จากครู มาเป็นเสมียนและ บุญมา ผาสุก

Imageนายหิรัญ สุวรรณมัจฉา 2  จากครูมาเป็นเสมียน

เมื่อ นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ได้ลาออกจากการเป็นครู ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนแล้วและได้ถูกชวนให้ไปทำงานที่โรงสี  โดยมีเพื่อนของเขาอีกหลายคน สนับสนุนให้ไปทำงานที่โรงสีไฟเจ็ดเสมียน ด้วยกัน และพ่อของผมก็กำลังหางานใหม่ทำและเห็นว่าอยู่ใกล้ๆ บ้านดีก็เลยตกลงทำงาน ที่โรงสีนี้

นายหิรัญ สุวรรณมัจฉา ครูใหญ่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนในอดีต ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๒

         แต่ก็ทำได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น ก็เบื่อ เพราะว่าไม่ค่อยมีงานอะไรให้ทำ โดยในหน้าที่ของพ่อของผมนั้น เป็นเสมียนคอยจด และคิดบัญชีต่างๆ ไม่เหมือนกับเมื่อตอนเป็นครูสอนเด็กๆซึ่งยุ่งทั้งวัน ก็เลยเหงา และคิดเบื่องานที่โรงสีนี้ ในขณะที่คิดเบื่องานอยู่นี้ ก็มีเจ้าของโรงเลื่อย ซึ่งแต่ก่อนนี้โรงเลื่อยนี้ก็  อยู่ติดกับโรงสีไฟเจ็ดเสมียนที่พ่อของผมทำงานอยู่นี่เอง แต่ต่อมาได้ย้ายจากที่ตรงนี้ไปสร้างโรงเลื่อยขึ้นใหม่ที่ ในอำเภอหัวหิน ซึ่งในขณะนั้นที่หัวหินยังไม่เจริญเท่าไรนัก ยังมีไม้ซุงจากทางป่าชักลากเข้ามาที่โรงเลื่อย อยู่อย่างสม่ำเสมอ
         เถ้าแก่เต็ง และป้าม้วน คือเจ้าของโรงเลื่อยที่หัวหิน ได้มาชักชวนให้ไปทำงานด้วยกัน ที่นั่นในตำแหน่งเสมียนคิดไม้ ขายไม้ของโรงเลื่อย พ่อผมคิดดูแล้วก็น่าจะดี อยากจะลองเปลี่ยนงานใหม่ๆดูบ้าง และประกอบกับมีคนที่เจ็ดเสมียนหลายคนก็ไปทำงานอยู่ที่โรงเลื่อยนี้ ด้วย เช่น นายเซี้ยง ผัวซ้อดู่  และผัวป้าแหลวขายขนมจีนอีกคนหนึ่งที่เป็นหัวแรงสำคัญที่โรงเลื่อยหัวหินนั้น ที่บ้านอยู่ติดทางรถไฟ นั่นก็อีกคน และยังมีอีกสองสามคน อยู่ทางหลังตลาดเจ็ดเสมียนก็ไปทำงานที่โรงเลื่อยนี้แล้วด้วย และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ นายเบี้ยว เพื่อนรุ่นพี่ของพ่อได้สนับสนุนในการที่จะไปทำงานที่โรงเลื่อยนี้เป็นอย่างมาก โดยบอกว่า “อย่างลื้อนี่ลักษณะของลื้อจะต้องไปหากินในถิ่นแดนไกล อยู่ใกล้ๆบ้านไม่รวยหรอก”
          ดังนั้นอีกไม่นานต่อมา พ่อของผมก็ลาออกจากโรงสีเจ็ดเสมียน แล้วก็จัดแจงเตรียมตัวไปทำงานที่โรงเลื่อยหัวหิน โดยเก็บของใช้ที่จำเป็น แล้วเดินทางไปหัวหินโดยทางรถไฟ เมื่อ วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ การเดินทางในครั้งนี้ นายหิรัญได้เขียน กลอนเอาไว้บทหนึ่ง เกี่ยวกับการเดินทางจากสถานีรถไฟ เจ็ดเสมียน ถึงสถานีรถไฟ หัวหินเลยทีเดียว เป็นกลอนที่น่าอ่านมาก ผมจึงอยากจะเอากลอนนี้มาลงให้ได้อ่านทั่วๆกัน จัดเป็นตอนๆหนึ่งต่างหากเลยนะครับ  เพราะมีความยาวพอสมควร โปรดติดตามนะครับ

นายหิรัญ จากครู มาเป็นเสมียน โรงเลื่อยจักรหัวหิน ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔

          เมื่อนายหิรัญได้ไปทำงานกับป้าม้วน เถ้าแก่เต็งที่โรงเลื่อยที่หัวหินแล้ว ป้าม้วนเห็นว่า นายหิรัญยังเช่าบ้านเขาอยู่ ที่หลังตลาดเจ็ดเสมียน ที่บ้านป้าม้วนและสิ่งก่อสร้างภายในบริเวณโรงเลื่อยเก่าที่เจ็ดเสมียนนี้ ซึ่งเป็นบริเวณกว้างขวางมากมีคนอยู่ไม่กี่คน ส่วนคนอื่นๆได้ย้ายกันไปอยู่โรงเลื่อยใหม่ที่หัวหินกันหมดแล้ว ผู้ที่ยังอยู่ไม่ได้ย้ายตามไปด้วยคือ เจ๊ลี้ กับ บุญมา บุตรสาวของป้าม้วน 
         สำหรับเจ๊ลี้นั้น ในตอนนั้นอายุน่าจะยังไม่ถึง ๒๐ ปี ส่วนบุญมานั้น เป็นลูกคนเล็กของป้าม้วนแกอายุน่าจะรุ่นๆเดียวกับผม คือ ประมาณสัก ๗ – ๘ ขวบ แล้วก็มีแม่บ้านอีกคนหนึ่งที่ดูแลบ้านและเป็นคนทำครัวด้วย รวมแล้วเป็น สามคนเท่านั้นเองที่ยังอยู่ที่นี่ แต่ป้าม้วนนั้นจริงๆ แล้ว ยังมีลูกชายอีก สองคน ชื่อเอก กับส่วน แต่ในตอนนั้นผมไม่ทราบว่าเขาอยู่ที่ไหนกันบ้างนะครับ
          ขณะนั้น ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ป้าม้วนจึงได้เอ่ยปากบอกกับ นายหิรัญพ่อของผมว่าว่า อยากจะให้ครอบครัวของผม ได้ไปอยู่ที่โรงเลื่อยเก่านี้ จะได้อยู่เป็นเพื่อนกับเจ๊ลี้ลูกสาวของเขา และคอยดูแลบ้านไปในตัวด้วย พ่อของผมจึงตกลงโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมากเลย เพราะว่าประการแรกคือไม่ต้องเสียค่าเช่า และอีกอย่างแม่ของผมในเวลานั้นไม่ได้ประกอบกิจการอะไรด้วย เพราะว่ายังมีลูกเล็กๆ อีก สองคนที่ต้องดูแล คือ ระฆัง กับ อารีย์ ส่วนผมนั้นพอจะโตพูดรู้เรื่องแล้ว
          ดังนั้นต่อมาอีกไม่นาน ครอบครัวของผมจึงต้องย้ายจากบ้านที่เช่าอยู่ หลังตลาด ริมคลองเจ็ดเสมียน มาอยู่ที่ใหม่ ภายในบริเวณโรงเลื่อยเก่า ที่มีรั้วติดกับโรงสีไฟ เจ็ดเสมียน  และมีบริเวณที่กว้างขวางมากนั่นเอง
ผมจำได้ว่าสถานที่หรือว่าบ้านที่ เขาให้เราเข้าไปอยู่นั้น เป็นบ้านชั้นเดียวเก่าๆแคบๆ มุงกระเบื้อง ซิเมนต์ แบบเก่าๆ เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็กๆ สีปูน คือไม่มีสี มีรอยร้าวและบิ่นแตกไปหลายแผ่นแล้ว ผมคิดว่า ถ้าฝนตกคงจะรั่วแน่นอน เดิมทีนั้นผมเข้าใจว่าบ้านหลังนี้คงเป็นที่อยู่อาศัยของ คนทำครัว หรือ คนงานเก่าแก่ที่อยู่ประจำมาหลายปีแล้ว พอเขาย้ายไปอยู่ที่โรงเลื่อยหัวหิน คนที่อยู่ประจำเหล่านี้ก็ต้องย้ายตามไปด้วย  บ้านจึงว่างลง นอกจากนั้นยังมีโรงงาน และบ้านหลังเล็กๆ ที่ร้างไม่มีคนอยู่อีก สองสามหลัง เพราะได้ย้ายกันไปหมดแล้ว
          เมื่อครอบครัวของผมได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านป้าม้วนที่ โรงเลื่อยเก่าแล้ว ก็รู้สึกว่ามีความสะดวกสบายพอสมควร และอีกอย่างไม่ต้องเสียค่าเช่าด้วย เจ๊ลี้ ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของป้าม้วนนั้น ก็ได้ให้ความสนิทสนมและเป็นกันเองกับ ครอบครัวของผมเป็นอย่างดี เจ๊ลี้อยู่บ้านหลังใหญ่ ด้านหลังของบ้านใหญ่หลังนี้ อยู่ติดกับรั้วของโรงสี เดิมทีคงจะทำเป็นอ๊อฟฟิช หรือที่ทำการของโรงเลื่อยแน่ๆเลย เป็นบ้านสองชั้น แต่ชั้นบนนั้นตอนนี้ เจ๊ลี้และบุญมาไม่ได้ขึ้นไปอยู่ เพราะมีเพียงสองคนเท่านั้น จึงอยู่เพียงชั้นล่างเท่านั้น เจ๊ลี้นั้นให้ความสนิทสนมกับครอบครัวผมมาก ถึงขนาดว่า ดูเหมือนเป็นญาติพี่น้องกันเลยทีเดียว น้องสาวคนเล็กของเจ๊ลี้ ที่ชื่อบุญมานั้น ก็เป็นเพื่อนเล่นกับผม ซึ่งสนิทสนมกันมากที่สุด ในขณะนั้นผมคงมีอายุเพียง ๗ – ๘ ขวบเท่านั้นเอง
          ชีวิตประจำวันของผมในตอนนั้น จะเป็นการเล่นกับ บุญมา เหมือนเด็กๆทั่วไปเสียเป็นส่วนใหญ่ เราเคยเดินไปเก็บลูกตำลึงที่แก่แล้วเป็นสีแดงจัด ตามริมรั้ว บุญมาเขาบอกให้ผมเก็บเฉพาะลูกที่แก่จัดสีแดงๆ ผมก็เก็บได้หลายลูกแล้วเอาใส่ในกระเป๋ากางเกงไว้
พอกลับเข้าไปที่บ้าน ผมก็ควักลูกตำลึงสุก ที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงของผมจะเอาให้กับบุญมา พอผมล้วงมือเข้าไปในกระเป๋าเท่านั้น มีน้ำเย็นๆ ลื่นๆ ในกระเป๋ากางเกงผมเต็มไปหมด ก็ลูกตำลึงมันสุกจัด แล้วมันก็แตกในกระเป๋าผม เลอะกางเกงตัวนั้นเละแดงไปหมด แม่ผมต้องไล่ให้ผมไปอาบน้ำ แล้วมาเปลี่ยนกางเกงใหม่ ท่ามกลางการบ่นของแม่ผม 
         เราชอบไปเล่นตามตีน ท่าน้ำของโรงเลื่อย ในสมัยเด็กๆนั้น แถวๆบริเวณท่าน้ำของโรงเลื่อยนี้ เขาก็ปลูกบ้านหลังเล็กๆไว้นั่งพักผ่อนหลังหนึ่ง เสาไม้ด้านริมน้ำนั้นแช่อยู่ในน้ำ  ไม่ใช่เป็นเพียงศาลาเล็กๆ เหมือนตอนสมัยหลังๆนี้ ต่อมาเมื่อไม่มีคนอยู่แล้ว บ้านริมน้ำเล็กๆหลังนี้คงได้ถูกรื้อออกไป แล้วคงจะมีคนมาปลูกเป็นศาลาริมน้ำเล็กๆ ไว้แทนเพราะว่าเวลาที่ผ่านมา หลายยุคหลายสมัยแล้ว ผมและบุญมาชอบมาเล่นกันที่บ้านหลังนี้เพราะอยู่ริมน้ำอากาศเย็นสบายดี แม่ของผมและเจ๊ลี้ก็ยังสั่งไว้เสมอว่า อย่าลงไปเล่นที่ริมน้ำมากเกินไป เพราะจะตกน้ำแล้วไม่มีคนเห็น จะช่วยไม่ทัน
          เมื่อตอนหน้าน้ำขึ้น ประมาณ เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม  น้ำก็จะปริ่มตลิ่ง ติดกระดานพื้นเรือนเล็กริมน้ำนี้พอดี  แต่ถ้าน้ำขึ้นมากๆ จนถึงขนาดท่วมตลาดเจ็ดเสมียนแล้วละก็ ที่โรงสีและบริเวณโรงเลื่อยเก่านี้ ก็จะท่วมหมด ผมเห็นแม่ของผม และคนงานที่เจ๊ลี้ แกจ้างมา ปูกระดานเป็นทางเดิน ระหว่างบ้านแต่ละหลัง และปูพื้นบ้านของเจ๊ลี้เองด้วย เมื่อน้ำท่วมมาถึง
         ดังได้บอกแล้วว่า พื้นที่บริเวณโรงเลื่อยเก่านี้ กว้างขวางมาก เขาทำรั้วกั้นรอบๆที่นี้ บางตอนเช่นตรงประตูทางเข้าออก ด้านหลังซึ่งติดกับโรงสี จะเป็นรั้วปูนก่อขึ้นไปสูง  แล้วมีประตูใหญ่ปิดเปิด เป็นประตูสำหรับรถใหญ่ รถซุงเข้ามาทางประตูนี้  ถ้าจะออกไปธุระหรือไปตลาด ก็ออกทางด้านท่าน้ำใกล้ท่าโรงสี จะสะดวกกว่ามาก นอกจากนั้นโดยรอบ ก็จะเป็นรั้วลวดหนาม เก่าๆ ขาดร่องแร่ง มีสนิมขึ้นเขรอะ มีต้นไม้ที่เป็นเถา ขึ้นเกาะเต็มไปหมด อย่างเช่น พวกเถาตำลึง เถากะทกรก เถาหมามุ่ย เป็นต้น
         ภายในบริเวณ ด้านนอกๆออกไปที่ไม่ใช่เป็นบริเวณที่ปลูกบ้าน หรือเป็นที่อยู่ ก็จะมีต้นไม้ขึ้นเต็มเขียวไปหมด มีไม้ยืนต้นบ้างแต่ก็ไม่มากนัก เช่นต้นยางสองสามต้นที่สูงใหญ่พอสมควรแล้วอยู่ริมรั้วด้านทิศเหนือ ต้นจามจุรีที่ร่มครึ้มที่ริมตลิ่งตรงท่าน้ำ มะม่วงกะล่อนอีก สองสามต้นที่อยู่ท่ามกลางกอหญ้า แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไม้ที่เป็นกอ เป็นพุ่ม เช่น เสือหมอบ ต้นหนามพุงดอ ต้นข่อย ต้นชะอม ต้นขี้เหล็กและหญ้าต่างๆอีก รกไปหมด ที่ตรงรกๆนี้ไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร เพราะแต่ก่อนนั้นเป็นที่กองไม้ท่อนซุง ที่รอเข้าโรงเลื่อย หรือที่เรียกว่าหมอนไม้นั่นเอง
         แม่ของผมจึงบอกบ่อยๆว่า “อย่าไปเล่นกันตรงที่รกๆนั่นนะ จะถูกงูกัดเอา “ ก็จริงอย่างที่แม่ว่า บางครั้งก็มีงูเลื้อยออกมาจาก พงไม้ แล้วก็โดนคนเฝ้าบ้านหลังใหญ่ของเจ๊ลี้ เอาไม้หวดจนตายก็มี ผมกับบุญมาจึงไม่ค่อยได้ไปเล่นกันตามพงหญ้ารกๆนั่นเลย โดยมากมักจะอยู่กันตามท่าน้ำ และชานบ้านหลังเล็กๆที่ท่าน้ำของโรงเลื่อย
         ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งพ่อของผมก็ไปทำงานเป็นเสมียนคิดไม้ ขายไม้ อยู่ที่โรงเลื่อยหัวหินกับป้าม้วน นานพอสมควรแล้ว จึงคิดอยากจะให้แม่และพวกผม ได้ไปเที่ยวที่หัวหิน จะได้เห็นที่ทำงานและโรงเลื่อยที่พ่อผมทำงานบ้าง ดังนั้น ประมาณต้นๆเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๔  อากาศก็กำลังหนาวพอดี ครอบครัวของผมจึงได้ไปเที่ยวที่หัวหินกัน โดยมี บุญมา ลูกของเจ้าของโรงเลื่อยนี้ไปพร้อมกันด้วย ส่วนเจ๊ลี้ไม่ได้ไป คงอยู่บ้านพร้อมกับแม่บ้านอีกคนหนึ่ง
         อยู่ที่หัวหินผมตื่นตาตื่นใจมาก ได้เห็นท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่มีน้ำทะเลเป็นสีคราม  ด้านหลังสถานีรถไฟหัวหินนั้นเล่า ก็มีภูเขาสูงลดหลั่นกันลงไป การรถไฟเขาทำเป็นสนามกอล์ฟ เรียกว่าสนามกอล์ฟของการรถไฟ ให้พวกคนมีเงินที่มาเที่ยวที่หัวหินนี้ได้ออกกำลังกัน (สนามกอล์ฟการรถไฟหัวหินนั้น ถึงพ.ศ.นี้ สร้างมากว่า ๗๐ ปีแล้ว) แต่สภาพภูมิประเทศของหัวหินใน พ.ศ. ๒๔๙๔ นั้น ไม่ได้เหมือนปัจจุบันนี้นะครับ ตลาดและบ้านเรือนนั้นยังไม่เจริญ และไม่มีรถพลุกพล่าน จนจะหาที่จอดไม่ได้เหมือนเดี๋ยวนี้
สถานที่ตั้งของโรงเลื่อยนั้นก็ไม่ได้ไกลไปจากย่านชุมชนเลย ดังภาพที่นำมาลงให้ดูกันนี่แหละครับ

ในภาพ ที่ถ่ายกันเมื่อ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ทางซ้ายมือ คือ แม่ของผม แล้วก็ อารีย์,ระฆัง,แก้ว, แล้วก็บุญมา ผาสุก เห็นคนเดินเป็นจุดขาวๆเล็กๆนั้น เป็นทางเดินลงไปชายหาด หัวหิน อันลือชื่อ ภาพนี้ถ่ายมาเป็นเวลา ๕๘ ปีแล้วตรงที่นั่งกันอยู่นี้ เป็นสะพานไม้ เป็นทางรถเล็ก และคนเดินเข้าออกด้านหน้าของโรงเลื่อย ข้ามสพานไปแล้วนั้นทางด้านซ้ายมือ จะเป็น ที่ทำการ หรือ อ๊อฟฟิชของโรงเลื่อย ซึ่งเป็นที่ เสมียนหิรัญ  (อดีตครูใหญ่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน ) ทำงานอยู่ และที่มองเห็นนั้นเป็นทางสี่แยก  ทางด้านหน้าของแม่ผมนั้น ก็เป็นทางที่มาจากสถานีรถไฟ ถ้าตรงผ่านทางแยกไปเลยทางด้านหลังของแม่ ก็เป็นทางลงชายหาดหัวหินอันลือชื่อ  ถ้ายืนที่ตรงสี่แยกหันหน้าลงทะเล ทางด้านซ้ายมือนั้นก็จะเป็นทางรถที่มาจากกรุงเทพฯ ผ่านพระราชวังไกลกังวล  และทางขวามือก็จะไป เขาตะเกียบ หรือไปปราณบุรี ประจวบฯ ดูพื้นถนนสิครับ ยังเป็นถนนโรยหินอยู่เลย
         

        คิดดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้เลยนะ ปัจจุบันนี้ก็ไม่เหลือซากของความเป็นโรงเลื่อยให้เห็นเลย ผมเคยไปอยู่ที่สวนสนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นเขตของทหาร อยู่ริมทะเล มีชายหาดที่สวยงามมาก เลยเขาตะเกียบไปหน่อย เป็นเวลา 2 ปี ในพ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๐๘ ที่ตรงนั้นก็ไม่ได้เป็นโรงเลื่อยแล้ว และต่อมาก็เป็นที่ทำการเทศบาลเมืองหัวหินตั้งอยู่ตรงนั้นพอดี ก่อนที่เทศบาลจะมาตั้งนั้น โรงเลื่อยตรงนี้ก็ได้ขยับขยายไปตั้งใหม่อยู่ที่ปราณบุรีเป็นเวลานานแล้ว
           ย้อนกลับมาตอนนั้นในขณะที่ผมอยู่ที่หัวหินกับครอบครัวของผมนั้น เป็นสิ่งที่ประทับใจผมมากและไม่มีวันลืมตั้งแต่เด็กๆมาเลย คือ ในตอนเย็นของบางวัน ผมกับ บุญมา ก็จะเดินเล่นกันจากโรงเลื่อยไปเรื่อยๆ ผ่านที่ว่าการอำเภอเก่า สถานีตำรวจหัวหินเก่า ที่มีซากของเครื่องบิน เฮลิคอร์ปเตอร์ของใครหน่วยไหน ก็ไม่รู้มาจอดไว้ที่นี่ นานแล้ว (แต่มีผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าเฮลิคอร์ปเตอร์ลำนี้ถูกยิงตกลงตรงนี้ ก็เลยไม่ได้ย้ายไปไหนเลย)

          ผ่านโรงแรมรถไฟหัวหิน (ปัจจุบันนี้เป็นโรงแรมของเครือ เซ็นทรัล) ที่เขาดัดต้นไม้ เป็นต้นตะโกหรือต้นอะไรนี่แหละเป็นรูปช้างตัวใหญ่มากเท่าของจริงสองตัว ยืนคู่กันคนละข้างของทางเดินเข้าโรงแรม ผมและบุญมาก็ยังเข้าไปเดินลอดไต้ท้องช้างสองเชือกนี้ตั้งหลายครั้ง บุญมาบอกว่า ในภายหน้าถ้าเราจากกันไปแล้ว ก็จะต้องมีโอกาสกลับมาได้พบกันอีก เพราะว่าเราได้ลอดท้องช้างกันไว้ 
          

         พอสุดทางเข้าโรงแรม ก็ถึงริมทะเลพอดี ที่ริมทะเลนี้ ทางด้านซ้ายมือ ทางเทศบาลเขาทำเป็นที่เด็กเล่นย่อมๆ เพื่อไว้ให้เด็กๆเล่นในตอนเย็นๆ มีกระดานลื่นแบบที่ไต่ขึ้นไปแล้วลื่นลงมา  ชิงช้าสองอัน  ม้าหมุน และม้านั่งอีกหลายตัว ผมและบุญมา มาที่ตรงนี้หลายครั้งแล้วตั้งแต่ที่มาเที่ยวที่หัวหินนี้ มีขนมที่ถือติดมือมาจากโรงเลื่อย ก็เอามาแบ่งกินกัน มีอยู่ตอนหนึ่งผมกับบุญมาชวนกันปลูกต้นไม้ เราจึงไปถอนเอาต้นไม้เล็กๆในสนามเด็กเล่นนั้น ผมจำไม่ได้แล้วว่าเป็นต้นอะไร แต่ก็คิดว่าน่าจะเป็นต้นที่เม็ดมันถ้าเอาไปแช่น้ำแล้วสักประเดี๋ยวก็จะแตกดังเปาะแปะ ๆ
         

         ผมกับบุญมาถอนกันมาคนละต้น แล้วเอามือคุ้ยดินตรง ตีนชิงช้านั้น ให้เป็นหลุมเล็กๆ แล้วก็เอาต้นไม้ปลูกไว้ตรงนั้น ผมถามบุญมาว่า แล้วจะเอาน้ำอะไรมารดมันล่ะ ประเดี๋ยวถ้ามันไม่ได้กินน้ำ มันก็จะตายหรอก  บุญมาคิดอยู่ตั้งนาน แล้วบอกผมว่า เก้วก็เยี่ยวใส่ตรงโคนต้นมันก็แล้วกัน เท่ากับเป็นการรดน้ำให้มันไงล่ะ  ผมก็หัวเราะ แล้วว่า เออใช่นะ แล้วผมก็เยี่ยวลงไปที่โคนต้นไม้สองต้นนั้น ก่อนที่เราจะเดินออกจากตรงนั้น บุญมาบอกว่า “ต่อไปเมื่อถึงเวลาที่เราต้องจากกันไป โตขึ้นแล้วบางทีเราอาจได้มาพบกันอีก เพราะว่าเราได้ปลูกต้นไม้คู่กันเอาไว้แล้ว” 
        

        ถัดจากนั้นเด็กต่างถิ่นสองคนชายหญิงก็เดินลุยน้ำทะเลกันเล่นที่ชายหาดอย่างสบายใจ พอได้เวลาเย็นมากแล้วก็กลับ โรงเลื่อย ไปกินข้าวเย็นกัน การเดินไปเล่นที่ชายทะเลตามลำพังสองคนนั้น พ่อและแม่ผมก็ไม่อยากให้ไปหรอก และป้าม้วนก็ว่า “ปล่อยให้มันไปกันเองได้อย่างไร ตำรวจจะคิดว่าเด็กเร่ร่อน ก็จะจับไปเสียหรอก” แกว่าต่อไปอีกว่า  “และบางทีจะเกิดอันตรายอะไรบ้าง ผู้ใหญ่ทางโรงเลื่อยก็จะไม่รู้เลย ทีหลังต้องมีคนไปด้วยนะ”  ดังนั้นแทบทุกครั้งในตอนเย็นๆ แม่ของผมก็จะพาพวกผมไปเดินเล่นที่ชายหาดบ้าง ที่ตลาดฉัตรชัยบ้าง โดยไม่ให้ผมกับบุญมาไปกันแต่ลำพัง.......

                                     โปรดติดตามตอนต่อไป ระฆัง สุวรรณมัจฉา ที่นี่ เร็วๆนี้ ที่เดียว

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้206
เมื่อวานนี้496
สัปดาห์นี้702
เดือนนี้13620
ทั้งหมด1343504

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online