ประเพณี ตำข้าวเม่า ของชาวเจ็ดเสมียน


Imageและแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 51
ที่ผ่านมา ผมกับ คุณสาธร ก็ได้ไปที่เจ็ดเสมียนกันมา เราออกจากบ้านกัน ตอนเช้า ต่างคนต่างไป นัดไปพบกันที่บ้าน คุณสาธร เลยทีเดียว ผมออกจากบ้าน ประมาณ เกือบ 7.30 น.  โอ้เอ้กันไปมา แวะโน่นแวะนี่อีกพอเสร็จแล้ว

         คุณวนิดา ภรรยาคุณสาธรโทรมาดัก ให้ซื้อขนมต่างๆ ที่อร่อยที่สุด ของร้านเอกชัย สุพรรณบุรี  คุณหวานภรรยาผมก็เลย สนองความต้องการของเขา แวะข้างทางเข้าร้านเอกชัย ซื้อขนมลูกเต๋า ขนมสาลี่เอกชัย ขนมดังของจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วก็ขนมอีกหลายอย่างที่จะนำไปฝาก

         พร้อมด้วยมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ที่ไร่ที่บ้านของผมเอง ที่สั่งให้คนทำสวนตัดไว้ ตั้งแต่เมื่อวันก่อนจะมาพบกัน 1 วัน อีก 17 ลูก  (ตามคำสั่งอีกนั่นแหละ) นี่ยังดีนะที่คุณนายแกไม่ได้สั่งให้ซื้อ ขนมนางเล็ดที่ตลาดสามชุก 100 ปี เหมือนเมื่อคราวก่อนโน้น อีก ถ้าอย่างนั้นผมก็ต้องย้อนไปไกล ใหญ่นะซี
           ประมาณ 10.00 น.เศษๆ ผมก็ไปถึงบ้านของคุณสาธร ที่ตรงบริเวณนี้สมัยก่อนนั้นตั้งแต่คุณวิรัช พ่อของเขายังอยู่ เป็นบริเวณที่สร้างวิก สัตคามภาพยนตร์  ดังที่ได้เสนอไปในตอน “ ชีพ  ชูชัย แห่งตำบลเจ็ดเสมียน  2 ” มาแล้ว กรุณาย้อนกลับไปอ่านดูนะ ครับ
         สาธรเขารออยู่ก่อนแล้ว มองเห็นรถ CR – V   ของเขาจอดอยู่หน้าบ้านแต่ไกล เมื่อพบกันและทักทายกัน เอาน้ำมากินกันแล้ว เราก็นั่งปรึกษากันว่า จะไปไหนก่อนดี คุณสาธรว่า เราเล่าค้างเอาไว้ถึงเรื่องที่ว่า มีพวกเอามะพร้าวมาขว้างบ้านคนที่กำลังตำข้าวเม่า แล้วก็วิ่งหลบกันสุดชีวิตกลัวเขาจับได้นั้น ทำไมต้องเป็นแบบนั้นด้วย   ทำไมไม่เอาไปให้เขาดีๆ ถ้าเอาไปให้เขาดีๆ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ด้วยความสงสัยเป็นหนักหนา เราสองคนจึงขับรถไปจอดกันที่ ท่าน้ำ ตรงต้นโพธิ์ใหญ่ในตลาดเจ็ดเสมียน 
           

          เห็นที่ศาลาประชาคมเอนกประสงค์ กำลังมีการประชุมอะไรกันอยู่ มี ชายสูงอายุสองคนนั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์นั้น กำลังสูบยาใบตองพ่นควันโขมง สาธรบอกผมว่าให้ผมเข้าไปคุยกับคุณลุง สองคนนั่นเอาเองก็แล้วกัน ส่วนตัวเขานั้นจะไปสำรวจตลาดสักหน่อยประเดี๋ยวมา  ผมก็  โอ เค  พร้อมกับเดินไปหาชายสูงอายุสองคนนั้น ผมยกมือไหว้ แล้วผมก็บอกว่าผมก็เป็นคน เจ็ดเสมียน พร้อมกับบอกอีกว่า ผมเป็นลูกของครูหิรัญ ที่สมัยก่อนนั้นเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนเจ็ดเสมียนนี้แหละ เขาพยักหน้าว่ารู้จัก แล้วผมก็นั่งลง ถามสิ่งที่เราสงสัยว่าพอจะรู้บ้างไหม
         

           คุณลุงบอกว่า เมื่อสมัยก่อนที่แกเป็นหนุ่มใหญ่ เมื่อประมาณ 50 – 60 ปีมาแล้ว (ตรงกับรุ่นผมที่ยังเป็นเด็กรุ่นเล็กๆอยู่)   ที่แถวเจ็ดเสมียนนี้ ทางนอกๆจากตลาดออกไปหน่อย แถว บ้านเกาะ  เภตรา  ท่ามะขาม สามเรือน  ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาทั้งนั้น ชาวบ้านก็ประกอบอาชีพทำนาเสียเป็นส่วนใหญ่  ทำไร่ก็มีบ้าง ค้าขายก็มีเป็นส่วนน้อย  ดังนั้นจึงมีเทศกาลประเพณีตำข้าวเม่ากันบ่อยๆ (จริงๆแล้ว มีอีกหลายประเพณี ) เหมือนเป็นการนัดพบกันระหว่างหนุ่มสาวที่รักกัน ขอบพอกัน ได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกัน  โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะมีผู้ใหญ่  หรือญาติพี่น้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากีดกัน
          ดังนั้นต่อจากนี้ไปผมก็จะเรียบเรียงคำพูดของ คุณลุง สองคนนั้น เสียใหม่ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่ายๆนะครับ

 

 ภาพนี้ ผม ระฆัง และอารีย์ น้องของผม พร้อมด้วย ญาติของผม ที่มาจาก บ้านบางเค็ม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี มายืนถ่ายรูปกัน ตอนบ่ายๆ แล้ว ที่ทางรถไฟไกล้ๆ สถานีรถไฟ ทางด้านซ้ายของภาพ ที่มองไม่เห็นนั้นเป็นโรงเรียน วัดเจ็ดเสมียน ด้านหลังของภาพไกลออกไปนั้น สองข้างทางรถไฟ มีแต่ทุ่งนา ต้นข้าวขึ้นเขียวขจีไปหมด เดี๋ยวนี้ภาพอย่างนี้ไม่มีให้เห็นที่เจ็ดเสมียนอีกแล้ว


            ข้าวเม่าเป็นอาหารอย่างหนึ่งของชาวไทยภาคกลาง  (จริงๆแล้ว ทางภาคอิสานก็มี ผมเคยไปเที่ยวแล้วได้กิน เป็นข้าวเม่าข้าวเหนียว)  ที่ประกอบอาชีพทำนา ชาวนารู้จักทำข้าวเม่ากันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ  (เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆนะครับ)  โดยใช้เมล็ดข้าวเจ้าที่มีรวงแก่ ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ นำเอามาทั้งซังข้าวกะดูว่าจะตำข้าวเม่ากันมากน้อยแค่ไหน  แล้วนำมาแผ่ใส่กระด้ง  แล้วก็ช่วยกันย่ำเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกมา จากซังข้าว เมื่อเมล็ดหลุดออกหมดแล้ว ก็ต้องนำมาใส่กระด้งเล็ก ทีละไม่มากนัก  แล้วก็ฝัด เอาเม็ดเล็ก เม็ดลีบ กรวด หินทราย ถ้ามี ออกเสียให้หมด สะอาดดีแล้ว ก็ถึงคั่นตอนการคั่ว
          ในขั้นตอนนี้ก็ยังมีอีกมากมาย เอาเป็นว่าเราเตรียมเตา เตรียมครกไม้ไว้พร้อมแล้วก็แล้วกัน แต่ก่อนคั่วนั้น เขาต้องเอาเกลือเม็ดมาโรยลงไปในกระบุง และคลุกเคล้าให้ผสมกับเกลือเรียบร้อยแล้วจึงถึงพิธีการคั่ว   (เอาเกลือโรยเพื่ออะไร ผมถามคุณลุงแล้ว แกก็ไม่รู้ ก็เลยตามเลย นะ)
             การคั่วนั้นจะต้องคุมไฟให้ดี  ต้องมีคนที่ทำหน้าที่ใส่ฟืน ถ้าไฟแรงไปก็ต้องชักฟืนออก มิฉะนั้นข้าวที่คั่วนี้ เปลือกจะไหม้ก่อน โดยที่ตัวข้าวจะยังไม่สุกดี เมื่อคั่วได้ที่ดีแล้ว ก็จะตักจากกระทะออกมาตำด้วยครกไม้  มีคนช่วยกันตำหลายคนผลัดเปลี่ยนกันไป บางที่ก็มีหลายครก เสียงตำข้าวนี้จะดังสนั่น ผสมกับเสียง พูดคุย เฮฮากันของผู้ที่มาช่วยตำข้าวเม่านี้ ดังไปไกลทีเดียว
          ถ้าพูดตามจริงแล้ว ถึงขั้นตอนนี้ก็ใกล้จะเสร็จเต็มทีแล้ว  เมื่อตำแล้ว มองดูว่าเม็ดข้าวเปลือกแตกออกมาหมดหรือยัง คะเนดูว่าส่วนใหญ่แตกหมดแล้ว ก็เอาขึ้นใส่กระด้ง ฝัดให้เปลือกปลิวออกไปให้หมด ก็จะเป็นข้าวเม่าโดยสมบูรณ์แบบ กลิ่นหอมหวนจริงๆ เสร็จแล้วนำไปรับประทานได้เลย ถ้าทำสุกใหม่ ๆ ก็จะนิ่ม หรือบางคนก็จะนำไปคลุกเคล้าด้วยน้ำตาลทราย มะพร้าวและเกลือ กินแทนขนมหวาน เมื่อตอนที่ผมเด็กๆอยู่ก็เคยได้กิน ข้าวเม่าที่เขาทำใหม่ๆเหมือนกัน การตำข้าวเม่าเป็นประเพณีของท้องถิ่นอย่างหนึ่ง ซึ่งจะนำความสนุกสนาน มาสู่ชาวบ้านแล้วยังเป็นการสามัคคีปรองดองกันด้วย ในหมู่หนุ่มสาว 

 
           การตำข้าวเม่านั้นมักจะทำในเวลาหัวค่ำ ฤดูตำข้าวเม่ามักจะตรงกับต้นฤดูหนาว ประมาณเดือน พฤษจิกายน – กุมภาพันธ์ ระหว่างเวลา 1 - 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศมักจะหนาวเย็น เหมาะสำหรับออกกำลังตำข้าวเม่าและเล่นสนุกสนาน กันในชุมชนนั้นๆ
           ขอย้อนมาอีกหน่อย ในระหว่างคั่วข้าวเม่าบนเตาไฟนั้น ก็จะมีประเพณีการละเล่นของหนุ่มๆ โดยการนำเอามะพร้าวทึนทึก (ไม่แก่จัด ไม่อ่อนจัด)  มาเตรียมห่อผ้าขาวม้าเอาไว้และซุ่มอย่างเงียบเชียบ บริเวณริมรั้ว หรือใกล้ลานตำข้าวเม่า เมื่อเห็นได้โอกาสเหมาะก็จะขว้างมะพร้าวที่เตรียมมา ให้กลิ้งไปตรงกลุ่มสาว ๆ ที่ครกพอดี พอเสียงมะพร้าวตกดังตุ้บ ก็มักจะได้ยินคำอุทานต่าง ๆ นานาระคนด้วยเสียงหัวเราะมาจากกลุ่มสาว ๆ ในตอนแรกๆที่ลูกมะพร้าวตกลงมานั้น ยังไม่มีสาวคนไหนรู้ว่า ใครเป็นคนขว้างมาหรอก คงจะเดาๆเอาเท่านั้น
              เมื่อขว้างมะพร้าวเข้าไปในลานตำข้าวแล้ว พวกหนุ่ม สามสี่คนนั้น ต้องหลบออกมาจากตรงนั้นอย่างรวดเร็วก่อน  แล้วมาซุ่มอีกที่หนึ่งเพื่อดูลาดเลา ว่าข้างในจะมีการเคลื่อนไหวอะไรบ้าง  ซุ่มอยู่เงียบกริบตรงนั้นตั้งนาน ไม่เห็นมีความเคลื่อนไหวอะไรเลย  กลุ่มหนุ่มที่คอยทีอยู่และซุ่มเงียบรอเชิงอยู่ตรงนั้น เข้าใจผิดเสียแล้ว  มีสาวๆ สามสี่คนแอบเล็ดลอดออกจากรั้วบ้าน แล้วอ้อมไปทางด้านหลัง ตรงเงามืดโคนต้นสะแก       
              และในทันใดนั้นจะได้ยินเสียงวี้ดว้ายเจี๊ยวจ๊าวเริ่มขึ้น หนุ่มคนหนึ่ง หรือสองคน ถูกสาวที่ล้อมจับได้เอาผ้า มัดมือไพล่หลัง (ยอมให้จับตัวอยู่แล้ว ซุ่มอยู่ตั้งนานกลัวจะไม่มาจับ)  ส่วนอีกคนหรือ สองคนวิ่งหนีได้ พวกที่ถูกจับ ถูกฉุดลากเข้ามากลางลานที่ตำข้าวเม่ากันอยู่ เมื่อมีแสงไฟจากตะเกียงเจ้าพายุแล้ว ทีนี้ก็ได้เห็นหน้ากันชัดๆ และรู้ว่า เป็นใคร แฟนของคนไหน  ก็ฮากัน ในกลุ่มสาวนั้น
               แล้วกลุ่มสาวจะตักน้ำเย็นมาทำพิธีอาบน้ำให้หนุ่มที่ถูกจับได้ อ้างว่าเนื้อตัวเลอะ สกปรก    สาวๆโดยเฉพาะคนที่เป็นคนรักกัน จะค่อย ๆ เทน้ำรดทีละน้อย   เมื่อเห็นว่าหนุ่มหนาวสั่นเหมือนลูกนกแล้ว ก็จะนำผ้ามาเช็ดตัวให้ แล้วเขาจะนำเอาขมิ้นมาทาตามตัวจนทั่วดูเหลืองอร่ามเหมือนเด็กแบเบาะ (การแกล้งกันนั้นมีหลายอย่าง แต่ละที่จะไม่ค่อยเหมือนกัน แล้วแต่จะคิดได้ แต่ให้โหดๆมากๆเข้าไว้ก่อนเป็นดี)
              ต่อจากนั้นพวกสาวๆจะนำข้าวเม่าที่คลุกไว้แล้วมาป้อนให้ผู้ที่ถูกจับได้ คนโน้นป้อนที คนนี้ป้อนคำ บางครั้งก็แย่งกันป้อนจนเจ้าหนุ่มเคี้ยวไม่ทัน การป้อนนั้นใช้มือไม่ได้ใช้ช้อน ท่านผู้อ่านลองวาดภาพดู จะเห็นว่าสนุกสนานขนาดไหน หนุ่มยังเคี้ยวไม่หมด ก็จะถูกป้อนซ้ำ เมื่อไม่อ้าปากรับ จะถูกแกล้งป้อนทางจมูก แกล้งกันเข้าไป เรียกเสียงสนุกเฮฮาอย่างมากทีเดียว
              ส่วนหนุ่มที่ไม่ถูกจับก็จะ (แต่จริงๆแล้วก็อยากให้ถูกจับ แต่กลัวโดนทรมาน) วิ่งไปให้พ้นเขตอันตราย ไปแอบซุ่มอยู่ใกล้ๆกันนั้น และถ้าไม่ถูกจับในรอบที่สองอีก  ก็จะรอจนเจ้าหนุ่มที่ถูกจับได้ในครั้งแรกนั้น ถูกปล่อยตัวให้กลับมาตาม เมื่อพบหน้ากันแล้ว ทั้งหมดก็จะพากันเดินเข้าไปในลาน ตำข้าว แล้วจะจับคู่ แฟนใครแฟนมัน คุยสนุกเฮฮาไปอีกพักใหญ่ จนกระทั่งดึกลง ๆ ทุกที ประมาณ 4 ทุ่มจึง แยกย้ายกันกลับไปบ้านใครบ้านมัน
            ฤดูตำข้าวเม่านั้นมักจะตรงกับฤดูลมโยกข้าวเบา คือต้นฤดูหนาว ระหว่างเวลา 1-4 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศมักจะหนาวเย็น เหมาะสำหรับการออกกำลังตำข้าวเม่าและเล่นสนุกสนานกันเป็นอย่างยิ่ง
             เป็นไงครับ คงจะพอรู้เรื่องกันบ้างนะครับ ที่ผมเห็นหนุ่มๆ สามสี่คน เอามะพร้าว ทึนทึก ห่อด้วยผ้าข้าวม้า (ชาวบ้านเรียก ผ้าขะม้า) ไปขว้างบ้านยายมาลัย ในขณะที่เขากำลังตำข้าวเม่ากันนั้น เสร็จแล้วรีบหนีกัน หัวซุกหัวซุน ตาต้นสะแกจะทิ่มตาบอด เพราะเหตุว่า กลัวเขาจับได้แล้วจะเอาไปทรมานอย่างหนักนั่นเอง แต่ผลสุดท้ายก็ต้องไปกินข้าวเม่า และร่วมงานกับเขาจนงานเลิกนั่นแหละ 
         

        นึกไปนึกมา คนที่เอามะพร้าว ไป ขว้าง บ้านยายมาลัยที่กำลังตำข้าวเม่ากันเมื่อ ประมาณ 50 ปี มาแล้วนั้น หนึ่ง ในสี่คนนั้น ผมเพิ่งจะนึกออก มี เฮียพั้ง  ซึ่งเป็นกู๋ (น้า)ของไอ้ธร  น้องของ ป้าแช แม่ไอ้ ธร นั่นเอง !

 

                                         โปรดติดตามตอนต่อไป  ในเร็วๆนี้   ที่นี่ที่เดียว

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้214
เมื่อวานนี้496
สัปดาห์นี้710
เดือนนี้13628
ทั้งหมด1343512

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online