กำนันโกวิท (ตอนสุดท้าย)

   มาเข้าเรื่องของกำนันโกวิท เจ้าพ่อแห่งตำบลเจ็ดเสมียน ในอดีตกันอีกครั้ง เดิมทีกำนันโกวิทคนนี้คง จะเป็นคนทางวัดสมถะ หรือไม่ก็ทางตำบลบางโตนด บ้านเดิมของไอ้เหม่งมัน หรืออีกทีหนึ่งก็อาจจะเป็น คนทางวัดสนามชัยก็เป็นได้
   ันนี้ขอโทษด้วยที่ไม่รู้จริง เดาเอาและ นายหิรัญ  สุวรรณมัจฉา ก็ไม่ได้บันทึกเอาไว้เสียด้วย และที่ผมคิดว่าคงเป็นคนทางสมถะ หรือบางโตนดนั้นเพราะว่าเพื่อนผมอีกหลายคนก็นามสกุล วงศ์ยะรา (ตำรวจทางหลวงคนหนึ่ง ด.ต. สุวรรณ ก็นามสกุล วงศ์ยะรา) บ้านเขาก็อยู่แถวๆบ้านสมถะ ซึ่งขึ้นเหนือเจ็ดเสมียนไปประมาณ 2 กิโลเมตรแล้วข้ามน้ำไป โดยเรือจ้างคนละ 25 สตางค์ 

   มีคนนั่งคนเดียวก็ไป ไม่มีการรอคนให้เต็มเรือเสียก่อน แล้วค่อยไปอย่างกับ รถเมล์สายสั้นวิ่งระหว่าง บ้านโป่ง -โพธาราม – ราชบุรี ที่เรียกว่ารถ เชฟ ไวกิ้ง ต้องเรียกคนให้เต็มเสียก่อนแล้วค่อยออก

   ถ้าคนยังไม่เต็มแต่ถึงเวลาออกแล้วมันก็ติดเครื่องเข้าเกียร์ โยกอยู่นั่นแล้ว รถก็โยกไปโยกมา ไม่เคลื่อนที่สักที แม่ค้า พ่อค้า ที่เป็นผู้โดยสารเวียนหัวจะอ้วกแตกกันให้ได้ ต่างคนต่างก็เอามือบีบขมับ ควักผ้าออกมาเช็ดน้ำหมากที่มุมปาก ด่ากันพึม

   กำนันโกวิทนี้มาอยู่เจ็ดเสมียนตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบได้ มาเมื่อแรกนั้นมาเป็นครูก่อน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นครูแล้วก็ได้เป็นกำนันตำบลเจ็ดเสมียนนี้ ตอนที่จะเป็นกำนันนั้น ก็มีเรื่องที่นายหิรัญได้บันทึกไว้ดังนี้


         “.......๑๓     กรกฎ    ๘๔   ตอนเพลหลวงพ่อบอกว่ากำนันเขาว่าเขาจะลาออก (ก่อนหน้านั้น ขุนจำนงกิจประชา เป็นกำนันตำบลเจ็ดเสมียนอยู่ )  ยังไม่เห็นมีใครจะแทนกำนันได้ เวลานั้นละก้อใครๆก็ว่ากำนันคนนี้ไม่ดี  เวลานี้พอเขาจะลาออกจริงๆก็มองไม่เห็นใคร

    การเป็นกำนันก็ยากเหมือนกัน แต่ก่อนไม่มีเงินเดือน เดี๋ยวนี้มีเงินเดือน  ๕ บาท ผู้ใหญ่บ้านมีเงินเดือนๆละ ๑ บาท  การปกครองคนนี่ไม่ใช่ง่าย  คนโน้นอย่างโน้น คนนี้อย่างนี้จุกจิกเหลือเกิน ให้ฉันเป็นละก้อไม่ขอรัประทานละ  มองดูคนทุกๆคนในตำบลเจ็ดเสมียนนี้แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครที่กล้าออกหน้าออกตาเอาการเอางาน ที่จะเป็นกำนันแทนขุนจำนงฯ ได้ 

         เห็นอยู่คนเดียวก็คือครูโกวิท  วงศ์ยะรา ครูใหญ่ของฉันนี่แหละที่เป็นคนเอางานเอาการ ถ้าไม่ผิดแล้วละก้อจะไม่กลัวใคร แม้แต่นายอำเภอ และข้าหลวง (ผู้ว่าราชการ) แต่แกจะสละตำแหน่งครูใหญ่ มาเป็นกำนันเทียวหรือ   เป็นไปไม่ได้ละ  ฉันคิด ! บางทีเขาจะมีอะไรดีๆซ่อนอยู่ก็ได้  ว่าไม่ได้คนเราบางคนเป็นเสือซ่อนเล็บ เอาจริงเข้าแล้วก็ไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ว่าแต่ขุนจำนง ฯ กำนันเก่าเถอะแกจะลาออกจริงๆหรือๆเพียงแต่พูดเล่นสนุกๆ เท่านั้นหรอก  ?........”

         “..........๒๖    กันยายน   ๒๔๘๕   วันนี้ครูใหญ่  (นายโกวิท)  เรียกประชุมครู พวกเราไปพร้อมกันแล้วครูใหญ่แกพูดว่า ที่เรียกมาประชุมกันนี้ก็เพื่อจะบอกให้รู้ว่า แกจะลาออก ๑ ตุลานี้ (พ.ศ.๒๔๘๕) เพื่อไปประกอบอาชีพทางอื่น แกเป็นครูมาตั้ง ๒๑ ปีแล้ว 

    แกว่าลาออกไปนี้ มิใช่ว่าจะมีท่าอะไรหรอก เป็นแต่เบื่องานชนิดนี้เหลือเกิน ทำแล้วไม่มีก้าวหน้าและจนมากด้วย จึงอยากจะเปลี่ยนทางเดินเสียบ้าง  การเป็นครูก็พอกินไปเดือนๆหนึ่งเท่านั้น  หารวยยาก  แกว่าแกออกแล้วบางที ครูแฉล้มวัดตึกจะได้มาทำการแทน และขอให้พวกเราจงมีความสามัคคีต่อกัน  หนักนิดเบาหน่อยก็อดไว้  อย่าให้แตกสามัคคีกันให้จงได้  และให้ช่วยกันดำรงไว้อย่าให้โรงเรียนเสื่อมลง

    ครูใหญ่ ( นายโกวิท ) แกจะลาออกแล้วพวกเรามีความอาลัยแกมาก  แกอยู่โรงเรียนๆก็เรียบร้อยดี พูดจาเฉียบขาดพูดอะไรไม่ตามใจใคร เวลามีงานอะไรแกแข็งแรงแข็งขันมาก จะแข่งขันกีฬาหรือมวยไม่เคยน้อยหน้าใคร  เคยได้ถ้วยได้เหรียญรางวัล ได้ถ้วยแล้วก็มาไว้ที่โรงเรียนมากมาย จะทำการติดต่อกับประชาชนและทางราชการก็ได้ดี ใครๆก็รู้จักเคารพนับถือ  ของอะไรทิ้งไว้ที่โรงเรียนไม่มีหาย

    ฉันมาอยู่นี่ร่วม ๗ ปีแล้ว  ได้รับความสุขบริบูรณ์เพราะความอุปการะของแก  แกขอเงินเดือนขึ้นให้ ๓ ครั้งแล้ว ถ้าฉันไปอยู่ ร.ร.อื่นคงไม่มีความสุขอย่าง ร.ร.นี้เป็นแน่ 

    แกลาออกแล้วฉันรู้สึกเสียดายแกอย่างมากทีเดียว แต่ตามธรรมดาคนเราเมื่อลงเบื่อแล้วก็ไม่อยากทำทีเดียว  ถึงทำไปก็ไม่ได้ผล แกว่าจะเลี้ยงหมูสักคราวแกมีหมูเทาขนาดใหญ่แล้ว ๒๕ ตัวถ้าขายได้คงได้เงินหลายทีเดียว …….”
          “……..เห็นเขาออกกันเราก็นึกอยากออกบ้าง  แต่ยังไม่มีท่าอะไรจะออกไปทำอะไรกัน คนเรามันสำคัญที่ข้าวเท่านั้น   ถ้ามีข้าวกินแล้วเงินเดือนก็คงเหลือ จะทำสิ่งอื่นกำไรก็คงมีเงินเหลือ    บางคนที่เขาจนกว่าเราแต่เขาไม่เดือดร้อนเท่าเรา ก็เพราะเขามีข้าวกิน  มีข้าวกินแล้วถึงไม่มีกับข้าว ก็พอจะหากินเอาเองได้     ผักต่างๆจิ้มน้ำพริกก็ไปได้มื้อหนึ่ง  คนไทยยังกินผักหญ้าได้คงไม่อดตายเร็ว  นี่เราไม่มีข้าวกินพอเงินเดือนออก ก็ต้องซื้อข้าวกินแล้ว   เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า  ๗  บาทแล้วยังซื้อสิ่งของอื่นๆ  เดือนหนึ่งก็หมดกันพอดีจะเอาเงินที่ไหนมาเหลือ 
 คนที่ไม่รู้ความจริงก็ว่าคนมีเงินเดือนกินนั้นรวยเพราะได้ทุกเดือน   เขาคิดแต่ทางได้ไม่คิดทางใช้จ่ายไปบ้าง  สู้มีนาสัก  ๑๐  ไร่ทำนากินยังดีกว่าทำเงินเดือนอีก  ที่ฉันคิดมาอยู่เจ็ดเสมียนนี้ก็เพื่อจะให้ก้าวหน้ายิ่งกว่าอยู่ที่ โพธาราม   ชั้นแรกต้องมีข้าวกินเสียก่อน  เมื่อมีข้าวกินแล้วจึงค่อยคิดทางอื่นต่อไป
         “……..๑   ตุลาคม   ๒๔๘๕  วันนี้ครูใหญ่ (นายโกวิท)ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งครูไปแล้ว  ทางอำเภอได้ให้ฉันรักษาการณ์แทน ไปจนกว่าจะส่งครูใหญ่มา
         ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแปลงเวลาเรียนใหม่   คือเข้าเรียน  ๘.๐๐  น.  เลิกเรียน  ๑๔.๑๕  น.  เพื่อให้ตรงกับเวลาชักธงเวลาเช้า  ๘.๐๐ น……..”
      
“......๑๘  ตุลาคม   ๒๔๘๕   ครูโกวิทพูดว่าพอแกลาออกจากโรงเรียนไปแล้ว   ต้นยางหน้าศาลาเลยพลอยตายไปด้วยแปลกจริงๆ   ต้นยางต้นนี้สูงมากยืนอยู่ที่สถานีรถไฟ โพธาราม  มองมาทางเจ็ดเสมียนเป็นต้องเห็นต้นยางต้นนี้ก่อนอื่น  ทีนี้ตายแล้ว  ที่เจ็ดเสมียนไม่มีที่หมายแล้ว
         ฉันคิดว่า  เจ็ดเสมียนเคยเด่น  ไม่ว่าเรื่องอะไรขึ้นชื่อเจ็ดเสมียนแล้ว  ใครๆต้องยกนิ้ว ใครๆต้องรู้จัก  เช่น แข่งขันกีฬาเป็นต้น  เหมือนกับต้นยางสูง  มองที่ไหนก็แลเห็นเมื่อตายแล้วก็ไม่เด่น   ครูโกวิทลาออกจากครูไป โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนนี้เชื่อว่าคงด้อยไปบ้าง ……..” 

        “……28    มกราคม   2486   วันนี้ได้มีการโค่นต้นยางหน้าโรงเรียน   ต้นที่ยืนตายเมื่อ  3  เดือนก่อนนั้น    และเป็นต้นที่สูงมาก จนอยู่หน้าสถานีรถไฟ โพธารามก็มองเห็น ได้ล้มลงแล้ว การโค่นเป็นไปเพียง  3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้น  ต้นยางสูงตั้งเส้น 2  เส้น ก็ล้มลงอย่างง่ายดาย    ยางต้นนี้มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี  แต่เมื่อถูกโค่นก็กินเวลา แค่ 3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้น  เมื่อเทียบกับอายุที่ได้ดำรงชีพมาแล้ว  ผิดกันไกลนัก  เหมือนกับความชั่วดีของมนุษย์ อันความดีนั้นต้องทำกันนาน จึงจะมองเห็นความดี   บางคนตายแล้วความดีจึงจะปรากฏ   แต่ความชั่วนั้นจะทำก็กินเวลาไม่นาน  เดี๋ยวเดียวก็รู้ว่าชั่วได้  คล้ายกับสิ่งปลูกสร้างต่างๆ  เมื่อจะสร้างขึ้นก็กินเวลานาน  ถ้าไม่ชอบใจจะรื้อ ไม่นานเท่าใดก็จะแล้วเสร็จ  เป็นการง่ายกว่าการสร้างมาก


         เรือนสตะคามวิทยาที่ฉันสอนนักเรียนอยู่นั้น ก็มีอายุเก่าแก่และก็มีที่เก่าแก่สลักหักพังไปบ้าง  ถ้าไม่ซ่อมแซมแล้วก็นับวันจะผุพังลงไป   บันไดข้างเหนือของเรือนนี้ก็ได้หักไปหนึ่งขั้นเพราะความรบกวนของดินหุน  แต่ฉันไม่เห็นครูใหญ่ (ตอนนี้ครูแฉล้ม คงมั่น  เป็นครูใหญ่อยู่  แต่เป็นได้ไม่นานก็ลาออกไปเป็น ปลัดตำบล)  จัดการทำใหม่ให้ดีขึ้น ฉันต้องเอากระดานออก  และปิดประตูไม่ให้นักเรียนขึ้นลง   เกรงว่าจะเกิดภัยขึ้นได้  ครูแฉล้มแก เห็นแล้วก็เฉยๆ  ไม่ว่าอะไร  ฉันออกนึกแปลกใจว่าทำไมแกช่าง ไม่เอาใจใส่เสียเลย  ฉันเป็นแต่เพียงครูรอง  ไม่กล้าออกหน้าออกตา  จะเป็นการเกินเลยไป
           ต่อไปนี้จะไม่ได้เห็นต้นยางอันสูง  เสมือนเป็นอนุสาวรีย์ของเจ็ดเสมียนนี้อีกแล้ว  แร้งก็ขาดที่พักไปอีก  1   ที่  ต้นยางในวัดก็จะรู้สึกว่าขาดเพื่อนไปอีก 1  ต้น  และต่อนี้ไปก็จะไม่ได้เห็น ยางสูงไม่มีที่หมายต่อไปแล้ว  แต่ขออย่าให้วัด โรงเรียน ตลาด และตลาดนัดของเจ็ดเสมียนเสื่อมต่ำลงไปด้วยเลย  ………”

         

         ขอทิ้งท้ายเรื่องที่เกี่ยวกับท่านกำนันโกวิทวงศ์ยะราอีกสักหน่อยย้อนไปในสมัยก่อนนั้น ตลาดเจ็ดเสมียนไม่มีไฟฟ้านะครับ  ตกค่ำยิ่งถ้าเป็นหน้าหนาว มันก็จะมืดเร็วกว่าปกติ ห้องแถวในตลาดเจ็ดเสมียนนั้นพอตกค่ำลง ถ้ามองจากภายนอกแต่ไกลๆแถวๆสถานีรถไฟเข้ามา จะมองเห็นแสงไฟ วอมแวม เหมือนแสงไฟจากเรือจับปลาหมึกแถวๆ ทะเลหน้าเขาตะเกียบ ที่หัวหิน  แสงไฟที่แต่ละบ้านจุดเพื่ออาศัยความสว่างนี้ ส่วนใหญ่มาจากตะเกียงโป๊ะ

        ท่านที่พอมีอายุแล้วและอยู่ตามชนบทต่างจังหวัด คงเคยเห็นและเคยใช้กันบ้างนะครับ มันเป็นตะเกียงที่มีปล่องเป็นแก้วสูงๆ สำหรับกันลมได้เป็นอย่างดี ส่วนไส้ตะเกียงนี้ก็เป็นเชือกถักแบนๆกว้างประมาณ 1 นิ้วฟุต  เชื้อเพลิงที่ใช้คือน้ำมันก๊าด สมัยนั้นไม่ได้แพงมากอย่างเดี๋ยวนี้หรอกครับ เมื่อเร็วๆนี้ ผมไปซื้อที่ตลาดในตัวอำเภอที่ผมอยู่ 1 ขวดแม่โขง ซึ่งปริมาณไม่ถึงลิตร ราคา 60  บาทซึ่ง แพงมากๆ ส่วนบางบ้านที่พอมีเงินก็หาซื้อตะเกียงเจ้าพายุมาให้ความสว่าง และเหมือนจะประกาศว่า บ้านฉันทันสมัยกว่าบ้านเธอนะจะบอกให้ 

 

           จากภาพเจ๊แดง (ซ้าย) เจ๊ แด๊ว ขวา วัยรุ่นของตลาดเจ็ดเสมียนในสมัยเมื่อ  เกือบ 50 ปีก่อน  เจ๊ แดงนั้นเป็นน้องสาวของ เฮีย สุพี บ้านอยู่ในตลาดใกล้ๆกับบ้านเจ๊ แด๊ว ซึ่งเป็นลูกสาวนายซุ่ย ร้านทำทองง่วนหลีเฮง ยืนถ่ายภาพอันสวยงามนี้ที่เสาธง หน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน  เนื่องในงานอะไรก็ไม่ทราบได้ (น่าจะเป็น งานสงกรานต์ แห่ดอกไม้ ซึ่งที่เจ็ดเสมียนนี้จะมีทุกปี เป็นประเพณี จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้)

 




ภาพตะเกียงเจ้าพายุ ของบ้านนายซุ่ย ร้านทำทอง 

 

        คำวันหนึ่งผมเห็นมีคนหลายคน มุงดูอะไรอย่างหนึ่งที่หน้าบ้านกำนัน โกวิท ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น  เมื่อผมไปถึงผมเห็น เพื่อนๆเด็กเจ็ดเสมียน  และลูกกำนันอีกหลายคน ยืนดูกำนันแกกำลังสูบลมของสิ่งหนึ่ง มีโป๊ะแก้วลักษณะเป็นตะเกียง อ๋อ กำนันโกวิท เขากำลังจุดตะเกียงเจ้าพายุ นั่นเอง  ตะเกียงแบบนี้คนแรกที่นำมาใช้ในตลาดเจ็ดเสมียนก็คงจะเป็นกำนันโกวิทนั่นเอง

        ในตอนหลังก่อนมีไฟฟ้าใช้ในตลาดเจ็ดเสมียนก็มีตะเกียงเจ้าพายุใช้กันหมดแทบทุกบ้าน รวมทั้งที่บ้านผมด้วย วิทยุแบบที่ใช้ถ่านไฟฉายเป็นลังๆ มีไฟสูงไฟต่ำใช้หลอด 4 หลอด 8 หลอด ผมเห็นที่บ้านกำนันโกวิท น่าจะมีก่อนใครๆ ตอนค่ำและตอนเช้าๆ จะได้ยินเสียงข่าวของ กรมประชาสัมพันธ์ส่งกระจายเสียงมา


        จำได้ว่าเป็นเสียง ของ  นายแม่น ชลานุเคราะห์  กำลังอ่านข่าวอยู่ (ถ้าไม่ใช่ก็ขออภัยด้วยครับ) ได้ยินชัดเจนจากวิทยุ 4 หลอด หรือ 8 หลอด ดังมาจากบ้านกำนันทุกวัน(หลังจากนั้นอีกนาน ที่บ้านผม ก็ขวนขวาย มีวิทยุที่ใช้ถ่ายไฟฉายตรากบ เป็นลังๆ ยี่ห้อ เออเรส กับเขาด้วยเหมือนกัน )

        โดยเฉพาะที่สำคัญก็คือ กำนันโกวิท ผู้นี้ เป็นผู้สร้างตลาดเจ็ดเสมียนอีกแถวหนึ่ง ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว ตลาดเจ็ดเสมียนจึงมี สองแถวหันหน้าเข้าหากันจนทุกวันนี้ 

กำนันโกวิท วงศ์ยะรา กำนันตำบลเจ็ดเสมียนได้รับการยกย่องจากทางราชการ ให้เป็นกำนันดีเด่นของอำเภอ และเป็นกำนันนักพัฒนาระดับจังหวัด จนได้รับการคัดเลือกให้ไปดูงานที่ต่างประเทศ
ผลงานชิ้นสำคัญของท่านกำนันโกวิท ซึ่งเป็นผู้มองการณ์ไกลผู้นี้ ได้ทำการของบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข จนได้รับอนุมัติให้สร้างโรงพยาบาลที่ตำบลเจ็ดเสมียนนี้ได้ ซึ่งโรงพยาบาลเจ็ดเสมียนแห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว และแห่งแรกของประเทศไทย ที่ชนบทระดับตำบลมีโรงพยาบาลได้
ประชาชนคนเจ็ดเสมียนได้แซ่ซร้อง ยกย่อง สรรเสริญ ให้กำนันโกวิท วงศ์ยะราเป็นปูชนียบุคคล โดยสร้างรูปปั้นท่านไว้ที่หน้าโรงพยาบาลเพื่อให้เกียรติแก่ท่าน
และภาพนี้ เป็นภาพประวัติศาสตร์ ในวันที่ท่านกำนันโกวิทเดินทางไป ขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง มีผู้ไปส่งกันมากมาย โดยเฉพาะคนในครอบครัวด้วย มีใครกันบ้างก็พอจะจำกันได้บ้างนะครับ


        ำนันโกวิทเหมือนเทพเจ้า ของคนตำบลเจ็ดเสมียน ที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ด้วยมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล  นี่คือ นายโกวิท วงศ์ยะรา กำนันคนดังแห่ง ตำบลเจ็ดเสมียนในครั้งกระนั้น  

         กำนันโกวิท วงศ์ยะรา ได้เสียชีวิตลงไปเมื่อวันที่ 27  ตุลาคม พ.ศ. 2513  รวมอายุได้ 69 ปี 


        

         เมื่อมีชีวิตอยู่ในขณะดำรงตำแหน่ง กำนันตำบลเจ็ดเสมียน ได้รับการยกย่องให้เป็นกำนันดีเด่น เป็นกำนันคนเดียวที่ได้ไปศึกษาดูงาน ในต่างประเทศถึง 5 ประเทศ  และเป็นกำนันที่เป็นตัวตั้งตัวตี ของบประมาณยกระดับตำบลให้มีโรงพยาบาล  ซึ่ง   เป็นเพียงแค่ตำบล แต่มี โรงพยาบาลใหญ่ ระดับอำเภอ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

 

ภาพโรงพยาบาล โพธาราม ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔  ในขณะนั้นเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ชาวโพธาราม ตื่นเต้น ดีใจกันใหญ่ ที่จะมีโรงพยาบาลในชุมชนเสียที  จะเห็นได้จาก กระดานรายชื่อ ผู้บริจาคเงิน ซึ่งเป็นชาวโพธาราม เสียส่วนใหญ่ ติดอยู่ที่ตึกคนไข้นอกของโรงพยาบาลแห่งนี้ ๕๗ ปีกว่าผ่านมา โรงพยาบาลโพธาราม ได้พัฒนามาเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยเป็นหนึ่งในจังหวัดราชบุรี อยู่ในปัจจุบันนี้

 โปรดติดตามตอนต่อไป "นายไพบูลย์ พงษ์ถิระสุวรรณ ๑" ที่นี่ที่เดียว

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้217
เมื่อวานนี้496
สัปดาห์นี้713
เดือนนี้13631
ทั้งหมด1343515

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online