ตรุษจีน ที่เจ็ดเสมียน

 

        ห้องแถวในตลาดเจ็ดเสมียน ทั้ง 2 แถวนั้น มีเพียงไม่กี่ห้องก็จริงอยู่ แต่มีคนหลายเชื้อชาติรวมกันอยู่ในตลาดแห่งนี้ แต่จะเป็นคนเชื้อสาย จีน เสียส่วนใหญ่  เช่น ครอบครัวของผม ซึ่งย้ายมาจากโพธาราม ก็มีเชื้อสายมาจากคนจีน คือก๋ง (ปู่ ) ของผมก็เป็นคนจีน ย่าก็เป็นคนจีน ครอบครัว ของ ไอ้ธร ไอ้อู๊ด ไอ้โห้ ไอ้โล ไอ้ วี ก็มีเชื้อสายมาจากคนจีน พ่อแม่ของแต่ละคน พูดภาษาจีนกันได้ทั้งนั้น จะมีอย่างอื่นบ้างก็มีเหมือนกัน เช่นครอบครัวของไอ้เหม่งนั้น มันย้ายมาจากทางบางโตนด น่าจะมีเชื้อสายมาจากคนมอญแต่เป็นปลายๆ ค่อนข้างจะมาเป็นคนไทยแล้ว  เหมือนกันเช่นเดียวกับคนทางวัดคงคา  วัดขนอน ทางริมแม่น้ำแม่กลอง ที่โพธารามนั้น

 

 

    ในหมู่บ้านรอบๆตลาดก็เช่นเดียวกัน บางบ้านก็มีเชื้อสายมาจากจีนบ้าง ไทยแท้บ้าง มอญบ้าง และมีเชื้อสายลาวก็มี แต่สรุปแล้ว จะมีคนจีนเสียมากกว่า ดังนั้นในชุมชนแห่งนี้เมื่อมีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ จึงต้องมีการไหว้เจ้าในเทศกาล ตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ของจีน  เทศการตรุษจีนนั้น ถ้านับเป็น เดือน ธรรมดาแบบสากลของไทยเรา ตรุษจีนก็มักจะตรงกับเดือน มกราคม หรือบางปี ก็จะตรงกับเดือน กุมภาพันธ์

alt

 

         กินเลี้ยงกันที่หน้าห้องแถว ตลาดเจ็ดเสมียน ผู้หญิงที่เห็นหน้าชัดที่สุดตรงกลางภาพนั้นคือ นางกิมแช แม่ของคุณสาธร วงษ์วานิช และคนที่ยืนที่สองทางด้านขวามือในภาพนั้นคือ กำนันโกวิท วงศ์ยะรา  ถ่ายเมื่อ วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๐

      ในตลาดเจ็ดเสมียน หรือบริเวณรอบๆนั้น พอ ใกล้ๆจะถึงวันตรุษจีน  ก็จะมีการเตรียมต้อนรับเทศกาลตรุษจีน เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือน กวาดขยะหยักไย่ ที่มีอยู่ทั่วไปภายในบ้าน ออกเสียให้เกลี้ยง ซักเสื้อผ้า หมอนมุ้งและผ้าห่ม ล้างขัดถูหม้อข้าวหม้อแกงให้สะอาดเหมือนใหม่ ซึ่งถือเป็นการขับไล่สิ่งที่สกปรกออกจากบ้าน เพื่อให้บ้านมีโฉมหน้าใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องซื้อของกินของใช้มากมาย เช่น  ขนม หมู เห็ด เป็ดไก่ และผลไม้นานาชนิด เพื่อเตรียมไว้กินหรือต้อนรับแขกในช่วงเทศกาลตรุษจีน  

alt

 

       เด็กเจ็ดเสมียน ยืนกันเป็นกลุ่ม อยู่บนตอต้นจันทร์ใหญ่ ที่ถูกโค่นลงๆไป ใหม่ๆ ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง มองเห็นหาดทรายอยู่ที่ฝั่งตรงกันข้ามยาวเหยียด ตรงที่ยืนถ่ายรูปกันนี้ จะอยู่ตรงกันกับหน้าโบส์ถพอดี และตรงด้านซ้ายมือที่ยืนกันนี้ มีศาลาเล็กๆ ริมน้ำอยู่หลังหนึ่ง  เด็กๆชอบมานั่งคุยกันที่ศาลานี้ อีกที่หนึ่งนอกจากสนามหญ้าหน้าโรงเรียน

     และแล้วก็ถึงเทศกาลตรุษจีน  จริงๆเสียที พวกผมซึ่งเป็นเด็กๆ ก็ตื่นเต้นไปกับเทศกาลนี้ด้วย เพราะว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือ เทศกาลนี้ที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอคอย คือ "อั้งเปา" หมายถึง ซองแดง ไว้ให้ในงาน เทศกาลตรุษจีน โดยผู้ใหญ่จะนำเงินใส่ในซองแดง แล้วมอบให้กับลูกหลานที่อยู่ในวัยเด็ก วัยรุ่น อย่างพวกผม (ลูกหลานใครลูกหลานมันนะ ไม่ได้แจกทั่วไปหมด)


 ตั้งแต่เช้ามืดของวันไหว้ ผมและน้องๆ ต้องสะดุ้งตกใจตื่น เพราะว่าได้ยินเสียงประทัดดังมาจากทางตลาดฝั่งตรงกันข้าม สนั่นหวั่นไหว  หรืออีกหลายๆที่ ในตลาดเจ็ดเสมียนนี้ ทั้งๆที่อากาศในปลายเดือนมกราคม ยังหนาวเย็นอยู่เช่นนี้ ผมและน้องๆก็ต้องพยายามรีบตื่น เพื่อให้ทันไปดูเขาจุดประทัดกัน  อ๋อเขาจุดที่หน้าห้องกำนันโกวิท และบ้านตาซุ่น ซิ้มหมานั่นเอง ผมเห็นพวกเพื่อนผมหลายคนวิ่งไปดูกันก่อนแล้ว
 

         และอีกสักพักหนึ่ง ยังไม่ทันจะเช้าดี เสียงประทัดก็ดังขึ้นจากที่โน่นที่นี่  ที่หลังตลาดตรง บ้านตาซุ่น ซิ้มหมา เขาก็จุดประทัด ตับใหญ่ พวกลูกๆ ของเขาผูกประทัดเรียงกัน ห้อยลงมา เกือบถึงพื้นดิน ยาวเกือบ 2 เมตร คิดเป็นจำนวนประทัดแล้ว น่าจะกว่า พันดอก


 นั่นหมายความว่า พิธีการไหว้เจ้า และบรรพบุรุษ ในตอนเช้าก็เสร็จแล้วเขาจึงได้จุดประทัดกัน ประเพณีการจุดประทัด ในอดีตนั้นมีความหมายว่า เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ และสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ให้ออกจากบ้านไป และเพื่อรับแต่สิ่งดีๆทั้งหลายให้เข้ามาแทนที่ และตลอดปีใหม่นี้จะได้ มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ทำมาค้าคล่อง ไม่ฝืดเคือง เหมือนปีที่แล้วๆมา  นั่นเป็นความเชื่อมาแต่ครั้งโบราณ นะครับ ผมเชื่อว่าจะดีหรือไม่ดีทั้งหลายแหล่นั้น มันอยู่ตัวเราเองต่างหาก 


           ในเทศกาลตรุษจีน  ที่เจ็ดเสมียนนั้น จะว่าไปก็ไม่มีการจัดงานอะไรหรอก (ปีที่ผมยังอยู่ที่เจ็ดเสมียนนะครับ ) การไหว้เจ้าก็ บ้านใครบ้านมัน เสร็จแล้วก็จะฉลองกันอยู่ เงียบๆ ภายในบ้าน  จะอึกทึกครึกโครมก็มีอยู่บ้าง ก็คือการจุดประทัดนั่นเอง แต่ประทัดนั้นก็ไม่ได้จุดกันทุกบ้านหรอกนะ เช่นที่บ้านผมก็ไม่ได้จุด คงจะไม่ค่อยมีสตางค์ จึงไม่ได้ซื้อมาจุด และพ่อแม่ผมคิดว่าไม่จำเป็นเท่าไรกระมัง เรื่องการจุดประทัดนี้ ผมมีข้อความมาเล่าให้ท่านเป็นความรู้สักหน่อยหนึ่ง นะครับ แต่ท่านที่รู้แล้วก็แล้วไปนะ


         “ในคืนส่งท้ายปีเก่า (ก่อนวันไหว้ ในตอนกลางคืน)  ยังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า  ”โส่วซุ่ย”  คืออยู่โต้รุ่งเพื่อต้อนรับวันปีใหม่ เมื่อก่อนนี้ ก่อนปีใหม่ จะมาถึง ผู้คนจะจุดประทัดเพื่อต้อนรับปีใหม่ ประเพณีการจุดประทัดในอดีต ก็เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ และสิ่งชั่วร้าย สิ่งอัปมงคล ที่อยู่ภายในบ้าน ให้ออกไป และรับแต่สิ่งดีๆเข้ามา แต่เนื่องจากการจุดประทัดนั้น ทำให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม และไม่ปลอดภัย เป็นอันตรายแก่ร่างกายดังนั้น ในเขตตัวเมือง ของเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่นปักกิ่ง เป็นต้น จึงห้ามจุดประทัด  (แต่เมืองอื่นๆของประเทศจีน อีกหลายร้อยหัวเมือง จะห้ามเหมือนกันหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ

พอถึงวัน ชิวอิก  (หลังวันไหว้) ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้เฒ่าผู้แก่มักจะใส่เสื้อผ้าใหม่ๆ (พยายามหามาให้ได้) เพื่อต้อนรับญาติพี่น้อง ที่จากกันไป แล้วก็กลับมาเยี่ยมในเทศกาลนี้ หรืออาจจะมีแขก มาหาบ้าง หรือว่าไปเยี่ยมญาติและเพื่อน ๆที่อื่นๆ และเวลาที่ได้พบหน้ากัน มักจะทักทายด้วยคำว่า“สวัสดีปีใหม่” หรือ “สวัสดีตรุษจีน” แล้วจะเชิญเข้าบ้าน กินขนมจิบน้ำชาไป คุยไปด้วย ถ้าระหว่างญาติพี่น้องเคยระหองระแหง เกิดการทะเลาะกัน หรือมีความไม่พอใจกันในรอบปีเก่า ก็จะให้อภัยและคืนดีกัน (ถ้าเป็นได้อย่างนี้ก็ดีซีนะ) หลังจากการไปมาเยี่ยมเยือนกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน “
     ช่วงเทศกาลตรุษจีน ต้องไม่โกรธ ริษยา หรือไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต
        

         ในเช้าวันนั้น พ่อและแม่ของผม ก็ได้ทำพิธีไหว้เจ้า และบรรพบุรุษเหมือน เพื่อนบ้านทั้งหลายเหมือนกัน เท่าที่ผมจำได้นะครับ ที่ หุ่ยเตี๊ยะ (พื้นปูนซิเมนต์)  กลางบ้านนั้น แม่ของผมจะปูเสื่อ แล้ววางอาหาร และขนมต่างๆ หลายอย่าง เช่น มี ถ้วยข้าวสวย ผัดหมี่ซั่ว แกงจืดหนังหมู ไก่ต้ม ไข่ต้ม ปลาทอด (ผมชอบที่สุดเลย ในเวลานั้น) หมูสามชั้นต้ม ชิ้นใหญ่ๆ 2 ชิ้น แล้วก็มีผัดจืด และก็อะไรอีกหลายอย่าง พร้อมด้วยขนม เช่น ซาลาเปาลูกๆ และซาลาเปา ห่อด้วยกระดาษแดง ขนมเข่ง และขนมเทียนอย่างละจาน  ผลไม้เช่น ส้ม กล้วยหอม กาน้ำชา ถ้วยน้ำชาที่รินน้ำชาใส่ลงไปแล้ว และอะไรอีก ผมจำได้ไม่หมดหรอกครับ อ้อแล้วที่สำคัญ ก็มีเหล้าโรง รินใส่ถ้วยเล็กๆ ด้วย แล้วก็มี เทียนเล่มโต 2 เล่ม จุดเอาไว้ ปักในที่ปักเทียน แก้วใส่ทรายไว้สำหรับปักธูป เวลาไหว้แล้ว
           พวกอาหารและของต่างๆเหล่านี้ ผมเห็นเมื่อก่อนวันไหว้ คือวันจ่าย แม่ผมไปจ่ายมาจากตลาดโพธาราม ลงจากรถไฟ หิ้วของพะรุงพะรัง เมื่อตอนบ่ายๆ 
          

         แล้วพิธีการไหว้เจ้าที่บ้านผมก็เริ่มขึ้น พ่อแม่ผมจุดธูปและเริ่มไหว้เจ้า และบรรพบุรุษ คงจะอธิฐานว่า ให้เทพเจ้า เจ้าที่เจ้าทาง และบรรพบุรุษทั้งหลายจงมารับ สิ่งของที่จัดไว้ให้ นี้ และขอให้ท่านจงอวยพรให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข จะนึกสิ่งใดก็ขอให้สมความปรารถนา และก็คงจะขออะไรๆในสิ่งที่ดีๆทั้งนั้นจนเสร็จแล้ว ก็ให้พวกผม จุดธูปไหว้ ปะหลกๆ เช่นกัน  (พิธีการไหว้เจ้า ในวันตรุษจีน หรือเทศกาลอื่นๆ ในปัจจุบันนี้ ที่บ้านผมก็ยังปฏิบัติอยู่ แต่ ลูกสะไภ้ของผมเป็นคนจัดการทั้งหมด เพราะตระกูลเขานั้นมีเชื้อสายจีนเช่นกัน)


        เมื่อเสร็จจากการไหว้เจ้า เจ้าที่ และบรรพบุรุษแล้ว ในวันนี้คนจีนถือว่ายังไม่ใช่เป็นวันเที่ยว วันเที่ยวนั้นต้องเป็นวันถัดไปจากวันนี้อีกหนึ่งวัน สำหรับวันนี้ไหว้เสร็จแล้ว ก็ปล่อยของเซ่นไหว้ ไว้อีกสักพัก ใกล้เพลนั่นแหละ จึงได้ทำพิธีลาของเซ่นไหว้ โดยเก็บของเซ่นไหว้เหล่านั้น ออกมาให้หมด ถ้าเป็นไก่ต้มยังเป็นตัวๆอยู่ก็สับให้เป็นชิ้นๆ เนื้อขาวน่ากิน หมูสามชั้นต้มชิ้นใหญ่ สองชิ้นนั้นก็สับให้เป็นชิ้นๆ พอที่จะใช้ตะเกียบคีบเอาไปจิ้มน้ำจิ้มได้ ชิ้นจึงไม่ใหญ่มากนัก (แม่ผมนั้นทำน้ำจิ้ม จิ้มไก่ต้ม หมูต้มหั่นเป็นชิ้นๆแล้ว ได้อร่อยจริงๆทีเดียว)


          พวกผลไม้และขนมเทียนขนมไข่ ถ้ามีมากก็จะแบ่งๆใส่ถุงเอาไปแจกเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ทำพิธีไหว้ อาจเป็นเชื้อสายไทยแท้ หรือเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้ไหว้ ผมก็เคยเอาขนมเหล่านี้ ใส่ถุงเอาไปให้ ไอ้เหม่ง มันเหมือนกัน
 

 

alt

 

ภาพนาย ตึ๊ง และครอบครัว ที่ได้ซื้อบ้านกำนันโกวิทที่ในตลาดเจ็ดเสมียน และอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

           ตกตอนเย็นๆ บ้านที่มีลูกหลานญาติพี่น้องมาเยี่ยม และยังไม่กลับ ก็จะจัดโต๊ะเลียงฉลอง ปีใหม่ของจีนกัน มีสุราอาหาร หมูเห็ดเป็ดไก่ พร้อมสมบูรณ์ทีเดียว
 พอวันรุ่งขึ้น ก็จะถือว่าเป็นวันเที่ยว ใครมีเงินมากๆ ก็จะไปเที่ยวพักผ่อนในที่ไกลๆ แต่บางคนก็ออกไปเยี่ยมญาติใกล้ บางคนก็จะไปปิดทอง ตามวัดต่างๆในละแวกนั้น ซึ่งวัดแต่ละวัดนั้นมักจะจัดงานประจำปี ยิ่งใหญ่สุดๆ ในระยะตรุษจีน ปีนั้นๆพอดี เป็นการหาเงินเข้าวัดได้มากจากเทศกาลตรุษจีนนี้


          สำหรับที่เจ็ดเสมียน และที่หมู่บ้านใกล้ เคียงกันนั้น ในตอนกลางวัน และต่อๆไปอีกหลายวัน ก็จะเป็นเทศกาลของการเล่นการพนันกัน ชาวบ้านคงจะคิดว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ ผมกับเพื่อนอีกหลายคน และมีเพื่อนรุ่นใหญ่ เช่น เฮียแก่เล็กด้วย เคยถีบจักรยานไปดูเขาเล่นการพนันกัน ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในหมู่บ้านต่างๆ เช่นที่ บ้านใน ที่บ้านยายบิน ตาแฉล้มทำงานเป็นธุรการของการรถไฟ  และที่แถววัดตึก ตลาดคลองข่อย วัดใหม่ แม้แต่ที่วัดท่ามะขาม ก็มีเล่นการพนันกัน และอีกหลายๆที่ (จะมีการเล่นการพนันในเทศกาลตรุษจีนนี้ แทบทุกชุมชน) แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะเล่นกันบนวัด หรือบนบ้านนะ  ถ้าเล่นกันที่ไหนเขาก็ จะหาสถานที่ ตามพุ่มไม้ที่มิดชิดหน่อย ที่ร่มๆ แล้วปูเสื่อเล่นกัน

         ในแต่ละที่ ก็จะมีหลายวง แต่ที่ผมเห็นมีกันทุกที่ก็คือ น้ำเต้า ปู ปลา แล้วก็ ไฮโลว์ มีคนเล่นกันเยอะ พวกเด็กๆที่ไม่ได้เล่นกับเขาก็จะมุงดูกันเป็นกลุ่มใหญ่ พวกผมก็ชอบเสี่ยงโชคสนุกๆเหมือนกัน พอจอดจักรยานได้แล้ว ก็ไปแทง ไฮโลว์กัน คนละบาท สอง บาท ถ้าไม่โลภมากก็อาจจะได้บ้างนะครับ นอกจากไฮโลว์แล้ว ที่มีคนอุดหนุนมากที่สุดก็คือ น้ำเต้า ปูปลา แต่แทงไม่ค่อยได้หรอก

คนที่เป็นเจ้ามือเขาเก่ง ขนาดว่า เขาตั้งลูกสมมุติว่า เป็นปลาหมดทั้งสามลูก แล้วค่อยๆ เอา ฝาชีเล็กๆครอบ ครอบลงไปช้าๆ แล้วร่อนถาดเบาๆ เราคิดว่าออกตัวนั้นแน่ๆเลย พอเปิดมาจริงๆ มันไม่ใช่ เลยโดนกินกันเรียบ พวกเราไม่ค่อยชอบเล่นหรอกครับน้ำเต้าปูปลา น่ะ ไม่ค่อยได้หรอกมีแต่เสียเงิน ทั้งนั้น ผมกับพวกยิ่งเป็นคนประเภท ไม่ค่อยมีเงินอยู่ด้วย


จะว่าไป ผู้คนที่เขามามุงเล่น และมุงดูอยู่นี้ ก็สนุกๆไปเท่านั้นเพราะว่าเป็นเทศกาล ปีหนึ่งเขาก็จะมีแบบนี้ทีหนึ่ง แต่พวกที่เป็นบ่อนเล่นกันทั้งปีในรอบๆ เจ็ดเสมียนนี้ ก็น่าจะมีอยู่บ้างนะ มันเป็นของธรรมดา

         นอกจากการเล่นการพนัน  อย่างนี้ที่มีทั่วไปแล้ว ในเทศกาลวันตรุษจีนนั้น ก็ไม่มีอะไรอีก ถ้าไม่ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือมีโปรแกรมพักผ่อนที่ไหน เขาก็จะอยู่ที่บ้านของเขากันอย่างเงียบๆ แต่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน เพราะเหตุว่า เป็นวันถือของชาวจีนทั่วไป บางบ้านที่มีลูกหลานไปทำงาน หรือไปเรียนที่กรุงเทพ หรือที่ไกลๆ ก็มักจะกลับมารวมตัวกันที่บ้าน เตี่ย หรือบ้านดั้งเดิมที่เคยอยู่ ได้สักวันสองวันก็กลับ ผมเคยเห็นเหมือนกัน ที่บ้านตาซุ่น ซิ้มหมา หรือบ้านตาอู๋ เตี่ยแก่เล็ก บ้านตาเจี่ย เตี่ย เฮียเล็ก ไทยเจริญ  บ้านเฮียง้วน เจ๊กวย เหล่านี้ ก็มี ญาติพี่น้องแล้วก็ลูกหลาน ที่ไปอยู่ที่อื่นกลับมาเยี่ยม กันมากมาย

         บางคนที่มีลูกมีหลาน  แล้วก็พากันกลับมาเยี่ยม อากง อาม่าด้วย ดูๆแล้วก็ดีเหมือนกัน  ผมเคยเห็น นายเซีย และ นายคุณ ลูกตาซุ่น ซิ้มหมา  ที่ทำงานอยู่บริษัท ซิงเกอร์ (ขายจักรเย็บผ้า) ที่กรุงเทพ พากันมาเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านเจ็ดเสมียนในเทศกาลตรุษจีนโดย นัดกับเพื่อนๆ ที่ทำงาน อีกประมาณเกือบ 20 คน ขี่รถมอร์เตอร์ไซค์ แลมแบร๊ตต้า เป็นแบบสกู๊ตเตอร์  มาที่เจ็ดเสมียน เป็นแถว แล้วมาจอดไว้ที่ หน้าบ้านตาเอี๋ย เตี่ย ไอ้โล เป็นกลุ่มใหญ่  พวกผมตื่นเต้นกันมาก เพราะว่าไม่เคยเห็นรถ แบบนี้   และมากขนาดนี้มาก่อน  !

 

alt

 นายแก้ว ผู้เขียน

 

 

                          

 

 

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้163
เมื่อวานนี้496
สัปดาห์นี้659
เดือนนี้13577
ทั้งหมด1343461

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online