ตามรอยป้าม่อมขายปูน ๔ (เจ๊แป๋ว)

            เมื่อพวกเราลอดประตูเหล็กบานเล็กออกมาแล้ว มีหญิงวัยกลางคนๆหนึ่ง ยืนอยู่ที่หน้าประตู ซึ่งก็เป็นภรรยาของนายแดง ชื่อว่า แป๋ว นั่นเอง
“จะกลับกันแล้วหรือ”  เจ๊แป๋วเอ่ยปากถามเมื่อพวกผมออกมาจากประตูหมดทุกคนแล้ว 

           ภรรยาของนายแดงคนนี้ คุณอุ่นเรือนและครูปราณีที่มาด้วยกัน เรียกเขาว่า เจ๊แป๋ว ดังนั้นในที่นี้จึงขอเรียกว่า เจ๊แป๋วไปด้วยก็แล้วกัน 

         “พอดีไปตลาดมา กลับมาถึงบ้านลูกสาวบอกว่า พวกเฮียแก้ว มาหากำลังคุยกับพ่ออยู่ข้างใน ”   เจ๊แป๋วนี้จริงๆแล้วผมก็เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก แกเป็นคนเจ็ดเสมียนนี้เอง มาแต่งงานกับนายแดงในตอนหลัง ในตอนที่ผมจากเจ็ดเสมียนไปแล้ว แต่พวกน้องๆของผมที่ยังอยู่ที่เจ็ดเสมียนนี้ กับเจ๊แป๋วเขาก็รู้จักกันดี ทำให้เขาเรียกชื่อผมถูกด้วย

         “เรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรหรอก คุณแก้วเขาอยากจะมาเยี่ยมครอบครัวของ ป้าม่อมขายปูนเพราะว่ารู้จักกันมาแต่เก่าก่อน ตั้งสมัยเป็นเด็กๆนั่นแหละ และอยากจะมาถามมาคุยกับนายแดงด้วย” คุณอุ่นเรือนตอบ และพูดต่อว่า

         “แป๋ว พวกโอ่งต่างๆ” พลางชี้มือไปทางบ้านหลังเล็กที่อยู่ตรงกันข้ามกับโรงสูบน้ำ “นายแดงบอกว่าในตอนนี้เป็นที่ๆทำปูนของแป๋ว แทนป้าม่อมใช่ใหม ? ”
         “ ใช่แล้ว พวกโอ่ง อ่างเล็กใหญ่ต่างๆเหล่านี้ เดิมทีเป็นของแม่ละม่อมทั้งนั้น เป็นของที่ตกทอดมาถึงลูกๆ นายแดงเขาไม่ทำเขามอบให้ฉันทำ ดังนั้นของเก่าๆเหล่านี้ ฉันก็ต้องเป็นคนเก็บรักษาไว้ บางอย่างบางชิ้นแตกหักเสียหาย จึงได้ซื้อมาใหม่บ้างมาทดแทนกัน ในตอนนี้จึงมีทั้งของเก่าและของใหม่ปะปนกันอยู่ ” 
        
 พวกเราพากันเดินจากตรงหน้าประตูเหล็กบานนั้น เดินคุยกันมาเรื่อยๆย้อนออกมาจนถึงบ้านหลังเล็กด้านซ้ายมือ ซึ่งเราได้เห็นเมื่อตอนที่พวกเรามาในตอนแรก
        “ขอพวกเราเข้าไปกันหน่อยได้ไหม ” คุณอุ่นเรือนถามเจ๊แป๋วขณะที่พวกเราเดิน มาถึงบ้านที่มีโอ่งเก่าคร่ำคร่าตั้งเรียงรายอยู่พอดี  “ได้ซี” เจ๊แป๋วว่า แล้วเดินตรงไปยังอุปกรณ์เหล่านั้น

 

อุปกรณ์ในการทำปูนกินกับหมากที่เรามาดูกัน

อุปกรณ์บางอย่างเป็นของเดิม สมัยเมื่อป้าม่อมยังมีชีวิตอยู่

        เจ๊แป๋วชี้ให้ดูโอ่งและกาละมัง อุปกรณ์ต่างๆในการผลิตปูนกินกับหมาก ของป้าม่อมในอดีต และปัจจุบันนี้ เจ๊แป๋วเป็นผู้ดำเนินการแทนแล้ว
พวกเราดูกันด้วยความสนใจ นานมาแล้วเราเคยคิดว่า ปูนกินกับหมากนั้นทำกันอย่างไร

       ทั้งๆที่เมื่อสมัยก่อนที่เรายังเด็กๆกันอยู่นั้น ก็เคยมาที่บ้านป้าม่อมบ่อยๆ เห็นป้าม่อมแกง่วนทำอะไรบางอย่างที่ข้างๆบ้าน ซึ่งมีโอ่งตั้งเรียงรายกันอยู่แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร 
       พวกเราจึงอยากรู้ว่าปูนกินกับหมากนี้เป็นมาอย่างไร กรรมวิธีในการทำ เขาทำกันอย่างไร คุณอุ่นเรือนจึงได้ขอร้องให้ เจ๊แป๋วซึ่งเป็นผู้ทำเป็นประจำ ช่วยบอกขั้นตอนต่างๆในการทำด้วย

        เจ๊แป๋วบอกว่ายินดีที่จะบอกให้ กรรมวิธีในการทำนี้เป็น สูตร ของป้าม่อมขายปูน ซึ่งยังไม่เคยบอกใครมาก่อนเลย
ว่าแล้วก็พาพวกเรามายืนต่อหน้า โอ่งและอุปกรณ์เหล่านั้นแล้วก็เริ่มอธิบายให้พวกเราฟังอย่างละเอียด

 

เจ๊แป๋วผู้รับมรดกตกทอดมาจากป้าม่อมขายปูน คนเก่าเจ็ดเสมียน

       “ ปูนกินกับหมากนี้  ในปัจจุบันคนไทยสมัยใหม่ไม่นิยมกินหมากกันแล้ว  จะมีก็แต่คนเก่าๆแก่ๆที่ยังกินกันอยู่ และก็จะมีพวกคนลาว พวกคนเขมรที่อยู่ในชุมชนต่างๆในจังหวัดราชบุรีนี้ก็ยังกินปูนกับหมากอยู่ “ เจ๊แป๋วภรรยาของนายแดงเริ่มอธิบาย

        “ ส่วนประกอบในการทำปูนกินกับหมากนี้ก็ไม่มีอะไรมาก  แต่ขั้นตอนในการทำจะยากมากและต้องใจเย็นๆ ” 
         
 ปูนหิน    ๓     ปี๊บ
          ขมิ้นชันผง       ๑๕    ก.ก.
          น้ำสะอาด 

         “นี่คือส่วนประกอบหลักที่สำคัญในหนึ่งโอ่งก็มีอยู่เท่านี้ “  เจ๊แป๋วว่า

       “  ในขั้นตอนแรกนี้เราต้องทำหินเผาป่น ที่ซื้อมาจากราชบุรีนั้น ให้เป็นปูนหินเสียก่อน โดยซื้อหินที่เผาป่นแล้วมาจากโรงงานเผาหินที่ราชบุรี ซึ่งที่ราชบุรีนั้นในปัจจุบันนี้บริเวณเขางู ก็ยังมีโรงงานเผาหินทำปูนขาว “

         พวกเรานิ่งฟังคุณแป๋วอธิบายด้วยความสนใจ เพราะอยากรู้มานานแล้วว่าผลสุดท้ายปูนที่กินกับหมากสีแดงๆนั้น มีความเป็นมาอย่างไร
        
เจ๊แป๋วอธิบายต่ออีก
“ปูนหินนั้นก็ทำโดย เราเอามาผสมกับเกลือและขมิ้นชัน ก็จะได้เป็นปูนหิน” 
        เจ๊
แป๋วชี้ให้ดูถุงหินเผาป่นแล้วที่ซื้อมาจากโรงโม่หินที่ราชบุรี เพื่อเป็นวัตถุดิบเตรียมไว้สำหรับทำปูนกินกับหมากต่อไป
เมื่อผสมกันได้ที่แล้ว ปูนหินก็จะมีมีสีสันเหมือนปูนกินหมาก แต่สีจะอ่อนกว่าเล็กน้อย  ปูนหินนี้พวกพ่อค้าจะมาซื้อต่อไปอีกที เอาไปเป็นส่วนผสมของผักดอง ผลไม้ดองต่างๆ หรือเอาไปทำเป็นน้ำปูนใสแช่ผลไม้ เพื่อทำเป็นผลไม้แช่อิ่มต่างๆ ตลอดทั้งเอามาผสมกับขมิ้นชันผงทำเป็นปูนกินหมากด้วย

         ขั้นตอนต่อมาก็คือ วิธีทำปูนกินหมาก   นำปูนหิน  ๓  ปี๊บเทใส่โอ่ง เติมน้ำพอประมาณแล้วคนไปมา จนปูนหินเข้ากับน้ำดีแล้วจึงใส่น้ำลงไปอีกจนประมาณครึ่งโอ่ง ใส่ขมิ้นชันผงลงไป  ๑๕  ก.ก.โดยไม่ต้องคน แล้วทิ้งไว้สักพักหนึ่ง จนขมิ้นชันจมลงไปจนหมดจึงใช้พายคนให้เข้ากัน

         คนทุกเช้าเย็นเป็นเวลา ๑๕ วัน แล้วจึงนำไปกรอง รวม ๓ ครั้ง  กรองแต่ละครั้งจะมีกากปูนซึ่งก็จะทิ้งไป เมื่อกรองจนถึงครั้งที่ ๓ ก็จะได้น้ำปูนใส ๆ ทิ้งไว้ประมาณ ๖ ชั่วโมงจึงตักไปกรองเป็นครั้งสุดท้ายที่เรียกว่า "เกรอะปูน"  ก็จะได้เนื้อปูนเข้มข้น ”

ต้องกรองหลายครั้งจนกว่าจะได้ที่

 

เจ๊แป๋วสาธิตการทำปูนให้ดูอย่างน่าสนใจ

        อธิบายจนเสร็จกระบวนการแล้ว เจ๊แป๋วก็ถามพวกเราว่า พอจะรู้เรื่องบ้างหรือไม่ คุณอุ่นเรือนบอกว่าก็รู้เรื่องอยู่หรอก แต่จะให้มาทำนั้นอาชีพนี้คงไม่เอาแน่ๆ เพราะใช้เวลานานหลายวัน และทำกันหลายขั้นตอนเหลือเกิน

        เจ๊แป๋วยังบอกอีกว่า ก็ดีที่ไม่มีคู่แข่งเราทำของเราไปเรื่อยๆ คุณอุ่นเรือนถามว่า นอกจากไปขายที่ตลาดเจ็ดเสมียน เมื่อถึงวันติดตลาดนัดแล้ว ยังจะไปขายที่ไหนบ้างหรือเปล่า 
        เจ๊แป๋วบอกว่า  ก็ไม่ได้ไปขายที่ไหนหรอก จะมีคนมาซื้อไปขายต่ออีกทีหนึ่ง ก็ขายดีนะบางทีก็ทำไม่ทันเหมือนกัน  คุณอุ่นเรือนถามว่า สนนราคาเป็นอย่างไรบ้าง มันคุ้มกับการลงทุนลงแรงหรือเปล่า

ขั้นตอนสุดท้าย ต้องรอจนกว่าปูนจะแห้งและแข็งกว่านี้จึงจะนำไปออกจำหน่ายได้

          เจ๊แป๋วยิ้มๆแล้วบอกว่า  อย่างที่ขายที่ตลาดนัดเจ็ดเสมียนนั้น ก็จะตักใส่ถุงเล็กๆ ขายถุงละ ๑๐ บาทเท่านั้น คนที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าของแม่ (ป้าม่อม) มาก่อนทั้งนั้น

       ส่วนผู้ที่มาซื้อที่บ้านเอาไปขายต่ออีกทีหนึ่งนั้น ก็จะขายไปใน กิโลละ ๔๐ บาท ไม่รู้ว่าจะถูกเกินไปหรือเปล่า แล้วเจ๊แป๋วก็หัวเราะ แหะๆ

        ก่อนจากกันวันนั้นพวกเราก็ขอขอบคุณ เจ๊แป๋ว ผู้ที่ได้รับมรดกสืบทอดมาจากป้าม่อม ที่บอกเล่าวิธีการต่างๆให้เราได้รู้ ทำให้พวกเรานึกถึงป้าม่อมเป็นอันมาก

ป้าม่อมขายปูนจบไปแล้วในเหตุการณ์ปัจจุบัน ต่อไปจะเข้าเรื่องและเหตุการณ์ของป้าม่อมในอดีตครับ

         ถ้าท่านต้องการอ่านต่อกรุณาคลิ๊ก "ละม่อม เทพหัส"  เกิดอัศจรรย์อะไรขึ้นที่บ้านป้าม่อม เมื่อเกือบ ๖๐ ปีที่ผ่านมา

 

 

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้264
เมื่อวานนี้485
สัปดาห์นี้2238
เดือนนี้8405
ทั้งหมด1338289

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online