น้ำท่วมเจ็ดเสมียน พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๕

             เรื่องราวเก่าๆของชาวตลาดเจ็ดเสมียน

            น้ำท่วมเจ็ดเสมียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และ ๒๔๘๕ 

         สืบเนื่องมาจากเรื่อง ท่าใหญ่ และเรื่องเกี่ยวกับน้ำหลากที่ไหลมาจากทางเหนือนั้น ผมก็อยากจะเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับน้ำท่วมที่ตำบลเจ็ดเสมียนของเรานี้ ให้ท่านผู้ที่ติดตามอ่านเรื่องของผมได้ทราบ แต่เป็นเรื่องของเมื่อสมัย เกือบ 70 ปีก่อน ที่ นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ได้บันทึกเอาไว้ ข้อความในวงเล็บ ผมเขียนเองเพื่อจะอธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ นะครับ

ครูหิรัญ สวรรณมัจฉา

ครูใหญ่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๒

 

  


มุดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในเรื่องของเจ็ดเสมียน ของ ครูหิรัญ สุวรรณมัจฉา

 

        “…………..๖    กรกฎ    ๒๔๘๔  (ตอนนั้นยังไม่ได้ย้ายบ้านมาอยู่เจ็ดเสมียน นายหิรัญ ต้องถีบรถจักรยาน จากตลาดโพธาราม เพื่อมาสอนเด็กนักเรียนที่โรงเรียน วัดเจ็ดเสมียน)  ฉันไปโรงเรียนแต่เช้าถึงคลองมะขาม (อยู่ใกล้วัดสนามชัย มีมะขามเทศที่อร่อย หวาน มัน ที่สุดในประเทศไทย)  เห็นน้ำที่คลองเซาะเอาดินข้างสะพานพังไปเป็นกองทำให้รถไฟเดินไม่ได้ 

        สักครู่เห็นนักเรียนพากันแบกเอากิ่งไม้  และเสาไม้ก็มีเดินไปที่คลอง  ฉันถีบรถไปถึงโรงเรียนแล้วเห็นครูใหญ่ (นายโกวิท วงศ์ยะรา) ให้นักเรียน  เอากิ่งไม้และเสาไป  ฉันเลยตามไปที่คลองด้วย ถึงแล้วก็ช่วยพวกกุลีพวกช่างไม้ปักเสา  เอากิ่งไม้ทำเป็นทำนบกันน้ำ มิให้ไหลเซาะดินมากเกินควร  ครูใหญ่ก็ช่วยด้วย  พวกกุลี (คือคนงานของการรถไฟ นายตรวจทางของการรถไฟเขต เจ็ดเสมียน เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งนายตรวจทางในตอนนั้น เป็นตา ของผมเอง ) มาช่วยตั้ง  ๕ - ๖๐  คน   คนมาดูก็มาก  รถเช้าจอดอยู่ที่สถานี เจ็ดเสมียน นี่เองไปไม่ได้  วันนี้การจราจรทางรถไฟชะงักหมด    ฉันได้ช่วยอย่างไม่กลัวเหนื่อย หิวก็กินข้าวแล้วก็ทำอีก  จนเย็นจึงกลับ     รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ช่วยรัฐทำงาน  พูดตามความเป็นจริงแล้ว  ถ้าไม่ได้พวกนักเรียน  พวกโรงสี และพวกฉันแล้ว   ทางรถไฟน่าจะขาดตอนเพราะน้ำเซาะ   เพราะว่าน้ำแรงมาก  นายตรวจเอกชมเชยครูใหญ่ว่า  “ ถ้าไม่ได้ครูผมแย่……. “  กลางคืนพวกกุลีทำกันตลอดคืน  เกลี่ยดินเอาไม้หมอนหนุน  พอรุ่งเช้ารถไฟก็ผ่านได้โดยปกติ
 

        “......๑๑   กรกฎ    ๒๔๘๔    น้ำขึ้นมาร่วมเดือนแล้ว   และเต็มตลิ่งขึ้นทุกวันไม่มีท่าว่าจะลดลงเลย  ที่ตลาดโพธารามน้ำเปี่ยมตลิ่ง  ในบ้านที่อยู่ริมน้ำๆขึ้นเลยหัวเข่าก็มี  ที่  ร.ร. (วัดเจ็ดเสมียน) ฉันน้ำยังไม่มี  เพราะเขาปิดตรงเหนือ  ร.ร. อยู่
         เย็นฉันกลับจาก  ร.ร. ทำนบกั้นน้ำที่ตรงหน้าบ้านนายเพียวพัง (ตลาดโพธาราม) ปิดไม่อยู่น้ำจึงไหลบ่าเข้าไปถึงโรงจับกัง  แล้วเลยไหลข้ามถนนไปทางบ้านเจ้หวน   แล้วเลยไหลเลยไปทางตรอกหน้าบ้านฉัน  โอ้โฮ  น้ำไหลเชี่ยวยังกับคลอง   เกิดมาก็เพิ่งปีนี้แหละที่น้ำในแม่น้ำสามารถไหลไปถึงหน้าบ้านฉัน   เพราะที่บ้านฉันก็สูงโขอยู่น้ำยังไหลไปได้  มิหนำซ้ำยังจะท่วมไปถึงไต้ถุนทำให้หมูหมาต้องร้อนใจ  นอนไม่ได้  นับเป็นประวัติการณ์จริงๆ ตั้งหลายสิบปีมาซึ่งมิได้เคยเป็นดังนี้   ยิ่งตกตอนเย็นน้ำยิ่งมาก  ฉันเลยไปทำคันกั้นที่หน้าบ้านไว้หน่อย  ถ้าน้ำขึ้นมากอีกก็ไม่ไหวแล้วต้องปล่อยเลยตามเลย

         “……๑๒    กรกฎ    ๒๔๘๔      ตอนเช้าฉันเดินไปโรงเรียน กับกรรณิกา น้องฉัน (นายหิรัญมีน้องสาวคนเดียว ปัจจุบันนี้ ลูกสาวของอาผมคนโต ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เชียงใหม่ อ.แม่ริม ประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว เป็นชาวเชียงใหม่ไปหมด ไม่ได้คิดกลับมาอยู่ที่โพธารามอีกเลย) กรรณบอกว่าอยู่บ้านเขากลุ้มใจ   สู้กลับไปบ้านเราไม่ได้  ฉันไม่ขัด  ตามใจแต่มีรถคันเดียว  เลยเดินคุยกันมาเพลิน  ถึงหน้า  ร.ร.  มองไปเห็นมีแต่น้ำ  เมื่อวานนี้ยังไม่มีสักหยด  วันนี้มีน้ำมาทางไหนกัน  ถามนักเรียนบอกว่า  ทางคลองวัดท่าวัว (วัดสนามชัย) พังจึงไหลล้นมาทางทุ่งนี้   ทุ่งนี้มีข้าวออกงาม   ฉันคิดว่าจะได้กินดี  แต่ผิดคาด  น่ากลัวจะอดเสียอีกก็มิรู้   หน้า  ร.ร.  มีแต่น้ำเต็มไปหมด   น.ร. เดินลำบากอยู่แล้ว  ยังจะท่วมมาที่ร.ร. อีก  เวรกรรมแท้ๆ………… “
 

         ปี พ.ศ.  ๒๔๘๔    น้ำได้ท่วมเจ็ดเสมียน      พอต่อมาอีกปีหนึ่ง       คือ พ.ศ. ๒๔๘๕    น้ำก็ได้ท่วมอีก  ดังบันทึกของนายหิรัญ ดังต่อไปนี้

        “…… พฤศจิกายน  2485     น้ำลดทางกรุงเทพฯ แล้ว  แต่ทางบ้านเราน้ำกลับขึ้นยกใหญ่  ประมาณชั่วโมงละ  6  เซนติเมตร  เดือน  12  ขึ้น  7  ค่ำแล้ว  น้ำยังมากยังจะขึ้นมาทำไมกันอีก  ไม่ต้องการน้ำแล้วข้าวก็สุกบ้าง  ราวแรม ๆ เดือนนี้ก็จะลงมือเกี่ยวกัน น้ำมากยังนี้ปลามันก็จะกินข้าวหมดเท่านั้นเอง  แล้วปีหน้าจะเอาอะไรกินข้าวมิแพงใหญ่หรือ  ทีจะได้กินแล้วนะน้ำกลับจะมาผลาญเสียหมดก็ไม่รู้
        มีคนว่าเจ้าแม่เบิกไพร (ศาลเจ้าแม่เบิกไพร อยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง) ท่านทำนายไว้ว่า  น้ำจะท่วมมิดหลังคาบ้านเป็นเวลาถึง   2  ชั่วโมง  โอ้โฮ  มิแย่กันใหญ่หรือบ้านฉันอยู่โรงดินพื้นที่ยิ่งเตี้ยอยู่ด้วย  ถ้าท่วมมากจนอย่างนั้น มิต้องขึ้นไปอยู่บนขื่อกันหรือนี่  ไม่เป็นไปได้หรอกน่าทำใจดี ๆ ไว้เถอะ  ถ้าจริงก็ไปอยู่บ้านน้าก็ได้เรือนสูงออกอย่างนั้น  คงไม่ท่วม  ถ้ายังจะท่วมอีกก็เป็นน้ำล้างโลกกันเลยเถอะ…..”
        “.......น้ำคราวนี้ขึ้นเร็วจริง  เมื่อวานนี้ตอนเช้าฉันไปล้างเท้าที่ท่าน้ำ  น้ำยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่งสัก   1  เมตร  ตอนเพลฉันไปดูอีก  เหลือราว  40  ซม.  และน้ำไหลเข้าคลองเจ็ดเสมียนแล้ว พอตอนเย็นน้ำคลองก็ล้นมาทางคลองหน้าบ้านฉัน  ประมาณสัก 17.00  น. น้ำหน้าบ้านฉันก็เต็มไหลปึงทีเดียว   มาเมื่อเช้านี้น้ำก็เต็มตลิ่งที่หน้าบ้านฉันน้ำเต็มไปหมด  สนามหน้าโรงเรียนเต็มไปด้วยน้ำ   ตั้งแต่วานจนวันนี้เช้าน้ำขึ้นร่วม  2  เมตรอะไรรวดเร็วอย่างนั้น  ถ้ายังขืนขึ้นอยู่เสมอก็เห็นจะเป็นจริงอย่างเจ้าแม่เบิกไพรว่าเป็นแน่……”

      “…..16    พฤศจิกายน   2485    เช้าฉันไปโรงเรียนน้ำที่หน้าโรงเรียน (วัดเจ็ดเสมียน)เต็มไปหมด  ท่วมไปถึงตัวโรงเรียน   ตั้งแต่ก่อนๆมายังไม่เคยน้ำท่วมอย่างนี้เลย  มีนักเรียนมาเรียนไม่ถึง   50  คน  เพราะตามถนนหนทางน้ำท่วมทั้งนั้น  ครูใหญ่ไปโพธารามว่าจะไปเบิกเงินเดือน   ถึงมีนักเรียนน้อยฉันก็ต้องเข้าเรียน  ครูใหญ่ไม่ได้สั่งจะหยุดเรียนไม่ได้
         น้ำช่างขึ้นเร็วแท้ๆและมากเสียด้วย  ที่หน้าโรงเรียนน้ำเลยหน้าแข้ง  เด็กๆตามบ้านพงสวาย(เลยวัดใหม่)มาเรียนไม่ได้น้ำท่วมหัว  ถ้าจะมาต้องมาเรือ  ตามทางรถไฟน้ำก็ปริ่มๆจะล้นอยู่ทั้งนั้น ได้ยินพวกกุลีพูดกันว่าที่หน้าสถานีคลองตาคด  น้ำไหลผ่านทางรถไฟรถเดินไม่ได้   เออ  นี่มันน้ำอะไรกันหนอ   จะมาทำความลำบากให้ประชาชนพลเมืองอีกแล้ว  ข้าวในทุ่งเหลืองเป็นสีทองจวนจะเกี่ยวได้  จะมาเสียเพราะน้ำครั้งนี้ก็มิรู้  

        ถ้าลงเร็วสักหน่อยก็จะมิเป็นไร  ถ้าอยู่อย่างนี้สัก  10  กว่าวัน  ชาวนาบางคนเห็นจะต้องร้องไห้กันบ้างเป็นแน่  คนที่เขามีเงินน่ะเขาไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกันหรอก  วิตกแต่พวกเราคนจนจะลำบาก   ถึงข้าวจะแพงถังละกี่บาทเขาก็ซื้อกินได้เพราะเขามีเงิน   เราคนจนจะเอาอะไรซื้อมิแย่หรือ  ถ้าอย่างนั้นจริงบ้านเมืองคงเกิดจลาจลกันใหญ่ 

        เทพเจ้าทั้งหลายจงช่วยคนจนๆบ้างเถิด  คนรวยไม่ต้องช่วยเขาๆก็ไม่ตาย  คนจนนะซิจะตายก่อน  แต่พระเจ้าจะช่วยคนที่ขยันขันแข็งอุตส่าห์ทำมาหากิน เท่านั้น คนเกียจคร้านพระเจ้าจะไม่ช่วย  ถ้าใครอยากให้พระเจ้าช่วยต้องขยันทำมาหากิน......... "

                                        

                                                                   แม่กลอง
                                                                       

                                                ประพันธ์เนื้อร้อง   ชาลี อินทรวิจิตร

                                                        ประพันธ์ทำนอง    สมาน  กาญจนผลิน

                                                        สุเทพ  วงศ์กำแหง  ขับร้อง

        สายชลแม่กลอง เหมือนดังละอองน้ำตก ใสดังกระจก เปรียบดังจิตใจเจ้าของ
พี่ลอยรักให้ ฝากไปในสายแม่กลอง ขอเชิญให้น้อง ครองความรักไว้เถิดหนา
        สายชลเชี่ยวนัก แพ้ใจรักจริงของพี่ รักลอยมานี่ ดั่งใจพี่ครวญใฝ่หา
นางนวลขาวผ่อง ไม่ผ่องเกินนวลแก้วตา เนื้อนวล นวลกว่า นวลนกนวลปลาไหนๆ
       กลางกระแสร์แลล้วนโป๊ะล้อม เขาลงอวนอ้อมล้อมสกัดมัจฉาเอาไว้  แม้นพี่เป็นปลาไม่ปรารถนา

เข้าอวนของใคร พี่จะขออยู่แต่ใน อวนใจน้องเจ้าเท่านั้น
        สายชลแม่กลอง น้ำนองสองฟากล้นฝั่ง  น้ำใจจงหลั่ง พอได้ประทังชีพฉัน สายน้ำมิอาจ ตัดขาดออกไปจากกัน สายใยสัมพันธ์ ขาดกันมิได้หรอกเอย ...........
         

                          .......................................................................

        

          สองภาพข้างล่างนี้ สามสาว เด็กเจ็ดเสมียน นั่งกันอยู่ที่หาดทราย ฝั่งตรงกันข้ามกับตลาดเจ็ดเสมียน  ซ้าย คุณนวลปรางค์ คุ้มประวัติ (พี่สาว ไอ้เหม่ง) กลาง คุณอารีย์ สุวรรณมัจฉา น้องสาวของผม ริมขวา คุณ อาภรณ์ ลักษิตานนท์ (น้องสาวคุณ รังสฤษดิ์)

         ส่วนรูปล่างนั้น คุณอาภรณ์ ยืนอยู่ที่หาดทรายอันกว้าง และยาว หลายกิโลเมตร ของหาดตรงข้ามกับตลาดเจ็ดเสมียน ซึ่งหาดทรายนี้ ตอนเย็นๆพวกเด็กเจ็ดเสมียน ชอบข้ามน้ำมาเล่นกันอยู่เสมอ คุณอาภรณ์ กระซิบกับผมว่า ไม่ได้ให้ดูคนที่แสดงแบบนะ แต่ตั้งใจให้ดูหาดทรายต่างหาก ว่า เดี๋ยวนี้มันหายไปไหนหมด แหะ แหะ ! 

 และสองภาพนี้ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมนะครับ


 

 

          นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วมที่ ตลาด และ โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน เมื่อ ปี พ.ศ. 2484 - 2485

        ปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยมีน้ำทางเหนือ ไหลบ่าลงมาท่วมบ้านเรือน โรงเรียน และตลาดเจ็ดเสมียนให้เห็นอีกเลย เพราะเหตุว่าทางการได้สร้างเขื่อนใหญ่ กั้นน้ำเอาไว้ ชื่อว่า  เขื่อนศรีนครินทร์  เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรก ของ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง สร้างขึ้น บนแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็น เขื่อนแห่งที่ 8 ในจำนวน 17 แห่ง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างขึ้นเพื่อ อำนวยประโยชน์ทางด้านต่างๆ ตลอดจนช่วยพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ของราษฎร และส่งเสริมให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม

       

         งานก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มเมื่อปี 2516 แล้วเสร็จในปี 2523 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญ พระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทร์ มาขนานนามเขื่อน และเสด็จ พระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2524

        จะมีบางครั้งอยู่บ้างที่น้ำท่วมตลาดเจ็ดเสมียน ก็เป็นแต่เพียงน้ำฝน ที่ตกลงมามากๆ น้ำฝนระบายลงแม่น้ำไม่ทัน น้ำก็เลยท่วมตลาด แต่ก็เป็นเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ก็แห้งไป....................


         ข้อความข้างบนของผมสองบรรทัดนั้นเป็นความเข้าใจผิดของผมอย่างมากมายเลยทีเดียว เพราะว่าในวันนี้ (29 กันยายน 2551) ผมได้รับ จดหมายจากท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง  ท่านได้ แนะนำผม เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมที่เจ็ดเสมียนนี้   ผมเห็นว่ามีประโยชน์มากและ ท่านผู้อ่านทุกท่าน จะได้รับความรู้เพื่มขึ้นอีก ผมจึงขออนุญาตินำเอาจดหมายฉบับนี้ลง ตรงเรื่องนี้เลยนะครับ  และถ้าจะให้ดี ถ้าคุณ "เด็กรุ่นลูก"   มีภาพเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมนี้ สักภาพ สองภาพ แล้วส่งทางเมล์ก็ได้ มาให้ผม ผมจะรีบลงเอาไว้ตรงนี้เพื่อเป็นหลักฐานกับท่านผู้อ่านท่านอื่นๆต่อไปครับ  

ขอขอบคุณอย่างสูงครับ
นายแก้ว



จดหมายนั้น มีข้อความดังนี้ครับ

     สวัดดีครับท่านผู้เขียน เรื่องราวตลาดเจ็ดเสมียน ผมชอบมากเลยครับ และเพื่อนๆผมก็คนตลาดในเจ็ดเสมียนพวกผมรู่น ลูก-และหลkนอายุอยู่ช่วง 40-42 ปีครับ
          และที่ท่านเล่าเรื่องน้ำท่วมเจ็ดเสมียน นั้นผมขอแนะนำนิดหนึ่งครับ ปี พ.ศ. 2539 น้ำได้ท่วมตลาดในเจ็ดเสมียนอย่างมากประมาณ ครึ่งเดือนได้ครับ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2539 ได้รับเสียหายอย่างหนักในตำบลเจ็ดเสมียนทั้งหมดครับและในตลาดเจ็ด-เสมียนน้ำท่วมสูงถึงประมาณ 0.70 - 0.80 เซ็นติเมตรครับ
          พวกผมหวังว่าท่านจะเป็นกำลังหลัก ในการเสนอแนะประวัติเก่าๆ ของคนบ้านเราในตลาดเจ็ดเสมียนครับ
 

ขอแสดงความนับอย่างสูง
เด็กรุ่นลูก

 

น้ำท่วมในตลาดเจ็ดเสมียน จนกระทั่งหลานของผมเอง (นาย a) พายเรือเล่นที่หน้าบ้านได้  มองไปข้างหลังจะเห็นโรงที่สำหรับขายของ (ร้านอาหารนายกลึงและลูก Naikrung @ san)  อยู่หลังสถานีรถไฟ ก็โดนน้ำท่วมเหมือนกัน ถ่ายเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2539

      ภาพนี้คุณอารีย์และคุณปราณี สุวรรณมัจฉาน้องสาวของผมเป็นผู้ส่งมาให้ลงเพื่อท่านผู้อ่านทุกท่านครับ  

                                                     

                                

             น้ำท่วมเจ็ดเสมียน เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖  ภาพนี้ถ่ายกันที่ท่าน้ำตลาดเจ็ดเสมียน จะเห็นหัวบันไดไม้โผล่ขึ้นมานิดหน่อย แต่ตัวบันไดไม้ ที่ทอดลงไปในแม่น้ำนั้นจมหายไปหมด ทางด้านซ้ายมือของภาพนั้นถัดไปอีกไม่ไกลนักจะเป็นสถานที่สร้างสะพาน ข้ามแม่น้ำเจ็ดเสมียในปัจจุบันนี้ ภาพนี้ถ่ายกันในโอกาสที่ผมพาเพื่อน ๓ คนมาเที่ยวที่เจ็ดเสมียน เพื่อนทั้งสามคนนี้ทำงานอยู่ที่การรถไฟ ที่เดียวกันกับผม จากซ้าย แก้ว สุวรรณมัจฉา  (ตัดผมทรงลานบิน). ประยงค์ บุญยืน,รณรงค์ ตั้งเติมทอง,วันชัยพรหมภา.เพื่อนทั้งสามคนนี้ ปัจจุบันนี้ผมพยายามติดต่อ ยังติดต่อกันไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหนกันหมดแล้ว

                                          

                                             โปรดติดตามตอนต่อไป กำนันโกวิท (ตอนสุดท้าย) ที่นี่ที่เดียว

 

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้193
เมื่อวานนี้496
สัปดาห์นี้689
เดือนนี้13607
ทั้งหมด1343491

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online