ชีพ ชูชัย แห่งตำบลเจ็ดเสมียน 3 ("วิกเจ็ดเสมียน")

Imageในตอนนั้น เจ็ดเสมียนเรา พัฒนามาพอสมควรแล้ว  มีสหกรณ์  มีปั๊มน้ำมันที่หนองบางงู  มีโรงงานทำน้ำปลาที่หนองบางงู  รวมทั้งกิจการโรงไฟฟ้าด้วย สำหรับไฟฟ้านั้นมีใช้มานานแล้ว กำนันโกวิทเห็น เฮียตี๋ อยู่บ้านเฉยๆเป็นหัวโจกพวกเราไปวันๆ ก็เลยตั้งให้เป็นผู้จัดการ สหกรณ์เจ็ดเสมียนซะเลย

        มีอำนาจหน้าที่ทุกอย่าง ด้านการขาย ด้านการเงิน และดูแลกิจการต่างๆ ของสหกรณ์เจ็ดเสมียน ทำให้สหกรณ์เจ็ดเสมียนของเรามีความเจริญก้าวหน้า เป็นอันมาก เนื่องจากได้ผู้จัดการที่รอบรู้และเข้มแข็ง
         ดังนั้นในตอนเช้าก่อน 7.00 น.แทบทุกวัน เฮียตี๋ ก็จะแต่งตัวหล่อ นุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อแขนยาว ไม่กลัดกระดุมปลายแขน พับปลายแขนขึ้นมาเสียหน่อยหนึ่ง เหมือนพระเอกหนังไทยในสมัยนั้น ผัดหน้าเสียขาวเนียน หวีผมเรียบแปล้ ทรงลือชัย นฤนาท ขวัญใจของพวกเราเสียด้วย หิ้วกระเป๋าหนังขนาดเขื่อง มาคอยขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟ เจ็ดเสมียน

        เพื่อเอาเงินของสหกรณ์ไปเข้าธนาคารที่ ตลาดโพธาราม  แล้วเวลาประมาณ 11.00 น.ก็จะมีรถไฟอีกขบวน ล่องมาจากสถานีรถไฟบางกอกน้อยลงมาถึงโพธาราม แล้ว เฮียตี๋ ก็จะขึ้นรถไฟขบวนนี้จากโพธาราม กลับเจ็ดเสมียน (หมายเหตุ ค่ารถไฟ เจ็ดเสมียน – โพธาราม ในตอนนั้นเที่ยวเดียว 50 สตางค์  ? )  ส่วนในตอนบ่ายแก่ๆ พวกเราก็ยัง ได้ไปเล่นกล้ามออกกำลังกันที่ไต้ถุนบ้านกำนันกับ เฮียตี๋ เหมือนเดิม
         ในทางด้านดนตรี เฮียตี๋ก็เป็นผู้ที่มีดนตรีในหัวใจเหมือนกัน มีพรสวรรค์เป็นพิเศษ ในการเล่นไวโอลิน คือเฮียตี๋แกเล่นไวโอลินได้ไพเราะมาก  บางครั้งเมื่อพวกเราไปหา เฮียตี๋ที่บ้าน ในตอนบ่ายๆก่อนการเล่นกล้ามกัน  เฮียตี๋ ก็มักจะหยิบเอาไวโอลินคันโปรดของแก ออกมาเล่น เพลงที่ได้ยินเฮียแกเล่นบ่อยๆ คือ เพลงของ ก้าน  แก้วสุพรรณ (นายมงคล  หอมระรื่น ชาวอำเภอสามชุก จังหวัด สุพรรณบุรี) เพลงชื่อว่าอะไรผมจำไม่ค่อยได้แล้ว (เพลงนี้น่าจะชื่อว่าเพลง “หลงกรุง” ?) จำได้แต่ตอนขึ้นต้นว่า “ลืมแล้วแก้วตา ไหนว่าจะรักพี่  ไม่มีลืมได้ ใยน้องเปลี่ยนใจง่าย ร้ายเร็วจริง  จากบ้านนาน้องได้อยู่กรุงเลยทิ้ง  ท้องนากระต๊อบเคยอิง อุ่นล้ำแดนกำเนิดมา”   แล้วเฮียตี๋แกก็จะร้องคลอไปด้วย เป็นที่ชอบอกชอบใจของเหล่าสมุนเป็นอันมาก ผมคิดอยากจะหัดเล่นไวโอลิน เหมือนเฮียตี๋ บ้างเหมือนกัน วันหนึ่งได้โอกาสดีผมจึงบอก เฮียตี๋ ว่าหัดให้ผมเล่นสักหน่อยเถิด เฮียตี๋แกคงรำคาญผมมาก ที่มาจู้จี้กับแก จึงลองๆให้ผมจับไวโอลินของแกดู ผมก็ลองจับดูแล้วสีอย่างไรก็ไม่เป็นเพลง ผมจึงเลิกเล่นเสียตั้งแต่บัดนั้น
 


        

นายวิรัช วงษ์วานิช นั่งทางขวามือ เป็นผู้สร้างวิก "เจ็ดเสมียน สัตคามภาพนยต์" ปัจจุบันนี้ได้เลิกกิจการไปนานแล้ว

         เจ็ดเสมียนในตอนนั้น พ่อของเพื่อนผม คือ คุณวิรัช  วงษ์วานิช ได้สร้างวิก (หรือโรงมหรสพ เก็บเงินคนดู) เรียกว่า “วิกเจ็ดเสมียน สัตคามภาพยนตร์” วิกในที่นี้ก็คือ  สร้างขึ้นมาเหมือนโกดังขนาดใหญ่ มุงหลังคาสังกะสี ไม่ได้ตีฝ้าหลังคาหรอก ปล่อยไว้โล่งๆ อย่างนั้น  ผนังตีสังกะสีปิดทุกด้าน แต่ด้านข้าง ทำช่องประตูบานใหญ่ 2 บานเลื่อนได้เอาไว้ เลื่อนไปมาได้ เพื่อว่าเวลา หนังเลิก ลิเกเลิกหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน แล้วจะได้เปิดให้คนออกทางด้านนี้ ด้านบนเลยหัวขึ้นไปสักเมตรครึ่ง ใช้ไม้ระแนงตีไขว้กันเป็นตาห่างๆ เพื่อเป็นช่องระบายลม ด้านบน ไต้หลังคาสังกะสี เขาติดพัดลมเพดานไว้เป็นแถวๆ รวมแล้วประมาณ 6 ตัว เพื่อระบายลม และให้ผู้ที่นั่งชมนั้นเย็นสบาย และปัดเป่ายุงไปในตัวด้วย
          ข้างหน้าวิกทางด้านซ้ายมือ เขาทำห้องขายตั๋ว เป็นช่องเล็กๆ สองช่อง เอาไว้ซื้อตั๋วและรับตั๋ว  ถัดไปอีกหน่อยทางด้านขวามือนั้น เปิดเป็นช่องประตูไว้  เพื่อให้ผู้ชมที่ซื้อตั๋วแล้ว ผ่านประตูเข้าไป จะมีคนเก็บตั๋วยืนอยู่ตรงข้างประตูนี้ ใกล้ๆ กับห้องขายตั๋ว จะเป็นกระดานใหญ่ไว้สำหรับปิดใบโฆษณา หรือปิดใบปิดของหนัง แล้วก็มีภาพขนาดโปสการ์ด ติดให้ดูเป็นตัวอย่างสัก 6 – 7 ภาพ หนังแต่ละเรื่องที่เข้าฉายก็จะมาปิดใบโฆษณากันที่กระดานนี้
          สำหรับที่นั่งของผู้ชมนั้น เขาเอาไม้กระดานแผ่นยาวๆ ประมาณ 6.00 เมตร  กว้าง 8 นิ้ว หนา 1 นิ้ว (ไม้กระดานพื้นหน้าแปด) ต่อขาลงไปทำเหมือนเก้าอี้ตัวยาว แล้วตอกยึดลงไปในพื้นดินให้แน่น พื้นของวิกเจ็ดเสมียนนั้น ไม่ได้เทปูนซิเมนต์นะครับ ปล่อยพื้นเป็นดินอยู่อย่างนั้นมันมีความรู้สึกว่าชื้นๆอย่างไรชอบกล 
         ขณะที่นั่งดูหนังหรือลิเก ก็ต้องนั่งห้อยขาลงไป  แต่ไม่กล้าแตะตรงพื้นดิน กลัวตะขาบคลานมากัดนิ้วเท้าเอาง่ายๆ ด้านท้ายๆ ของโรงวิกนี้ เขาจะทำเป็นยกพื้นขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง สูงเลยหัวขึ้นไปสัก 2 ศอก แล้วตีไม้กั้น ทำเป็นห้อง เพื่อเอาไว้เป็นห้อง ฉายหนัง หรือตั้งเครื่องขยายเสียงนั่นเอง เมื่อตอนที่มีลิเก หรือหนังมาเช่าวิกนี้
         ตรงกันข้ามกับห้องควบคุม และก็จะเป็นห้องฉายหนังด้วย ซึ่งอยู่ด้านบน เขาจะยกพื้นขึ้นเป็นเวทีเต็มพื้นที่ด้านนั้นเลย  เวลามีลิเก จะได้กางฉากได้สะดวก และเวลามีหนังมาปิดวิก เขาก็จะกางจอใหญ่ แบบซีนีมาสโคป เลยทีเดียว เมื่อตอนที่มีโทรทัศน์ใหม่ๆ จำไม่ได้แล้วว่ามีใครคนหนึ่ง ได้เอาโทรทัศน์ มาเปิดที่วิกนี้  ตีตั๋ว ครั้งเดียว ดูได้จนกระทั่งปิดสถานีเลยทีเดียว  แต่ก็ประมาณ  4 – 5  ทุ่มเท่านั้น โทรทัศน์ก็จะปิดสถานี นั่นละ “สัตคามภาพยนตร์” วิกหนึ่งเดียว ของนายวิรัช วงษ์วานิช  คหบดีใหญ่  แห่งตำบลเจ็ดเสมียน
          มีอยู่ระยะหนึ่งเหมือนกัน ที่ผมกับไอ้ธร  ลูกเจ้าของวิก มาที่วิกนี้ก่อนค่ำ แล้วมาเปิดแผ่นเสียงเพลงไปพลางๆ  ก่อนที่มหรสพจะโหมโรง  แผ่นเสียงสมัยนั้น เป็นแผ่นทำมาจากขี้ครั่ง  แผ่นเบ้อเริ่มเทิ่ม  แต่มีแค่ 2 เพลง หน้าหลังเท่านั้น  เข็มก็ใช้เข็มพิเศษโดยเฉพาะของเขา จะใช้เข็มอื่น เช่นเข็มเย็บผ้า หรือเข็มหมุดก็ใช้ไม่ได้ วันหนึ่งๆ ใช้ไปเกือบครึ่งกล่อง มันทื่อเร็วมากจริงๆ  เวลาเข็มมันขูดกับแผ่นจะได้ยินเสียงเพลง ที่ปลายเข็มมันขูดแว่วๆ ผมกับไอ้ธร ก็เปิดเพลงกันไปเรื่อยๆ จนกว่าพวกลิเก หรือหนังจะมาพูดโฆษณาเรียกคนเอาเอง        

        เพลงที่ชอบเปิดมากๆในตอนนั้น ก็จะมีเพลงของ ชรินทร์   สุเทพ  รวงทอง  สวลี แล้วก็ ทูล ทองใจ กับ  ก้าน แก้วสุพรรณ    ตอนนั้น ไม่มีเพลงลูกกรุง ลูกทุ่งแบ่งกันหรอกครับ เพลงของชรินทร์แล้วก็รวงทอง นั่นน่ะดังสุดๆเลย อย่างเช่นเพลงทุ่งรวงทอง ก็กำลังฮิต เปิดบ่อยๆเลยทีเดียว     “......ทุ่งเอ๋ยทุ่งรวงทอง เห็นข้าวออกรวงน่ามอง ดุจแสงทองสีแห่งศรัทธา  พี่มาได้ยล นฤมลนวลน้องบ้านนา ถึงจะสวยตามประสา ก็โสภาเหนือกว่านางใด  “
“.........ทุ่งเอ๋ยทุ่งรวงทอง น้ำเปี่ยมอยู่เต็มฝั่งคลอง เช่นพี่รักน้องเปี่ยมฤทัย สะพานเชื่อมคลอง.......... ”
  เมื่อได้ยินเพลงพวกนี้เมื่อไร พวกเราก็จะแหกปากร้องตามกันลั่นไปหมด  และบางทีถึงขนาดว่า  โตขึ้นจะเป็นนักร้องให้ได้เชียว
          แต่ผมก็ไม่ได้มาช่วยไอ้ธร เปิดแผ่นเสียงทุกวันหรอกนะครับ เพราะว่าในตอนเย็นๆผมกับไอ้ธรต้องไปออกกำลัง ต้องไปเล่นกล้าม กันที่ไต้ถุนบ้านกำนันโกวิท ซึ่งมีลูกพี่ผม (เฮียตี๋) รออยู่ เสร็จแล้วต้องไปชุมนุม กับพรรคพวก  ที่สนามหน้าโรงเรียน เจ็ดเสมียน พอเย็นจัดๆใกล้ค่ำ พวกเราก็จะทยอยกันไปอาบน้ำกันที่ท่าใหญ่ หลังตลาดเจ็ดเสมียน ภารกิจของพวกเราในช่วงบ่ายถึงค่ำก็จะมีอย่างนี้ทุกวัน
         มีอยู่วันหนึ่งค่ำแล้ว นายประสานกับ นายสุทน ลูกนายฉุย นายตรวจทางเขตเจ็ดเสมียน ก็ก่อเหตุ คือว่า พวกเราทั้งพวก ในวันนั้นไม่ได้ไปเที่ยวหน้าวิกเหมือนอย่างเคย  ทุกครั้งถ้าพวกเราจะมาดูหนัง หรือลิเกแล้ว เฮียตี๋ก็จะเดินนำหน้า และพวกเราก็จะเดินตามหลัง เฮียตี๋ผ่านประตูเข้าไป คนเก็บตั๋วที่หน้าประตู ไม่ว่าจะเป็นคนของวิก  หรือเป็นคนของคณะลิเก มาเฝ้าประตูเอง ก็ตาม ก็จะปล่อยให้พวกเราเข้าไป (ดูฟรี) แต่โดยดี บารมีของเฮียตี๋แก บ่งบอกว่าใช้ได้ ไม่มีใครมาขัดขวาง ทั้งๆที่ เฮียตี๋ แกก็ยังไม่ได้ปล่อย อาวุธลับอะไรออกมาเลย
         แล้ววันนั้น นายประสานเพื่อนผม คงนึกอยากจะดูหนังเรื่อง สาวน้อย ที่มี ชรินทร์ นันทนาคร แสดงคู่กับ ทรงศรี  เทวคุปต์ (ออกฉายที่กรุงเทพฯ ครั้งแรก เมื่อปี 2501)  พอจะเดินผ่านประตูเข้าไป คนเก็บตั๋วที่มากับพวกฉายหนัง ก็เอามือยื่นออกมากั้นทันที แล้วแบมือขอตั๋ว ฝ่ายนายประสานก็อึกอัก แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ทัน ก็เลย บอกคนเก็บตั๋ว ว่า “ผมเป็นลูกกำนันครับ”
           คนเก็บตั๋วพอได้ยินว่าลูกกำนัน มันก็เลยมองหน้าอย่างพิเคราะห์ สักครู่มันก็พยักหน้าหงึกๆ ให้นายประสานเข้าไปแต่โดยดี  ส่วนไอ้ทนพอเห็นว่าน่าจะมีเรื่องแน่แล้ว ก็เลยปลีกตัวออกไปตอนที่ คนเก็บตั๋วกั้นนายประสานเอาไว้  แล้วรีบไปที่บ้านกำนันพบเฮียตี๋แล้วก็ไปเล่าให้เฮียตี๋ฟัง
        

ครั้งแรกที่เด็กเจ็ดเสมียนได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา โดยได้ไปเที่ยวที่ หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้รถบรรทุกไม้กระดาน ของ นายเบี้ยว ลักษิตานนท์ ใครเป็นใครขอความกรุณาดูกันเอาเองนะครับ แต่ที่แน่ๆ คือ ซ้ายมือสุดนั้น นั่นแหละเจ้าของร้านถ่ายรูปจำเนียรศิลป์ มือหนึ่งด้านการถ่ายรูปในตลาดเจ็ดเสมียนนาย จำเนียร คุ้มประวัติ ครับ

(ใครจำได้ ว่าเป็นใครอยู่ตรงตำแหน่งไหนในภาพ แจ้งทาง เวบบอร์ด ด้วยนะครับ ผมจะได้ลงชื่อให้ต่อไปครับ)

        

         ก่อนหนังจะฉาย เขาก็ประกาศ ทางเครื่องขยายเสียง ในทำนอง ว่า  “ มีคนแอบอ้าง ว่าเป็นลูกกำนันและว่า  ถ้าเป็นลูกกำนันจริงแล้ว เขาก็จะยินดีทุกเวลา อย่าว่าแต่ขอเข้าดูหนังเลย ขออะไรมากกว่านี้เขาก็ให้ได้ เพราะว่าที่วิกนี้ ปีหนึ่งเขามาฉายหนังหลายหน เคยมาขอข้าวบ้านกำนันกินก็บ่อยๆ ลูกกำนันบางคนเขาก็รู้จัก  คนที่เป็นทหารที่กรุงเทพ เขาก็รู้จักกันดี  การมาแอบอ้างพล่อยๆเช่นนี้ มีแต่ทางเสียหายและ เสียหายไปถึงท่านกำนันด้วย “
          แล้วเขาก็พูดอะไรอีกหลายอย่าง พูดถึงบุญคุญท่านกำนัน และอื่นๆ แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้บอกเลยว่า ใครเป็นคนมาอวดเบ่ง บอกว่าเป็นลูกกำนัน จบกันพอดี
          เย็นวันรุ่งขึ้น ในขณะที่เราชุมนุมกัน ที่เสาธงหน้าโรงเรียนอย่างเคย เฮียตี๋ ก็เอ่ยปากถาม นายประสานว่า  ไอ้ทนมันบอกกูว่ามึงไปเบ่งอย่างนั้นจริงไหม

          นายประสานหัวเราะ แหะ แหะ แล้วบอกว่า  ม ม ม มันไม่จริงหรอกเฮีย ผมไม่ได้เบ่งสักหน่อย ผมแค่บอกมันว่า ผมเป็นลูก”บ้าน”กำนัน เท่านั้น  เฮียตี๋ได้ฟังแล้วแกก็ส่ายหน้าบ่นพึมพำ  พอจับใจความได้ว่า “ไอ้สาน มึงนะมึง” !
                                           

                                            โปรดติดตาม ชีพ ชูชัย แห่งตำบลเจ็ดเสมียน 4  (ตอนจบ)
 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้230
เมื่อวานนี้496
สัปดาห์นี้726
เดือนนี้13644
ทั้งหมด1343528

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online