลยไม่มีคนอยู่  จึงได้ขายห้องแถวห้องที่ ๘ นับจากทางซ้ายมา ที่อยู่กันมากว่า ๕๐  ปีนี้ ให้กับหลานตาอี่ไปเมื่อประมาณ ๔ ปีมานี้เอง

  ตาอี่ที่ขาด้วน ๑ ข้างต้องใช้ไม่ค้ำยันเวลาเดิน แกเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพครับ หลานตาอี่คนนี้ชื่อว่า คุณสอน คุณสอนนี้เป็นผู้ประกอบอาชีพในทางตั้งร้าน VDO ให้เช่า  ชื่อว่า “ตะวันออก  VDO” มีสาขามากมาย ในตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ดูเหมือนว่าก็มีอยู่ร้านหนึ่ง คุณสอนมาซื้อห้องของน้องสาวผมนั้น ไม่ได้ทำร้าน VDO เช่าหรอกนะครับ คงจะให้คนอื่นเช่าทำร้านเสริมสวยอีกต่อหนึ่ง ดังภาพที่ผมได้ลงไว้ที่นี่

 

        นี่คือห้องแถวที่เคยเป็นบ้านของครอบครัวผม ด้านซ้ายติดกับร้านตัดผมของนายชุ่ม ส่วนทางขวานั้นติดกับร้านถ่ายรูปของนายจำเนียร ปัจจุบันเป็นร้านเสริมสวย ถ่ายเมื่อ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ 

   พูดถึงตาอี่คนนี้แกมีบ้านอยู่เลยตลาดเจ็ดเสมียน ไปทางวัดสนามชัย แกมีอาชีพเลี้ยงเป็ด ที่เขาเรียกว่าเป็ดไล่ทุ่ง ตอนเช้ามืดแกก็จะต้อนเป็ดของแกแต่เช้ามืดซึ่งมีจำนวนมากมายหลายร้อยตัว เสียงเป็ดมันพูดคุยกันดังลั่นไปหมด เดินต้อนเป็ดมาเลี้ยง ทางทุ่งนาแถวหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

   ตอนเย็นแกก็จะต้อนเป็ดของแกกลับเข้าเล้า ซึ่งอยู่ที่บ้านของแก ตาอี่แกขาด้วนข้างหนึ่ง ใช้ไม้ค้ำเดิน แต่แกก็เดินเร็วกว่าพวกเราเสียอีก ข้อมูลของตาอี่ก็มีแค่นี้เอง เมื่อตอนเด็กผมเห็นแกบ่อยๆ แต่ไม่ได้ยุ่งกับแกเลยจึงขอเขียนถึงตาอี่เพียงเท่านี้ พราะว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

  ห้องแถวที่ผมและครอบครัวของผมอยู่กันนั้น อยู่ตรงกันข้ามกับร้าน ตาอู๋  ที่พวกเราเรียกกันว่า แป๊ะอู๋ มีอาชีพขายกาแฟ ขายขนม และขายของใช้เบ็ดเตล็ดในปัจจุบันนี้แก่เล็ก (คุณพิศิษฐ์ ชาญชาติณรงค์ ) เป็นผู้บริหารร้านแทนแป๊ะอู๋ หลังจากที่แป๊ะอู๋ ได้เสียชีวิตลงไปแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น

   ร้านกาแฟร้านนี้เป็นร้านที่เก่าแก่มาก จะว่าเป็นแห่งแรกของตลาดเจ็ดเสมียนก็ว่าได้ และก็ยังดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ผมเกิดมาผมก็เห็นร้านแป๊ะอู๋ นี้ขายกาแฟอยู่ก่อนแล้ว กาแฟของร้านแป๊ะอู๋นั้นเป็นกาแฟที่คนขายกาแฟปัจจุบันนี้เรียกว่ากาแฟโบราณนั่นเอง

   นายพิศิษฐ์ ชื่นณรงค์ (แก่เล็ก) บุตรชายของแป๊ะอู๋

   จะเล่าให้ฟังว่าร้านแป๊ะอู๋ นี้นอกจากขายโอเลี้ยง กาแฟ ขนมต่างๆ แล้ว ยังมีตู้เย็นตู้ใหญ่คงจะขนาดสัก ๕ คิวเห็นจะได้ ภายในตู้ก็จะแช่ของต่างๆ เหมือนร้านค้าทั่วไป  แต่ที่พวกเราชื่นชอบเป็นพิเศษคือ อ้อย อ้อยแช่เย็นครับ แป๊ะอู๋แกก็จะตัดอ้อยที่เป็นลำให้เป็นท่อนๆ ยาวท่อนละประมาณ ๕๐ ซม. แล้วก็ปอกเปลือกด้วยความชำนาญ นำมาแช่ไว้ในตู้เย็น แล้วพวกเราก็ไปซื้อกัดกินกัน ด้วยความหวานอร่อย ท่อนละ ๑๐ สตางค์ คุณคงคิดว่าก็ธรรมดา ไม่เห็นมีอะไรต่างจากตู้เย็นอื่นๆ เลย 

   มีครับ  ตลาดเจ็ดเสมียนในตอนนั้น ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย (ไฟฟ้าที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้ เริ่มมีตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๘) แล้วตู้เย็นของ แป๊ะอู๋ จะเปิดเครื่องแช่ของแช่เย็นอ้อยได้อย่างไร ก็ตู้เย็นของแป๊ะอู๋รุ่นนี้ใช้น้ำมันก๊าดครับ

  แป๊ะอู๋ คนที่เจ็ดเสมียนในสมัยเก่าต้องรู้จัก 

  วันหนึ่งผมเห็นแป๊ะอู๋เปิดปี๊ปน้ำมันก๊าดเติมให้ตู้เย็นของแกอยู่พอดีเลย ถ้าอยากรู้ว่าจริงหรือเปล่า ต้องไปที่ตลาดเจ็ดเสมียน ไปคุยกับคุณ แก่เล็ก หรือคุณพิศิษฐ์ ชาญชาติณรงค์ จะทราบเรื่องดียิ่งขึ้น

  ในตอนนี้ก่อนที่จะเอ่ยถึงเรื่องของพวกเราเด็กเจ็ดเสมียน ก็จะขอเล่าถึงเรื่องของผู้ใหญ่รุ่นพ่อแม่เราเสียก่อนว่า เขาเหล่านั้นอยู่กันตรงไหน เรื่องราวของเขาที่เกี่ยวกับเจ็ดเสมียนเป็นอย่างไรในเจ็ดเสมียนนี้ ตอนนี้ผมขอย้อนเรื่องราวไปเมื่อสมัยที่  พ่อของผมเข้ามาเกี่ยวข้องในตำบลเจ็ดเสมียนเป็นครั้งแรกก่อน และเกี่ยวข้องกับ กำนันโกวิท วงศ์ยะรา โดยตรงทีเดียว บันทึกของ นาย หิรัญ สุวรรณมัจฉา ในตอนนั้นมีดังนี้ (ถ้าข้อความอยู่ในวงเล็บ แปลว่า ผมเขียนอธิบายให้ท่านเข้าใจนะครับ)

ายหิรัญ สุวรรณมัจฉา เมื่อเป็นครู โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

      เช้าวันที่  ๑  พฤศจิกายน  ๒๔๗๘  ฉันรีบแต่งตัวถือร่มด้วย  วันนี้ฝนพรำตั้งแต่เช้าตรู่  เสื้อชั้นนอกคอตั้งเพิ่งจะตัดใหม่  ยังไม่เคยใส่เลย ต้องห่อกระดาษหนีบรักแร้  เพราะกลัวฝนจะเปียก เรียบร้อยแล้วก็กางร่มเดินมาตามถนนรถไฟ (จากโพธาราม) มุ่งไปทางไต้  ตำบลแห่งหน ของเจ็ดเสมียนจะอยู่ที่ใดเกิดมาก็ไม่เคยไป 

  รู้แต่ว่าเดินตามถนนรถไฟไปอีกสถานีหนึ่งก็จะถึง  ฉันอยู่โพธารามไม่เคยไปเที่ยวต่างถิ่นเลย  จึงไม่ค่อยกว้างขวาง  ครั้งนี้เพราะความจำเป็นก็เดินสุ่มไป  ตามทางมีพวกทำงานกุลี (คนงานของการรถไฟ) กำลังทำงานอยู่  ใจค่อยดีขึ้นหน่อยที่ยังพบคน  เออ ! น่าอนาถ คนที่ไม่เคยพบโลกภายนอก ก็คล้ายกับกบอยู่ในสระ มักสำคัญว่าสระของตัวใหญ่ยิ่งกว่าทุกอย่าง   “

  ฉันมาถึงโรงกุลี มองเห็นหลังคาขาวๆ ข้างหน้า  สำคัญเอาว่าเป็นหลังคาโรงเรียนแน่แล้ว  ก็แก้ห่อเสื้อนอกซึ่งร้อนเพราะถูกรักแร้หนีบขึ้นมาสวม ดึงกลีบที่ยับครั้งสองครั้ง  แล้วก็รีบเดินจวนใกล้ถึงโรงเรียน เห็นโรงเรียนหลังใหญ่สร้างจวนเสร็จ  ตระหง่านอยู่เคียงวัด หลังเล็กหน่อยอยู่หน้าหลังใหญ่ นั้นคือที่หมายของฉัน  นอกโรงเรียนหลังเล็กออกมาเป็นบ่อรถไฟ  แต่ตื้นและมีข้าวอันงอกงามขึ้นเสมอบ่า 

  ทั้งหน้าโรงเรียนและหลังโรงเรียนมีกอไผ่ ป่าไผ่ ไม้พันธุ์ต่างๆขึ้นอยู่เกะกะ ร.ร.เขาหันหน้าไปทางทิศไต้มีมุขยื่นออกมา หน้ามุขมีกอเข็มใหญ่และถนนปูนผ่านไปในวัด ฉันเดินเข้าเขตโรงเรียน หุบร่มสำรวมกิริยาเป็นอันดีแล้วก็เหยียบกระไดขึ้นโรงเรียน ขณะนี้เด็กนักเรียนกำลังเข้าเรียนกัน พอฉันไปถึงมีครูคนหนึ่งออกมาต้อนรับ อายุกลางคน รูปร่างล่ำสันหน้าตาดุดัน ผมหยิกหยักศก ลักษณะว่องไว ทันคน

  กำนันโกวิท วงศ์ยะรา และประวัติโดยย่อ ที่ติดไว้ที่ท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียน 

  บอกให้ฉันเข้าไปนั่งในห้องพักครูแล้วถามฉันว่า มีหนังสือส่งตัวมาจากอำเภอหรือไม่ ฉันก็ควักหนังสือที่ทางอำเภอโพธารามออกให้มาให้ดู เขาดูแล้วก็พูดว่า  “ ดีแล้วมาอยู่ที่นี่จะได้ช่วยเหลือกัน “  แล้วก็ไม่พูดอะไรอีกจับตามองฉันนิ่งเฉยอยู่ ภายหลังฉันจึงได้รู้ว่านี่คือครูใหญ่ชื่อ  นาย กวย วงศ์ยะรา (โกวิท วงศ์ยะรา เปลี่ยนชื่อในภายหลัง

  สักครู่มีครูอีกคนหนึ่งภายหลังฉันรู้ว่าชื่อ นายแฉล้ม คงมั่น (พี่ชายของครูเฉลิม คงมั่น พ่อของนายปัญญา คงมั่น (ไอ้แอ๊ด) เพื่อนของผมที่เคย วิ่งเล่นที่เจ็ดเสมียนด้วยกัน)  เข้ามาในห้องนั่งลง แล้วก็มองๆ ฉันอีก  เอ ! ฉันคงมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในตัวบกพร่องเป็นแน่ อยู่บ้านเคยนุ่งกางเกงดำจีนใส่เสื้อโปโลหรือเชิ๊ตธรรมดา กางเกงฟอร์มขาสั้นเคยนุ่งเมื่อเวลาไปโรงเรียน 

  ส่วนเสื้อนอกนั้นเกิดมาก็เคยสวมใส่ สักครั้งเดียวหรือสองครั้งเท่านั้น มาใส่ในคราวนี้ก็ออกโรงทีเดียว คงเปิ่นเอามากๆ มิฉะนั้นเขาคงมิมอง หรือเขาจะดูหมิ่นเราว่าเป็นเด็ก มีภูมิรู้น้อย  หรือเขาจะสงสารเรา บ้า ! ยุ่งกันใหญ่ 

  ฉันปล่อยให้เขานึกปลงอนิจจังสังเวชในตัวฉัน จนเขาเบื่อไปเอง สุดท้ายครูใหญ่พูดขึ้นมาว่า  “ วันนี้เป็นวันโกน และครู (มายถึงนายหิรัญ) ็ยังไม่ได้เตรียมอะไรมา กลับก่อนก็ได้ มะรืนนี้จึงค่อยมาใหม่. "

  

 ปรดติดตามตอนต่อไปที่นี่ที่เดียว

  นายแก้ว ผู้เขียน

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้21
เมื่อวานนี้248
สัปดาห์นี้1722
เดือนนี้934
ทั้งหมด1344524

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online