ไอ้เหม่ง ๒ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

 
    น้ำท่วมตลาดเจ็ดเสมียน จนกระทั่งพายเรือกลางตลาดได้ ข้างหลังเป็นร้านค้าหลังสถานีรถไฟ
        
    เมื่อน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสูงมากๆ ก็จะท่วมบ้านเรือน และตลาดเจ็ดเสมียน ท่วมนานเป็นเดือนๆ กว่าจะลงและแห้งไปหมด  ในระยะตั้งแต่น้ำท่วมใหม่ๆ จนถึงน้ำลงจนแห้งหมดนี้ ผมกับไอ้เหม่ง  และเพื่อนๆ ที่เป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียนอีกหลายคนก็ ชอบออกไป ทางทุ่งนอกๆตลาด มีบ่อที่น้ำยังขังอยู่บ้างก็ รวมหัวกัน ลงลุยจับปลากัน 
    ถ้าเป็นบ่อเล็กๆ  ละก็ลงลุยกันเลย แต่ถ้าเป็นบ่อใหญ่ๆ ก็ต้องมีเครื่องมือในการจับปลา คืออย่างน้อยต้องมีแห งม  แหชนิดนี้เขาจะเหวี่ยงแบบให้หลุดมือแล้วจมลงไปก้นบ่อเลย แต่พวกเรายังเด็กๆกันอยู่ เหวี่ยงแหกันยังไม่เป็นหรอก 
    มีอยู่คราวหนึ่งเวลาสายแล้ว  พ่อไอ้โห้คือลุง "หงวน" เป็นคนมาเหวี่ยงแห-งมนี้ ในทันทีที่ได้ยินเสียงโครมพวกเราทั้งหลายก็จะกระโดดตามมุดลงไปทันที แล้วรีบช่วยกันเหยียบชายๆของแหตรงที่มีลูกโซ่ตะกั่ว ให้จมดินหรือเลนไว้ก่อนแล้วจึงค่อยๆ คลำจับปลาที่ถูกขังอยู่ในแหนั้น ปลาที่ติดในแหแต่ละตัวนั้น โดยมากมักจะเป็นปลาช่อนตัวใหญ่ๆ และก็มีปลาอื่นๆด้วยหลายชนิด เช่นปลาตะเพียน ปลากด ปลาค้าว ปลาเหล่านี้มันมาติดอยู่ตั้งแต่น้ำท่วมใหม่ๆ มันตามน้ำเข้ามา พอน้ำลงแล้วมันก็เลยต้องอยู่ในบ่อเหล่านี้เพราะไม่มีทางอออกได้
 

  บ่ายวันนั้นลุงหงวนพ่อไอ้โห้ได้ปลาช่อนและปลาอื่นๆ กลับไปบ้านตัวใหญ่ๆหลายตัว ลุงหงวนแกก็ใจดีเหลือหลายที่แกก็ยังแบ่งให้เด็กที่ช่วยกันงมปลาให้แกคนละตัวสองตัวด้วย แล้วแถมเวลาเที่ยงยังเรียกให้กินข้าวห่อ ที่แกห่อมากินมีน้ำพริกเผาแล้วก็ไข่เป็ดต้ม (แกบอกว่าบอกว่าเจ๊ติ๋ว ปัจจุบันเป็นเจ้าของผู้จัดการร้านแม่กิมฮวย ตลาดเจ็ดเสมียน พี่สาวของไอ้โห้เป็นคนต้มให้ แล้วผักที่จะกินกับน้ำพริกก็เก็บเอาตามชายบ่อนั้น เช่นผักบุ้งยอดงามๆอร่อยและสนุกดี

   นั่นเป็นการไปจับปลากับผู้ใหญ่นอกๆเจ็ดเสมียนออกไป ถ้าพวกผมจับกันเองละก้อแถวๆเจ็ดเสมียนนี้ก็ถมถืด ยิ่งถ้าเป็นบ่อเล็กๆที่น้ำท่วมขังไว้ตามริมทางรถไฟ ซึ่งไม่มีเจ้าของบ่อเพราะว่าเป็นเขตุพื้นที่ของการรถไฟเขา พวกเราก็จะลงลุยจับปลากันได้เลย ไม่ต้องมีเครื่องมืออะไรกันนักหรอก มีแต่ที่ใส่ปลาที่เรียกว่า ข้องหรือบางคนบางพื้นที่เรียกมันว่าตะข้อง ลูกเดียวก็พอ

  เที่ยวนี้ระฆังน้องชายของผมและไอ้จุ้ย น้องชายของไอ้เหม่งก็มาด้วย มันอยากจะมาจับปลากับพวกผมด้วยจะแย่อยู่แล้ว พอบอกให้มันมาด้วยได้มันก็ดีใจเสียไม่มีละ การจับปลาและวิดน้ำจากบ่อเพื่อจับปลานี้ เด็กตลาดเจ็ดเสมียนในรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นใกล้ๆกันมากันเกือบครบเรียกว่ามากันเป็นฝูงใหญ่ๆ คนยิ่งมากก็ยิ่งสนุกดีเพราะว่ามันสนุกดีจริงๆ ได้แสดงความสามารถในการจับปลาแข่งกัน เสียงเอะอะตะโกนกันโหวกเหวกลั่นไปหมด

   สายวันนั้นพวกเรามาลงจับปลากันที่บ่อ เยื้องหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ค่อนข้างจะเลยหน้าโรงเรียนไปตรงกับทางเข้าโรงสี ใกล้ทางรถไฟ บ่อนี้พวกเรามองกันไว้หลายวันแล้ว แต่ลำบากหน่อยตรงที่ใครก็ไม่รู้ดันไปตัด กิ่งมะขามเทศกิ่งใหญ่ๆมาสระเอาไว้เต็มไปหมด มะขามเทศนี้เป็นต้นไม้ที่มีหนามแหลมๆเต็มไปหมดแทบจะจับที่กิ่งมันไม่ได้ ต้องริดหนามของมันออกตรงที่จะจับเสียก่อนจึงจะจับได้

   ทีแรกเด็กตลาดเจ็ดเสมียนทั้งหลาย ก็จะหมดความพยายามที่จะเอาแล้ว แต่ไอ้เหม่งมันบอกผมว่า "อย่างนี้แหละดีพี่" ซึ่งมันหมายความว่ามีคนต้องการจะจับปลาตรงนี้แล้ว เขาจึงตัดกิ่งมะขามเทศที่มีหนามแหลมๆมากมายมาสระเอาไว้ แต่เขายังไม่มีเวลามาจับเอาเท่านั้นเอง ซึ่งพวกผมก็ไม่ทราบหรอกว่าเป็นใคร พวกเราจึงรีบชิงลงมือกันก่อนโดยไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาว่า เพราะรู้ดีกันว่าบ่อน้ำแบบนี้ไม่มีเจ้าของนอกจากการรถไฟเท่านั้น และไอ้เหม่งมันแน่ใจว่าคงจะได้ปลามากมาย ข้องใส่ปลาลูกเดียวใส่ไม่หมดเป็นแน่ 

   เมื่อไอ้เหม่งผู้เชี่ยวชาญการหาปลาว่าอย่างนั้นพวกเราก็เห็นดีด้วย จึงจัดแจงลงไปในบ่อซึ่งน้ำในบ่อไม่ลึกมากนัก ช่วยกันรื้อกิ่งหนามมะขามเทศออก ขนาดช่วยกันรื้อหลายๆคนแต่ก็ต้องใช้เวลาตั้งนานจึงประสบผลสำเร็จ เมื่อคิดว่ากิ่งหนามมะขามเทศออกหมดเกลี้ยงแล้ว พวกเราก็ลงมือกันเลย การจับปลาในบ่อเล็กๆอย่างนี้ เราก็ต้องมีวิธีเด็กเจ็ดเสมียนรู้กันทุกคน คือว่าในขั้นแรกๆเลยต้องช่วยกันลงน้ำกันหลายๆคนหน่อย แล้วช่วยกันกวนน้ำให้มันขุ่นมากๆ จะโดยวิธีไหนก็แล้วแต่ สำหรับผมใช้วิธีเอาเท้ากวนไปกวนมา บางทีก็ถีบน้ำไปข้างหน้าแรงๆเพื่อให้น้ำมันขุ่นมากๆ ที่ทำอย่างนี้ไม่นานปลาก็จะลอยโผล่หัวขึ้นมาให้เราจับง่ายๆ เนื่องจากในน้ำไม่มีอ๊อกซิเจนให้พวกปลาหายใจแล้ว มันจึงลอยคอขึ้นมา

   อีแบบนี้ผมเคยโดนกระเบื้องหรือขวดแตกก็ไม่รู้ บาดเอาครั้งหนึ่งแล้วตรงกลางฝ่าเท้าเป็นแผลลึก ตอนนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นการจับปลากัน ที่บ่อในคลองเจ็ดเสมียนหลังบ้านกำนันโกวิทหลังเก่า เมื่อก้าวเท้าลงไปและก็เริ่มจะทำการกวนน้ำ ให้ขุ่นเสียก่อนตามสูตรของการจับปลาในบ่อเล็กๆ  ยังไม่ทันจะเริ่มกระทุ่มน้ำเลย ตอนนั้นผมมีความรู้สึกเสียว แปร๊บ ที่ฝ่าเท้าข้างซ้าย จึงบอกไอ้อู๊ดกับไอ้โห้ว่า " เฮ้ยกูโดนอะไรก็ไม่รู้มันเจ็บเสียวๆที่ฝ่าตีนว่ะ " ไอ้อู๊ดว่า "มึงรีบขึ้นไปดูเลยนะพวกกูก็ขึ้นเหมือนกันถ้าเป็นอย่างนี้กูก็ไม่เอาแล้ว" ไอ้อู๊ดกับไอ้โห้ก็พากันขึ้นจากบ่อแล้วมาดูแผลที่ฝ่าเท้าของผม เลือดกำลังออกแดงฉานเต็มฝ่าเท้า " ใครคงมาทิ้งแก้วแตกขวดแตกไว้ในบ่อนี้แหงๆเลย คงพวกบ้านกำนันนั้นแหละ เพราะว่านี่หลังบ้านกำนันนี่นา "

 

้านของกำนันโกวิท วงศ์ยะรา ในอดีตคือห้องแถวห้องแรก ด้านหลังบ้านเป็นคลองเรียกว่าคลองเจ็ดเสมียน

 ไอ้สองคนนั้นมันช่วยกันจับขาของผมและพลิกฝ่าเท้าหงายขึ้นดู โอ้โฮ ที่ฝ่าเท้าข้างซ้ายของผมเป็นรอยเหมือนมีดบาดตรงเป๊ะเลย เลือดไหลพรูออกมามากมาย ไอ้อู๊ดโอบหลังผมไว้ไม่ให้หงายหลังล้มนอนลงไป  ไอ้โห้ ฉีกผ้าขาวม้าของมันเป็นชิ้นยาวๆ แล้วมามัดห้ามเลือดที่เท้าของผมไว้ สักพักหนึ่งคิดว่าเลือดคงจะหยุดไหลแล้ว เพื่อนของผมทั้งสองคนนี้จึงประคองผมกลับบ้าน แล้วรีบบอกแม่ผมให้ใส่ยาทิงเจอร์ และเอาผ้าพันไว้อย่างนั้นโดยไม่ได้ไปหาหมอและให้หมอเย็บให้เลย ผมบอกแม่ผมว่า " ไม่ต้องเย็บหรอกแม่เดี๋ยวมันก็หาย แต่จริงๆแล้วผมไม่อยากให้แม่ของผมเรียกหมอละอองมาเย็บต่างหาก ผมกลัวเจ็บน่ะ

   ตอนนั้นผมป่วยเนื่องจากเดินไม่ค่อยถนัดไปไหนมาไหนไม่ได้ตั้งเกือบครึ่งเดือน ไอ้เหม่งมันก็เวียนมาหาผมทุกวันในตอนเย็นๆ หลังจากมันกลับจากโรงเรียนแล้ว บางครั้งก็นั่งคุยกับผมครั้งละนานๆ ปัจจุบันนี้รอยแผลเป็นที่กระจกบาดที่ฝ่าเท้าข้างซ้ายของผมนี้ก็ยังอยู่ แต่มันก็จางไปมากแล้ว ถ้าใครพบผมละก้อขอดูได้นะครับ  นี่เป็นเรื่องที่ผมถูกกระจกบาดนานมาแล้ว เอามาเล่าให้ฟังว่ามันก็เสี่ยงอันตรายเหมือนกัน ในการที่เราจะลงบ่อน้ำโดยไม่รู้ว่าในบ่อมีอะไรบ้าง

   เจ็ดเสมียนในอดีตสมัยนั้น เรียกว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวอย่างแท้จริง้าขยันหน่อยเกี่ยวกับปลานี้ไม่มีอดหรอกครับ และในนามีข้าวถึงหน้านาละก้อเขียวไปหมดทั้งท้องทุ่ง ไม่ต้องไปไกลเลยครับเอาตั้งแต่หน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนก็แล้วกัน จรดทางรถไฟขึ้นไปทางเหนือถึงใกล้ๆวัดสนามชัย ในแถวนั้นเป็นทุ่งนาปลูกข้าวกันเขียวขจี เมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยวประมาณเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ ซึ่งอากาศกำลังหน้าหนาวพอดี บางปีประมาณเดือนมกราคมนี้ น้ำที่ขึ้นท่วมไว้เมื่อเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง ก็ยังไม่ลงไปเลยยังขังอยู่ในนาข้าวอยู่อย่างนั้น ปลาจึงมีให้จับอย่างชุกชุม..

      พูดถึงการเก็บเกี่ยวข้าวกันนั้น พวกที่ทำนาจะมีการลงแขกกันมาช่วยกันเกี่ยวข้าว เขาจะตั้งแถวเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่งแล้วดาหน้าเกี่ยวกัน ผมเคยเห็นเกี่ยวกันครั้งละหลายๆสิบคนทีเดียว เมื่อได้เวลาเย็นจวนค่ำเขาก็จะหาบข้าวที่เกี่ยวและผูกเป็นฝ่อนๆไว้แล้ว ไปยังลานนวดข้าวของบ้านเจ้าของนานั้น ที่ลานนวดข้าวเขาจะจุดตะเกียงเจ้าพายุ กันหลายๆดวงสว่างไสวไปทั่วลานนวดข้าว และเขาจะผูกวัวเอาไว้ที่หลักไม้กลางลานนั้นสองสามตัว เตรียมให้มันเป็นผู้ย่ำข้าววนไปรอบๆลาน ที่เขาเพิ่งจะไปเกี่ยวมาเมื่อกลางวันนี้

    เจ้าของนาข้าวที่ไปขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยกันนั้น เขาเรียกว่าการลงแขกกันคือเหมือนเป็นการขอแรงกัน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ จะมีคนหนุ่มๆสาวๆมาช่วยกันมากมาย และเป็นโอกาสดีที่พวกหนุ่มสาวที่ได้ถูกใจกันไว้แล้ว ก็จะได้คุยกันอย่างมีความสุขไปด้วย การนวดข้าวนี้จะดำเนินกันไปเรื่อยๆ จนดึก จึงได้เลิกกันไปถ้าข้าวที่จะต้องนวดนั้นยังไม่หมด ก็จะทำกันในวันรุ่งขึ้นต่อไป ตลอดเวลาจะมีอาหารเลี้ยงใครกินเหล้าก็มีเหล้าเลี้ยง มีกะแช่กลิ่นรสหอมหวานข้าวปลาอาหารพร้อม เสียงคุยกันเอะอะของผู้ที่มาช่วยน่าสนุกยิ่งนัก

   นี่แหละวิถีชีวิตของชาวชนบท ตัวจริง เช่นที่ตำบลเจ็ดเสมียนแห่งนี้ ภาพเหล่านี้เมื่อตอนเด็กๆผมจำได้ติดตา ถึงแม้ว่าที่บ้านผมไม่ได้ทำนาก็ตาม ปัจจุบันนี้สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย คนรุ่นหลังคงไม่ได้เห็นของแท้อย่างแต่ก่อนอีกแล้ว

      การเก็บเกี่ยวข้าวในตอนที่ถึงหน้ามันนั้นจะเป็นหน้าหนาวพอดี ประมาณเดือนมกราคมตามที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ผมเคยได้ยินเพลงๆหนึ่ง คือเพลง ลมหนาวที่ลานทอง ซึ่งขับร้องโดยคุณ สุเทพ วงศ์กำแหง  แต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงนี้โดย คุณ สาลิกา เรียบเรียงเสียงประสาน โดยอาจารย์ สมาน กาญจนผลิน ท่านแต่ง และเรียบเรียงเสียงประสานได้ไพเราะและเข้ากับบรรยากาศ ของท้องทุ่งนาแห่งเจ็ดเสมียนเสียจริงๆ ในตอนเริ่มทำนาจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ของชาวนาแห่งเจ็ดเสมียนนี้ ฟังแล้วคิดแล้วซึ้งใจไปกับบทเพลงด้วย ลองฟังเพลงนี้ก่อนนะครับ

ลมหนาวที่ลานทอง สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ ขับร้อง   

         ไผ่พลิ้วลมครวญชายคลอง ถิ่นทุ่งรวงทอง มองคุ้งฝั่งคลอง น้ำนองไหลบ่า ลมเหนือโชยใบไม้ไกว พลิ้วมา คิดถึงดวงตา ผู้เคยเสน่หาอาวรณ์

         แว่วเสียงเพลงเรือลอยลม ก่อนเคยชื่นชม ยามนี้กลับตรมระทมโหยอ่อน ความรักแรมไกลหัวใจร้าวรอน เหมือนแก้วลืมคอน ให้คอยสะท้อนใจเรา

         เคยเกี่ยวไถทำดำหว่าน  โอ้ลานรักริมธาร ที่เคยนวดข้าวกับสาว เดือนรุ่งฟ้าเรืองแสงดาว นึกน้องเป็นขวัญข้าว เฝ้าเกี่ยวเอาไว้ครอง

         จากคุ้งทุ่งทองท้องนา ไม่เคยกลับมา ลืมแล้วแก้วตามิเคยเหลียวมอง ลานรักรัญจวนไร้นวลละออง ไร้คู่เคยปอง ยิ่งมองยิ่งหมองดวงใจ

                           

     ถ้าจะให้ดีฟังเพลงนี้แล้วต้องจินตนาการตามไปด้วย จะเห็นท้องนาเวิ้งว้างที่มีลานนวดข้าวและฝั่งคลอง รวมทั้งลมหนาวที่พัดพาใบไม้แห้ง ให้พริ้วลงดินต่อหน้าหนุ่มชาวนาที่สิ้นหวังแล้ว ที่จะได้พบกับสาวคนรักที่เคยไกล้ชิดที่เคยทำนาร่วมกันมา เฮ้อ..มันเศร้ามันแห้งใจตามไปด้วยไพเราะและซึ้งใจดีเหลือเกิน

    เรียนท่านผู้อ่านที่นับถือที่จริงแล้วที่เปิดเพลงจะอยู่ข้างบนนี้ แต่ในขณะนี้เกิดขัดข้องจึงได้ปิดรายการเพลงไปชั่วคราวก่อน

  นี่คืออาคารเรียนของโรงเรียน วัดเจ็ดเสมียน เมื่อในสมัยก่อนนั้น เสาธง ที่พวกผมมาชุมนุมกันในตอนเย็นๆ จะอยู่หน้าอาคารใหญ่ ไม่ใช่อยู่ที่ตรงนี้ ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ นายปฏิพัทธ์ ถ่ายภาพ
 
       

  ขอกลับมาเรื่องจับปลาในบ่อนั้นอีกสักหน่อย ที่บ่อน้ำที่มีคนเอาหนามมะขามเทศมาสระเอาไว้ แล้วพวกเราก็ลงลุยกันอย่างเมามันโคลนกระเด็นขึ้นมา เลอะหน้าตาพวกเราไปหมด พวกเราได้ปลามากมายหลายตัว มีปลาหลายอย่างเราแบ่งกันอย่างทั่วถึงอย่างเหมาะสม เสร็จแล้วพวกเราก็เดินเป็นแถว เสื้อ กางเกง เลอะขี้โคลนกันมะลอกมะแลกหน้าตาเต็มไปด้วยโคลน

    คนึง คุ้มประวัติ (จุ้ย ซ้าย)   ระฆัง สุวรรณมัจฉา ( คัง ขวา)

   ไอ้จุ้ยน้องชายของไอ้เหม่งที่มันอยากมาจับปลาเที่ยวนี้ด้วย ดูเหมือนจะเละมากกว่าเพื่อนๆ เพราะว่าผมเห็นมันหลับตาปี๋ตอนที่มัน เอามือควานไล่จับปลาช่อนตัวขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง พอมันจับได้แล้วมันก็ชูขึ้นให้พรรคพวกดูเพื่อแสดงความสามารถ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำตาหยีเพราะว่าปลาช่อนตัวใหญ่นั้นสะบัดพยายามจะหนี โคลนดำปี๋จึงกระเด็นขึ้นไปติดเบ้าตามันก้อนเบ้อเร่อ ไอ้เหม่งมันรีบไปเขี่ยโคลนที่ติดอยู่ที่หน้าไอ้จุ้ยน้องมันทันที เพื่อไม่ให้มันไหลเข้าตา
   
พวกเราเดินกันเป็นแถวบ้างหิ้วกระป๋อง บ้างหิ้วข้องใส่ปลา หิ้วเสื้อ กางเกงที่เลอะโคลนไปที่โรงสี แล้วเดินทะลุโรงสีไปยังท่าวัด ที่มีต้นจันทน์ขึ้นอยู่ต้นหนึ่งที่ริมท่าวัดนั้น เมื่อถึงแล้วก็อาบน้ำชำระร่างกาย ซักเสื้อซักกางเกงกัน เบื้องต้นให้โคลนมันออกเสียบ้าง แล้วค่อยเอาไปให้แม่ซักที่บ้าน แม่ของทุกคนคงไม่ทำโทษหรอกเพราะทุกคนมีปลามาฝากด้วย..

  ในฤดูน้ำลดไปแล้วอย่างนี้บ่อที่ยังขังน้ำอยู่ ก็ยังมีมากมายทำให้พวกเราได้สนุกสนานกับการ วิดบ่อจับปลากันหลายครั้งหลายหน นี่แหละวิถีของคนในชนบทจริงๆที่เจ็ดเสมียนในอดีตแห่งนั้น

   ผมกล่าวข้ามขั้นตอนไปหน่อยแล้ว เรื่องข้าวนั้นเขาจะมีประเพณีและการเล่นกันมากอีกหลายอย่าง เช่นการทำพิธีสู่ขวัญข้าว พิธีนี้ต้องทำกันตอนที่เกี่ยวข้าวแล้วนวดเสร็จแล้ว และก็ข้าวนั้นเอาขึ้นอยู่ในยุ้งแล้ว ผมเคยเห็นเขาทำกันหลายครั้งในตอนที่ผมยังเด็ก พิธีมันเยอะผมเล่าไม่ถูกหรอกครับ เอาเรื่องการตำข้าวเม่าสักเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน ผมจะกล่าวเฉพาะที่ผมเห็นนะครับ ผิดหรือถูกอย่างไรก็ทักท้วงกันมาได้

    เมื่อข้าวออกรวงแก่เต็มที่จะได้เวลาเก็บเกี่ยวแล้ว เขาจะมีเทศกาลการตำข้าวเม่ากัน  คือเมื่อข้าวแก่ได้เวลาจะเกี่ยว (แต่ยังไม่ได้เกี่ยวนะ) เขาก็จะไปเกี่ยวข้าวมานิดหน่อยก่อน จะมากจะน้อยก็กะเอาว่าปีนี้เราจะตำข้าวเม่ากันมากน้อยแค่ไหน เมื่อเกี่ยวมาแล้วก็เอามาฟาด หรือเอาไม้ตบๆให้เม็ดข้าวร่วงออกมา แล้วเอาเมล็ดข้าวนั้นไปคั่วในกระทะใหญ่ให้มันพอสุก กลิ่นหอมไปทั่วบริเวณพอที่จะกินได้นั่นแหละ (คั่วทั้งเปลือกเลย)

   เมื่อสุกได้ที่ดีแล้วก็เอาลงครก แล้วก็ตำกันจนเปลือกกะเทาะออกหมดจนเป็นแกลบ เสร็จแล้วก็ตักออกจากครกใส่กระด้งที่เตรียมเอาไว้ แล้วฝัด (เรียกอย่างนี้ถูกหรือไม่) แยกส่วนเอาเฉพาะเมล็ดข้าวไว้ พวกเปลือกหรือแกลบก็ปลิวออกไปจนหมด เสร็จแล้วก็เก็บเอาไว้ในกาละมังก่อน
  เมื่อได้อย่างนี้แล้วก็ขูดมะพร้าวให้เป็นฝอยแล้วโรยลงไป ถ้าอยากหวานหน่อยก็เติมน้ำตาลลงไปด้วยก็จะได้อาหารที่วิเศษที่สุด เหมือนมาจากสวรรค์นั่นทีเดียว วิตามินทุกอย่างครบ

  แต่ ! ผมผู้เขียนเองและไอ้ธรเพื่อนของผมคนหนึ่งก็สงสัยว่า การตำข้าวเม่ากันนั้นชอบทำกันในตอนค่ำมืดกันพอสมควร จึงวันหนึ่งผมและไอ้ธรจึงไปแอบซุ่มดูพวกเขาตำข้าวเม่ากันที่บ้านยายมาลัย ได้เห็นคนที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้แหละ แต่เป็นรุ่นใหญ่ๆแล้ว หิ้วมะพร้าวอ่อนแต่ค่อนข้างจะแก่แล้วคนละลูกสองลูก ไปทำเป็นยืนทำลับๆล่ออยู่ข้างยุ้งข้าวของยาย มาลัย ซึ่งรั้วติดกับบ้านยายใบ แม่ไอ้หร่ง (ปัจจุบันเป็นจราจรอาสาตลาดเจ็ดเสมียน) เพื่อนของผมที่ผมไปแอบซุ่มดูอยู่  ในขณะที่ลานบ้านยายมาลัยนั้นจุดตะเกียงเจ้าพายุ สองสามดวงที่ลานบ้าน มีสาวๆหลายคนช่วยกันตำข้าวเม่าอยู่ และมีชาวบ้านในละแวกนั้น ยืนดูอยู่หลายคน เพื่อคอยผลัดเปลี่ยนกันตำข้าวเวลาคนที่ตำอยู่นั้นเหนื่อยนั่นเอง

   สักครู่ผมได้เสียง ตุบ ตุบ ตุบ หลายครั้ง เฮียๆรุ่นพี่ของผมในตลาดเจ็ดเสมียนนั่นเอง ต่างคนต่างเหวี่ยงลูกมะพร้าวที่ห่อด้วยผ้าขะม้า (ผ้าขาวม้า)ปาที่หิ้วมานั้นอย่างรวดเร็วอย่างกับสายฟ้าแลบ จุดหมายของลูกมะพร้าวนั้นให้ตกลงไปในลานบ้านของยายมาลัย ถ้าไม่ถึงลานบ้านก็ขอให้เข้าไปใกล้ๆที่สุด

  เมื่อเหวี่ยงมะพร้าวเข้าไปในบ้านเขาเสร็จแล้ว ทั้ง สาม สี่ หน่อนั้นก็รีบวิ่งหนีออกไปจากยุ้งข้าวบ้านยายมาลัยไป ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้แล้วอากาศก็มืดออกอย่างนั้น จะวิ่งหนีไปเร็วได้อย่างไร ทางก็ไม่ค่อยคุ้นเคยดี นี่ดีนะที่รอดออกมาได้ผมเห็นใกล้ๆบ้านยายมาลัยนั้นมีต้นสะแกอยู่กลุ่มหนึ่ง ถ้าเฮียทั้งหลายหนีออกมาผ่านทางนั้นในท่ามกลางความมืด ผมว่าจะไม่รอดจากต้นสะแกหรอก จะโดนตาสะแกที่เป็นตุ่มๆ ออกมาจากลำต้น ทิ่มตาแตกนะซี........

  โปรดติดตามตอนต่อไป "  ประเพณีตำข้าวเม่า  " เร็วๆนี้ ที่นี่ที่เดียว

 เขียนโดย นายแก้ว

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้212
เมื่อวานนี้496
สัปดาห์นี้708
เดือนนี้13626
ทั้งหมด1343510

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online