ย้ายมาอยู่ เจ็ดเสมียน 2

  หนุ่มสาวคนเจ็ดเสมียนรุ่นเก่า คนยืนที่ ๒ จากซ้ายคือกำนันโกวิท วงศ์ยะรา คนยืนขวาสุดคือครูหิรัญ สุวรรณมัจฉา เมื่อสมัยยังหนุ่ม ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๙ ที่หน้าอาคารโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

 บ้านริมน้ำคือห้องสุดท้ายที่เห็นในภาพนี้ ภาพนี้ถ่ายมากว่า ๓๐ ปี ดูภาพปัจจุบันในภาพถัดไป

บ้านริมน้ำในปัจจุบัน

  เมื่อก่อนนั้นตอนที่ผมยังเป็นเด็กอยู่ที่เจ็ดเสมียน ตลาดเจ็ดเสมียนเป็นชุมชนเล็กๆ มีห้องแถวไม้ ๒ แถวอยู่หลังสถานีรถไฟ  ห้องแถวไม้ ๒ แถวนี้ปลูกไม่พร้อมกัน แถวแรกนั้นด้านหลังติดกับลำคลองเจ็ดเสมียน ท้ายตลาดติดกับริมแม่น้ำแม่กลอง คนทั้งหลายจึงเรียกห้องแถวห้องสุดท้ายนี้ด้วยความเคยชินว่า ร้านค้าริมน้ำหรือบ้านริมน้ำ ห้องแถวเก่านี้จะสร้างกันตั้งแต่เมื่อไรใครเป็นผู้ริเรื่มในการสร้างนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะว่าคนที่อยู่ในรุ่นนั้นได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว และไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ด้วย

   ส่วนห้องแถวที่ปลูกขึ้นทีหลังเรียกว่าแถวที่ ๒ นั้น ปลูกด้านหลังอยู่ติดกับกำแพงโบสถ์ หันหน้าเข้าหาห้องแถวไม้รุ่นเก่า เว้นไว้ตรงกลางระหว่างแถวเก่ากับใหม่ เป็นลานกลางตลาดมีพื้นที่มาก พอที่จะติดตลาดนัดเช้ามืด ทุก ๓ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๓ ค่ำเป็นประจำ  ด้านหลังห้องแถวที่ติดกับโบสถ์นั้น เขาเว้นเป็นช่องทางเล็กๆ เดินไปมาหากันได้ตลอด แต่ในปัจจุบันนี้ แต่ละบ้านกั้นไว้เดินไม่ได้แล้ว

     ด้านหลังห้องแถวนี้ตอนแรกเดินติดต่อกันได้ แต่เดี๋ยวนี้แต่ละบ้านได้ต่อเติมบ้านออกมาชนกับกำแพงโบสถ์กั้นไว้หมดแล้ว     ในตอนนี้ขอกล่าวด้วยเรื่องที่มา ของห้องแถวตลาดเจ็ดเสมียนแถวใหม่นี้สักหน่อยก่อน เพราะเมื่อตอนที่นายหิรัญย้ายจาก โพธาราม เข้ามาอยู่ที่เจ็ดเสมียนแห่งนี้ในครั้งแรก ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนแรก และหลังจากที่ได้ย้ายที่อยู่ในตำบลเจ็ดเสมียนอีก ๓ หน ก็ได้มีที่อยู่ในห้องแถวนี้ เป็นห้องที่ ๘ ของตลาดเจ็ดเสมียนสืบต่อมา ตามบันทึกของ นายหิรัญ  สุวรรณมัจฉา ดังนี้ (ข้อความในวงเล็บ ผู้เขียนเขียนเอง เป็นการอธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ)

ครูหิรัญ สุวรรณมัจฉา เมื่อเป็นครูที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ผู้บันทึกเรื่องนี้และอีกหลายๆเรื่อง ที่จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป

     “….๒๙   มิถุนายน   ๒๔๙๔   เมื่อสองสามวันก่อนไปบ้าน (ตอนนี้นายหิรัญ ได้ออกจากราชการที่เป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนเจ็ดเสมียนแล้ว ได้ไปทำงานเป็นเสมียนโรงเลื่อยที่ หัวหิน) ไปเรื่องห้องที่เจ็ดเสมียน   คือฉันได้เอาห้องไว้ หนึ่งห้อง   กำนัน (โกวิท วงศ์ยะรา ) เขาปลูกตลาดใหม่อีกหนึ่งแถว ๑๑ ห้อง เมื่อ ๑๑ มิ.ย. ๒๔๙๔

    เขาทำการประมูลกัน ห้องหนึ่งราคาแป๊ะเจี๊ยะ (กินเปล่า) ๒.๓๕๐ บาท  รองลงมา   ๑.๗๐๐ บาท  ก็มี  ของฉันห้องที่  ๘  แป็ะเจี๊ยะ   ๑.๘๐๐  บาท ห้องที่แพงที่สุดคือ  ห้องที่  ๑๑  อยู่ริมทางตะวันออกเป็นทำเลดี   (ห้องนี้เป็นของ คุณเซี้ยม ขายน้ำแข็ง และของเบ็ดเตล็ดอื่นๆ คงยังอยู่จนถึงปัจจุบันนี้)  แป๊ะเจี๊ยะ  ๒.๓๕๐บาท ……”

   “....ทีแรกฉันก็ว่าจะเอา แต่สละ (แม่ของผู้เขียน) ไม่เอาฉันก็ตามใจ  เพราะฉันเป็นคนตามใจคน ครั้นเขาทำการประมูลกันไปแล้ว เมื่อฉันไปเจ็ดเสมียนได้ทราบว่า  ใครๆก็ประมูลห้องไปหมดแล้วแต่เถ้าแก่โรงสี เขาประมูลไว้  ๒  ห้อง ยังไม่รู้ว่าจะให้ใคร  จะให้นายยู้ กับ  นายย้อย   แต่ก็ได้ทราบว่า  สองคนนี้ไม่เอา  เฮียเบี้ยว นายฮวง และใครๆก็ยุให้ฉันเอา  บอกว่ามาอยู่ที่ตลาดดีกว่าอยู่ที่นั่นนะ ที่นั่นไม่ใช่บ้านของเราเป็นแต่อาศัยเขาอยู่   ถ้าอยู่ดีก็ดีกันไปถ้าเกิดขัดใจกันขึ้นแล้ว   เราจะลำบากภายหลังเพราะลิ้นกับฟันมันรู้จักกระทบกัน    เดี๋ยวนี้หาที่อยู่ก็ลำบากมาก   ถ้าไม่เอาเสียเดี๋ยวนี้ทีหลังจะไม่มีที่อยู่.........”

 

คุณวิรัช วงษ์วานิช หรือ นายฮวง (ซ้าย) คหบดีแห่งตำบลเจ็ดเสมียน ผู้มีบทบาทสำคัญร่วมกับกำนันโกวิท วงศ์ยะรา ที่เจ็ดเสมียนในอดีต (ทุกท่านในภาพนี้มีความสำคัญทั้งสิ้น จะค่อยๆเปิดตัวต่อไปเรื่อยๆ )

    “...ฉันมาตรึกตรองทบทวนก็คิดเห็นจริงไปตามที่ เพื่อนทั้งสองเขาแนะนำมา แปลกใจที่สละทำไมจึงไม่ชอบอยู่ที่ตลาด คิดตกลงใจแน่นอนจึงบอกกับเฮียเบี้ยวเพราะฉันถือว่า เฮียเบี้ยว (บิดาของคุณโอฬาร ลักษิตานนท์ (อู๊ด))  เป็นเหมือนพี่ชาย และเป็นผู้ที่แนะนำตักเตือนฉันได้   ฉันบอกเฮียเบี้ยวแล้ว เฮียเบี้ยวเขาว่าต้องเอาซิ   ไม่มีเงินมาเอาที่เขาก่อนก็ได้  ฉันรู้สึกขอบใจเขามากแต่ก็ยังเงียบๆอยู่   เพราะคิดว่าจะไปเอาที่โรงเลื่อยก่อนได้ ”

     “...ฉันไม่ได้บอกให้สละรู้รีบไปโพธาราม โดยรถไฟเที่ยวเช้าจะไปหาเถ้าแก่โรงสีแต่ไม่พบคนที่บ้านบอกว่าขี่จักรยานไปโรงสีแล้ว เมื่อผิดหวังฉันรีบขึ้นรถยนต์ ตามไปเจ็ดเสมียนอีก  พบที่โรงสีฉันทำใจให้กล้าเข้าไปหาเขา แล้วถามเลียบเคียงถึงเรื่องห้อง เขาก็ดีบอกกับเราว่าเอาก็เอา  ฉันดีใจมากเขาให้ห้องที่ ๘ สำเร็จแล้วก็นำข่าวดีนี้ไปบอกเฮียเบี้ยว นายฮวง แล้วจึงไปบอกกับสละ  สละ ก็นิ่งเฉย..”

นางสละ สุวรรณมัจฉา

    “..ฉันจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าไปปรึกษาสละละก้อเป็นต้องขัดคอกัน ความเห็นของเขาไม่ตรงกับของเราสักที เช่นเรื่องห้องนี้ก็เหมือนกัน เราจะเอาแต่สละไม่เอาลงท้ายก็เกือบอด นี่ถ้าเถ้าแก่โรงสีเขาไม่ประมูลเอาไว้เราก็อดเท่านั้นเอง ต่อไปถ้าเราไม่อยากอยู่ที่นั่นแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ได้ห้องที่ตลาดแล้วก็เหมือนเป็นบ้านของเรา เราจะทำอะไรก็ได้ เราไม่ชอบใจอยู่ก็เซ้งให้คนอื่นไปอีกทีหนึ่งก็ได้  คิดจะไปอยู่ที่อื่นก็ได้อยู่หรอก แต่จะหมดเปลืองยิ่งกว่านี้มาก และการย้ายบ่อยๆก็ไม่ดียิ่งย้ายก็จะยิ่งหมดไป  เพราะย้ายมาหลายหนแล้ว .. ”

    จากหลักฐานข้อมูลนี้เอง กำนันโกวิท วงศ์ยะรา จึงนับได้ว่าเป็นผู้สร้าง ห้องแถวใหม่นี้ขึ้น และอีก ๔ ปีต่อมา ตลาดเจ็ดเสมียนจึงได้มีไฟฟ้าใช้เป็นวันแรก เมื่อ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๘ โดยกำนันโกวิท วงศ์ยะรา เป็นผู้นำในการริเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าที่ หนองบางงู ในรูปของสหกรณ์ มีโรงน้ำปลา ปั๊มน้ำมัน และการประปาเจ็ดเสมียน รวมอยู่ด้วย..

   ติดตามกันต่อไปเรื่อยๆ แล้วท่านจะได้รับความสนุกสนาน เรื่องราวจะเปิดเผยขึ้นมาอีกมาก ในตำนานเรื่องเก่าๆของชาวเจ็ดเสมียน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเก่าๆ และของเด็กเจ็ดเสมียนในขณะนั้น พร้อมกับภาพเก่าและใหม่อีกมากมาย ขอเชิญติดตามครับ..  

 

นายแก้ว  ผู้เขียน  /  จากบันทึกของ นายหิรัญ สุวรรมัจฉา อดีตครูใหญ่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้305
เมื่อวานนี้736
สัปดาห์นี้1041
เดือนนี้10288
ทั้งหมด1340172

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online