ละม่อม เทพหัส ๑

     

ป้าม่อม เทพหัส คนที่ตัวสูงกว่าใครๆ คนถัดมาทางขวาคือ นางสละ สุวรรณมัจฉา แม่ของผู้เขียน ในงานเทศกาลแห่ดอกไม้ในปีหนึ่งของตำบลเจ็ดเสมียน

    เมื่อตอนที่ลาเจ๊แป๋วออกมาแล้ว ในใจก็ยังคิดถึงเรื่องของป้าม่อมตลอดเวลา จะถามเรื่องเกี่ยวกับป้าม่อมจากนายแดงนั้น ก็ไม่ค่อยได้ความอะไรมากนัก

   ดังนั้นเพื่อให้เรื่องนี้ได้จบลงโดยค่อนข้างจะสมบูรณ์หน่อยหนึ่ง ก็จะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับป้าม่อมในความทรงจำของผม เท่าที่ผมจะจำได้ในบางตอนเท่าที่เมื่อตอนเด็กๆได้รู้ได้เห็น ผมอยู่ที่เจ็ดเสมียนในตอนนั้นได้ไปเที่ยวที่บ้านแกบ่อยๆ แต่ถ้าหากมีท่านผู้ใดทราบเหตุการณ์ต่างๆของป้าม่อมมากกว่านี้ กรุณาเล่าเรื่องเพิ่มเติมกันมาได้ครับ

    ป้าม่อมเกิดที่ไหนไม่ทราบแน่ชัด เมื่อแกเติบโตเป็นสาวและแต่งงานมีครอบครัวนั้น แกเป็นราษฎรในตำบลสร้อยฟ้า ซึ่งอยู่ฝั่งวัดสมถะเลยขึ้นไปทางเหนือเกือบถึงโพธาราม ต่อมาจึงได้ย้ายที่ทำมาหากินจาก สร้อยฟ้ามาอยู่ที่เจ็ดเสมียน โดยมาเช่าที่ดินของวัดเจ็ดเสมียนซึ่งอยู่ใกล้โรงสี ในตอนที่โรงสียังไม่ได้เลิกกิจการไป ที่ตรงนี้ในปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งโรงสูบน้ำของการประปาเจ็ดเสมียนดังที่ได้กล่าวมาในตอนแรกๆแล้ว

    ในตอนแรกๆที่ป้าม่อมอยู่ที่บ้านเดิมทางสร้อยฟ้านั้น ไม่ทราบว่าได้มีอาชีพทำปูนกินกับหมากขายแล้วหรือไม่ แต่เมื่อได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เจ็ดเสมียนแล้ว ตั้งแต่ผมเด็กๆนั้นผมก็ได้เห็นป้าม่อมทำมาหากินด้วยการทำปูนกินกับหมากขายเลี้ยงครอบครัวอยู่ตลอดมา ป้าม่อมมีลูก ๒ คน คนโตอายุมากกว่าผมหลายปี ในขณะนั้นก็เป็นสาวแล้วผมเรียกว่า เจ๊หลัด (จรัส เทพหหัส) ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นก็รุ่นราวคราวเดียวกันกับผม ชื่อว่า  นายแดง

 
 

 ป้าม่อมใส่บาตรพระแดงลูกชาย ที่บันไดทางขึ้นกุฏิวัดเจ็ดเสมียน    

      ป้าม่อมกับที่บ้านผมหมายถึงแม่ของผม และทุกคนในครอบครัวรู้จักกัน และสนิทสนมกันเป็นพิเศษเหมือนเป็นญาติสนิท โดยเฉพาะแม่ของผมถ้ามีเวลาว่างจะเดินจากตลาดไปคุยกับ ป้าม่อมครั้งละเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ บางครั้งผมและน้องชาย  (ระฆัง สุวรรณมัจฉา)  รวมทั้งเพื่อนคนอื่นๆด้วยก็ตามไปเที่ยวที่บ้านป้าม่อมด้วย ไปยิงนก ตกปลา หาผึ้งกันในป่าแถวๆริมแม่น้ำบ้านป้าม่อมนี่เอง

     ในตอนนั้นโรงสีของนาย  เช็งกิจ ซึ่งเป็นโรงสีใหญ่ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ และบ้านป้าม่อมก็อยู่ติดกับโรงสี ผมกับเพื่อนๆที่มาเที่ยวบ้านป้าม่อมกัน เคยเดินเข้าไปในโรงครัวของโรงสี มีคนงานของโรงสีคนหนึ่งเป็นคนหุงข้าว ชื่อนายเจาะ หรือ นายต้อนี่แหละจำไม่ได้แน่ชัดกำลังเอาไม้พายอันใหญ่ คนไปมาที่กระทะใบใหญ่ ซึ่งมีข้าวสารและน้ำอยู่เต็มกระทะ พอคนไปมาเสร็จแล้วก็เอาที่ครอบที่ทำจากสังกระสี เป็นรูปกรวยกลมๆ ใหญ่พอๆกับกระทะ ครอบปิดลงไป คงจะเพื่อว่าให้ความร้อนมันอบเต็มที่ข้าวจะได้สุกเร็วขึ้น

       คนที่เป็นคนครัวและเป็นคนหุงข้าวของโรงสีนี้ ก็เป็นคนเก่าแก่ของเจ็ดเสมียน และรู้จักกับพ่อของผมเป็นอย่างดี แกเห็นหน้าเด็กเหล่านี้แล้วก็รู้ด้วยว่าเป็นลูกใครหลานใคร วันนั้นผมบอกคนหุงข้าวว่า จะขอข้าวที่มันติดก้นกระทะ ที่เรียกว่าข้าวตัง ถ้าข้าวสุกแล้วและตักข้าวออกไปหมดแล้ว ช่วยแซะข้าวตังให้พวกผมด้วย มีเด็กตลาดมาหลายคนมาด้วยกันให้แกแซะให้มากๆหน่อย คนครัวก็ใจดีสำหรับพวกผมเสมอแต่ละครั้งที่มาขอ แกก็จะแซะข้าวตังให้พวกเราอย่างมากมายเกินพอ เดินแทะกินกันไปด้วยความเอร็ดอร่อย เป็นอย่างนี้หลายครั้ง

    เรื่องข้าวตังโรงสีนี้เป็นความทรงจำของพวกผมทีเดียว คนครัวของโรงสีก็ไม่เคยหวงเพราะว่าหุงข้าวแต่ละครั้ง ก็จะมีข้าวตังทุกครั้งไปเพราะว่าหุงด้วยกระทะใหญ่ ข้าวตังจึงมีเหลือเฟือบางวันก็เหลือไม่มีใครเอาไปกิน คนครัวก็ขูดลงถังเอาไปเลี้ยงหมูได้อีกด้วย

    บ้านป้าม่อมนั้นปลูกเป็นเรือนยกพื้นขึ้นสูงติดริมแม่น้ำ มีบันใดขึ้นทางหน้าบ้านไม่ใหญ่โตมากนักแต่ก็อยู่กันได้ สามสี่คนก็พอดีกับครอบครัวของแก เพราะว่าป้าม่อมแกมีลูกเพียงสองคน คือเจ๊หลัด และนายแดงเท่านั้น สามีของแกเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่เมื่อไรผมก็ไม่ทราบเพราะว่าไม่ได้เห็นสามีของแกเลย ใต้ถุนบ้านซึ่งยกพื้นขึ้นสูง เหมือนกับบ้านที่เป็นเรือนตามชนบททั่วๆไป เมื่อเดินเข้าไปไต้ถุนเด็กๆอย่างพวกผมเข้าไปได้อย่างสบาย แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็เข้าไปเดินได้ แต่ต้องระวังเดินชนเอาคานหัวแตกก็แล้วกัน

   ใต้ถุนบ้านของป้าม่อมแกก็ใช้วางใช้เก็บของจิปาถะ ตามคานก็มีของแขวนห้อยบ้างเหมือนกัน ส่วนข้างๆบ้านด้านที่ติดกับโรงสีตรงนั้นแหละเป็นที่ตั้งโอ่งเป็นแถวๆ และอุปกรณ์ในการทำปูนกินกับหมากของแกก็วางอยู่ตรงนี้ทั้งหมดด้วย ทุกวันถ้าป้าม่อมแกไม่ได้ไปไหน แกก็ง่วนอยู่กับการทำปูนของแก แต่ถ้าเป็นวันที่มีตลาดนัดที่หน้าตลาด แกก็จะหาบปูนของแกมาขายที่ตลาดนัดแต่เช้ามืด โดยตั้งหาบปูนของแกอยู่แถวๆใต้ต้นจามจุรี (ก้ามปู) ติดกับหาบขนมจีนของป้าแจ่ม และที่ขายน้ำปลาของซิ๊มโบ๊ะแม่ของเพื่อนผมที่หน้าห้องแถวบ้านผมนั่นเอง

   สายมากแล้วตลาดนัดเริ่มวาย ป้าม่อมแกขายปูนของแกหมดพอดี  ปูนของแกนี้มีเท่าไรก็ไม่พอขายลูกค้าแกมีมาก แล้วในตำบลเจ็ดเสมียนก็มีคนขายปูนกินกับหมากอย่างนี้เจ้าเดียวเสียด้วย เรียกว่าใครหิวปูนที่กินกับหมากต้องไปหาป้าม่อมเท่านั้น พอขายเสร็จแล้วถ้าหากว่าแกไม่มีธุระอะไรจริงๆ แกก็จะยังไม่กลับแกจะหาบกระจาดเปล่าๆเข้ามาที่บ้านผม แล้วก็นั่งคุยกับแม่ผมหรือบางทีก็เดินเตร่ไปบ้านคนนั้นคนนี้ไปคุยกัน กินหมากกันเรื่อยเปื่อยจนเกือบเที่ยง แกจึงหาบกระจาดเปล่าของแกกลับบ้าน

  ป้าม่อมเป็นคนผอมสูงโย่งถ้าแกเดินมาแต่ไกล ทุกคนที่รู้จักแกก็จะต้องรู้ว่านั่นคือป้าม่อมขายปูนเดินมา เพราะร่างอันผอมสูงไม่เหมือนใครของแกเดินโยกเยกๆจะจำได้ง่ายๆ ป้าม่อมมีความสัมพันธ์กับคนในตลาด และคนที่ตำบลเจ็ดเสมียนด้วยดีเสมอมา

  พวกเด็กๆอย่างเช่นพวกผมก็มักจะเดิน ไปเที่ยวยิงนกตกปลากันที่ท่าโรงสี แล้วก็เลยไปทางบ้านป้าม่อมเสียด้วย บ้านป้าม่อมแกอยู่ข้างโรงสี ประตูทางเข้าออกของโรงสีอยู่ที่ด้านหลัง (หน้าโรงสีติดกับแม่น้ำ) ป้าม่อมแกก็อาศัยประตูนี้เข้าออกบ้านของแกไปในตัวด้วยเลย

ทางแยกเข้าโรงสีคือทางซ้ายของภาพ ซึ่งเป็นด้านหลังของเรือนหุ่นราษฎร์บำรุง ตรงไปก็จะเป็นทางไปวัดสนามชัยซึ่งมองเห็นอยู่ลิบๆ

   ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันนี้ จะอธิบายอย่างคร่าวๆว่า จากทางที่รถวิ่งจะไปวัดสนามชัยนั้น เลยโรงเรียนมาหน่อยก็จะมีทางเลี้ยวไปโรงสูบน้ำของประปาเจ็ดเสมียน  ถัดโรงเรียนไปนิดเดียวนั่นแหละครับ ตรงนั้นเป็นรั้วโรงสีมีประตูใหญ่ปิดเปิดสำหรับให้รถบรรทุกข้าว หรือผู้ที่มาติดต่อโดยทางรถยนต์ได้เข้าออกทางนี้ ส่วนผู้ที่มาติดต่อทางน้ำโรงสีนี้ก็มีท่าน้ำของโรงสีอยู่ที่ริมน้ำอยู่แล้ว แต่ก่อนจะถึงรั้วโรงสีทางขวามือนั้น จะเป็นสถานที่เผาศพของวัดเจ็ดเสมียน เพราะว่าในสมัยตอนที่ผมเป็นเด็กนั้นวัดเจ็ดเสมียนยังไม่มีที่เผาศพมาตรฐานเหมือนปัจจุบันนี้

   ดังนั้นพวกผมส่วนใหญ่แล้วก็จะเข้ามาที่บ้านป้าม่อม มายิงนกตกปลากันทางด้านหน้าคือทางท่าน้ำ ผ่านท่าน้ำโรงสีไปก็ถึงบ้านป้าม่อม เลยถัดจากบ้านป้าม่อมไปอีกนั้นเป็นป่าไม้ย่อมๆรกทึบ มีทั้งต้นไม้ยืนต้นและไม้เลื้อยสูงต่ำทั่วไปหมด แต่ผมไม่รู้ว่าเป็นที่ของใคร น่าจะเป็นที่ของวัดเจ็ดเสมียนนั่นเอง ผมกับเพื่อนๆที่ตลาดมากันบ่อย โดยเฉพาะไอ้เหม่งคู่หูของผม ถ้าป้าม่อมอยู่บ้านก็จะได้ยินเสียงของป้าม่อมตะโกนบอกพวกผมว่า อย่าซนกันมากนักนะ อย่าเข้าไปเล่นทางป่านั่นระวังงูมันจะกัดเอา ผมได้ยินป้าม่อมบอกอย่างนี้เสียจนชินไปแล้ว

    และแล้ววันหนึ่งป้าม่อมแกมาที่บ้านผม ในขณะนั้นป้าจ่างเมียกำนันโกวิทก็มากินหมากที่บ้านผม และกำลังคุยกับแม่ผมอยู่พอดี  ผมได้ยินพวกเขาคุยกันว่า "หลายคืนมาแล้วที่ชายป่าถัดจากบ้านป้าม่อมไปหน่อยหนึ่ง ป้าม่อมแกเห็นผีกระสือในตอนดึกๆ มันเป็นลูกไฟดวงขาวๆคล้ายดวงไฟของหิ่งห้อยแต่ใหญ่กว่ามาก แต่ไม่สว่างมากนักแสงไฟมัวๆสีขาวๆลอยไปมาวนเวียน อยู่ตรงชายป่าใกล้บ้านป้าม่อม คืนละเป็นเวลานานๆ "

    ผมได้ยินผู้ใหญ่คุยกันอย่างนั้น ความที่เป็นเด็กอยากรู้อยากเห็นผมจึงตั้งใจฟังอย่างจริงจัง ผมจำได้ว่ามีเจ๊สำอางค์ เจ๊สะอาดน้าสุน  (เป็นช่างตีมีดบ้านตาโหงว) น้าเภา ภรรยาของน้าสุน น้าชิด (ลูกพี่ลูกน้องกับแม่ บ้านของน้าชิดอยู่บางเค็ม เป็นคนดูแลเด็กอยู่ที่บ้านผม)  และมีอีกหลายคนผมก็ลืมชื่อไปเสียแล้ว ก็นั่งฟังเขาคุยกันอยู่ที่นั้นด้วย

     ป้าม่อมแกว่า " ผีกระสือนี้มันมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ตัวที่เห็นนั้นไม่รู้ว่าหญิงหรือชาย มันต้องมีอะไรสักอย่าง ที่ผีกระสือมันต้องการ ถ้าไม่มีอะไรแล้วมันจะไม่มาร๊อก" แล้วป้าม่อมแกก็หันไปทางป้าจ่างเมียกำนัน แล้วบอกว่า " ผีกระสือตัวนี้มีคนในหมู่บ้านเราเห็นกันหลายคนแล้ว อยากให้ท่านกำนันช่วยส่งลูกน้องออกสืบดูสักที ว่ามันเป็นใครกันแน่ จะได้คอยระวังกัน" ป้าจ่างฟังแล้วรับปากจะไปบอกกำนันให้จัดคนออกไปดูให้

     คนเก่าๆเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผีกระสือสืบต่อกันมา ซึ่งพวกเราเคยได้ยินกันบ่อยๆว่า ผีกระสือมันชอบกินสิ่งของสกปรก โดยเฉพาะที่บ้านใครออกลูกใหม่ๆแล้วต้องระวังให้ดีเชียว มันชอบมากินรกของเด็กๆที่คลอดใหม่นั้น เด็กที่คลอดใหม่ๆคนที่ทำคลอดคือหมอตำแย ต้องรีบเอารกใส่หม้อดินไปฝังดิน เมื่อผีกระสือมาหากินในตอนกลางคืน มันจะขุดไม่ได้เพราะว่ามันไม่มีมือที่จะขุด บางบ้านที่ลักษณะเป็นเรือน กระดานที่ปูพื้นเป็นช่องโหว่เขาก็จะเอากิ่งพุดทรา หรือกิ่งมะขามเทศที่มีหนามแหลมคมมาสระเอาไว้จะป้องกันผีกระสือได้เป็นอย่างดี ผีกระสือจะกลัวหนามเกี่ยวเอาตับไตไส้พุงของมัน แล้วมันจะเจ็บปวดและเอาไม่ออก มันจึงกลัวเป็นยิ่งนัก

ต้นและใบหนาด

 

อีกอย่างหนึ่งก็คือเอาใบหนาดหักมาทั้งกิ่งซึ่งมีใบหลายใบ มาสระเอาไว้ ผีกระสือหรือว่ารวมทั้งผีอื่นๆด้วยจะกลัวใบหนาดกันมาก ต้นหนาดนี้มีลักษณะเป็นพุ่มๆต้นไม่ใหญ่นัก ใบใหญ่เป็นหยักๆมีขน ถ้าเอาใบมาขยี้ดูจะได้กลิ่นเหมือนกลิ่นการบูร ฉุนแสบจมูกขึ้นมาทันที ต้นหนาดนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปตามสวน ตามไร่ ที่เจ็ดเสมียนนี้ก็มีหลายบ้าน ในสมัยที่กำลังเล่านี้ที่ไร่บ้านป้าใบ แม่ของณรงค์ แซ่ภู่  (ปัจจุบันเป็น จราจรอาสาของตลาดเจ็ดเสมียน) ก็มีเยอะแยะ

 ป้าม่อมมาคุยกับแม่และป้าจ่างพร้อมด้วยคนอื่นๆ ที่หน้าบ้านผมเป็นเวลานานแล้วจึงกลับไป เรื่องของผีกระสือปรากฏตัวที่ในป่าข้างบ้านป้าม่อมนั้นเป็นที่สนใจของผมเป็นอย่างมาก ผมนำเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้พรรคพวกของผมฟัง เช่นไอ้ธร ไอ้โล ไอ้อู๊ด ไอ้โห้ ไอ้วี และอีกหลายๆคนที่หน้าบ้านเฮียแก่เล็กพวกมันก็หูผึ่งสนใจฟังผมและวิจารณ์กันเสียงเซ็งแซ่ 

   ผมเสนอความคิดว่าพวกเรา ควรจะไปดูลาดเลาเกี่ยวกับผีกระสือตัวนี้ที่บ้านป้าม่อม เมื่อผมเสนอความเห็นแบบนี้พวกเพื่อนของผม ก็เกิดอาการแหยงๆกลัวๆกันขึ้นมา ทั้งๆที่พวกเราเคยไปผจญภัยกันมามากมายหนักหนาทุกๆเรื่องมาแล้ว เว้นเรื่องเดียวคือเรื่องผีนี้ยังไม่เคย มีแต่ไอ้เหม่งคนเดียวเท่านั้นที่มันจะยอมไปกับผม

   บ่ายวันนั้นผมกับไอ้เหม่ง ก็ไปที่บ้านป้าม่อมเหมือนอย่างที่เคยมาทุกๆเที่ยว พร้อมด้วยคันเบ็ดตกปลาและหนังสติ๊กคู่มือ ป้าม่อมกำลังกรองน้ำปูนของแกอยู่ เมื่อเห็นผมกับไอ้เหม่งเดินเข้ามาแกก็พูดว่า "พวกมึงอย่าเข้าไปเล่นในป่ากันนะประเดี๋ยวงูจะกัดเอา" แกก็พูดของแกอย่างนี้ทุกครั้ง แล้วแกก็ก้มหน้าก้มตาทำงานของแกต่อไป

   ผมถามป้าม่อมว่า "ได้ยินว่าตอนกลางคืนดึกๆมีผีกระสือเข้ามาหากินแถวๆป่าบ้านป้าหรือ" ป้าม่อมบอกว่า "กูเห็นมาหลายคืนแล้วอยากรู้เหมือนกันว่ามันมาหาอะไรแถวๆนี้ คนคลอดลูกใหม่ก็ไม่มีมันมาแต่ละทีหมางี้เห่ากันเกรียวเลยมึงเอ๊ย กูก็อยากจะรู้นักว่ามันเป็นใคร " ...!

  นายแก้ว เขียน ละม่อม เทพหัส ๑

 ติดตามตอนต่อไปที่นี่ เร็วๆนี้       ละม่อม เทพหัส ๒ (ยายบา)  

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้210
เมื่อวานนี้706
สัปดาห์นี้2766
เดือนนี้12013
ทั้งหมด1341897

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online